อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 25 : ภิกขุวรรค
ฐิตา:
06. เรื่องปัญจัคคทายกพราหมณ์
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ชื่อปัญจัคคทายก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สพฺพโส นามรูปสฺมึ เป็นต้น
มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ปกติจะถวายทานที่เกี่ยวข้องกับข้าวในนา 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ให้ทานในตอนเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ (เขตตัคคะ) ครั้งที่ 2 ให้ทานในตอนขนข้าวเข้าลาน(ขลัคคะ) ครั้งที่ 3 ให้ทานในตอนนวดข้าว(ขลภัณฑัคคะ) ครั้งที่ 4 ให้ทานในตอนเอาข้าวสารลงในหม้อข้าว(อุกขลิกัคคะ) และครั้งที่ 5 ให้ทานในตอนที่คดข้าวใส่ภาชนะ(ปาฏิคคะ) พราหมณ์ผู้นี้ เมื่อยังไม่ให้แก่ปฏิคาหาหกที่มาขอ จะไม่ยอมบริโภคอาหาร เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีชื่อว่า ปัญจัคคทายก(ผู้ให้สิ่งเลิศ 5 ครั้ง)
วันหนึ่ง พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์และนางพราหมณี เข้ามาอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และทรงทราบว่าบุคคลทั้งสองนี้จะได้บรรลุพระอนาคามิผล ดังนั้น พระศาสดาจึงได้เสด็จไปประทับยืนอยู่ที่ประตูบ้านของบุคคลทั้งสองนั้น ขณะนั้นพราหมณ์กำลังรับประทานอาหารอยู่ โดยหันหน้าเข้าข้างในบ้าน เขาจึงไม่เห็นพระศาสดา ส่วนนางพราหมณีที่อยู่ใกล้ๆกับพราหมณ์มองเห็นพระศาสดา แต่กลัวว่าหากพราหมณ์เห็นพระศาสดายืนบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้าน ก็จะนำข้าวในจานทั้งหมดไปใส่บาตร และจะทำให้นางต้องหุงข้าวอีก นางจึงไปยืนบังอยู่ข้างหลังสามีเพื่อมิให้สามีมองเห็นพระศาสดา ต่อมานางได้ค่อยๆเดินถอยหลังไปยังจุดที่พระศาสดาประทับยืนอยู่นั้น และได้ย่อตัวลงกราบทูลด้วยเสียงค่อยๆว่า “นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด”
แต่พระศาสดาไม่ยอมเสด็จออกไปจากบ้านนั้น พระองค์ทรงสั่นพระเศียร แสดงสัญญาณว่า เราจักไม่ไป นางพราหมณีเห็นอากัปกิริยาของพระศาสดา ก็นึกขันจนกลั้นไม่อยู่ ได้ส่งเสียงหัวเราะอย่างขบขัน พราหมณ์จึงได้เหลียวหลังกลับมามอง เห็นพระศาสดา จึงพูดกับนางพราหมณีว่า “ นางผู้เจริญ ทำไมหล่อนไม่บอกว่าพระราชบุตรมาประทับยืนอยู่ที่ประตูบ้านเรา อย่างนี้ทำให้เราเสียหายมาก หล่อนทำกรรมหนักแล้ว” ว่าแล้วก็รีบยกภาชนะอาหารที่ตนบริโภคแล้วครึ่งหนึ่ง ไปใกล้พระศาสดา แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ถวายทานอันเลิศในโอกาสทั้ง 5 แล้วจึงบริโภค ข้าพระองค์รับประทานอาหารนี้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ยังเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง ขอพระองค์ได้โปรดรับอาหารส่วนนี้ของข้าพระองค์เถิด”
พระศาสดาตรัสตอบว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ขึ้นชื่อว่าข้าวทุกอย่างสมควรแก่เราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ยังไม่รับประทาน ข้าวที่รับประทานไปเป็นบางส่วน หรือข้าวที่เหลือเดน ดูก่อนพราหมณ์ เพราะพวกเราเป็นผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นเช่นกับพวกเปรต” พราหมณ์มีความประหลาดใจที่ได้ยินพระดำรัสเช่นนี้ของพระศาสดา และในขณะเดียวกันก็เกิดความปิติยินดีที่พระศาสดายอมรับข้าวของตน จากนั้น พราหมณ์ได้ทูลถามพระศาสดาว่า พระองค์ใช้เกณฑ์อะไรกำหนดบุคคลว่าเป็นภิกษุ พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณพิเศษว่าทั้งพราหมณ์และนางพราหมณีได้เรียนรู้ถึงเรื่องของนามและรูปมาแล้วในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ไม่กำหนัด ไม่ข้องอยู่ในนามและรูป ชื่อว่า เป็นภิกษุ”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สพฺพโส นามรูปสฺมึ
ยสส นตฺถิ มมายิตํ
อสตา จ น โสจติ
ส เว ภิกฺขูติ วุจฺจติ ฯ
ความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของๆเรา
ไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
อนึ่ง ผู้ใด ไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปนั้นไม่มีอยู่
ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภรรยาและสามีทั้ง 2 บรรลุอนาคามิผล พระธรรมเทศฯมีประโยชน์ แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.
ฐิตา:
07.เรื่องสัมพหุลภิกษุ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมากรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เมตฺตาวิหารี เป็นต้น
พระโสณกุฏิกัณณเถระ ได้รับนิมนต์จากมหาอุบาสิกาโยมมารดา ให้ไปแสดงธรรมโปรด พระเถระได้ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ที่สั่งทำเป็นพิเศษพร้อมด้วยมณฑป แสดงธรรมโปรดโยมมารดาและหมู่บริวารอยู่ที่บริเวณใจกลางเมือง ขณะจัดให้มีงานบุญครั้งนี้เป็นช่วงเวลากลางคืน พวกโจรได้ฉวยโอกาสตอนที่มหาอุบาสิกาและหมู่บริวารไม่อยู่บ้าน ทำการปล้นบ้านของมหาอุบาสิกา ทั้งนี้หัวหน้าโจรไปยืนคุมเชิงอยู่ในบริเวณงานแสดงธรรมนั้น ซึ่งเขาได้วางแผนไว้ว่า จะฆ่ามหาอุบาสิกาโยมมารดาของพระเถระนั้นทันที หากนางจะกลับมาบ้านก่อนที่พวกโจรจะปล้นเสร็จ หญิงคนใช้ในบ้านได้มาแจ้งข่าวเรื่องโจรเข้าปล้นบ้านให้มหาอุบาสิกาได้ทราบถึง 3 ครั้ง แต่นางก็มิได้ให้ความสนใจ มิหนำซ้ำยังขับไล่หญิงคนใช้นั้นกลับบ้านไปทุกครั้ง
โดยนางบอกว่าอย่ามารบกวน นางกำลังฟังธรรมยังไม่จบ ฝ่ายนายโจรที่ยืนคุมเชิงอยู่นั้น ก็ได้ยินคำพูดที่มหาอุบาสิกากล่าวกับหญิงคนใช้ตลอด เกิดความประทับใจมาก ได้เดินออกจากบริเวณที่จัดงานนั้น ไปบอกบริวารโจรให้ขนเข้าของทั้งหมดกลับไปคืนที่บ้านของมหาอุบาสิกาดังเดิม จากนั้นได้กลับมาขออุปสมบทจากพระโสณกุฏิกัณณเถระ เมื่อพวกภิกษุอดีตโจรเหล่านี้นำหัวข้อพระกัมมัฏฐานจากพระโสณกุฏิกัณณเถระเดินทางเข้าป่าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง พระศาสดาได้แผ่พระรัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของภิกษุเหล่านี้ แล้วตรัสพระธรรมบท 9 พระคาถานี้ว่า
เมตฺตาวิหาริ โย ภิกฺขุ
ปสนฺโน พุทฺธสาสเน
อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ
สงฺขารูปสมํ สุขํ ฯ
สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ
สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ
เฉตวา ราคัญฺจ โทสญฺจ
ตโต นิพฺพานเมหิสิ ฯ
ปญฺจ ฉินฺเท ปญฺจ ชเห
ปญจ จุตฺตริ ภาวเย
ปญฺจ สงฺคาติโต ภิกฺขุ
โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ ฯ
ฌาย ภิกฺขุ มา จ ปมาโท
มา เต กามคุเณ ภมสฺสุ จิตฺตํ
มา โลหคุฬํ คิลี ปมตฺโต
มา กนฺที ทุกฺขมิทนฺติ ฑยฺหมาโน ฯ
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส
ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ
ส เว นิพพานสนฺติเก ฯ
สุญฺญาคารํ ปวิฏฺฐสฺส
สนตจิตฺตสส ภิกฺขุโน
อมานุสี รตี โหติ
สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต ฯ
ยโต ยโต สมฺมสติ
ขนธานํ อุทยพฺพยํ
ลภตี ปีติปาโมชฺชํ
อมตํ ตํ วิชานตํ ฯ
ตตฺรายมาทิ ภวติ
อิธ ปญฺญสฺส ภิกฺขุโน
อินฺทริยคุตฺติ สนฺตุฏฺฐี
ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ
สุทฺธาชีเว อตนฺทิเต ฯ
ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส
อาจารกุสโล สิยา
ตโต ปาโมชฺชพหุโล
ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ฯ
ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ
เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข.
ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้
เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว
เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว
แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน.
ภิกษุพึงตัดธรรม 5 อย่าง
พึงละธรรม 5 อย่าง
และพึงยังคุณธรรม 5 ให้เจริญยิ่งๆขึ้น
ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง 5 อย่างได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้.
ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท
จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ
เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ
เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่
คร่ำครวญว่า นี้ทุกข์.
ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ฌานและปัญญาย่อมไม่มีในบุคคลใด
บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่ในที่ใกล้นิพพาน.
ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์
ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง
ผ็มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ”
ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
แห่งสังขารทั้งหลายโดยอาการใดๆ
เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้นๆ
การได้ปีติและปราโมทย์นั้น
เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย.
ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ 1
ความสันโดษ 1 ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 1
เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้น
มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้.
เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด
ไม่เกียจคร้าน ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร
พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ
เพราะเหตุนั้น เธอจักเป็นผู้มากด้วยปีติปราโมทย์
กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
เมื่อพระธรรมบทแต่ละพระคาถาจบลง ภิกษุ 100 รูป(ในจำนวน 900 รูป)บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภทาทั้งหลาย.
ฐิตา:
08.เรื่องภิกษุประมาณ 500 รูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุประมาณ 500 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า วสฺสิกา วิย ปุปฺผานิ เป็นต้น
ภิกษุ 500 รูปจากนครสาวัตถี รับหัวข้อพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว ก็ได้เดินทางเข้าป่าไปปฏิบัติธรรมในที่สงัดแห่งหนึ่ง ณ ที่นั้น ภิกษุเหล่านี้ไปสังเกตเห็นดอกมะลิซึ่งบานในตอนเช้าหลุดออกจากขั้วหล่นลงสู่พื้นดินในตอนเย็น ก็มีความคิดว่า พวกตนจะต้องพยายามปลดเปลื้องตนออกจากิเลสอาสวะให้ได้ก่อนที่ดอกมะลิจะหลุดออกจากขั้ว พระศาสดา ทรงตรวดูอุปนิสัยของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุพึงพยายามเพื่อหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ให้ได้ ดุจดอกไม้ที่หลุดจากขั้วฉะนั้น” ประทับอยู่ในพระคันธกุฏี ได้แผ่รัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของภิกษุเหล่านี้แล้ว ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
วสฺสิกา วิย ปุปผานิ
มทฺทวานิ ปมุญฺจติ
เอวํ ราคญจ โทสญฺจ
วปฺปมุญเจถ ภิกฺขโว ฯ
ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงปลดเปลื้องราคะและโทสะเสีย
เหมือนมะลิเครือ
ปล่อยดอกทั้งหลาย
ที่เหี่ยวเสีย ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุทั้ง 500 รูป บรรลุพระอรหัตตผล.
ฐิตา:
09.เรื่องพระสันตกายเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสันตกายเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สนฺตกาโย เป็นต้น
พระสันตกายเถระ เคยเป็นราชสีห์มาแต่อดีตชาติ มีความสำรวมระวังกายอยู่เป็นนิตย์ ไม่เคยแสดงอาการคะนองมือคะนองเท้า แม้แต่จะบิดกายก็ไม่เคยทำ ลักษณะของพระเถระรูปนี้ไม่ผิดกับพฤติกรรมของราชสีห์ คือ ราชสีห์เมื่อกลับจากหาอาหาร คืนสู่ถ้ำที่พักอาศัยของมันแล้ว มันก็จะนอนลงบนผงมโนศิลา และหรดาลที่โรยไว้ตลอด 7 วัน พอถึงวันที่ 7 มันก็จะตรวจดูที่นอน ถ้าเห็นผงที่โรยไว้นี้กระจุยกระจาย เพราะกระดิกหาง หู หรือยันเท้าไปถูก มันจะลงโทษตัวเองด้วยการอดอาหาร ไม่ออกไปไหน เป็นเวลา 7 วัน แต่หากผงนั้นไม่กระจุยกระจาย มันก็จะภาคภูมิใจ เดินออกจากถ้ำ บิดกาย ชำเลืองดูทิศทั้ง 4 แล้วออกหาอาหาร
ภิกษุทั้งหลาย นำเรื่องพฤติกรรมของพระสันตกายเถระกราบทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ พึงเป็นผู้สงบทางทวารทั้งหลายมีกายทวารเป็นต้นโดยแท้ เหมือนกับสันตกายเถระฉะนั้น”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สนฺตกาโย สนฺตวาโจ
สนฺตมโน สุสมาหิโต
วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ
อุปสนฺโตติ วุจฺจติ ฯ
ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ
มีใจสงบผู้ตั้งมั่นดีแล้ว
มีอามิสในโลกอันคายเสียแล้ว
เราเรียกว่า ผู้สงบระงับ.
เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง พระเถระบรรลุพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนามีประโยชน์ แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.
ฐิตา:
10.เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนังคลกูฏเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ เป็นต้น
พระนังคลกูฏเถระ เมื่อสมัยยังเป็นฆราวาส เป็นชาวนาผู้ยากไร้ มีสมบัติส่วนตัวอยู่ 2 ชิ้น คือ ผ้าเตี่ยว 1 ผืน และไถ 1 คัน เมื่อใดที่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายเพศบรรพชิต อยากจะสึกออกไปเป็นฆราวาส ท่านก็จะไปยังต้นไม้ที่ท่านเก็บผ้าเตี่ยวและไถนั้นไว้ และให้โอวาทตัวเอง จิตใจก็เกิดความสบาย หายความกระสันอยากสึก ครั้งสุดท้ายท่านไปยังต้นไม้นั้น ยึดเอาผ้าเตี่ยวและไถมาเป็นอารมณ์พิจารณาพระกัมมัฏฐาน กระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ไปที่ต้นไม้ต้นนั้นอีกเลย พวกภิกษุสังเกตเห็นท่านไม่เทียวไล้เทียวขื่อไปที่ต้นไม้นั้นอีก เกิดความสงสัยจึงได้สอบถามถึงสาเหตุที่ท่านไม่ไปที่ต้นไม้ต้นนั้นว่า “ท่านไม่ไปหาอาจารย์ของท่านอีกหรือ” ท่านตอบว่า “เราไปหาอาจารย์เมื่อมีความจำเป็น เดี๋ยวนี้ไม่มีความจำเป็นอย่างนั้นแล้ว” ภิกษุทั้งหลายคิดว่าท่านอวดอ้างว่าตนเป็นพระอรหันต์ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา และพระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นังคลกูฏะบุตรของเรา เตือนตนด้วยตนเอง แล้วจึงถึงที่สุดแห่งกิจบรรพชิต”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
อตฺตนา โจทยตตานํ
ปฏิมาเส อตฺตมตฺตนา
โส อตฺตคุตฺโต สติมา
สุขํ ภิกฺขุ วิหาหิสิ ฯ
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
ตสฺมา สํยม อตฺตานํ
อสฺสํ ภทฺรํว วาณิโช ฯ
เธอจงเตือนตนด้วยตน
จงพิจารณาดูตนนั้นด้วยตน
ภิกษุ เธอนั้น มีสติ ปกครองตนได้แล้ว
จักอยู่สบาย.
ตนแหละ เป็นนาถะของตน
ตนแหละ เป็นคติของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน
ให้เหมือนอย่างพ่อค้าม้าสงวนม้าตัวเจริญ ฉะนั้น.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version