เมื่อพระปัญจวัคคีย์หนีจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นลาภเป็นโชคของท่าน จะได้มีโอกาสทำความเพียร ครั้งเมื่อพระปัญจวัคคีย์อยู่ก็วุ่นวายก่อกวนหลายอารมณ์ บัดนี้พระปัญจวัคคีย์ออกจากท่าน พระปัญจวัคคีย์เห็นว่าพระพุทธองค์นั้นคลายออกจากความเพียรเวียนมาหาความมักมาก เพราะว่าสมัยก่อนนั้นเอาจริงเอาจังเรื่อง
อัตตกิลมถานุโยโค เรื่องการทรมาน เรื่องการขบ เรื่องการฉัน เรื่องการหลับการนอน เอาแท้ๆ เมื่อถึงคราวอันนี้แล้ว พอมาพิจารณาแล้วมันก็ไม่เป็นไป
ประพฤติด้วยทิฏฐิ ประพฤติด้วยมานะ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คิดปรารภโลกว่าเป็นธรรม คิดปรารภ
ตนว่าเป็นธรรมมันไม่ได้ปรารภธรรมะ
อย่างว่าเราจะทรมาน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนจะทำอย่างนั้นก็ปรารภว่าให้โลกสรรเสริญ ให้เขาว่านี่แหละเป็นคนเอาจริงเอาจังก็เลยทำอันนั้น
เป็นโลกหมด ทำเพื่อความยกย่องสรรเสริญ ให้เขาว่าดี ให้เขาว่าเลิศ ให้เขาว่าประเสริฐ ให้เขาว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คิดอย่างนี้แล้วจึงทำ เรียกว่ามันปรารภโลก อีกอย่างหนึ่งคือปรารภตนเอง
เชื่อมั่นในความเห็นของตนเอง เชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของตน ใครจะว่าผิดก็ช่างถูกก็ตาม ไม่เอาเป็นประมาณ ชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้คลำหน้าคลำหลัง นี่ปรารภตนเองอีกประเภทหนึ่ง
อย่าปล่อยอย่าวางด้วยความยึดมั่น
เรื่องปรารภโลกกับปรารภตนนี้ มันมีแต่เรื่องอุปาทานแน่นหนาอยู่เท่านั้น พระพุทธองค์พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่จะปรารภธรรมะ คือให้มันถูกธรรมะแล้วจึงทำไม่มี ฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นหมัน ละกิเลสไม่ได้ ท่านก็หวนมาพิจารณาใหม่คือ ที่ทำงานตั้งแต่ต้นท่านก็มาดูผลงานมัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ผลที่เกิดจากเหตุที่ท่านกระทำนั้นเป็นอย่างไร ภาวนาแล้วคิดไปลึกซึ้งแล้วเห็นว่ามันไม่ถูก มีแต่เรื่องตนเท่านั้น เรื่องโลกเท่านั้น เรื่องธรรมะเรื่องอนัตตานี้ไม่มี เรื่องสูญ เรื่องว่าง เรื่องปล่อย เรื่องวาง ไม่มี คือเรื่องปล่อยวางมันมีอยู่ แต่ว่าปล่อยโดยความยึดมั่นถือมั่น
ท่านก็คิดไปคิดมาพิจารณาดูแล้ว ถึงจะสอนลูกศิษย์เขาก็เห็นไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกให้ลูกศิษย์เข้าใจกันได้ง่าย เพราะว่าลูกศิษย์นั้นเขาแน่นเหลือเกินในการกระทำอย่างนั้น ในการสอนอย่างนั้น ในความเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เห็นว่าทำอย่างนั้นก็ทำตายเปล่า อดตายเปล่า ทำตามโลก ทำตามตน ท่านก็พิจารณาใหม่ หาสิ่งที่มันพอดี เป็นสัมมาปฏิปทา ส่วนจิตก็เป็นจิต ส่วนกายก็เป็นกายเรื่องกาย นี้มันไม่ใช่กิเลสตัณหากับใครหรอก ถ้าจะไปฆ่าอันนั้นเฉยๆมันก็ไม่หมดกิเลส มันไม่ใช่ที่ของมัน แม้จะอดขบอดฉัน อดหลับอดนอนให้มันเหี่ยวมันแห้ง ว่าจะให้มันหมดกิเลสนั้น มันก็หมดไม่ได้แต่ความเข้าใจที่ว่า มันได้ สั่งสอนในการทรมานนี้ พระปัญจวัคคีย์ติดมากทำอะไรให้เป็นเรื่องธรรมดาๆ
ต่อนั้นพระพุทธเจ้าก็กลับมาฉันจังหันให้มากขึ้น ให้มันธรรมดาอะไรก็ให้มันธรรมดาๆมากขึ้น พอพระปัญจวัคคีย์เห็นการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธองค์เคลื่อนจากของเก่า มันเปลี่ยนจากการปฏิบัตินั้นมา ก็เลยพากันเข้าใจว่าพระพุทธองค์นั้นคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก
ความเห็นผู้หนึ่งมันจะเลื่อนขึ้นไปข้างบน คือพ้นสมมติ อีกผู้หนึ่งเห็นว่ามันจะเลื่อนลงไปข้างล่าง คือคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก การทนมานตนเองมันแน่นอยู่ในหัวใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย เพราะพระพุทธองค์ก็เคยสอนอย่างนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น สอนมาอย่างนั้น จนกว่าท่าน
ได้เห็นโทษมัน เห็นโทษมันชัดเจน ท่านจึงละมันได้ เมื่อละมันได้แล้ว ท่านก็เห็นประโยชน์ในการละนั้น ท่านจึงกระทำอย่างนั้นโดยมิได้ลงขอผู้อื่นเลยพอพระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้น ก็พากันหนีจากท่าน เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่ทำตาม ก็เหมือนนกที่หนีจากต้นไม้ เห็นว่าต้นไม้ไม่มีกิ่งหรือก้านกว้างขวาง ไม่มีร่มมีเย็น หรือปลาจะหนีจากน้ำ ก็เห็นว่าน้ำมันน้อย ไม่เย็น มันเบื่อ ว่าอย่างนั้น ความเห็นเป็นอย่างนั้น ก็เลยเลิกกันจากพระพุทธเจ้า
กายก็ให้เป็นกาย จิตก็ให้เป็นจิต
ทีนี้พระองค์ก็ได้พิจารณาธรรม ท่านก็เลยฉันให้สบาย อยู่ให้สบาย จิตก็ให้มันเป็นจิต กายก็ให้มันเป็นกาย จิตมันก็เป็นเรื่องของจิต กายมันก็เป็นเรื่องของกาย ท่านก็ไม่ได้บีบมันเท่าไร ไม่ได้บังคับมันเท่าไร พอแต่จะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้บรรเทาลง แต่ก่อนท่านก็เดินอยู่สองทาง กามสุขัลลิกานุโยโค มีความสุขมีความรักเกิดขึ้นมาแล้วก็สนใจเกาะด้วยอุปาทาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง กระทบความสุขก็ติดในความสุข กระทบความทุกข์ก็ติดในความทุกข์ เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค พระองค์ติดอยู่ในสงสาร ท่านมองพิจารณาเห็นชัดเจนเข้าไปว่า อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะที่จะเดินไปในทางนั้น สุขแล้วก็ยึดสุข ทุกข์แล้วก็ยึดทุกข์คุณสมบัติของผู้เป็นสมณะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องยึดเรื่องมั่นเรื่องหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นติดอยู่ในนั้นมันก็เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นโลก ถ้าปฏิบัติบากบั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นโลกวิทูไม่รู้แจ้งโลก วิ่งทางซ้ายวิ่งทางขวาอยู่ตลอดเวลา บัดนี้ท่านเพ่งถึงส่วนจิตจริงๆ ตามรักษาจิตของตนล้วนๆ สอนจิตของตนล้วนๆเราหวงแหนกายของเราเพราะอะไร?
เรื่องธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกันกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็นในร่างกายของเรา ความเป็นจริงคนเราก็หวงแหนกายของเราจนเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่มันจะหวงแหนก็เนื่องจาก
ความเห็นผิด มันจึงปล่อยไม่ได้ อย่างศาลาเราอยู่เดี๋ยวนี้เราสร้างมันขึ้นเป็นศาลาของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้กจกมันก็มาอยู่หนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนแต่มัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเราไม่ใช่ของจิ้งเหลนจิ้งจก
เลยเบียดเบียนมัน เหมือนกันกับโรคในร่างกายเราที่เป็นอยู่ ร่างกายเราถือว่าเป็นบ้านเป็นของของเรา ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ขาก็ขาของเราไม่อยากให้มันเจ็บ แขนก็แขนของเราไม่อยากให้มันเจ็บ หัวนี่ก็หัวของเรา ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย ที่นี่ รักษามันให้ได้
หลงไป หลงจากความจริงมา เราก็จรเข้ามาอยู่กับ
สังขาร นี้ก็เหมือนกัน ศาลานี้ไม่ใช่ศาลาของเราตามความจริงนะ เราก็เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวจิ้งเหลนมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว จิ้งจกมันก็เป็นเจ้าของ
ชั่วคราวเท่านั้นแต่มันไม่รู้จักกันเมื่อยึดมั่นในสังขารก็เป็นทุกข์
ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป ทีนี้สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยากให้เปลี่ยนบอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆอันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้น ก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง เรามาภาวนาให้มันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นคนโดยมากไม่เห็นตัวตน ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆก็คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน
คือเห็นตนตามธรรมชาติ ผู้ที่เห็นตัวด้วยอุปาทานนี้ว่า นี่เป็นตัวเป็นตน ผู้นั้นไม่เห็น มันก้าวก่ายอยู่อย่างนี้นะ จะทำอย่างไร มันไม่เห็นง่ายๆ
ก้อนนี้
อุปาทานมันยึดไว้ใช้ปัญญาในการดับทุกข์
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญา ให้เห็นด้วยปัญญา คือพิจารณาสังขารว่า มันจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อาศัยปัญญารู้ตามเป็นจริงของสังขารเรียกว่าตัวปัญญา ถ้ารู้ไม่ตามเป็นจริงของสังขารนั้นก็ไปแย้งกัน ไปขัดกัน สังขารนี้มันสมควรที่จะปล่อยไปแล้ว ก็ยังจะไปกางไปกั้นมันไว้ ไปร้องขอให้เป็นอยู่อย่างนั้น หาสิ่งของสารพัดอย่างมาแก้มัน มาไถ่ถอนเอาสารพัด ถ้ามันเจ็บมันไข้แล้วไม่อยากไป จึงค้นหาสูตรอะไรต่างๆพากันมาสวด สูตร โพชฌังโค ธัมมจักร อนัตตลักขณสูตร ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นพากันกั้นพากันห้าม ก็เลยเป็นพิธีรีตองไป ยึดมั่นถือมั่นยิ่งไปกันใหญ่โดยบทสวดต่างๆ คือสวดให้มันหายโรค เอามาสวดต่ออายุกัน เอามาสวดให้มันยืนยาว สารพัดอย่างจุดหมายของการสวดมนต์-ท่องมนต์
ความเป็นจริงท่านให้สวด
เพื่อเห็นชัด แต่เรามาสวด
ให้หลงรูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง...บทที่สวดนั้นไม่ใช่สวดให้เราหลงนะ
สวดให้เรารู้เรื่องตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น จะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ไม่เสียใจ จะได้ทอดอาลัย อันนั้นมันจะสั้น แต่เรามาสวดให้มันยาวออก ถ้ามันยาวอยากจะให้มันสั้น บังคับธรรมชาติให้มันเป็นไป หลงกันหมด ที่มาทำกันในศาลานั้นก็มาหลงกันหมดทุกคน คนที่สวดก็หลง คนที่นอนฟังอยู่ก็หลง ใครที่ไหนก็หลงทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ คิดอย่างนั้น จะปฏิบัติที่ไหนกัน จึงปฏิบัติให้มันหลงไปแก้ความจริงในเรื่องนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดมาแล้วต้องมีโรคอย่างนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี อริยสาวกของท่านก็ดี มีเจ็บมีไข้เป็นธรรมดา ท่านก็รักษาฉันยา
เป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่อง
แก้ธาตุ แต่ความเป็นจริงท่านไม่ได้ถือมั่นถือลางถือขลัง ยึดมั่นจนเกินไปหรอก
ท่านก็รักษามันด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่รักษาด้วยความหลง มันหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น
สวดมนต์เพื่อให้ใจพบแสงสว่าง
อันนี้แหละ เขาว่าศาสนาในประเทศไทยเรามันเจริญ แต่ผมว่ามันเสื่อมจนถึงที่สุดมันแล้ว ในศาลามีแต่หูฟังทั้งนั้น หมดศาลาเลยเอียงหูฟัง มันเอียงซ้ายเลยนะ ตลอดผู้ใหญ่ผู้โตก็ทำอย่างนั้นอยู่ ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเลยหลงตามกันหมดทุกอย่างเลย ฉะนั้นถ้าเราไปเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เลยพูดอะไรไม่ออก มันคนละเรื่องกัน แล้วจะให้มัน
พ้นทุกข์กันที่ไหน
ท่านให้สวดเพื่อให้มันแจ้ง เรามาสวดให้มัน
มืดมันหันหลังใส่กันเลย ผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันตก อีกผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันออก จะพบกันได้อย่างไร มันไม่ใกล้เลยเรื่องเหล่านี้
ถ้าหากว่าเราได้ภาวนาแล้ว ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็กำลังหลงกัน ไม่รู้จะว่ากันได้อย่างไร อะไรก็เป็นพิธีรีตองไปหมดทุกอย่าง สวดอยู่ แต่ว่าสวดด้วยความโง่ ไม่ใช่สวดด้วยปัญญา เรียนแต่เรียนด้วยความโง่ ไม่ได้เรียนด้วย
ปัญญา รู้ก็รู้ด้วยความโง่ ไม่ได้รู้ด้วยปัญญา มันเลยไปก็ไปด้วยความโง่ อยู่ก็อยู่ด้วยความโง่ มันก็เป็นอย่างนั้น ที่สอนกันทุกวันนี้ก็เรียกว่าสอนให้คนโง่ทั้งนั้นแหละ แต่เขาว่าสอนให้คนฉลาด สอนให้คนรู้ แต่
หลักความเป็นจริง ฟังๆดูแล้วก็สอนให้คน
หลงงมงาย
อย่ายึดมั่นว่าเป็นของเรา
ความเป็นจริง หลักธรรมะท่านสอนให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อเห็นอนัตตา คือเห็นตัวตนนี้ว่ามันเป็นของว่าง ไม่ใช่เป็นของมีตัวตน เป็นของว่างจากตัวตน แต่เราก็มาเรียนกันให้มันเป็นตัวเป็นตนก็เลยไม่อยากจะให้มันทุกข์ ไม่อยากจะให้มันลำบาก อยากจะให้มันสะดวก อยากจะให้มันพ้นทุกข์ ถ้ามีตัวมีตนมันจะพ้นทุกข์เมื่อไร ดูซิอย่างเรามีของชิ้นหนึ่งที่มีราคามาก เมื่อเราได้รับมาเป็นของเราแล้ว เปลี่ยนเสีย จิตใจเปลี่ยนแล้ว ต้องหาที่วางมัน จะเอาไว้ตรงไหนดีหนอ เอาไว้ตรงนั้นขโมยมันจะย่องเอาไปละมั้ง คิดจนเลิกคิดแล้วหาที่ซ่อนของนะ แล้วจิตมันเปลี่ยนเมื่อไร มันเปลี่ยนเมื่อเราได้วัตถุอันนี้เอง ทุกข์แล้วเอาไว้ตรงนี้ก็ไม่ค่อยสบายใจ เอาไว้ตรงนั้นก็ไม่ค่อยสบายใจ เลยวุ่นกันจนหมดแหละ นั่งก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นี่ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว มันเกิดเมื่อไร มันเกิดในเมื่อเราเข้าใจว่าของของเรามันมีมาแล้ว ได้มาแล้ว ทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไม่มี มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์ยังไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่จะจับมัน
พลิกสมมุติให้เป็นวิมุตติ
อัตตานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าตัวของเรา ตนของเรา สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นมันก็เป็นของตนไปด้วย ของเราไปด้วย มันก็เลยวุ่นขึ้นไป เพราะอะไร ต้นเหตุคือมันมีตัวมีตน
ไม่ได้เพิกสมมุติอันนี้ออกให้เห็นวิมุตติ ตัวตนนี้มันเป็นของสมมุติ ให้เพิกให้รื้อสมมุติอันนี้ออกให้เห็นแก่นของมัน คือวิมุตติ พลิกสมมุติอันนี้กลับให้เป็นวิมุตติ
อันนี้ถ้าเปรียบกับข้าวก็เรียกว่าข้าวยังไม่ได้ซ้อม ข้าวนั้นกินได้ไหม กินได้ แต่เราไปปฏิบัติมันซิ คือให้เอาไปซ้อมมัน ให้ถอดเปลือกออกไปเสีย มันก็จะเจอข้าวสารอยู่ตรงนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้สีมันออกจากเปลือกของมันก็ไม่เป็นข้าวสาร ความเห็นเช่นนี้ก็เหมือนกันกับสุนัข สุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ ท้องร้องจ๊อก...จ๊อก..จ๊อก...มันก็มัวแต่นอนอยู่นั่นแหละ จิตมันหวั่นวิตก "จะไปหากินที่ไหนหนอ" แน่ะ ท้องมันหิวมันก็โจนออกจากกองข้าวเปลือก วิ่งไปหากินอาหารเศษๆทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งๆที่มันนอนทับอยู่อาหารมันอยู่ตรงนั้น แต่มันไม่รู้จัก เพราะอะไร มันไม่เห็นข้าว สุนัขมันกินข้าวเปลือกไม่ได้ อาหารมันมีอยู่แต่มันกินไม่ได้ ความรู้เรามีอยู่ถ้าเราไม่เอาไปปฏิบัติ เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน โง่ขนาดสุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก นอนทับอาหารอยู่ได้ แต่ว่าไม่รู้จักกินอาหารที่มันนอนทับอยู่ เมื่อหิวอาหารก็ต้องโจนจากข้าววิ่งไปหากินที่อื่น อันนี้มันก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน
อย่าทำตัวเหมือนสุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก
เหมือนกันฉันนั้นข้าวสารมีอยู่ อะไรมันปิด เปลือกข้าวมันปิดสุนัขกินไม่ได้ วิมุตติก็มีอยู่ อะไรมันปิดไว้
สมมุติมันปิดไม่ให้เห็นวิมุตติ ให้พุทธบริษัททั้งหลายนั่งทับ ไม่รู้จัก..'ข้าว' ไม่รู้จักการประพฤติปฏิบัติ นั่นจึงไม่เห็นวิมุตติ มันก็จึงติดสมมุติอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เมื่อมันติดอยู่ในสมมุติมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดภพขึ้นมา เกิดชาติขึ้นมา ชรา พยาธิ มรณะ ถึงวันตายตามเข้ามา ฉะนั้นมันไม่มีอะไรบังอยู่หรอก มันบังอยู่ตรงนี้ เราเรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ก็เหมือนกับสุนัขนอนอยู่บนข้าวเปลือก ไม่รู้จักข้าว หิวจวนจะตายมันก็ตายทิ้งเฉยๆนั่นแหละ ไม่มีอะไรกิน ข้าวเปลือกมันกินไม่ได้ มันไม่รู้จักหาอาหารของมันเลย นานๆไปไม่มีอะไรกิน มันก็ตายไปบนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ บนอาหารนั่นแหละ
อย่าคิดว่ารู้มากแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้า
มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ธรรมที่เราเรียนมา ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถึงจะศึกษาธรรมะเท่าไรก็ตามทีเถิด ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็น ไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จักข้อปฏิบัติ อย่าพึงว่าเราเรียนมาก เรารู้มากแล้วเราจะเห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเรามีตา อย่างนี้ก็นึกว่าเราเห็นทุกอย่าง เพราะว่าเรามองไปแล้ว หรือจะนึกว่าเราได้ยินแล้วทุกอย่าง เพราะเรามีหูอยู่แล้ว มันเห็นไม่ถึงที่สุดของมัน มันก็เป็นตานอกไป
ท่านไม่จัดว่าเป็นตาใน หูก็เรียกว่าหูนอกไม่ได้เรียกว่าหูใน มิฉะนั้นถ้าท่านพลิกสมมุติเข้าไปเห็นวิมุตติ แล้วก็เป็นของจริง เห็นชัด ถอนทันที
มันจึงถอนสมมุติออก ถอนความยึดมั่นถือมั่นออก ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง
ผลไม้ (ธรรมะ) มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
เหมือนกับผลไม้หวานๆใบหนึ่ง ผลไม้นั้นมันหวานอยู่ก็จริงแต่ว่ามันต้องอาศัยการกระทบประสบจึงรู้ว่ามันหวานหรือมันเปรี้ยวจริงผลไม้นั้นถ้าไม่มีอะไรกระทบ มันก็หวานอยู่ตามธรรมชาติ หวานแต่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา เป็น
สัจจธรรมจริงอยู่ก็ตาม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จริงนั้นก็เป็นของไม่จริง ถึงมันจะดีเลิศประเสริฐสักเท่าไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีราคาเฉพาะกับคนที่ไม่รู้เรื่อง
ฉะนั้นจะไปเอาทุกข์ทำไม ใครในโลกนี้อยากเอาทุกข์ใส่ตัวมีไหม ไม่มีใครทั้งนั้นแหละ ไม่อยากได้ทุกข์ แต่ว่า
สร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เท่ากับเราไป
แสวงหาความทุกข์นั่นเอง แต่ใจจริงของเราแสวงหาความสุข ไม่อยากได้ทุกข์ นี่มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ทำไมจิตใจของเรามันสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เรารู้เท่านี้ก็พอแล้วใจเราไม่ชอบทุกข์ แต่เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวของเราทำไม มันก็เห็นง่ายๆก็คือคนที่ไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง
ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงประพฤติอย่างนั้น จึงเห็นอย่างนั้น จะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไรก็เพราะคนไปทำอย่างนั้น
เมื่อคิดผิดก็เกิดทุกข์
ถ้ามันเป็นเช่นนั้น มันก็เป็น
มิจฉาทิฏฐิทั้งดุ้นนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรที่เราได้พูด เราได้เห็น เราได้ทำแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่ทุกข์อย่างนั้นหรอก มันไม่ยึดในความทุกข์อันนั้น มันไม่ยึดในความสุขนั้นๆ
ไม่ได้ยึดตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น มันจะปล่อยวางตามเรื่องของมัน เช่น กระแสน้ำที่มันไหลมา ไม่ต้องกางกั้นมัน ให้มันไหลไปตามสะดวกของมันนั้นแหละ เพราะมันไหลอย่างนั้น
กระแสธรรมก็เป็นอย่างนั้น กระแสจิตของเราที่ไม่รู้จักมันก็ไปกางกั้นธรรมะด้วยที่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปตะโกน โน้น มิจฉาทิฏฐิอยู่ที่โน้น คนโน้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตัวเราเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนั้นเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็น่าสังเกตน่าพิจารณาเหมือนกันนะ
ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ทุกข์ในเวลาปัจจุบันนั้น ต่อไปมันก็ให้ผลมาเป็นทุกข์อันนี้พูดเฉพาะคนเรามันหลงเท่านั้น อะไรมันปิดไว้ อะไรมันบังไว้
สมมุติมันบังวิมุตติให้คนมองเห็นไม่ชัดในธรรมทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างศึกษา ต่างคนก็ต่างเล่าเรียน ต่างคนก็ต่างทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้จัก ก็เหมือนกันกับคนหลงตะวันนั้นแหละ เดินไปทางตะวันตกเข้าใจว่าเดินไปทางตะวันออก หรือเดินไปทิศเหนือเข้าใจว่าเดินไปทิศใต้ มันหลงขนาดนี้ เราปฏิบัตินี้มันก็เลยเป็นขี้ของการปฏิบัติโดยตรงแล้วมันก็เป็นวิบัติ วิบัตินี้คือมันพลิกไปคนละทาง
หมดจากความมุ่งหมายของธรรมะที่ถูกต้อง สภาพอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็เข้าใจว่าอันนี้ถ้าทำขึ้น ถ้าบ่นขึ้น ถ้าท่องขึ้น ถ้ารู้เรื่องอันนี้ มันจะเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ ก็เหมือนกันกับคนที่อยากได้มากๆนั่นแหละ อะไรๆก็หามามากๆ ถ้าเราได้มากแล้วมันก็ดับทุกข์ จะไม่มีทุกข์ ความเข้าใจของคนมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันคิดไปคนละทาง เหมือนกันกับคนนี้ไปทิศเหนือ คนนั้นไปทิศใต้ นึกว่าไปทางเดียวกัน