อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 22 : นิรยวรรค
ฐิตา:
06. เรื่องหญิงขี้หึง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงขี้หึง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อกดํ เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง หญิงผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี เป็นหญิงขี้หึงอย่างรุนแรง วันหนึ่ง นางมีความหึงหวงที่สามีมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรับใช้ ดังนั้น ในวันหนึ่ง จึงจับหญิงรับใช้นั้นมามัดมือมัดเท้า ตัดหูและตัดจมูก แล้วกักขังไว้ในห้องว่างห้องหนึ่ง ปิดประตูอย่างแน่นหนา แล้วชวนสามีไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวัน หลังจากที่หญิงนี้กับสามีคล้อยหลังไปไม่นาน ก็มีพวกญาติๆของหญิงรับใช้นี้มาที่บ้าน และพบว่าหญิงรับใช้นี้ถูกผูกมัดและกักขังอยู่ในห้อง ก็ได้ช่วยกันพังประตูเข้าไป ช่วยกันแก้มัด พาออกมาจากห้องนั้น แล้วก็ได้พากันไปที่วัดพระเชตวัน ในช่วงเวลาพอดีกับที่พระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ หญิงรับใช้นั้นได้กราบทูลพระศาสดาถึงเรื่องที่นายสาวของนางได้ก่อกรรมทำเข็ญกับนางทุกอย่าง พระศาสดา ทรงสดับคำของหญิงรับใช้นั้นแล้ว ตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อย บุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้การกระทำนี้ของเรา ส่วนสุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ ก็ควรทำ เพราะขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการตามเผาผลาญในภายหลัง ส่วนสุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย
ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกฏํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย
ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ ฯ
กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะกรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง
ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน
กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคลทำแล้วดีกว่า.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง อุบาสกและหญิงนั้น บรรลุโสดาปัตติผล ชนทั้หลายปลดปล่อยหญิงรับใช้นั้นให้เป็นไท และทำให้เป็นหญิงมีปกติประพฤติธรรม.
ฐิตา:
07. เรื่องอาคันตุกภิกษุ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้อาคันตุกะหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า นครํ ยถา เป็นต้น
พวกภิกษุที่เข้าจำพรรษาอยู่ในปัจจันตนคร(เมืองชายแดน) ในเดือนแรกของการจำพรรษา อยู่อย่างปกติสุข มีชาวบ้านให้ความอุปถัมภ์เป็นอย่างดี แต่ในระหว่างเดือนที่สอง บ้านเมืองถูกปล้นสะดมและชาวบ้านถูกจับเป็นตัวประกัน พวกชาวบ้านจึงต้องช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเมือง และสร้างป้อมปราการ ไม่สามารถดูแลเรื่องปัจจัยต่างๆของภิกษุทั้งหลายได้เท่าที่ควร เมื่อถึงออกพรรษาและปวารณาแล้ว พวกภิกษุเหล่านี้ได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดา ศาสดาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพากันอยู่สบายดีหรือ ?” ได้กราบทูลถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า “ช่างเถอะ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้คิดเลย ธรรมดาว่าความอยู่เป็นสุขสำราญตลอดกาลเป็นนิตย์ อันบุคคลหาได้ยาก ธรรมดาว่าภิกษุ รักษาอัตภาพนั่นแหละ เหมือนกับพวกมนุษย์เหล่านั้น คุ้มครองนคร ฉะนั้น ย่อมควร”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
นครํ ยถา ปจฺจนฺตํ
คุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํ
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
ขณาตีตา หิ โสจนฺติ
นิรยมฺหิ สมปฺปิตาฯ
ท่านทั้งหลายควรรักษาตน
เหมือนกับพวกมนุษย์ป้องกันปัจจันตนคร
ทั้งภายในและภายนอก ฉะนั้น
ขณะอย่าเข้าไปล่วงท่านทั้งหลายเสีย
เพราะว่าชนทั้งหลายผู้ล่วงเสียซึ่งขณะ
เป็นผู้เบียดเสียดกันในนรก เศร้าโศกอยู่.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสังเวช บรรลุอรหัตตผล.
ฐิตา:
08. เรื่องนิครนถ์
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกนิครนถ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อลชฺชิตาเย เป็นต้น
ในวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เห็นพวกนิครนถ์ แล้วสนทนากันว่า “ผู้มีอายุ พวกนิครนถ์เหล่านี้ยังดีกว่าพวกอเจลก(ชีเปลือย) ซึ่งไม่ปกปิดอะไรเลย เพราะว่าพวกนิครนถ์ที่ปกปิดส่วนข้างหน้า(บาตร) ก็เห็นจะเป็นผู้มีความละอายอยู่บ้าง” พวกนิครนถ์ฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า “ พวกเราย่อมปกปิด(บาตร)เพราะเหตุว่ามีความละอายร่างกายเปลือยหามิได้ พวกเราปกปิด(บาตร)เพราะเห็นว่าละอองต่างๆมีฝุ่นและธุลีเป็นต้นนั้น เป็นของเนื่องด้วยสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้น พวกเราจึงไม่ต้องการให้ละอองต่างๆมีฝุ่นและธุลีเป็นต้นเหล่านั้น ตกลงในภาชนะใส่ข้าว(บาตร)ของพวกเราต่างหาก”
เมื่อภิกษุทั้งหลาย ได้กราบทูลคำพูดของพวกนิครนถ์ ให้พระศาสดาทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ละอายในสิ่งอันไม่ควรละอาย ไม่ละอายในสิ่งอันควรละอาย ย่อมเป็นผู้มีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแท้”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อลชฺชิตาเย ลชฺชนฺติ
ลชฺชิตาเย น ลชฺชเร
มิจฺฉาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ ทุคฺคตึ ฯ
อภเย ภยทสฺสิโน
ภเย จ อภยทสฺสิโน
มิจฺฉาทิฏฐิสมาทานา
สตฺตา คจฉนฺติ ทุคฺคตึ ฯ
สัตว์ทั้งหลาย ย่อมละอายเพราะสิ่งอันไม่ควรละอาย
ไม่ละอายเพราะสิ่งควรละอาย
สมาทานมิจฉาทิฏฐิ ย่อมถึงทุคติ.
สัตว์ทั้งหลาย มีปกติเห็นในสิ่งอันไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และมีปกติเห็นในสิ่งอันควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
สมาทานมิจฉาทิฏฐิ ย่อมถึงทุคคติ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พวกนิครนถ์เป็นอันมาก มีใจสังเวชแล้วบวช พระธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกัน.
ฐิตา:
09. เรื่องสาวกเดียรถีย์
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกสาวกเดียรถีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อวชฺเช เป็นต้น
พวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ (คนศาสนาอื่น) ไม่ต้องการให้ลูกของพวกตนไปมั่วสุมกับลูกสาวกของพระพุทธเจ้า พวกเขาได้พร่ำสอนลูกทั้งหลายว่า “สมณะพวกศากยบุตร พวกเจ้าไม่พึงไหว้ แม้วิหารของสมณะเหล่านั้น พวกเจ้าก็ไม่พึงเข้าไป” วันหนึ่ง ขณะที่ลูกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นกำลังเล่นอยู่กับลูกของชาวพุทธอยู่นั้น ก็เกิดหิวน้ำขึ้นมา ด้วยเหตุที่ลูกของอัญญเดียรถีย์ถูกพร่ำสอนไม่ให้เข้าไปในวัดของชาวพุทธ พวกเขาจึงขอร้องให้เด็กชาวพุทธคนหนึ่งไปนำน้ำมาให้พวกเขาดื่ม เด็กชาวพุทธคนนั้นก็ได้เข้าไปถวายบังคมพระศาสดาและกราบทูลขอน้ำจะเอาไปให้พวกลูกอัญญเดียรถีย์ดื่ม โดยได้กราบทูลเหตุผลว่า เด็กเหล่านั้นมารดาบิดาห้ามเข้ามาในวัดพระเชตวัน พระศาสดาตรัสว่า “เจ้าดื่มน้ำนี้เสียก่อน แล้วกลับไปบอกให้พวกเด็กเหล่านั้นมาดื่มน้ำที่นี่” เมื่อเด็กเหล่านั้นมาดื่มน้ำแล้ว พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาที่เหมาะกับนิสัยของพวกเขา ทำให้พวกเขามีศรัทธาในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และทรงให้รับศีล
เมื่อเด็กพวกนี้กลับไปบ้าน ก็ได้บอกบิดามารดาของพวกตนว่าได้ไปพบพระศาสดาในวัดพระเชตวันมา และพระศาสดาได้ประทานพระรัตนตรัยและศีลเสียอีกด้วย มารดาบิดาของพวกเด็กเหล่านั้น ต่างเดือดเนื้อร้อนใจ ร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา ว่า “ลูกของพวกเรา กลายเป็นคนมีทิฏฐิวิบัติเสียแล้ว” พวกเพื่อนบ้านได้มาพูดปลอบใจ ให้หยุดร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ และแนะนำให้พาเด็กเหล่านั้นไปวัดพระเชตวัน เพื่อมอบตัวแด่พระศาสดา เมื่อเด็กเหล่านั้นมาพร้อมหน้าพร้อมตาพร้อมด้วยมารดาบิดาของพวกเขาแล้ว พระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยความสามารถที่จะบรรลุธรรมของพวกเด็กนั้น ก็ได้แสดงธรรม ด้วยการตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
อวชฺเช วชฺชมติโน
วชฺเช อวชฺชทสฺสิโน
มิจฺฉาทิฏฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคตึ ฯ
วชฺชญฺจ วชฺชโต ญตฺวา
อวชฺชญฺจ อวชฺชโต
สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคฺคตึ ฯ
สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความรู้ว่ามีโทษในธรรมที่หาโทษมิได้
มีปกติเห็นว่าหาโทษมิได้ในธรรมที่มีโทษ
เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ”
สัตว์ทั้งหลาย รู้ธรรมที่มีโทษโดยความเป็นธรรมมีโทษ
รู้ธรรมที่หาโทษมิได้ โดยความเป็นธรรมหาโทษมิได้
เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง คนเหล่านั้นทั้งหมด ดำรงอยู่ในสรณะ 3 แล้ว ฟังธรรมอื่นๆอีกอยู่ ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version