อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 14 : พุทธวรรค

<< < (2/2)

ฐิตา:


06. เรื่องปุโรหิตชื่ออัคคิทัตต์

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ประทับนั่งบนกองทราย  ทรงปรารภปุโรหิตของพระเจ้าโกศล ชื่ออัคคิทัตต์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  พหุ   เว  สรณํ   ยนฺติ  เป็นต้น

ที่มาของการตรัสพระธรรมบท  ห้าพระคาถานี้มีว่า
อัคคิทัตเป็นปุโรหิตของเจ้ามหาโกศล   พระบิดาของพระเจ้าปเสทนิโกศล   หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ามหาโกศล  ปุโรหิตอัคคิทัต ก็ได้นำทรัพย์สมบัติของตนออกบริจาคเป็นทาน  จากนั้นก็ได้ละทิ้งบ้านเรือนออกไปบวชเป็นนักบวชภายนอกพุทธศาสนา  ท่านอัคคิทัตมีศิษย์ที่บวชตามและอยู่ด้วยกันกับท่านจำนวน 10000 ท่านและศิษย์ได้ไปพำนักอยู่ด้วยกันที่พรมแดนระหว่าง แคว้นอังคะ  แคว้นมคธ  และแคว้นกุรุ  ซึงเป็นสถานที่ซึ่งไม่ไกลจากเนินทรายใหญ่อันเป็นที่อยู่ของพระยานาค ชื่อ อหิฉัตต์   มีชาวบ้านจากแคว้นอังคะ  แคว้นมคธ และแคว้นกุรุนำเครื่องสักการะมากหลายไปถวายแก่พวงนักบวชโดยการนำของท่านอัคคิทัตต์ ทุกๆเดือน   ท่านอัคคิทัตต์ได้ให้โอวาทแก่คนเหล่านั้นว่า “ พวกท่านจงถึงภูเขาเป็นสรณะ  จงถึงป่าเป็นสรณะ  จงถึงสวนเป็นสรณะ  จงถึงต้นไม้เป็นสรณะ   พวกท่านจักพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้ ”

ในเวลาจวนรุ่งของวันหนึ่ง  พระศาสดา  ทรงตรวจดูสัตวโลก  ทรงเห็นอัคคิทัตพราหมณ์พร้อมด้วยศิษย์  เข้ามาอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์แล้ว  ทรงทราบว่าทุกคนจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ในตอนเย็น  ได้ตรัสกับพระมหาโมคคัลลานเถระให้เดินทางไปอบรมสั่งสอนอัคคิทัตและศิษย์ในแนวทางที่ถูกต้อง  และพระองค์ก็จะเสด็จไปสมทบในภายหลังด้วย 

พระมหาโมคคัลลานะได้เดินทางไปยังสถานที่อยู่ของอัคคิทัตพราหมณ์และศิษย์ และได้ขอพักอาศัยค้างแรมด้วยสักคืน   อัคคิทัตพราหมณ์ในตอนแรกปฏิเสธที่จะให้ที่พัก  แต่ในที่สุดได้ยอมให้ไปพักที่กองทรายใหญ่อันเป็นที่อยู่ของนาคราชซึ่งมีฤทธิ์เดชมาก  พอนาคราชเห็นพระเถระเดินมาก็ได้แสดงฤทธิ์ด้วยการบังหวนควัน  จึงได้เกิดการปะทะกันด้วยฤทธิ์ของการบังหวนควันระหว่างนาคราชกับพระเถระ  แต่ในที่สุดนาคราชเป็นฝ่ายถูกปราบจนพ่ายแพ้  พระเถระสามารถนั่งอยู่บนกองทรายใหญ่  โดยมีนาคราชแสดงความเคารพพระเถระด้วยการแผ่พังพานขนาดใหญ่เป็นร่มกั้นอยู่เหนือศีรษะพระเถระ  เมื่อถึงช่วงเช้าในวันรุ่งขึ้น  อัคคิทัตและศิษย์มาที่กองทรายใหญ่  เพื่อจะมาพิสูจน์ว่าพระเถระยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  ซึ่งพวกเขาคาดการณ์ไว้ว่าพระเถระต้องเสียชีวิตไปแล้วอย่างแน่นอน  แต่พอพวกเขามาพบว่านาคราชถูกปราบและแผ่พังพานถวายความเคารพพระเถระเช่นนี้  ก็เกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก  เพราะคิดไม่ถึงว่าเหตุการณ์จะกลับตาลปัตรไปได้เช่นนี้ 

ชั่วครู่ต่อมา  พระศาสดาก็ได้เสด็จมาสมทบ  พระเถระได้เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา  และได้ประกาศให้อัคคิทัตและศิษย์ได้ทราบว่า  พระองค์คือพระศาสดา  พระเถระเป็นสาวก  พระศาสดาประทับนั่งบนยอดของกองทราย  ตรัสเรียกอัคคิทัตมาแล้ว  ตรัสว่า  “อัคคิทัต  ท่านเมื่อให้โอวาทแก่สาวกและอุปัฏฐากทั้งหลายของท่าน  ย่อมกล่าวว่าอย่างไร”  อัคคิทัตกราบทูลว่า  “ข้าพเจ้าให้โอวาทแก่สาวกและอุปัฏฐากเหล่านั้นอย่างนี้ว่า  ท่านทั้งหลาย  จงถึงภูเขานั่นเป็นที่พึ่ง  จงถึงป่า  จงถึงสวน  จงถึงต้นไม้  ว่าเป็นที่พึ่ง  ด้วยว่า  บุคคลถึงวัตถุทั้งหลาย  มีภูเขาเป็นต้นนั้นว่าเป็นที่พึ่งแล้ว   ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”  พระศาสดา ตรัสว่า  “อัคคิทัต  บุคคลถึงวัตถุทั้งหลายมีภูเขาเป็นต้นนั้นว่าเป็นที่พึ่งแล้ว  ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย  ส่วนบุคคลถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ว่าเป็นที่พึ่ง  ย่อมพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะสงสารทั้งสิ้นได้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  ห้าพระคาถานี้ว่า

พหุ  เว  สรณํ  ยนฺติ
ปพฺพตานิ  วนานิ  จะ
อารามรุกฺขเจตฺยานิ
มนุสสา  ภยตชฺชิตา  ฯ

(อ่านว่า)
พะหุง  เว  สะระนัง  ยันติ
ปับพะตานิ  วะนานิ  จะ
อารามะรุกขะเจตะยานิ
มะนุดสา  ภะยะตัดชิตา.

เนตํ โข  สรณํ  เขมํ
เนตํ  สรณมุตฺตมํ
เนตํ  สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา  ปมุจฺจติ ฯ

(อ่านว่า)
เนตัง  โข  สะระนัง  เขมัง
เนตัง  สะระนะมุดตะมัง
เนตัง  สะระนะมาคำมะ
สับพะทุกขา  ปะมุดจะติ.

โย  จ  พุทฺธญฺจ  ธมฺมญฺจ
สงฺฆญฺจ  สรณํ  คโต
จตฺตาริ  อริยสจฺจานิ
สมฺมปฺปญฺญาย  ปสฺสติ  ฯ

(อ่านว่า)
โย  จะ  พุดทันจะ  ทำมันจะ
สังคันจะ  สะระนัง  คะโต
จัดตาริ  อะริยะสัดจานิ
สำมับปันยายะ  ปัดสะติ.

ทุกฺขํ    ทุกขสมุปฺปาทํ
ทุกฺขสฺส  จ  อติกฺกมํ
อริยญจฏฺฐงฺคิกํ  มคฺคํ
ทุกฺขูปสมคามินํ  ฯ

(อ่านว่า)
ทุกขัง   ทุกขะสะมุบปาทัง
ทุกขัดสะ  จะ  อะติกกะมัง
อะริยันจัดถังคิกัง  มักคัง
ทุกขูปะสะมะคามินัง.

เอตํ  โข  สรณํ  เขมํ
เอตํ  สรณมุตฺตมํ
เอตํ  สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา  ปมุจฺจติ  ฯ

(อ่านว่า)
เอตัง   โข  สะระนัง  เขมัง
เอตัง  สะระนะมุดตะมัง
เอตัง  สะระนะมาคัมมะ
สับพะทุกขา  ปะมุดจะติ.

มนุษย์เป็นอันมาก
ถูกภัยคุกคามแล้ว
ย่อมถึงภูเขา ป่า  อาราม
และรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง

สรณะนั่นแลไม่เกษม
สรณะนั่นไม่อุดม
เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั่น
ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.

ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์.
และมรรคมีองค์ 8 อันประเสริฐ
ซึ่งยังสัตว์ให้ถึงความสงบแห่งทุกข์  ด้วยปัญญาชอบ
สรณะนั่นแลของบุคคลนั้นเกษม  สรณะนั่นอุดม
เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั่น  ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ฤษีทั้งหมด  บรรลุพระอรหัตตผล  พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว  ถวายบังคมพระศาสดา  ทูลขอบรรพชา   พระศาสดาทรงประทานให้เป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา  ว่า  “ท่านทั้งหลาย  จงเป็นภิกษุมาเถิด  จงประพฤติพรหมจรรย์”  (ไม่มีคำว่า  เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ  เพราะทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ก่อนบวช)

ในวันนั้นเมื่อสาวกของอัคคิทัตจากแคว้นอังคะ  แคว้นมคธ  และแคว้นกุรุ   ถือเครื่องสักการมาไหว้อัคคิทัต  ได้เห็นอัคคิทัตและบรรดาสาวกนุ่งห่มผ้าบวชเป็นภิกษุ  ก็เกิดความอัศจรรย์ใจสงสัยว่า  ใครมีอานุภาพมากกว่ากัน  อาจารย์ของเรา หรือว่าพระสมณะโคดม?  อาจารย์ของเราต้องมีอานุภาพเหนือกว่า  เพราะว่าพระสมณะโคดมเป็นฝ่ายมาสู่สำนักของอาจารย์ของเรา”   พระศาสดาทรงทราบความคิดของคนเหล่านั้น  และอัคคิทัตเองก็คิดว่าจะต้องทำให้คนเหล่านั้นสิ้นความสงสัย  จึงได้เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา  และประกาศว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระผู้มีพระภาค  เป็นศาสดาของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวก”

ฐิตา:


07. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
 
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภปัญหาของพระอานนทเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทุลฺลโภ  ปุริสาชญฺโญ เป็นต้น

วันหนึ่ง  พระเถระนั่งในที่พักกลางวัน  คิดว่า  พระศาสดาตรัสบอกว่า  ช้างอาชาไนย  เกิดขึ้นในตระกูลช้างฉัททันท์  หรือในตระกูลช้างอุโบสถ  ม้าอาชาไนย  เกิดขึ้นในตระกูลม้าสินธพ  หรือในตระกูลม้าวลาหก  โคอาชาไนย  เกิดขึ้นในทักขิณาปถชนบท  เป็นต้น  ส่วนบุรุษอาชาไนยล่ะ  เกิดที่ไหนหนอ ?  พระเถระนั้น  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ถวายบังคมแล้ว  ทูลถามเรื่องนี้  พระศาสดาตรัสว่า  “อานนท์  ขึ้นชื่อว่าบุรุษอาชาไนย  ย่อมไม่บังเกิดในที่ทั่วไป  แต่บังเกิดขึ้นในที่อันเป็นมัชฌิมประเทศ วัดโดยตรงยาว 300 โยชน์  โดยรอบประมาณ  900 โยชน์  ก็เมื่อจะบังเกิดขึ้น  ก็ย่อมไม่บังเกิดขึ้นในตระกูลสามัญ  ย่อมบังเกิดขึ้นในตระกูลขัตติยมหาศาล และพราหมณ์มหาศาล”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ทุลฺลโภ  ปุริสาชญฺโญ
น  โส  สพฺพตฺถ  ชายติ
ยตฺถ  โส  ชายตี  ธีโร
ตํ  กุลํ  สุขเมธติ ฯ

(อ่านว่า)
ทุนละโพ  ปุริสาชันโย
นะ  โส  สับพัดถะ  ชายะติ
ยัดถะ  โส  ชายะตี  ทีโร
ตัง  กุลัง  สุขะเมทะติ ฯ

(แปลว่า)
บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก
(เพราะว่า) บุรุษอาชาไนยนั้น
ย่อมไม่เกิดในที่ทั่วไป
บุรุษอาชานายนั้นเป็นนักปราชญ์
ย่อมเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้น  ย่อมถึงความสุข.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



08. เรื่องสัมพหุลภิกษุ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงสัมพหุลภิกษุ(ภิกษุหลายรูป)  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุโข  พุทฺธานมุปฺปาโท เป็นต้น

ในวันหนึ่ง  ภิกษุ 500 รูปนั่งกันอยู่ในศาลาเป็นที่บำรุง  ตั้งกระทู้ถามกันว่า  อะไรหนอ  เป็นสุขในโลก?
ภิกษุเหล่านี้มีความเห็นว่า  ความสุขมีความหมายแตกต่างกันในแต่ละบุคคล  บางพวกมีความเห็นว่า  การได้ครอบครองราชสมบัติ  เป็นความสุข  บางพวกเห็นว่า  ความสุขในกาม  เป็นความสุข   บางพวกเห็นว่า  การบิโภคข้าวสาลีและเนื้อ  เป็นความสุข 

ขณะที่ภิกษุสนทนากันอยู่นั้น  พระศาสดาได้เสด็จผ่านมา  ได้ตรัสถามถึงหัวข้อกระทู้ที่ภิกษุทั้งหลายตั้งขึ้นถามกันและคำตอบของแต่ละกลุ่มนั้นแล้ว  ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอกล่าวอะไร  ? ก็ความสุขนี้แม้ทั้งหมด  นับเนื่องด้วยทุกข์ในวัฏฏะทั้งนั้น  แต่เหตุนี้เท่านั้น คือ  ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า  การฟังธรรม  ความพร้องเพรียงของหมู่  ความเป็นผู้ปรองดองกัน  เป็นสุขในโลกนี้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สุโข  พุทฺธานมุปฺปาโท
สุขา  สทฺธมฺมเทสนา
สุขา  สงฺฆสฺส  สามคฺคี
สมคฺคานํ  ตโป  สุโข.

(อ่านว่า)
สุโข  พุดทานะมุบปาโท
สุขา  สัดทำมะเทสะนา
สุขา  สังคัดสะ  สามักคี
สะมักคานัง  ตะโป สุโข.

(แปลว่า)
ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  เป็นเหตุนำสุขมา
การแสดงธรรมของสัตบุรุษ  เป็นเหตุนำสุขมา
ความพร้อมเพรียงของหมู่  เป็นเหตุนำสุขมา
ความเพียรของผู้พร้อมเพียงกัน  เป็นเหตุนำสุขมา.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุเป็นอันมาก  บรรลุอรหัตตผลแล้ว  เทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.

ฐิตา:



09. เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล

พระศาสดา  เมื่อเสด็จจาริกไป  ทรงปรารภพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล    ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปูชารเห  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ขณะที่พระศาสดาเสด็จจาริกไปที่เมื่อพาราณสี  พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย   ได้เสด็จถึงเทวสถานแห่งหนึ่ง  ในที่ใกล้บ้านโตไทยคาม   และในที่ไม่ไกลจากเทวสถานนั้น  มีพราหมณ์ผู้หนึ่งกำลังไถนา  เมื่อพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้น  ก็ได้ให้พระอานนท์ไปบอกพราหมณ์นั้นมาเข้าเฝ้า  เมื่อมาถึง พราหมณ์นั้นไม่ยอมถวายบังคมพระศาสดา  แต่กลับไปไหว้เทวสถานนั้น    พระศาสดาตรัสกับเขาว่า  “ดูก่อนพราหมณ์  ท่านไหว้สถานที่นี้  ได้ทำกรรมดีแล้ว”  ภิกษุทั้งหลายได้สดับพุทธดำรัสนั้นแล้ว จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมพระศาสดาจึงพูดเอาใจพราหมณ์ถึงขนาดนั้น  ข้างพราหมณ์พอได้ยินพุทธดำรัสก็เกิดความยินดี   หลังจากทรงทำให้พราหมณ์เกิดปีติแล้ว  พระศาสดาได้เนรมิตเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล  มีขนาดสูงหนึ่งโยชน์  ให้ลอยเด่นอยู่ในอากาศ  ที่ใครๆสามารถมองเห็นได้  จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์  การบูชา ซึ่งบุคคลควรบูชาเช่นนี้  ย่อมสมควรกว่าแท้”  และได้ทรงแสดงปูชารหบุคคล  4  จำพวก  คือ  พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระอริยสาวก  และ พระเจ้าจักรพรรดิ   กับได้ตรัสบอกพระเจดีย์ 3 ประเภท  คือ  สรีรเจดีย์  อุททิสเจดีย์  และ ปริโภคเจดีย์
จากนั้น  ได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

ปูชารเห   ปูชยโต
พุทฺเธ  ยทิจ  สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต
ติณฺณโสกปริทฺทเว  ฯ

เต  ตาทิเส  ปูชยโต
นิพฺพุเต  อกุโตภเย
น  สกฺกา  ปุญฺญํ  สงฺขาตุ
อิเมตฺตมปิ  เกนจิ ฯ

(อ่านว่า)
ปูชาระเห  ปูชะยะโต
พุดเท  ยะทิจะ  สาวะเก
ปะปันจะสะมะติกกันเต
ตินนะโสกะปะริดทะเว

เต  ตาทิเส  ปูชะยะโต
นิบพุเต   อะกุโตพะเย
นะ  สักกา  ปุนยัง  สังขาตุง
อิเมดตะมะปิ  เกนะจิ.

(แปลว่า)
ใครๆไม่อาจเพื่อจะนับบุญ
ของบุคคลผู้บูชาอยู่  ซึ่งท่านผู้ควรบูชา
คือ พระพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวกทั้งหลายด้วย
ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว
ผู้มีความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ  อันข้ามพ้นแล้ว

หรือว่าของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชาเช่นนั้นเหล่านั้น
ผู้นิพพานแล้ว  ไม่มีภัยแต่ไหนๆ
ด้วยการนับแม้วิธีไรๆก็ตาม
ว่าบุญนี้มีประมาณเท่านี้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พราหมณ์นั้น  ได้เป็นพระโสดาบัน.
พระเจดีย์ทองสูงตั้งโยชน์ ได้ตั่งตระหง่านอยู่ในอากาศ ตลอด 7 วัน    และมหาชนได้พากันมานมัสการพระเจดีย์นั้น  เมื่อครบ  7 วัน  เจดีย์ทองนั้นก็ได้หายไป  มีเจดีย์ศิลาขนาดใหญ่ มาปรากฏอยู่แทน.
ประชาสัตว์  840,00   (ที่มาไหว้พระเจดีย์)  ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว  ในสมาคมนั้น.



-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/2008/11/17/entry-6

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version