ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค  (อ่าน 4363 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
01.เรื่องของพระองค์


พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี  ทรงปรารภพะระองค์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อหํ  นาโคว เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  พราหมณ์บิดาของนางมาคันทิยา  มีความประทับใจในบุคลิกภาพของพระศาสดา   และได้เสนอนางมาคันทิยาบุตรสาวผู้มีงดงามมากนี้เป็นบาทบริจาริกาของพระศาสดา     แต่พระศาสดาทรงปฏิเสธและตรัสว่าพระองค์ไม่มีความประสงค์จะสัมผัสสิ่งซึ่งเต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะแม้ด้วยเท้าของพระองค์ เมื่อฟังพระดำรัสนี้แล้ว  บิดาและมารดาของนางมาคันทิยาก็ได้บรรลุอนาคามิผล   แต่นางมาคันทิยาถือว่าพระศาสดาเป็นศัตรูฉกาจฉกรรจ์ของนาง   และนางหาทางที่จะแก้แค้นพระศาสดาให้ได้ 

ในกาลต่อมา  นางมาคันทิยาได้รับการสถาปนาเป็นหนึ่งใน 3 มเหสีเอกของพระเจ้าอุเทน   เมื่อพระนางมาคันทิยาทรงทราบว่าพระศาสดาเสด็จมายังกรุงโกสัมพี   พระนางก็ได้ว่าจ้างคนให้มาตะโกนด่าว่าพระศาสดา  ขณะที่พระองค์เสด็จออกบิณฑบาตในเมือง   พวกคนที่ถูกจ้างวานมาเหล่านั้นก็ได้ตะโกนด่าพระศาสดาว่า  “เจ้าเป็นโจร  เจ้าเป็นคนพาล  เจ้าเป็นคนหลง  เจ้าเป็นอูฐ  เจ้าเป็นโค  เจ้าเป็นลา  เจ้าเป็นสัตว์นรก  เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน   สุคติไม่มีสำหรับเจ้า  ทุคติเท่านั้นอันเจ้าพึงหวัง”

พระอานนท์สดับคำด่าเหล่านั้นแล้ว  ได้กราบทูลพระศาสดา  ให้เสด็จออกจากเมืองโกสัมพีไปยังที่อื่นเสีย  แต่พระศาสดาตรัสว่า เมื่อไปอยู่ที่เมืองอื่น  ก็อาจจะถูกด่าแบบนี้อีก  ซึ่งก็จะต้องย้ายหนีไปอยู่ที่เมืองอื่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น  ณ  ที่ใด  ก็ควรจะให้เรื่องนั้นสงบระงับเสียก่อน  จึงค่อยไป ณ  ที่แห่งอื่น   และพระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนท์ด้วยว่า “อานนท์  เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม  การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก 4  ทิศ  เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม  ฉันใด  ชื่อว่าการอดทนถ้อยคำที่ชนทุศีลแม้มากกล่าวแล้ว  เป็นภาระของเราฉันนั้นเหมือนกัน
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

อหํ  นาโคว  สงฺคาเม
จาปาโต  ปติตํ  สรํ
อติวากฺยํ  ติติกฺขิสฺสํ
ทุสฺสีโล  หิ  พหุชฺชโน ฯ

ทนฺตํ  นยนฺติ  สมิตึ
ทนฺตํ  ราชาภิรูหติ
ทนฺดต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ
โยติวากฺยํ  ติติกฺขติ  ฯ


วรมสฺสตรา  ทนฺตา
อาชานียา  จ  สินฺธวา
กุญฺชรา  จ  มหานาคา
อตฺตทนฺโต  ตโต  วรํ ฯ


เราจักอดกลั้นคำล่วงเกิน
เหมือนช้างอดทนลูกศรที่ตกจากแล่งในสงครามฉะนั้น
เพราะชนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล
ชนทั้งหลาย  ย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้ว.

บุคคลผู้อดกลั้นคำล่วงเกินได้  ฝึกตนแล้ว

เป็นผู้ประเสริฐ  ในมนุษย์ทั้งหลาย

ม้าอัสดร1  ม้าสินธพผู้อาชาไนย1
ช้างชนิดกุญชร1  ที่ฝึกแล้ว
ย่อมเป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่บุคคลที่มีตนฝึกแล้ว
ย่อมประเสริฐกว่า(สัตว์พิเศษนั้น)”


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   มหาชนแม้ทั้งหมดนั้น  ผู้รับสินจ้างแล้วยืนด่าอยู่ในที่ทั้งหลาย  มีถนนและทางแยกเป็นต้น  บรรลุโสดาปัตติผล.



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2012, 02:07:39 pm »


02.เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นควาญช้าง

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง  ผู้เคยเป็นนายหัตถาจารย์(ควาญช้าง)  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  น  หิ  เอเตหิ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ภิกษุซึ่งเคยเป็นนายควาญช้างรูปหนึ่ง   เห็นนายควาญช้างคนหนึ่ง  กำลังฝึกช้างอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี  และก็ไม่สามารถฝึกช้างนั้นได้  จึงได้พูดกับภิกษุอื่นๆว่า  “ผู้มีอายุทั้งหลาย  หากว่านายหัตถาจารย์(นายควาญช้าง)นี้  พึงแทงช้างตัวนี้ที่ตรงโน้น  เขาพึงให้มันสำเหนียกเหตุนี้ได้โดยเร็วทีเดียว”  เมื่อนายควาญช้างนั้นได้ยินและนำไปปฏิบัติตาม  เขาก็สามารถฝึกช้างตัวนั้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว  เมื่อกลับถึงวัดพระเชตวัน  ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลความที่เกิดขึ้นนั้นแด่พระศาสดา   พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาเฝ้า  และได้ตรัสว่า “ บุรุษเปล่า  เธอต้องการอะไร  ด้วยยานคือช้าง  หรือยานอย่างอื่นที่ฝึกแล้ว  เพราะชื่อว่าคนผู้สามารถเพื่อจะไปสู่สถานที่เคยไปด้วยยานเหล่านี้ หามีไม่  แต่ผู้ที่ตนฝึกดีแล้ว  อาจไปสู่สถานที่ไม่เคยไปได้  เพราะฉะนั้น  เธอจงฝึกตนเท่านั้น  เธอจะต้องการอะไรด้วยการฝึกสัตว์พาหนะเหล่านั้น
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท   พระคาถานี้ว่า

น  หิ  เอเตหิ  ยาเนหิ
คจฺเฉยฺย  อคตํ  ทิสํ
ยถาตฺตนา  สุทนฺเตน
ทนฺโต  ทนฺเตน  คจฺฉติ ฯ


ก็บุคคลพึงไปสู่ทิศ
ที่ยังไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้
เหมือนคนผู้ฝึกตนแล้ว
ไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปได้ด้วยตนที่ฝึกแล้ว

ทรมานดีแล้วฉะนั้น  ไม่ไ
ด้.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก   บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2012, 02:27:11 pm »


03.เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี  ทรงปรารภพวกบุตรของพราหมณ์เฒ่าคนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ธนปาลโก  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  พราหมณ์ชราผู้หนึ่ง   อยู่ในกรุงสาวัตถี   มีทรัพย์อยู่  8 แสนกหาปณะ มีบุตรชายอยู่  4 คน  และเมื่อบุตรชายทั้ง 4 คนนี้แต่งงานแล้ว  พราหมณ์ชราได้แบ่งทรัพย์ให้บุตรคนละ  1  แสนกหาปณะ   ต่อมาเมื่อนางพราหมณีผู้ภรรยาเสียชีวิต  พวกลูกๆได้มาคอยดูแล  และเอาอกเอาใจพราหมณ์ชรา  เป็นอย่างดี   และพูดกล่อมพราหมณ์ชราว่าจะเลี้ยงดูให้มีความสุขจนตลอดชีวิต  พราหมณ์ชราหลงเชื่อก็จึงได้แบ่งทรัพย์ที่เหลืออยู่อีก 4  แสนกหาปณะนั้นให้บุตรอีกคนละ 1  แสนกหาปณะ  เป็นอันว่าตอนนี้  พราหมณ์ชราไม่มีเงินติดตัวแม้แต่เก๊เดียว

พราหมณ์ชราก็ได้ไปอยู่กับบุตรชายคนหัวปีเป็นคนแรก   เมื่อไปอยู่ได้แค่ 2-3  วัน  ลูกสะใภ้ก็พูดว่า “พ่อให้เงินลูกชายคนหัวปีมากกว่าคนอื่นเป็นร้อยเป็นพันกหาปณะหรืออย่างไร   ก็ให้แค่สองแสนเท่ากัน  พ่อน่าจะไปอยู่ที่บ้านของลูกชายคนอื่นบ้าง”   เมื่อได้ยินคำพูดกระแทกแดกดันของลูกสะใภ้คนโตเช่นนั้น  พราหมณ์ชราก็โกรธมาก  และได้ออกจากบ้านบุตรชายคนหัวปีไปอยู่ที่บ้านของบุตรชายคนรอง เมื่อไปอยู่ที่บ้านของบุตรชายคนรองได้เพียง2-3 วัน  ก็ได้ยินเสียงบ่นว่าในเชิงกระแนะกระแหนแบบเดิมจากปากของลูกสะใภ้คนรอง

พราหมณ์ชราก็ออกจากบ้านของบุตรชายที่ 2  ไปอาศัยอยู่ในบ้านของบุตรชายคนที่ 3  เมื่อไปได้ยินคำกระแนะกระแหนของลูกสะใภ้คนที่ 3  แบบเดียวกันนั้น  ก็โกรธแล้วออกจากบ้านของบุตรชายคนที่ 3 ไปอยู่ที่บ้านของบุตรชายคนที่  4   แต่พราหมณ์ชราก็ต้องไปพบกับปัญหาเดิมๆนั้นอีก   สรุปแล้วพราหมณ์ชราไปอยู่บ้านของบุตรชายคนไหนไม่ได้ทั้งนั้น   จึงได้กลายเป็นอนาถา  จนถึงกับต้องถือไม้เท้าและกระเบื้องออกขอทาน  ต่อมาพราหมณ์ชราได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาเพื่อขอความอนุเคราะห์และคำแนะนำจากพระองค์

ที่วัดพระเชตวัน  พราหมณ์ชราได้กราบทูลพระศาสดาถึงเรื่องที่ตนถูกบุตรทั้ง 4 คนทอดทิ้ง เพราะถูกภรรยาของพวกเขายุยง  และได้ขอความอนุเคราะห์จากพระองค์
   พระศาสดาได้ให้พราหมณ์ชราท่องจำพระคาถาและให้ไปกล่าวคาถาเหล่านี้ในที่ประชุมสภาประชาชนที่มีคนมาประชุมกันมากๆ   พระคาถามีใจความว่า “ข้าพเจ้าจักเพลิดเพลินด้วยบุตรที่เกิดแล้วเหล่าใด  และปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด  บุตรเหล่านั้นถูกภรรยายุยง  ย่อมรุกรานข้าพเจ้า  เหมือนสุนัขรุกรานสุกรฉะนั้น  ได้ยินว่า  บุตรเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ  เลวทราม  เรียกข้าพเจ้าว่า “พ่อ  พ่อ”  พวกเขาคือรากษส(มาแล้ว)  โดยรูปเพียงดังบุตร  ย่อมทอดทิ้งข้าพเจ้าผู้ถึงความเสื่อม(แก่)  บิดาแม้ของเหล่าพาลชน เป็นคนแก่  ต้องเที่ยวขอทานที่เรือนของชนเหล่าอื่น  เหมือนม้าแก่ใช้การงานไม่ได้  ถูกเขาพรากไปจากอาหารฉะนั้น  นัยว่า  ไม้เท้าของข้าพเจ้าแล  ยังประเสริฐกว่า  บุตรทั้งหลายไม่เชื่อฟัง  จะประเสริฐอะไร  เพราะไม้เท้ากันโคดุก็ได้  อนึ่ง  กันสุนัขก็ได้  มีไว้ยันข้างหน้าเวลามืดก็ได้  ใช้หยั่งลงไปในที่ลึกก็ได้  เพราะอานุภาพแห่งไม้เท้า  คนแก่เช่นข้าพเจ้า  พลาดแล้วก็กลับยืนขึ้นอีกได้

เมื่อเห็นพวกบุตรแต่งตัวเดินทางมาถึงที่ประชุมสภาประชาชนเรียบร้อยแล้ว  พราหมณ์ชราได้ขอโอกาสในที่ประชุมกล่าวคาถาเข้างต้นดังๆในที่ประชุมสภาประชาชนนั้น  ผู้คนทั้งหลายได้ยินก็แสดงอาการโกรธแค้น  เพราะว่าในครั้งนั้นมีกฎหมายบังคับว่า “ บุตรใดใช้สอยทรัพย์ที่เป็นของมารดาบิดา แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา  บุตรนั้นต้องถูกฆ่า”   เมื่อพวกบุตรได้ยินบิดาพูดประจานออกมาเช่นนั้น  ก็ตกใจรีบไปกราบลงที่เท้าของพราหมณ์ชรา วิงวอนว่า “คุณพ่อครับ  ขอคุณพ่อโปรดไว้ชีวิตแก่พวกกระถมด้วยเถิด”   พวกที่มาอยู่ในสภาประชาชนก็ได้พูดสำทับกับพวกบุตรของพราหมณ์ชราว่า”  “หากพวกท่านไม่ดูแลบิดาให้ดี   พวกเราก็จักฆ่าพวกท่านเสีย

พวกบุตรจึงได้ให้สัญญากับพราหมณ์ชราว่าจะคอยดูแล  ให้ความเคารพรัก ให้เกียรติบิดา และก็ได้พาบิดากลับไปอยู่บ้าน  ได้ว่ากล่าวตักเตือนภรรยาให้คอยดูแลพราหมณ์ชราเป็นอย่างดี  โดยมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดว่า “ตั้งแต่นี้ไป  เธอทั้งหลายจงคอยดูแลบิดของพวกฉันให้ดี  ถ้าเธอทั้งหลายจักถึงความประมาท  พวกฉันจักลงโทษเธอทั้งหลาย”   พวกลูกสะใภ้แต่ละคนจึงให้ความใส่ใจคอยดูแลในเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเลี้ยงดูพราหมณ์ชราด้วยอาหารอย่างดี   พราหมณ์ชราจึงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  และระลึกถึงคุณงามความดีของพระศาสดาที่ได้ทรงช่วยเหลือจนทำให้ตนได้กลับมามีชีวิตอย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง  จึงได้นำผ้าคู่หนึ่งไปทูนถวายพระศาสดา  และกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปฉันภัตตาหารที่บ้านทุกวัน  และก็ยังได้แนะนำให้พวกบุตรได้ถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาด้วย

อยู่มาวันหนึ่ง  บุตรชายคนหัวปีของพราหมณ์ชราได้อาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ 500 รูปไปฉันภัตตาหารที่บ้านของเขา  หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสถามบุตรทั้ง 4 คนของพราหมณ์ชราว่าได้ดูแลบิดาเป็นอย่างดีหรือไม่  เมื่อพวกบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลาย  ได้ดูแลบิดาของพวกข้าพระองค์  ด้วยความไม่ประมาท  โปรดทอดพระเนตรร่างกายของท่านดูเถิด”  พระศาสดาจึงได้ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายทำกรรมงามแล้ว  ชื่อว่าการเลี้ยงมารดาบิดา  โบราณกาลบัณฑิต (เคย)  ประพฤติมาแล้วเหมือนกัน”  แล้วตรัสมาตุโปสกนาคชาดก  ในเอกาทสนิบาต  ซึ่งกล่าวถึงช้าง ธนปาลกะ  ช้างกตัญญูเลี้ยงบิดามารดา  เมื่อถูกจับมาขังไว้ในเมือง  ไม่ยอมกินหญ้า   เพราะคิดถึงและต้องการจะกลับไปหาบิดามารดาที่ยังอยู่ในป่าช้าง
จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ธนปาลโก  นาม  กุญฺชโร
กฏุกปฺปเภทโน  ทุนฺนิวาโย
พทฺโธ  กพฬํ  น  ภุญฺชติ
สุมรติ  นาควนสฺส  กุญฺชโร ฯ


กุญชร  นามว่า  ธนปาลกะ
ตกมันจัด  ห้ามได้ยาก
ถูกขังไว้  ไม่บริโภคฟ่อนหญ้า
กุญชรระลึกถึง แต่นาควัน
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  พราหมณ์พร้อมกับบุตรและลูกสะใภ้ทั้งหลาย  บรรลุโสดาปัตติผล.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 05, 2012, 07:12:56 am »


04.เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  มิทฺธี  ยทา  เป็นต้น

พระเจ้าปเสนทิโกศล  ทรงเสวยพระกระยาหารมาก   ทั้งในส่วนที่เป็นข้าวและส่วนที่เป็นกับ   วันหนึ่ง  พระราชาพระองค์นี้ได้เสด็จเข้าไปถวายบังคมพระศาสดาในวัดพระเชตวัน   ขณะที่ประทั่งอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดานั้น  ก็เกิดความอึดอัด  ต้องพลิกพระวรกายไปมา  และเกิดพระอาการโงกง่วง  อยู่เกือบตลอดเวลา   พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น  ได้ตรัสว่า  “มหาบพิตร  พระองค์ยังไม่ทันได้พักผ่อน  เสด็จมากระมัง?”  พระราชากราบทูลว่า“ พระเจ้าข้า  หลังจากบริโภคอาหารแล้ว  หม่อมฉันมีทุกข์มาก”  พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร  คนบริโภคมากเกินไป  ย่อมมีทุกข์อย่างนี้
จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

มิทฺธี  ยทา  โหติ  มหคฺฆโส  จ
นทฺทายิตฺวา  สมฺปริวตฺตสายี
มหาวราโหว  นิวาปปุฏฺโฐ
ปุนปฺปุนํ  คพฺภมุเปติ  มนฺโท
.

ในกาลใด  บุคคลเป็นผู้กินมาก
มักง่วง  และมักนอนหลับกระสับกระส่าย
ประหนึ่งสุกรใหญ่  ที่ถูกปรนปรือด้วยอาหารฉะนั้น

ในกาลนั้น  เขาเป็นคนมึนซึม  ย่อมเข้าไปถึงห้องร่ำไป
.

เมื่อตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้จบลงแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาแสดงถึงอานิสงส์ของการรู้จักพอประมาณในการบริโภคอาหารว่า  “คนมีสติทุกเมื่อ  รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้วนั้น  ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย  แก่ช้า  อายุยืน”  พระราชารับสั่งให้อุตตรมาณพ  ซึ่งเป็นพระเจ้าหลาน  จดจำพระคาถานี้เอาไว้ท่องเตือนพระองค์  เพื่อให้ทรงลดปริมาณในการบริโภคลง  เมื่อพระราชาปฏิบัติตามพระคาถา  ก็ทรงได้รับผลดี  ทรงมีความกระปรี้กระเปร่า  มีพระวรกายเบา  ทรงมีพระเกษมสำราญ  ทรงมีความใกล้ชิดกับพระศาสดามากยิ่งขึ้น  และได้ทรงมหาทานอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า อสทิสทาน.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 05, 2012, 07:24:13 am »


05.เรื่องสานุสามเณร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภสามเณรชื่อสานุ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อิทํ  ปุเร เป็นต้น

สานุสามเณร  บวชเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก  เมื่ออายุมากขึ้น   มีความต้องการจะสึกออกไปเป็นฆราวาส  จึงไปที่บ้านและขอเสื้อผ้าชุดฆราวาสที่จะสวมใส่จากโยมมารดา  ข้างโยมมารดาไม่ต้องการให้สามเณรสึก  และได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้เห็นโทษของการเป็นฆราวาส  แต่สามเณรยืนกรานว่าจะต้องสึกให้ได้  โยมมารดาจึงบอกว่าจะจัดเสื้อผ้าให้แต่สามเณรต้องฉันภัตตาหารให้เรียบร้อยเสียก่อน   ขณะโยมมารดากำลังตระเตรียมอาหารอยู่นั้นเอง  นางยักษิณี  ซึ่งเคยเป็นมารดาของสานุสามเณรมาตั้งแต่อดีตชาติ  มีความคิดที่จะยับยั้งสามเณรไม่ให้สึกจึงเข้าสิงร่างของสามเณร  ทำการบิดคอสามเณร  จนตาสองข้างถลน  น้ำลายไหลออกมาจากปาก  ล้มลงที่พื้นดิน  โยมมารดาออกจากครัวมาเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ  รีบช้อนบุตรให้มานอนบนตัก ส่วนพวกเพื่อนบ้านก็มาช่วยกันเซ่นสรวงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

เมื่อสามเณรฟื้นคืนสติมาอีกครั้งหนึ่ง   ทั้งนางยักษิณีและโยมมารดาของสามเณรได้ช่วยกันเตือนสติสามเณรให้มองเห็นโทษในการครองเรือน  เช่น  สอนว่าการเข้ามาบวชเป็นภิกษุหรือสามเณรนั้นก็เหมือนกับคนขึ้นมาจากเหวได้แล้ว  การสึกออกไปเป็นฆราวาสก็เหมือนกับตกลงไปในเหวอีก    คนมาบวชนั้นก็เหมือนกับสิ่งของที่จะถูกไฟไหม้  แต่ถูกยกหนีออกจากไฟได้สำเร็จ การสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ไม่ผิดอะไรกับจะเอาสิ่งของนั้นไปใส่ให้ไฟไหม้อีกครั้งหนึ่ง     และหากสามเณรสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วก็จะไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้   ในที่สุดทั้งสองนางก็สามารถชี้ชวนสามเณรได้สำเร็จ  สามเณรรับปากว่าจะไม่สึกออกไปเป็นฆราวาส   เมื่อโยมมารดาสอบถามอายุของสามเณรแล้วทราบว่าอายุครบบวชเป็นภิกษุได้แล้ว  ก็ได้จัดแจงผ้าไตรจีวรและบาตร  ให้เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุ

เมื่อได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุจากพระศาสดาแล้ว   พระศาสดาได้ตรัสสอนเรื่องการข่มจิตแก่ภิกษุสานุผู้บวชใหม่ว่า  “ธรรมดาว่าจิตนี้  เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆตลอดกาลนาน  ชื่อว่าความสวัสดี  ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้  เพราะฉะนั้น  บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต  เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอฉะนั้น
จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

อิทํ  ปุเร  จิตฺตมจาริ  จาริกํ
เยนิจฺฉกํ  ยตฺถกมฺมํ  ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ  นิคฺคหิสฺสามิ  โยนิโส
หตฺถึ  ปภินฺนํ  วิย  องฺกุสคฺคาโห ฯ


เมื่อก่อน  จิตนี้ได้เที่ยวจาริกไป
ตามอาการที่ปรารถนา  ตามอารมณ์ที่ใคร่  และตามสบาย
วันนี้  เราจักข่มมันด้วยโยนิโสมนสิการ

ประหนึ่งนายควาญช้าง  ข่มช้างที่ซับมันฉะนั้น
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก  ผู้เข้าไปเพื่อสดับธรรมพร้อมกับพระสานุ
พระคัมภีร์กล่าวถึงประวัติของพระสานุรูปนี้ต่อไปว่า  ท่านเล่าเรียนพระไตรปิฎก  และได้เป็นพระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญ  ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ขจรขยายไปทั่วชมพูทวีป  และได้ปริพพานเมื่อมีอายุได้  120 ปี


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 05, 2012, 07:28:55 am »


06.เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภช้างชื่อปาเวรกะของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อปฺปมาทรตา  เป็นต้น

ช้างต้นชื่อปเวยยกะ  ของพระเจ้าปเสนทิโกศล  เมื่อตอนเป็นช้างหนุ่มมีพละกำลังมาก  แต่พอมีอายุชราภาพลง  เรี่ยวแรงก็หมดสิ้นไป   วันหนึ่ง  ช้างปเวยยกะนี้ลงไปอาบน้ำในสระใหญ่สระหนึ่ง  เกิดติดหล่มขึ้นฝั่งไม่ได้  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ  จึงมีรับสั่งให้นายควาญช้างไปช่วยช้างออกจากหล่ม  นายควาญช้างได้เดินทางไปที่จุดซึ่งช้างนั้นติดหล่มอยู่  ได้ใช้วิธีจำลองเหตุการณ์ว่าอยู่ในภาวะสงคราม  ให้คนรัวกลองรบเสียงดังสนั่นหวั่นไหว   ข้างช้างปเวยยะเมื่อได้ยินเสียงกลองศึก   จิตใจก็เกิดความฮึกเหิม  เกิดพละกำลังมหาศาล  สามารถหลุดจากหล่มขึ้นมาบนฝั่งได้สำเร็จ 

เมื่อภิกษุทั้งหลาย  กราบทูลเรื่องนี้ให้พระองค์ทราบ   พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือเปือกตมตามปกติก่อน  ส่วนเธอทั้งหลาย  แล่นลงแล้วในหล่มคือกิเลส  เพราะฉะนั้น  แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายแล้ว  ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อปฺปมาทรตา  โหถ
สจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา  อุทฺธรถตฺตานํ
ปงฺเก  สนฺโนว  กุญฺชโร ฯ


ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม

ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม
ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ภิกษุเหล่านั้น  บรรลุพระอรหัตตผล.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: สิงหาคม 05, 2012, 12:15:39 pm »



07.เรื่องสัมพหุลภิกษุ

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยป่าชื่อปาลิไลยกะ   ประทับอยู่ในไพรสณฑ์ชื่อรักขิตะ  ทรงปรารภภิกษุเป็นอันมาก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สเจ  ลเภถ เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ภิกษุชาวกรุงโกสัมพี   เกิดการแตกแยกกันเป็นสองพวก  พวกหนึ่งสนับสนุนพระวินัยธร  อีกพวกหนึ่งสนับสนุนพระธรรมกถึก   ภิกษุทั้งสองกลุ่มไม่ยอมปรองดองกัน  แม้พระศาสดาจะทรงสั่งสอนให้ตกลงกันโดยสงบก็ตาม   ดังนั้น  พระศาสดาจึงได้ทรงปลีกพระองค์ไปประทับจำพรรษา ณ  ป่ารักขิตวัน  โดยมีช้างปาลิไลยกะทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว  พระอานนทเถระได้ไปที่ป่ารักขิตวันนั้น พร้อมด้วยภิกษุอีก 500  รูป   พระอานนทเถระได้ให้ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้นรออยู่ข้างนอกก่อน   และได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามลำพัง   เมื่อพระศาสดามีรับสั่งให้พระอานนทเถระไปพาภิกษุ 500  รูปให้เข้ามาเฝ้าได้แล้ว   ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลถามว่า   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าผู้สุขุมาล  และเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล  พระองค์ผู้เดียวประทับยืนประทับนั่งตลอดไตรมาส  ทรงทำกรรมที่ทำได้โดยยากแล้ว  ผู้กระทำวัตรและวัตรปฏิบัติก็ดี  ผู้ถวายวัตถุมีน้ำบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้นก็ดี  ชะรอยจะไม่มี”  จึงตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  กิจทุกอย่าง ช้างชื่อปาลิไลยกะกระทำแล้วแก่เรา  อันที่จริง  การที่บุคคลเมื่อได้สหายผู้มีรูปเช่นนี้  อยู่ร่วมกัน  สมควรแล้ว  เมื่อบุคคลไม่ได้  ความเที่ยวไปคนเดียวเท่านั้นเป็นการประเสริฐ
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

สเจ  สเภถ  นิปกํ  สหายํ
สทฺธึจรํ  สาธุวิหาริธีรํ
อภิภุยฺย  สพฺพานิ  ปริสฺสยานิ
จเรยฺย  เตนตฺตมโน  สตีมา ฯ


โน  เจ  ลเภถ  นิปกํ  สหายํ
สทฺธึจรํ  สาธุวิหาริธีรํ
ราชาว  รฏฺฐํ  วิชิตํ  ปหาย
เอโก  จเร  มาตงฺครญฺเญว  นาโค ฯ


เอกสฺส  จริตํ  เสยฺโย
นตฺถิ  พาเล  สหายตา
เอโก  จเร  น  จ  ปาปานิ  กยิรา
อปฺโปสฺสุโก  มาตงฺครญฺเญว  นาโค  ฯ


ถ้าว่า   บุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
มีธรรมเครื่องอยู่อันดีไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
เขาพึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว

พึงเป็นผู้มีใจยินดี  มีสติ  เที่ยวไปกับสหายนั้น.

หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
มีธรรมเครื่องอยู่อันดี  เป็นนักปราชญ์

ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
เขาพึงเที่ยวไปคนเดียว  เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้น
ที่ทรงชนะเด็ดขาดแล้ว  หรือเหมือนช้างชื่อว่ามาตังคะละโขลงช้าง
เที่ยวไปในป่าตัวเดียวฉะนั้
น.

ความเที่ยวไปแห่งคนเดียวประเสริฐกว่า
เพราะคุณเครื่องเป็นสหายไม่มีในชนพาล 
บุคคลพึงเป็นผู้ๆเดียวเที่ยวไป

เหมือนช้างชื่อมาตังคะ  ตัวมีความขวนขวายน้อยเที่ยวไปอยู่ในป่าฉะนั้น
และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้ง  500  รูป  บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 05, 2012, 12:56:06 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 23 : นาควรรค
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: สิงหาคม 05, 2012, 12:54:46 pm »



08.เรื่องมาร

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่  ณ กุฎีซึ่งตั้งอยู่ในป่าที่ข้างป่าหิมพานต์  ทรงปรารภมาร   ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อตฺถมฺหิ  เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง   ขณะที่พระศาสดาประทับอยู่ใกล้เทือกเขาหิมาลัย  ทรงพบว่า    ประชาชนจำนวนมากถูกเบียดเบียนด้วยการลงอาชญา  จากกษัตริย์ผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรม  ทรงดำริว่า จะเป็นไปได้ไหมที่หากพระองค์เป็นกษัตริย์จะ         “ปกครองโดยธรรม  ไม่เบียดเบียนเอง  ไม่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน  ไม่ชนะเอง  ไม่ให้ผู้อื่นชนะ  ไม่เศร้าโศกเอง  ไม่ให้ผู้อื่นเศร้าโศก”   มารล่วงรู้ถึงพระดำริของพระศาสดา  จึงวางแผนจะชักนำให้พระศาสดาเป็นพระราชาปกครองแผ่นดิน  โดยการเสนอแนะวิธีการต่างๆที่สามารถนำมาใช้ในการปกครอง  พระศาสดาได้ตรัสกับมารนั้นว่า  “มารผู้มีบาป  โอวาทของท่านเป็นอย่างหนึ่ง  โอวาทของเราก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง  ท่านและเราปรึกษาธรรมกันไม่ได้  เพราะเราสอนอย่างนี้
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

อตฺถมฺหิ  ชาตมฺหิ  สุขา  สหายา
ตุฏฺฐี  สุขา  ยา  อิตรีตเรน
ปุญฺญํ  สุขํ  ชีวิตสงฺขยมฺหิ
สพฺพสฺส  ทุกขสฺส  สุขํ  ปหานํ  ฯ


สุขา  มตฺเตยฺยตา  โลเก
อโถ  เปตฺเตยฺยตา  สุขา
สุขา  สามญฺญตา  โลเก
อโถ  พฺรหฺมญฺญตา  สุขา  ฯ


สุขํ  ยาว  ชรา  สีลํ
สุขา  สทฺธา  ปติฏฺฐิตา
สุโข  ปญฺญาปฏิลาโภ
ปาปานํ  อกรณํ  สุขํ ฯ


เมื่อความต้องการเกิดขึ้น
สหายทั้งหลายนำความสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยนอกนี้ๆ(ตามมีตามได้
นำความสุขมาให้
บุญนำความสุขมาให้ในขณะสิ้นชีวิต
การละทุกข์ทั้งปวงได้นำสุขมาให้.

ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา  นำความสุขมาให้ในโลก

อนึ่ง  ความเกื้อกูลแก่บิดา  นำความสุขมาให้
ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะ  นำความสุขมาให้ ในโลก 
อนึ่ง  ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่พรหม  นำความสุขมาให้.

ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว  นำความสุขมาให้
การได้เฉพาะซึ่งปัญญา  นำความสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย  นำความสุขมาให้
.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก.


-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page1