
จากหนังสือ
สนทนานิกายเซ็น โดย ล.เสถียรสุต
ฉบับจัดพิมพ์เดือนมีนาคม 2531
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ก.ไก่
โกอานคืออะไร 
คำว่า โกอาน ออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่น จีนกลางออกเสียงว่า กงอั้น ภาษาแต้จิ๋วว่า กงอั่ว แปลตามตัวหนังสือ คำว่า กง คือ ราชการ คำว่า อั่ว คือ เอกสาร กงอั่ว มักจะหมายความถึง สำนวนคดี หรือ เอกสารเรื่องหนึ่งของทางราชการ เซ็นได้ยืมมาใช้สำหรับคำพูดประโยคหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งพระอาจารย์พูดหรือเล่าให้ฟัง เพื่อให้ศิษย์นำไปคิดทบทวนเพื่อเห็นแจ้งในธรรม
ฐานะของโกอาน เซ็นใช้ความตื่นตัวของตน ปรับปรุงเจตจำนงของตน ให้ความไม่เป็นอิสระของเจตจำนงให้เป็นเจตจำนงที่มีความเป็นอิสระ เปลี่ยนแปลงนิสัยเก่าให้เป็นนิสัยใหม่ ให้แนวคิดเก่าเป็นแนวคิดใหม่ นี่แหละคือเซ็น และโดยโกอานทำหน้าที่นี้
เซ็นอาศัยโกอานทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมีชีวิตใหม่ขึ้น แล้วก็นำมาแสดงด้วยโกอานอีก โกอานเป็นชีวิตของเซ็น การสืบธรรมและการประกาศธรรมก็อาศัยโกอาน ทุกสิ่งของนิกายเซ็นซึ่งนอกจากโกอานแล้ว ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เซ็นมีรูปแบบเป็นศาสนาเท่านั้น
อาจารย์บางท่าน พยายามทำให้รูปแบบของเซ็นสมบูรณ์ขึ้น แล้วลืมโกอานไป บางท่านคิดจะทำให้เซ็นมีความเหมาะสมกับยุคสมัย ละเลยโกอานไปก็มี นับเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ถ้าละเลยโกอานหรือถึงแก่ละทิ้ง เซ็นก็จะถูกทำลายหมด เซ็นถือว่า รูปแบบศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ แต่รูปแบบนี้ต้องมาจากภายในของชีวิตเซ็น จึงมีคุณค่าสำหรับเซ็นและก็จะสามารถยืดชีวิตเซ็นให้อยู่ต่อไปได้
ความหมายของโกอาน การบรรยายเซ็นคือการเสนอแนะ และก็คือการเสนอโกอาน การเสนอโกอานเป็นการเสนอให้เข้าถึงพุทธจิต
โกอาน รวมทั้งการ “ชูดอกไม้” ก็คือโกอานเซ็น นอกจากโกอานแล้ว นอกนั้นไม่มีวิธีใดที่จะเข้าถึงเซ็น
โกอานไม่มีแบบแผน แล้วแต่อาจารย์จะให้ตามเอกลักษณ์ของแต่ละคน
การเทศน์ของอาจารย์ และหนังสือชุมนุมโอวาทของอาจารย์รุ่นก่อนๆก็คือโกอาน เซ็นใช้โกอานประกาศธรรมมาตลอดเวลา ซึ่งผิดกับนิกายอื่นที่มีพระสูตรหรือพระอภิธรรมเป็นที่อ้างอิงประจำนิกาย เซ็นใช้โกอานในธรรมนองเดียวกับการใช้พระสูตรพระอภิธรรมของนิกายอื่น
โกอานอาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่อาจารย์องค์ก่อนๆได้กล่าวไว้ ในหัวข้อนั้นเป็นสัจธรรมที่ท่านได้เข้าถึงจึงเป็นแนวปฏิบัติได้ และก็เป็นหลักที่จะตรวจพินิจความถูกผิดของเซ็นได้
โกอานกับการนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติของเซ็นซึ่งเหมือนกับปีกนก จะขาดข้างใดข้างหนึ่งไปมิได้
โกอานมีกริยาการเป็น 2ทาง ในแง่ลบ คือการปฏิเสธวิชาความรู้ที่แยกแยะรู้เห็นสรรพธรรม ในแง่บวกคือปลุกให้พลังแรงแห่งเจตจำนงทำความพยายามเป็นครั้งสุดท้าย
ประโยชน์ของโกอาน คือการเข้าถึงที่กำเนิดแห่งธรรม ตรงต้องตามวิสัยที่หลุดพ้นของพระพุทธองค์ เข้าถึงพุทธภูมิ
หมายเหตุ โกอานต่อไปนี้แปลชนิดเก็บความและเป็นหัวข้อ เพราะต้นฉบับอ้างพระสูตรมหายานและบทประพันธ์พระอาจารย์รวมทั้งโกอานไว้มาก ซึ่งไม่สามารถแปลละเอียดได้ และผู้เขียนเข้าใจว่า ถ้าแปลละเอียดตามตัว กลับจะทำให้เข้าใจลำบาก
ประโยคที่อาจารย์ชอบให้ศิษย์นำไปขบคิดและพอเข้าใจได้
- อะไรเป็นเจตนารมณ์ของปฐมาจารย์(พระโพธิธรรม)จาริกมาจากตะวันตก(มาสู่จีน)
- อะไรคือหน้าตาที่พ่อแม่ยังไม่ได้ให้กำเนิด (พื้นเดิมก่อนเกิด)
- ไม่มี (ของพระอาจารย์เชาโจว)
- ดูซิใครลากศพนี้ (สิ่งใดที่ทำให้เรามีร่างกายนี้อยู่ได้)
- อะไรคือพระพุทธเจ้า
- อะไรคือพระธรรม
- เซ็นนิ้วเดียว ( พระเจ้าเทียนเล้ง ใครมาถามว่าพระพุทธธรรมคืออะไร ท่านก็ชูนิ้วให้ดูโดยไม่พูดอะไร วันหนึ่งท่านไม่อยู่มีคนมาถามธรรม เณรรับใช้บอกให้มาถามกับเณรได้ ผู้ถามจึงถามว่า “พระพุทธธรรม คืออะไร” เณรชูนิ้วเดียวแบบอาจารย์ ครั้นอาจารย์กลับมา เณรเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ท่านก็เลยถามเณรว่า “พระพุทธธรรม คืออะไร” เณรชูนิ้วให้ดู ท่านชักมีดฟันนิ้วของเณรหลุดไป เณรร้องไห้วิ่งหนีท่านไล่จับเณรไว้แล้วถามว่า “พระพุทธธรรม คืออะไร” เณรชูนิ้ว ปรากฏว่าไม่มีนิ้ว เณรก็เลยเห็นแจ้งในธรรม (ในความไม่มี) ต่อมามีอาจารย์เซ็นหลายท่าน นิยมใช้การชูนิ้วในการตอบคำถามนี้มาก