ผู้เขียน หัวข้อ: อุบายวิธีถอดถอนอุปาทานขันธ์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  (อ่าน 2776 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




อุบายวิธีถอดถอนอุปาทานขันธ์
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

พระธรรมเทศนา
โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
แสดง ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘


คำว่า “จิต” เป็นความรู้เพียงเท่านั้น ไม่มีเรื่องราวอะไรมากนัก
ยิ่งมีความรู้อยู่โดยเฉพาะจิตก็ไม่มีเรื่อง
พอจิตกระเพื่อมตัวออกสู่ความคิดความปรุง ความจดจำ สำคัญมั่นหมายต่างๆ
ในสิ่งที่เคยผ่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว นั่นจิตเริ่มก่อเรื่อง
และขยายตัวออกไปไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้

เรื่องจึงมีอยู่เรื่อยๆ และขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งออกไปแล้วเข้าไม่ถูก
เหมือนกับก่อไฟแล้วดับไม่เป็น ไฟก็ลุกใหญ่
จิตคิดออกไปแล้ว ระงับดับความคิดของตนไม่ได้
จึงกลายเป็นเรื่องราวเข้ามาสู่ตนเอง ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
อกาลิโก” คือไม่กำหนดสถานกาลเวลา มีอยู่เช่นนั้นทุกหัวใจ

ถ้ามีแต่ความรู้เท่านั้นก็ไม่มีเรื่อง ถ้าเทียบก็เหมือนเมล็ดผลไม้
ที่มีแต่เมล็ดเท่านั้นมันก็ไม่มีเรื่องมาก แต่พอมันแตกออกมาเป็นต้นแล้ว
ก็มีใบ รากแก้ว รากฝอย เปลือก กระพี้ แก่น กิ่งน้อยใหญ่ ใบอ่อน ใบแก่
มีดอกผลเต็มไปหมดทั้งต้น ไม่สามารถจะพรรณนาได้
พอมันแตกออกจากเมล็ดแล้วเท่านั้น มันขยายตัวออกไป
จนไม่อาจที่จะนับได้ว่า รากแก้ว รากฝอย มีเท่าไร แผ่ออกไปกว้างแคบขนาดไหน
รากแก้วมันลงลึกขนาดไหน เปลือกก็หุ้มตัวกระพี้แก่นลำต้นขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
กิ่งก้านสาขา ใบอ่อนใบแก่ กิ่งน้อยกิ่งใหญ่ ดอกใหม่ดอกเก่า
สลับซับซ้อนเต็มไปหมดในต้นไม้ต้นเดียวกัน จนไม่สามารถจะนับได้

นี่เราเทียบกับจิต ที่กระเพื่อมตัวออกคิดปรุงเรื่องต่างๆ ขยายตัวออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องเก่าผ่านมานานเพียงไรก็ไปคิดได้หมด นำอารมณ์นั้นๆ มายุ่งตัวเอง
สิ่งที่ไม่เคยผ่าน ก็คิดไปเดาไปด้นไป สำคัญมั่นหมายไปเรื่อยๆ
ซึ่งล้วนแต่เรื่องยุ่งออกไปจากใจที่คิดปรุงทั้งนั้น
ถ้าเราไม่เคยเห็นความยุ่ง เวลาภาวนาจะรู้เรื่องความยุ่งไปเอง
ว่าจิตเป็นตัวยุ่งที่สุดในโลก ไม่มีสิ่งใดจะยุ่งยิ่งกว่าจิต
ร่างกายของเราเวลาหิวกระหายมา พอรับประทานเสียก็ระงับดับกันไป
กระหายน้ำ ดื่มเสียก็ระงับความกระหาย ไม่กวนอยู่ตลอดเวลาเหมือนจิต
เวลาง่วงเหงาหาวนอนก็พาพักผ่อนนอนหลับไปเสีย เวลาเมื่อยเพลียก็พักผ่อนเสีย
เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็บำบัดรักษาเสีย ก็ยังมีกาลมีเวลาระงับดับลง
พอเป็นความสุขกายสบายธาตุขันธ์บ้าง


ส่วนจิตใจไม่เป็นอย่างนั้น ก่อกวนอยู่ตลอดเวลา
เพราะความกระเพื่อมตัวเป็นไปอยู่เสมอ และมีเครื่องผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุงอยู่เช่นนั้น
จิตจึงเป็นเหมือน “ลูกฟุตบอล” นั่นเอง ถูกเตะให้กลิ้งไปนั่นกลิ้งไปนี่ กลิ้งไปกลิ้งมา
ถูกฝ่าเท้าของกิเลสทั้งเตะ ทั้งเหยียบย่ำทำลายขยี้จะเอาให้แหลกจริงๆ
แต่จิตก็เป็นสิ่งที่ทน ไม่มีอะไรที่จะทนยิ่งกว่าจิต เหนียวแน่นยิ่งกว่าจิต
จะทำลายให้ฉิบหายไปก็ฉิบหายไม่ได้ เป็นแต่เพียงความทุกข์ความทรมาน

เพราะสิ่งเหล่านั้นบีบบังคับเท่านั้นเอง นี่แหละจึงได้รู้ว่า
เรื่องทั้งมวลออกจากจิตดวงเดียวนี้เท่านั้น” ไม่มีอะไรที่จะก่อเรื่องนอกจากจิตเป็นผู้ก่อ
การระงับเรื่องจึงต้องระงับที่ต้นเหตุ คือจิตเป็นต้นเหตุและผลิตผลขึ้นมาในจิตนั้นด้วย
จึงต้องระงับที่ตรงนั้นด้วยอุบายวิธีต่างๆ


อุบายวิธีนั้นก็ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถนำมาใช้ได้ผล
เหมือนอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้
ที่ท่านเรียกว่า สวากขาตธรรม” คือ ตรัสไว้ชอบ สมควรแก่การแก้กิเลส
หรือระงับดับกิเลสที่เกิดขึ้นกับตนได้ ด้วยความถูกต้องแม่นยำ
เหมาะสมกับการแก้กิเลสนั้นๆ ทุกประเภท
การที่กระทบความทุกข์ความลำบากนั้นน่ะกระทบด้วยกันทุกคน ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล
ใครจะมีความรู้มากน้อยเพียงใดก็ต้องได้รับสัมผัส ได้รับรู้ความทุกข์
ที่ได้รับความกระทบกระเทือนอยู่ภายในจิตใจและร่างกายตลอดมา
แต่ไม่มีใครจะสามารถหาอุบายวิธีแก้ไขความกระทบกระเทือน
อันเป็นสิ่งสำคัญระหว่างจิตกับอารมณ์ที่ปรุงขึ้นมาภายในตนเองได้
จิตชอบถือสิ่งภายนอกเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมาย
แล้วนำเข้ามาคิดปรุงแต่งต่างๆ ให้เกิดความทุกข์ความทรมานแก่ตน


อุบายวิธีระงับดับสิ่งเหล่านี้ มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่เป็นผู้เฉลียวฉลาด
สามารถทำจนได้ผล แล้วทรงนำทั้งเหตุทั้งผลนั้น
มาสอนพุทธบริษัท คือสัตว์โลกทั่วๆ ไปให้รู้วิธีการ
ผู้ใดมีความสนใจเชื่อตามหลักธรรม ที่ทรงประพฤติปฏิบัติและได้ผลมาแล้ว
นำมาปฏิบัติตนตามที่ท่านสอนไว้ ผู้นั้นก็ได้รับผลไปโดยลำดับจนเป็นที่พึงพอใจ

การระงับดับทุกข์ จึงหมายถึงใจเป็นสำคัญ
เอา“ใจ”เป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เพราะตัวนี้เป็นตัวการ
ถ้าพูดก็ว่าผู้ต้องหาคือจิตดวงนี้ คนขี้คุกขี้ตะรางก็คือจิตดวงนี้
ถูกกักถูกขังอยู่ใน “วัฏสงสาร” ภพน้อยภพใหญ่
ล้วนแล้วแต่เป็นภพที่ได้รับความทุกข์ความทรมาน รับวิบาก
คำว่า “วิบาก” ก็คือผล ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุ
ก็ต้องทำให้ผู้กระทำนั้นได้รับความทุกข์ความลำบากในภพน้อยภพใหญ่
ท่องเที่ยวอยู่อย่างนั้นเพราะหาทางออกไม่ได้
พระพุทธเจ้าจึงทรงเปิดทางให้รู้ทางออกรู้วิธีออก เรียกว่า “นิยยานิกธรรม
นำสัตว์โลกที่ติดข้องด้วยสิ่งมืดมัว อันเป็นเครื่องปิดบังทั้งหลายนี้
ให้ออกได้โดย “นิยยานิกธรรม
สั่งสอนโดยลำดับๆ นับตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด


ทาน การให้ทาน ก็เป็นธรรมแก้กิเลสประเภทหนึ่ง
คือความตระหนี่เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นคู่มิตรกับความโลภมาก
นี่เป็นกิเลสผูกมัดรัดรึงใจจนหาทางออกไม่ได้
ผู้ที่มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส มีความพอใจในการให้ทาน
จึงชื่อว่าเป็นผู้แก้กิเลสตัวเหนียวแน่นอยู่ภายในจิตใจนี้ออกได้โดยลำดับ
จนกระทั่งเป็นผู้เสียสละไม่มีความอาลัยเสียดาย เป็นที่พอใจ
เมื่อได้เสียสละอะไรลงไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นมากน้อย เกิดเป็นความสุขขึ้นมาภายในใจ
นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการแก้กิเลสตัวเหนียวแน่น ตัวตระหนี่ถี่เหนียว ตัวเห็นแก่ตัว
ตัวส่งเสริมให้เกิดความโลภมากไม่มีเมืองพอ จนเห็นความเบาบางประจักษ์ใจ

วัตถุนั้นเป็นอันหนึ่งต่างหาก ที่จะทำให้จิตไปเกาะไปยึด
แล้วสั่งสมกิเลสและความทุกข์ขึ้นแก่ตัวเอง
วัตถุนั้นไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอะไรนัก
ที่สำคัญก็คือผู้ไปยึดไปถือวัตถุสิ่งของทองเงินเป็นต้น นี้แลคือผู้เป็นภัยต่อจิตใจ
ความยินดีในการเสียสละเพื่อประโยชน์ตามเหตุตามผลที่จะเสียสละมากน้อย
แก่บุคคลใด แก่สัตว์ตัวใด หรือแก่ผู้ใด
จนมีความเสียสละได้ด้วยความปีติยินดี พอใจ ไม่อาลัยเสียดาย
นี่เชื่อว่าเป็นผู้ชนะกิเลสประเภทนี้ไปแล้วโดยลำดับ
มิหนำซ้ำยังเกิดความปลื้มอกปลื้มใจในเมื่อได้ทำตามความต้องการแล้ว
นี่คือผลแห่งการชนะกิเลสประเภทเหนียวแน่นนี้ออกได้
นี่ก็เรียกว่า “นิยยานิกธรรม” เป็นทางที่นำสัตว์ออกจากทุกข์
คือความผูกมัดรัดรึงเหล่านี้ ด้วยอำนาจของกิเลสตัวหวงแหนไปได้เป็นขั้นๆ

ศีล ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แก้กิเลสในข้อหนึ่งๆ นั้น
ปาณาฯ สัตว์มีชีวิต คนมีชีวิต อะไรมีชีวิต
ผู้นั้นเป็นผู้รักสงวนชีวิตของตนเท่าเทียมกันกับเรา
การไม่ทำเขาให้มีความกระทบกระเทือนหรือเจ็บช้ำ ตลอดถึงความล้มตายไป
ก็เพราะเห็นคุณค่าของเขาของเรา
ความไม่เห็นคุณค่าของเขาโดยความเห็นแก่ตัว เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง
คนทั้งโลกสัตว์ทั้งโลก เห็นเป็นคนแต่เราคนเดียวแล้วทำลายคนอื่นสัตว์อื่นได้
โดยไม่มีความละอายบาป ไม่มีความนึกคิดในเรื่องบุญเรื่องบาปเลย
ขอแต่เป็นความพอใจของตน ใครจะฉิบหายวายปวงด้วยชีวิตจิตใจร่างกายอะไรก็ตาม
นี่เป็นกิเลสประเภทสำคัญมากเช่นเดียวกัน
การไม่ให้ทำเพราะเห็นความสำคัญแห่งชีวิตของเขาของเรานี้
เรียกว่าเป็นการแก้กิเลสประเภทที่เห็นแก่ตัว ในลักษณะดังที่กล่าวมานี้ออกได้

อทินนาฯ พึงเทียบลักษณะเดียวกับ กาเม มุสา สุรา
ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกิเลส เครื่องผูกมัดจิตใจของสัตว์
ให้ได้รับความทุกข์ความทรมานทั้งสิ้น เหล่านี้ล้วนแต่กิเลสด้วยกัน
จึงสอนวิธีแก้ด้วยการรักษาศีลข้อนั้น ๆ
ไม่ให้ใจกำเริบไปตามความละเมิดที่คิดอยากทำบาป ด้วยการทำลายศีลข้อนั้นๆ ไปในตัว
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพื่อการแก้กิเลส
ไม่ใช่สั่งสอนอย่างปาวๆ หรือสอนอย่างไม่มีเหตุผล
พระองค์ทรงทราบหมดว่า กิเลสมันแทรกซ้อนอยู่ในอะไรบ้าง
จะทรงแก้ไขวิธีใด ทรงแยกแยะไว้หมด ให้ถึงตัวของกิเลสจริงๆ
ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของสัตว์โลกและแสดงออกโดยอาการที่กล่าวมานี้
อาการ ๕ อย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องศีลก็อาการ ๕ อย่าง
ปาณา อทินนา กาเม มุสา สุรา
เป็นแต่ละประเภทๆ แห่งศีลธรรม เพื่อแก้กิเลส
และศีลธรรมเหล่านี้ก็คือ “ธรรม” นั่นเอง
แก้กิเลสประเภทนั้นๆ ที่หยาบคาย ด้วยธรรมห้าข้อที่ให้นามว่า “ศีล”
การทำลงไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทำลายศีล
การคิดไม่ทำ หรืองดเว้นอยู่ภายในใจนั้นเป็นเรื่อง “ธรรม”
เป็นเรื่องแก้กิเลสอยู่ภายในใจ มีความหมายทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้อย่างไรต้องมีความหมายเต็มตัวทีเดียว
เราทั้งหลายมีความรักชอบในศีลในธรรมดังที่กล่าวมานี้
ชื่อว่าเป็นผู้รักธรรมในการแก้กิเลสอันเป็นข้าศึกต่อธรรม ดังที่กล่าวมานี้

ภาวนา คำว่า “ภาวนา” ยิ่งเป็นความละเอียดของจิตเข้าไปอีก
รวมความละเอียดของกิเลสเข้าไปเป็นชั้นๆ
ท่านจึงสอนให้เรียนเข้ามาหาตัวจิต ให้รู้เรื่องของจิต
จิตแสดงออกในอาการอย่างใด เช่นที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า
“บ่อแห่งเหตุ บ่อแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ต้นเหตุของกองทุกข์อยู่ที่ไหน”
ก็คืออยู่ที่ใจ ท่านสอนให้ภาวนา ให้รู้ต้นเหตุ คือความคิดเป็นเหตุ
สอนให้บริกรรมภาวนาหรือให้กำหนดอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
ให้เป็นเครื่องผูกจิตใจไม่ให้ไปคิดในแง่ต่างๆ
ซึ่งจะเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาโดยลำดับ
ให้จิตมีอารมณ์อันเดียวกับธรรมที่กำหนด ที่คำบริกรรมเท่านั้น
จนจิตมีความสืบต่อกันด้วยความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมบทนั้นๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน

แล้วกลายเป็นความสงบขึ้นมาภายในตน ท่านเรียกว่า “จิตสงบ
จิตแน่วแน่ไปแล้ว เรียกว่า “จิตเป็นสมาธิ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 18, 2012, 11:39:19 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




คำว่า “สมาธิ” เป็นฐานะอันสำคัญของจิต

เมื่อจิตมีความสงบ ทุกข์ก็ต้องสงบลงไป
เพราะทุกข์เกิดขึ้นจากความไม่สงบ จิตแสดงความไม่สงบก็คือจิตก่อทุกข์
เมื่อจิตปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา ก็คือความสงบทุกข์
ความสงบจากความฟุ้งซ่านอันเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ก็ต้องดับไปด้วยกัน
เพียงเวลาเดียวหรือขณะเดียวเท่านั้น เราก็พอเห็นเป็นสักขีพยานว่า
ความฟุ้งซ่านของจิตกับความสงบของจิตนี้มีผลต่างกันอย่างไรบ้าง
พอจะเห็นเหตุเห็นผล เห็นโทษเห็นคุณ
ของความฟุ้งซ่านกับความสงบ ว่าต่างกันอย่างไรบ้าง
แล้วก็มีทางที่จะแยกแยะเลือกเฟ้นเอาตามที่ปรากฏแล้วทั้งสองเรื่อง
คือความสงบกับความฟุ้งซ่าน เราเลือกทำ แม้จะมีความยากลำบากเพราะฝืน
แต่เหตุผลและสักขีพยานบอกแล้วภายในตัวว่า
ความสงบสุขเกิดขึ้นเพราะความอุตส่าห์พยายาม
และผลจะปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นความสงบเย็นใจ
ขณะที่จิตมีความสงบตัวนั้น ย่อมไม่คิดถึงกาลเวลา สถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น
รื่นเริงบันเทิงอยู่กับความสงบอันเป็นความสุขอยู่โดยถ่ายเดียว
นั่งอยู่ก็เพลิน เพลินอยู่ในความสงบสุขของจิต ยืนอยู่ก็เพลิน
นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากความสงบของใจไม่ก่อกวนตัวเอง
ความคิดปรุงระงับเข้ามา เพราะบทธรรมเป็นเครื่องกำกับใจ


การกระทำความเพียรทาง “จิตตภาวนา” มีความอุดหนุนกันไปโดยลำดับ
ความต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ ผลย่อมมีความสืบเนื่องกันเป็นลำดับเช่นเดียวกัน
จนกลายเป็นจิตที่อ่อนโยน นิ่มนวล สง่าผ่าเผย มองดูภายในตัวเองก็รู้
นี่เป็นระยะหรือเป็นขั้นหนึ่งของจิต
เรื่องราวที่เคยก่อกวนตัวเองนั้นย่อมลดน้อยลงไปเป็นลำดับ
เรื่องราวคือความคิดความปรุงในแง่ต่างๆ ตามยถากรรมที่เคยเป็นมา
ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีก มีกฎเกณฑ์ในการคิดการปรุงเพราะเริ่มมีสติ
เริ่มมีความระมัดระวังขึ้น และเริ่มมีสาระสำคัญอันเป็นสมบัติอันหนึ่งขึ้นมาภายในใจ
ไม่อยากจะให้สิ่งใดเข้ามาก่อกวนทำลายสมบัติ คือความสงบสุขที่เคยปรากฏกับตนอยู่แล้ว
ย่อมมีความระมัดระวังสมบัตินั้นไว้เสมอด้วยความมีสติ ด้วยความเต็มใจ ด้วยความพอใจ
จิตเลยกลายเป็นสมบัติอันมีค่าขึ้นมาอย่างชัดเจน
แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดว่าจิตนี้เป็นสมบัติอันมีค่า นอกจากเห็นว่าสิ่งอื่นมีค่าไปเสียทั้งสิ้น
จนหลงเพลิน เพราะเรายังไม่เคยเห็นจิตแสดงตัวออกมาเป็นสิ่งที่น่าพึงใจ น่าอัศจรรย์
เป็นสมบัติอันพึงใจ น่าไว้ใจ ฝากเป็นฝากตายได้



ทีนี้ปรากฏขึ้นมาแล้ว จิตจึงกลายเป็นที่พึ่งอันหนึ่ง กลายเป็นที่อาศัย
หรือกลายเป็นสิ่งที่อบอุ่นขึ้นภายในตัวเอง จิตนั้นเลยกลายเป็นสมบัติอันรักสงวนขึ้นมา
แล้วก็รักสงวนมาก พยายามกำจัดปัดเป่าสิ่งที่จะมาก่อกวนทำลายจิตใจนั้นด้วยสติ
นี่เป็นอีกขั้นหนึ่ง คือใจมีความละเอียดเข้าไปโดยลำดับ
นี่ท่านเรียกว่า “จิตมีฐาน” จิตมีหลักเกณฑ์ จิตปรากฏเป็นสมบัติของผู้ทำอย่างชัดเจนแล้ว
สมบัติอันนี้เรียกว่า “ธรรมสมบัติ” มีประจักษ์ใจ
ในธรรมอีกแง่หนึ่ง ที่ท่านสอนให้สมบัติอันนี้มีความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นไป
และมีความรู้รอบตัว เพื่อกำจัดสิ่งที่แทรกซึมอยู่ภายในใจให้ขาดจากกันโดยลำดับว่า
“จิตนี้ มีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกับอะไรบ้าง?”
ท่านจึงสอนให้ใช้ “ปัญญา” พิจารณา
โดยยกธาตุขันธ์ของเรานี้ขึ้นเป็นอันดับแรก
พิจารณาคลี่คลายตลอดถึงสิ่งภายนอก บริษัทบริวาร สมบัติต่างๆ
คิดไป และนำมาเทียบเคียงว่า
จิต มีความหนักเบาในสิ่งใด ในแง่ใด ในบุคคลใด ในสมบัติอันใดบ้าง
แล้วนำสิ่งนั้นๆ เข้ามาคลี่คลายดูให้เห็นตามความจริงของมัน
เพื่อจิตจะได้ถอยตัวเข้ามา ปล่อยความกังวล หรือความผูกพันนั้นๆ
ซึ่งเป็นตัว อุปาทาน” ยึดมั่นถือมั่น แล้วทำความกดถ่วงจิตใจให้เป็นพิษภัยแก่ตน
ให้ถอยตัวเข้ามาสู่ “ความเป็นตัวของตัว” คือจิตโดยเฉพาะ

พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ธาตุขันธ์ถ้าพิจารณาตามความจริงแล้ว
เราจะเห็นประจักษ์ทั้งวันทั้งคืน เพราะเป็นความจริงล้วนๆ ตลอดมา
ตั้งแต่วันอุบัติจนกระทั่งถึงวันสิ้นชีพวายชนม์ ไม่ละความจริงอันนี้เลย
เป็นแต่ความรู้ของเรายังจอมปลอมอยู่ ของปลอมกับของจริงจึงเข้ากันไม่ได้
ท่านจึงสอนให้ใช้ปัญญาซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่ง สอดแทรกลงไป
ให้รู้ความจริงที่มีอยู่ภายในธาตุขันธ์ หรือร่างกายนี้ด้วยการพินิจพิจารณา

หากจะพิจารณาแยกอาการของมัน หรือตามความเป็นอยู่ของมัน
ก็แยกออกไปดูให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญา จะไม่มีที่ตรงไหนแย้งความจริงอันนี้เลย
ดูเข้าไปตั้งแต่หนังข้างนอก หนังข้างใน เนื้อ เอ็น กระดูก
ดูเข้าไปๆ มันเป็นอย่างไร ตรงไหนที่เป็นเรา ตรงไหนที่น่ารักน่ายินดี ตรงไหนที่เป็นเขา
ดูเข้าไปจนหมดทุกสิ่งทุกส่วนแล้ว มันก็เป็นกองธาตุกองขันธ์
เป็น
กองอสุภะอสุภัง เป็นป่าช้าผีดิบเราดีๆ นี่แหละ


แยกออกเป็นเรื่องของธาตุ ก็ไม่เห็นมีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ
เต็มเนื้อเต็มตัวของเราตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้
แล้วยังจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนกระทั่งถึงวันอวสาน
คือวันสลายตัวของส่วนประชุมแห่งธาตุทั้งหลายเหล่านี้
ถ้า “ปัญญา” ได้หยั่งลงไปให้ถึงเหตุถึงผลถึงความจริงซึ้งถึงจิตใจแล้ว
ไม่ต้องบอกให้ปล่อย แต่มันปล่อยของมันเอง
สลัดลงไปๆ ปล่อยวางลงไปในส่วนหยาบ คือธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟนี้
มีอันหนึ่งเป็นสิ่งที่ปิดบังความจริง หรือว่าความสำคัญมั่นหมายของเรา
มันปิดบังตัวเราก็ถูกมันปิดบังเพราะอะไร
เพราะธาตุเพราะขันธ์อันนี้ จึงต้องเอาธาตุขันธ์อันนี้มาแจงดู
คลี่คลายดูให้เห็นชัดเจน แล้วก็มาเห็นตัวผู้จอมปลอม
ไปเที่ยวยึดนั้น ปักปันมั่นหมายว่า สิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนี้เป็นของเรา
ก่อความยุ่งยากให้แก่ตน ขนทุกข์มาทับตนหนักเท่าไร
จนกระทั่งไปไม่ได้ก็ยอมทน เพราะความหลงนี้เอง


ปัญญา กำหนดพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามเป็นจริง แล้วก็ปล่อยกันไปเองโดยลำดับๆ
เมื่อจิตมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งนี้อย่างชัดเจนแล้ว
มองลงไปที่ไหนมันทะลุปรุโปร่งไปหมดภายในร่างกาย
เห็นตามความเป็นจริงอย่างประจักษ์ใจไม่มีทางสงสัย
ดูภายนอกก็เช่นเดียวกับภายใน ดูภายในก็เช่นเดียวกับภายนอก มันเป็นเช่นเดียวกัน
นี่จัดว่าเป็น “โลกวิทู” คือรู้แจ้งเห็นจริงโลกทั้งโลกนอกโลกใน เป็นสภาพเหมือนกันนี้ทั้งนั้น
นี่ “โลกวิทู”เป็นคุณสมบัติของพุทธบริษัททั้งหลายได้
ไม่ใช่จะเป็น “โลกวิทู”แต่พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว


แล้วยังมีอะไรเป็นตัวการสำคัญที่คอยแต่หลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา
ก็พวกสัญญา พวกสังขาร นี่เองเป็นตัวสำคัญ
เวทนาเกิดขึ้นมันก็ไปสำคัญมั่นหมายว่า “เวทนาเป็นเรา” เสีย
เวทนาเป็นเราเพราะเหตุไร เพราะร่างกายนี่เป็นเรา ร่างกายเป็นเรา เวทนาก็เป็นเรา
สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เป็นเราเสีย ก็มาเป็นอันเดียวกันหมด
ทั้งๆ ที่ “เขา” ไม่ใช่ “เรา”“เรา” ไม่ใช่ “เขา”
แต่ความสำคัญมั่นหมายนั้นมันหลอกเรา พิจารณาดูให้เห็นชัดเจน
ความปรุง ก็เพียงคิดขึ้น ดี ชั่ว ก็ตาม คิดขึ้นขณะเดียวก็ดับไปพร้อมๆ ในขณะนั้น
ไม่ได้ตั้งอยู่จีรังถาวรอะไรเลย เป็นแต่เพียงความสำคัญมั่นหมายนั่นแหละมันไปยึดเอา
เลยยืดยาวไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ยึดมั่นถือมั่นติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลูกโซ่
ทุกข์ก็เลยกลายเป็นเหมือนลูกโซ่ไปตามกัน


คนทั้งคนมีแต่ลูกโซ่ คือความทุกข์เต็มหัวใจ
การตัดลูกโซ่จึงตัดด้วยการพิจารณาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ให้ทราบว่าเป็นอาการหนึ่ง ๆ ของขันธ์นี่เท่านั้น

เวทนา ความสุข ความทุกข์ ทุกข์กายทุกข์ใจ สุขกายสุขใจ ก็อนตฺตา
แน่ะ! สรุปความก็คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
ไปลงที่นั่นไม่ไปไหน เพราะความจริงอยู่ที่นั่น
คำว่า “อนตฺตา” มันจะเป็น “อตฺตา” ได้อย่างไร มันปฏิเสธตัวตนอยู่แล้วชัดๆ
เกิดขึ้นแล้วดับไป ทุกข์กายก็เหมือนกัน ทุกข์ใจก็เหมือนกัน
มันก็เป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นมา สุขกายสุขใจมันก็เป็นเวทนาอันหนึ่งเหมือนกัน
พิจารณาให้เป็นสภาพอันเดียวกัน คือ “ไตรลักษณ์” ล้วนๆ
เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาแล้วย่อมเป็นไตรลักษณ์ล้วนๆ จริงๆ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




สัญญา ความหมาย ฟังแต่ว่า “ความหมาย” มันวนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น
หมายนั่นหมายนี่ ดีไม่ดีก็หมายไป จำไป ลืมไปแล้วเอามาจำใหม่ ยุ่งกันไปหมด
วิญญาณ ก็ปรากฏขึ้นในขณะที่มีสิ่งมาสัมผัส
เป็นความกระเพื่อมแห่งความรู้รับกันกับสิ่งที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ซึ่งกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
ก็เกิดความรับรู้ขึ้นเป็นขณะๆ ที่สิ่งนั้นสัมผัส แล้วก็ดับพร้อมกับสิ่งสัมผัสนั้นดับไป
นี่ท่านเรียกว่า “วิญญาณ” ความกระเพื่อมแห่งความรู้
เท่านั้นเอง
ความรู้จริงๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงสิ่งเหล่านั้นจะมาสัมผัสหรือไม่สัมผัสก็ตาม
ความรู้ก็รู้อยู่โดยสม่ำเสมอนี่ท่านเรียกว่า “ใจ” หรือเรียกว่า “จิต
แต่ความกระเพื่อมของจิตที่แสดงออกรับกับสิ่งที่มาสัมผัส
ชั่วขณะๆ ที่สิ่งนั้นมาสัมผัส ท่านเรียกว่าวิญญาณ

“วิญญาณในขันธ์ห้า” กับ “ปฏิสนธิวิญญาณ” จึงผิดกัน
วิญญาณในขันธ์ห้าปรากฏขึ้นในขณะที่มีสิ่งมาสัมผัส
ปฏิสนธิวิญญาณ” นี้หมายถึง “ตัวจิตล้วนๆ”
ที่เข้ามาปฏิสนธิก่อกำเนิดเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ หมายถึงจิตที่กล่าวถึง “ในสถานที่นี้” ในขณะนี้

วิญญาณ”หมายถึงวิญญาณในขันธ์ห้า ซึ่งมีสภาพเหมือนกับรูป เวทนา สัญญา สังขาร
มันเสมอกันด้วย “ไตรลักษณ์” เหมือนกันด้วย “ไตรลักษณ์”
เหมือนกันด้วยความเป็น “อนตฺตา” มันไม่เหมือนกับเรา เราไม่เหมือนกับสิ่งนั้น
เหตุนั้นสิ่งนั้นจึงไม่ใช่เรา เราจึงไม่ใช่สิ่งนั้น
แยกด้วยปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ แล้วจิตจะปล่อยความกังวล
ปล่อยคำว่า “รูปเป็นเรา เวทนาเป็นเรา สัญญาเป็นเรา สังขารเป็นเรา วิญญาณเป็นเรา”
ปล่อยออกไป เราไม่ใช่อาการห้านี้ อาการห้านี้ไม่ใช่เรา
เห็นประจักษ์ ตัดตอนมันออกไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งขาดไปจริงๆ จากอาการ
แม้จะแสดงขึ้นมาก็ทราบว่า “อาการนี้แสดง” แสดงขึ้นเพียงไรก็ทราบว่ามันแสดง
ด้วยความรู้ของเรา ด้วยปัญญาของเรา ที่ท่านเรียกว่า “คลี่คลายด้วยปัญญา


ในบรรดาขันธ์ที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องปกปิดกำบัง หรือรวมเข้ามาว่า “เป็นตน”
โดยความสำคัญของจิต แยกออกด้วยปัญญาให้เห็นชัดเจน
นี่แหละตัดกิ่งก้านสาขา ตัดรากใหญ่ๆ รากฝอยของกิเลสเข้ามา
เหลือแต่ “รากแก้ว” พอถึง “รากแก้ว” แล้วก็ถอนขึ้น
รากแก้วคืออะไร? คือ ตัวจิต มีกิเลสตัวสำคัญอยู่ในนั้นหมด
ผู้ปฏิบัติจึงมักจะหลงที่ตรงนี้ ถ้าหากไม่มีผู้แนะเลยจะต้องมาติดที่ตรงนี้แน่นอน
ถือสิ่งนี้เป็นตน คิดว่า “อะไร ๆ ก็หมดแล้ว รู้หมดแล้ว รู้แล้ว
ยกเราว่ารู้หมด! แต่เราหาได้รู้ “เรา” ไม่
นั้นคือเราหลงเรา รู้สิ่งภายนอกแต่มาหลงตัวเอง

สิ่งภายนอกในสถานที่นี้ ไม่ต้องพูดถึงสิ่งภายนอกที่นอกจากตัวเรา
หมายถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้นี่แหละ รู้สิ่งเหล่านี้แล้วยังไม่รู้ตัวจริงคือจิต
จิตเลยยกตัวขึ้นว่ารู้สิ่งทั้งหลายเสีย ทั้งๆ ที่ตัวกำลังหลงอยู่ในตัวเอง
จึงต้องใช้ปัญญาคลี่คลาย หรือขยี้ขยำเข้าไปที่ตรงนี้เพื่อความรู้รอบตัว ไม่ให้มีอะไรซุ่มซ่อนอยู่เลย
ขึ้นชื่อว่า “ยาพิษ” คือกิเลสประเภทต่างๆ แม้จะละเอียดเพียงไร มี “อวิชชา” เป็นต้น
ก็ให้กระจายไปด้วยอำนาจแห่งปัญญาคลี่คลาย
จนกระทั่งกระจายไปจริงๆ หรือสลายไปจริงๆ ด้วยอำนาจของปัญญาอันแหลมคม
แล้วคำว่า “เรา” คำว่า “ของเรา” ก็หมดปัญหา
คำว่า “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือว่าขันธ์ห้า อาการทั้งห้า นี้เป็นเรา เป็นของเรา” ก็หมดปัญหาไปตาม ๆ กัน
ว่าเป็น “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา”ก็หมดปัญหาไปตามกัน
เพราะสิ้นปัญหาภายในใจ คือ “อวิชชา” ซึ่งเป็นตัวปัญหาได้สิ้นไปแล้ว
ปัญหาทั้งหลายจึงไม่มีภายในใจ ใจจึงเป็นใจที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ !
นั่นแหละคือบ่อแห่งความสุข!
เมื่อกำจัดความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ออกจากใจหมดสิ้นไปแล้ว
ใจจึงกลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา

นิยยานิกธรรม พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตว์โลกมาตั้งแต่พื้น ๆ
ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายอย่างนี้
เป็น “นิยยานิกธรรม”โดยสมบูรณ์ นำสัตว์ผู้ข้อง พูดง่ายๆ นำจิตผู้ข้อง
ให้พ้นจากความข้องนั้นโดยประการทั้งปวง
กลายเป็น “โลกวิทู” รู้แจ้งเห็นจริงในธาตุในขันธ์ทั้งภายนอกภายใน
แล้วก็หมดปัญหากันเพียงเท่านี้
จากนั้นท่านก็ไม่ได้ทรงสอนอะไรต่อไปอีก เพราะพ้นจากทุกข์แล้วจะสอนเพื่ออะไร
ถึงที่อันเกษมแล้วสอนกันไปเพื่ออะไรอีก!
นี้แลที่เคยกล่าวเสมอว่า “มัชฌิมา” ในหลักธรรมชาติอันเป็นฝ่ายผล
ได้แก่ “จิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ” นี้ ไม่มีอะไรที่จะ “กลาง” ยิ่งกว่าจิตที่บริสุทธิ์นี้
เสมอยิ่งกว่าจิตที่บริสุทธิ์นี้ ไม่มีในโลกทั้งสามนี้!
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งกว่าจิตบริสุทธิ์ล้วนๆ อันเป็น “มัชฌิมา” ในหลักธรรมชาตินี้
นี่แหละความเป็นเอก ก็คือนี้ จิตเป็นเอก ก็คือจิตที่บริสุทธิ์นี้
ธรรมอันเอก ก็คือธรรมอันบริสุทธิ์ภายในใจนี้ มีอันเดียว ไม่มีสองกับสิ่งใด

โลกทั้งหลายมีคู่ๆ ธรรมชาตินี้ไม่มีคู่ มีอันเดียวเท่านั้น
พระพุทธเจ้าสมกับพระนามว่า เป็น “โลกวิทู” เป็นศาสดาเอกของโลก
ทรงรู้วิธีแก้ไขกิเลสน้อยใหญ่มาโดยลำดับๆ แล้วนำมาสั่งสอนโลก
ให้พวกเราทั้งหลายแม้เกิดสุดท้ายภายหลังตามคตินิยมก็ตาม
แต่เราก็ได้รับพระโอวาทคำสั่งสอน คือศาสนธรรมจากพระองค์
มาปฏิบัติตนเอง ไม่เสียชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
“ธรรม” กับ “พระพุทธเจ้า” คือธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
นำมาเป็นเครื่องประดับกายประดับใจของเรา
ขอให้มีความภาคภูมิใจในวาสนาของเราที่ได้เป็นอรรถเป็นธรรม
ปฏิบัติตามพระองค์ ให้สมชื่อว่า “เป็นพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์

จึงขอยุติ

คัดจาก “ธรรมชุดเตรียมพร้อม” รวมพระธรรมเทศนา
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน



【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪  :http://www.sookjai.com/index.php?topic=36992.msg63123#new