อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 13 : โลกวรรค

(1/3) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 13 : โลกวรรค
01.เรื่องภิกษุหนุ่ม

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  หีนัง ธมฺมํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง  พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง  ติดตามพระภิกษุชราไปที่บ้านของนางวิสาขา  หลังจากฉันข้าวยาคูแล้ว  ภิกษุชราออกจากบ้านนางวิชาเพื่อไปบ้านอื่น  จึงได้ปล่อยให้ภิกษุหนุ่มอยู่ที่บ้านของนางวิสาขารูปเดียว  หลานของนางวิสาขาขณะกรองน้ำถวายภิกษุหนุ่ม  แลเห็นเงาของตัวเองอยูในตุ่มน้ำก็ส่งเสียงหัวเราะ  เมื่อภิกษุหนุ่มเห็นหลานสาวของนางวิสาขาหัวเราะ  ก็ได้มองหน้าเธอแล้วก็หัวเราะบ้าง  หลานสาวของนางวิสาขาเกิดอารมณ์เสียเมื่อเห็นภิกษุหนุ่มหัวเราะ  จึงส่งเสียงตะโกนด่าไปว่า  คนหัวขาด หัวเราะอะไร  ภิกษุหนุ่มด่ากลับไปบ้างว่า  เจ้าน่ะแหละหัวขาด  แม่เจ้าก็หัวขาด  พ่อเจ้าก็หัวขาด 

หลานสาวของนางวิสาขาร้องไห้ไปฟ้องนางวิสาขาที่โรงครัว  นางวิสาขาจึงมาพูดกับภิกษุหนุ่มว่า  ท่านเจ้าคะ  อย่าโกรธเลย  คำที่พูดเป็นคำไม่หนักสำหรับพระผู้เป็นเจ้า  ผู้มีผมและเล็บอันตัดแล้ว  ผู้มีผ้านุ่งผ้าห่มอันตัดแล้ว  ผู้ถือกระเบื้องตัด ณ ท่ามกลาง  เที่ยวไปเพื่อภิกษา”   ภิกษุหนุ่มตอบว่า  มันก็จริงอยู่แต่นางไม่น่าจะมาด่าว่าหัวขาดอย่างนั้น    นางวิสาขาจึงไม่สามารถให้ภิกษุยอมรับฟังเหตุผลนาง และเมื่อพระเถระกลับมาที่บ้านนางวิสาขา  ท่านก็ไม่สามารถพูดให้ภิกษุหนุ่มนิ่งได้  ต่อมาพระศาสดาได้เสด็จมาตรัสถามถึงสาเหตุของการทะเลาะวิวาทนั้น  และทรงมองกาลไกลว่าพระภิกษุหนุ่มจะได้บรรลุโสดาปัตติผล  ทั้งทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะเข้าข้างภิกษุหนุ่ม  จึงตรัสกับนางวิสาขาว่า 

เป็นการไม่สมควรที่หลานสาวของท่านด่าสาวกของเราว่าหัวขาดเช่นนั้น  ภิกษุหนุ่มพอได้ยินพระศาสดาตรัสเข้าข้างเช่นนั้น ก็ลุกขึ้นยืนพนมมือถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  พระองค์ย่อมทรงทราบปัญหานั่นด้วยดี  อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์และมหาอุบาสิกา  ย่อมไม่ทราบด้วยดี “  พระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะกระตุ้นให้ภิกษุตอบสนองดำรัสของพระองค์มากยิ่งขึ้น   จึงตรัสว่า  “การหัวเราะปรารภกามคุณเป็นธรรมอันเลว  อนึ่ง การเสพธรรมที่ชื่อว่าเลว  และการอยู่ร่วมกับความประมาทย่อมไม่ควร”
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

หีนํ  ธมฺมํ  น  เสเวยฺย
ปมาเทน  น  สํวเส
มิจฺฉาทิฏฐึ  น  เสเวยฺย
น  สิยา  โลกวฑฺฒโน ฯ

(อ่านว่า) 
ฮีนัง  ทำมัง  นะ  เสเวยยะ
ปะมาเทนะ  นะ  สังวะเส
มิดฉาทิดถิง   นะ  เสเวยยะ
นะ  สิยา  โลกวัดทะโน.

(แปลว่า)
บุคคลไม่พึงเสพธรรมอันเลว
ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยความประมาท
ไม่พึงเสพความเห็นผิด
ไม่พึงเป็นคนรกโลก.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุหนุ่มตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว 
พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่ชนทั้งหลายผู้ประชุมกัน.

ฐิตา:


02. เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม  ทรงปรารภพระบิดา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อุตฺติฏฺเฐ   นปฺปมชฺเชยฺย  เป็นต้น
ที่มาของการตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้มีว่า

เมื่อพระศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกนั้น  ได้ประทับอยู่ในวัดนิโครธาราม   ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระญาติ   พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  ทรงดำริว่า  เมื่อพระสมณโคดมเป็นพระโอรสของพระองค์  ในวันรุ่งขึ้นก็น่าที่พระสมณโคดมจะเสด็จเข้ามาบิณฑบาตในพระราชวัง  แต่พระเจ้าสุทโธทนะก็มิได้เข้าไปทูลอาราธนาพระศาสดาโดยตรง  และท้าวเธอได้ตระเตรียมภัตตาหารสำหรับถวายภิกษุจำนวน 20,000 รูป  แต่พอถึงในเช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่า  พระศาสดาได้เสด็จไปบิณฑบาตพ้อมด้วยภิกษุทั้งหลายตามประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระนางยโสธรา  พระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะเสด็จออกผนวช  ทอดพระเนตรจากพระแกลเห็นพระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาต  พระนางได้เข้าไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ  พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้รีบเสด็จไปพบพระศาสดา  แล้วทูลว่า   สำหรับคนที่เป็นสมาชิกของพระราชวงศ์นั้น  ถือว่าการออกไปขออาหารจากบ้านหลังหนึ่งสู่บ้านอีกหลังหนึ่งนั้นเป็นสิ่งเสื่อมเสียเกียรติ  แต่พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า  เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องบิณฑบาตจากบ้านหลังหนึ่งสู่บ้านอีกหลังหนึ่งอย่างนี้  ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสมควรสำหรับพระองค์ที่จะรักษาประเพณีนี้ไว้
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

อุตฺติฏฺเฐ  นปฺปมชฺเชยย
ธมฺมํ  สุจริตํ  จเร
ธมฺมจารี  สุขํ  เสติ
อสฺมึ  โลเก  ปรมฺหิ  จ  ฯ

(อ่านว่า)
อุดติดเถ  นับปะมัดเชยยะ
ทำมัง  สุจะริตัง  จะเร
ทำมะจารี  สุขัง  เสติ
อัดสะหมิง  โลเก  ปะรัมหิ  จะ.

(แปลว่า)
บรรพชิตไม่พึงประมาทในก้อนข้าว
อันตนพึงลุกขึ้นรับ
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต
ผู้มีปกติประพฤติธรรม
ย่อมอยู่เป็นสุข ในโลกนี้และโลกหน้า.

ธมฺมํ  จเร  สุจริตํ
น  ตํ  ทุจฺจริตํ  จเร
ธมฺมจารี  สุขํ  เสติ
อสฺมึ  โลเก  ปรมฺหิ  จ ฯ

(อ่านว่า)
ทำมัง  จะเร  สุจะริตัง
นะ  ตัง  ทุดจะริตัง  จะเร
ทำทะจารี  สุขัง  เสติ
อัดสะหมิง  โลเก  ปะรัมหิ  จะ.

(แปลว่า)
บุคคลพึงประพฤติกรรมให้สุจริต
ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต
ผู้มีปกติประพฤติธรรม
ย่อมอยู่เป็นสุข ในโลกนี้และโลกหน้า.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล    พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่ชนทั้งหลายผู้ประชุมกัน.

ฐิตา:


03. เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้เจริญวิปัสสนามีประมาณ 500 รูป  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยถา  พุพฺพุฬกํ เป็นต้น

สมัยหนึ่ง  ภิกษุ 500 รูป  เรียนพระกัมมัฏฐาน  ในสำนักของพระศาสดาแล้ว   ก็ได้เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า  แม้จะขะมักเขม้นปฏิบัติอย่างไร  ก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษอะไร  ดังนั้นจึงได้พากันเดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อทูลขอหัวข้อพระกัมมัฏฐานที่เหมาะสมยิ่งขึ้น  ในระหว่างทางได้เห็นพยับแดด  ก็ได้นำพยับแดดมาพิจารณาเป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน  ในช่วงที่จะเข้าสู่บริเวณวัดพระเชตวัน  ได้เกิดฝนตก  เห็นฟองน้ำที่เกิดจากการตกลงมาของสายฝนมีลักษณะเกิดขึ้นแล้วแตกไป  ก็ได้ยึดเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ว่า  “อัตภาพนี้  เป็นเช่นกับฟองน้ำ  เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไปเหมือนกัน”  พระศาสดา  ประทับนั่งในพระคันธกุฎี  ทรงแลดูภิกษุเหล่านั้น  ทรงแผ่โอภาส  เหมือนตรัสกับภิกษุเหล่านั้น
ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยถา  พุพฺพุฬกํ  ปสฺเส
ยถา  ปสฺเส  มรีจิกํ
เอวํ  โลกํ  อเวกฺขนฺตํ
มจฺจุราชา  น  ปสฺสติ ฯ

(อ่านว่า)
ยะถา  พุบพุละกัง  ปัดเส
ยะถา  ปัดเส  มะรีจิกัง
เอวัง  โลกัง  อะเวกขันตัง
มัดจุราชา  นะ ปัดสะติ.

(แปลว่า)
พระยามัจจุ  ย่อมไม่เห็น
บุคลผู้พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งโลก
เหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ
และเหมือนบุคคลเห็นพยับแดด.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุพระอรหัตแล้ว  ในที่ที่ตนยืนอยู่นั่นเอง.


ฐิตา:


04. เรื่องอภัยราชกุมาร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภอภัยราชกุมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  เอถ  ปสฺสถิมํ  โลกํ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  อภัยราชกุมารทรงมีชัยชนะในการเสด็จไปปราบกบฏที่ชายแดน  พระเจ้าพิมพิสารผู้พระบิดา  ทรงพอพระทัย  พระราชทานราชสมบัติให้ครอบครองเป็นเวลา 7 วัน  และได้พระราชทานหญิงที่เก่งทั้งการเต้นรำและการขับร้องผู้หนึ่งแก่พระราชกุมารด้วย  ในวันสุดท้าย ขณะหญิงนักเต้นและนักร้องคนนั้นกำลังทำการแสดงเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่พระราชกุมารและข้าราชบริพารอยู่นั้น  นางเกิดเป็นลมเสียชีวิตอย่างฉับพลัน  พระราชกุมารถึงกับตกตะลึง และทรงโศกเศร้าเป็นอันมาก  ทรงดำริจะให้พระศาสดาทรงช่วยดับความเศร้าโศกให้  จึงเสด็จเข้าไปเฝ้า  กราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  ขอพระองค์จงให้ความโศกของข้าพระองค์ดับเถิด”พระศาสดา  ทรงปลอบพระราชกุมาร  ตรัสว่า  “กุมาร  น้ำตาที่ไหลออกมาจากดวงตาของเธอ  ที่ร้องไห้อยู่ในกาลแห่งหญิงนี้ตายแล้ว  ในวัฏฏสงสารที่หาเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้นี้  มีจำนวนมากมาย”  เมื่อจะทรงบรรเทาความเศร้าโศกของพระราชกุมาร  ได้ตรัสว่า  “กุมาร  เธออย่าเศร้าโศกไปเลย  ข้อนั้นเป็นที่จมลงของชนพาลทั้งหลาย”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

เอถ  ปสฺสถิมํ  โลกํ
จิตฺตํ  ราชรถูปมํ
ยตฺถ  พาลา  วีสีทนฺติ
นตฺถิ  สงฺโค  วิชานตํ ฯ

(อ่านว่า)
เอถะ  ปัดสะถิมัง  โลกัง
จิดตัง  ราชะระถูปะมัง
ยัดถะ  พาลา  วีสีทันติ
นัดถิ  สังโค  วิชานะตัง.

(แปลว่า)
ท่านทั้งหลาย  จงมาดูโลกนี้
อันตระการตา  ดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกอยู่
แต่พวกผู้รู้  หาข้องอยู่ไม่.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พระราชกุมาร ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกัน.

ฐิตา:


05.เรื่องพระสัมมัชชนเถระ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภพระสัมมัชชนเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โย  จ  ปุพฺเพ  ปมชฺชิตฺวา  เป็นต้น

พระสัมมัชชนเถระ  ทุกวันๆเสียเวลาทั้งหมดไปกับการกวาดบริเวณวัด  ในขณะนั้น  พระเรวตเถระได้ไปพักอยู่ในวัดแห่งเดียวกันนั้น  แต่พระเรวตเถระไม่เหมือนกับพระสัมมัชชนเถระ  โดยพระเถระรูปหลังนี้จะใช้เวลาให้หมดไปกับการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เมื่อพระสัมมัชชนเถระเห็นพฤติกรรมของพระเรวตเถระเป็นเช่นนั้น  ก็คิดว่าพระเรวตเถระเป็นพระเกียจคร้าน  จึงกล่าวว่า   “ท่านฉันอาหารของชาวบ้านที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้ว  ก็มัวแต่มานั่งหลับตา  ท่านถือไม้กวาดออกกวาดบริเวณวัด  จะไม่สมควรกว่าหรือ ?”   พระเรวตเถระตอบว่า  “คุณ  ธรรมดาภิกษุ  เที่ยวกวาดอยู่ตลอดเวลาไม่ควร  ภิกษุกวาดแต่เช้าตรู่แล้ว  เที่ยวบิณฑบาต  กลับจากบิณฑบาตแล้ว  มานั่งในที่พักกลางคืนหรือที่พักกลางวัน  สาธยายอาการ  32  เริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมในอัตภาพแล้ว  ลุกขึ้นกวาดในเวลาเย็นจึงควร  ภิกษุไม่ควรกวาดตลอดกาลเป็นนิตย์  พึงสร้างโอกาสให้แก่ตนบ้าง”    พระสัมมัชชนเถระได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเรวตเถระอย่างเคร่งครัด  และในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์    เมื่อพวกภิกษุอื่น มาเห็นขยะเกลื่อนกลาดอยู่ในบริเวณวัด  ก็ได้เรียนถามพระสัมมมัชชนเถระว่า  เพราะเหตุใดท่านจึงไม่เก็บกวาดขยะ  ปล่อยให้รกรุงรังอย่างนี้  พระสัมมัชชนเถระตอบว่า  “ท่านผู้เจริญ  กระผมทำแล้วอย่างนั้น  ในเวลาประมาท  บัดนี้  กระผมเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว”  ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่าพระสัมมัชชนเถระอวดอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์  และได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระศาสดาทรงทราบ  แต่พระศาสดาตรัสว่า  “อย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  บุตรของเราเที่ยวกวาดอยู่ในเวลาประมาทในก่อน  แต่บัดนี้  บุตรของเรายับยั้งอยู่ด้วยความสุขซึ่งเกิดแต่มรรคผล  จึงไม่กวาด”  เป็นการตรัสบอกว่า  พระสัมมัชชนเถระเป็นพระอรหันต์จริงๆ  และท่านก็ไม่ได้กล่าวเท็จ
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  จ  ปุพฺเพ  ปมชฺชิตวา
ปจฺฉา  โส  นปฺปมชฺชติ
โสมํ  โลกํ  ปภาเสติ
อพฺภา  มุตฺโตว  จนฺทิมา  ฯ

(อ่านว่า)
โย  จะ  ปุบเพ  ปะมัดชิดตะวา
ปัดฉา  โส  นับปะมัดชะติ
โสมัง  โลกัง  ปะพาเสติ
อับพา  มุดโตวะ  จันทิมา.

(แปลว่า)
ก็ผู้ใดประมาทในก่อน
ภายหลังไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างได้
เหมือนดวงจันทร์  พ้นจากเมฆหมอก  ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย   มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version