ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน "ปุจฉาวิสัชนา มังสาวิรัต" :หลวงปู่เทสก์  (อ่าน 2389 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน "ปุจฉาวิสัชนา มังสาวิรัต" :หลวงปู่เทสก์
คัดมาบางส่วนจากหนังสือ "ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ"
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี)

อุบาสิกาคนหนึ่งมีวัยประมาณ ๖๐ กว่าปีแล้ว แกไปปฏิบัติอยู่วัดหินหมากเป้งเสมอๆ
อยู่มาแกสมาทานมังสาวิรัต แล้วชักชวนผู้เขียน(หลวงปู่เทสก์)ทำอย่างแกบ้าง
ผู้เขียนบอกว่า เมื่อผู้เขียนทำอย่างนั้นแล้วเขาต้องตามปฏิบัติผู้เขียนนะ
เพราะผู้เขียนหากินเองอย่างเขาไม่ได้ เขาได้ถามปัญหาว่า

(๑๐) ถาม รับประทานมังสาวิรัตผิดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือ
(๑๐) ตอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก จะต้องอธิบายกันมากจึงจะเข้าใจ

คนเกิดมาในโลกนี้ทั้งหมดล้วนแล้วแต่กินเลือดเนื้อของผู้อื่นทั้งสิ้น
เดิมแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็กินอาหารของมารดาที่ซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยง
ร่างกายจึงเติบโตขึ้นมาได้

คลอดออกมาแล้วจนเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เช่นนั้นเหมือนกัน
พึ่งมาปฏิวัติรับประทานมังสาวิรัตเมื่อโตขึ้นมานี่เอง
เรื่องนี้จึงเป็นความฝ่าฝืนความรู้สึกของคนส่วนมาก

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเรายังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระเทวทัต
ก็เคยเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาให้พระพุทธองค์ ได้ทรงอนุมัติแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุญาต จึงได้ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า
พระสงฆ์องค์ใดเห็นดีกับเราก็ไปกับเรา ภิกษุที่บวชใหม่ยังไม่รู้ธรรมวินัย
จึงได้ติดตามพระเทวทัตไป
นั่นก็โลกแตกครั้งหนึ่งล่ะ ผลที่สุดพระเทวทัตถึงแก่มรณภาพไป

พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นเห็นความอาฆาตของพระเทวทัตซึ่งมีต่อพระพุทธเจ้า
จึงกลับเข้ามาหาพระพุทธเจ้าอีก ฉะนั้น พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัททั้งหลาย
จึงไม่ควรยกเอาคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
มันจะเป็นเหตุให้สงฆ์แตกแยกกัน


ส่วนฆราวาสนั้นก็ปล่อยเขาตามเรื่อง ถ้าหากรับประทานมังสาวิรัต
เฉพาะตน เพื่อทรมานตน
เพราะจิตใจของตนมันชอบการทรมานอย่างนั้นก็สมควรอยู่

ถ้าอ้างว่ามังสาวิรัตเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้เขียนก็ขอร้องเถิด
มันจะกลายเป็นวังคศาสนาไป มิใช่สัตถุศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้จริง

มังสาวิรัตนี้พระพุทธเจ้าของเราท่านก็รู้ดีเหมือนกันว่าคนในสมัยนั้น
เขานิยมกันขนาดไหน และเขาปฏิบัติกันได้ มากน้อยเพียงใด
พระองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุฉันเนื้อได้โดยปราศจากโทษ ๓ ประการ

๑. โดยไม่ได้ใช้ให้เขาฆ่ามาเพื่อตน
๒. โดยไม่ได้เห็นได้ยินเขาฆ่าเพื่อตน
๓. โดยไม่สงสัยเขาจะฆ่าเพื่อให้ตน

เมื่อพ้นจาก โทษ ๓ ประการนี้แล้วฉันได้
ถึงเราจะกินและไม่กิน ทั้งโลกนี้โดยส่วนมากเขาก็ฆ่ากันอยู่อย่างนั้น
พระยังชีพเนื่องด้วยคนอื่น ถ้าไปในถิ่นที่เขารับประทานเนื้อ
พระที่ฉันมังสาวิรัตก็จะอยู่ด้วยกับเขามิได้

และคนที่จะฟังคำสอนของพระพุทธเจ้ามิใช่มีแต่พวกมังสาวิรัต
มีทั้งมังสาวิรัตและรับประทานเนื้อด้วย
คนเหล่านั้นถ้าหากฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจดีแล้ว
ก็จะไม่เป็นอุปสรรคแก่กันและกัน

สำหรับพระภิกษุพระวินัยสิกขาบทของพระยังมีมากที่ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วน
ไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มายกโทษซึ่งกันและกัน

ผู้เขียนจะยกเรื่องพระคณาจารย์ฉันมังสาวิรัตองค์หนึ่งมาเล่าสู่ให้ฟัง
เมื่อราว ๔๐ กว่าปีมานี้เอง ทีแรกท่านก็ฉันตามธรรมดาๆ อย่างเราท่าน
ทั้งหลายฉันกันอยู่อย่างนี้แหละ
เมื่อพระโลกนารถเข้ามาเมืองไทยมีคุณนายคนหนึ่งไปเรียนกินเจ
กับพระโลกนารถแล้วทำถวายท่าน
ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากหลาย ลูกศิษย์เหล่านั้นก็เลยทำตามพระองค์นั้น

ต่อมาท่านชักชวนหมู่เพื่อนให้ทำตาม เมื่อหมู่เพื่อนไม่ทำตาม
ก็หาว่าย่อหย่อนต่อการปฏิบัติ
ท่านก็เลยดีคนเดียว หมู่เพื่อนคบค้าสมาคมไม่ได้ ลูกศิษย์ลูกหาค่อยๆ หายไปๆ
จะไปรุกขมูลทางไหนต้องให้พระล่วงหน้าไปก่อน บอกชาวบ้านว่า
ท่านอาจารย์ท่านฉันเจ ต้องจัดหาอาหารอย่างนั้นๆ เว้นอย่างนั้นๆ ท่านถึงจะฉันได้

เวลาเข้าไปบิณฑบาตในบ้านที่เขาไม่รู้ เขาเอาห่อเนื้อมาใส่บาตรให้
ท่านก็จับเอาของเขาปาทิ้งเสีย ทีหลังเขาเลยพากันไม่ใส่บาตร
เห็นท่านเดินมาเขาพากันมองหน้าท่านเป็นแถวเลย
อย่างนี้เขาเรียกว่า ทำเกินควร ไม่สมแก่สมณะสารูปผู้สำรวมเลย

เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วก็ไม่มีใครปฏิบัติต่อ
พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมอย่างยิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้เราได้ทำมาแล้ว
ซึ่งไม่มีใครจะทำได้เหมือนเรา แต่ก็ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้

ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน
ธรรม ๔อย่าง คือ
เกลียดอย่างยิ่ง ๑
กลัวอย่างยิ่ง ๑
ระวังอย่างยิ่ง ๑
ตบะอย่างยิ่ง ๑


เกลียดอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ เห็นร่างกายของตนและของคนอื่นเป็นของน่าเกลียด
และทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นของน่าเบื่อหน่ายแทบจะอยู่ไม่ได้เสียเลย
นั่นเรียกว่า เห็นหน้าเดียว

คนทั้งโลกพร้อมด้วยตัวของเราทำไม่จึงอยู่มาได้จนบัดนี้ เขาโง่หรือตัวเราโง่
ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นสภาพตามความเป็นจริงแล้วเกิดสลดสังเวชเบื่อหน่าย
ถอนความยินดีในโลกด้วยอุบายแยบคายอันชอบแล้ว

กลัวอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ กลัวบาปอกุศลแม้แต่อาบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็กลัว
เป็นต้นว่าจะยกย่างเดินเหิรไปมาที่ไหนก็กลัวจะไปเหยียบมดและตัวแมลงต่างๆ
ให้ตายเป็นอาบัติ นั่นเรียกว่า ระวังส่งออกไปนอก
พระวินัยท่านสอนให้ระวังที่ใจถ้าไม่มีเจตนาแกล้งทำให้ล่วงเกินก็ไม่เป็นอาบัติ

ระวังอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ สังวรกาย วาจา ใจ ไม่ให้เกิดกิเลสบาปอกุศลทั้งหลาย
ซึ่งมันล่องลอยมาตาม อายตนะทั้ง ๖ นี้


ระวังจนไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยินสิ่งต่างๆ จนเข้าไปอยู่ในป่าคนเดียว
เวลาเข้าไปบิณฑบาตในบ้านก็เอาตาลปัตรบังหน้าไว้ กลัวมันจะเห็นคน
อย่างนี้เขาเรียกว่า ลิงหลอกเจ้า กิเลสมันไม่ได้เกิดขึ้นที่อายตนะ
แต่มันจะเกิดที่ใจ
ต่างหาก

ขอโทษเถิด คนตายแล้วให้ผู้หญิงคนสวยๆ ไปนอนด้วย มันก็นิ่งเฉย
ผู้หญิงที่ไปนอนกลับกลัวเสียอีก

ตบะอย่างยิ่งเป็นไฉน คือ นักพรตที่ทำความเพียรเร่งบำเพ็ญตบะธรรม
ที่จะให้พ้นจากทุกข์ในเดี๋ยวนั้น
ทำความเพียรตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ไม่คิดถึงชีวิตชีวาเลย
เหมือนกับกิเลสมันเป็นตัวเป็นตนวิ่งจับผูกเอามาได้ฉะนั้น


แท้จริงกิเลสมันวิ่งเข้ามาซุกอยู่ในความเพียร
(คือ ความอยากพ้นจากทุกข์) นั่นเอง ไม่รู้ตัวมัน
ความอยากทำให้ใจขุ่นมัว น้ำขุ่นทำให้ไม่เห็นตัวปลา

ถึงแม้น้ำใสแต่ยังกระเพื่อมอยู่ก็ไม่เห็นตัวปลาเหมือนกัน ความเกลียด ความกลัว
ความระวัง และตบะ อย่างยิ่งทั้ง ๔ อย่างนี้
พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว
พระองค์ทรงเห็นว่าไม่เป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
จึงละเสีย แล้วทรงปฏิบัติทางสายกลางจึงทรงสำเร็จพระโพธิญาณ


คัดมาบางส่วนจากหนังสือ "ปุจฉาวิสัชนาในประเทศ"
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี)

-http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y12299034/Y12299034.html