ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ /อ้วน อารีวรรณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2553 10:45 น.
jatung_32@yahoo.com
ในปัจจุบันนี้ มีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย เพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก อันมีสาเหตุหลักจากการเป็นลูกหนี้และเป็นผู้ค้ำประกันนั้นเอง
ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงปี 2548 - มิ.ย.2553 ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสูงถึง 57,838 คดี และที่เป็นบุคคลธรรมดาถูกฟ้องจนศาลล้มละลายได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็มีจำนวนสูงมากถึง 117,085 ราย ซึ่งต่อมาศาลล้มละลายมีคำพิพากษาให้บุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลล้มละลายถึง 39,356 ราย และนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี
และกล่าวได้ว่าปี 2554 ที่จะถึงนี้ จะเป็นปีมหกรรมคนล้มละลายแห่งชาติก็ว่าได้ อันเป็นผลมาจากสาเหตุเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อช่วงปี 2540 ทำให้มีบุคคลจำนวนใหญ่ถูกฟ้องศาลเพื่อขอให้บังคับชำระหนี้ในช่วงปี 2543-2544 ซึ่งจะครบกำหนดการบังคับชำระหนี้ภายใน 10 ปี หรือก็คือในปีหน้านี้เอง
โดยเฉพาะข้า ราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักเป็นผู้ค้ำประกันที่ดีมาก เนื่องจากตนเองจะเป็นทั้งผู้กู้และเป็นผู้ค้ำประกันให้กับเพื่อนร่วมงานที่ ต้องการจะกู้เช่นเดียวกับตนเอง จึงมีลักษณะเป็นสามเส้า คือ หากตนเองจะกู้เงิน ก็ต้องหาเพื่อนร่วมงานอีกสองคนมาช่วยกันค้ำประกัน และเพื่อนร่วมงานทั้งสองคนก็ต้องการกู้และหาคนช่วยค้ำประกันให้ตนเองเช่น เดียวกัน ส่งผลให้เป็นทั้งลูกหนี้พร้อมกับเป็นผู้ค้ำประกันให้เพื่อนร่วมงานอีกสองคน ไปโดยปริยาย
ปัญหาคือ เมื่อผู้กู้คนใดคนหนึ่งเจอปัญหาวิกฤตทางการเงินก็ย่อมมีโอกาสส่งผลกระทบต่อ ผู้ค้ำประกันคนอื่นได้เช่นกัน อีกทั้งโดยส่วนใหญ่มักจะกู้เงินในจำนวนที่ค่อนข้างสูง เมื่อทรัพย์สินที่ใช้เป็นประกันถูกขายทอดตลาดแล้วแต่ไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ย่อมมาจัดการทวงถามกับผู้ค้ำประกันอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้มีการยึดหลักทรัพย์เช่นบ้านที่ผู้ค้ำประกันฯ กำลังผ่อนส่งอยู่ขายทอดตลาด และหากมียอดหนี้สินขาดอีกหนึ่งล้านบาท ก็จะถูกฟ้องล้มละลายได้ทันที เพื่อตัดหนี้สูญของธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้
กลุ่ม ลูกหนี้เหล่านี้ ไม่อาจเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ ส่งผลให้ลูกหนี้บางรายเกิดความเครียดอย่างรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายหรือชิงลา ออกจากงาน หรือหากรอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ตนเองก็จะขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการหรือเจ้าพนักงานรัฐวิสาหกิจไปโดยปริยาย
เพราะการถูกฟ้องล้ม ละลายนั้น จะส่งผลต่อข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างมาก เพราะเมื่อใดที่ศาลมีคำพิพากษาว่าตนเองได้เป็นบุคคลล้มละลาย ย่อมส่งผลให้ต้องขาดจากคุณสมบัติการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ตกงานในขณะนี้ที่มีอายุอยู่ในระหว่าง 45-60 ปี จากผู้มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการในงานที่ทำอยู่ ก็ต้องกลายเป็นคนสมองกลวงเพราะไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไรต่อไป เนื่องจากทำงานอยู่ในราชการมาตลอดเวลาหลายสิบปี
เนื่องจากหลักเกณฑ์ ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้ แบ่งตามลักษณะของเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์ออกเป็นการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้แบบไม่มีประกันตามมาตรา 9 ที่เจ้าหนี้จะฟ้อง ลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ
1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
2. ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท และ
3. หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
และการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา10 ซึ่งสามารถฟ้องคดีได้
เมื่อเจ้าหนี้มีประกันไม่ ได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่า ตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และเจ้าหนี้นั้นยอมสละหลักประกันอันเป็นประโยชน์แก่ตน หรือ เมื่อตีราคาหลักประกันมาในฟ้องแล้ว เมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล
สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือได้มีการรวมตัวก่อตั้ง “ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้” โดยบรรดาลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเพื่อผลักดันให้ รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจตลอดจนเรียกร้อง ให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นสภาพ จากการเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย
โดยชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ต้องการให้รัฐบาลติดตามแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุด มีการตั้งศูนย์ “แก้ไขปัญหาหนี้สินแบบเบ็ดเสร็จ" แบบ “ONE STOP SERVICE” เพื่อให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ลูกหนี้ ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหนี้ ตั้งแต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้ต้องทำอย่างไร หากต้องการประนอมหนี้ทำอย่างไร ตลอดจนการถูกฟ้องคดีล้มละลายแล้วต้องทำอย่างไร หรือมีวิธีการเยียวยาช่วยเหลือคนเดือดร้อนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้คนเสพติดหนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการประชุมทางวิชาการด้านกฎหมายล้มละลาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ และได้เกิดข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับลูกหนี้ทั้งหลายที่เป็นข้า ราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ว่า
ควรมีการพิจารณาปรับ ปรุงหลักเกณฑ์การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/3 ที่กำหนดไว้เดิมว่าเมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คน เดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทนั้น หากยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการ ก็สามารถกระทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
แต่กรณีที่ ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือความสามารถในการชำระหนี้ แม้จะยังไม่ถึงขั้นว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เพราะการเข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการก่อนที่จะมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่จะรอให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก่อน
และอีกกรณี หนึ่งที่น่าสนใจ คือการนำทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาด โดยกรมบังคับคดีจะทำอย่างไรให้การขายทอดตลาดนี้ ลูกหนี้มีโอกาสขายทรัพย์สินในราคาที่เหมาะสมกับราคาท้องตลาดปัจจุบัน แม้ ว่าจะเป็นการขายทอดตลาดในครั้งที่สองหรือครั้งที่สามก็ตาม ก็ควรจะได้ราคาที่ไม่แตกต่างจากราคาขายทอดครั้งแรกมากจนเกินไป เพื่อให้มีเงินจากการขายทอดตลาดมากพอที่จะชำระหนี้ได้
เนื่องจาก ระเบียบปฏิบัติของกรมบังคับคดีในการขายทอดตลาดทรัพย์ประกัน ครั้งที่1 จะอยู่ที่ 80% ของราคาทรัพย์สินเดิม และในการขายทอดตลาดครั้งที่2 จะอยู่ที่ 50% ของราคาทรัพย์สินเดิมเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย มีเพียงผู้ซื้อทรัพย์เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ และเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดก็จะถูกนำไปชำระในส่วนดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาชำระในยอดเงินกู้นั้นเอง
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000150587