ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
sithiphong:
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นชื่อราชวงศ์ลำดับที่ 5 แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ใน ปี พ.ศ. 2310 มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ทั้งสิ้น 6 พระองค์ โดยเริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ใน ปี พ.ศ. 2231 ถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ใน ปี พ.ศ. 2310 รวมระยะเวลา 79 ปี
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด)
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
โดยชื่อราชวงศ์บ้านพลูหลวงนี้ มาจากหมู่บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นกำเนิดเดิมของสมเด็จพระเพทราชา โดยลำดับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีดังนี้
สมเด็จพระเพทราชา - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2246 (15 ปี)
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2246 - พ.ศ. 2251 (6 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275 (25 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2275 - พ.ศ. 2301 (26 ปี)
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2301 (2 เดือน)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) - ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2301 - ปี พ.ศ. 2310 (9 ปี)
อาณาจักรอยุธยาภายใต้ราชวงศ์บ้านพลูหลวงอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ด้วยมีความขัดแย้งตลอดราชวงศ์ ผู้คนแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย เช่น การชิงราชสมบัติเมื่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ระหว่างพระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่กินระยะเวลายาวนานถึง ๑ ปี หรือการช่วงชิงราชสมบัติมาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งราชวงศ์ปราสาททอง เมื่อตอนต้นราชวงศ์ด้วย
-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87-
.
sithiphong:
“บ้านพลูหลวง”รากเหง้าแห่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ตอน 1
“บ้านพลูหลวง” รากเหง้าแห่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ตอน 1
การรัฐประหารเงียบครั้งสุดท้ายของราชธานีศรีอยุธยา เกิดขึ้นจาก พระเพทราชาผู้เป็นบิดาและหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)ผู้เป็นบุตร ร่วมวางแผนก่อรัฐประหารเงียบ ในปี พ.ศ.2231 ก่อนคิมหันตฤดูจนมาถึงวสันตฤดูในปีเดียวกัน จากเม็ดฝนที่โปรยปรายจะเนรมิตรเสน่ห์ความสดชื่นของท้องฟ้า สายน้ำและพืชพรรณ
กลับกลายเป็นเม็ดฝนเต็มไปด้วยสายเลือดหล่นจากฟ้า สาดใส่กระเด็นเข้าหา บุคคลสำคัญและข้าราชบริพารผู้ภักดีแด่องค์สมเด็จพระนารายณ์
เริ่มตั้งแต่บริเวณพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ในเมืองลพบุรีราชธานีแห่งที่สอง รองจากกรุงศรีอยุธยาราชธานีและขอบเขตทั้งราชอาณาจักร
บุคคลสำคัญและควรนับเป็นเอกบุรุษที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของคนไทยและคนต่างชาติก็คือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์(คอนแสตนติน ฟอลคอน) กลาสีเรือชาวกรีก ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของขุนนางข้าราชการกรุงศรีอยุธยา ในตำแหน่ง สมุหนายก
และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ฝั่งธนบุรีสถานที่ที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามาประทับอยู่ ณ ที่นี่ จนถึงวาระสุดท้าย
จากการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเสด็จขึ้นไปประทับยังเมืองลพบุรี ปีหนึ่งประมาณ 7-8 เดือน ทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยามากเกินไป หากข้าศึกต่างชาติ(หมายถึงชาวตะวันตก) ยกทัพมาทางเรือ จะป้องกันได้ยาก เมืองลพบุรีอยู่ขึ้นไปประมาณ 100 กม. พอจะมีเวลาป้องกันได้ง่าย ประกอบด้วยพระองค์ทรงมีโรคหอบหืดประจาพระองค์ กรุงศรีอยุธยามีสภาพอากาศชื้น ทำให้พระโรคกำเริบอยู่เสมอ พระองค์มักประทับในกรุงศรีอยุธยาเพียงปีละ 3-4 เดือนเท่านั้น
ช่วง 3-4 เดือนในราชธานีศรีอยุธยา ทรงมอบให้พระเพทราชาและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ดูแลรักษาพระนครต่างพระเนตรพระกรรณ ต่อเมื่อมีราชการสำคัญหรือรับสั่งให้มาปรึกษาข้อราชการ จึงจะเดินทางมาเฝ้า ณ เมืองลพบุรี แต่ทั้งสองต่างก็ระแวง กินแหนงแครงใจซึ่งกันและกัน กล่าวหากันและกัน ว่าฝ่ายหนึ่งเตรียมจะยึดอำนาจแย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ แต่ดูแล้วพ่อลูกคู่นี้มีภาษีกว่า เพราะมีคนเกลียดชังและรังเกียจการเป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดนในตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มากกว่า
ช่วงก่อนสมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคต ระหว่างทรงพระประชวรหนักนั้น พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด ควบคุมภารกิจภายในพระราชวังได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงมีความแน่ใจพระองค์ต้องสวรรคตในเวลาไม่ช้า ก็เกิดกำเริบคิดร้าย แต่ไม่มุ่งประสงค์จะปลงพระชนม์ มีการวางแผนเรียกประชุมขุนนางผู้ใหญ่ท่ามกลางทหารองครักษ์คอยพิทักษ์ ข่มขู่ให้ขุนนางเหล่านั้นเห็นดีเห็นงาม ในอันที่จะมอบราชสมบัติของพระองค์ให้แก่พระเพทราชา บรรดาขุนนางเหล่านั้นไม่สามารถบิดพลิ้วและทำตัวเป็นอย่างอื่นได้ ดีกว่าจะยอมให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ฉวยโอกาสชิงราชสมบัติเสียก่อน บ้านเมืองอาจจะยุ่งยากวุ่นวาย ก็จำต้องยอมคล้อยตามความคิดของสองพ่อลูก
จึงได้เกิดแผนลวงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ไปยังกรุงศรีอยุธยา ว่าสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชโองการให้เข้าเฝ้าที่พระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี ตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็รู้ตัว แต่ด้วยความจงรักภักดี ก็ยอมนำพาชีวิตไปพบกับดักแห่งความตาย ด้านในหน้าประตูพระราชวังฯ ด้วยคมดาบของเหล่าทหารของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์
-http://www.19-may.com/forum/forum.php?mod=viewthread&tid=1040&page=1-
.
sithiphong:
“บ้านพลูหลวง” รากเหง้าแห่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ตอน 2
-http://www.tfn5.info/board/index.php?topic=27142-
พระรามเดโชเห็นว่าสู้ไม่ได้ จึงส่งหนังสือขอให้พระราชบังสันช่วยหาทางหลบหนีออกจากเมือง พระราชบังสันเห็นแก่ความสัมพันธ์และเป็นชาวมุสลิมที่มีต่อกันมายาวนาน จึงช่วยให้พระยารามเดโชหลบหนีออกทะเลไปได้ ความทราบถึงพระเพทราชา จึงสั่งให้ประหารพระยาราชบังสันเสนีทันที
บุคคลที่กล่าวถึงเล่านี้เป็นนายทหารชั้นยอดของสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ได้เป็นคนไทยแต่เป็นแขกเปอร์เซียที่เข้ามาอยู่เมืองไทย ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเพทราชา ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ไม่ยอมตกเป็นผู้ทรยศต่อสมเด็จพระนารายณ์ เท่ากับไม่ยอมเป็น “ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย”
สิ้นราชวงศ์ปราสาททองแล้ว พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2231
เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ “บ้านพลูหลวง” ชื่อหมู่บ้านในแขวงเมืองสุพรรณบุรี มีจิตใจเหี้ยมอำมหิต เจ้าเล่ห์แฝงอยู่ในสัญชาติญาณนักรบ แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล ก็ยังมีขุนนางสุดยอดแห่งการทูต ด้านต่างประเทศ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)ผู้โด่งดังในทวีปยุโรปในราชสำนักฝรั่งเศสรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และสำนักวาติกันในกรุงโรม อุปนิสัยเพียบพร้อมไปด้วยความอ่อนโยน มีจิตใจงาม น่าคบหาสมาคม เข้าได้ทุกฝ่ายและเดินสายกลาง ไม่เป็นภัยแก่ผู้ใด
แต่การเมืองในเวลานั้น คงมีสามขั้วอำนาจด้วยกัน กฎแห่งโลกเท่าที่ผ่านมา จะต้องมีพวกสองต่อหนึ่งและพวกหนึ่งต่อหนึ่ง พวกที่เป็นกลางนั้น ยากที่จะอยู่รอดปลอดภัย จึงเป็นเหตุต้องถูกรื้อนั่งร้านที่สำคัญสุดบนยอดเจดีย์ นั่งร้านนี้ค่อยๆถูกอำนาจลี้ลับทลายลงมากองบนพื้นดิน จะเป็นการตรอมใจตายหรืออัตวินิบาตกรรม (SUISIDE) ตนเอง หลักฐานไม่ปรากฏแน่ชัด นี่เป็นตัวโคนสุดท้ายในกระดานหมากรุก ก็ถือว่าเป็นนั่งร้านสุดท้ายดันไปขวางเจดีย์ที่สร้างเสร็จไปแล้ว
การปกครองและการเมืองในสมัยนั้น อำนาจมักจะมาควบคู่กับความระแวง สิ่งที่จะทำให้ความระแวงหมดสิ้นไป มีวิธีเดียวคือการกำจัดเสี้ยนหนามให้สิ้นซากนั่นเอง ทุกรัชกาลในกรุงศรีอยุธยามักเป็นเช่นนั้น พระเจ้าปราสาททองแห่งบางปะอิน
ก็มีส่วนเป็นบ่อเกิดจุดเริ่มต้นความเสื่อมแห่งยุคความอ่อนแอทางด้านการทหาร ได้มุ่งร้ายต่อ ยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) หัวหน้ากองอาสาญี่ปุ่น ขุนศึกซามูไรแห่งอโยธยา เป็นนักรบมีฝีมือสมัยพระเจ้าทรงธรรมครองบัลลังค์ พอปลี่ยนรัชกาล ได้นำทัพจากเมืองนครศรีธรรมราชยกทัพไปตีเมืองปัตตานี สู้รบจนได้รับบาดเจ็บกลับมา ก็ถูกลอบวางยาพิษที่บาดแผล จนเสียชีวิตขณะครองเมืองนครศรีธรรมราช นี่เป็นการกำจัดบทบาทของพวกญี่ปุ่นในราชสำนักจนหมดสิ้น
นับแต่นั้นมาระบบราชการในราชสำนักได้นำความสามารถของ”ไพร่” ขึ้นมาแทนที่ “ผู้ดี”เก่า บางคนมาจากหลายเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติผสมปนเปมั่วไปหมด จึงมีแต่พวกประจบสอพลอ อิจฉาริษยาต้องการมีตำแหน่งสูงขึ้นไปแต่ไร้ฝีมือในการปฏิบัติราชการ ขาดคนเก่งผู้มีฝีมือ ขาดผู้มีความรู้ ทั้งยังขาดความสามัคคี มีแต่ความระแวงในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงานเป็นส่วนใหญ่
แต่มาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระองค์ ได้รับการเลี้ยงดูแล จากพระนมแม่วัดดุสิต มารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ทั้งเหล็กและปาน) ถูกอบรมสั่งสอนมาดี ไม่เหมือนพระนมเปรมพระนมอีกคนหนึ่งมีบุตรชื่อพระเพทราชา นิสัยใจคอตรงกันข้ามจึงแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ด้วยสายตาอันยาวไกลผสมความโชคดีจากบุญบารมี ส่งผลให้ยุคของพระองค์เป็นช่วงรอยต่อเชื่อมความแข็งแกร่งทางด้านการทหาร
ได้มาเสริมบารมีด้วยนักรบมีฝีมือหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก),เจ้าพระยาสีหราชเดโช,พระยารามเดโช,พระยายมราช,พระยาราชบังสันเสนี ทั้งยังมีพวกตะพุ่นหญ้าช้างจำนวนมากที่ถูกเด็ดร่วงลงมาจากการพ่ายแพ้ในโชคชะตา รวมทั้งชาวมอญอพยพและถูกกวาดต้อนเข้ามาสวามิภักดิ์ มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงดูแลช้างและฝึกการบังคับช้างสำหรับการศึก ยังมีเหล่าทหารต่างชาติไม่ว่าจะเป็นทหารโปรตุเกส,ทหารฮอลันดา,ทหารฝรั่งเศสและชาวแขกเปอร์เซียช่วยดูแลทางด้านการเดินเรือและคอยคุ้มครองน่านน้ำในอ่าวไทย รวมแล้วมีหลักพันคนขึ้น
ความเสื่อมของราชวงศ์ “บ้านพลูหลวง” เริ่มฉายแววปรากฏชัดเจน ความระแวงและจิตใจอำมหิตของพระเพทราชา เป็นที่ยำเกรงและมีส่วนบั่นทอนให้ขุนศึก ข้าราชการมีฝีมือ มีสติปัญญาเป็นเลิศในราชสำนักหลายสาขา ได้เอาใจออกห่างด้วยกลัวภัยมาถึงตัว ก็แตกกระสานซ่านเซ็นทยอยหนีหายไป หลังจากเปลี่ยนผ่านรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ มีถูกตามล่า ถูกเข่นฆ่า ส่วนใหญ่ที่หนีรอดไปได้ ก็เล็ดรอดออกไปจากราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ทำให้ราชสำนักขาดบุคลากรในการขับเคลื่อนกลไกของงานสำคัญหลายเรื่อง และประสิทธิภาพงานต่างๆก็ด้อยลงในทันใด
เหลือเพียงนักรบตัวจริงเสียงจริงเพียงคนเดียวคือ เจ้าพระยาสีหราชเดโช ยุคสมัยของพระเพทราชานี้ ถูกมองว่า เป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์คนในชาติมากที่สุด กว่าจะสงบเรียบร้อย ก็ต้องสูญเสียทหารกล้ามีฝีมือมากมาย ผูกโยงไปเป็นมูลเหตุให้เห็นถึงความอ่อนแอของบุคคลต่างๆในราชสำนัก ยิ่งขาดการคัดกรองสรรหาบุคคลที่ดีพอ และมีความอ่อนด้อยของการเปลี่ยนแปลงด้าน“สมุหกลาโหม”ยุคใหม่ของพระเพทราชานั้นด้วย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งราชวงศ์
“บ้านพลูหลวง” ก็ถึงกาลอวสานในอีก 79ปีต่อมา พร้อมทั้งกรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงครั้งสุดท้ายแก่พม่าเช่นกัน
ที่มา http://www.snr.ac.th/wita/kalamung/index08.html
และ
ที่มา
http://board.palungjit.com/attachment.php?attachmentid=443936&d=1226397190
และ
ที่มา
http://allknowledges.tripod.com/killpunish.html
และ
ที่มา ! Private video
.
sithiphong:
พระราชวงศ์บ้านพลูหลวงหลังกรุงแตกหายไปไหน
-http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/06/K5533752/K5533752.html-
ผมอยากจะทราบเรื่องราวของพระราชวงศ์บ้านพลูหลวงในช่วงหลังกรุงแตกน่ะคับ
1 ราชวงศ์บ้านพลูหลวงหายไปไหนช่วงหลังกรุงแตกและช่วงรัตนโกสินทร์ ผมทราบแต่เพียงว่าบางส่วนถูกกุมตัวไปพม่าและบางส่วนยังตกค้างอยู่ในเมืองไทย
2 ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเคยเกี่ยวดองทางการสมรสกับเจ้านายราชวงศ์พระเจ้าตากหรือราชวงศ์จักกรีหรือไม่
3 ปัจจุบันยังพอมีผู้สืบสายเลือดของราชวงศ์นี้อยู่อีกหรือไม่
4พระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์อยู่ที่ใด
ใครพอทราบช่วยกรุณาตอบด้วยนะคับจะเป็นพระคุณอย่างมากคับ
จากคุณ : odia - [ 21 มิ.ย. 50 20:58:23 ]
ความคิดเห็นที่ 3
1) ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นการจัดลำดับพระราชวงศ์โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ราชวงศ์นี้ก็คือราชวงศ์ที่สืบต่อมาจากพระเจ้าปราสาทโดยปกติ
จึงควรเป็นราชวงศ์อยุธยา
เมื่อสิ้นศึกสุริยาศน์อมรินทร์ 2310 พงศาวดารฉบับนายต่อกล่าวถึงการนำพระราชวงศ์กลับสู่อังวะ
".....ครั้นสีหะปะเต๊ะแม่ทัพทำเมรุพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสร็จแล้วก็จัดให้พลทหารเข้าเก็บคัดเลือกช้างม้ารี้พลแลแก้วแหวนเงินทองภาชนใช้สอยต่าง ๆ แลสาตราอาวุธต่าง ๆ ในพระคลังมหาสมบัตแลพระคลังข้างที่ทุกหนทุกแห่ง แล้วแม่ทัพคัดเลือกพระอรรคมเหษีแลพระสนม แลพระบรมวงษานุวงษ์ของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้น มีรายชื่อเลอียดแจ้งอยู่ข้างล่างนี้ คือ
มเหษีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ๔ องค์ คือ พระนามว่าพระนางเม้า ๑ พระองค์มิ่ง ๑ พระองค์ศรี ๑ พระองค์ศิลา ๑ พระอนุชาของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาคือ พระอนุชาราชาธิราชที่ได้เสวยราชนั้น ๑ สุรประทุมราชา๑ ชวาลอำดชติ ๑ พระองค์เจ้าตะไล ๑ พระองค์เจ้าสังข์ ๑ พระองค์เจ้าเนียละม่อม ๑ พระองค์เจ้ากร ๑ พระองค์เจ้าจริต ๑ พระองค์เจ้าภูนระ ๑ พระองค์เจ้าสูรจันทร์ ๑ พระองค์เจ้าแสง ๑ พระองค์เจ้าก้อนเมฆ ๑ พระอนุชารวม ๑๒ พระองค์
พระขนิษฐภคินีของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา คือเจ้าฟ้าปรมาศ ๑ เจ้าฟ้าสุรบน ๑ เจ้าฟ้าอินทรสุดาวดี ๑ เจ้าฟ้าหมื่นคอย ๑ เจ้าเกสร ๑ เจ้าอุ่มฉอุ้ม ๑ เจ้าฟ้าฉโอด ๑ องค์เจ้าลำภู ๑ องค์เจ้าเผือก ๑ องค์เจ้าเจีมตระกูล ๑ องค์เจ้าสอาด ๑ องค์เจ้าชมเชย ๑ องค์เจ้าอินทร์ ๑ พระขนิษฐ์ภคินีรวม ๑๔ พระองค์
พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา คือพระองค์เจ้าประเพศร ๑ พระองค์เจ้าสุรเดช ๑ พระองค์เจ้าเสษฐ ๑ พระราชโอรสรวม ๓ พระองค์
พระราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา คือองค์เจ้าประบิ ๑ เจ้าฟ้าน้อย ๑ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ๑ เจ้าเลีศตรา ๑ พระราชธิดาของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยารวม ๔ พระองค์
พระราชนัดดาเจ้าชายของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาคือ หม่อมสีพี ๑ หม่อมจา ๑ หม่อมสูวดี ๑ หม่อมสูจี ๑ หม่อมฉง่าย ๑ หม่อมสูรัตน ๑ หม่อมโกรน ๑ หม่อมชมภู ๑ หม่อมสุพรรณ ๑ หม่อมอุดม๑ หม่อมไพฑูรย์ ๑ รวม ๑๔ พระองค์
พระราชนัดดาเจ้าหญิงของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาคือหม่อมมาลา ๑ หม่อมไชยา ๑ หม่อมชะแวก ๑ หม่อมอะไภย ๑ หม่อมอรุณ ๑ หม่อมอำพันธ์ ๑ หม่อมสรรพ์ ๑ หม่อมมาไลย ๑ หม่อมสูรวุฒ ๑ หม่อมชะฎา ๑ หม่อมม่วง ๑ หม่อมสิทธิ์ ๑ เจ้าศรี ๑ เจ้าต้น ๑ รวม ๑๔ พระองค์
พระราชภาคิไนยเจ้าชายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาคือ พระองค์เจ้าตัน ๑ พระองค์เจ้าแม้น ๑ รวม ๒ พระองค์
พระราชภาคิไนยเจ้าหญิงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาคือ เจ้าดารา ๑ เจ้าศะริ ๑ รวม ๒ พระองค์
พระสนมที่เปนเชื้อพระวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา รวม ๘๖๙ องค์ พระราชวงษานุวงษ์ชายหญิงของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยารวมทั้งสิ้น ๒๐๐๐ เศษ ......"
...........ครั้นสมโภชเสร็จแล้ว สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ทราบข่าวว่าจีนห้อมาติดกรุงอังวะสีหะปะเต๊ะแม่ทัพจึงจัดพลทหารพลเมืองชายหญิง มอบให้นายทัพนายกอง ๔๐๖ คน
ควบคุมรวบรวมพลทหารพลเมืองอยุทธยา ๑๐๖๑๐๐ คน มอบแบ่งให้นายทัพนายกองเสร็จแล้ว ครั้น ณ วัน ฯ ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ยกทัพออกจากกรุงศรี อยุทธยาไปยังกรุงรัตนบุระอังวะ ........"
...........ครั้นเดือนห้า จุลศักราช ๑๑๓๐ ปืนใหญ่ก็ถึงกรุงอังวะ
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมเหษีแลพระราชบุตรีแลพระสนมที่เปนพระราชวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ที่เปนเจ้าหญิงทั้งปวงนั้น ทรงจัดให้สร้างวังเอาเข้าไว้ในมหาพระราชวังหลวง แต่พระราชวงษานุวงษ์แลขุนนางข้าราชการแลพลเมืองพลทหารอยุทธยาทั้งปวงนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังแลทำเย่าเรือนเคหาอยู่ตามภูมิลำเนานอกกำแพงพระราชวัง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงดูให้อยู่เปนศุขทุกคน มิให้ร้อนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด.........."
ส่วนที่ตกค้องอยู่เมืองไทย จะเป็นเจ้านายในระดับล่างลงมา เช่นพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษที่ยังตกค้างอยู่ ที่ค่ายรวบรวมนำส่ง ที่ค่ายปากน้ำประสบ( ค่ายรบ) - โพธิสามต้น(ค่ายรวบรวม)
2) ราชวงศ์อยุธยา มีความเกี่ยวดองกับพระยาตาก และหลวงยกกระบัตรทองด้วง ในฐานะที่พระยาตากเป็นข้าราชการสายการค้า(กรมพระคลังซ้าย)ทางทะเลป้องกับจีนกันสินค้าจากโจรสลัด และหลวงยกกระบัตรเป็นข้าราชการสายมหาดไทย ที่ไปดูแลหัวเมืองราชบุรี
ศึกทัพเจ้าตากสามารถยึดค่ายรวบรวมเชลยที่โพธิสามต้น ก็ได้พบราชวงศ์อยุธยาฝ่ายหญิงอยู่ในค่ายซึ่งพงศษวดารไทย ว่าเป็นลูกของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ จึงนำมาเป็นมเหสีสองคนในช่วงสถาปนากรุงธนบุรี( ชื่อของพระญาตินั้นหาในพงศาวดารนะครับ) ส่วนทองด้วง ไม่ได้มีการเกี่ยวข้องกับราชวงศ์อยุธยาหลังจากนั้น นอกจากการพยายามสร้าง Ayutthayanization กลับมา พระญาติพระวงศ์ในระดับล่างของราชวงศ์อยุธยา ได้รับการดูแลเช่นในความเห็นที่ 2 ครับ
3) เท่าที่จำได้นะครับ ไม่มีโอรสธิดากับพระยาตาก มี Gossip เรื่องความรังเกียจในฐานะ จึงไม่มีการสืบทอดราชวงศ์ของอยุธยาในกรุงเทพ
..............แต่ที่มัณฑะเลย์ มีครับ ลุกหลานของราชวงศ์อยุธยา ยังสืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน แต่ก็ผสมกับพม่า มอญไปหลายสายเหมือนกัน เช่นในกรณีศึกษาจากนวนิยาย สายโลหิตไงครับ
4) จากพงศาวดารนายต่อ ".....ในเวลานั้นกองทัพพม่าเที่ยวสืบเสาะค้นหาพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจนย่ำรุ่งก็ไม่เห็นพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เพราะฉนั้นแม่ทัพพม่าจึงได้ถอดพวงคอแลเครื่องจำพระองค์เจ้าจันทร์ออกแล้วให้พลทหารคุมพระองค์เจ้าจันทร์นำไปเที่ยวค้นหาพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานอกกำแพงในกำแพง ก็ไปเห็นพระศพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาถูกอาวุธล้มสวรรคตอยู่ที่ประตูเมืองฝั่งตะวันตกกรุงศรีอยุทธยา แล้วแม่ทัพพม่าเชิญเอาพระศพนั้นมาทำเมรุโดยสนุกสนาน....."
ส่วนพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาของไทย ลิขิตให้พระเจ้าเอกทัศน์เป็นโรคเรื้อน หนีตายจากพระนครไปทางวัดสังฆวาส (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง คนละทางกับประตูตะวันตก) กับมหาดเล็กสองคน แล้วใกล้อดตาย มอญไปพบจึงนำตัวกลับมาแล้วสวรรคตที่ค่ายโพธิสามต้น เจ้าตากมาขุดพระศพทำเมรุให้หลังจากที่ยึดค่ายได้ ..... ทำเมรุที่ค่ายโพธิสามต้น
พระบรมอัฐิของพระเจ้าเอกทัศน์ อยู่ที่ไหนดี เช่นเดียวกับกษัตริย์ในสมัยปลายอยุธยาอีกหลายพระองค์ ที่พงศาวดารของไทยในยุคหลังชี้ว่า มีพระบรมอัฐิของกษัตริย์อยุยา 16 พระองค์ บรรจุอยู่ที่ท้ายจระนำวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ ส่วนที่ติดกับเจดีย์ใหญ่ทางทิศตะวันออก
พระบรมอัฐิอยู่ที่นั่นหรือเปล่า ตามพระราชประเพณีโบราณของกรุงศรีอยุธยา
แต่.....ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่เคยได้ฟังเรื่องเก่า ๆ มาว่า มีการลักลับขุดหาสมบัติโบราณในเกาะเมือง แล้วมีการเอาพระอัฐิออกมาจากกรุที่เก็บแล้วสาดกระจายไปทั่วท้ายจระนำนั้น
ปัจจุบัน อัฐิของพระมหากษัตริย์โบราณ กลายเป็นธุลีดินอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ โดยเฉพาะจุดท้ายจระนำ ที่ยังไม่เคยมีใครรู้ว่า ตรงนี้เมื่อในยามรุ่งเรือง พระมหากษัตริย์ทำนุบำรุงพระศาสนาแลปกปักษ์รักษาไพร่ฟ้า เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันเป็นที่โพสท่าถ่ายรูป และเป็นทางเดินใหม่ ที่ทับไปบนพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์โบราณ
คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่เคยถูกนำใช้กับวิชาการบูรณะ วิชาการท่องเที่ยวและวิชามรดกโลก
ส่วนใครจะเชื่อว่าพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงอโยธยาศรีรามเทพนครนั้น อยู่ที่ไหน ก็ขอให้อ่านจากข้อความนี้ประกอบการคิดและจดจำเรื่องราวในอดีตซักเล็กน้อย
“ ..... ทั้งนี้ไม่น่าประหลาดใดอันใด ชนชั้นนำในยุคนั้นเพิ่งผ่านความตระหนกอย่างใหญ่หลวงมาจากความพินาศของอยุธยา “เมืองอันไม่อาจต่อรบได้” จึงเป็นยุคสมัยที่ชนชั้นนำหันกลับไปมองอดีตเพื่อสำรวจตนเอง มีการวิจารณ์ตนเองที่เราไม่ค่อยได้พบในวรรณคดีไทยบ่อยนัก เช่น กลอนเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่หนึ่ง วิเคราะห์สาเหตุของความล่มจมของอยุธยา ความใฝ่ฝันที่จะจำลองอุดมคติของอดีตกลับมาใหม่ในนิราศนรินทร์ ฯลฯ เป็นต้น พระราชพงศาวดารที่ถูก ” ชำระ” ในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน ความรังเกียจ ความชัง ความรัก ความภูมิใจ ความอัปยศ และอคติของชนชั้นในยุคนี้เป็นอย่างมาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ดีของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ซึ่งได้บันทึกสิ่งที่สถิตอยู่ในความคิดและความเชื่อของคนชั้นนำในยุคนั้นอันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏชัดในหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป เช่น ตราตั้ง หมายรับสั่ง หรือจดหมายเหตุ......
..........ในขณะเดียวกัน การศึกษาเช่นนี้ก็จะช่วยให้เราใช้เป็นหนทางในการวิเคราะห์พระราชพงศาวดารอยุธยาในฐานะที่เป็นหลักฐานชั้นรองด้วยเพราะหากเราแยกอิทธิพลของการชำระในสมัยกรุงธนบุรี – รัตนโกสินทร์ออกจากพระราชพงศาวดารได้ หรือมีหลักอย่างกว้าง ๆ ในการแยกอิทธิพลดังกล่าว เราก็จะสามารถใช้พระราชพงศาวดารในฐานะหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ...”
“...ในปัจจุบัน นักศึกษาประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งสำนึกถึงข้อบกพร่องของการนำเอาปัจจุบันไปปะปนกับอดีต แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้จะได้ ”ลูกค้า” สักเพียงใดในสังคมที่เคยชินกับการ ”ใช้” อดีตเพื่อปัจจุบันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อดีตที่ไม่มีสีสัน ไม่มีความสง่างาม ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของใคร ไม่สนับสนุนสถาบันอะไรเป็นพิเศษ แต่อาจจะใกล้เคียงความจริงกว่า จะมีคุณค่าให้ผู้ใดมองเห็นได้ในสังคมชนิดนี้หรือ
และแม้จะพยายามสักเพียงใด งานของนักประวัติศาสตร์ที่จะเสนอความจริงอันแห้งแล้งนี้คือความล้มเหลวอยู่ส่วนหนึ่งเสมอ เราตัดตัวเองออกจาก”ปัจจุบัน” ให้เด็ดขาดไม่ได้ และส่วนนี้เองที่บังคับให้เราสนทนากับอดีตโดยไม่รู้ตัว ตราบเท่าที่เราเป็นมนุษย์ ข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับไว้ และจนสุดความสามารถที่มนุษย์เล็ก ๆ อย่างเราจะพึงทำได้คือก้าวให้พ้นข้อจำกัดนี้ตลอดไป แม้จะต้องล้มเหลวอีก ในส่วนที่เป็นความล้มเหลวของนักประวัติศาสตร์ตรงนี้เองที่ทำให้การสนทนากับอดีตไม่มีวันสิ้นสุด และในหลักฐานชั้นรองทั้งหลายย่อมมีความเป็นหลักฐานชั้นต้น หรือที่มาร์ค บลอค เรียกว่า หลักฐานที่ไม่ได้ตั้งใจอยู่ด้วยเสมอ...”
( อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา )
จากคุณ : วรณัย - [ 24 มิ.ย. 50 10:09:39 ]
sithiphong:
สมเด็จพระเพทราชา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 ของอาณาจักรอยุธยาและทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา
พระราชประวัติ
พระเพทราชาเดิมเป็นสามัญชนชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบัน คือ บ้านพลูหลวงตั้งอยู่ในตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)[3][4] พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาพระเพทราชาได้รับราชการในวังโดยรับตำแหน่งสูงและเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัย
ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่ที่ลพบุรีและทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในปัจจุบัน
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ เสด็จสวรรคต บรรดาข้าราชการได้อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2232 เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพระเพทราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2246 พระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี
พระราชกรณียกิจ
การปฏิรูปการปกครอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
การต่างประเทศ
ประเทศใกล้เคียง มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมา ในปี พ.ศ. 2238 กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพไทยไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
พระมเหสี
พระเพทราชาทรงมีมเหสีสำคัญๆอยู่ 4 พระองค์ ได้แก่
กรมหลวงโยธาเทพ หรือ มเหสีฝ่ายซ้าย - พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าตรัสน้อย ทรงสนใจทางด้านการศึกษาในหลายๆแขนงวิชา ช่วงหลังย้ายตามพระราชมารดาไปอยู่ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรค์
กรมหลวงโยธาทิพ หรือ มเหสีฝ่ายขวา - พระน้องนางในสมเด็จพระนารายณ์ มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าชายเจ้าพระขวัญ (กรมพระราชวังบวรสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์)
กรมพระเทพามาตย์ หรือ เจ้าแม่วัดดุสิต[5] เป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่กรมพระเทพามาตย์
พระแก้วฟ้า ปรากฎในเอกสารในสมัยอยุธยาได้กล่าวว่า หลังจากการไกล่เกลี่ยเขตแดนระหว่างไทยกับลาว กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้ส่งพระราชธิดาถวายแก่พระเพทราชา แต่เอกสารของลาวกลับไม่ได้ปรากฎหรือกล่าวเอาไว้เลย[1]
อ้างอิง
^ 1.0 1.1 ภาสกร วงศ์ตาวัน. ประเทศราช ชาติศัตรู และพ่อค้านานาชาติ. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2553. หน้า 182
^ ราชอาณาจักรสยาม
^ ภูธร ภูมะธน. โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน. (กรุงเทพฯ:สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้), 2550), หน้า 33
^ พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุทธยา. (กรุงเทพ:บรรณกิจ), 2523, หน้า 110, 238
^ เรื่องเก่าเอามาเล่าอีก (1)
http://www1.mod.go.th/heritage/king/ayuthaya/ayuthaya5.htm
ดูเพิ่ม
ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย
-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2-
.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version