ผู้เขียน หัวข้อ: มาทำความเข้าใจกับ “อาการหลงลืม” กันดีกว่า  (อ่าน 1278 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
มาทำความเข้าใจกับ “อาการหลงลืม” กันดีกว่า
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
30 เมษายน 2555 16:41 น.

เราทุกคนต่างก็เคย “ลืม” ด้วยกันทั้งนั้น บางคนเคยลืมชื่อคน ลืมว่าเก็บกุญแจไว้ที่ไหน ลืมว่าปิดประตูหน้าบ้านแล้วหรือยัง เป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งเราอาจลืมได้ แต่ถ้าลืมว่าเปลี่ยนเสื้อผ้าทำอย่างไร ลืมว่าจะใช้โทรศัพท์ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ใช้อยู่เป็นประจำ หลงทางจากตลาด กลับบ้านไม่ถูกทั้งๆ ที่ก็เคยไปตลาดแห่งนี้เป็นประจำ ถ้ามีอาการลืมเช่นนี้อาจเป็นอาการเริ่มต้นของปัญหาสมองเสื่อม
       
       วันนี้ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอาการหลงลืม หรือภาวะสมองเสื่อม (เรียบเรียงโดย พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย) มาฝากเป็นความรู้เพื่อให้ทุกบ้านเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างอาการขี้ลืม กับอาการหลงลืม หรือภาวะสมองเสื่อมกันได้ดียิ่งขึ้น
       
       เมื่อพูดถึงอาการขี้ลืม เมื่ออายุมากขึ้น การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อาจใช้เวลานานขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อระบบความจำ เช่น จำได้เฉพาะชื่อ หรือคำที่คุ้นเคยเท่านั้น หรือบางทีก็ต้องหาแว่นตาที่ทำหายเป็นประจำ ถ้าคุณ หรือสมาชิกในบ้านมีอาการเหล่านี้บ้างก็ไม่ต้องวิตกกังวล เหล่านี้เป็นอาการขี้ลืมเล็กน้อยเท่านั้น อาจทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น หางานอดิเรกทำ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายก็อาจช่วยให้ร่างกายสดชื่น สมองโปร่งโล่ง สามารถช่วยให้ความจำเฉียบแหลมได้นานๆ
       
       นอกจากนั้น อาจลองเรียนรู้ หรือฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ หรือทดลองใช้วิธีช่วยจำต่าง ๆ เช่น ปฏิทินตัวโต ๆ จดรายการสิ่งที่ต้องทำ หรือจดบันทึกช่วยจำต่างๆ หรือการเก็บสิ่งของ เช่น กระเป๋า กระเป๋าสตางค์ กุญแจ หรือแว่นตาไว้ที่เดิมทุกวัน รวมทั้งหาที่ปรึกษาก็น่าจะช่วยได้
       
       แต่สำหรับ “การหลงลืมหรือภาวะสมองเสื่อม” นั้น แตกต่างจาก “อาการขี้ลืม” ในข้างต้นตรงที่เป็นการหลงลืมจนมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถ การออกไปซื้อของ หรือการใช้เงิน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการหลงลืมอย่างมาก เริ่มจาก
       
       - การถามคำถามเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
       - เริ่มหลงทาง ทั้งที่เป็นสถานที่ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี
       - ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขั้นตอนไม่ถูกต้อง
       - เริ่มสับสน ไม่รู้เวลา ไม่รู้จักคนที่คุ้นเคย หรือสถานที่ที่คุ้นเคย
       - เริ่มไม่ใส่ตัวเอง เช่น ไม่อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าซ้ำหรือรู้สึกกลัวตลอดเวลา
       
       ลึกลงไปถึงสาเหตุของการหลงลืม มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน คือ ผลข้างเคียงของยาบางตัว ภาวะซึมเศร้า อาการขาดน้ำในร่างกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน และแร่ธาตุบางอย่างในร่างกาย การได้รับการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างไม่รุนแรง รวมไปถึงปัญหาจากโรคไทรอยด์
       
       นอกจากนั้น สาเหตุทางอารมณ์ของผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดอาการหลงลืมได้เช่นกัน เช่น ความรู้สึกโศกเศร้า เหงา ว้าเหว่ วิตกกังวลหรือรู้สึกเบื่อหน่าย ทางที่ดี การได้ทำงาน กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว และการเรียนรู้ ฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ อาจช่วยได้ แต่ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาร่วมด้วย หากรักษาสาเหตุทางอารมณ์เหล่านี้ได้ อาการหลงลืมจะบรรเทาลง

อัลไซเมอร์..โรคหลงลืมจากสมองเสื่อม
       
       นับเป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อม โรคนี้เริ่มจากมีอาการน้อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปโรคจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากเซลล์ประสาทในสมองเปลี่ยนไป และทำให้เซลล์สมองตายไปเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมตอนแรกเริ่มจะมีอาการของการหลงลืม ต่อมาก็จะหลงลืมมากขึ้น เริ่มคิดอะไรไม่ค่อยออก และค่อยๆ พัฒนาเป็นการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้ เช่น การออกไปซื้อของ ขับรถ ทำอาหาร หรือแม้แต่บางครั้งพูดคุยกันก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เมื่อโรคดำเนินไปเรื่อยๆ ร้ายแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจึงต้องมีที่พึ่งมีผู้ให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ เป็นต้น
       
       ถ้าตรวจพบว่า มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะต้น หรือระยะกลาง การรับประทานยารักษาจะช่วยได้ ซึ่งยาบางตัวช่วยให้อาการหลงลืมไม่แย่ลงตามเวลา ในขณะที่ยาบางตัวช่วยให้คลายอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ
       
       นอกจากโรคอัลไซเมอร์แล้ว อาการหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อมยังเกิดขึ้นได้จากหลอดเลือดสมองตีบ แตกหรือตัน ซึ่งคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ แต่ภาวะนี้มักจะเกิดอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองอย่างเฉียบพลัน ถ้าอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ความทรงจำอาจดีขึ้นเหมือนเดิม หรืออาการอาจทรงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน แต่ถ้าสมองขาดเลือดไปเลี้ยงอีก ความจำก็อาจแย่ลงไปอีก ดังนั้น การป้องกันไม่ให้มีความดันโลหิตสูงอาจลดความเสี่ยงที่จะมีความจำเสื่อมได้
       
       ดังนั้น วิธีการปรับตัวให้เข้ากับอาการหลงลืม อันดับแรก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ถ้าคุณหมอคิดว่ามันร้ายแรงก็อาจจะสั่งให้ตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจเลือด และปัสสาวะด้วย นอกจากนี้ อาจให้ทำแบบทดสอบที่จะตรวจสอบความจำ ทดสอบทักษะในการแก้ปัญหา หรือให้ทดสอบนับเลข และตรวจสอบการใช้ภาษา รวมไปถึงตรวจเอกซเรย์สมองแบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้มองเห็นได้ว่า เนื้อที่สมองส่วนไหนผิดปกติไปบ้าง เมื่อคุณหมอตรวจจนทราบสาเหตุแล้วจะได้หาทางรักษาอย่างทันท่วงที
       
       หากตรวจพบว่า คนในบ้านมีปัญหาสมองเสื่อม คนในครอบครัวคือคนที่สำคัญในการช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น พาไปออกกำลังกาย หรือช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ หรืออาจช่วยเตือนความจำว่าขณะนี้เป็นเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น หรือกลางคืน คอยบอกคอยเตือนว่าอยู่ที่ไหน คอยเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ที่บ้านกำลังทำอะไร หรือมีข่าวอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งมีบางครอบครัวอาจใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยเตือนเรื่องความจำ คือ
       
       - จดรายการที่ปฏิทินตัวโตๆ
       - จดรายการสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวัน
       - เขียนคำเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในบ้าน
       - เขียนคำแนะนำ วิธีใช้สิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน
       
       ปัญหาเรื่องอาการหลงลืมจนถึงขั้นที่มีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน นับเป็นเรื่องที่ทุกบ้านไม่ควรมองข้าม ถ้าวิตกกังวลเกี่ยวกับความจำ และพบว่ามีความผิดปกติมากขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของปัญหา และจะได้หาทางรักษาอย่างทันท่วงที

.

-http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053407-

.


คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)