ผู้เขียน หัวข้อ: เรียนรู้เรื่องจิตเพื่อปล่อยวาง Ajahn Chah – The Key to Liberation  (อ่าน 1576 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




เรียนรู้เรื่องจิตเพื่อปล่อยวาง
จาก กุญแจภาวนา
Ajahn ChahThe Key to Liberation – ปฏิจจสมุปบาท

ทางนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันเป็นขึ้นมาเห็นแต่ทุกข์โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย มันเกิดมาจากไหนมันไม่ได้อ่านหรอก มันไม่มีปริยัติที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน

ฉะนั้น ท่านจึงให้ยืนตัวว่าอะไรที่เกิดขึ้นมาจากผู้รู้อันนี้ เมื่อผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงของจิต หรือเจตสิกเหล่านี้ จิตก็ไม่ใช่เรา สิ่งเหล่านี้มีแต่ของทิ้งทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปยึดไปหมายมั่นทั้งนั้น

เรียนรู้เรื่องจิตเพื่อปล่อยวาง
สิ่งที่เรียกว่าจิตหรือเจตสิกนี้ พระศาสดามิใช่ให้เรียนเพื่อให้ติด ท่านให้รู้ว่าจิตหรือเจตสิกเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเท่านั้น มีแต่ท่านให้ปล่อยให้วางมัน เมื่อเกิดมาก็รับรู้ไว้รับทราบไว้ ตัวจิตนี่เองมันถูกอบรมมาแล้ว ถูกให้พลิกออกจากตัวนี้ เกิดเป็นสังขารปรุงไปมันก็เลยมาปรุงแต่งเรื่อยไป ทั้งดีทั้งชั่วทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดเป็นไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระศาสดาให้ละ แต่ต้องเรียนรู้อย่างนี้เสียก่อนจึงจะละได้ ตัวนี้เป็นตัวธรรมชาติอยู่อย่างนี้ จิตก็เป็นอย่างนี้ เจตสิกก็เป็นอย่างนี้

อย่างมรรค ปัญญาอันเห็นชอบเห็นชอบแล้ว ก็ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เหล่านี้เป็นเรื่องของเจตสิกทั้งนั้น ออกจากผู้รู้นั่นเอง เหมือนกับตะเกียงเป็นตัวผู้รู้ ถ้ารู้ชอบดำริชอบอย่างอื่นก็ชอบไปด้วย เหมือนกับแสงสว่างของตะเกียงมัน จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน มันเกิดจากผู้รู้ อันนี้ถ้าจิตนี้ไม่มีผู้รู้ก็ไม่มีเช่นกัน มันคืออาการของพวกนี้

ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้รวมแล้วเป็นนามหมด ท่านว่าจิตนี้ก็ชื่อว่าจิต มิใช่สัตว์มิใช่บุคคลมิใช่ตัวมิใช่ตนมิใช่เรามิใช่เขา ธรรมนี้ก็สักว่าธรรมมิใช่ตัวตนเราเขาไม่เป็นอะไร ท่านให้เอาที่ไหน เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขันธ์ห้า ท่านให้วาง

สมถะและวิปัสสนาอยู่ด้วยกัน 
ฉะนั้นภาวนาก็เหมือนกับไม้ท่อนเดียว วิปัสสนาอยู่ปลายท่อนทางนี้ สมถะอยู่ปลายท่อนทางนั้น ถ้าเรายกไม้ท่อนนี้ขึ้นปลายท่อนไม้จะขึ้นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ถ้ายกไม้ท่อนนี้ขึ้นปลายทั้งสองก็จะขึ้นด้วย อะไรจะเป็นตัววิปัสสนา อะไรจะเป็นตัวสมถะ ก็ตัวจิตนี่เอง และเมื่อจิตสงบแล้วความสงบเบื้องแรกสงบด้วยสมถะ คือสมาธิธรรมทำให้จิตเป็นสมาธิ มันก็สงบถ้าความสงบหายไปก็เกิดทุกข์ ทำไมอาการนี้จึงให้เกิดทุกข์ เพราะความสงบของสมถะเป็นตัวสมุทัย แน่นอนมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีความสงบแล้วยังไม่จบ พระศาสดามองเห็นแล้วว่าไม่จบ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ มันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันยังมีทุกข์อยู่ ท่านจึงเอาตัวสมถะตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปอีก ค้นหาเหตุผลจนกระทั่งท่านไม่ติดในความสงบ ความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมติ เป็นบัญญัติอีก ติดอยู่นี่ก็ติดสมมติ ติดบัญญัติ เมื่อติดสมมติติดบัญญัติก็ติดภพติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนี่แหละ เมื่อหายความฟุ้งซ่านก็ติดความสงบก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมาทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

  ขันธ์ห้าหรือความสงบล้วนยึดติดไม่ได้
ท่านจึงพิจารณาภพชาติเกิดเพราะอะไร เมื่อยังไม่รู้เท่าสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่านให้ยกเอาเรื่องจิตสงบนี้ขึ้นมาพิจารณาเข้าไปอีก สังขารที่เกิดขึ้นมาสงบหรือไม่สงบพิจารณาเรื่อยไป จนได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เหมือนก้อนเหล็กแดง ขันธ์ห้าเหมือนกับก้อนเหล็กแดง เมื่อมันแดงรอบแล้วไปจบตรงไหนมันจึงจะเย็นได้ มีที่เย็นไหมเอามือแตะข้างบนดูซิข้างล่างดูซิแตะข้างโน่นข้างนี้ดูซิ ตรงไหนที่มันจะเย็น เย็นไม่ได้เพราะก้อนเหล็กมันแดงโร่ไปหมด ขันธ์ห้านี้ก็ฉันนั้น ความสงบไปติดไม่ได้จะว่าความสงบเป็นเรา จะว่าเราเป็นความสงบไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าความสงบเป็นเราเข้าใจว่าเราเป็นความสงบก็เป็นก้อนอัตตาอยู่นี่เอง ก้อนอัตตาก็เป็นตัวสมมุติอยู่ จะนึกว่าเราสงบ เราฟุ้งซ่าน เราดี เราชั่ว เราสุข เราทุกข์ อันนี้ก็เป็นภพเป็นชาติอยู่อีก เป็นทุกข์อีก ถ้าสุขหายไปก็กลายเป็นทุกข์ ถ้าความทุกข์หายไปก็เป็นสุข ก็ต้องเวียนไปนรกไปสวรรค์อยู่ไม่หยุดยั้ง

พระศาสดาเห็นอาการจิตของท่านเป็นอย่างนี้นี่แหละ ท่านว่าภพยังอยู่ ชาติยังอยู่ พรหมจรรย์ยังไม่จบ ท่านจึงยกสังขารขึ้นพิจารณาตามธรรมชาติเพราะมีปัจจัยอยู่นี่ จึงมีเกิดอยู่นี่ตายอยู่นี่มีอาการที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่นี่ ท่านจึงยกสิ่งนี้พิจารณาไปให้รู้เท่าตามเป็นจริงของขันธ์ห้า ทั้งรูปทั้งนามสิ่งทั้งหลายที่จิตคิดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารทั้งหมด เมื่อรู้แล้วท่านให้วาง เมื่อรู้แล้วท่านให้ละ ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามเป็นจริง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ทุกข์ ก็ไม่วางสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นของหลอกลวง สมกับที่พระศาสดาตรัสว่าจิตนี้ไม่มีอะไร ไม่เกิดตามใคร ไม่ตายกับใคร จิตเป็นเสรีรุ่งโรจน์โชติการ ไม่มีเรื่องราวต่างๆ เข้าไปอยู่ในที่นั้น ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะมันหลงสังขารนี่เองหลงอัตตานี่เอง

พระศาสดาจึงให้มองดูจิตของเรา เบื้องแรกมันมีอะไรไม่มีอะไรจริงๆ สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดด้วย มิได้ตายด้วย ถูกอารมณ์ดีมากระทบก็มิได้ดีด้วย ถูกอารมณ์ร้ายมากระทบก็มิได้ร้ายไปด้วย เพราะรู้ตัวของตัวอย่างชัดเจน แล้วรู้ว่าสภาวะเหล่านั้นไม่เป็นแก่นสาร ท่านเห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ท่านให้รอบรู้ของท่านอยู่อย่างนั้น

ไม่ดีใจไม่เสียใจคือไม่เกิดไม่ตาย 
ตัวผู้รู้นี้รู้ตามความเป็นจริง ผู้รู้มิได้ดีใจไปด้วยมิได้เสียใจไปด้วย อาการที่ดีใจไปด้วยนั่นแหละเกิดอาการที่เสียใจไปด้วยนั่นแหละตาย ถ้ามันตายก็เกิด ถ้ามันเกิดก็ตาย ตัวที่เกิดตัวที่ตายนั่นแหละเป็นวัฏฏะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่หยุด

เมื่อจิตผู้ปฏิบัติเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องสงสัยภพมีไหมชาติมีไหม ไม่ต้องถามใคร พระศาสดาพิจารณาอาการสังขารเหล่านี้แล้ว จึงได้ปล่อยวางสังขาร วางขันธ์ห้าเหล่านี้เป็นเพียงผู้รับทราบไว้เฉยๆ มันจะดีขึ้นมาท่านก็ไม่ดีกับมัน เป็นคนดูอยู่เฉยๆ ถ้ามันร้ายขึ้นมาท่านก็ไม่ร้ายกับมัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันขาดจากปัจจัยแล้วรู้ตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดไม่มีตัวนี้ก็เป็นผู้รู้ยืนตัวตัวนี้แหละ เป็นตัวสงบตัวนี้เป็นตัวไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายตัวนี้ มิใช่เหตุมิใช่ผล ไม่อาศัยเหตุไม่อาศัยผลไม่อาศัยปัจจัยหมดปัจจัยสิ้น ปัจจัยนอกเหนือเกิดตาย นอกสุขเหนือทุกข์ นอกดีเหนือชั่ว หมดเรื่องจะพูดไม่มีปัจจัยส่งเสริมแล้ว เรื่องที่เราจะพูดว่าจะติดในสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจิตหรือเจตสิก

ฉะนั้นเรื่องจิตหรือเรื่องเจตสิกนี้ก็เป็นเรื่องมีจริงอยู่เป็นจริงอย่างนั้น แต่พระศาสดาเห็นว่ารู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารู้แล้วเชื่อสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรหาความสงบไม่ได้ รู้แล้วท่านให้วางให้ละให้เลิกเพราะจิตเจตสิกนี่เองนำความผิดมาให้เรา นำความถูกมาให้เรา ถ้าเราฉลาดก็นำความถูกมาให้ เราถ้าเราโง่ก็นำความผิดมาให้เรา เรื่องจิตหรือเจตสิกนี้มันเป็นโลก พระศาสดาก็เอาเรื่องของโลกมาดูโลกเมื่อรู้โลกได้แล้ว ท่านจึงว่าโลกวิทูผู้รู้แจ้งโลก เมื่อท่านมาดูสิ่งเหล่านี้จึงเป็นอย่างนี้

  ปฏิบัติที่จิต
ฉะนั้น เรื่องสมถะหรือเรื่องวิปัสสนานี้ให้ทำให้เกิดในจิตเสีย ให้เกิดในจิตจริงๆ จึงจะรู้จัก ถ้าไปเรียนตามตำราว่าเจตสิกเป็นอย่างนั้นๆ จิตเป็นอย่างนั้นๆ ก็เรียนได้ แต่ว่าใช้ระงับความโลภความโกรธความหลงของเราไม่ได้ เพราะเรียนไปตามอาการของความโลภความโกรธความหลง ความโลภมีอาการอย่างนั้นๆ ความโกรธมีอาการอย่างนั้นๆ ความหลงมีอาการอย่างนั้นๆ ไปเล่าอาการของมันเท่านั้นก็รู้ไปตามอาการ พูดไปตามอาการ รู้อยู่ฉลาดอยู่แต่ว่าเมื่อมันเกิดกับใจเราจะเป็นไปตามอาการหรือไม่ เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจมากระทบมันก็เกิดเป็นอาการขึ้นกับใจเรา เราติดมันไหม เราวางมันได้ไหม อาการที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดขึ้นมาเรารู้แล้ว ผู้รู้เอาความไม่ชอบใจไว้ในใจหรือเปล่าหรือว่าเห็นแล้ววาง

ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเราให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ยังไม่ยิ่งถ้ามันยิ่งแล้วมันวางให้ดูอย่างนี้ ดูจิตของเราจริงๆ มันจึงจะเป็นปัจจัตตัง ถ้าจะพูดไปตามอาการของจิตอาการของเจตสิกว่ามีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง อาตมาว่ายังน้อยเกินไป มันยังมีมากถ้าเราจะไปเรียนสิ่งเหล่านี้ให้รู้แจ้งแทงตลอดหมดนั้น ไม่แจ้งมันจะหมดอย่างไรมันไม่หมดหรอกหมดไม่เป็น



ฉะนั้น เรื่องการปฏิบัตินี้จึงสำคัญมาก การปฏิบัติอาตมามิได้ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่รู้ว่าจิตว่าเจตสิกอะไรหรอก ดูผู้รู้นี่แหละ ถ้ามันคิดชังท่านมหาทำไมจึงชัง ถ้ามันรักท่านมหาทำไมจึงรัก อย่างนี้แหละจะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ไม่รู้ จี้เข้าตรงนี้จึงแก้เรื่องที่มันรักหรือชังนั่นให้หายออกจากใจได้ จะเป็นอะไรก็ตามถ้าทำจิตอาตมาให้หยุดรักหรือหยุดชังได้ จิตอาตมาก็พ้นจากทุกข์แล้ว จะเป็นอะไรก็ช่างมันสบายแล้ว ไม่มีอะไรมันก็หยุด เอาอย่างนี้จะพูดไปมากๆ ก็ช่างเขา มากก็ตามมากก็จะมาอยู่ตรงนี้ และมันไม่มาก ไปไหนมันมากออกจากตรงนี้ น้อยก็น้อยออกจากตรงนี้ เกิดก็เกิดออกจากนี่ ดับก็ดับอยู่นี่ มันจะไปไหน ท่านจึงให้นามว่าผู้รู้ อาการที่ผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วมันก็รู้จิตหรือรู้เจตสิกนี่แหละ

จิตหรือเจตสิกนี้มันหลอกลวงไม่หยุดสักที เราก็ไปเรียนอาการที่มันหลอกลวงนั่นเอง ทั้งเรียนเรื่องมันหลอกลวง ทั้งถูกมันหลอกลวงเราอยู่นั่นเอง จะว่าอย่างไรกันทั้งๆ ที่รู้จักมันมันก็ลวง ทั้งๆ ที่รู้ มันเรื่องอย่างนี้คือ เรื่องเราไปรู้จักเพียงชื่อของมัน อาตมาว่าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้น ทรงประสงค์ว่าทำอย่างไรจึงจะออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ ท่านให้ค้นหาเหตุของสิ่งเหล่านี้ขึ้นไป ฉะนั้นอาตมาปฏิบัติโดยไม่รู้จักมาก รู้จักเพียงว่าศีลเป็นมรรค งามเบื้องต้นคือศีล งามท่ามกลางคือสมาธิ งามเบื้องปลายคือปัญญา สามอย่างนี้ดูไปดูมาก็เป็นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าจะแยกออกเป็น๓อย่างก็ได้

จาก กุญแจภาวนา 
Ajahn ChahThe Key to Liberation – ปฏิจจสมุปบาท
-http://www.theravada-dhamma.org/blog/?p=5902

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 25, 2013, 12:08:51 pm โดย ฐิตา »