แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
ฐิตา:
๒๐.คำสอนของฮวงโป (จิตนั่นแหละคือธรรม)
พวกลัทธิอิจฉันติกา เป็นพวกที่มีหลักลัทธิอันไม่สมบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งมีอยู่ในคติภพทั้งหกนี้ ซึ่งมีทั้งพวกมหายานและหีนยานรวมอยู่ด้วยนั้น ถ้าเขาไม่มีความเชื่อต่อ พุทธภาวะ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า ซึ่งมีอยู่ในตัวเขาเองแล้ว ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะถูกขนานนามว่าเป็นพวกอิจฉันติกา ที่มีรากเหง้าแห่งกุศลอันขาดด้วนเสียแล้ว
พวกพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีความเชื่อใน พุทธธรรม อย่างลึกซึ้ง และไม่ยอมรับการแบ่งแยก เป็นมหายาน และหีนยานแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่เห็นแจ้งต่อ สภาวะหนึ่ง เดียว ของพุทธทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวงแล้ว ก็ควรถูกขนานนามว่าเป็นพวกอิจฉันติกาประเภทที่รากเหง้าแห่งกุศลยังดีอยู่
พวกที่การรู้แจ้งของเขาส่วนใหญ่ มีมูลมาจากการได้ยินได้ฟังธรรมที่มีผู้แสดงนั้น ถูกขนานนามว่าพวกสาวก พวกที่รู้แจ้งเห็นจริงด้วยการซาบซึ้งต่อกฎแห่งกรรม ถูกขนานนามว่าพวกปัจเจกพุทธะ พวกที่เป็น พุทธะ โดยได้มาจากการรู้แจ้งเห็นแจ้งอันแท้จริง ซึ่งแสวงหาเอาได้จากใจของเขาเองนั้น ถูกขนานนามว่าพวกสุตพุทธะ
นักศึกษาเรื่อง ทาง ทางนี้แทบทั้งหมด รู้แจ้งโดยทางธรรมะซึ่งสอนกันเป็นคำพูด ไม่ใช่โดยทางธรรมะที่เห็นได้ด้วยใจ แม้ว่าเขาจะได้ทำความพากเพียรมาแล้วเป็นกัปป์ ๆ ไม่ขาดสาย เขาก็จะไม่เป็นผู้ที่กลมกลืนกันได้กับ เนื้อแท้ดั้งเดิมของพุทธะ พวกที่ไม่รู้แจ้งเห็นแจ้งจากภายใน จิต ของเขาเอง ได้แต่ฟังธรรมซึ่งสอนกันด้วยคำพูดนั้น สร้างแสงสว่างให้แก่จิตเอาเอง และไปเห็นความสำคัญอยู่ที่คำสอน ดังนั้นเขาจึงมัวแต่ก้าวไปทีละขั้น ๆ โดยไม่ประสีประสาต่อ จิตเดิมแท้ ของตนเองเลย
เมื่อเป็นดังนั้น ถ้าเธอเพียงแต่มีความเข้าใจซึมซาบต่อ จิต อย่างหุบปากเงียบ ไม่ต้องพูดอะไรเท่านั้น เธอก็ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาธรรมใด ๆ เลย เพราะเมื่อทำได้ดังนั้น จิต นั่นแหละ คือ ธรรม นั้น
ฐิตา:
๒๑.คำสอนของฮวงโป (การหลบหลีก)
คนเป็นอันมากมักถูกปิดกั้นเสียจากการรู้แจ้งต่อ จิต โดยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา และถูกปิดกั้นเสียจากการรู้แจ้งต่อหลักธรรมที่สำคัญที่สุด โดยเหตุการณ์ต่าง ๆ เฉพาะตน ดังนั้น เขา จึงพยายามหาทางหลีกเลี่ยงจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเสีย ด้วยหวังว่าจะทำจิตของเขาให้สงบ หรือพยายามที่จะระงับเหตุการณ์ต่าง ๆ เสีย ด้วยหวังจะยึดเหนี่ยวเอาธรรมะนั้นให้ได้ เขาไม่เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การทำอย่างนี้ เป็นการกลบเกลื่อนปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วยจิต กลบเกลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยหลักธรรม
จงเพียงแต่ทำจิตของเธอให้ว่างเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็จะเป็นของว่างไปในตัวมันเอง จงให้หลักการต่าง ๆ หยุดแกว่ง แล้วเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็หยุดวุ่นวายได้ด้วยตัวมันเอง จงอย่าใช้ จิต ไปในทางอุตริแผลง ๆ เช่นนั้นเลย
คนส่วนมากขี้ขลาดต่อการทำจิตของตนให้ว่าง โดยเกรงไปว่าเขาจะพลัดตกลงไปในความว่าง เขาเหล่านั้น ไม่ทราบว่า จิต ของเขาเองเป็น ความว่าง คนโง่มัวแต่หลบหลีกปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่หลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดย่อมหลบหลีกจากความคิดปรุงแต่งและไม่ต้องหลบหลีกปรากฏการณ์
ฐิตา:
๒๒.คำสอนของฮวงโป (การเพิกถอน)
จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง เพราะท่านได้เพิกถอนสิ่งต่าง ๆ ออกเสียแล้ว และไม่ปรารถนา แม้แต่จะสร้างสมบุญกุศล
การเพิกถอนนั้นมีวิธีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน
เมื่อทุก ๆ สิ่งทั้งภายในและภายนอก ทั้งรูปธรรมและนามธรรมถูกเพิกถอนแล้ว เมื่อความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ไม่มีเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับใน ความว่าง เมื่อการกระทำทั้งหมด เป็นไปแต่ตามควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน) และเมื่อความรู้สึกว่าตัวตนในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ นั้นถูกเลิกล้างไปหมดแล้ว นั้นคือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดสูงสุด
เมื่อในขณะหนึ่ง หนทาง ทางนี้ มีการดำเนินโดยการประกอบกุศลธรรมมีประการต่าง ๆ และอีกในขณะหนึ่ง การเพิกถอนกุศลเหล่านั้นก็มีอยู่ และไม่ดำรงความหวังที่จะรับผลแห่งบุญกุศลเหล่านั้นไว้ นั้น คือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดกลาง ๆ
เมื่อการประกอบบุญกุศลทุกชนิด ได้ทำไปเพื่อหวังที่จะได้รับผลตอบแทน ของบุคคลผู้ซึ่งแม้จะมีความรู้เรื่อง ความว่าง โดยได้ยินได้ฟัง ธรรมะ ข้อนี้ แล้วทำตนเป็น (ประหนึ่งว่า) ผู้ไม่ยึดถือ นั่นคือ วิธีแห่งการเพิกถอนชนิดต่ำที่สุด
วิธีชนิดแรก เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือส่องยื่นไปข้างหน้า อันไม่สามารถจะทำให้หลงทางไปได้ วิธีชนิดที่สอง เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือย่นไปข้าง ๆ ซึ่งบางทีก็เห็นทาง บางทีก็มืด ส่วนวิธีที่สามนั้น เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือไขว้ไว้ข้างหลัง จนกระทั่งหลุมมีอยู่ข้างหน้า ก็มองไม่เห็น
ฐิตา:
๒๓.คำสอนของฮวงโป (การถ่ายทอด)
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นได้ว่า จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง และสิ่งทุกสิ่งถูกเพิกถอนหมดสิ้น โดยจิตนั้น เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอดีตไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนอดีต เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปัจจุบันไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนปัจจุบัน เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอนาคตไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนอนาคต นี้เรียกว่าการเพิกถอนที่สุดทั้ง ๓ กาล
จำเดิมแต่พระตถาคตได้ทรงมอบ ธรรมะ แก่พระมหากาศยปะ (กัสสปะ) มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จิต ได้ถูกถ่ายทอดด้วย จิต ตลอดมา และ จิต เหล่านี้ ล้วนแต่เป็น จิต ๆ เดียวกัน
การถ่ายทอด ความว่าง ให้กันและกันนั้น ไม่สามารถทำได้โดยทางคำพูด การถ่ายทอดตามความหมายทางฝ่ายวัตถุนั้น ไม่สามารถใช้กันได้กับ ธรรมะ เมื่อเป็นดังนั้น จิต เป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดด้วย จิต และ จิตเหล่านี้ไม่แตกต่างกันเลย
การถ่ายทอด และการรับการถ่ายทอด ทั้งสองอย่างนี้ เป็นความเข้าใจอันเร้นลับ ที่เข้าใจยากที่สุด จนถึงกับมีไม่กี่คนจริง ๆ ที่สามารถรับเอาได้
ถึงอย่างไรก็ตาม ตามความเป็นจริงนั้น จิต นั้นก็ยังมิใช่ จิต และการถ่ายทอดนั้น ก็มิใช่การถ่ายทอด ที่เป็นจริงเป็นจังอะไรเลย
ฐิตา:
๒๔.คำสอนของฮวงโป (กาย ๓ กาย)
พุทธะ องค์หนึ่ง มีกาย ๓ กาย โดยคำว่า ธรรมกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (ธรรมดา) แห่ง ความว่าง อันมีอยู่ในที่ทุกแห่งของธรรมชาติอันแท้จริงที่เป็นอยู่เองของสิ่งทุกสิ่ง โดยคำวา สัมโภคกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (สภาวะธรรมดา) แห่งความบริสุทธิ์สากลอันสำคัญยิ่งของสิ่งทั้งปวง โดยคำว่า นิรมานกาย ย่อมหมายถึง ธรรม ต่าง ๆ แห่งวัตรปฏิบัติ ๖ ประการ ซึ่งนำไปสู่นิพพาน และอุบายวิธีอื่น ๆ ทำนองนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยกัน
ธรรม (ธรรมดา) ของ ธรรมกาย นั้น ไม่อาจแสวงหาได้โดยทางการพูดจา หรือโดยทางการฟัง หรือโดยทางตัวหนังสือ ไม่มีอะไรที่อาจจะพูด หรือทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้เห็นได้ มีอยู่ก็แต่ความว่างแห่งสภาวธรรมดาที่แท้จริง ของสิ่งทุกสิ่งซึ่งเป็นอยู่เอง อันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น การบอกให้รู้ว่า ไม่มี ธรรมะ ที่ต้องอธิบายด้วยคำพูด นั่นแหละ เรียกว่าการเผยแผ่ธรรมละ
สัมโภคกาย และ นิรมานกาย ทั้งสองอย่างนี้ ย่อมตอบสนองด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมแก่สิ่งแวดล้อมเฉพาะอย่าง ธรรมะ ต่าง ๆ ที่มีผู้นำมากล่าว เพื่อสนองแก่เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยความรู้สึกทางอายตนะ และในทุก ๆ ชนิดแห่งรูปและแบบนั้น ไม่มีอันไหนเลยที่เป็น ธรรมะ จริง ดังนั้น จึงมีคำกล่าวว่า สัมโภคกาย ก็ตาม นิรมานกาย ก็ตาม หาใช่พุทธะที่แท้จริงไม่ ทั้งไม่ใช่ผู้ประกาศธรรมะด้วย
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version