ผู้เขียน หัวข้อ: การพิจารณาสารัตถะใน พระไตรปิฎก  (อ่าน 1909 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


การพิจารณาสารัตถะใน พระไตรปิฎก
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ)

วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010537–โดย คุณ : mayrin [26 พ.ย. 2546]

พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ กัมมาสทัมมนิคมของชาวกุรุ ในกุรุชนบท ได้รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอพิจารณาได้พิจารณาปัจจัยภายในบ้างหรือไม่
ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่า ได้พิจารณา
แต่เมื่อทรงถามว่า พิจารณาอย่างไร ท่านตอบไม่ตรงตามพระพุทธประสงค์ พระอานนทเถระ จึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงแสดงเรื่องนี้ พระองค์ทรงตรัสการพิจารณาปัจจัยภายในข้อใด พวกภิกษุได้ฟังแล้วจักได้ทรงจำไว้”
รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจไว้ให้ดี เราจะกล่าว ภิกษุทั้งหลายรับว่า พระพุทธเจ้าข้า จากนั้นจึงทรงแสดงการพิจารณาปัจจัยภายใน ความว่า

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณาย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า
- ชรามรณะบังเกิดในโลกมีทุกข์ต่าง ๆ ชรามรณะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ที่ตั้ง กำเนิดแดนเกิด เมื่อพิจารณาไปก็จะทราบว่า อุปธิเป็นเหตุที่ตั้ง กำเนิด แดนเกิดของชรามรณะ เมื่ออุปธิมีชรามรณะจึงมี หากไม่มีอุปธิชรามรณะ ก็มีไม่ได้ เธอย่อมทราบชัดซึ่งชรามรณะ พร้อมด้วยความเกิด ความดับ และข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับแห่งชรามรณะ
เธอย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม เราเรียกเธอว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่งชรามรณะโดยชอบทุกประการ

- อุปธินี้มีอะไรเป็นเหตุ ที่ตั้ง กำเนิด แดนเกิด เมื่อพิจารณาไปก็จะทราบชัดว่า ตัณหาเป็นเหตุ เป็นที่ตั้ง กำเนิด แดนเกิดแห่งอุปธิ เมื่อตัณหามีอุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มีอุปธิก็ไม่มี เธอย่อมทราบชัด ซึ่งอุปธิ เหตุเกิดแห่งอุปธิ ความดับ และปฏิปทาอันสมควร เครื่องให้ถึงซึ่งความดับแห่งอุปธิ
เมื่อปฏิบัติตามนั้นได้ ชื่อว่าผู้ประพฤติธรรม เราเรียกเธอว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ และความดับแห่งอุปธิโดยชอบทุกประการ


- ตัณหาเมื่อเกิดขั้นตั้งอยู่ ย่อมเกิดขึ้นตั้งอยู่ ณ ที่ไหน เมื่อพิจารณาไปก็จะทราบชัดว่า ตัณหาย่อมเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นที่รักที่ชื่นใจในโลก
- สมณพราหมณ์ในกาลใดก็ตาม เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักที่ชอบใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ไม่มีโรค เป็นของเกษม ชื่อว่าทำตัณหา อุปธิ ทุกข์ให้เจริญ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสได้ เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย

- การเห็นอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นของน่าใคร่ น่าปรารถนาในลักษณะดังกล่าว เป็นเหมือนคนเดินทางไกลมามีความกระหายน้ำเป็นกำลัง คนทั้งหลายบอกว่าในขันสำริดนั้นมีน้ำที่สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส แต่เจือด้วยยาพิษ หากประสงค์จะดื่มจงดื่มเถิด เพราะดื่มแล้วจักซาบซ่านด้วย สี กลิ่น รส แต่ตัวท่านจักตาย หรือประสบความทุกข์ปางตาย
เขาผลุนผลันไม่ทันพิจารณาดื่มเข้าไปโดยไม่บ้วนทิ้งเลย เขาพึงถึงความทุกข์ปางตาย หรือตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุฉันใด สมณพราหมณ์ในกาลใดก็ตาม หากเห็นอารมณ์ทั้งหลายในฐานะดังกล่าวย่อมทำตัณหา อุปธิทุกข์ให้เจริญ ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลยฉันนั้น

- สมณพราหมณ์ในกาลใดก็ตาม เห็นอารมณ์ทั้ง ๖ ว่าเป็นของเที่ยง เป็นทกุข์ เป็นอนัตตา เป็นโรค เป็นภัย เขาชื่อว่าได้ละตัณหา อุปธิ และทุกข์ได้ เมื่อละทุกข์ได้แล้ว ชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสได้ เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้
- บุรุษเดินทางไกลเหน็ดเหนื่อยมา มีความกระหายน้ำเป็นกำลัง คนบอกว่าน้ำในขันสำริดนี้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส แต่เจือด้วยยาพิษ ถ้าต้องการจะดื่มก็จงดื่ม เพราะดื่มแล้วจะซาบซ่านด้วยสี กลิ่น รส ครั้นดื่มแล้วท่านต้องตาย หรือประสบทุกข์ปางตาย

เขาพิจารณาเห็นว่า ความหิวกระหายนั้นอาจบรรเทาได้ด้วยเครื่องดื่มและอาหารอย่างอื่น เราจะไม่ดื่มน้ำนั้น เพราะไม่มีประโยชน์ มีแต่ทุกข์แก่เราช้านาน เขาพิจารณาแล้วจึงไม่ดื่ม และทิ้งขันน้ำเหล่านั้นเสีย เขาจึงไม่ต้องประสบทุกข์ปางตายและความตายเพราะการดื่มน้ำนั้นเป็นเหตุ
สมณพราหมณ์ทุกกาลทุกสมัยที่เห็นอารมณ์ ๖ โดยนัยดังกล่าวแล้ว ย่อมละทุกข์และข้ามพ้นชาติ ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสได้ เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ดังนี้

ข้อควรกำหนดในพระสูตรนี้
๑. ดินแดนอันได้นามในสมัยพุทธกาลว่าแคว้นกุรุนั้น เป็นดินแดนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอินเดียมาก เช่นสงครามมหาภารตยุทธ อันเป็นต้นเหตุให้เกิดมหากาพย์เรื่องนี้ และปรัชญาภควัทคีตา ก็เกิดขึ้นจากการรบของกษัตริย์ ปาณฑพและเการพ ในกุรุเกษตร
แม้เมืองที่เรียกว่าอินทปัตตะ อินทปัตนะ ตลอดถึงกรุงเดลฮี ในอดีตที่ย้ายกันหลายครั้ง มากระทั่งเป็นนครหลวงในปัจจุบัน ก็อยู่ในแคว้นกุรุสมัยพุทธกาล ยิ่งในสมัยก่อนพุทธกาลด้วยแล้ว ปรากฏในชาดกว่าชนชาวกุรุถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัดจากพระราชาลงมาถึงราษฎร จนศีล ๕ ได้ชื่อว่ากุรุธรรม อันนำความสวัสดีชื่อเสียงมาสู่แคว้นนี้มาก

๒. กัมมาสทัมมะ หรือกัมมาสธัมมะเป็นชื่อของนิคม ที่เรียกเลือนมาจากคำว่ากัมมาสบาท อันเป็นชื่อของมหาโจรโปริสาท เพราะถูกท่อนไม้ตำเท้ามีแผลงอกขึ้นเหมือนท่อนไม้ จึงได้ชื่อว่ากัมมาสบาท แปลว่าท้าวตีนด่าง และเป็นสถานที่ซึ่งพระพระเจ้าสุตตโสมโพธิสัตว์ ทรมานมหาโจรโปริสาทให้กลับตัวเป็นคนดีได้
แต่ในกุรุธรรมชาดกท่านบอกว่า กุรุวัตตธรรม หรือ ธรรมที่ชนชาวกุรุประพฤติกัน คือ ศีล ๕ ดังกล่าว เกิดมีรอยด่างขึ้นที่นั้น จึงได้เรียกสถานที่นั้นว่า กัมมาสธัมมะ เพราะธรรมมีรอยด่างเกิดขึ้นในที่นั้น

๓. น่าสังเกตว่าพระสูตรแต่ละพระสูตรซึ่งทรงแสดงในที่นี้ ส่วนมากจะเป็นพระสูตรที่ลึกซึ้ง เช่นมหาสติปัฏฐานสูตร มหานิทานสูตร เป็นต้น ท่านบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะชนชาวกุรุ มีความสนใจในธรรมสูงมาก และยกย่องเชิดชูผู้ประพฤติธรรม ตำหนิคนที่ขาดความสนใจในธรรม
แม้แต่นกแขกเต้าที่เลี้ยงไว้ก็ได้รับการสั่งสอนให้ท่องคาถาที่เกี่ยวกับธรรมะ เพราะพื้นฐานทางด้านความสนใจในธรรมสูงนี้เอง พระสูตรที่ทรงแสดงในแคว้นนี้จึงเป็นธรรมที่ลึกซึ้งตามไปด้วย

๔. ตามปกติการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ "เพราะมีพระประสงค์จะแสดง เพราะอัธยาศัยของคนอื่น เพราะมีคนกราบทูลถาม และเพราะเกิดเรื่องขึ้น" สำหรับสัมมสนสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่เกิดขึ้น เพราะมีพระประสงค์จะแสดง เพราะทรงเห็นอุปนิสัยของภิกษุเหล่านั้นว่า จะได้รับประโยชน์จากการฟังและพิจารณาปัจจัยภายใน ตามที่ทรงแสดงในพระสูตรนี้

คำว่า อุปธิ แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องเข้าไปทรง หรือเป็นกิเลสเป็นเหตุทรงไว้ ท่านแสดงไว้ในที่ ๒ แห่ง จำนวนไม่ตรงกัน คือ
๑.กามูปธิ อุปธิคือกาม หมายถึงกิเลสกามและวัตถุกาม คือกิเลสเป็นเหตุใคร่ มีความพอใจ ความยินดี ความใคร่ ตัณหาเป็นต้น และวัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
๒. ขันธูปธิ อุปธิคือขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๓. กิเลสูปธิ อุปธิคือกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
๔. ฺอภิสังขารูปธิ อุปธิคือ อภิสังขาร ได้แก่  ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบุญ  อปุญญาภิสังขาร อภิสังขาร คือ บาป และ อเนญชาภิสังขาร อภิสังขารคืออเนชญชาหรือ อรูปฌาน

ในสุทธัฏฐกสุตตนิเทส ขุททนิกาย ท่านแบ่งออกเป็น ๘ คือ ราคะ ความกำหนัด โทสะ ความประทุษร้าย โมหะ ความหลง มานะ ความถือตัว ตัณหา ความทะยานอยาก ทิฏฐิ ความเห็นผิด กิเลส สิ่งที่ทำจิตให้เศร้าหมอง อุปาทาน อาการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น

แต่ อุปธิ ที่ทรงประสงค์ในที่นี้ท่านบอกว่าได้แก่ ขันธูปธิ อุปธิ คือขันธ์ ๕ เพราะทรงเน้นไปที่การพิจารณาภายใน จึงทรงแสดงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าเป็นสิ่งน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ข้อนี้พระอรรถกถาจารย์แสดงว่า เมื่อคนมองดูตา เป็นต้นของตนในกระจก ด้วยความรู้สึกว่า ตาเราสวย หูเรางาม จมูกเรางาม ลิ้นเรางาม จนถึงกายเรางาม
เมื่อทำความรู้สึกอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า ความรู้สึกฝังใจว่า ตนเป็นคนงามก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดกำหนัดมัวเมาหลงยึดติดในกายตน จนกลายเป็นอุปธิ คืออาการที่จิตทรงกำหนดขันธ์ ๕ ว่าเป็นของสวยงาม เป็นตัวตน เป็นของเที่ยงแท้และเป็นสุข เพราะขาดปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาถึงความจริงแห่งขันธ์ ท่านเรียกความรู้สึกเหล่านี้ว่า วิปลาส คือ ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความจริง แบ่งออกเป็น ๓ ด้วยอำนาจความวิปริตแห่งจิตและเจตสิก คือ

๑. วิปลาสด้วยอำนาจความสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปลาส
๒. วิปลาสด้วยอำนาจความคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปลาส
๓. วิปลาสด้วยอำนาจความเห็นผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส

แต่เมื่อจะกล่าวโดยวัตถุ คือ สิ่งหรือเรื่องที่ทำให้เกิดความสำคัญ ความคิดและความเห็นวิปริต ท่านจำแนกออกเป็น ๔ คือ

๑. ความสำคัญคิดเห็นในของที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เพราะอาศัยสันตติคือ ความสืบเนื่องกันของสิ่งนั้น ๆ เช่นขนเก่าหลุดร่วงไป ขนใหม่เกิดขึ้นแทนเป็นต้น จึงทำให้คนสำคัญผิดว่า ชีวิตร่างกายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรปรวน การจะถอนความสำคัญคิดเห็นเช่นนี้ออกไปได้ ต้องอาศัย อนิจจสัญญา คือ ความกำหนดหมายให้เห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

๒. ความสำคัญคิดเห็นว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถปิดบังไว้ จึงทำให้เห็นไปเช่นนั้น การจะถ่ายถอนความสำคัญคิดเห็นผิดเหล่านี้ออกไป ต้องอาศัยการเจริญ ทุกขสัญญา คือ การกำหนดหมายให้เห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

๓. ความสำคัญคิดเห็นว่า เป็นอัตตา ตัวตนในสิ่งที่เป็นอนัตตา เพราะความเป็นก้อนแห่งร่างกายปิดบังไว้ จึงไม่เห็นตามเป็นจริง การจะถ่ายถอนความสำคัญคิดเห็นผิดเหล่านี้ออกไป ต้องอาศัย อนัตตสัญญา คือ การกำหนดหมายให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ที่อาจบังคับหรือมุ่งหวังให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามต้องการ

๔. ความสำคัญคิดเห็นว่างามในของที่ไม่งาม เพราะอาศัย สุภสัญญา คือ จิตไปกำหนดหมายว่ารูปงามเป็นต้น ในขณะเดียวกันเมื่อดำริถึงสิ่งเหล่านั้น ก็กำหนดเงื่อนไขตายลงไปว่า สวยงาม น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ
เมื่อต้องการจะถ่ายถอนความสำคัญคิดเห็นผิดในลักษณะนี้ออกไป ต้องอาศัย อสุภสัญญา คือ การกำหนดหมายให้เห็นความไม่สวยงามแห่งร่างกาย โดยกำหนดแยกเป็นธาตุ ๔ อาการ ๓๒ เป็นต้น

เพื่อให้ทราบชัดถึงความจริงแห่งชีวิตตนที่บุคคลไปกำหนดหมายว่าสวยงามเป็นต้นนั้น ได้มองเห็นความจริงแห่งชีวิต โดยเพ่งพินิจให้เห็นว่าชีวิตนี้เป็นเหมือน "หยาดน้ำค้าง ต่อมน้ำรอยไม้ขีดในน้ำ ลำธารอันไหลมาจากภูเขา ก้อนน้ำลาย ชิ้นเนื้อที่นาบไฟ และโคที่เขานำไปเพื่อจะฆ่า"
ซึ่งอุปมาชีวิตแต่ละข้อเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ชีวิตนั้นเป็นของที่ดำรงอยู่ได้ชั่วคราว หาเครื่องกำหนดหมายไม่ได้ และความตายเข้ามาใกล้ชีวิตของคนอยู่ตลอดเวลา พึงเห็นความจริงแห่งชีวิตตามพระพุทธภาษิตต่อไปนี้ คือ

- เมื่อใดอายุ ไออุ่น และวิญญาณละกายนี้เสีย เมื่อนั้นกายย่อมนอนทอดหาแก่นสารมิได้
- พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่บุคคลหว่านในไร่นา ได้อาศัยรสแห่งแผ่นดินกับยางในพืชนั้น รวมกันเป็น ๒ ประการ ย่อมงอกขึ้น ตั้งลำต้น แตกกิ่ง ออกใบ เผล็ดออกออกผลอันใด ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้ง ๖ ก็ฉันนั้น อาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ เมื่อเหตุแตกสลายก็ย่อมดับไป
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา การที่บุคคลจะปรารถนาว่า สิ่งนั้นอย่าได้ทำลายเสียหายเลยดังนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

เพราะความไม่เข้าใจขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงนี้เอง ทำให้ตัณหาอันเป็นเหตุ เป็นที่ตั้งเป็นกำเนิด เป็นแดนเกิดแห่งอุปธิ เจริญงอกงามขึ้นภายในขันธ์ ๕ นั้น จนกลายเป็นความยึดถือด้วยอำนาจแห่งตัณหาว่า เอตํ มม นั่นของเรา
เมื่อยึดถือมากเข้ากลายเป็นการแบกหามขันธ์ไว้ เพิ่มความหนักทางกายและใจให้มากขึ้น เพื่อให้ตระหนักถึงความจริงส่วนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงไว้ว่า

ขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนัก กิริยาที่ยึดถือว่าขันธ์ ๕ เป็นสัตว์ บุคคล เป็นดุจแบกภาระไป การแบกภาระหนักเช่นนั้นเป็นทุกข์ในโลก กิริยาที่วางของหนักลงเสียได้เป็นความสุข ท่านผู้วางภาระอันหนักนั้นเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ถอนตัณหากับทั้งอวิชชาที่เป็นมูลรากได้แล้ว สิ้นความทะยานอยาก ดับความกระวนกระวายหมดสิ้นแล้ว ดังนี้

อุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่มีใจครองและอนุปาทินนกสังขาร คือ สังขารที่ไม่มีใจครองนั้น เป็นทุกข์ตามธรรดาอยู่แล้ว เพราะประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีการเบียดเบียนให้เร่าร้อน และมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่จะเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้น
หากขาดการพิจารณาให้รู้ซึ้งถึงความจริงแห่งสังขารเหล่านั้น ความทุกข์ก็จะเจริญขึ้น
ซึ่งทรงแสดงว่า เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้ คือจะหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เป็นสภาวทุกข์ ๓ ประการ อันได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย และปกิณกทุกข์ ทุกข์จร คือโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นต้นไปได้

อนึ่ง ในส่วนที่ทรงอุปมานั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่า อารมณ์อันเป็นที่รักใคร่พอใจในโลก เปรียบขันน้ำสำริด ปุถุชนเปรียบเหมือนคนเดินทางไกลในท่ามกลางแสงแดดอันแผดกล้า คนที่ถูกอารมณ์อันเป็นที่รักใคร่ชอบใจ ชักนำให้เกิดความใคร่พอใจ เหมือนคนที่มีผู้ชักชวนให้ดื่มน้ำในขันสำริด
กัลยาณมิตรทั้งหลายมีพระผู้พระภาคเจ้า อุปัชฌายาจารย์ และท่านผู้หวังดีเหล่าอื่น เหมือนคนที่บอกความจริงในขันสำริดให้ฟังตามความเป็นจริง ทั้งในแง่ที่เป็นคุณ คือดับความกระหายได้ และในแง่ที่เป็นโทษ คือ ได้รับความทุกข์ปางตายหรือถึงตาย ซึ่งเป็นงานที่ผู้มีใจเอ็นดูต่อบุคคลอื่น พึงทำได้ อย่างที่สวดสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า

“ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศาสนติ์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศก วิโยคภัย” นั่นเอง

ซึ่งผู้ที่เคยมีความรักใคร่พอใจในอารมณ์เหล่านั้น อาศัยการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเป็นต้น จะต้องพิจารณาแล้วเลือกเอาเอง ที่แน่นอนคือ ผลจะออกมาตามที่ท่านบอกไว้
ในกรณีของผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ เห็นคุณโดยความเป็นคุณ เมื่อปรารถนาความสวัสดีแก่ตนย่อมเห็นว่า โทษที่กล่าวนั้นมีทั้งในปัจจุบันและต่อ ๆ ไป และเป็นของมีโทษต่าง ๆ แม้จะให้ความสุขก็เป็นความสุขเพียงเล็กน้อยแต่มีทุกข์มากกว่า จึงเกิดความพอใจที่จะสำรวมระวังอินทรีย์
รู้ประมาณในการบริโภคภัตตาหาร ประกอบความเพียรทางกายและจิต ทำกิเลสให้หมดสิ้นไป ย่อมได้รับความสุขอย่างยิ่งในนิพพาน

ท่านย่อมเป็นเหมือนบุรุษที่ไม่ยอมดื่มน้ำในขันสำริด มรรค ๔ เหมือนกับฐานะ ๔ มีน้ำดื่มเป็นต้น การที่บุคคลนั้นได้ดื่มน้ำอมฤตคือ มรรค ๔ แล้ว ทำให้ตัณหาสิ้นไป จนบรรลุนิพพานนั้น เป็นเช่นเดียวกับบุคคลนั้นได้ไปสู่ที่ซึ่งตนปรารถนาจะไปได้ตามความประสงค์
อีกประการหนึ่ง ที่ทรงแสดงว่าเธอย่อมรู้อุปธิ เหตุเกิดแห่งอุปธิ ความดับแห่งอุปธิ และปฏิทาให้ถึงซึ่งความดับแห่งอุปธิ แม้ในชรามรณะ ก็ทรงแสดงทำนองเดียวกัน และแม้ในกิเลสเหล่าอื่น ก็จะต้องกำหนดรู้ ๔ ขั้นตอนอย่างนี้ คือรู้ตามสูตรของอริยสัจ ๔ นั่นเอง ได้แก่

- รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถ่องแท้ในเรื่องนั้น ๆ
- รู้สาเหตุของสิ่งนั้น ๆว่ามาจากไหน
- รู้ความดับไปโดยไม่เหลือแห่งสิ่งนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร
- รู้กรรมวิธี หลักการนำไปสู่การดับสิ่งเหล่านั้นว่ามีอะไรบ้าง แล้วลงมือปฏิบัติไปตามข้อนั้น

ความรู้ตามขั้นตอนทั้ง ๔ ระดับนี้ย่อมนำไปใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การรักษาโรค การศึกษาเล่าเรียน หรือการแก้ปัญหาระดับชาติ ข้อสำคัญคือความรู้แต่ละระดับจะบกพร่องผิดพลาดไม่ได้ เพราะถ้าเกิดบกพร่องในจุดหนึ่ง ผลที่เกิดจะบกพร่องตามไปด้วย

เรื่องของธาตุ พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาณเถร)
-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pra-thep-dilok/pra-thep-dilok-02.htm

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 31, 2012, 09:58:08 pm โดย ฐิตา »