“แก๊งฉกข้อมูลบัตร ATM” รู้ทันภัยใกล้ตัว
-http://www.sentangsedtee.com/news_detail.php?rich_id=1105§ion=1&column_id=1-
สมเจตน์ หงษ์ไกรเลิศ
เรื่องเด่นประจำฉบับ
วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557
ไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่ ก็ย่อมเป็นเป้าหมายจากมิจฉาชีพอยู่แล้ว ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเปลี่ยนไปใช้ชิปการ์ดกันหมด แก๊งเหล่านี้ก็ยิ่งพุ่งเป้ามายังไทยมากขึ้น
เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าเคยเตือนเกี่ยวกับการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตสำหรับกดเงินจาก ìตู้เอทีเอ็มî อย่างปลอดภัยมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กระนั้น ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็กลับขึ้นมาเป็นกระแสข่าวอีกครั้ง เมื่อมีลูกค้าบางรายที่ถูกมิจฉาชีพเหล่านี้ขโมยข้อมูลบัตร เพื่อไปปลอมบัตรขึ้นใหม่ในต่างประเทศและกดเงินออกจากบัญชีไปเรียบร้อย
ครั้งนี้ก็ยังเจอปัญหากันไปอีกหลายราย วงเงินความเสียหายแต่ละคนก็แตกต่างกันไปครับ บางรายก็โดนหนักเป็นหลักแสนบาท ซึ่งธนาคารเจ้าของบัตรก็ออกตัวว่ายินดีรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าทุกราย
โอกาสนี้ผมจึงอยากจะแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหานี้อีกครั้ง จากที่เคยได้คุยกับผู้บริหารของธนาคารหลายแห่ง ซึ่งดูแลปัญหานี้โดยตรง รวมถึงวิธีป้องกัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจวิธีการโจรกรรมข้อมูลของมิจฉาชีพเหล่านี้ และสามารถป้องกันได้อย่างถูกต้อง
แกะกลโกงก๊อบปี้บัตรเอทีเอ็ม
กลโกงของแก๊งนี้อยู่ที่ "สร้างบัตรใบใหม่ขึ้นมา" เพื่อไปกดเงินจากบัญชีของเรา ดังนั้น จึงต้องการ "ข้อมูล" ของเรา 2 อย่างก็คือ "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบัตร" เพื่อไปทำปลอมขึ้นมาใหม่ และ "รหัสบัตร" เพื่อสามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากของเราและทำคำสั่งเบิกถอนเงินได้
ฉะนั้น แก๊งเหล่านี้ก็จะทำ 2 อย่าง คือ ติด "อุปกรณ์คัดลอกข้อมูลบัตร" หรือเรียกว่า สกิมเมอร์ (Skimmer) ครอบหน้าช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็ม เมื่อเราเสียบบัตรเข้าไปตามปกติ อุปกรณ์นี้ก็จะคัดลอกข้อมูลซึ่งถูกเก็บอยู่ใน ìแถบแม่เหล็กî ด้านหลังของบัตร ก่อนจะส่งไปยังขบวนการในต่างประเทศเพื่อสร้างบัตรใบใหม่ขึ้นมา อีกอย่างหนึ่งก็จะติด ìกล้องขนาดเล็กî ไว้ตรงบริเวณตู้เอทีเอ็มด้วย เพื่อจับภาพการกด "รหัสบัตร"
เมื่อได้ 2 อย่างนี้ไปก็เรียบร้อยครับ เขาสามารถกดเงินออกจากบัญชีเราโดยตรง หรือจะโอนออกไปยังบัญชีปลายทางที่ต้องการ
ไทย คือประเทศเป้าหมายหลัก
ผู้บริหารแบงก์ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า จากคำสัมภาษณ์มิจฉาชีพที่เคยจับกุมได้ ระบุว่า ìไทยî คือหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักของการโจรกรรมลักษณะนี้ครับ เพราะเหตุผลเดียวก็คือ ìบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตî ที่ใช้ในไทยกว่า 57 ล้านใบนั้น เกือบ 98% ยังเป็นบัตรแบบ "แถบแม่เหล็ก" ซึ่งสามารถคัดลอกข้อมูลได้ง่าย และมีเพียงส่วนน้อยราว 2% เท่านั้นที่เป็นบัตรเดบิตแบบ "ชิปการ์ด" ซึ่งไม่สามารถคัดลอกข้อมูลด้วยเจ้าเครื่อง Skimmer
หากยังจำกันได้ เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ìบัตรเครดิตî ก็เคยเจอปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะการรูดชำระค่าน้ำมัน จากนั้นผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทยก็หันมาใช้ระบบชิปการ์ดกันหมดเพื่อป้องกันปัญหา ฉะนั้น ปัญหานี้จึงมาผุดที่บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแทน
"ไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กอยู่ ก็ย่อมเป็นเป้าหมายจากมิจฉาชีพอยู่แล้ว ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเปลี่ยนไปใช้ชิปการ์ดกันหมด แก๊งเหล่านี้ก็ยิ่งพุ่งเป้ามายังไทยมากขึ้น"
นี่คือคำเตือนจากผู้บริหารแบงก์คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงพัฒนาบัตรมานับสิบปี
ขอความร่วมมือแบงก์ใช้ชิปการ์ด
ช่วง 3-4 เดือนหลังจากที่เป็นข่าวครั้งที่แล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ขอความร่วมมือกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้เร่งพัฒนาระบบไปสู่การใช้ "ชิปการ์ด" มากขึ้น ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้าต้องเริ่มต้นได้แล้ว
ในมุมของธนาคารพาณิชย์เองก็นับเป็นภาระไม่น้อยกับการลงทุนใหม่ ทั้งเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มหลายหมื่นตู้ และบัตรอีกหลายสิบล้านใบ แม้แต่ "ธนาคารกรุงเทพ" ซึ่งเป็นรายเดียวในไทยเวลานี้ที่ให้บริการบัตรเดบิตแบบชิปการ์ด หลังจากทำมา 5-6 ปีแล้ว ก็ยอมรับว่าเพิ่งจะเปลี่ยนระบบตู้เอทีเอ็มให้รองรับชิปการ์ดได้ครบ 100% ในปีที่แล้ว ขณะที่ลูกค้าซึ่งใช้บัตรแบบชิปการ์ดก็ยังมีไม่มากนัก ประมาณ 1 ล้านใบ เทียบกับบัตรทั้งระบบดังกล่าวมาแล้วก็ยังน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม หลายแบงก์ก็พยายามพัฒนาระบบมาสกัดเรื่องนี้ครับ บางแบงก์พยายามติดตั้งระบบป้องกันที่ตู้เอทีเอ็ม บางแบงก์พยายามออกแบบตู้ให้ไม่สามารถนำเครื่อง Skimmer มาติดได้ง่ายๆ เป็นต้น แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า โจรยุคนี้ก็พัฒนาได้เร็วไม่แพ้กัน สามารถสรรหาวิธีที่จะโจรกรรมได้แนบเนียนขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
วิธีใช้บัตรกดเงินอย่างปลอดภัย
แม้ธนาคารจะหามาตรการป้องกันปัญหานี้กันอย่างเต็มที่ แต่เงินของเรา ก็ต้องเป็น "เรา" ที่ต้องรู้จักป้องกันตัวเองกันก่อนครับ เพื่อมิให้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้ข้อมูล 2 อย่างของเราไปได้ก็คือ ข้อมูลบัตร และรหัสผ่าน ซึ่งผมขอแนะนำวิธีการดังต่อไปนี้ครับ
- สังเกตถึงความผิดปกติของตู้เอทีเอ็มก่อนครับ ว่ามีอะไรผิดปกติไปจากที่ควรจะมีหรือเปล่า เช่น ฝาครอบจุดรับบัตร หรือกล้องตัวเล็กๆ ที่อาจแอบติดไว้ เป็นต้น รวมถึงถ้าเป็นไปได้ควรเลือกตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดูปลอดภัยและถ้าเป็นตู้ที่เรากดประจำก็จะสังเกตความผิดปกติได้ง่ายที่สุด
- ขณะกดรหัสผ่าน ควรใช้มือหรืออุปกรณ์อื่นมาปิดให้มิดชิด ปกติผมจะใช้กระเป๋าสตางค์นี่แหละครับ กางออกแล้วคว่ำปิดมือเลย หรือถ้าถือหนังสือไปด้วยผมก็จะใช้หนังสือทั้งเล่มปิดเลยครับ พร้อมกับใช้ตัวบังมิให้คนด้านหลังหรือด้านข้างสังเกตเห็นด้วย ใครจะว่าเราโอเวอร์ก็ช่างเขาครับ นึกเอาไว้ "นี่เงินเรา"
- ควรเปลี่ยนรหัสเป็นระยะครับ และควรเป็นรหัสที่รู้คนเดียว ไม่ใช่รหัสที่เดาได้ง่ายเกินไป รวมถึงควรทำธุรกรรมการเงินด้วยตนเองครับ ไม่ควรให้คนอื่นไปทำแทน
-ข้อนี้แนะนำไว้เพิ่มเติม เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็คือ อาจสมัครบริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของบัญชีผ่าน SMS ซึ่งธนาคารจะคิดค่าบริการปีละ 150-200 บาท แต่หากเทียบแล้วเฉลี่ยต่อวันแล้วก็ยังไม่ถึง 1 บาทด้วยซ้ำนะครับ เงินเข้า-เงินออก ก็รู้ได้ทันทีตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้ง ผมแนะนำครับ อุ่นใจดี นอกจากนี้ก็อาจเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตแบบ "ชิปการ์ด" แทนครับ แต่มีข้อจำกัดนิดหน่อยตรงที่มีเฉพาะธนาคารกรุงเทพเท่านั้น และทำธุรกรรมได้ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพเท่านั้นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 8,300 ตู้ทั่วประเทศ ช่วงนี้ธนาคารก็พยายามโปรโมตให้ลูกค้าหันมาใช้บัตรนี้แทน โดยคิดค่าธรรมเนียมเท่าบัตรเดบิตปกติครับ
ทุก "ความสะดวกสบาย" ก็เป็นเรื่องปกติที่จะตามมาด้วย "ต้นทุน" เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูป "ความเสี่ยง" หรือ "ค่าใช้จ่าย" บางอย่าง แม้โลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ แต่เราสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้เสมอครับ