ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"

<< < (44/58) > >>

sithiphong:
รายได้(ต่อเดือน) - เงินออม = ค่าใช้จ่าย

สูตรสมการทางการเงินอย่างง่ายๆ

ก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่า เรามีรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายรายปีเท่าไหร่ (เช่น ค่าประกันอัคคีภัย , ค่าประกันภัยรถยนต์ หรือ ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายปีละครั้งหรือสองครั้ง เช่น ค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายของลูก) เราต้องนำมาเฉลี่ยต่อเดือน ในที่นี้ผมจะเรียกว่า ค่าใช้จ่ายรายปี(เฉลี่ยต่อเดือน)

ต่อมาเราต้องทราบว่า รายจ่ายที่เราต้องจ่ายจริงๆในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง (เช่น เงินที่ผ่อนบ้าน , ผ่อนสินเชื่อประเภทต่างๆ เป็นต้น) ในที่นี้ผมจะเรียกว่า ค่าใช้จ่ายจริงต่อเดือน

เมื่อเรารู้ค่าใช่้จ่าย (ค่าใช้จ่ายรายปี(เฉลี่ยต่อเดือน) และค่าใช้จ่ายจริงต่อเดือน) แล้ว เราต้องรู้รายรับ

เราต้องเฉลี่ยรายรับต่อเดือนให้รู้ว่า เรามีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่

อีกประการ หากเราต้องการมีเงินออม เราต้องคิดว่า เราจะเก็บเงินที่เราต้องการออมไว้เดือนละเท่าไหร่ (เงินจำนวนนี้ ต้องใจแข็ง ห้ามใช้ สำคัญมากขึ้นและดีขึ้นก็คือ เรานำเงินจำนวนนี้ นำไปลงทุนเพื่อหาดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก)

เราจะได้ไปคำนวนเรื่องเงินกัน

รายได้ต่อเดือน - เงินออม - (ค่าใช้จ่ายรายปี(เฉลี่ยต่อเดือน) = ค่าใช้จ่ายจริงต่อเดือน + ค่าใช้จ่ายประจำวัน

ค่าใช้จ่ายรายปี(เฉลี่ยต่อเดือน) ที่หักไว้ ผมแนะนำให้นำไปลงทุน แต่ต้องกะระยะเวลาที่สามารถถอนออกมาเพื่อนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายรายปีของประเภทนั้นๆได้

หากเรามีรายได้ที่น้อยลง เราต้องหาวิธีการที่จะพยุงการเงินในครอบครัวของเรา

มีวิธีอยู่ 2 วิธีคือ

1.การหารายได้เพิ่ม
นั่นคือการหางานอื่นทำให้มากขึ้น

2.การลดรายจ่าย
ผมว่าวิธีนี้ น่าจะเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าข้อที่ 1 การลดรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน แนะนำว่า ลองจดค่าใช่จ่ายประจำวัน แล้วกลับไปดูว่า ค่าใช้จ่ายประจำวัน เราจ่ายอะไรไปบ้าง เรื่องไหนที่จำเป็น เรื่องไหนที่ไม่จำเป็น หากเรื่องไหนที่ไม่จำเป็นก็ให้งดจ่ายในเรื่องนั้นๆ

ลองทำกันดู แต่หากอ่านแล้วงง ถามผมในกระทู้ฯได้ตลอดน๊ะครับ ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีเลย ผมเป็นห่วงครับ

ด้วยรักและห่วงใย
sithiphong

sithiphong:
หมอลำชื่อดังตกอับ ถูกหลานขับไล่ต้องมาอยู่วัด

-http://news.sanook.com/1811015/-









นำเสนอข่าวโดยทีมงาน Sanook.com

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (11 มิ.ย.) พบหมอลำชื่อดังในอดีต ชีวิตตกอับลูกหลานขับไล่ออกจากบ้าน ต้องมาอาศัยที่วัดอดุลแก้วมอดี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทราบชื่อ หมอลำนวลปรางค์ อุทัยทิพย์ อายุ 80 ปี

จากการสอบถาม นางนวลปรางค์ เล่าว่า ได้มาอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เพราะไม่มีที่พึ่งพาแล้ว ก่อนหน้านี้เคยไปอยู่กับหลาน เพราะลูกและสามีที่เป็นอดีตนายอำเภอภูเวียง จ.ขอนแก่น ได้เสียชีวิตแล้ว แต่กลับถูกขับไล่ออกจากบ้าน ต่อมาจึงได้มาหอบข้าวของที่เหลือติดตัวมาขออาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ โดยไร้ญาติติดต่อและออกตามหา

นางนวลปรางค์ ยังเล่าว่า ในอดีตเคยเป็นหมอลำกลอนชื่อดัง เคยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผู้มีสัมพันธ์ดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ มรดกอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2550 ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เมื่ออายุ 20 ปี นางนวลปรางค์มีชื่อเสียงในด้านการขับร้องหมอลำที่ไพเราะ ทำให้มีงานแสดงติดต่อเข้ามามากมาย

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็ได้แต่งงานกับอดีตนายอำเภอภูเวียง จ.ขอนแก่น 14 ปี ต่อมา สามีก็เสียชีวิต และลูกชายก็เสียชีวิต ทำให้หมอลำนวลปรางค์เหลือตัวคนเดียว และเริ่มมีอายุมากขึ้น การงานที่เคยติดต่อเข้ามาก็เริ่มน้อยลง จนในที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ซึ่งมีหลานและเหลนอยู่ แต่กลับถูกด่า และขับไล่ให้ออกจากบ้าน จนกระทั่งขอมาอาศัยอยู่ที่วัดอดุลย์แก้วมอดี

ด้าน เจ้าอาวาสวัดอดุลย์แก้วมอดี บอกว่า ได้ให้ความช่วยเหลือนางนวลปรางค์ ให้ที่พักอาศัยและข้าวปลาอาหาร เพราะเห็นว่าแก่แล้ว และไม่มีที่พึ่ง แต่ด้วยความไม่เหมาะสมที่ทางวัดไม่มีแม่ชี หรือเด็กวัดที่จะคอยช่วยเหลือนางนวลปรางค์ได้ ทางกรรมการหมู่บ้านจึงได้หารือเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งไปอยู่ที่ บ้านพักคนชราที่ จ.นครพนม ซึ่งนางนวลปรางค์ก็ยินดีเดินทางไปในวันพรุ่งนี้

sithiphong:
4 ขั้นตอนกำจัดปัญหาเรื่องเงินๆทองๆให้หายขาด

-http://money.sanook.com/292989/-

ในที่สุดก็ต้นเดือน ในที่สุดก็ได้เงินเดือน แต่ปัญหาคือ สองสัปดาห์ต่อจากนี้ เรายังจะมีเงินเหลือกินเหลือใช้สบายๆ กันอยู่รึเปล่านี่สิครับ คิดว่าอาจจะเป็นพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทยเราที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีเหลือเกิน

ดังนั้น เรามาดูวิธีการจัดการเงินเดือน ให้มีใช้ได้สบายๆ ตลอดทั้งเดือน แถมมีเหลือให้เก็บให้ออมอีกด้วยดีกว่าครับ

1. บันทึกทุกอย่าง
เริ่มต้นด้วยสิ่งที่ทั้งง่าย และยากที่สุดก่อนครับ คือการบันทึกรายรับ รายจ่าย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราควักเงินจ่ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นการออม การจ่ายหนี้สิน เงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่ากิน ค่าใช้ ค่าเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจ

การบันทึกรายรับ รายจ่ายเป็นสิ่งที่คนเรามองข้ามมากที่สุด แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากครับ ยิ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนยิ่งจำเป็นจะต้องบันทึก เพราะว่าพวกเราได้เงินเป็นก้อน เดือนละเท่าๆ กัน แต่ว่ารายจ่ายของเราอาจจะไม่แน่นอน บางเดือนต้องทำฟัน บางเดือนโทรทัศน์เสีย คอมพิวเตอร์เสีย ต้องซ่อม ต้องมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยอื่นๆ ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกหลายอย่างครับ

ดังนั้นการบันทึกรายรับ รายจ่ายจะสามารถช่วยเตือนสติให้เราได้ ว่าเราเหลือเงินจริงๆ เท่าไหร่ ใช้ไปแล้วเท่าไหร่ เร็ว ช้าแค่ไหน บางคนพอเริ่มบันทึกหัวใจจะวาย เงินเดือนหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพิ่งสัปดาห์แรกหลังได้เงินเดือนเอง ทีนี้ หากเราบันทึกรายจ่ายเอาไว้เราก็สามารถย้อนกลับมาดูได้แล้วครับว่าเราใช้อะไรฟุ่มเฟือยบ้าง และประหยัดอะไรได้อีกบ้างนั่นเองครับ

2. แยกประเภทค่าใช้จ่าย
ในการบริหารเงินของเรา เราควรแยกประเภทค่าใช้จ่ายด้วยนะครับ โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ดังต่อไปนี้ครับ...

> ค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed expenses) เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่มียอดเท่าๆกัน ได้แก่ ค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ฯลฯ

> ค่าใช้จ่ายผันแปร (variable expenses) เป็นรายจ่ายที่มียอดไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ได้แก่ ค่าน้ำทัน ค่าช้อปปิ้ง ค่ากินดื่มเที่ยวนอกบ้าน ค่าอาหาร

> ค่าใช้จ่ายเพื่อการออม และการลงทุน (savings and investment) เป็นค่าใช้จ่ายที่กันเอาไว้เพื่อการออม หรือ การลงทุนในแต่ละเดือน


3. ออมเงินแบบอัตโนมัติ
เพื่อความมั่นใจ ปัจจุบันนี้เราสามารถเปิดบัญชีเงินออมอัตโนมัติ โดยบัญชีนี้จะเป็นบัญชีที่แยกต่างหาก และสามารถตั้งให้ตัดเงินจากบัญชีที่เราได้รับเงินเดือนได้โดยอัตโนมัติเพื่อนำไปเก็บออมนั่นเองครับ โดยเราสามารถสอบถามบริการกับทางธนาคารได้เลยเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งห่วงว่าเดือนนี้เงินฝากเรามีเท่าไหร่ สิ่งที่ดีอีกอย่างของการออมวิธีนี้คือเป็นการช่วยสร้างวินัยในการออม การใช้เงินให้เราด้วยครับ

4. จ่ายบิลอัตโนมัติ
พูดถึงเรื่องการออมแล้ว เราก็สามารถชำระบิลต่างๆ ด้วยการตัดบัญชีอัตโนมัติอยู่เช่นกัน ซึ่งจะสามารถช่วยให้เราไม่ลืมจ่ายเงินค่าโน่นนี่ แถมไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าเดินทางที่จะต้องใช้ในการออกไปจ่ายบิลเหล่านี้ด้วยครับ โดยสามารถทำได้ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิตก็ทำได้ เพียงแค่เราอย่าลืมตรวจสอบว่ารายละเอียดในบิลที่แจ้งมาถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องควรรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีให้แก้ไขนะครับ

เห็นไหมครับ การบริหารเงิน ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย เพียงแค่เราสร้างวินัยให้ตัวเอง อะไรๆ ก็เป็นไปได้ครับ ทำได้ตาม 4 ข้อข้างต้นรับรองเราจะสามารถกำจัดปัญหาเรื่องเงินๆ จากชีวิตเราได้แน่นอนครับ

sithiphong:
หนี้บัตรเครดิต...เรื่องสำคัญที่คนใช้บัตรเครดิตต้องเข้าใจ
โพสต์เมื่อ : 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:12:09

หนี้บัตรเครดิต...เรื่องสำคัญที่คนใช้บัตรเครดิตต้องเข้าใจ
-http://money.kapook.com/view123030.html-


         หนี้บัตรเครดิต เป็นแล้วสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คืออะไร ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้จะร้ายแรงแค่ไหน  ติดตามได้จากบทความนี้
   
         หนี้บัตรเครดิต  ที่หลายคนก่อไว้มาจากเหตุผลแตกต่างกันออกไป บางคนเกิดจากการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะความจำเป็น อยากได้สิ่งของราคาแพงแต่ไม่มีเงิน จึงต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ แต่บางคนก็ต้องแบกรับภาระหลายทางไหนจะค่าเทอมลูก ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ดังนั้นภาระความจำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ทุกสาเหตุนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันคือ การเป็นหนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่บวกกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สุดโหดทำให้หลายคนเกิดอาการเบี้ยวหนี้ พอเป็นหนี้แล้วไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้เขาก็ทวง พอทวงไม่ได้ก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันไป แต่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ จะเอาเวลาไหนไปศึกษากฎหมายบัตรเครดิต วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ หนี้บัตรเครดิต มาบอกให้ทำความเข้าใจไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ ว่าแล้วก็ไปเริ่มกันเลย       

หากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง คดีที่เกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นคดีประเภทใด

         ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตตามกฎหมายจะถือเป็น คดีแพ่ง  ส่วนโทษในคดีแพ่งจะมีเพียงการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น       

หากถูกฟ้องจะต้องขึ้นศาลอะไร ที่ไหน

         กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิตจะเข้าข่ายคดีเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งสถานที่ที่เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ ได้แก่ 1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล 2. ศาลที่มูลคดีเกิด (ที่ตั้งของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ได้ไปรับบัตรเครดิต)
   
ส่วนการจะฟ้องที่ศาลใดจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้

        1. ดูประเภทของคดีก่อนว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด

        2. ดูทุนทรัพย์ของคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดหรือศาลแขวง

         เช่น ศาลจังหวัด จะพิจารณาคดีแพ่งที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท

         ส่วนศาลแขวง จะพิจารณาคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท
   
คดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและมีอายุความกี่ปี

         ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป  ส่วนคดีหนี้บัตรเครดิตจะมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปี
     
เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้หรือไม่
 
         คำตอบคือ ได้ โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ดังนี้   

        1. ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ โทรทัศน์ เครื่องครัว มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด แต่ถ้าเป็นสร้อย แหวน นาฬิกา ของเหล่านี้แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
   
        2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร (ถ้าประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถขอต่อศาลได้
 
         ข้อควรรู้ หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน


     
เจ้าหนี้สามารถทำเรื่องขออายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้หรือไม่
   
         ข้อนี้อาจะยาวเสียหน่อย แต่คนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตควรจะทราบไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกรณีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือนครับ ถ้าลูกหนี้เพิกเฉยไม่ยอมติดต่อเจ้าหนี้ ไม่ยอมใช้หนี้ หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ทนายของฝ่ายเจ้าหนี้ก็อาจจะทำเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้
   
        สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำของข้าราชการจะไม่ถูกอายัดเงินเดือน หากลูกหนี้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือเป็นพนักงานบริษัท ฯลฯ จะถูกอายัดเงินเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

        1. อายัดเงินเดือนไม่เกิน 30 %

                  ลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท  (อายัดไม่ได้)

                  ลูกหนี้เงินเดือนเกิน 10,000 บาท อายัดได้ 30 % แต่จะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท   
 
            หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้   

        2. เงินโบนัส จะถูกอายัดไม่เกิน 50 %

        3. เงินตอบแทนการออกจากงาน จะถูกอายัด 100 %

        4. เงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง เจ้าหนี้จะสืบทราบและทำการร้องขอต่อศาลว่าจะอายัดเท่าไร

        5. บัญชีเงินฝาก (อายัดได้)

        6. เงิน กบข. (อายัดไม่ได้)

        7. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (อายัดไม่ได้) (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)

            แต่ถ้าทำกองทุนต่าง ๆ กับธนาคารต้องดูตามหลักเกณฑ์ของกองทุนว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ และมีข้อห้ามการบังคับคดีหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ และไม่มีข้อห้ามก็จะอายัดได้

        8. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน

        9. หุ้น กรมบังคับคดีสามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้

        10. เงินสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท หากเจ้าหนี้สืบทราบว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ใด สามารถอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้

        11. ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ กรมบังคับคดีจะอายัดเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด อาจดูเฉพาะส่วนของเงินปันผล ใบหุ้น ฯลฯ ของผู้ถูกอายัด
 
            การถูกอายัดเงินเดือน กรมบังคับคดีจะอายัด 30% จากเงินเดือนเต็ม ก่อนหักภาษีและประกันสังคม

กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้หรือไม่       

         ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถือว่าทรัพย์สินภายในบ้านเป็นสินสมรส เจ้าหนี้มีสิทธิ์นำชี้แถลงยืนยันต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมนำส่งเอกสารประกอบการยึดทรัพย์ได้ หากทรัพย์ภายในบ้านเป็นสินสมรสจริง


       
ในกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าว
 
         หลายคนอาจสงสัยว่าหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลง ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินที่ผู้ตายได้ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต เรื่องนี้มีคำตอบครับ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สินกันก่อนซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า "หนี้" ถ้าคนไหนก่อคนนั้นก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบครับ คนอื่นไม่เกี่ยว ดังนั้นชัดเจนแล้วว่า คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับว่าจะโดนทวงหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลงตามการตายของลูกหนี้ คนมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้กันไป โดยกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อลูกหนี้ได้เสียชีวิตลง เจ้าหนี้ก็จะต้องไปทวงหนี้เอาจากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้นครับ แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนตายก็จบครับเป็นอันว่า “เจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับชำระหนี้คืนเลย”
     
         ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดูเหมือนลูกหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ในทางปฏิบัติแล้วยังพอมีหนทางที่ลูกหนี้จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ได้ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกมา 3 วิธี ได้แก่ การประนอมหนี้ การโอนหนี้บัตรเครดิต และการปรับโครงสร้างหนี้
     
การประนอมหนี้
 
         การประนอมหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้ยินยอมลดจำนวนหนี้สินลง หรืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ผ่อนชำระในจำนวนเงินที่น้อยลงสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของลูกหนี้ ส่วนจำนวนหนี้ที่ยอมลดให้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ แม้ว่าบางครั้งเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่สูงแต่ถือว่าดีกว่าไปฟ้องร้อง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทางศาล และเป็นการรักษาชื่อเสียงของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้รายนั้นไม่ใช่เจ้าหนี้หน้าเลือด

การโอนหนี้บัตรเครดิต
     
         ส่วนใหญ่เวลาคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมักเกิดจากหนี้จากบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ ทำให้ต้องชำระหนี้หลายช่องทางพ่วงด้วยอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนบัตรที่ถือ ซึ่งภาระเรื่องดอกเบี้ยนี่แหละที่เป็นตัวการใหญ่ของปัญหาหนี้บัตรเครดิต ดังนั้นจึงมีหลายสถาบันการเงินที่รับโอนหนี้ ซึ่งการโอนหนี้ก็คือ การถ่ายโอนหนี้ค้างชำระจากสถาบันการเงินเดิมไปรวมไว้ยังสถาบันการเงินแห่งใหม่ ซึ่งลูกหนี้จะสะดวกในการรวมชำระหนี้ให้เป็นแห่งเดียว และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง ง่ายต่อการชำระหนี้มากขึ้น

         ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนชำระได้นานขึ้นทำให้มีเวลาในการตั้งตัวและหาเงินมาใช้หนี้ รวมไปถึงช่วยลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน เช่น การผ่อนบัตรเครดิต ต้องชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้าง ถ้าโอนหนี้แล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนได้น้อยลงขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่เลือกผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงิน
     
การปรับโครงสร้างหนี้
   
         เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบัน การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม, ขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงขอจ่ายเป็นค่างวดตามเงื่อนไขเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ออกไป เป็นต้น ดังนั้นพูดได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
   
         การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงกับผู้คนในยุควัตถุนิยมอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะว่าไปการมีบัตรเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด หากเรารู้จักการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและรู้จักคำว่า พอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ก็สามารถมีบัตรเครดิตได้ ดังนั้นจึงอยากจะฝากข้อคิดถึงผู้ที่เป็นหนี้ทุกประเภทว่าจะใช้จ่ายอะไรก็ตาม ขอให้นึกถึงความจำเป็นและศักยภาพในการชำระหนี้ของเราเป็นหลัก เพราะถ้าทำตามความต้องการของตัวเองมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดหนี้สินพะรุงพะรังจนเราไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด และอาจโดนฟ้องร้องจนเป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินตามมาก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมบังคับคดี, ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, lukkid.com, บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด, บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด, บริษัท อาณาจักรกฎหมาย จำกัด

sithiphong:
ศคง.

https://www.facebook.com/hotline1213
-https://www.facebook.com/hotline1213?pnref=story-

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version