อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 21 : ปกิณณกวรรค
ฐิตา:
06. เรื่องภิกษุวัชชีบุตร
พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงไพศาลี ประทับอยู่ในป่ามหาวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปหนึ่ง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ กล่าวหมายเอาว่า
ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปหนึ่ง อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลี ในสมัยนั้น ในกรุงไพศาลี มีการเล่นมหรสพเฉลิมฉลองเทศกาลตลอดคืนยังรุ่ง ครั้งนั้น ภิกษุนั้น ได้ยินเสียงกึกก้องของดนตรีที่เขาตีและประโคม จึงคร่ำครวญอยู่ว่า “พวกเราผู้เดียว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนไม้ที่เขาทิ้งแล้วในป่า ในราตรีเช่นนี้ บัดนี้ ใครเล่า? ที่เลวกว่าพวกเรา”
เทวดาผู้สิงอยู่ในป่าแห่งนั้น ได้ยินคำรำพึงรำพันของภิกษุรูปนั้นแล้ว กล่าวว่า “ท่านผู้เดียว อยู่ในป่า เหมือนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า ชนเป็นอันมากย่อมอิจฉาท่านนั้น ราวกะว่าพวกสัตว์นรก อิจฉาชนทั้งหลายผู้ไปสู่สวรรค์ ฉะนั้น”
เทวดานั้น มีความต้องการจะให้ภิกษุนั้นเกิดความสังเวชใจ อยากอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป ในวันรุ่งขึ้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พระศาสดา มีพระประสงค์จะตรัสบอก ถึงความยากลำบากของการเป็นฆราวาส และคุณความดีของการมีเพศเป็นบรรพชิต จึงตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
ทุปฺปพฺพชฺชํ ทุรภิรมํ
ทุราวาสา ฆรา ทุกขา
ทุกฺโข สมานสํวาโส
ทุกขานุปติตทฺธคู
ตสฺมา น จทฺธคู สิยา
น จ ทุกฺขานุปติโต สิยา.
การบวชก็ยาก
การยินดีในการบวชก็ยาก
เรือนที่ปกครองไม่ดี ให้เกิดทุกข์
การอยู่ร่วมกับผู้ไม่เสมอกันเป็นทุกข์
ผู้เดินทางไกล ผู้ถูกทุกข์ติดตาม
เพราะฉะนั้น ไม่พึงเป็นผู้เดินทางไกล
และพึงเป็นผู้อันทุกข์ิิติดตาม.
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นเบื่อหน่ายในทุกข์ที่พระองค์ตรัสในฐานะ 5 แล้ว ทำลายสังโยชน์ อันเป็นเบื้องต่ำ 5 อันเป็นส่วนเบื้องสูง 5 บรรลุอรหัตตผลแล้ว.
ฐิตา:
07. เรื่องจิตตคฤหบดี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน ทรงปรารภจิตตคฤหบดี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สทฺโธ สีเลน สมปนฺโน เป็นต้น
จิตตคฤหบดี ภายหลังจากฟังธรรมของพระสารีบุตรเถระแล้ว ก็ได้บรรลุอนาคามิผล วันหนึ่ง จิตคฤหบดี บรรทุกอาหารและสิ่งของอื่นๆลงในเกวียนจำนวน 500 เล่ม เพื่อนำไปถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ที่วัดพระเชตวัน เมื่อเดินทางมาด้วยความเร็ววันละ 1 โยชน์ก็ได้มาถึงกรุงสาวัตถีภายใน 1 เดือน จากนั้นจิตตคฤหบดีพร้อมด้วยบริวารก็เดินทางต่อไปที่วัดพระเชตวัน ขณะที่จิตตคฤหบดีและบริวารกำลังเข้าไปถวายบังคมพระศาสดาอยู่นั้น ก็ได้มีดอกไม้หลากสีตกลงมาจากท้องฟ้าเหมือนห่าฝน จิตตคฤหบดีได้พำนักอยู่ในวัดพระเชตวันเป็นเวลา 1 เดือน และได้ถวายภัตตาหารแก่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ตลอดจนให้การเลี้ยงดูแก่บริวารจำนวน 3000 คน และตลอดเวลานั้น เทวดาทั้งหลายก็ได้นำอาหารและสิ่งของอื่นๆมาใส่ลงในเกวียนจนเต็มอยู่เสมอ
เมื่อถึงวันเดินทางกลับ จิตตคฤหบดีได้ขนสิ่งของทั้งหมดในเกวียนทุกเล่มเข้าไปเก็บไว้ในห้องๆหนึ่งในวัดพระเชตวัน เพื่อถวายแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ พวกเทวดาก็ได้นำสิ่งที่มีค่าต่างๆมาบรรจุลงจนเต็มเกวียนทุกเล่มที่ว่างเปล่านั้น พระอานนทเถระเห็นความร่ำรวยและลาภสักการะของจิตตคฤหบดีมีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จึงทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สักการะนี้เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั่น แม้ผู้มาสู่สำนักของพระองค์เท่านั้นหรือ ? หรือแม้ว่าไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ?”
พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ เมื่อจิตตคฤหบดี นั้น มาสู่สำนักของเราก็ดี ไปในที่อื่นก็ดี สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น เพราะอุบาสกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยศีล อุบาสกผู้เห็นปานนี้ ย่อมไปประเทศใดๆ ลาภสักการะย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้นๆทีเดียว”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สทโธ สีเลน สมปนฺโน
ยโสโภคสมปปิโต
ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ
ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต ฯ
ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
เพียบพร้อมด้วยยศ และโภคะ
จะไปประเทศใดๆ
ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้ว
ในประเทศนั้นๆทีเดียว.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
08. เรื่องนางจูฬสุภัททา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภธิดาของอถาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อจูฬสุภัททา ตรัสสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ เป็นต้น
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และอุคคเศรษฐีแห่งอุคคนคร เป็นสหายกัน และเคยไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักของอาจารย์คนเดียวกัน อุคคเศรษฐ๊มีบุตรชายในขณะที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีบุตรสาว เมื่อบุตรสาวและบตรชายของสองเศรษฐีเติบโตเป็นสาวเป็นหนุ่มกันแล้ว อุคคเศรษฐีก็ได้สู่ขอบุตรสาวของนาถบิณฑิกเศรษฐีมาแต่งงานกับบุตรชายของตน เมื่อจัดงานแต่งงานกันเรียบร้อยแล้ว บุตรสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี คือ นางจูฬสุภัททา นี้จำต้องไปอยู่ที่บ้านของบิดามารดาของฝ่ายสามีในอุคคนคร อุคคเศรษฐีนับถือศาสนาของท่านนิครนถนาฏบุตรที่ จึงบางครั้งได้นิมนต์พวกอเจลกะ(ชีเปลือย) มาที่บ้าน และได้บังคับให้นางจูฬสุภัททาเข้าไปทำความเคารพแต่นางปฏิเสธ นางได้เรียนมารดาของสามีว่า นางนับถือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์ และนางได้พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าว่า
“ท่านมีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ท่านเดินยืนเรียบร้อย มีจักษุทอดลง พูดพอประมาณ พวกสมณะของฉัน เป็นเช่นนั้น. กายกรรมของท่านสะอาด วจีกรรมไม่มัวหมอง มโนกรรมหมดจดดี พวกสมณะของฉัน เป็นเช่นนั้น. ท่านไม่มีมลทินมีรัศมีดุจสังข์และมุกดา บริสุทธิ์ทั้งภายใน ภายนอก เต็มแล้วด้วยธรรมอันหมดจดทั้งหลาย พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น. โลกฟูขึ้นเพราะลาภ และฟุบลงเพราะเสื่อมลาภ ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะลาภและเสื่อมลาภ พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น. โลกฟูขึ้นเพราะยศและฟุบลงเพราะเสื่อมยศ ท่านผู้ตั้งอยู่อย่างเดียวเพราะยศและเสื่อมยศ พวกสมณะของฉัน เป็นเช่นนั้น. โลกฟูขึ้นเพราะสรรเสริญ และฟุบลงแม้เพราะนินทา ท่านผู้สม่ำเสมอในเพราะนินทาและสรรเสริญ พวกสมณะของฉัน เป็นเช่นนั้น. โลกฟูขึ้นเพราะสุข และฟุบลงแม้เพราะทุกข์ ท่านไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ พวกสมณะของฉันเป็นเช่นนั้น”
เมื่อภรรยาของอุคคเศรษฐีได้ฟังคำพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าเช่นนั้นแล้ว ก็มีความกระตือรือร้นจะได้พบ นางยินยอมให้นางจูฬสุภัททาอาราธนาพระศาสดาและพระสงฆ์สาวกมาที่บ้านของนางได้ นางจูฬสุภัททาจึงได้ขึ้นไปยืนอยู่บนปราสาทชั้นบน หันหน้าตรงไปทางวัดพระเชตวัน ไหว้โดยเคารพด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ระลึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลาย ทำการบูชาด้วยของหอม เครื่องอบ ดอกไม้และธูป กล่าวอัญเชิญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อฉันเช้าในวันพรุ่งนี้ ด้วยสัญญาณของข้าพเจ้า ขอพระศาสดาจงทราบว่าเป็นผู้อันข้าพเจ้านิมนต์แล้ว” ว่าดังนี้แล้ว ก็โยนดอกมะลิ 8 กำ ไปในอากาศ
ดอกมะลิ 8 กำนั้นก็ได้ลอยผ่านอากาศไปที่วัดพระเชตวันและไปหยุดอยู่เบื้องบนพระศาสดา ขณะทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท 4
เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี บิดาของนางจูฬสุภัททา เข้าไปทูลอาราธนาพระศาสดา เพื่อเสด็จรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของท่านเศรษฐีในวันรุ่งขึ้น แต่พระศาสดาไม่ทรงรับคำอาราธนานั้น ด้วยตรัสว่า พระองค์ได้รับคำอาราธนาของนางจูฬสุภัททาไว้แล้ว
อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีความแปลกใจในพระดำรัสของพระศาสดา จึงกราบทูลถามว่า “นางสุภัททา อยู่ในที่ไกลในที่สุดประมาณ 120 โยชน์ แต่ที่นี้มิใช่หรือ ? (จะมาอาราธนาพระองค์ได้อย่างไร)พระเจ้าข้า)”
พระศาสดาตรัสว่า “เป็นความจริง คฤหบดี! ก็สัตบุรุษทั้งหลาย แม้อยู่ในที่ไกล ย่อมปรากฏเหมือนยืนอยู่เฉพาะหน้า”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ
หิมวนฺโตว ปพพโต
อสนฺเตตฺถ น ทสฺสนฺติ
รตตึ ขิตฺตา ยถา สรา ฯ
สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์
ส่วนอสัตบุรุษ ย่อมไม่ปรากฏในที่นี้
เหมือนลูกศรอันเขาซัด(ยิง)ไปในราตรี ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอรยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตตผลเป็นต้น.
พอในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาก็ได้เสด็จไปที่บ้านของอุคคเศรษฐี บิดาของสามีของนางจูฬภัททา ในการเสด็จครั้งนี้พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ประทับในเรือนยอด 500 หลัง ที่วิศนุกรรมเทพบุตรเนรมิต ตามเทวบัญชาของท้าวสักกเทวราช ล่องลอยไปทางอากาศสู่จุดหมายปลายทาง เมื่อบิดามารดาของสามีของนางจูฬสุภัททาแลเห็นความตระการตาของขบวนเสด็จของพระศาสดา ก็เกิดเกิดความประทับใจและเข้าไปถวายบังคม และถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 7 วัน
ฐิตา:
09. เรื่องพระเถระชื่อเอกวิหารี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตะวัน ทรงปรารภพระเถระชื่อเอกวิหารี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เอกาสนํ เป็นต้น
พระเอกวิหารีเถระ ไม่ชอบสุงสิงกับภิกษุองค์อื่นๆ ชอบอยู่องค์เดียว จนเป็นที่ปรากฏและกล่าวขวัญในหมู่พุทธบริษัท 4 ต่อมาภิกษุทั้งหลายกราบทูลวัตรปฏิบัติของพระเถระนี้แด่พระศาสดา พระศาสดาทรงประทานสาธุการว่า “สาธุ สาธุ” แล้วทรงสั่งสอนว่า “ธรรมดาภิกษุ พึงเป็นผู้สงัด”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส พระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
เอกาสนํ เอกเสยฺยํ
เอโก จรมตนฺทิโต
เอโก ทมยมตฺตานํ
วนนฺเต รมิโต สิยา ฯ
ภิกษุพึงเสพที่นั่งคนเดียว ที่นอนคนเดียว
พึงเป็นผู้เดียว ไม่เกียจคร้านเที่ยวไป
เป็นผู้เดียว ทรมานตน
เป็นผู้ยินดียิ่งในราวป่า.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดปัตติผลเป็นต้น ตั้งแต่นั้นมา มหาชน ปรารถนาการอยู่คนเดียว.
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version