อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:


06.เรื่องจูฬสารีภิกขุ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระภิกษุชื่อจุฬสารี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุชีวํ  อหิริเกน เป็นต้น

วันหนึ่ง   พระจูฬสารีกลับจากดูแลรักษาคนป่วย  ในระหว่างทางท่านได้พบกับพระสารีบุตรเถระและได้เล่าให้พระเถระฟังว่าท่านไปรักษาคนไข้มา  และได้อาหารอันประณีตจากการรักษาคนป่วยนั้นด้วย  ท่านได้นิมนต์ให้พระสารีบุตรเถระรับอาหารนั้นบางส่วนไปฉันด้วย   พระสารีบุตรเถระไม่พูดว่าอะไรและได้เดินจากไป  ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนี้กับพระศาสดา  และพระศาสดาได้ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมบุคคลผู้ไม่มีความละอาย  ผู้คะนอง  เป็นผู้เช่นกับกา  ตั้งอยู่ในอเนสนา(การแสวงหาที่ไม่ควร) 21 อย่าง  ย่อมเป็นอยู่ง่าย   ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ  ย่อมเป็นอยู่ยาก”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

สุชีวํ  อหิริเกนะ
กากสูเรน  ธํสินา
ปกฺขนฺทินา  ปคพฺเภน
สงฺกิลิฏฺเฐน   ชีวิตํ ฯ

หิริมตา  จ  ทุชฺชีวํ
นิจฺจํ  สุจิคเวสินา
อลีเนนาปคพฺเภน
สุทฺธาชีเวน  ปสฺสตา ฯ

(อ่านว่า)
สุชีวัง   อะหิริเกนะ
กากะสูเรนะ  ทังสินา
ปักขันทินา  ปะคับเพนะ
สังกิลิดเถนะ   ชีวิตัง.

หิริมะตา   จ  ทุดชีวัง
นิดจัง  สุจิคะเวสะนา
อะลีเนนาปะคับเพนะ
สุดทาชีเวนะ  ปัดสะตา.

(แปลว่า)
อันบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
กล้าเพียงดังกา  มีปกติกำจัดผู้อื่น
มักแล่นไปเอาหน้า
ผู้คะนอง  ผู้เศร้าหมอง
           เป็นอยู่ง่าย.

ส่วนบุคคลผู้มีความละอาย
ผู้แสวงหากรรมอันสะอาดเป็นนิตย์
ไม่หดหู่  ไม่คะนอง
มีอาชีวะหมดจด  เห็นอยู่
               เป็นอยู่ยาก.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 

ฐิตา:


07.เรื่องอุบาสกห้าคน

พระศาสดา   เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสก 5 คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   โย  ปาณมติมาเปติ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  อุบาสก  5 คนได้ไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่วัดพระเชตวัน   อุบาสกแต่ละคนรักษาศีลเพียง 1-2  ข้อใน 8 ข้อนั้น  คนที่รักษาศีลข้อใดก็จะบอกว่าศีลที่ตนรักษาเป็นข้อที่รักษายากที่สุด    จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น   ในที่สุดอุบาสกทั้ง 5 คนก็ได้ไปเฝ้าพระศาสดา  เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง  พระศาสดาตรัสว่า “ศีลทั้งหมด  เป็นของรักษาโดยยากทั้งนั้น”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

โย  ปาณมติมาเปติ
มุสาวาทญฺจ  ภาสติ
โลโก  อทินฺนํ  อาทิยติ
ปรทารญฺจ  คจฺฉติ ฯ

สุราเมรยปานญฺจ
โย  นโร  อนุยุญฺชติ
อิเธวะเมโส  โลกสฺมึ
มูลํ  ขนติ  อตฺตโน  ฯ

เอวํ  โภ  ปุริส  ชานาหิ
ปาปธมฺมา  อสญฺญตา
มา  ตํ  โลโภ  อธมฺโม  จ
จืรํ  ทุกฺขาย  รนฺธยุ  ฯ

(อ่านว่า)
โย  ปานะมะติมาเปติ
มุสาวาทันจะ  พาสะติ
โลโก  อะทินนัง  อาทิยะติ
ปะระทารันจะ  คัดฉะติ.

สุราเมระยะปานันจะ
โย  นะโร  อะนุยุนชะติ
อิเทวะเมโส   โลกัดสะหมิง
มูลัง  ขะนะติ  อัดตะโน.

เอวัง  โพ   ปุริสะ  ชานาหิ
ปาปะทำมา  อะสันยะตา
มา  มัง  โลโพ  อะทำโม  จะ
จิรัง  ทุกขายะ  รันทะยุง.
 
(แปลว่า)
นระใด  ย่อมยังสัตว์มีชีวิต  ให้ตกล่วงไป 1
กล่าวมุสาวาท 1
ถือเอาทรัพย์ที่บุคคลอื่นไม่ให้ในโลก  1
ถึงภริยาของคนอื่น1.

อนึ่ง  นระใด  ย่อมประกอบเนืองๆ
ซึ่งการดื่มสุราและเมรัย
นระนี้  ชื่อว่า  ย่อมขุดซึ่งรากเหง้าของตนในโลกนี้ทีเดียว.

บุรุษผู้เจริญ  ท่านจงทราบอย่างนี้  ว่า
บุคคลผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย
ย่อมเป็นผู้ไม่สำรวมแล้ว
ความโลภและสภาพมิใช่ธรรม  จงอย่ารบกวนท่าน
เพื่อความทุกข์  ตลอดกาลนานเลย.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  อุบาสก  5  คนนั้น  บรรลุโสดาปัตติผล.  พระธรรมเทศนา มีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.

ฐิตา:


08. เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ททาติ  เว  ยถาสทฺธํ   เป็นต้น

ภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ  มีนิสัยชอบตำหนิทานและการกระทำความดีของผู้อื่น   ท่านตำหนิแม้กระทั่งอริยสาวกกผู้ทานบดี อย่างเช่น  อนาถบิณฑิกเศรษฐี  นางวิสาขามหาอุบาสิกา    และแม้กระทั่งอสทิสทานที่ถวายโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล  นอกจากนั้นแล้ว  พระหนุ่มรูปนี้ก็ยังโอ้อวดว่าพวกญาติๆของท่านมีฐานะดีและมีใจบุญสุนทร์ทาน  เมื่อภิกษุอื่นๆได้ยินคำโอ้อวดของพระติสสะ  ก็เกิดความสงสัยในข้อเท็จจริง  จึงตัดสินใจที่จะไปพิสูจน์หาความจริง

พวกภิกษุหนุ่มกลุ่มหนึ่ง  ได้เดินทางไปพิสูจน์และสอบสวนที่หมู่บ้านของพระติสสะ  ก็ได้พบว่าครอบครัวของพระติสสะเป็นครอบครัวยากจน  เป็นแค่บุตรของยามรักษาการ  ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักฐาน  ก่อนบวชตระเวนไปกับพวกช่างไม้แล้วไปบวช 

เมื่อภิกษุทั้งหลาย   กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบในเรื่องนี้   พระศาสดาตรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุชื่อว่าติสสะนั้น  ย่อมเที่ยวโอ้อวด  ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้  แม้ในกาลก่อน  เธอก็ได้เป็นผู้โอ้อวดแล้ว  จากนั้นได้ทรงนำอดีตชาติของพระติสสะในกฏาหกชาดกมาเล่า  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ก็บุคคลใด  เมื่อชนเหล่าอื่นให้ซึ่งวัตถุน้อยก็ตาม  มากก็ตาม  เศร้าหมองก็ตาม  ประณีตก็ตาม  หรือให้วัตถุแก่ชนเหล่าอื่น  แต่ไม่ให้แก่ตน  ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน  ฌานก็ดี  วิปัสสนาก็ดี  มรรคและผลก็ดี  ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น” 
จากนั้น  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ททาติ  เว  ยถาสทฺธํ
ยถาปสาทนํ  ชโน
ตตฺถ  โย  มงฺกุโต  โหติ
ปเรสํ  ปานโภชเน
น  โส  ทิวา  วา  รตฺตึ วา
สมาธึ  อธิคจฺฉติ  ฯ

ยสฺส  เจตํ  สมุจฺฉินฺนํ
มูลฆจฺฉํ  สมูหตํ
ส  เว  ทิวา  วา  รตฺตึ  วา
สมาธึ  อธิคจฺฉติ  ฯ

(อ่านว่า)
ทะทาติ  เว  ยะถาสัดทัง
ยะถาปะสาทะนัง  ชะโน
ตัดถะ  โย  มังกุโต  โหติ
ปะเรสัง  ปานะโพชะเน
นะ  โส  ทิวา  วา  รัดติง  วา
สะมาทิง  อะทิคัดฉะติ.

ยัดสะ  เจตัง  สะมุดฉินนัง
มูละคัจฉัง  สะมูหะตัง
สะ  เว  ทิวา  วา  รัดติง  วา
สะมาทิง  อะทิคัดฉะติ.

(แปลว่า)
ชนย่อมให้ทานตามศรัทธา
ตามความเลื่อมใสแล 
ชนใด  ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน
ในเพราะน้ำและข้าวของชนเหล่าอื่นนั้น
ชนนั้นย่อมไม่บรรลุสมาธิในกลางวันหรือในกลางคืน.

ก็กุศลกรรมอันบุคคลใดตัดขาดแล้ว
ถอนขึ้นทำให้มีรากขาดแล้ว
บุคคลนั้นแล  ย่อมบรรลุสมาธิ
ในกลางวันหรือในกลางคืน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:


09. เรื่องอุบาสก 5 คน

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสก 5  คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  นตฺถิ ราคสโม  อคฺคิ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  อุบาสก 5 คนไปฟังธรรมของพระศาสดา ที่วัดพระเชตวัน  อุบาสกคนที่ 1  นั่งหลับ  คนที่  2  นั่งเอามือขีดเขียนแผ่นดิน  คนที่ 3  นั่งเขย่าต้นไม้  คนที่ 4  นั่งแหงนคอดูท้องฟ้า คนที่ 5  นั่งฟังธรรมโดยเคารพ พระอานนทเถระ  ซึ่งนั่งถวายงานพัดพระศาสดาอยู่นั้น  ได้แลเห็นพฤติกรรมของอุบาสกทั้ง 5  คนนั้นแล้ว  จึงกราบทูลพระศาสดาว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านี้  ดุจหยาดฝนเม็ดใหญ่ตกลงมาจากฟากฟ้า  แต่อุบาสกเหล่านั้น  กลับแสดงพฤติกรรมประหลาดๆแตกต่างกัน” จากนั้นพระเถระได้กราบทูลพฤติกรรมของอุบาสกให้พระศาสดาทรงทราบ  และได้กราบทูลถามถึงสาเหตุที่อุบาสกเหล่านั้นมีพฤติกรรมแตกต่างกัน  พระศาสดาตรัสว่า

อุบาสกคนที่นั่งหลับอยู่นั้น  เคยเกิดเป็นงูมา 500 ชาติ  ปกติงูจะพาดหัวไว้บนขนดแล้วหลับ  ก็จึงติดนิสัยชอบหลับนั้นมาจนถึงชาติปัจจุบัน   อุบาสกคนที่ชอบเอานิ้วคุ้ยเขี่ยแผ่นดินนั้น  เคยเกิดเป็นไส้เดือนในอดีตชาติมาแล้ว 500 ชาติ  จึงได้ติดนิสัยชอบคุ้ยเขี่ยแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบันชาติ  อุบาสกคนที่ชอบเอามือเขย่าต้นไม้นั้น  เคยเกิดเป็นลิงมาแล้ว 500 ชาติ  จึงติดนิสัยชอบเขย่าต้นไม้มาจนถึงปัจจุบันชาติ   อุบาสกคนที่นั่งฟังธรรมโดยคารพนั้น  เคยเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ชอบท่องมนตรามาถึง 500 ชาติ  จึงติดนิสัยชอบฟังธรรมแล้วนำไปเทียบเคียงกับมนตราที่ตนเคยท่องบ่นมาตั้งแต่อดีตชาติ   พระอานนทเถระกราบทูลถามต่อไปว่า  พระธรรมของพระองค์  เป็นสิ่งที่ยากสำหรับทุกคนที่จะฟังแล้วเข้าใจหรือไม่  พระศาสดาตรัสว่า   ขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มนิสัยของแต่ละบุคคลมาตั้งแต่อดีตชาติ   พระอานนทเถระกราบทูลต่อไปว่า  ที่บุคคลฟังธรรมของพระศาสดาแล้วไม่เข้าใจเป็นเพราะมีสาเหตุอะไรมาขวางกั้นเอาไว้  พระศาสดาตรัสว่า  สิ่งที่มาขวางกั้นเอาไว้นั้นคือ  ราคะ  โทสะ  และโมหะ

พระศาสดาตรัสกับพระอานนทเถระว่า  “อานนท์  อุบาสกเหล่านั้น  อาศัยราคะ  อาศัยโทสะ  อาศัยโมหะ  อาศัยตัณหา  จึงสามารถ  ชื่อว่าไฟ  เช่นกับไฟคือราคะ  ไม่มี  ไฟใด  ไม่แสดงแม้ซึ่งเถ้า  ย่อมไหม้สัตว์ทั้งหลาย  แท้จริง  แม้ไฟซึ่งยังกัปให้พินาศ  ที่อาศัยความปรากฏแห่งพระอาทิตย์  7  ดวง  บังเกิดขึ้น  ย่อมไหม้โลก  ไม่ให้วัตถุไรๆ  เหลืออยู่เลยก็จริง  ถึงกระนั้น  ไฟนั้น  ย่อมไหม้ในบางคราวเท่านั้น  ชื่อว่ากาลที่ไฟคือราคะ  จะไม่ไหม้  ย่อมไม่มี  เพราะฉะนั้น  ไฟเสมอด้วยราคะก็ดี  ผู้จับเสมอด้วยโทสะก็ดี  ข่ายเสมอด้วยโมหะก็ดี  ชื่อว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ก็ดี  ไม่มี”
จากนั้น  พระศาสดา  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

นตฺถิ  ราคสโม  อคฺคิ
นตฺถิ  โทสสโม  คโห
นตฺถิ โมหสมํ  ชาลํ
นตฺถิ  ตณฺหาสมา  นที ฯ

(อ่านว่า)
นัดถิ  ราคะสะโม  อักคิ
นัดถิ  โทสะสะโม  คะโห
นัดถิ  โมหะสะโม  ชาลัง
นัดถิ  ตันหาสะมา  นะที.

ไฟเสมอด้วยราคะ  ไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะ  ไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะ  ไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา  ไม่มี.
 
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   อุบาสกผู้ฟังธรรมอยู่โดยเคารพนั้น  บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่ชนผู้ประชุมกัน.

ฐิตา:


10. เรื่องเมณฑกเศรษฐี

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยภัททิยนคร  ประทับอยู่ในชาติยาวัน     ทรงปรารภเมณฑกเศรษฐี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สุทสฺสํ  วชฺชมญฺเญสํ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ในระหว่างเสด็จจาริกสู่แคว้นอังคะและแคว้นอุตตระ   พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยที่จะบรรลุโสดาปัตติผลของบุคคล 6  คนเหล่านี้ คือ 1. เมณฑกเศรษฐี  2.ภรรยาของเศรษฐี  ชื่อนางจันทปทุมา  3. บุตรชื่อธนัญชัยเศรษฐี   4.  หญิงสะใภ้ชื่อนางสุมนเทวี  5.  หลานสาวชื่อวิสาขา   6.ทาสชื่อปุณณะ  จึงเสด็จไปสู่ภัททิยนคร   ประทับอยู่ในชาติยาวัน

เมณฑกเศรษฐีผู้นี้  มีฐานะร่ำรวยมาก   ที่เป็นเช่นนี้  ในพระคัมภีร์กล่าวว่า   เป็นเพราะเมณฑกเศรษฐีได้พบรูปปั้นแพะทองคำ  ประมาณเท่าช้าง  เท่าม้า  และเท่าโคถึก   โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินที่บริเวณหลังบ้าน  ซึ่งกินบริเวณกว้างถึง 8  กรีส  เพราะเหตุนี้เศรษฐีคนนี้จึงมีชื่อว่า เมณฑกเศรษฐี  แปลว่า  เศรษฐีแพะ   ในพระคัมภีร์บรรยายต่อไปว่าว่า  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี   เขาได้เคยบริจาคทรัพย์สร้างวัดถวายพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า  และถวายสิ่งของต่างๆ  เช่น  ธรรมาสน์ทำด้วยทองคำสำหรับแสดงพระธรรมเทศนา  พร้อมด้วยตั่งทองคำสำหรับก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์เป็นรูปแพะทั้ง 4 ทิศ  เป็นต้น  เมื่อสิ่งก่อสร้างต่างๆในวัดสำเร็จแล้ว  เขาก็ได้กราบทูลอาราธนาพระวิปัสสีพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหาร  พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย   ตลอดเวลา 4  เดือน   

ต่อมาในอีกอดีตชาติหนึ่ง  เขาเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองพาราณสี   ในกาลครั้งหนึ่ง  ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ผู้คนอดอยากข้าวปลาอาหาร   ทั่วทุกหนทุกแห่ง  วันหนึ่งเศรษฐีได้ให้คนรับใช้ทำอาหารไว้พอดีสำหรับตนเองและบริวารรับประทาน   ได้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง  ซึ่งเพิ่งออกจากสมาบัติ  มายืนบิณฑบาตอยู่ที่หน้าประตูบ้าน   เขาได้บริจาคอาหารทั้งหมดทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของบริวารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น      เพราะผลแห่งการถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เพิ่งออกจากสมาบัติ  ทำให้หม้อข้าวของเศรษฐี กลับมีข้าวอยู่เต็ม  และยุ้งฉางต่างๆที่ว่างเปล่าก็กลับเต็มไปด้วยข้าวเปลือก

เมื่อเมณฑกเศรษฐี   ได้ทราบข่าวว่า  พระศาสดาเสด็จที่เมืองภัททิยะมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  ก็ได้เข้าไปถวายบังคม หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระศาสดาแล้ว  ท่านพร้อมด้วยบุคคลอื่นรวม 6  คน(ตามที่มีชื่อระบุข้างต้น)  ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล  และท่านได้กราบทูลพระศาสดาว่า  ในระหว่างทางที่ท่านเดินทางมาเฝ้าพระศาสดานั้น  ท่านได้พบกับพวกเดียรถีย์  และพวกเดียรถีย์เหล่านี้ได้ห้ามปรามมิให้ท่านมา   พระศาสดาจึงตรัสกับท่านเศรษฐีว่า  “คฤหบดี  ขึ้นชื่อว่าสัตว์เหล่าใดย่อมไม่เห็นโทษของตนแม้มาก  ย่อมโปรยโทษของชนเหล่าอื่นแม้ไม่มีอยู่กระทำให้มี  ราวกะบุคคลโปรยแกลบลงในที่นั้น ๆ  ฉะนั้น”
จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สุทสฺสํ  วชฺชมญเญสํ
อตฺตโน  ปน  ทุสฺทสํ
ปเรสํ  หิ  โส  วชฺชานิ
โอปุนาติ  ยถา  ภุสํ
อตฺตโน  ปน  ฉาเทติ
กลึว  กิตวา   สโฐ  ฯ

(อ่านว่า)
สุทัดสัง  วัดชะมันเยสัง
อัดตะโน  ปะนะ  สุดทะสัง
ปเรสัง  หิ  โส  วัดชานิ
โอปุนาติ  ยะถา  ภุสัง
อัดตะโน  ปะนะ  ฉาเทติ
กลิงวะ  กิตะวา  สะโถ.

(แปลว่า)
โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นง่าย
ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะว่า  บุคคลนั้น  ย่อมโปรยโทษของบุคคลเหล่าอื่น
เหมือนบุคคลโปรยแกลบ
แต่ว่าย่อมปกปิด(โทษ)ของตน
เหมือนพรานปกปิดร่างกายด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version