ไททานิค โศกนาฏกรรมบนหน้าประวัติศาสตร์
-http://www.oknation.net/blog/print.php?id=162643-
อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) หรือ "เอสเอส ไททานิค" (SS Titanic) คือชื่อเรือเดินสมุทร ของบริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ (White Star Line) สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2455 ที่เบลฟาสท์, ไอร์แลนด์ (Belfast, Ireland) เป็นเรือที่เปิดศักราชใหม่ ให้กับอุตสาหกรรม เรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็น เรือลำแรก ๆ ของโลก ที่สร้างโดยโลหะ และรองรับผู้โดยสารได้กว่า 2,000 คน
ซึ่งการเดินทางครั้งแรก เริ่มการเดินทางที่ เซาแธมป์ทัน , อิงแลนด์ (Southampton, England) ในวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ.2455 ควบคุมโดย "กัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ" (Edward J. Smith) กัปตันที่ถือว่าเก่งกาจ และมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น เพื่อเดินทางไปยังนิวยอร์ก (New York), สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางครั้งนั้น มีผู้เดินทางรวมทั้งหมด 2,223 คน ซึ่งผู้โดยสารในเที่ยวนั้น ประกอบไปด้วย บุคคลชั้นสูง ในวงสังคม ของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงมีบุคคลสำคัญ และบุคคล ในวงสังคมชั้นสูง ซึ่งรวมไปถึง "เจ.พี มอร์แกน" (J.P. Morgan) เจ้าของ ไวท์สตาร์ และ "เจ. บรูซ อิสเมย์" (J. Bruce Ismay) ผู้จัดการไวท์สตาร์ รวมทั้งยังมี "โทมัส แอนดรูวส์" (Thomas Andrews) วิศวกรอาวุโส ของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์และ วูลฟฟ์" (Wolff) ผู้ออกแบบ และควบคุม การต่อเรือไททานิค แต่ต่อมา มอร์แกน ได้ยกเลิก การเดินทางกระทันหัน เนื่องจากล้มป่วย
ไททานิค มีห้องชุด (Suite) ระดับวีไอพี ซึ่งมีดาดฟ้าชมทิวทัศน์ส่วนตัวถึง 2 ห้อง ค่าโดยสารชั้นวีไอพีนี้ มีราคาสูง โดยมีห้องชั้นหนึ่ง 67 ห้อง ซึ่งภายในห้องทั้ง 67 ห้องนี้ มีการตกแต่งในสไตล์ต่าง ๆ กัน อาทิ แบบหลุยส์ แบบอิตาเลียนเรอเนซองส์ แบบดัตช์ ฯลฯ แถมบ้างห้องยังมีเตาผิงให้ นอกจากนี้แล้ว ยังมีสิ่งสนองความสุขสบาย อีกหลายต่อหลายอย่างด้วยกัน อาทิ ห้องอบไอน้ำแบบตุรกี (Turkish Bath), ลานเล่นสควอช (Squash court) ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่อง ที่ทันสมัยมากในยุคนั้น, มีสระว่ายน้ำ ซึ่งถือเป็นสระว่ายน้ำ ในเรือแห่งแรกของโลก, มีห้องออกกำลังกาย, ร้านตัดผม, ห้องสมุด และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่เดิมไททานิค ถูกออกแบบ ให้มีเรือชูชีพ ทั้งหมด 32 ลำ แต่ต่อมา ถูกตัดออก เหลือเพียง 20 ลำ ซึ่งสามารถ จุผู้โดยสาร ได้ทั้งหมดเพียง 1,178 คนเท่านั้น เนื่องจากมีความเห็นว่า เป็นสิ่งเกะกะ อีกทั้งยังเห็นว่า จำนวนเท่านี้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไททานิคออกจาก ท่าเรือเซาแธมป์ตัน (Southampton) เพื่อมุ่งหน้า ไปยังเมืองแชร์บูร์ก (Cherbourg) ของประเทศฝรั่งเศส แวะรับผู้โดยสาร โดยวันที่ 11 เมษายน ไททานิค แวะที่ท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ (Queenstown) ในไอร์แลนด์ (Ireland) และในเวลาประมาณบ่ายโมง ไททานิคถอนสมอ และมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ใครจะทราบเล่าว่า การถอนสมอครั้งนั้น เป็นการถอนสมอ ครั้งสุดท้ายของเรือไททานิค ที่จะต้องจากไป อย่างไม่มีวันกลับ..
ทะเลสงบและอากาศแจ่มใส การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้โดยสารบนเรือต่างรื่นเริงกับสิ่งต่าง ๆ กับการเดินทาง อันหรูหราบนเรือ ในวันที่ 12 และ 13 เมษายน หากแต่ว่า ในวันที่ 14 เมษายน ตามกำหนดการเดิมนั้น ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 14 จะต้องมีการซ้อม การใช้ชูชีพ โดยมีผู้โดยสาร ร่วมทำการฝึกซ้อมด้วย แต่การฝึกซ้อมนั้น ได้ถูกยกเลิกไป?
เช้าวันที่ 14 เมษายน กัปตันสมิท สั่งการ เดินเครื่อง เรือไททานิค เต็มที่ ซึ่งผู้อยู่ ในเหตุการณ์ เล่าว่าเป็นไปตาม ความต้องการของ "อิสเมย์" ผู้จัดการไวท์สตาร์ ที่ต้องการทำเวลา เพื่อให้ถึงนิวยอร์กก่อนกำหนด และลบสถิติที่เรือโอลิมปิก ที่เคยทำไว้ ดังนั้นไททานิค จึงแล่นด้วยความเร็วถึง 22.5 น้อต (1 น้อต = 1 ไมล์ทะเล : ชม., 1 ไมล์ทะเล หรือ nautical mile = 1.85 กิโลเมตร) ซึ่งเกือบถึงความเร็ว สูงสุดของเรือ คือ 23 นอต และในวันเดียวกันนี้เอง ที่ไททานิคได้รับวิทยุโทรเลขเตือน เรื่องภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางการเดินเรือ ประมาณ 6- 7 ครั้ง จากเรือเดินสมุทร ในสายแอตแลนติกเหนือ อาทิ จากเรือแคโรเนีย, บอลติก, อเมริกา, แคลิฟอร์เนียน, และเมซาบา ฯลฯ และที่ร้ายไปกว่านั้น ก็คือ ขณะเวลา 21.45 น. ไททานิคได้รับวิทยุโทรเลข เตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็ง และน้ำแข็ง กระจัดกระจาย อยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่พนักงานวิทยุโทรเลข ไม่ได้ทำการส่งข้อความนั้น ให้แก่กัปตัน หรือเจ้าหน้าที่คนใดเลย เพราะมัวแต่ ยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลข ให้แก่ผู้โดยสาร ในเรือนั่นเอง
จากนั้นในเวลาประมาณ 22.50 น. ทะเลที่สงบไร้ระลอกคลื่น มหาสมุทรที่เงียบสงัด ที่คงมีเพียงแต่เสียงหัวเรือ แหวกน้ำทะเลเท่านั้น เรือเดินสมุทรแคลิฟอร์เนียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ได้ส่งข่าวเตือนภัยแก่ไททานิค ว่าเรือแคลิฟอร์เนียน ไม่สามารถเดินเรือต่อไปได้ เนื่องจากถูกรายล้อมด้วยน้ำแข็ง ซึ่งจากนั้นเวลา 23.40 น. เจ้าหน้าที่สังเกตุการณ์ ที่อยู่บนเสากระโดงเรือ มองเห็นภูเขาน้ำแข็ง ในระยะกระชั้นชิด คือ อยู่ห่างออกไปราว 450 เมตร และได้ส่งสัญญาณเตือนภัย โดย "วิลเลียม เมอร์ด็อก" ซึ่งอยู่เวรในขณะนั้น สั่งให้หยุดเรือ แล้วเดินเครื่องถอยหลัง และเบนเรือไปทางซ้าย แต่ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว เพราะภายในเวลาประมาณ 40 วินาทีเท่านั้น ไททานิคที่แล่นด้วยความเร็วสูง ก็พุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็งทางกราบขวา
จากนั้นกัปตันสมิท ได้เชิญ โทมัส แอนดรูวส์ ประเมิน ความเสียหาย ซึ่งหลังจาก ประเมิน ความเสียหายแล้วนั้น เวลาประมาณ เที่ยงคืน กัปตันสมิท สั่งให้ เจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลข ให้ส่งสัญญาณซีคิวดี (CQD) ขอความช่วยเหลือ รวมทั้งมีการยิงพลุ และสั่งให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพให้พร้อม จากนั้นในเวลา 00.25 น. ของวันที่ 15 เมษายน กัปตันสมิทได้สั่งให้ลูกเรือ เริ่มทยอยพาผู้โดยสารลงเรือชูชีพ ท่ามกลางความวุ่นวายโกลาหลของผู้คน โดยกัปตันนั้นทราบดีว่า เรือชูชีพนั้นมีไม่เพียงพอ ที่จะจุผู้โดยสารทั้งหมดได้ จึงได้สั่งให้เด็กและสตรีลงเรือก่อน และในขณะเดียวกันนี้ เรือคาร์เพเทียที่อยู่ห่างออกไป 93 กิโลเมตร ได้รับสัญญาณ ขอความช่วยเหลือ และรีบมุ่งหน้า มาช่วยด้วยความเร็วเต็มพิกัด
ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ยิ่งเกิดความโกลาหลมากขึ้น โดยทุกคนต่างทะลัก มาอยู่ที่ดาดฟ้าของเรือ เพื่อแย่งกันลงเรือชูชีพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดกั้น ทางเดินเรือของผู้โดยสารชั้น 3 ไว้ เพื่อลดความวุ่นวาย รวมทั้งมีการใช้อาวุธปืนยิงผู้โดยสาร เพื่อควบคุมสถานการณ์อีกด้วย แต่เพราะการขาดการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน เหล่าลูกเรือจึงจัดผู้โดยสาร ขึ้นเรือชูชีพได้ไม่เร็วนัก อีกทั้งด้วยความไม่มั่นใจ ในความแข็งแรงของเสาเดวิต (Davit) ทำให้บรรทุกผู้โดยสารไม่เต็มลำเรือ โดยเรือชูชีพลำแรกนั้น ถูกปล่อยลงทะเลโดยมีผู้โดยสารเพียง 28 คนเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วบรรทุกได้ถึง 65 คน!!! ซึ่งเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้มีผู้รอดชีวิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
สถานการณ์ เลวร้าย มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ เร่งพยายาม ขนย้ายผู้โดยสาร ที่เป็นเด็ก และสตรี ให้ได้เร็วที่สุด รวมทั้ง พนักงานวิทยุโทรเลข พยายามส่งสัญญาณ ขอความช่วยเหลือ อย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งภาพของผู้คน ในขณะนั้น ต่างดิ้นรน เพื่อที่จะเอาชีวิตรอด และในวินาทีนี้ ที่ทำให้แต่ละคนนั้น เผยธาตุแท้ ของตนออกมา โดยพวกผู้ชาย ที่คุมสติได้ พยายามยิ้มรับ ความตายอย่างอาจหาญ บางคนกลับไป แต่งชุดใหญ่เต็มยศ เพื่อรอรับความตาย ที่อยู่เบื้องหน้า บ้างก็นั่งออกกำลังกาย เพื่อฆ่าเวลารอความตาย และในขณะเดียวกัน มีสตรีบางท่านที่ปฏิเสธการขนย้าย เพื่อที่จะได้อยู่คู่กับสามีคู่ชีวิต ในยามวิกฤตเช่นนี้ แต่ก็ยังมีชายบางคน ที่ถึงขนาดเอาผ้ามาคลุมศรีษะ เพื่อที่จะพรางตัวเป็นสตรี เพื่อลงไปยังเรือชูชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "เจ. บรูซ อิสเมย์" ผู้จัดการไวท์สตาร์ ผู้ที่ต้องล้มละลาย ทางเกียรติยศไปตลอดชีวิต.
เหล่านักดนตรีผู้กล้านั้น ได้แสดงสปิริต อย่างน่าชื่นชม โดยพวกเขา พยายามเล่นดนตรี เพื่อผ่อนคลาย ความตื่นตระหนก ของคนบนเรือตลอดเวลา และบรรเลง จนนาทีสุดท้ายของชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 02.05 น. เรือชูชีพลำสุดท้าย ถูกปล่อยออกไป จากเรืออันหรูหรา ที่จะเข้าสู่การมรณะนี้ จากนั้นไม่นาน ก็มีเสียงดัง กึกก้องกัมปนาท จากบนเรือ ไฟบนเรือดังทั้งหมด และไม่นาน เรือลำนี้จมลงสู่ก้น มหาสมุทรแอตแลนติก ท่ามกลางค่ำคืนอันหนาวเหน็บ และมืดมิด พร้อมกับชีวิตอีกมากมาย ที่เหลืออยู่บนเรือลำนั้น คงเหลือไว้เพียง แต่เด็กและสตรี ที่ลอยคอ รอการช่วยเหลือ อยู่ในมหาสมุทร อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่ลอยคออยู่นั้น บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็รอด ซึ่งสาเหตุทีเสียชีวิต มาจากความหนาวเย็น ของน้ำทะเล
แต่หากถามถึง ผู้เป็นกัปตัน อย่าง "กัปตันสมิท" นั้น เขาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เขา ได้ทำหน้าที่อันสำคัญ และทรงเกียรติของกัปตัน ด้วยการอยู่เคียงข้างลูกเรือ ที่เหลือทั้งหมด บนเรือมรณะลำนั้น จวบจนวาระสุดท้าย...
หลังจากเกิดเหตุนั้น พบว่ามีผู้รอดชีวิตเพียง 706 ชีวิต เสียชีวิตทั้งหมด 1,517 ราย จากจำนวน ผู้โดยสารทั้งหมด 2,223 คน ซึ่งเวลาประมาณ 04.20 น. เรือโดยสาร ขนาดใหญ่ชื่อ "อาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย" (RMS Carpathia) ได้เข้าไป ช่วยเหลือ ผู้รอดชีวิต บนเรือบดทั้งหมด และพาสู่นิวยอร์ก ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2455 จากนั้น วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2528 ซากเรือไททานิค ได้ถูกค้นพบอีกครั้ง จากเหตุการณ์นี้ ได้มีการนำมาสร้าง เป็นภาพยนตร์ที่โด่งดัง โดยใช้ชื่อเรื่องชื่อเดียวกับเรือ "Titanic" กำกับโดย "เจมส์ คาเมรอน" (James Cameron) และนำแสดงโดย Leonardo Dicaprio และ Kate Winslet
ที่มา : -http://www.pakxe.com/home/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=817&page=1-
โดย คนเล่าเรื่อง
-http://www.oknation.net/blog/print.php?id=162643-
.