กินเจอย่างไร ไม่บั่นทอนสุขภาพ !?! - X-RAY สุขภาพ
วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/237998-
ใครที่กินเจเป็นประจำทุกปี คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก แต่คนที่เพิ่งกินเป็นครั้งแรกหรือแห่ตามกระแสอาจจะไม่รู้ว่าต้องกินอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 5-13 ต.ค.นี้
ใครที่กินเจเป็นประจำทุกปี คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก แต่คนที่เพิ่งกินเป็นครั้งแรกหรือแห่ตามกระแสอาจจะไม่รู้ว่าต้องกินอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในช่วงเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 5-13 ต.ค.นี้
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจต้องงดเนื้อสัตว์ แต่สามารถหาแหล่งโปรตีนจากพืชทดแทนได้ เช่น พืชตระกูลถั่ว ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเปลือกแข็ง เต้าหู้ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาการขาดโปรตีน ส่วนผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีเพราะหลายคนไม่ได้ให้ความสนใจผักและผลไม้กัน ในช่วงนี้ควรเน้นผัก ผลไม้สีต่าง ๆ ซึ่งมีสารสารต้านอนุมูลอิสระ
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด อาหารประเภท ผัด ของทอด
ถ้าทำอาหารเจกินเองได้จะดีมาก เนื่องจากอาหารเจที่ทำขายกันส่วนใหญ่มันมาก เช่น ผัดหมี่ ผัดผัก แกงกะทิ บางทีใช้น้ำมันปาล์ม ซึ่งเหมาะสำหรับทอด แต่นำมาผัด ทำให้ได้ไขมันอิ่มตัวจากผัดผัก แต่ถ้าทำเองก็ใส่น้ำมันถั่วเหลืองน้อย ๆ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ทำเองก็พยายามเลือกอาหารที่มีไขมันไม่เยอะ ส่วนข้าวควรเน้นข้าวกล้อง มื้อละประมาณ 2 ทัพพี ผักประมาณ 2 ทัพพี และกินโปรตีนจากพืชที่กล่าวมาข้างต้น
สำหรับน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารเจ ควรเน้นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด เพราะไขมันอิ่มตัวน้อย ลองสังเกตง่าย ๆ ถ้าเอาน้ำมันแช่ตู้เย็นแล้วเป็นไข แสดงว่า ไขมันอิ่มตัวเยอะ
ด้าน ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่มักพบในช่วงกินเจ คือ การกินอาหารไม่ถูกต้อง ไม่ถูกสัดส่วนตามหลักโภชนาการ ส่วนประกอบของอาหารเจ มักจะทำมาจากแป้ง และ น้ำมัน หากได้รับในปริมาณมากเกินกว่าร่างกายต้องการจะทำให้สะสมเป็นไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว หรือ พุง
แม้จะงดเนื้อสัตว์ แต่จำเป็นต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้อ โดยเลือก
กลุ่มข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง
กลุ่มโปรตีนจากถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว หรือถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ วอลนัท ถั่วลิสง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร สำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆไม่ได้ออกแรงอะไรมาก ควรกินโปรตีน 2-4 ช้อนกินข้าว แต่ถ้าเป็นผู้ชายตัวใหญ่ อาจกินโปรตีน 4 ช้อน หรือ 6 ช้อนสำหรับคนออกกำลังกายมาก ๆ
กลุ่มผักและผลไม้ให้ได้หลากสีสัน ทั้งสีแดง ขาว เขียว ส้ม เหลือง ม่วง
กลุ่มไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง
ขณะเดียวกันควรเลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะเมื่อกินผักมาก ๆ ร่างกายจะต้องการน้ำในปริมาณเพิ่มขึ้น หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ท้องผูก จึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรเป็นน้ำเปล่าไม่ใช่น้ำอัดลม ชา กาแฟ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ
อาหารแปรรูป พยายามเลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง อาหารดอง มักจะมีการใส่เกลือหรือโซเดียมในปริมาณสูง ทำให้ร่างกายทำงานหนัก และจะเร่งกลไกการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลไปเป็นไขมันมากขึ้น จะทำให้อ้วนลงพุงได้ง่าย
ไขมันอิ่มตัว เช่น เนยขาว น้ำมันปาล์ม
เครื่องปรุงประเภทซอสปรุงรส มีส่วนผสมทั้งน้ำตาล น้ำมัน เกลือ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการบวมน้ำ และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้
อาหารเจส่วนใหญ่จะมีแร่ธาตุแคลเซียมน้อย มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออาจส่งผลต่อความอ้วนได้ โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักสีเขียวเข้ม งาดำ งาขาว สาหร่าย เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ
ระหว่างกินเจอาจมีความรู้สึกว่าหิวง่ายเนื่องจากร่างกายอาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จึงต้องกินอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้สด เมล็ดธัญพืชอบกรอบ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน นมถั่วเหลืองผสมธัญพืช เต้าฮวยน้ำขิง ขนมปังไม่ขัดสี ข้าวโพดคลุก
ถ้ากินเจให้ถูกต้องตามสัดส่วนโภชนา การสามารถกินได้ทุกเพศทุกวัย ที่มักจะขาด คือ โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 แคลเซียม ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ การเจริญเติบโตไม่ดี ดังนั้นจำเป็นต้องเลือกแหล่งที่มาของอาหารอื่นทดแทน
สำหรับเมนูเจในแต่ละมื้อ ถ้าให้พูดชื่อเมนูคงยาก เพราะความชอบของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นอยากให้ยึดหลักว่า แต่ละมื้อควรเน้นความหลากหลาย เช่น มื้อเช้า ข้าวต้มใส่ธัญพืช ใส่เต้าหู้ กลางวัน ผัดผัก แกงจืด ไม่ใช่ว่า เช้าเต้าหู้ทอด กลางวันผัดหมี่เจ เย็นผัดผัก คือ กินแต่อาหารเจผัด ๆ ทอด ๆ ทุกมื้อ ที่สำคัญคือ ในแต่ละมื้อควรทานผลไม้หลากสีสันด้วย.
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน