ผู้เขียน หัวข้อ: ๖ พระสูตร โดย พระอาจารย์ชยสาโร  (อ่าน 1845 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
๖ พระสูตร โดย พระอาจารย์ชยสาโร
« เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2012, 10:41:26 pm »




 ๖ พระสูตร
โดย
พระอาจารย์ชยสาโร
คำนำ

ขอชี้แจงนิดหนึ่งว่า หนังสือหกพระสูตรนี้ ไม่ใช่หนังสือวิชาการเต็มตัว
(จะได้ครึ่งตัวก็ยังไม่แน่ใจ) อาตมาจึต้องขอโทษผู้รู้ทั้งหลาย

ซึ่งอ่านแล้วอาจจะผิดหวัง หรืออ่านไม่กี่หน้าแล้วต้องวางด้วยความรำคาญใจ
อาตมามาจากประเทศด้อยพัฒนา (ทางพุทธธรรม) แล้วมาบวชในวัดป่า
มีการศึกษาน้อย แต่รักพระสูตรมาก และปรารถนาให้คนอื่นได้สนใจพระสูตรบ้าง

อาตมาจึงบังอาจเขียนขยายความของพระสูตรบ้างเล็กน้อยในสำนวนที่หวังว่า
อ่านง่าย อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำผู้อ่านทั้งหลายถ้าสงสัยว่า
อธิบายถูกหรือเปล่า
ขอลองหาพระไตรปิฏกเล่ม ๒๒ อ่านพระสูตรที่ผู้เขียนปรารภถึง
เพื่อจะได้ชิมรสของ ของจริง บ้าง


ชยสาโร ภิกขุ , กรกฎาคม ๒๕๔๖

พระสูตร ๑ ภาวะยอดเยี่ยม ๖ ประการ

บางคนขณะเดินออกจากโรงหนัง อุทานกับเพื่อนว่า เยี่ยมเนาะบางคนฟังดนตรีที่ชอบ ต้องอุทานออกมาคนเดียวว่า เยี่ยม! เจ้านายชมงานของลูกน้องที่ทำให้บริษัทได้เซ็นสัญญาสำคัญว่า ยอดเยี่ยมจริง ๆ ! การตัดสินว่าอะไรทางโลกเยี่ยม ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างเช่นข้อตกลงของผู้เชี่ยวชาญ ค่านิยมของสังคม
ความพอใจส่วนตัว ผลประโยชน์เป็นต้น ในทางพระพุทธศาสนาเราถือกันว่า เป้าหมายชีวิตที่สูงสุดคือการพ้นทุกข์ พ้นกิเลส การดำเนินชีวิตดีงามด้วยปัญญา และความเมตตากรุณา เพื่อประโยชน์สุขของตัวเอง และคนอื่น

เมื่อมองจากมุมนี้ เราไม่อยากพูดว่าสิ่งที่อยู่ในโลกยอดเยี่ยม เพราะนั่นหมายความว่าไม่มีอะไรสูงกว่า ลึก ๆอยู่ในใจหลายคนอาจจะอยากพูดว่ามันแค่นั้นแหละ แต่ไม่กล้าพูด เดี๋ยวเขาจะเสียใจ สิ่งที่เยี่ยมในวงการนั้นวงการนี้ เยี่ยมในตลาดสินค้า อาจจะไม่ใช่สิ่งที่มีผลดีต่อชีวิตก็ได้ ปืนพกที่ยอดเยี่ยมของปีนี้ก็ไม่น่าซื้อ พระองค์ทรงเห็นว่าชีวิตของมนุษย์ปุถุชนเหมือนกรง เพราะถูกกักขังในที่คับแคบ ด้วยอำนาจของความโลภความโกรธ ความหลง ถึงจะเป็นกรงทองคำก็ยังเป็นกรงอยู่ดี สิ่งใดมีหน้าที่แค่ประดับกรงเป็นของยอดเยี่ยมไม่ได้ สิ่งใดช่วยให้เราพ้นจากกรง สิ่งนั้นแหละยอดเยี่ยม ครั้งหนึ่ง° พระองค์จึงตรัสถึงภาวะยอดเยี่ยม ๖ ประการคือ

การเห็นอันยอดเยี่ยม
การฟังอันยอดเยี่ยม
การได้อันยอดเยี่ยม
การศึกษาอันยอดเยี่ยม
การบำรุงอันยอดเยี่ยม
การระลึกอันยอดเยี่ยม
°อนุตตริยสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒)

การเห็นอันยอดเยี่ยม คือเห็นสิ่งยอดเยี่ยมอย่างยอดเยี่ยม หมายถึงการเห็นพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยความรู้สึกที่เยี่ยมคือ ศรัทธาความเลื่อมใสยิ่งและ "ความรักที่ตั้งมั่น" ทำไมจึงถือว่าเยี่ยม เพราะการเห็นพระอริยะเจ้าด้วยจิตศรัทธา ย่อมประทับใจมาก ทำให้ผู้เห็นร่าเริงในธรรม ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติของตน วันที่อาตมาเห็นหลวงพ่อชาครั้งแรก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต หลังจากนั้นไม่สงสัยว่ามรรคผลนิพพานมีจริงอีกแล้ว ไม่สงสัยว่าชีวิตพรหมจรรย์ คือชีวิตอันประเสริฐ ตอนนั้นยังฟังภาษาไทยไม่ออก แต่ได้สิ่งล้ำค่าด้วยการเห็น บางคนเคยไปกราบครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วไม่ประทับใจ บางคนไปโกรธท่านก็ยังมี เขาเห็นสิ่งยอดเยี่ยมด้วยจิตที่พองด้วยความสำคัญตัว

ก็เลยไม่ได้อะไร จะว่าไปแล้วลิงได้แก้วยังเก่งกว่า อย่างน้อยก็ได้สังเกตความงามของแก้ว ตาแวววับด้วยโกรธแม้ความแวววามของแก้วก็ไม่เห็น สรุปว่าจะให้การเห็นเป็น อนุตตริยะ ต้องพร้อมทั้งสิ่งที่เห็นและผู้ที่เห็นจึงจะถือได้ว่ายอดเยี่ยม

การฟังอันยอดเยี่ยม ก็เหมือนกัน หมายถึงการฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือแม้นแต่การพรรณนาคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยศรัทธาความเลื่อมใสยิ่ง ก็ยอดเยี่ยม ฟังเพลง ฟังข่าว ฟังคำสอนของลัทธิศาสนาอื่น ไม่ถือว่ายอด เพราะไม่นำไปสู่กำลังใจ และกุศโลบายเพื่อปล่อยวางกิเลส ถ้าฟังสิ่งยอดเยี่ยมแต่จิตใจคอยจับผิด ฟุ้งซ่าน หรือง่วงก็ไม่ยอดเยี่ยมเหมือนกัน ฟังด้วยศรัทธา ด้วยความเคารพด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยปัญญาแล้วปฏิบัติตาม เพื่อพ้นทุกข์ นั่นแหละยอดเยี่ยม

การได้อันยอดเยี่ยม ไม่ใช่การได้แก้วมณี หรือทรัพย์สมบัติเงินทอง เพราะการได้อย่างนั้นไม่นำไปสู่ความดีงามตรงกันข้าม อาจทำให้ผู้ได้หลงใหลแล้วทำบาปกรรม สร้างเหตุให้ต้องเดือดร้อนในอนาคต ลาภอันยอดเยี่ยมคือ อริยทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต (พหูสูต) ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และปัญญา อริยทรัพย์เป็นของยอดเยี่ยมเพราะนำเจ้าของ ไปในทางที่เจริญอย่างแน่นอน ไม่มีโทษ ไม่ชวนให้หมกหมุ่น มีอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ต้องไปเบิกที่ธนาคาร เมื่อได้มาแล้วใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักหมด และเป็นทรัพย์ที่ปลอดภัย ไม่มีใครแย่งชิงได้ เกิดประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เยี่ยมจริง ๆ !

การศึกษาที่ไม่ยอดเยี่ยมมีหลายอย่าง การเรียนวิชาอาชญากรรม (ส่วนมากโรงเรียนอยู่ในเรือนจำรัฐบาลเสียค่าเลี้ยงดูให้นักเรียน นักโทษอาวุโสสอนฟรี) เป็นตัวอย่างการศึกษาที่เสียเพราะเนื้อหาหลังสูตรไม่ดี การเรียนวิชาทางโลก ที่สังคมยอมรับและสนับสนุน มักมีผลต่อมนุษย์ทั้งในทางที่ดี และไม่ดี (คำถามเป็นการบ้าน ถ้าวิชาเศรษฐศาสตร์หายไปจากโลก โลกจะเลวลงหรือขึ้น) การศึกษาสิ่งที่ดีด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ หวังแต่ฐานเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวต่อไป ไม่มีทางยอดเยี่ยมได้ การเรียนเพื่อช่วยคนอื่นน่าชม แต่ยังไม่รับว่ายอด เพราะไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์

ในพระสูตรนี้ (และในบาลีทั่วไป) คำว่าศึกษาหมายถึง ๑.การเล่าเรียน และ ๒.การปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เล่าเรียนแล้ว คือขาดภาคปฏิบัติไม่ได้ การศึกษาอันยอดเยี่ยมคือ การระลึกกาย วาจา ใจ ของตน ตามหลัก ศีล สมาธิ และปัญญา ด้วยศรัทธา ความเลื่อมใสยิ่ง การศึกษาอย่างนี้เยี่ยม เพราะเป็นทางตรงไปสู่ความพ้นทุกข์ การดับทุกข์จะเกิดขึ้นก็ด้วย การศึกษาที่เป็นองค์รวมที่เรียกว่า ไตรสิกขานี้ เท่านั้น อริยธรรมย่อมเกิดจากอริยมรรค ๘ คือการศึกษาอันยอดเยี่ยม

การบำรุง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นับว่าเป็น การบำรุงอันยอดเยี่ยม เพราะย่อมนำไปสู่ความสุขและประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวงโดยถ่ายเดียว การบำรุงสถาบันอื่น ๆ ซึ่งมุ่งลดความทุกข์ของหมู่มนุษย์หรือสร้างสรรค์สิ่งมีประโยชน์ในสังคม ก็สมควรและน่าส่งเสริมแน่นอน แต่เนื่องจากว่ามีแต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่มีอานุภาพพอที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ การบำรุงพระศาสนาในทางที่ถูกต้อง ให้พระศาสนามั่นคงและรุ่งเรืองสืบต่อไปก็เป็นกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยศรัทธา และด้วยปัญญา ก็ได้บุญมากทีเดียว ส่วนการบำรุงลัทธิศาสนาที่ลบหลู่พระพุทธศาสนา หรือพยายามให้ชาวพุทธเปลี่ยนศาสนาใหม่ ไม่ควรบำรุง

การระลึกอันยอดเยี่ยม คือ การระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยแล้ว เราได้น้อมจิตไปสู่สิ่งสูงสุด พอระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระวิสุทธิคุณของพระพุทธองค์ด้วยศรัทธาแล้ว เรารู้สึกเบิกบาน จะทบทวนการปฏิบัติของเราแล้ว มีกำลังใจบำเพ็ญต่อไป ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนว่าจริง ว่าลึกซึ้งอย่างไรก็เหมือนกัน ระลึกถึงพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้เป็นพยานว่าการปฏิบัติธรรมมีผลจริง ผู้เป็นตัวอย่างของความดีความงามด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ก็เหมือนกัน เพราะเหตุนี้แหละพระพุทธองค์จึงถือว่า เป็นการระลึกอันยอดเยี่ยม

http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=3136:2011-12-10-13-04-42&catid=39:2010-03-02-03-51-18&Itemid=161

ต่อ ๒ สิ่งที่เสริมสร้างความสนิทสนมในชุมชน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 01, 2012, 11:07:06 pm โดย ฐิตา »