ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
เงินทองต้องรู้ : แก่ไปใครดูแล : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com
-http://www.komchadluek.net/detail/20140711/187899.html-
บางทีก็เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ไม่น้อย ที่เรื่องบังเอิญมักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน อย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ฟังรายการ “เงินทองต้องรู้” โทรศัพท์มาฝากคำถามว่า “ในการบริจาคทานนั้น ควรบริจาคให้ใคร เพื่อให้ได้อานิสงส์และเกิดประโยชน์สูงสุด” ที่ว่าบังเอิญ เพราะหลังจากนั้น เพียงแค่ 2-3 วัน ก็มีเหตุให้ต้องเข้าวัดไปนั่งฟังพระเทศน์ ซึ่งพระท่านก็เทศน์ถึงความเหมาะควรในเรื่องทำบุญทำทานเหมือนกัน
สำหรับคำตอบของคำถามแรก ว่าควรบริจาคทานให้ใคร เพื่อให้ได้อานิสงส์และเกิดประโยชน์สูงสุด คุณวีระ ธีรภัทร ตอบไว้ในรายการว่า ก็บริจาคให้ผู้ที่สมควรได้รับ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่สมควรได้รับทาน ของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เราคิดว่าใครเหมาะสม ก็คนนั้นแหละที่สมควรได้รับ และเมื่อ “ให้” แล้ว อานิสงส์ก็ย่อมเกิด อย่างน้อยก็อานิสงส์ที่เกิดกับผู้ให้ ที่ได้ความสุข-ความสบายใจ
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่นึกเถียงพระในใจ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบาปหรือเปล่า) หลังจากพระ (รูปนั้น) ท่านบอกว่า การทำบุญที่ดีที่สุด ก็คือการถวายปัจจัยหรือเงิน เพราะการทำบุญใส่บาตรด้วยอาหาร สุดท้ายอาหารเหลือเบอะบะ เนื่องเพราะพระท่านฉันไม่หมด ที่นึกเถียงพระในใจและเถียงกับคนข้างๆ ที่เห็นด้วยกับพระ ก็เพราะส่วนตัวแล้ว เวลาใส่บาตรด้วยอาหาร ไม่ได้คิดถวายเฉพาะแค่พระ แต่คิดถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ขอพึ่งใบบุญวัด ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัด แม่ครัว หรือแม้แต่คนจรจัดที่ไม่มีที่ไป ต้องอาศัยข้าววัดประทังชีวิต รวมไปถึงหมา-แมวที่มีจำนวนไม่น้อย
เชื่อว่า คนที่ใส่บาตรส่วนใหญ่ก็คงคิดไม่ต่างกัน ส่วนเรื่องของปัจจัย นั่นก็เป็นอีกเรื่องที่ขึ้นกับศรัทธา รวมถึงกำลังทรัพย์ของญาติโยม
นานมาแล้ว เคยรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเปิดตัวหนังสือของอาจารย์อัจฉรา โยมสินธุ์ เจ้าของผลงานหนังสือธรรมะพารวย และธรรมะธรรมเงิน ตอนนั้นยังคุยกับอาจารย์ว่า แปลกดี เพราะในขณะที่เราคิดว่า “เงิน” หรือ “ความร่ำรวย” เป็นเรื่องของความโลภ ความอยากได้ อยากมี ซึ่งสวนทางกับ “ธรรมะ” อย่างไม่น่าจะไปด้วยกันได้ อาจารย์อัจฉรากลับบอกว่า ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะต่างก็เป็นเรื่องของ “ธรรมชาติ” ด้วยกันทั้งสิ้น
และความมีอยู่ของ “เงิน” ก็ไม่ได้แปลว่า ต้องโลภเพียงสถานเดียว
มีหลักธรรมคำสอนหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทอง แต่ดูเหมือนกับที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยที่สุด คงหนีไม่พ้น “หลักหัวใจเศรษฐี” หรือหลักทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ซึ่งหมายถึงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน เป็นหลักธรรมที่อำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น โดยหลักธรรมทั้ง 4 ประการ ประกอบด้วย อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่น ขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้นให้สามารถทำได้สำเร็จ
อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) รักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา และสมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจะต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจะต้องไม่เหนือรายได้
รู้จักหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ คบมิตรที่ดี และอยู่อย่างพอเพียง เป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องง่ายๆ แต่เป็นของหัวใจเศรษฐีจริงๆ และทั้งหมดทั้งมวลที่ทำนั้น ก็เพื่อนำไปสู่ปลายทางในวันที่เราไม่สามารถหาเงินได้ แต่ยังต้องมีเหตุให้ต้องใช้เงิน
เอกสารที่หยิบติดมือมาจากห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน เขียนถึงเรื่องนี้อย่างสนใจกับคำถามว่า “แก่ไปใครจะดูแล” เขาบอกไว้ว่า เมื่อถึงวันที่เราเกษียณและหยุดทำงานแล้ว เราจะพบเจอคนแก่ 2 แบบ โดยแบบแรก เป็นคนแก่ที่ไม่มีรายได้และดูแลตัวเองไม่ได้ ส่วนแบบที่สอง เป็นคนแก่ที่ไม่มีรายได้และดูแลตัวเองได้สบาย แต่ถ้าเราเตรียมทุกอย่างไว้แต่เนิ่นๆ (จะด้วยหลักหัวใจเศรษฐีก็ได้) เราอาจจะมีคนแก่แบบที่ 3 นั่นคือ ไม่มีรายได้ แต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้อย่างสบายและดูแลคนในครอบครัวได้อีกด้วย
ฝาก 5 ขั้นตอนเตรียมเกษียณกองเงินไว้ให้อ่าน แม้จะเป็นเรื่องซ้ำๆ แต่ก็มีบางส่วนที่เพิ่มเติม เช่น ประการแรก ให้เริ่มคิดไว้เลยว่า อยากทำงานถึงอายุเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามีเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ สอง - คิดคร่าวๆ ไว้เลยว่า จะอยู่หลังเกษียณอีกกี่ปี เช่น 20, 25 หรือ 30 ปี เพื่อให้ได้รู้ว่าจะต้องใช้เงินหลังเกษียณไปอีกเท่าไหร่ (แหม.. จริงๆ ก็ยากไปนิด เพราะใครจะไปรู้ว่าอายุจะยืนยาวหรือจะสั้นแค่ไหน) สาม - ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งประเมินได้จากไลฟ์สไตล์ที่เราอยากให้เป็น อยากให้หรูหราหรือเรียบง่าย ซึ่งการกำหนดนี้จะส่งผลต่อจำนวนเงินที่ต้องเก็บ
สี่ - ประมาณการรายได้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จบำนาญ เงินรับจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต ฯลฯ และห้า - วางแผนการออมตั้งแต่วันนี้ เราก็จะรู้ว่า ต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่และจะสามารถวางแผนการออม การลงทุนอย่างเหมาะสมได้
สุดท้ายชอบที่เขาเขียนถึง “กระปุกความสุขหลังเกษียณ” ที่นอกจากจะต้องหยอดเงิน หยอดการลงทุนที่ดีแล้ว ต้องไม่ลืมหยอดพลังชีวิตให้กับตัวเอง ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม สุขกายสบายใจ เพราะทั้งหมดจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราด่วนตายจากไปเสียก่อน
(เงินทองต้องรู้ : แก่ไปใครดูแล : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล -k_wuttikul@hotmail.com-)
------------------------------------------------------------------------------------------------
9ข้อกู้ชีพเครดิตบูโร! : มันนี่กูรู โดย-www.moneyguru.co.th-
-http://www.komchadluek.net/detail/20140710/187991.html-
หากคุณกำลังเครียดที่คุณขอสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ หรือบัตรเครดิต แต่สมัครยังำงก็ไม่ผ่านเสียที เพราะคุณดันมีประวัติเครดิต หรือเครดิตบูโรที่ไม่ค่อยจะดีเสียเท่าไหร่ วันนี้ MoneyGuru.co.th ขอบอกว่า ปัญหานี้ไม่ใช่คุณคนเดียวในโลกที่กำลังเจอ แต่ยังมีอีกหลายคน และหากคุณใจเย็นอีกซักหน่อย ปัญหานี้มีทางแก้ วันนี้เราเอา 10 วิธีกู้ชีพเครดิตบูโรมาฝากกัน
ตรวจสอบเครดิตบูโร
สิ่งที่ดูสองอย่างคือ แนวโน้มของเครดิต และข้อผิดพลาด แนวโน้มคือ พฤติกรรมทางการเงินใดของคุณในรายงาน ที่สร้างปัญหาให้คุณมากที่สุด อาจเป็นเรื่อง การจ่ายบิลสายตลอด หรือ เป็นหนี้มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งจะเป็นไอเดียคร่าวๆ ให้คุณแก้ปัญหาต่อไป ส่วนข้อผิดพลาด ก็ทำให้คุณแจ้งกับทาง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ให้แก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด
ศึกษาเพิ่มเติม
ยิ่งศึกษา ยิ่งอ่าน ยิ่งรู้มาก และจะเป็นภัยคุ้มกันตัวคุณจากความผิดพลาดในอนาคต โดยเรื่องที่สำคัญๆ อย่างเช่น เครดิตบูโรคืออะไร สำคัญต่อการบริหารการเงินของเราอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถทำคะแนนให้ดีได้
จัดการหนี้สินค้างชำระ
หากคุณยังมีหนี้สินอยู่ นี่คือปัจจัยหนึ่งที่เครดิตสกอร์คุณไม่ค่อยดีนัก จัดการหนี้เหล่านั้นเสีย อาจจะใช้เวลา แต่แน่นอนว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการสร้างเครดิตบูโรอีกครั้ง
จ่ายบิลตรงเวลา
ถือเป็นเรื่องสำคัญเลยทีเดียว เพราะเป็นสัดส่วนคะแนนที่สูงในการพิจารณาเครดิตบูโรของคุณ ว่าคุณเป็นลูกหนี้ที่ดีหรือไม่ เพราะฉะนั้น นับแต่นี้เป็นต้นไป กาปฏิทินหรือตั้งเตือนเลยว่า บิลทุกอย่างในบ้าน รวมถึงบิลบัตรเครดิต จ่ายวันไหนบ้าง หรือตั้งจ่ายอัติโนมัติหักผ่านบัญชีก็ดีไปอีกแบบ
บัตรเครดิตแบบมีเงินฝากค้ำประกัน
หลายคนคงรู้ว่า การสร้างเครดิตสกอร์ที่ง่ายที่สุดคือการใช้บัตรเครดิต และใช้อย่างมีวินัย แต่ถ้าคุณมีเครดิตสกอร์ที่แย่ ไม่ได้รับการอนุมัติบัตรเครดิต คุณจะสร้างได้อย่างไร? คำตอบง่ายๆคือ ยังมีบัตรเครดิตแบบมีเงินฝากค้ำประกันที่คุณสามารถสมัครได้เลย เพียงฝากเงินค้ำไว้ตามจำนวนวงเงินที่ได้รับ ซึ่ง แค่นี้คุณก็มีบัตรเครดิตใช้และเริ่มสร้างเครดิตกันใหม่
ยับยั้งชั่งใจ
การมีบัตรเครดิต ทำให้คุณใช้เงินง่ายขึ้น โดยที่คุณไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การยับยั้งชั่งใจ คือสิ่งที่ดีที่สุด โดยอย่างน้อย หนี้บัตรเครดิตในแต่ละรอบบิล ควรไม่เกิน 30% ของวงเงินสูงสุดที่คุณได้รับ
เพิ่มวงเงินบัตรเครดิต
การขอเพิ่มวงเงิน ไม่ใช่ขอเพื่อที่คุณจะได้รูดมากขึ้น แต่ขอเพื่อทำให้สัดส่วนของยอดที่คุณใช้แต่ละเดือนกับวงเงิน น้อยลงๆ หรือทำให้ credit utilization ดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งทำให้เครดิตสกอร์คุณดีตามไปด้วย
เก็บบัตรเครดิตที่ไม่ใด้ใช้เอาไว้ ไม่ต้องปิด
คะแนนอีกส่วนหนึ่งของเครดิตบูโรมาจาก ระยะเวลาของประวัติเครดิตของคุณ นั่นหมายความว่า ยิ่งคุณมีบัตรเครดิตนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เก็บเอาไว้ ถึงแม้ว่าบัตรใบนั้นๆ คุณจะไม่ใช้ก็ตาม
รอเวลาเปิดบัตรเครดิตใหม่
หลังจากคุณใช้บัตรเครดิตแบมีเงินฝากค้ำประกันได้ซักระยะแล้ว เอาเป็นว่าประมาณ 6 เดือน ลองสมัครบัตรเครดิตแบบธรรมดาดู หากสมัครได้ แสดงว่าเครดิตบูโรของคุณดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และหลังจากนี้ จงใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัย เพิ่มวงเงิน ลดยอดที่ใช้ แค่นี้ คุณก็จะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นดีในสายตาของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน
หากมีข้อสงสัยด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราอยู่เคียงข้างคุณเสมอที่ -www.moneyguru.co.th-
sithiphong:
ใช้บัตรเครดิต เพื่อเเลกของรางวัล คุ้มจริงหรือ?
-http://money.sanook.com/197001/%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5-%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD/-
คุณเคยหรือไม่ ที่บางครั้ง คุณก็รู้สึกว่า โปรโมชั่นแลกของรางวัลบัตรเครดิตในโฆษณาดูดีมากเหลือเกิน สมัครวันนี้ได้ตั๋วเครื่องบินฟรี สมัครวันนี้ได้แอร์ไมล์นับหมื่นๆ ไมล์ หรือ ได้เงินคืนทันทีที่จ่ายเท่านี้ เท่านั้น เป็นต้น แต่บางทีคุรอาจจะลืมไปว่า ของฟรี ก็อาจจะไม่มีในโลกก็เป็นได้ วันนี้ MoneyGuru.co.th เอาแง่คิดเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกันว่า จริงๆ แล้วการใช้บัตรเครดิต เพื่อแลกของรางวัลนั้น คุ้มค่าจริงหรือไม่
จุดกำเนิด การใช้บัตรแลกของรางวัล
เหตุผลง่ายๆ ที่ธนาคารคิดค้นบัตรเครดิตหนึ่งๆ ขึ้นมา โดยชูจุดขายในการแลกของรางวัลนั้น คือ "เพื่อกระตุ้นให้คุณจ่ายเงินผ่านบัตรมากขึ้น" และหากคุณใช้บัตรเครดิตอย่างหน้ามืดตามัว เพียงเพื่อคุณต้องการแลกของรางวัลในปลายปี แต่คุณไม่สามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้ นั่นแหละคือเวลาที่ธนาคารได้ประโยชน์ คือคุณต้องเสียอัตราดอกเบี้ยให้กับทางธนาคาร อาทิ สมมุตว่าปลายปี คุณได้เงินคืน หรือแลกของรางวัลราวร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด แต่คุณต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20 แบบนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ไม่มีทางคุ้มค่ากับรางวัลที่ได้มาอย่างแน่นอน
สาเหตุอีกประการคือ ทุกครั้งที่เราเลือกที่จะใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดกับร้านค้านั้น ธนาคารจะได้ส่วนแบ่งค่าบริการนั้นๆ จากผู้ประกอบการ เป็นค่าธรรมเนียม ทำให้ ยิ่งเราใช้บัตรเครดิตมากเท่าไหร่ ธนาคารก็ได้ประโยชน์เท่านั้น ธนาคารจึงต้องนำของรางวัลมาเป็นตัวล่อนั้นเอง เพราะฉะนั้น กุญแจที่สำคัญคือ ผู้ใช้ต้องเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังของการมีบัตรเพื่อแลกของรางวัลก่อน และคิดวิเคราะห์ว่า ควรใช้อย่างไร จึงไม่ตกเป็นเหยื่อ จนเป้นหนี้บัตรเครดิต
ใครสามารถใช้ได้ล่ะ
คนกลุ่มแรกที่สามารถใช้บัตรเครดิตเพื่อสิ่งนี้ได้ คือ คุณเป็นพวกที่ ชำระหนี้บัตรเครดิต เต็มจำนวน และตรงเวลาตลอด เอาเป็นว่า บรรดาพวกลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารนั่นเอง ซึ่งคุณจะไม่ถูกการตลาดหลอกล่อมากเกินไปจนตกเป็นเหยื่อ ส่วนคนกลุ่มที่สองคือ คุณต้องใช้จ่ายเพื่อบริษัทบ่อยๆ พูดง่ายๆ คือ ใช้จ่ายต่างๆ แล้วไปเบิกเงินกับบริษัท ซึ่งคุณจะสามารถเก็บสะสมคะแนน จากการใช้จ่ายของบริษัท ไม่ใช่การใช้จ่ายของคุณเอง จึงไม่ต้องกลัวเรื่องคุณใช้จ่ายจนเป็นหนี้นั่นเอง
ใครที่ไม่ควรใช้ล่ะ
ง่ายๆ เลยก็คือ คุณคือประเภทที่ตรงข้ามกับหัวข้อก่อนหน้านี้ กล่าวคือ คุณไม่ค่อยชำระหนี้บัตรเครดิตตรงเวลาเท่าไหร่ บางเดือนคุณจ่ายสาย บางเดือนคุณจ่ายเพียงขั้นต่ำ หากคุณเป็นคนกลุ่มนี้ อย่าริหลงเชื่อการตลาดเรื่องการใช้บัตรเครดิตเพื่อแลกของรางวัลเด็ดขาด เพราะสุดท้ายแล้ว มูลค่าดอกเบี้ยที่คุณต้องเสีย จะมากกว่ารางวัลที่คุณจะได้รับอย่างแน่นอน แถมต้องมาปวดหัวในภายหลังเพราะติดหนี้อีกด้วย
ใช้ให้ถูกประเภท
ข้อคิดก็คือ การใช้บัตรเครดิตในทุกสถานการณ์ ไม่ได้เหมาะกับการใช้ด้วยบัตรที่ทำมาเพื่อแลกของรางวัล ไปเสียทั้งหมด อาทิ หากคุณเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ คุณคิดว่า ไหนๆ ช้อปปิ้งแล้ว ก็ใช้บัตรเพื่อเก็บแต้มไปแลกของรางวัลดีกว่า แต่หารู้ไม่ว่า บางทีบัตรนั้นอาจคิดค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายต่างประเทศก็เป็นได้ ในขณะที่มีบัตรอื่น ที่มีโปรแกรมแลกของรางวัลที่ไม่ดีเท่า แต่ไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย เพราะฉะนั้น ควรเช็คกับผู้ให้บริการให้ดีก่อน
หากมีข้อสงสัยด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราอยู่เคียงข้างคุณเสมอที่ -www.moneyguru.co.th-
sithiphong:
รู้ทันดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดให้ดีก่อนรูด
-http://money.kapook.com/view92593.html-
ขอขอบคุณข้อมูลจาก-http://k-expert.askkbank.com/Pages/Home.aspx-
รู้ทันดอกเบี้ยบัตรเครดิต (ธนาคารกสิกรไทย)
เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักบัตรเครดิตว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย สามารถซื้อสินค้าได้โดยยังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที เสมือนมีคนใจดีให้ยืมเงิน ซึ่งบัตรเครดิตทุกใบจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 45-55 วัน หมายความว่า ถ้าเราใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยชำระเงินได้เต็มจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะไม่เสียดอกเบี้ย แต่ถ้าเราไม่สามารถชำระเงินเมื่อครบกำหนดได้เต็มจำนวน โดยชำระเงินเพียงบางส่วน หรือจ่ายเพียงยอดขั้นต่ำ 10% ของยอดค้างชำระ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ ดอกเบี้ย
บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตสูงถึง 20% ต่อปี โดยดอกเบี้ยจะคำนวณจากยอดหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่รูดซื้อสินค้า หรือวันที่กดเงินสด นับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง สามารถทำให้ใครหลาย ๆ คนกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ หากใช้จ่ายเกินตัว หรือใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ ลองมาดูกันว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคำนวณอย่างไร
สูตรการคำนวณดอกเบี้ย =(จำนวนเงินค่าสินค้า/บริการและเบิกถอนเงินสด x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวัน) / 365
ขอยกตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากการชำระคืนขั้นต่ำ/ชำระคืนบางส่วน
ตัวอย่างใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตประจำเดือนเมษายน 2557
วิธีคำนวณดอกเบี้ยสำหรับรอบบัญชีถัดไป กรณีชำระขั้นต่ำจำนวน 3,000 บาท ในวันที่ 20 เมษายน 2557
การคำนวณดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนแรก ดอกเบี้ยคิดจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบบัญชีที่แล้ว คือ 30,000 บาท โดยจำนวนวันนับจากวันที่ใช้จ่าย จนถึงวันก่อนที่ธนาคารได้รับชำระเงิน (19 เมษายน 2557)
ส่วนที่สอง ดอกเบี้ยคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ คือ 30,000 – 3,000 = 27,000 บาท โดยจำนวนวันนับจากวันที่ชำระเงินบางส่วน (20 เมษายน 2557) จนถึงวันสรุปยอดรายการเดือนถัดไป (5 พฤษภาคม 2557)
กรณีของการกดถอนเงินสด การคำนวณดอกเบี้ยจะใกล้เคียงกัน คือ คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่กดเงินสด จนถึงวันที่ชำระเงิน ทั้งนี้ การกดเงินจากบัตรเครดิตยังมีค่าธรรมเนียมในการกดเงินอีก 3% ของจำนวนเงินที่กดอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อรูดบัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าต่าง ๆ แล้ว เราควรมีการกันเงินค่าสินค้าเอาไว้ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด และสิ่งสำคัญ ก่อนใช้บัตรเครดิต อย่าลืมประเมินความสามารถของตัวเราว่า จ่ายไหวหรือไม่ เพราะความสุขเพียงชั่วคราวจากการซื้อสินค้า ซึ่งสูงเกินรายได้หรือเงินที่มีอยู่ อาจสร้างความทุกข์ที่ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตในระยะยาวได้
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert
sithiphong:
งบการเงินอ่านง่ายๆ
-http://money.sanook.com/197061/%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%86/-
หลังจากที่ได้รู้เรื่องการเลือกหุ้นและประเภทของหุ้นคร่าวๆกันแล้ว เรามาลงรายละเอียดกันหน่อยละกันนะค้า
1. กำไร => บริษัทที่ถูกตั้งขึ้นมานั้น จะอยู่ได้หรือไม่มันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของตัวธุรกิจ ยิ่งกำไรเยอะ ก็แปลได้หลายๆอย่างคือ ผู้บริหารเก่ง หรือผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการมาก หรือมีการตลาดที่สร้าง Brand Loyalty ได้ดีกว่าคู่แข่ง ฯลฯ ยิ่งกำไรมาก ในระยะยาวมันจะสะท้อนกลับมาทำให้ราคาหุ้นโตขึ้นไปด้วย อีกอย่างยิ่งกำไรมาก โอกาสที่ผู้ถือหุ้นจะได้ปันผลสูงขึ้นก็มีมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นในการที่จะฝากเงินออมสุดรักสุดหวงของเราไว้กับหุ้นของบริษัทไหนแล้ว อย่างน้อยก็ควรจะเลือกบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง =)
ซึ่งสำหรับมือใหม่ เราจะไปดูกำไรที่ไหนกันหล่ะ? ตามไปที่ www.set.or.th แล้วพิมพ์ชื่อหุ้นที่ต้องการดูลงในช่อง ‘Get Quote’ ที่มุมบนขวา > พอมาถึงอีกหน้าก็คลิก ‘งบการเงิน/ผลประกอบการ’
ทีนี้ก็ดูได้ละว่าบริษัทนี้ กำไรเพิ่มขึ้น หรือลดลง เสร็จแล้วอย่าจบแค่นั้นนะ ไม่ใช่กำไรเพิ่มก็ดี กำไรลดก็แย่ เราควรจะเจาะลงต่อว่า กำไรเพิ่มเพราะอะไร ถ้ากำไรลดเป็นเพราะอะไร มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน? แล้วเหตุการณ์ที่ว่านี่มันมีโอกาสเกิดขึ้นอีกมั้ย และมีโอกาสเกิดขึ้นมากแค่ไหน ป้องกันได้รึป่าว? ฯลฯ
2. P/E Ratio อันนี้ถ้าไม่ใช่มือใหม่แกะกล่องจริงๆ ทุกคนต้องรู้จักตัวนี้ มันคือราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้นนั่นเอง อันนี้นานิจะดูว่ามันสูงไปรึยัง ยิ่งสูงยิ่งแปลว่ากำไรมันน้อยเมื่อเทียบกับราคา ซึ่งก็แปลว่าราคาหุ้นนั้นสูงกว่าความเป็นจริง นานิคิดว่าส่วนมาก P/E น้อยกว่า 10-15 นั้นกำลังดี แต่ก็นั่นแหละมันแล้วแต่อุตสาหกรรมเลย นักลงทุนบางคนก็จะมองว่าบางทีกำไรมันอาจจะโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเค้าก็จะยอมจ่ายซื้อหุ้นที่ราคาแพง เมื่อเทียบกับกำไรปัจจุบัน(P/E สูง) คือบริษัทที่กำลังโตอย่างรวดเร็ว แบบว่ายอดขายโตขึ้น กำไรโตขึ้นทุกปี อย่างนี้ P/E สูงยังพอรับได้ แต่ถ้าบริษัทที่ไม่ได้ขยายเร็วขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้กำไรพุ่งทุกไตรมาส นานิจะไม่ซื้อเด็ดขาดถ้า P/E สูงเกินไป
ปีที่แล้วนี่ดูจะเป็นช่วง ‘Stock Mania’ คือดูจะราคาพุ่ง คนไล่ซื้อกันเว่อไปหน่อย นานิเคยเห็นบางตัวแล้วช็อค คือ P/E เกือบพัน ยังมีคนไล่ซื้อดันทุลังกันขึ้นไป ตอนนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2556) P/E ประมาณ 1,500 เท่าน่าจะได้
ข้อมูลจาก www.settrade.com
Oh My God!! คือ อ่ะบางคนอาจจะบอกว่า ก็ทุกคนเค้าคาดว่าบริษัทนี้จะได้กำไรเพิ่มขึ้นมาก ในไตรมาสนี้หรือปีนี้ ดังนั้น E ก็จะเพิ่มสูงขึ้น แล้ว P/E ก็จะลดลง แต่ เอาจริงๆถ้าจะคิดเลขกัน เพื่อนๆลองคิดกันเองละกันว่าบริษัทนี้ต้องกำไรเพิ่มขึ้นกี่ % P/E มันถึงจะกลับมาอยู่ต่ำกว่า 50?
วันนี้ฝากไว้เท่านี้ก่อน แล้วเจอกันใหม่นะค้าพร้อมกับเรื่องราวในงบการเงินตอนต่อไปค่ะ ^_^
ผู้เขียน : นานิ นิธินวกร ผู้เขียนหนังสือ “สร้างเงินล้านก่อนเรียนจบ”
สนับสนุนข้อมูลโดย : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (www.set.or.th/onlineinvestor)
.
sithiphong:
ธปท.ชี้แจง-แบงก์ขายประกัน
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด
-http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd05qRXlPVFl6TXc9PQ==§ionid=-
เรื่อง ชี้แจงกรณีเรื่องแบงก์กับธุรกิจประกันชีวิต
ตาม ที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ได้นำเสนอข่าว "แบงก์กับธุรกิจประกันชีวิต" คอลัมน์ บ.ก. ตอบจดหมาย หน้า 6 โดยระบุเนื้อข่าวข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของธนาคารและการทำธุรกิจ ประกันชีวิต นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอเรียนชี้แจงว่า ปัจจุบันการใช้บริการของลูกค้าธนาคารพาณิชย์มีความต้องการที่หลากหลาย และเพื่อให้เกิดความสะดวกและความคล่องตัวในการทำธุรกรรมของลูกค้า จึงได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตรับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง สามารถทำธุรกิจด้านการเป็นนายหน้าขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยได้ โดยการเสนอขายดังกล่าวจะต้องทำโดยพนักงานที่ได้รับอนุญาตและปฏิบัติตาม ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแล
ธปท.ตระหนักดี ถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน จึงได้ออกแนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัย ผ่านธนาคารพาณิชย์ กำหนดไม่ให้เสนอขายประกันเคาน์เตอร์เดียวกับการรับฝากหรือถอนเงินปกติ และจะต้องไม่เป็นลักษณะการบังคับขายที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา และให้ธนาคารพาณิชย์รักษาข้อมูลของผู้บริโภคไว้เป็นความลับ และห้ามให้ข้อมูลผู้บริโภคแก่หน่วยงานอื่น รวมถึงบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ เพื่อนำไปใช้เสนอขายบริการอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้บริโภค
ทั้ง นี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ประสานให้ธนาคารพาณิชย์กำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติงานหรือให้บริการ ภายใต้กรอบที่กำหนด โดยเฉพาะให้คำนึงถึงสิทธิของลูกค้าในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการทางการ เงินได้อย่างอิสระ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม ตลอดจนมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย และที่สำคัญ ธปท.ได้สุ่มตรวจสอบในบางพื้นที่ รวมถึงมีการสื่อสารและประสานกับผู้บริหารธนาคารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือในการดูแลและติดตามการแก้ปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับ การกำหนดเป้าหมายงานของพนักงานธนาคารพาณิชย์ที่มีการผูกโยงกับยอดการขาย ผลิตภัณฑ์ทางด้านประกันภัย
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการทางการเงินที่ประสบปัญหาจากการใช้บริการทางการเงิน สามารถร้องเรียนมาได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1213
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอความร่วมมือท่านในการพิจารณานำเสนอคำชี้แจงของ ธปท. เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสาธารณชน
ขอแสดงความนับถือ
นายนันทวัฒน์ สังข์หล่อ
ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารสัมพันธ์
ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร
ผู้ว่าการ(แทน)
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version