ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งพระเจ้า (จาก
หนังสือภารตวิทยา)
ภควัทคีตา เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพหรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด
ชื่อคัมภีร์ ภควัทคีตา (ภควตฺ + คีตา) แปลว่า "บทเพลง (หรือลำนำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า"
คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศ คือมิได้แต่งขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวเป็นเล่มเฉพาะ เหมือนดัง
คัมภีร์พระเวทแต่ละเล่ม แท้ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาใน
บรรพที่ 6 (ภีษมบรรพ) แห่ง
มหากาพย์มหาภารตะ ในบทสนทนาโต้ตอบดังกล่าวนี้ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือ
พระอรชุน เจ้าชายฝ่ายปาณฑพแห่งจันทรวงศ์ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่
มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสตินาปุระจากฝ่ายเการพแห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชาย
ทุรโยธน์และกองทัพพันธมิตรมากมายเป็นศัตรูคู่สงครามด้วย
ฝ่ายที่ตอบปัญหาทั้งหมดและเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องก็คือ
พระกฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่าย
ราชสกุลจันทรวงศ์ สาขายาทพ ในขณะที่ตอบปัญหาอันล้ำลึกดังกล่าวนั้น พระกฤษณะกำลังทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้พระอรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสัญชัย ผู้เป็นเสวกามาตย์ของ
พระเจ้าธฤตราษฏร์ พระราชาพระเนตรบอดแห่งเมืองหัสตินาปุระ โดย
มหาฤษีวยาสหรือพระฤษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างแจ่มแจ้งทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูลพระเจ้าธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ
เพราะฉะนั้นข้อความสนทนาระหว่างบุคคลทั้ง 2 ในสนามรบก่อนจะเริ่มมหาสงครามจึงเป็นถ้อยคำที่สัญชัยเรียบเรียงทูลถวายพระเจ้าธฤตราษฎร์ และมาให้ชื่อกันในภายหลังว่า
ภควัทคีตา ทั้ง ๆ ที่ชื่อเดิมในมหาภารตะเรียกข้อความตอนนี้ว่า
ภควัทคีโตปนิษัท (ภควตฺ + คีตา + อุปนิษทฺ) ด้วยเหตุที่มีข้อความหลายตอนคัดลอกมาจาก
คัมภีร์อุปนิษัท ฉบับต่างๆ อันเป็นหมู่คัมภีร์รุ่นสุดท้ายในสมัยพระเวท ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
เวทานตะ (ที่สุดแห่งพระเวท) ตลอดจนความคิดเรื่อง
อาตมัน ปรมาตมัน พรหมมัน อันเป็นแก่นหรือสาระสำคัญที่สุดในคำสอนของอุปนิษัททุกเล่ม ก็มีกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งใน
ภควัทคีตา จะแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่ว่าข้อความในคัมภีร์อุปนิษัทนั้นแต่งเป็นภาษาร้อยแก้ว แต่ในคัมภีร์ภควัทคีตาแต่งเป็นบทร้อยกรอง
ฉะนั้น ถ้าจะกล่าวโดยแท้จริงแล้ว คำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตา เกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบของพวกภาควตะ ซึ่งบูชาพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดในนิกายของตน และคำสอนแบบดังกล่าวนี้มีมานานแล้วในหมู่พวกภาควตะอันเป็นชนอารยันอินเดียเผ่าหนึ่ง ต่อมาพวกนิกายไวษณพ หรือพวกที่นับถือพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุดได้ผนวกเอาพระกฤษณะเข้าไปเป็นพระวิษณุอวตาร หรือนารายณ์อวตารปางที่ 8 คำสอนของพวกภาควตะซึ่งเน้นในเรื่องความนับถือพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดก็ถูกกลืนเข้าไปผสมผสานกับแนวความคิดของพวกไวษณพที่มีส่วนในการแต่งมหากาพย์มหาภารตะอยู่มากมายหลายตอนจึงปรากฏออกมาในรูปภควัทคีตาดังที่ปรากฏเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้ และการที่จะเรียก
หนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ว่า ภควัทคีโตปนิษัท หรือ ภควัทคีตา หรือ คีตา เฉย ๆ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดียนิกายไวษณพ ในรูปแบบของบทสนทนาที่มีข้อความเกือบทั้งหมด เป็นคำอธิบายเรื่องวิถีทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด ส่วนบทที่เป็นคำถามของ
พระอรชุนในเรื่องความลึกลับและวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่เล็กน้อยเหลือเกิน คล้าย ๆ กับเป็นบทเชื่อมต่อระหว่างคำอธิบายอันยืดยาว แต่ละตอนของพระเจ้าในร่างมนุษย์คือ
พระกฤษณะเท่านั้นเอง
คัมภีร์ภควัทคีตา แบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า
อัธยายะ รวมทั้งสิ้น 18 อัธยายะด้วยกัน
ภควัทคีตา มี 18 อัธยายะ 1.อรชุน
วิษาทโยคะ (ความท้อถอยของอรชุน)
2.
สางขยโยคะ (หลักทฤษฎี)
3.
กรรมโยคะ (หลักปฏิบัติ)
4.
ชญาณกรรมสันยาสโยคะ (หลักจำแนกญาณ)
5.
กรรมสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละกรรมและการประกอบกรรม)
6.
ธยานโยคะ (หลักการเข้าฌาน)
7.
ชญาณโยคะ (หลักญาณ)
8.
อักษรพรหมโยคะ (หลักว่าด้วยพรหมไม่เสื่อมเสีย)
9.
ราชวิทยาราชคุยหโยคะ (หลักว่าด้วยเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ)
10.
วิภูติโยคะ (หลักทิพยศักดิ์)
11.
วิศวรูปทรรศนโยคะ (หลักว่าด้วยการเห็นธรรมกาย)
12.
ภักติโยคะ (หลักความภักดี)
13.
เกษตรชญวิภาคโยคะ (หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย)
14.
คุณตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกคุณ 3)
15.
ปุรุโษตตมโยคะ (หลักว่าด้วยบุรุษประเสริฐ)
16.
ไทวาสุรสัมปทวิภาคโยคะ (หลักว่าด้วยการจำแนกเทวสมบัติและอสูรสมบัติ)
17.
ศรัทธาตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกศรัทธา 3)
18.
โมกษสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละที่เป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ)
คัมภีร์ภควัทคีตาว่าด้วย
หลักธรรม 2 ประการ
คือ
หลักอภิปรัชญา ว่าด้วยเรื่อง
อาตมันว่ามีสภาพเป็นสัตว์ที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีใครฆ่าหรือทำลายได้ และ
หลักจริยศาสตร์ ว่าด้วยธรรมะหรือหน้าที่ของกษัตริย์ คือหน้าที่รบเพื่อทำลายล้างอธรรม และผดุงศีลธรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน
มหากาพย์มหาภารตะ เป็น
เอกภาพในท่ามกลางความแตกต่าง และเจตจำนงของวรรณกรรมชิ้นที่ได้สร้างภาพประทับใจให้เกิดแก่ผู้อ่านและผู้ฟังว่า อินเดียเป็นผืนแผ่นดินทีขึ้นอยู่กับศูนย์กลางการปกครองแหล่งเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมอันองอาจแกล้วกล้าของตนเอง เป็นเครื่องช่วงหล่อหลอมและสมัครสมานความสามัคคี”
มหากาพย์มหาภารตะนี้ได้เน้นสอนให้เรารู้จักความสำคัญของ
หลักศีลธรรมและจริยธรรมในการปกครองบ้านเมือง ตลอดจนในการดำเนินชีวิตโดยทั่วๆ ไป ซึ่งเราเรียกว่า
ธรรมะ หากปราศจากพื้นฐานแห่งธรรมนี้แล้วไซ้ร์ ชีวิตก็จะไม่มีความสุขอย่างแท้จริง และสังคมก็จะไม่มีอะไรเป็น
เครื่องยึดเหนี่ยวกันไว้ได้ เป้าหมายที่คนในสมัยนั้นต้องการบรรลุถึงก็คือ สวัสดิภาพของสังคม ซึ่งมิใช่เป็นแต่เพียงสวัสดิภาพของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น หากแต่เป็นสวัสดิภาพของสังคมทั้งผอง ทั้งนี้ก็เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ว่า “
ในโลกนี้สรรพสัตว์ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยกัน”
แต่ถึงกระนั้น
ธรรมะเองก็สัมพันธ์และขึ้นอยู่กับกาลเวลาและสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ยกเว้นแต่หลักอันเป็นมูลฐานบางประการ เช่น หลักแห่งการยึดมั่นอยู่กับสัจธรรม หลักแห่งการไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือที่เรียกกันว่าหลักอหิงสา ฯลฯ อันเป็นหลักที่ธำรงอยู่โดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ส่วนหลักอื่นนอกเหนือจากนี้ที่เรียกกันว่า ธรรมะ อันหมายถึง สิ่งที่รวมกันเข้าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบนั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
หลักอหิงสา ได้รับการเน้นหนักใน
มหากาพย์มหาภารตะนี้ เช่นเดียวกับที่ได้รับการเน้นหนักในที่อื่น ทั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะว่า หลักการนี้ดูไม่ขัดอะไรกับอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อเป้าหมายอันชอบธรรมเลย มหากาพย์มหาภารตะ ทั้งเล่มมีจุดใหญ่ใจกลางอยู่ที่การรบอันยิ่งใหญ่ คือ
มหาภารตะยุทธ์ โดยทั่วไปแล้วมโนคติอันเกี่ยวกับ
อหิงสา หรือ
หลักไม่เบียดเบียนกันนั้น ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเจตนา อันหมายถึง ไม่มีจิตใจเคียดแค้น การมีสติสัมปชัญญะควบคุมตนเองได้ และการอดกลั้นต่อความโกรธ และความชิงชัง แทนที่จะหมายถึงเพียงการเลิกละหรือยับยั้งจากการกระทำอันรุนแรงใดๆ ในเมื่อการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ศรีเนห์รู รัฐบุรุษ ผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวอินเดียเกือบ 500 ล้านคน ได้เขียนพรรณนาคุณค่าของ มหากาพย์มหาภารตะ ต่อไปว่า
“ มหากาพย์มหาภารตะ เป็น
คลังพัสดุที่เราสามารถค้นหาสิ่งดีมีค่านานาประการได้อย่างครบถ้วน เป็นงานวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา หลากรสหลายชนิด และอุดมสมบูรณ์อย่างล้นเหลือ ซึ่งผิดแผกแตกต่างอย่างมากมาย กับอีกลักษณะหนึ่งในแนวความคิด ในยุคต่อมาของอินเดีย อันเป็นแนวความคิดที่ เน้นถึงความสำคัญของการบำเพ็ญพรตและ
การละเว้นจากโลกีย์วิสัย มหากาพย์มหาภารตะ มิใช่เป็นงานวรรณกรรมที่บรรจงแต่คำสอนในเรื่องอันเกี่ยวกับศีลธรรมเท่านั้น แม้ว่าจะมีเรื่องประเภทนี้อยู่ไม่น้อยก็ตาม สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ได้สรุปเป็นใจความดังนี้ว่า
“
จงอย่าทำสิ่งที่ท่านไม่อยากให้ผู้อื่นกระทำต่อท่าน” เป็นที่น่าสังเกตว่า มหากาพย์โบราณชิ้นนี้ ได้เน้นหนักถึงเรื่อง สวัสดิภาพของสังคม ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตใจของชาวอินเดียนั้น มักจะมีผู้เข้าใจกันว่า
มีความโน้มเอียงไปในทางหาความสมบูรณ์หรือสัมฤทธิ์ผล
ส่วนบุคคล แทนที่จะคำนึงถึงสวัสดิภาพของ
ส่วนรวม มหากาพย์มหาภารตะสอนว่า
“สิ่งใดที่ไม่ก่อผลดีให้แก่สวัสดิภาพของสังคม หรือสิ่งใดที่สร้าง
ความละอายใจให้แก่ท่าน สิ่งนั้นขอท่านจงอย่ากระทำเป็นอันขาด”
นอกจากนี้มหากาพย์มหาภารตะยังได้สอนไว้อีกว่า
“ การ
แสวงหาสัจธรรม การควบคุมตนเอง การปฏิบัติสมาธิภาวนา การบำเพ็ญทาน การไม่เบียดเบียนกัน การยึดมั่นในคุณธรรม เหล่านี้ต่างหากคือ หนทางไปสู่ความสำเร็จ
หาใช่ชาติกำเนิดวรรณะหรือสกุลไม่”
“
คุณธรรมเป็นสิ่งประเสริฐกว่าความไม่ตายและการมีชีวิต”
“
ความสุขที่แท้จริงนั้น จะแยกออกเสียจาก
ความทุกข์หาได้ไม่” ส่วนผู้ที่มุ่งแต่จะ
แสวงหาทรัพย์สมบัติเพียงอย่างเดียวในชีวิตนั้น
มหากาพย์มหาภารตะ ก็มีคำเหน็บแนมฝากเตือนใจไว้ว่า “
ตัวไหมย่อมตายด้วยไหมของมันเอง”
และท้ายที่สุด มหากาพย์มหาภารตะ มี
คติพจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึง จิตใจของชนชาติที่รักความก้าวหน้า และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา คติพจน์นั่นก็คือ "ความไม่พอใจเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้มนุษย์เราก้าวไปข้างหน้า”
ท่านศรีเนห์รูได้กล่าวไว้ในหนังสือ
The Discovery of India ของท่าน
ขอขอบคุณแหล่งความรู้ดีดีจาก
หนังสือภารตวิทยา ของ ท่านอาจารย์ กรุณา-เรืองอุไร- กุศลาสัยฮะเร กฤษณะ ฮะเร กฤษณะ
กฤษณะ กฤษณะ ฮะเร ฮะเร
ฮะเร รามะ ฮะเร รามะ
รามะ รามะ ฮะเร ฮะเร-http://www.indiaindream.com/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B0/%E0%B8%A0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2.html