ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
น้อมคารวะ อมตกวี 26 มิถุนายน " วันสุนทรภู่ "
ฐิตา:
ถอดรหัสหลักธรรม จากวรรณกรรม ‘สุนทรภู่’
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เนื่องจากวันที่ ๒๖ มิถุนายน เป็น ‘วันสุนทรภู่’ มหากวี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างผลงานวรรณกรรมไทยไว้มากมาย จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้แต่องค์การ ศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ก็ได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙
ในวรรณกรรมของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ มักมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา สอดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะขอถอดรหัสแห่งหลักธรรมในวรรณกรรมทั้งหลายเหล่า นั้นมาแสดงไว้บางส่วน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณูปการที่มหากวีเอกของโลกได้มีต่อวงการวรรณกรรมไทย
• หลักกรรม
ขอเริ่มต้นด้วยหลักกรรม เพราะพระพุทธศาสนาถือการกระทำเป็นสำคัญ การกระทำดีก็เป็นผลกรรมที่ดี การกระทำชั่วก็เป็นผลกรรมที่ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีใครมาดลบันดาลให้แก่ใครได้ นอกจากตัวผู้กระทำเท่านั้นจะเป็นผู้รับผลเอง
ท่านสุนทรภู่ นับว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในหลักกรรมอย่างยิ่ง จะเห็นได้ดังความต่อไปนี้
“ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพลาย
จึงแยกย้ายปิตุราชญาติกา
มาพบพ่อทันใจด้วยไกลแม่
ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
ชนนีอยู่ศรีอยุธยา
บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร”
นิราศเมืองแกลง
“กุศลบุญหนุนบุญส่งประจงช่วย
ทำอย่างไรก็ไม่ม้วยอย่ามั่นหมาย
ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ”
นิราศวัดเจ้าฟ้า
ที่ยกมากล่าวเข้าทำนองตามหลักธรรมว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
• ความกตัญญู
ในมงคลสูตร ได้กล่าวถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาว่าเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะบิดามารดา นั้น เป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตร ให้การอบรมบ่มนิสัย ปกป้องคุ้มครองภัย เป็นผู้ที่แสดงโลกนี้ให้ปรากฏแก่บุตร เป็นครู อาจารย์ คนแรกของลูก เป็นเทวดาคุ้มครองลูก เป็นพรหมของลูก อันลูกพึงตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวที
ท่านสุนทรภู่ กล่าวถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาไว้ ดังนี้
“ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ
ได้การุญเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
อุ้มอุทรป้อนข้าวมาเท่าไร
หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง
ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมภ์
กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง
จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง
กว่าจะลุล่วงถึงซึ่งพิมาน
เทพไทในห้องสิบหกชั้น
จะช่วยกันสรรเสริญเจริญสาร
ว่าสตรีนี้เป็นยอดยุพาพาล
ได้เลี้ยงท่านชนกชนนี”
สุภาษิตสอนหญิง
“พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง
ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย
ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก
กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย”
สิงหไกรภพ
“อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญูตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน”
พระอภัยมณี
• ความรัก
พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ที่ใดมีความรักที่นั่นมีโศก ที่ใดมีความรักที่นั่นมีภัยร้าย เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว โศกภัยก็ไม่มี”
ท่านสุนทรภู่ได้กล่าวความแสดงผลของความรักที่สอดคล้องกับพุทธพจน์ ดังกล่าวว่า
“อกอะไรจะเหมือนอกที่รกรัก
อกจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
ไม่เห็นพักตร์รักสิ้นในวิญญาณ์
จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง”
พระอภัยมณี
“แต่ทุกข์รักก็หนักถนัดอก
ถึงสักหกเจ็ดเกวียนก็เวียนเหลือ
แต่โศกรักมากจนหนักในลำเรือ
เฝ้าเติมเจือไปทุกคุ้งรำคาญครัน”
นิราศภูเขาทอง
• โลกธรรม 8 ประการ
ในพระพุทธศาสนาสอนว่า การนินทา สรรเสริญ นั้น เป็นธรรมคู่กับโลก คือ เกี่ยวข้องกับโลก หรือเป็นไปกับโลก จึงเรียกว่าโลกธรรม มี ๘ ประการ คือ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มียศ มีเสื่อมยศ มีลาภ มีเสื่อมลาภ เป็นธรรมที่มนุษย์ต้องพานพบ หนีไม่พ้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในธรรม ๘ ประการนี้
ท่านสุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แม้องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินหรือจะสิ้นคนนินทา”
พระอภัยมณี
• ปิยวาจา
ในมงคลสูตร กล่าวว่า การกล่าววาจาสุภาษิต เป็นมงคลอันสูงสุด คำสุภาษิตนั้น พระพุทธองค์ ตรัสว่า “สัตบุรุษกล่าวคำเป็นสุภาษิตว่าสูงสุด ภิกษุพึงกล่าวคำเป็นธรรม ไม่พึงกล่าวคำไม่เป็นธรรม นั้นเป็นข้อที่ ๒ พึงกล่าวคำเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าวคำไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นข้อที่ ๓ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงกล่าวคำเหลาะแหละ นั้นเป็นข้อที่ ๔”
ท่านสุนทรภู่กล่าวความสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ว่า
“เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
สุภาษิตสอนหญิง
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
นิราศภูเขาทอง
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”
เพลงยาวถวายโอวาท
• ไตรลักษณ์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ 3 ได้แก่
1.อนิจจตา ความไม่เที่ยง คือมีความผันแปร หรือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง เช่น จากเด็กเล็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นคนแก่ แล้วเปลี่ยนไปเป็นคนตาย
2.ทุกขตา ความเป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ คือไม่สามารถดำรงอยู่ในภาวะเดิมๆ ต่อไปได้ เพราะมีสภาพบีบคั้น ขัดแย้ง หรือภาวะเป็นทุกข์ เช่น ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่งได้นานๆ เพราะเป็นทุกข์ด้วยความปวดเมื่อย เป็นต้น
3.อนัตตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน เช่น ความเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ล้วนสมมติขึ้นมาเรียก แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่สามารถปรารถนาได้ เช่น ปรารถนาให้เป็นหนุ่มเป็นสาว ตลอดไป ก็ไม่ได้ดังปรารถนา เป็นต้น
ในไตรลักษณ์นี้ สุนทรภู่ ท่านนำไปกล่าวไว้หลายที่ เช่น
“.............................
เข้าห้องตรองตรึกระลึกถึง
พระไตรลักษณ์หักประหารการรำพึง
คิดตัดซึ่งห่วงใยในสันดาน
หวังประโยชน์โพธิญาณการกุศล
จะให้พ้นกองทุกข์สนุกสนาน”
พระอภัยมณี
“จงปลงจิตคิดในพระไตรลักษณ์
จงประจักษ์มั่นคงในองค์สาม
นิราศทุกข์สุขาพยายาม
คงมีความวัฒนาในสามัญ”
พระอภัยมณี
• เรื่องโลกียะ
พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเอกนิบาต อังคุตรนิกายว่า “ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสใด จะสามารถครอบงำจิตใจของผู้ชายได้มั่นคงเท่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของผู้หญิง” และ “ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสใด จะสามารถครอบงำจิตใจของผู้หญิงได้มั่นคงเท่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของผู้ชาย”
แสดงว่า หญิงและชายนั้นย่อมถวิลโหยหากันเป็นธรรมชาติธรรมดา ในสัจธรรมข้อนี้ ท่านสุนทรภู่ ได้กล่าวว่า
“ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาไลย
จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย”
พระอภัยมณี
การที่ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงความรักระหว่างชายกับหญิงนั้น ท่านมิได้มีจิตโน้มเอียงไปในด้านกามารมณ์ แต่แสดงให้เห็นว่าท่านมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง แล้วนำมากล่าวไว้เพียงสองสามบรรทัด อันเป็นข้อ ความที่กินใจ และเป็นสัจธรรม
อย่างไรก็ตาม ท่านสุนทรภู่ก็ยังชี้ให้เห็นตามหลักธรรมว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น ไม่เป็นแก่นสารอันใดที่ควรเข้าไปติดยึดลุ่มหลง
“แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย
ด้วยความนัยโลกีย์สี่ประการ
คือรูปลักษณ์กลิ่นเสียงเคียงสัมผัส
ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน
ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล
ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย”
พระอภัยมณี
• ศีล ๕
หนึ่งในศีล ๕ คือละเว้นจากการดื่มสุรา ซึ่งในพระพุทธศาสนากล่าวถึงโทษของการดื่มสุราไว้ดังนี้ ๑.เสียทรัพย์ ๒.ก่อการวิวาท ๓.เกิดโรค ๔.ถูกติเตียน ๕.ไม่รู้จักอาย คือ ประพฤติกิริยาน่าอดสู ๖.ลดทอนกำลังปัญญา
โทษ ๖ สถานนี้ ไม่มีข้อไหนจะคัดค้านได้เลยว่าไม่เป็นความจริง และในปัจจุบัน ก็มี การรณรงค์ไม่ดื่มน้ำเมากันมากขึ้น
ในคัมภีร์พระมาลัย ได้กล่าวความไว้ว่า ผู้ดื่มน้ำเมาตายไปจะตกนรก ต้องไปกินน้ำทองแดงที่ร้อนสุดแสนทรมาน
ท่านสุนทรภู่ จึงกล่าวถึงการดื่มเหล้าที่สอดคล้องกับความในพุทธศาสนาว่า
“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”
นิราศภูเขาทอง
นอกจากนี้ท่านสุนทรภู่ ยังได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมไว้ว่า คนเราไม่ได้เมาเหล้าอย่างเดียว แต่เมารักนั้นหนักกว่าเมาเหล้าเป็นไหนๆ แต่ที่หนักไปกว่านั้น ก็คือเมาใจของตนเอง
“ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”
นิราศภูเขาทอง
ใจที่เมานั้น คือ เมาในอำนาจวาสนา เมาในความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เป็นเหตุให้ฮึก เหิมใจ สำคัญว่าใหญ่กว่าคนอื่น เมาในวัย ในความไม่มีโรค ฯลฯ นี่ต่างหากที่มีผลมากกว่า เมาเหล้า คนที่ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดแล้วกลับตกต่ำลง ก็เพราะเมาใจนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ
ส่วนเรื่องการผิดศีลข้อ ๓ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ท่านสุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
“อันกาเมสุมิจฉานี่สาหัส
จะฝากวัดไว้กะพระสละถวาย
อันคู่เขาเราหนอไม่ขอกราย
แต่แม่หม้ายจำจะคิดสิทธิ์แก่ตัว”
นิราศเมืองเพชร
“งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม
ดังขวากแซมเสี้ยมแทรกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย
ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง”
นิราศภูเขาทอง
และในศีลข้อ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ได้สอนว่า
“อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย
จะจำตายตกนรกอเวจี”
พระอภัยมณี
• ความเชื่อ
ในหลักธรรมคำสอนเรื่องศรัทธา คือ ความเชื่อ ต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล อย่าเชื่ออย่างงมงาย ในทุกที่ที่กล่าวถึงศรัทธา ความเชื่อ จะต้องมีธรรมะ คือ ปัญญาเป็นตัวกำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้วยังสอนไม่ให้เชื่อตามหลักกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ๑๐ ประการ
ท่านสุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึงความเชื่อ หรือการไว้วางใจว่าไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ดังคำกล่าว ที่ว่า
“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้มีที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
พระอภัยมณี
นอกจากจะสอนไม่ให้ไว้วางใจใครแล้ว ยังสอนให้รักมารดาบิดา และหลักการพึ่งตนเอง ตามหลักธรรมในพุทธภาษิตที่ว่า ‘อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ’ คือ ตนเท่านั้น เป็นที่พึ่งของตน ผู้จะบรรลุธรรม หรือความสำเร็จนั้นต้องพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ไม่มีใครช่วยใครได้ แม้จะมีคนช่วย ตนเองก็ต้องช่วยตน พึ่งตนเองให้ได้ก่อน
ส่วนข้อที่พูดและวิจารณ์กันมากก็คือ คำว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” หลายคนออก มาบอกว่า เป็นการสอนที่ทำให้คนคิดเอาตัวรอด ไม่คำนึงถึงคนอื่น หรือการอยู่ร่วมกันของ คนในสังคม
แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า คนที่ตำหนิสุนทรภู่ ว่าสอนให้คนเอาตัวรอดนั้น ทุกคนก็ล้วนปฏิบัติตามสุนทรภู่ คือ เป็นนักเอาตัวรอดกันทุกคน
ส่วนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ท่านกล่าวว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” คือหมาย ความว่า ทางปฏิบัติที่จะทำให้เรามีความสุข คือ ทำแต่พอดี พอเอาตัวรอด ไม่ทำอะไรให้ เด่นขึ้นมา สุนทรภู่ตกระกำลำบาก ก็เพราะความเด่นของตน
ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ทุกคนล้วนรักตัวเองมากกว่าคนอื่น คนที่บอกว่ารักคนอื่นนั้นไม่จริง ถ้าอยากรู้ว่ามนุษย์จะรักตนกว่าคนอื่นหรือไม่ ก็ให้คนเหล่านั้นนั่งใกล้ๆ กับคนที่ตนรัก มีมารดาบิดาบุตรภรรยา เป็นต้น แล้วคีบถ่านไฟที่สุกแดงวางไปบนศีรษะของคนเหล่านั้น คนพวกนั้นทั้งหมดจะปัดถ่านไฟลงจากศีรษะของตนก่อน แล้วจึงจะไปปัดถ่านไฟให้คนอื่น ก็คือมนุษย์ทุกคนเป็นนักเอาตัวรอด แต่พุทธศาสนาไม่ได้หยุดคำสอนไว้เพียงนั้น แต่สอนเลยไปอีกว่า เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นที่รักแห่งตน ตนรู้สึกเกลียดทุกข์ รักสุข ฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็เกลียดทุกข์ รักสุข ฉันนั้น มนุษย์จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น เพราะมีตนเป็นเครื่องอุปมา ก็ทำให้คนสนใจเลิกละการเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มากกว่าการไปสอนตรงให้คนเลิกเบียดเบียนกัน ใครจะสนใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ใครก็พูดได้สอนได้
• หลักธรรมเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน
พุทธศาสนากล่าวถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง คือ
๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยหมั่น ในการประกอบการเลี้ยงชีพในการศึกษาเล่าเรียน และการทำหน้าที่การงานของตน
๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสีย
๓.กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี
๔.สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ฟุ่มเฟือยนัก
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงหน้าที่ที่ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียง สามีดี ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ และขยันไม่เกียจ คร้านในกิจการทั้งปวง
ในเรื่องดังกล่าวมานี้ ท่านสุนทรภูก็ได้นำมากล่าวไว้ในวรรณกรรมของท่านว่า
“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ
ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน”
สุภาษิตสอนหญิง
คำที่กล่าวมานี้ ท่านสุนทรภู่ ประสงค์ให้ทุกคนรู้จักออมทรัพย์ ค่อยสะสมทรัพย์ทีละน้อย มิได้ประสงค์ให้ใครไม่ใช้สอยทรัพย์ จนกลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว จนกลายเป็น คนมีน้ำใจคับแคบ แต่ให้รู้จักจ่ายทรัพย์ในฐานะที่ควร คือ อะไรที่มีความจำเป็นต้องใช้ สอยในครัวเรือน ขาดตกบกพร่องต้องซื้อหามาให้ครบถ้วน เช่น จะแกงเผ็ดก็ต้องมีพริก หอม กระเทียม เป็นต้น จึงจะแกงได้ ถ้าไม่มีส่วนที่ว่านี้ ก็ถือว่าขาดสิ่งของต้องประสงค์ ส่วนอื่นที่มีอยู่แล้วและมีพอความจำเป็น ก็ไม่ต้องซื้อหามาให้สิ้นเปลืองเงิน ก็นับว่าเป็นคำสอนที่ดีมากไม่เฉพาะในยุคของท่านเท่านั้น แม้ในยุคปัจจุบัน ก็ต้องมีการออมทรัพย์กันอย่างจริงจัง จึงจะมีชีวิตอยู่รอดอย่างผาสุก และพอเพียง
• พระนิพพาน
สุดท้ายนี้ จะขอนำคำเทศนาของพระอภัยมณี เกี่ยวกับพระนิพพาน มากล่าวไว้เป็นปัจฉิมวจนะว่า
“ทรงแก้ไขในข้อพระปรมัตถ์
วิสัยสัตว์สิ้นภพล้วนศพมี
ย่อมสะสมถมจังหวัดปัถพี
ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย
พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน
เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย
สิ้นถวิลสิ้นทุกข์สุขสบาย
มีร่างกายอยู่ก็เหมือนเรือนโรคา
ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มย่อมลุ่มหลง
ด้วยรูปทรงลมเล่ห์เสน่หา
เป็นผัวเมียเคลียคลอครั้นมรณา
ก็กลับว่าผีสางเหินห่างกัน
จงหวังพระปรมาศิวาโมกข์
เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน
เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร”
พระอภัยมณี
ประวัติสุนทรภู่
ประวัติ
พระสุนทรโวหาร มีนามเดิมว่าภู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นพระนมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง
ในช่วงเยาว์วัย มารดาได้พาสุนทรภู่ไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนในกรมพระคลังสวน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร ระหว่างรับราชการต้องถูกจำคุกเพราะเมาสุราอาละวาดทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของตน ภายหลังพ้นโทษได้เป็นพระอาจารย์ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ได้ออกจากราชการ และไปบวชที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดในหัวเมืองต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาสิกขา ต่อมาไม่นานก็ได้กลับมาบวชใหม่ และได้เข้ามาอยู่ที่วัดราชบูรณะ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพน กระทั่งสุดท้ายมาพำนักอยู่วัดเทพธิดาราม ระหว่างพ.ศ.๒๓๘๓-๒๓๘๕ ก็ลาสิกขา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้สุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายหลายพระองค์ อาทิพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรในปี พ.ศ.๒๓๙๔ สุนทรภู่รับราชการต่อมาอีก ๔ ปี ก็ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.๒๓๙๘ อายุได้ ๗๐ ปี
ผลงาน
ปัจจุบัน บทกวีนิพนธ์ของพระสุนทรโวหาร(ภู่) ทั้งหมดเท่าที่พบ มีอยู่ ๒๕ เรื่อง ดังนี้
ประเภทนิราศ ๙ เรื่อง ได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง และนิราศเมืองสุพรรณ (เป็นเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง )
ประเภทนิทาน/นิยาย ๕ เรื่อง ได้แก่ เรื่องโคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ
ประเภทเสภา ๒ เรื่องได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเรื่อง พระราชพงศาวดาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่
ประเภทสุภาษิต ๓ เรื่อง ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง
ประเภทบทละคร ๑ เรื่อง ได้แก่ เรื่องอภัยนุราช
ประเภทบทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้แก่ เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร
ประเภทบทรำพัน ๑ เรื่อง คือ รำพันพิลาป
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย. 50 โดย มหานาลันทา)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9500000066480
http://astv.mobi/AlgoSaV
ฐิตา:
ชีวิตการทำงาน ที่รุ่งเรือง แสนจะตกอับ
และเรื่ิิองราวกับผู้หญิงของสุนทรภู่
เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มท่านสุนทรภู่ได้เป็นเสมียนนาย
ระวาง กรมพระคลังสวน ซึ่งมีหน้าที่เก็บอากรสวน
และวัดระวาง ทำได้อยู่ระยะหนึ่ง แต่ใจไม่ชอบทำ
งานอื่นเหมือนแต่งกลอน ในที่สุดก็กลับมาอยู่ที่
พระราชวังสถานภิมุขอย่างเดิม เพราะเหตุที่อยู่ที่นั่น
จึงทำให้รู้จักมักคุ้นกับสาว ๆ ชาววัง จนกระทั่งเกิดลอบรัก
กับหญิงข้าราชบริพารชื่อ #จัน
ความทราบถึงสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
ทั้งท่านสุนทรภู่และแม่จัน ก็ถูกลงอาญาจองจำไว้ สำหรับ
ตัวสุนทรภู่นั้นถูกเฆี่ยนหนักเจียนตาย ด้วยมีหลักฐาน
ในนิราศเมืองแกลงตอนหนึ่งว่า
#น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุิ์
#จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
#เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง
#จะเกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย
*สุนทรภู่หรือพ่อภู่ของเรา* ได้แม่จันเป็นภรรยา เรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าว
ไว้ว่า เหตุผลอยู่ตรงที่ เจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ที่
เป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังทรงยก
แม่จันประทาน มีหลักฐานจากคำกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า เมื่อพ่อภู่มีบุตรชาย เจ้าครอกข้างในทรงรับไป
เลี้ยงดู แต่ชีวิตคู่ของสุนทรภู่ไม่ราบรื่น อาจจะเป็น
เพราะท่านชอบดื่มสุราเมามายเป็นประจำ ทำให้แม่จันโกรธเคืิองและขอแยกทางเดิน
แต่อีกสาเหตุหนึ่งเล่ากันว่า สุนทรภู่เดือดเนื้อร้อนใจ
รีบเดินทางไปเมืองแกลง เนื่องจาก เวลานั้น มีชายผู้สูงศักดิ์ผู้หนึ่งหมายปองแม่จัน ดังข้อความในนิราศ
เมืองแกลงว่า
ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง
คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
จึงหลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา
ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย
#ส่วนชีวิตที่เริ่มรุ่งเรืองของพ่อภู่
หลังจากที่พ่อภู่เลิกร้างกับแม่จันแล้ว ได้เดินทางไปต่างจังหวัด คือ เมืองเพชร ที่นั่นพ่อภู่ได้รับอุปการะจากหม่อมบุนนาค ซึ่งเป็นหม่อมห้ามในกรม
พราะราชวังสถานพิมุข ท่านได้ไปทำไร่อยู่ที่นั่นอยู่
หลายปี ต่อมาได้มีโอกาสกลับกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสเข้ารับราชการในวังในสมัยรัชกาลที่ ๒ พ่อภู่เป็น
ปฎิภาณกวี แต่งกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยในหลวง รัชกาลที่ ๒ อยู่เสมอ เช่น เม่ื่อครั้งที่พระองค์ทรงติดขัดในกระบวนกลอนเรื่องรามเกียรติิ์
ตอนนางสีดาผูกคอตาย
กลอนของรัชกาลที่ ๒
..เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา
...บัดนั้น วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม
โลดโผนโจนลงตรงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที
รัชกาลที่ ๒ ทรงติว่าบทเก่าชักช้า จึงทรงแก้ไขใหม่ว่า
#จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด #เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่
แล้วจนพระทัยจะแต่งต่อให้หนุมานมาช่วยนางสีดาอย่างไร จึงโปรดเกล้าให้พ่อภู่แต่งต่อโดยเร็ว สุนทรภู่แต่งต่อดังนี้
#ชายหนึ่งผูกศออรไท #แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
#บัดนั้น #วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย
พ่อภู่ของเราจะแต่งกลอนสนองพระเดชพระคุณ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถูกพระราชหฤทัยอยู่หลายครั้งหลายหน จึงได้รับ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น #ขุนสุนทรโวหาร กวีที่ปรึกษาในกรมอาลักษณ์ ชีวิตช่วงนี้รุ่งเรืองมาก
#เกียรติยศยศพ่อภู่เจิดจ้า เทียบได้กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
( พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)
และกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ซึ่งเป็นยอดในทางนาฏศาสตร์ ยามชีวิตที่รุ่งเรืองของพ่อภู่ จึงมีเพื่อนฝูงมากมาย รวมทั้ลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่ใช่น้อย เช่น กวีหญิง ชื่อคุณพุ่ม ได้กล่าวถึงครูภู่ของเธอไว้ว่า
ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ
ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร
เป็นหาหนะพระที่นั่งอลังการ
เกิดอาจารย์ท่านภู่ครูสุนทร
#ชีวิตที่แสนจะตกอับ เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต
เจ้าฟ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสวยราชสมบัติต่อมา
สุนทรภู่ก็ออกผนวช นัยว่าหลีกเลี่ยงราชภัย เพราะรัชกาลที่ ๓
ทรงขัดเคืองสุนทรภู่มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้ว เรื่อง
พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับแต่งกลอน
เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร และให้สุนทรภู่ตรวจแก้
พ่อภู่บอกว่าดีแล้ว แต่พอถึงต่อหน้าพระพักตร์
สมเด็จพระราชบิดา สุนทรภู่กลับขอแก้ว่า
#น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
#ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
แก้ใหม่เป็น
#น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
#ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว
ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดตามที่สุนทรภู่แก้ไข ทำให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กริ้ว
ทำให้พระองค์อับอายต่อหน้าชุมนุมกวี
#พ่อภู่กับเรื่องผู้หญิง
ปกติผู้หญิงนั้นย่อมมีอิทธิพลดลใจในการสร้างผลงานชิ้นเอก
ของกวีและศิลปิน ชีวิตของพ่อภู่ก็เช่นกัน ผู้หญิงมีบทบาทต่อวรรณกรรม
ของท่านเป็นอย่างมาก และมีผู้หญิงมาเกี่ยวข้องกับท่านมากมาย
มีข้อสังเกตว่าพ่อภู่ของเราอยู่กับใครก็ไม่ยืด ไม่หย่าร้างก็ตายจากไป
นี่แหละ วิถีชีวิตของกวี สมัยรัชกาลที่ ๒ ชีวิตพ่อภู่มีความรุ่งเรืองนั้น
พ่อภู่มีภรรยายถึง ๒ คน คนหนึ่งอยู่กันได้ ๙ ปีก็ตายจากกัน
ดังปรากฎในนิราศพระประธมว่า
#ถึงคลองขวางบางกรวยระทวยจิต
#ไม่ลืมคิดนิ่มน้องน้อยละห้อยหา
#เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา
#โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี
อนึ่งมีเสียงตำหนิว่าสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ มีเมียมาก และเหลวไหล
ในชีวิตครอบครัว แท้จริงแล้ว ชีวิตของท่านก็เหมือนกับศิลปินโดยทั่วไป
พูดถึงความดีของพ่อภู่ท่านไม่เคยทิ้งเมีย มีแต่เมียทิ้ง แถมยังทิ้งลูก
ให้เลี้ยงดูอีกด้วย เมื่อเราได้ศึกษาวรรณกรรมต่าง ๆ ของท่าน ก็พอจะสรุปได้
ว่าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรมพอสมควร ใครดี ดีตอบ ใครชั่ว ชั่วตอบ
ดังข้อความนิราศพระประธมว่า
#หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส
#ซึ่งสิ้นชาติสิ้นภพจบสมัย
#ขอคุณอานิสงส์ช่วยส่งไป
#ถึงห้องไตรตรึงส์สถานพิมานแมน
#ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น
#จงปรากฎยศยืนกว่าหมื่นแสน
#มั่งมีมิตรพิศวาสไม่ขาดแคลน
#ให้หายเคืองเคืองทั่วทุกตัวตน
#นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ
#เสน่ห์มอบหมายรักเป็นภักดิ์ผล
#เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน
#แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
ชีวิตบั้นปลายของท่าน
ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ดาวประจำตัวของกวี
สุนทรภู่ก็เจิดจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทรงโปรดเกล้าสุนทรภู่ เป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายบวรราชวัง
สุนทรภู่ หรือ พ่อภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร เป็นกวีแก้วของไทยยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ได้ครองตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ อันเป็นเกียรติยศนานถึง ๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม รวมอายุ ๖๙ ปี ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านยังไม่เสื่อมคลาย ยังเป็นที่พิศวงหลงใหลของคนไทยทั้งชาติ
อยู่ตลอดไป จึงควรที่จะยกย่องเทิดทูนท่านไว้ ณ
โอกาสนี้ครับ
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก "เพลงยาวถวายโอวาท"
ขอบคุณ : รศ.ประทีป วาทิกทินกร
รศ.กุหลาบ มัลลิกะมาส
ขอบคุณที่อ่านจนจบ พิมพ์ผิดพลาดบ้าง
ขออภัยนะครับ คืนนี้ พระรัตนตรัยคุ้มครอง
ราตรีสวัสดิ์ครับกัลยาณมิตรทุกท่าน
เพจ G+บูชา ธรรมาภิบาล
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version