อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 22 : นิรยวรรค

(1/2) > >>

ฐิตา:



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 22 : นิรยวรรค
01. เรื่องนางปริพาชิกาชื่อสุนทรี

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภนางปริพาชิกาชื่อสุนทรี   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อภูตวาที  เป็นต้น

เมื่อผู้คนที่หันมานับถือพระศาสดามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ   พวกอัญญเดียรถีร์(ผู้ถือศาสนาอื่น)พบว่าศาสนิกชนของฝ่ายตนได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ  ดังนั้น  พวกอัญญเดียรถีย์จึงมีความอิจฉาริษยาในพระศาสดา   และพวกเขายังกลัวด้วยว่าสถานการณ์คงจะเลวร้ายลงเรื่อยๆหากว่าพวกเขาไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของพระศาสดา  เพราะฉะนั้น  พวกเขาจึงส่งคนไปเชิญนางสุนทรีปริพาชิกามาพบและปรึกษากับนางให้ใช้ความงามและความฉลาดของนางเป็นเครื่องมือกล่าวโทษเพื่อทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของพระสมณโคดม  ทำให้มหาชนหลงเชื่อ  ก็จะมีผลทำลายลาภสักการะของพระสมณโคดมได้ในที่สุด

นางสุนทรีเข้าใจสิ่งที่พวกอัญญเดียรถีย์คาดหวังจากนางเป็นอย่างดี ดังนั้นในตอนเย็น  นางก็จะทำทีเดินมุ่งหน้าไปทางวัดพระเชตวัน   เมื่อมีใครถามว่านางจะไปไหน   นางก็จะตอบว่า  “ฉันกำลังจะไปสำนักพระสมณโคดม  ฉันจะอยู่ในพระคันธกุฏีเดียวกันกับพระสมณโคดมทั้งคืน” หลังจากนั้น  นางก็จะไปพักอยู่ที่สำนักของพวกอัญญเดียรถีย์  พอถึงรุ่งเช้าในวันรุ่งขึ้น  นางก็ทำทีว่าจะเดินกลับบ้าน  และหากมีใครถามว่าไปไหนมา  นางก็จะตอบว่า “ฉันเพิ่งกลับจากพระคันธุฎี  หลังจากที่เมื่อคืนนี้ได้ไปมีความสุขทางเพศกับพระสมณโคดมมา”  นางทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลา 2 -3  วัน  พอในวันที่ 4  พวกอัญญเดียรถีย์ก็ได้ไปจ้างพวกนักเลงให้ทำการสังหารชีวิตนางสุนทรีแล้วหมกศพของนางไว้ที่กองขยะดอกไม้ใกล้วัดพระเชตวัน  ในวันรุ่งขึ้น  พวกอัญญเดียรถีย์ก็ได้ปล่อยข่าวว่านางสุนทรีปริพาชิกาหายตัวไป และได้นำความขึ้นกราบทูลพระราชาพร้อมแจ้งเบาะแสว่านางไปที่วัดพระเชตะวันในช่วง 3 วันที่ผ่านมา  พระราชาทรงอนุญาตให้ทำการตรวจค้นตามที่ต่างๆได้ตามที่ต้องการ

เมื่อคนของพวกอัญญเดียรถีย์ออกไปค้นหาก็ได้พบศพของนางสุนทรีหมกอยู่ในกองขยะดอกไม้ใกล้วัดพระเชตวัน  จึงได้นำศพนางไปที่พระราชวัง  แล้วกราบทูลพระราชาว่า   สาวกของพระสมณโคดมเป็นผู้ฆ่านางสุนทรี  เพื่อปกปิดเรื่องที่นางมีเพศสัมพันธ์กับพระสมณโคดม  พระราชาตรัสตอบว่า  หากเป็นเช่นนั้นก็ขอให้แห่ศพนางไปประจานให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้โดยทั่วกัน   ดังนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ก็จึงแห่ศพไปประจานตามที่ต่างๆจนทั่วเมือง  โดยได้ประกาศว่า  “ขอท่านทั้งหลาย จงดูการกระทำของพวกสมณศากยบุตรเถิด”  จากนั้นก็เที่ยวชี้หน้าด่าว่าพระภิกษุที่พวกตนพบในเมืองบ้าง  นอกเมืองบ้าง ในป่าบ้าง ภิกษุทั้งหลายได้นำความนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น แม้พวกเธอก็จงกล่าวคำเหล่านี้พูดตอบโต้คนเหล่านั้นบ้าง” จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อภูตวาที  นิรยํ  อุเปติ
โย  วาปิ  กตฺวา  น  กโรมิจฺจาห
อุโภปิ  เต  เปจฺจ  สมา  ภวนฺติ
นิหีนกมฺมา  มนุชา  ปรตฺถ ฯ

ผู้มักพูดไม่จริง  ย่อมเข้าถึงนรก
หรือแม้ผู้ใดทำแล้ว  กล่าวว่า  ข้าพเจ้ามิได้ทำ
ชนแม้ทั้งสองนั้น  เป็นมนุษย์มีกรรมเลวทราม
ละไปในโลกอื่นแล้ว  ย่อมเป็นผู้เสมอกัน.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ต่อมา  พระราชาทรงส่งราชบุรุษออกติดตามหาตัวฆาตกรที่สังหารโหดนางสุนทรี  เมื่อทำการสืบสวนในทางลับแล้ว  ก็พบว่าพวกฆาตรกรที่สังหารนางสุนทรีคือพวกนักเลงสุรา   เมื่อทำการจับกุมนักเลงสุราเหล่านี้แล้วก็ได้ตัวไปถวายพระราชา   เมื่อถูกสอบสวนพวกเขาก็ได้รับสารภาพว่าถูกว่าจ้างโดยพวกอัญญเดียรถีย์ให้ฆ่านางสุนทรีแล้วนำศพของนางไปซุกไว้ที่กองขยะดอกไม้ใกล้วัดพระเชตวัน  พระราชาจึงมีรับสั่งให้พวกฆาตกรเหล่านี้ตระเวนไปร้องป่าวประกาศจนทั่วเมืองว่า “นางสุนทรีนี้  ถูกพวกข้าพเจ้าผู้ใคร่จะใส่ร้ายพระสมณโคดมฆ่า  โทษของพระสาวกของพระสมณโคดมไม่มี  เป็นโทษของพวกข้าพเจ้าฝ่ายเดียว” ผู้คนที่เคยหลงเชื่อต่างก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง  ทั้งพวกเดียรถีย์และพวกฆาตกรต่างได้รับโทษทัณฑ์ทางอาญาในข้อหาฆ่าคน จำเดิมแต่นั้นมา เกียรติภูมิและลาภสักการะของพระศาสดาและพระสาวกทั้งหลายยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเก่า.


ฐิตา:


02. เรื่องสัตว์ผู้ถูกทุกข์เบียดเบียน

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภสัตว์ทั้งหลายผู้อันอานุภาพแห่งผลทุจริตเบียดเบียน   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กาสาวกัณฐา  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ขณะที่พระมหาโมคคัลลานเถระเดินลงมาจากเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยพระลักขณเถระ   เห็นร่างของเหล่าสัตว์นรกมีเปรตผู้มีแต่ร่างกระดูกเป็นต้น  จึงทำการยิ้มแย้ม  เมื่อพระลักขณเถระได้ถามถึงสาเหตุของการทำยิ้มแย้มนั้น  ท่านกล่าวว่าอย่าเพิ่งมาถามตอนนี้  ให้ไปถามในตอนที่เข้าเฝ้าพระศาสดา  เมื่อถึงสำนักของพระศาสดาแล้วพระมหาโมคคัลลานะได้บอกกับพระลักขณเถระว่า นอกจากท่านจะเห็นสัตว์นรกแล้ว  ท่านก็ยังเห็นภิกษุ 5 รูปมีร่างกายถูกไฟไหม้  พระศาสดาเมื่อทรงสดับเรื่องพระภิกษุ 5 รูปถูกไฟนรกแผดเผานั้นแล้ว  ได้ตรัสบอกว่า  พระภิกษุเหล่านั้นเคยบวชในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า  เป็นผู้ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม  เพราะกรรมชั่วนั้นเองจึงได้ไปบังเกิดในนรก
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

กาสาวกณฺฐา  พหโว
ปาปธมฺมา  อสญฺญตา
ปาปา  ปาเปหิ  กมฺเมหิ
นิรยํ  เต  อุปปชฺชเร ฯ

ชนเป็นอันมาก  มีคอพันด้วยผ้ากาสาวะ
เป็นผู้มีธรรมลามก  ไม่สำรวม
ชนผู้ลามกเหล่านั้น  ย่อมเข้าถึงนรก
เพราะกรรมลามกทั้งหลาย.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผล.

ฐิตา:


03 .เรื่องภิกษุผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำชื่อวัคคุมุทา

พระศาสดา  เมื่อเสด็จอาศัยเมืองไพศาลี  ประทับอยู่ในมหาวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำชื่อวัคคุมุทา
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  เสยฺโย  อโยคุโฬ เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ได้เกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นในแคว้นวัชชี   ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา  ต้องการจะมีอาหารขบฉันอย่างพอเพียง  จึงได้อวดอ้างอุตตริมนุษยธรรมว่าพวกตนได้สำเร็จมรรคผล   พวกชาวบ้านเชื่อว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุมรรคผลจริงๆ จึงได้ถวายภัตตาหารเป็นจำนวนมาก  แก่ภิกษุเหล่านั้นเ เมื่อออกพรรษปวารณาแล้ว  ภิกษุทั้งหลายจากทั่วประเทศได้ดินทางไปเข้าเฝ้าพระศาสดา  พวกภิกษุจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาก็ไปเฝ้าพระศาสดาเช่นเดียวกัน  ภิกษุเหล่านี้มีร่างกายอ้วนท้วนแข็งแรงในขณะที่ภิกษุจากที่อื่นๆมีร่างการซูบซีดผอมโซ  พระศาสดาได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของแต่ละรูปในช่วงเข้าพรรษา   เมื่อมาถึงพวกภิกษุจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา  พระศาสดาได้ตรัสถามถึงปัญหาของอาหารการขบฉันว่ามีความลำบากหรือไม่  พระเหล่านี้ได้กราบทูลว่าพวกตนไม่มีความลำบากในเรื่องของอาหารและการขบฉันต่อย่างใด

พระศาสดาได้ตรัสถามว่า  เพราะเหตุใดพระเหล่านี้จึงไม่มีปัญหาในเรื่องอาหารและการขบฉันในระหว่างพรรษา  พระเหล่านี้กราบทูลว่าที่มีอาหารและของขบฉันอย่างเพียงพอก็เพราะพวกตนอวดอ้างว่าได้บรรลุมรรคผลจึงทำให้ประชาชนมีความเลื่อมใสนำภัตตาหารไปถวายเป็นจำนวนมาก   พระศาสดาตรัสถามว่า ได้บรรลุฌาน  มรรค หรือผลใดๆหรือไม่   เมื่อพระเหล่านี้ปฏิเสธ   พระศาสดาจึงได้ทรงติเตียนว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง  และได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

เสยฺโย  อโยคุโฬ  ภุตฺโต
ตตฺโต  อคฺคิสิขูปโม
ยญฺเจ  ภุญฺเชยฺย  ทุสฺสีโล
รฏฺฐปิณฺฑํ  อสญฺญโต.

ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ
ภิกษุบริโภค ยังดีกว่า
ภิกษุผู้ทุศีล  ไม่สำรวม
บริโภคก้อนข้าว  ของชาวแว่นแคว้น
จะประเสริฐอะไร.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 

ฐิตา:


04. เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จตฺตาริ  ฐานานิ  เป็นต้น

นายเขมกะ  นอกจากจะมีชาติตระกูลดี   ก็ยังเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ   เป็นที่ถูกตาต้องใจของบรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ทั้งหลาย   ซึ่งแต่อนงค์นางต่างยินยอมพร้อมใจพลีร่างมีเพศสัมพันธ์กับนายเขมะคนนี้ทั้งนั้น   นายเขมกะเองก็ชอบเรื่องแบบนี้ด้วย จึงได้ประกอบกิจกรรมที่เรียกว่า “ปรทารกรรม”(เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น) อยู่เป็นอาจิณ  พวกราชบุรุษเคยจับนายเขมะในข้อหาเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่นและนำตัวไปถวายเจ้าปเสนทิโกศลถึง 3 ครั้ง   แต่พระราชามีรับสั่งให้ปล่อยตัวไปทุกครั้ง  เพราะว่านายเขมะผู้นี้เป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี   เมื่อท่านเศรษฐีทราบเรื่อง ก็ได้นำตัวนายเขมกะเข้าเฝ้าพระศาสดา  และกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่นายเขมกะนี้”

พระศาสดาทรงแสดง   สังเวคกถา (คำที่ชวนให้เกิดความสลดใจ)  และเมื่อจะทรงแสดงโทษในการเสพภรรยาของคนอื่น  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

จตฺตาริ   ฐานานิ  นโร  ปมตฺโต
อาปชฺชตี  ปรทารูปเสวี
อปุญฺญลาภํ  นนิกามเสยฺยํ
นินทํ  ตติยํ  นิรยํ  จตุตฺถํ
อปุญฺญลาโภ  จ  คตี  จ   ปาปิกา
ภีตสฺส  ภีตาย  รตี  จ   โถกิกา
ราชา จ  ทณฺฑํ  ครุกํ  ปเณติ
ตสฺมา  นโร  ปรทารํ  น เสเว.

นระผู้ประมาท  ชอบเสพภรรยาของคนอื่น
ย่อมถึงฐานะ  4  อย่าง คือ
การได้สิ่งที่มิใช่บุญ(เป็นที่ 1)
การนอนไม่ได้ตามความปรารถนา(เป็นที่2)
การนินทาเป็นที่ 3  นรกเป็นที่ 4
ได้สิ่งมิใช่บุญอย่าง 1
คติลามกอย่าง 1
ความยินดีของบุรุษผู้กลัว  กับด้วยหญิงผู้กลัว   มีประมาณน้อยอย่าง 1
พระราชาย่อมลงอาชญาอันหนักอย่าง 1
เพราะฉะนั้น  นระไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  นายเขมกะ  บรรลุโสดาปัตติผล   ตั้งแต่นั้นมา  มหาชนนอนตาหลับ.

พระคัมภีร์ยังได้เล่าถึงบุรพกรรมของนายเขมะว่า  ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะนั้น  นายเขมะเป็นนักมวยที่เก่งที่สุด   และมีความเข้มแข็งมาก  ได้ยกธงทอง 2  แผ่นขึ้นไว้ที่สถูปทองคำของพระกัสสปพุทธเจ้า  แล้วตั้งความปรารถนาว่า “เว้นหญิงที่เป็นญาติสาโลหิตเสีย  หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัด” (ฐเปตฺวา  ญาติสาโลหิติตฺถิโย  อวเสสา  มํ  ทิสฺวา  รชนฺติ ) เพราะฉะนั้น  เมื่อเขาไปเกิดในภพชาติใดก็ตาม   หญิงคนใดได้เห็นเขาแล้ว  หญิงคนนั้นก็จะเกิดความหลงใหลในความมีเสน่ห์ของเขา  จนคุมสติคุมอารมณ์อยู่มิได้

(หมายเหตุ  คำอธิษฐานของนายเขมกะที่เป็นภาษาบาลีว่า   ฐเปตฺวา  ญาติสาโลหิติตฺถิโย  อวเสสา  มํ  ทิสฺวา  รชนฺติ  (อ่านว่า  ถะเปดตะวา  ยาติสาโลหิติดถิโย  อะวะเสสา  มัง  ทิดสะหวา  ระชันติ)  นี้ได้กลายเป็นมนต์สร้างเสน่ห์วิเศษ  ที่พวกหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่ต้องการสร้างเสน่ห์ให้แก่ตัวเองนำไปท่องบ่นภาวนา)
 

ฐิตา:


05. เรื่องภิกษุว่ายาก

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กุโส  ยถา  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ภิกษุรูปหนึ่ง  ดึงหญ้าต้นหนึ่งขาดโดยไม่เจตนา   เมื่อเกิดความสงสัยว่าจะเป็นอาบัติหรือไม่  จึงไปถามภิกษุอีกรูปหนึ่ง  ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากภิกษุหัวดื้อว่ายากรูปนี้ว่า   “การดึงต้นหญ้าให้ขาดนี้  เป็นความผิดเล็กๆน้อยๆเท่านั้น  แค่ท่านแสดงอาบัติเท่านั้น  ก็สามารถพ้นจากอาบัตินี้ได้   ท่านอย่าได้วิตกกังวลไปเลย”   พอพูดจบ  พระรูปที่อธิบายนั้นก็เอาสองมือถอนหญ้าเพื่อเป็นการพิสูจน์ความคิดของตนเองว่าการถอนหญ้าเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลายได้นำความขึ้นกราบทูลพระศาสดา   พระศาสดาจึงตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

กุโส  ยถา  ทุคฺคหิโต
หตฺถเมวานุกนฺตติ
สามญฺญํ  ทุปฺปรามฏฺฐํ
นิรยายูปกฑฺฒติ  ฯ

ยงฺกิญฺจิ  สิถิลํ  กมฺมํ
สงฺกิลิฏฺฐญฺจ  ยํ  วตํ
สงฺกสฺสรํ  พฺรหฺมจริยํ
น  ตํ  โหติ  มหปฺผลํ ฯ

กยิรา  เจ  กยิราเถนํ
ทฬฺหเมนํ  ปรกฺกเม
สิถิโล  หิ ปริพฺพาโช
ภิยฺโย  อากิรเต  รชํ ฯ

หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมตามบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องสมณะ  ที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
ย่อมคร่าเขาไปในนรก ฉันนั้น.

การงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน
วัตรใดที่เศร้าหมอง
พรหมจรรย์ที่ระลึกด้วยความรังเกียจ
กรรมทั้ 3 อย่างนี้  ย่อมไม่มีผลมาก.

หากว่าบุคคลพึงทำกรรมใด
ควรทำกรรมนั้นจริง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่น
เพราะว่าสมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน
ยิ่งเกลี่ยธุลีลง.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น  ภิกษุแม้นั้น  ดำรงอยู่ในความสังวรแล้ว  ภายหลังเจริญวิปัสสนา  บรรลุพระอรหัตตผล.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version