“กระเทียม-บัว” สุดยอดสรรพคุณรักษา “โรคหัวใจ”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2557 13:24 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000029505-
โดย...ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว
เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ในปัจจุบันโรคหัวใจกำลังเป็นภันคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณการจากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง 2547 ว่ามีชาวอเมริกันจำนวน 79,400,000 คน ป่วยด้วยระบบหลอดเลือดหัวใจ และโรคในกลุ่มนี้ยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของชาวอเมริกัน โดยโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary heart disease) เป็นสาเหตุของการตายจากโรคระบบหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 52-53
“กระเทียม-บัว” สุดยอดสรรพคุณรักษา “โรคหัวใจ”
สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้แสดงให้เห็นว่าในปี พ.ศ. 2554 โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายของประชากรไทย 20,130 คน จากประชากรที่ตายทั้งหมด 414,667 คน (ร้อยละ 4.8 ของการตายทั้งหมด) เนื่องจากโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ จากโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ
ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ มีสาเหตุมาจากระดับไขมันเลว หรือ LDL (low-density lipoprotein) สูงกว่าค่าปกติ ประกอบกับเซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความปกติ เกิด plaque หรือก้อนเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดค่อยๆ แข็งและตีบตัน การส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ปริมาณออกซิเจนที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ส่วนสมุนไพรที่สามารถใช้ในการรักษาโรคนี้ ได้แก่ กระเทียม และบัวหลวง โดย กระเทียมนั้น เป็นอาหารและสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ตำรายาจีนระบุว่ากระเทียมมีฤทธิ์ร้อน รสเผ็ด ช่วยเจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ กลากเกลื้อน มีงานวิจัยในคนหลายงานพบว่า กระเทียมสามารถช่วยลดระดับไขมันเลวในเลือด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับของไขมันชนิดดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ กระเทียมยังมีฤทธิ์ลดความดันเลือดอีกด้วย
ปริมาณกระเทียมที่แนะนำให้ใช้เพื่อฤทธิ์ดังกล่าว คือ กระเทียมสด 2-5 กรัม ( 1/4 - 1/2 ขีด) ต่อวัน โดยรับประทานพร้อมอาหารเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวลารับประทานให้บดกระเทียมให้ละเอียด และรับประทานทันที ข้อเสียจากการรับประทานกระเทียม คือ กลิ่นปาก ซึ่งสามารถใช้การเคี้ยวใบชาแก่ๆ บ้วนปากหลังจากรับประทานกระเทียม
ส่วนบัวหลวง นับเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณเกี่ยวกับหัวใจ เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง ในตำรายาจีนกล่าวว่า ใบบัว มีฤทธิ์เป็นกลาง รสฝาดขม แก้ร้อนใน เลือดกำเดาออก ช่วยห้ามเลือด รากบัว มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนใน แก้เลือดกำเดา ดีบัว มีฤทธ์เย็น รสขม ดับร้อนที่หัวใจ กล่อมประสาท ปรับสมดุลหัวใจและไต
สำหรับการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำจากดีบัวมีฤทธ์ลดความดันโลหิต ประกอบด้วยสาร demethylcoclaurine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ สาร methyl corypalline มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ สาร neferine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ขณะที่ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดแอลกอฮอล์จากดีบัว มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus group A ทำให้นอนหลับ ส่วนสารแอลคาลอยด์มีฤทธิ์ลดอาการปวดและแก้อักเสบ
หากอธิบายในองค์ความรู้แผนไทย ดีบัว ซึ่งมีรสขม จะช่วยแตกอนุภาคของตะกรัน หรือที่แผนปัจจุบันเรียกว่า Plaque ที่ติดอยู่ที่หลอดเลือด ให้เป็นอนุภาคเล็กๆ เลือดจึงไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีโรคหัวใจ เช่น หัวใจโต หัวใจเต้นผิดจังหวะ รสขมนั้นถือเป็นข้อพึงระวังในการใช้
-------------------------------------------------------------------------------------------------
เตือนหนุ่มๆ ฟาดอาหารไขมันสูงเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2557 19:08 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000029507-
สาวๆ ทั้งหลายมีสารพัดโรคมะเร็งให้กังวลมากพอแล้ว ทั้งมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นอวัยวะที่ผู้ชายไม่มี สำหรับคุณผู้ชายที่ต้องกังวลก็ต้องเป็นอวัยวะที่ผู้หญิงไม่มีเช่นกัน อ๊ะๆ! อย่าเพิ่งคิดลึกไปถึงอวัยวะอย่างมังกรผงาดโลกเด็ดขาด แต่เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันต่างหาก นั่นก็คือ ต่อมลูกหมาก
ศ.นพ.สุชาย สุนทราภา ศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ชายที่มีหน้าที่ในการผลิตส่วนประกอบของน้ำอสุจิ และหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ต่อมลูกหมากอยู่ภายในช่องเชิงกรานใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะและอยู่หน้าลำไส้ตรงหรือทวารหนัก และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น
เตือนหนุ่มๆ ฟาดอาหารไขมันสูงเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก”
“สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมาก ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น กะรเพาะปัสสาวะ ถุงเก็บน้ำอสุจิ ท่อปัสสาวะ เป็นต้น จนเกิดภาวะการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะตำแหน่งต่างๆ เกิดการคั่งค้างของปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถระบายของเสียออกจากร่างกายได้ จึงเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้อีก ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากกระจายไปทั่วตัวในระยะท้ายก็จะทำให้เสียชีวิตได้”
สำหรับผู้ชายที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ศ.นพ.สุชาย บอกว่า คือผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อมีอายุสูงขึ้นอัตราเสี่ยงในการเป็นก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ชายที่อายุน้อยกว่า 50 ปีก็มีโอกาสเป็นได้แต่น้อย นอกจากนี้ พบว่าชายที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะมีอัตราเสี่ยงสูงเช่นกัน รวมถึงผู้ชายที่นิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงก็มีอัตราเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งพบมากในประเทศตะวันตกที่นิยมกินอาหารไขมันสูง ดังนั้น ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง
“อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใด เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นมีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ อาจจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเป็นมากจะปัสสาวะไม่ออก หรือเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่อาการปัสสาวะผิดปกติเช่นนี้อาจจะเหมือนกับโรคต่อมลูกหมากโตแบบธรรมดาได้ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด สำหรับระยะลุกลาม จะลามไปถึงกระดูกจะมีอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง บริเวรกระดูกเชิงกราน หรือปวดบริเวณซี่โครง นอกจากนั้น จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดภาวะซีด หรือมีกระดูกหักง่ายขึ้น ผู้ป่วยบางรายเป็นอัมพาตจากกระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาทได้”
การจะตรวจเช็กว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ศ.นพ.สุชาย ระบุว่า การตรวจสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ PSA ซึ่งผู้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากค่า PSA ในเลือดจะสูงกว่าปกติ และตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมากผ่านรูทวารหนัก ถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะคลำได้ลักษณะก้อนแข็ง อย่างไรก็ตาม หากการตรวจทั้งสองอย่างผิดปกติ ผู้ป่วยควรได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยัน โดยการผ่านเข็มผ่านทางเครื่องอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมาก ซึ่งทำได้โดยใช้ยาเฉพาะที่
ในแง่การรักษานั้น ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระยะของผู้ป่วย ถ้ามาพบแพทย์ช่วงระยะเริ่มต้นผลการรักษาจะดี มีโอกาสหายได้ หากมาในระยะท้าย การรักษาจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นแต่ไม่หายขาด ซึ่งหากเป็นระยะที่ 1 และ 2 รักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด เป็นการรักษาที่ได้ผลวิธีหนึ่ง มีโอกาสหายขาดได้ วิธีนี้มักจะทำในผู้ป่วยอายุไม่เกิน 70 ปี แต่ถ้ามากกว่า 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะดูสภาวะอื่นๆ ของผู้ป่วยแล้วใช้ดุลยพินิจในการรักษาให้เหมาะสม ผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด บางรายอาจจะมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ
อีกวิธีหนึ่งคือการฉายรังสี หรือฝังแร่ในต่อมลูกหมาก โดยใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ผลข้างเคียงคือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุผิวของลำไส้ตรง จะทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะลำบาก หรือมีอุจจาระเป็นเลือด อุจจาระลำบากได้
ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า หากมะเร็งลุกลามระยะ 3 ต้องใช้การรักษาผสมผสาน ทั้งการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกจนหมด หรือฉายแสงร่วมกับการรักษาโดยการลดฮอร์โมนเพศชาย คือ การตัดลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือการฉีดยา LHRH agonist เพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจากลูกอัณฑะได้ นอกจากนั้น ยังมีการให้ยา anti-androgen ร่วมด้วย เพื่อยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนจากต่อมหมวกไต ส่วนระยะที่ 4 คือระยะที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือกระดูกแล้ว การรักษาที่นิยมคือ การลดฮอร์โมนเพศชายตามที่ได้ระบุไป
“หลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาโดยการเจาะเลือด PSA เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของระดับ PSA ถ้าต่ำคือการรักษาได้ผลดี ถ้าสูงขึ้นแสดงว่าโรคกำเริบ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจทุกครั้งที่แพทย์นัด”