อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค

<< < (2/2)

ฐิตา:


06.เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภช้างชื่อปาเวรกะของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อปฺปมาทรตา  เป็นต้น

ช้างต้นชื่อปเวยยกะ  ของพระเจ้าปเสนทิโกศล  เมื่อตอนเป็นช้างหนุ่มมีพละกำลังมาก  แต่พอมีอายุชราภาพลง  เรี่ยวแรงก็หมดสิ้นไป   วันหนึ่ง  ช้างปเวยยกะนี้ลงไปอาบน้ำในสระใหญ่สระหนึ่ง  เกิดติดหล่มขึ้นฝั่งไม่ได้  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ  จึงมีรับสั่งให้นายควาญช้างไปช่วยช้างออกจากหล่ม  นายควาญช้างได้เดินทางไปที่จุดซึ่งช้างนั้นติดหล่มอยู่  ได้ใช้วิธีจำลองเหตุการณ์ว่าอยู่ในภาวะสงคราม  ให้คนรัวกลองรบเสียงดังสนั่นหวั่นไหว   ข้างช้างปเวยยะเมื่อได้ยินเสียงกลองศึก   จิตใจก็เกิดความฮึกเหิม  เกิดพละกำลังมหาศาล  สามารถหลุดจากหล่มขึ้นมาบนฝั่งได้สำเร็จ 

เมื่อภิกษุทั้งหลาย  กราบทูลเรื่องนี้ให้พระองค์ทราบ   พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือเปือกตมตามปกติก่อน  ส่วนเธอทั้งหลาย  แล่นลงแล้วในหล่มคือกิเลส  เพราะฉะนั้น  แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายแล้ว  ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อปฺปมาทรตา  โหถ
สจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา  อุทฺธรถตฺตานํ
ปงฺเก  สนฺโนว  กุญฺชโร ฯ

ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม
ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม
ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุพระอรหัตตผล.

ฐิตา:



07.เรื่องสัมพหุลภิกษุ

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยป่าชื่อปาลิไลยกะ   ประทับอยู่ในไพรสณฑ์ชื่อรักขิตะ  ทรงปรารภภิกษุเป็นอันมาก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สเจ  ลเภถ เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ภิกษุชาวกรุงโกสัมพี   เกิดการแตกแยกกันเป็นสองพวก  พวกหนึ่งสนับสนุนพระวินัยธร  อีกพวกหนึ่งสนับสนุนพระธรรมกถึก   ภิกษุทั้งสองกลุ่มไม่ยอมปรองดองกัน  แม้พระศาสดาจะทรงสั่งสอนให้ตกลงกันโดยสงบก็ตาม   ดังนั้น  พระศาสดาจึงได้ทรงปลีกพระองค์ไปประทับจำพรรษา ณ  ป่ารักขิตวัน  โดยมีช้างปาลิไลยกะทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว  พระอานนทเถระได้ไปที่ป่ารักขิตวันนั้น พร้อมด้วยภิกษุอีก 500  รูป   พระอานนทเถระได้ให้ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้นรออยู่ข้างนอกก่อน   และได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามลำพัง   เมื่อพระศาสดามีรับสั่งให้พระอานนทเถระไปพาภิกษุ 500  รูปให้เข้ามาเฝ้าได้แล้ว   ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลถามว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าผู้สุขุมาล  และเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล  พระองค์ผู้เดียวประทับยืนประทับนั่งตลอดไตรมาส  ทรงทำกรรมที่ทำได้โดยยากแล้ว  ผู้กระทำวัตรและวัตรปฏิบัติก็ดี  ผู้ถวายวัตถุมีน้ำบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้นก็ดี  ชะรอยจะไม่มี”  จึงตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  กิจทุกอย่าง ช้างชื่อปาลิไลยกะกระทำแล้วแก่เรา  อันที่จริง  การที่บุคคลเมื่อได้สหายผู้มีรูปเช่นนี้  อยู่ร่วมกัน  สมควรแล้ว  เมื่อบุคคลไม่ได้  ความเที่ยวไปคนเดียวเท่านั้นเป็นการประเสริฐ”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

สเจ  สเภถ  นิปกํ  สหายํ
สทฺธึจรํ  สาธุวิหาริธีรํ
อภิภุยฺย  สพฺพานิ  ปริสฺสยานิ
จเรยฺย  เตนตฺตมโน  สตีมา ฯ

โน  เจ  ลเภถ  นิปกํ  สหายํ
สทฺธึจรํ  สาธุวิหาริธีรํ
ราชาว  รฏฺฐํ  วิชิตํ  ปหาย
เอโก  จเร  มาตงฺครญฺเญว  นาโค ฯ

เอกสฺส  จริตํ  เสยฺโย
นตฺถิ  พาเล  สหายตา
เอโก  จเร  น  จ  ปาปานิ  กยิรา
อปฺโปสฺสุโก  มาตงฺครญฺเญว  นาโค  ฯ

ถ้าว่า   บุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
มีธรรมเครื่องอยู่อันดีไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
เขาพึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว
พึงเป็นผู้มีใจยินดี  มีสติ  เที่ยวไปกับสหายนั้น.

หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
มีธรรมเครื่องอยู่อันดี  เป็นนักปราชญ์
ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
เขาพึงเที่ยวไปคนเดียว  เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้น
ที่ทรงชนะเด็ดขาดแล้ว  หรือเหมือนช้างชื่อว่ามาตังคะละโขลงช้าง
เที่ยวไปในป่าตัวเดียวฉะนั้น.

ความเที่ยวไปแห่งคนเดียวประเสริฐกว่า
เพราะคุณเครื่องเป็นสหายไม่มีในชนพาล 
บุคคลพึงเป็นผู้ๆเดียวเที่ยวไป
เหมือนช้างชื่อมาตังคะ  ตัวมีความขวนขวายน้อยเที่ยวไปอยู่ในป่าฉะนั้น
และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้ง  500  รูป  บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว.

ฐิตา:



08.เรื่องมาร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่  ณ กุฎีซึ่งตั้งอยู่ในป่าที่ข้างป่าหิมพานต์  ทรงปรารภมาร   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อตฺถมฺหิ  เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง   ขณะที่พระศาสดาประทับอยู่ใกล้เทือกเขาหิมาลัย  ทรงพบว่า    ประชาชนจำนวนมากถูกเบียดเบียนด้วยการลงอาชญา  จากกษัตริย์ผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรม  ทรงดำริว่า จะเป็นไปได้ไหมที่หากพระองค์เป็นกษัตริย์จะ         “ปกครองโดยธรรม  ไม่เบียดเบียนเอง  ไม่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน  ไม่ชนะเอง  ไม่ให้ผู้อื่นชนะ  ไม่เศร้าโศกเอง  ไม่ให้ผู้อื่นเศร้าโศก”   มารล่วงรู้ถึงพระดำริของพระศาสดา  จึงวางแผนจะชักนำให้พระศาสดาเป็นพระราชาปกครองแผ่นดิน  โดยการเสนอแนะวิธีการต่างๆที่สามารถนำมาใช้ในการปกครอง  พระศาสดาได้ตรัสกับมารนั้นว่า  “มารผู้มีบาป  โอวาทของท่านเป็นอย่างหนึ่ง  โอวาทของเราก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง  ท่านและเราปรึกษาธรรมกันไม่ได้  เพราะเราสอนอย่างนี้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

อตฺถมฺหิ  ชาตมฺหิ  สุขา  สหายา
ตุฏฺฐี  สุขา  ยา  อิตรีตเรน
ปุญฺญํ  สุขํ  ชีวิตสงฺขยมฺหิ
สพฺพสฺส  ทุกขสฺส  สุขํ  ปหานํ  ฯ

สุขา  มตฺเตยฺยตา  โลเก
อโถ  เปตฺเตยฺยตา  สุขา
สุขา  สามญฺญตา  โลเก
อโถ  พฺรหฺมญฺญตา  สุขา  ฯ

สุขํ  ยาว  ชรา  สีลํ
สุขา  สทฺธา  ปติฏฺฐิตา
สุโข  ปญฺญาปฏิลาโภ
ปาปานํ  อกรณํ  สุขํ ฯ

เมื่อความต้องการเกิดขึ้น
สหายทั้งหลายนำความสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยนอกนี้ๆ(ตามมีตามได้
นำความสุขมาให้
บุญนำความสุขมาให้ในขณะสิ้นชีวิต
การละทุกข์ทั้งปวงได้นำสุขมาให้.

ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา  นำความสุขมาให้ในโลก
อนึ่ง  ความเกื้อกูลแก่บิดา  นำความสุขมาให้
ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะ  นำความสุขมาให้ ในโลก 
อนึ่ง  ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่พรหม  นำความสุขมาให้.

ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว  นำความสุขมาให้
การได้เฉพาะซึ่งปัญญา  นำความสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย  นำความสุขมาให้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก.


-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version