ผู้เขียน หัวข้อ: แฟนพันธุ์แท้สามก๊ก ว่าด้วยเรื่องข้อเท็จจริงกรณี"กวนอู"ไปรับราชการกับ"โจโฉ"  (อ่าน 6114 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
แฟนพันธุ์แท้สามก๊ก ว่าด้วยเรื่องข้อเท็จจริงกรณี"กวนอู"ไปรับราชการกับ"โจโฉ"

ข้อเท็จจริงกรณีกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
ชัชวนันท์ สันธิเดช  แฟนพันธุ์แท้สามก๊ก  www.CheeChud.com

-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344673570&grpid=03&catid=&subcatid=-







เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ทราบว่า สามก๊กตอน “กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ” ได้เข้าไปอยู่ในแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษามาหลายปีแล้ว ต่างจากสมัยที่ผมเรียน ซึ่งมีแต่เรื่อง “จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า” และ “ลกเจ๊กขโมยส้มให้แม่”
เท่าที่สังเกต ดูเหมือนว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกเรื่องราวต่างๆ ไปไว้ในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ พยายามจะขับเน้นเรื่องของ “ความซื่อสัตย์” และ “ความกตัญญู” เป็นสำคัญ

 

ดังเช่นที่เคยเลือก “จูล่ง” พระเอกตลอดกาลของนักอ่านสามก๊ก ที่อุตส่าห์บุกตะลุยทัพร้อยหมื่น เสี่ยงชีวิตไปเอาตัวทารกน้อยลูกชายของเล่าปี่ผู้เป็นนายกลับมาอย่างปลอดภัย อันเป็นวีรกรรมแห่ง “ความจงรักภักดี” ชนิดไม่คำนึงถึงชีวิตตัวเอง

 


เช่นเดียวกับ “ลกเจ๊ก” ขุนนางกตัญญูของซุนกวน ที่สมัยเด็กแอบลักส้มจากงานเลี้ยงบ้านอ้วนสุดมาให้แม่ที่ยากจนได้ลิ้มรส โดยเรื่องหลังนี้ เป็นหนึ่งในตำนาน “ยี่สิบสี่ยอดกตัญญู” (เอ้อร์สือซื่อเสี้ยว 二十四孝) ของจีนด้วย ซึ่งเรื่องราวการไปรับราชการกับโจโฉของกวนอู ก็น่าจะถูกบรรจุเข้าไปโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้

 


ก่อนอื่น ขอถ่ายทอดเนื้อหาที่บรรยายไว้โดยหลอกว้านจง ปราชญ์สมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งได้หยิบเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ผนวกรวมเข้ากับจินตนาการของตนเอง รวมทั้งแหล่งข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านหรือบทงิ้ว ประพันธ์ออกมาเป็น “วรรณกรรมสามก๊ก” (ซานกว๋อเหยียนอี้ 三国演义) อันลือลั่น เป็นที่ติดอกติดใจของคนทั่วโลก ทำให้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมล้ำค่าของชาติจีน


วรรณกรรมสามก๊กของหลอกว้านจงเล่าว่า หลังจากเล่าปี่พ่ายศึกต่อโจโฉที่แคว้นชีจิ๋ว (สีว์โจว 徐州) สามพี่น้องร่วมสาบานในสวนท้อก็มีอันต้องแตกฉานซ่านเซ็น โดยเล่าปี่พี่ใหญ่ระเห็จไปขออาศัยอยู่กับอ้วนเสี้ยว ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลยิ่งในแผ่นดินขณะนั้น ฝ่ายเตียวหุยน้องเล็กไปซ่องสุมกำลังอยู่ที่เขาบองเอี๋ยงสัน

 

ส่วนกวนอูน้องรองไม่อาจหนีไปไหนได้ เพราะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลครอบครัวเล่าปี่ จึงต้องปักหลักสู้ตาย และโดนทัพของโจโฉล้อมไว้ที่เมืองแห้ฝือ (เซี่ยผี下邳) หัวเมืองรองของแคว้นชีจิ๋ว สถานการณ์วิกฤตยิ่ง

 

 

วรรณกรรมเล่าต่อไปว่า เมื่อรู้ว่ากวนอูจนมุมแล้ว โจโฉได้ส่งเตียวเลี้ยว ยอดทหารเอก มาเจรจาโน้มน้าวขุนพลเครางามให้ไปทำราชการด้วยกัน เหตุที่ต้องเป็นเตียวเลี้ยวก็เพราะเขาและกวนอูคุ้นเคยกันมาก่อน

 

ความสนิทสนมของกวนอูกับเตียวเลี้ยวนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่โจโฉรบชนะลิโป้ที่เมืองปักเอี้ยง (พูหยาง 濮陽) ครานั้นกวนอูหนีตามเล่าปี่พี่ชายร่วมสาบานไปพึ่งใบบุญของโจโฉ ครั้นเตียวเลี้ยวซึ่งเป็นทหารเอกของลิโป้ตกเป็นเชลยและกำลังจะถูกโจโฉประหาร กวนอูได้ขอชีวิตไว้ เพราะมองออกว่านายทหารผู้นี้แม้จะรับใช้คนถ่อยแต่จิตใจสัตย์ซื่อถือคุณธรรม โจโฉจึงไม่ฆ่าและเอาตัวไว้ใช้งาน

 

 

จึงถือได้ว่ากวนอูมีบุญคุณต่อเตียวเลี้ยวมาแต่เก่าก่อน ขณะที่โจโฉเองก็แจ้งในฝีมือและอุปนิสัยใจคอของกวนอูมานานแล้ว

 

ครั้นกวนอูโดนเตียวเลี้ยวชักชวน ทีแรกเขาตอบปฏิเสธ เพราะถือหลักลูกผู้ชายย่อมพร้อมพลีชีพ ไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย ทว่าเมื่อแม่ทัพเตียวหว่านล้อมว่า หากกวนอูตาย ย่อมไม่มีโอกาสดูแลปกป้องครอบครัวของเล่าปี่ อีกทั้งยังเป็นการผิดต่อคำสาบานในสวนท้อ ที่เคยลั่นวาจาไว้กับเล่าปี่และเตียวหุยว่าจะสิ้นลมในวันเดือนปีเดียวกัน เมื่อยังไม่ทราบชะตากรรมของทั้งสองคน จะมาตัดช่องน้อยชิงตายไปก่อนได้อย่างไร

 

นอกจากนี้ ตัวเขาก็เป็นทหารกล้าฝีมือเกริกไกร จึงควรอย่างยิ่งที่จะรักษาตัวไว้เพื่อรับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้ปกปักราชบัลลังก์ ไม่ควรรีบตายตั้งแต่ตอนนี้

กวนอูได้ฟังดังนั้นก็คิดพิจารณาอยู่สักพัก ก่อนจะยื่น “เงื่อนไข ๓ ข้อ” กลับไป โดยบอกว่าหากโจโฉตอบตกลง ตัวเขาก็จะยอมไปทำราชการด้วย เงื่อนไขทั้งสามมีดังนี้

 

๑. ต้องถือว่าตัวเขาเป็นข้ารับใช้ในพระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่ข้าของโจโฉ

๒. ห้ามคนของโจโฉมากล้ำกรายถึงที่อยู่ของสองภรรยาของเล่าปี่ และให้เบิกเบี้ยหวัดของเล่าปี่มาเลี้ยงดูฮูหยินทั้งสองพร้อมบ่าวไพร่

 

๓. หากรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ไหน เขาจะกลับไปหาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องบอกลาโจโฉ

พอเตียวเลี้ยวนำความกลับไปแจ้ง โจโฉก็ชักลังเล เงื่อนไข ๒ ข้อแรกนั้นพอจะรับได้อยู่ แต่ข้อที่ ๓ นี่แหละที่มีปัญหา มีอย่างที่ไหน ได้ทราบข่าวนายเก่าเมื่อไรก็มีสิทธิ์ตีจากไปได้ทันทีมิต้องร่ำลา แล้วจะเลี้ยงมันไว้เพื่ออะไร จะเอาเสือเจ็บมาชุบเลี้ยงจนแผลหายดีแล้วส่งคืนให้ศัตรูกระนั้นหรือ

 

ทว่าเตียวเลี้ยวซึ่งก็อยากได้กวนอูมาเป็นเพื่อนร่วมรบได้ช่วยเจรจากับโจโฉอีกทางหนึ่ง โดยบอกว่า กวนอูเป็นคนรู้คุณคน เขารักเล่าปี่ก็เพราะเล่าปี่มีคุณต่อเขา ตัวท่านก็จงสร้างบุญคุณต่อกวนอูให้มากเข้า สักวันเขาคงซึ้งใจ ยอมอยู่เป็นข้ารับใช้ท่านถาวร

เมื่อได้ยินคำโน้มน้าวของเตียวเลี้ยว โจโฉจึงตกลงตอบรับทุกเงื่อนไข และได้ตัวกวนอูมาใช้งานจนได้
ไม่นานหลังจากนั้น กวนอูได้ทดแทนคุณของโจโฉ ด้วยการออกรบกับทัพอ้วนเสี้ยว และตัดศีรษะงันเหลียงกับบุนทิว สองทหารเสือของนายพลอ้วนเสี้ยว ในระหว่างนั้นเอง เขาได้ทราบว่าเล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว ขุนพลเครางามจึงตีจากโจโฉกลับไปหาพี่ชายร่วมสาบานในที่สุด


ที่เล่ามาทั้งหมด คือเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊ก ทว่าเนื้อความในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกว๋อจื้อ 三国志) ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เป็น “เหตุการณ์จริง” ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ บันทึกโดยเฉินโซ่ว อดีตขุนนางจ๊กก๊กที่ต่อมาได้ไปรับราชการกับราชวงศ์จิ้น กลับมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร


กล่าวคือ หลังจากตีเล่าปี่แตกพ่ายไปแล้ว โจโฉสามารถจับตัวกวนอูได้ที่เมืองแห้ฝือ แต่กลับไม่ทำอันตราย โดยให้เอาตัวไว้ใช้งาน ทั้งนี้ จอมคนแซ่โจปฏิบัติต่อกวนอูอย่างดียิ่ง ให้ยศทางทหารเป็นถึง “เพียนเจียงจวิน”      (偏將軍 เทียบกับยศสากลในปัจจุบันคือระดับ “พลโท”)


และแล้ว กวนอูก็ได้โอกาสตอบแทนบุญคุณโจโฉอย่างงดงาม ด้วยการคุมทัพหน้าร่วมกับเตียวเลี้ยว ออกรบกับ “งันเหลียง” ทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ที่เป็นแม่ทัพมาตีเมืองตองกุ๋น (ตงจวิ้น 東郡) ในเขตปกครองของโจโฉ

 

ทั้ง ๒ ทัพเผชิญหน้ากันที่ตำบลแป๊ะเบ๊ (ไป๋หม่า 白馬) และกวนอูก็ควบม้าตะลุยเดี่ยวเข้าไปตัดหัวงันเหลียงได้ในชั่วพริบตา ท่ามกลางความตกตะลึงของไพร่พลนับหมื่นคน (วรรณกรรมบอกว่ากวนอูตัดหัวบุนทิว นายทหารอีกคนหนึ่งด้วย แต่ในประวัติศาสตร์จริง กวนอูฆ่างันเหลียงเพียงคนเดียว) ส่งผลให้อ้วนเสี้ยวต้องถอยทัพไป

 

วีรกรรมดังกล่าวทำให้โจโฉพอใจอย่างยิ่ง จึงทำเรื่องขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กวนอูเป็น “ฮั่นสือเตงเฮา” (ฮั่นโซ่วถิงโหว 漢壽亭侯 ถิงโหว เป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เทียบได้กับ Marquis ของอังกฤษ) อย่างไรก็ตาม โจโฉเริ่มรู้สึกได้ว่ากวนอูอาจไม่อยากอยู่กับเขานานนัก จึงใช้ให้เตียวเลี้ยวไปเลียบๆ เคียงๆ ถามดู และคำตอบที่กวนอูให้กับเตียวเลี้ยวก็คือ

 

 “ข้าระลึกเสมอว่าท่านโจ (โจโฉ) ดีต่อข้ามาก อย่างไรก็ตาม นายพลเล่า (เล่าปี่) ได้มอบความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ให้กับข้า ข้าจึงสาบานว่าจะตายเคียงข้างเขา และข้าจะไม่มีวันเนรคุณเขาเป็นอันขาด สักวันหนึ่ง ข้าคงต้องไป แต่ข้าจะสร้างความชอบตอบแทนท่านโจเสียก่อน จึงจะจากลา”

 

ทีแรก เตียวเลี้ยวไม่กล้านำความไปบอกโจโฉ เพราะกลัวนายใหญ่จะฆ่ากวนอูเสีย ทว่าเมื่อโจโฉทราบความเข้า นอกจากจะไม่เอาเรื่องแล้ว เขากลับยิ่งชื่นชมนายพลกวนว่าเป็นลูกน้องที่รู้คุณนาย ไม่ลืมกำพืด ทั้งยังเอ่ยปากยกย่องว่ากวนอูเป็น “สุภาพบุรุษของแผ่นดิน” โดยแท้

จะเห็นได้ว่า หลอกว้านจง ผู้แต่งวรรณกรรมสามก๊ก ได้แต่งเติมเรื่องราวการยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉของกวนอู ให้มี “เงื่อนไข ๓ ข้อ” เพื่อ “รักษาภาพ” ของเขามิให้แปดเปื้อนไปในฐานะ “บ่าวสองนาย” โดยขับเน้นให้เห็นว่าทหารกล้าผู้นี้รักศักดิ์ศรีไม่เคยกลัวตาย และยกเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะ “พี่สะใภ้” มาเป็น “ตัวช่วย” ให้กวนอูรอดพ้นจากข้อหาดังกล่าว

 

ทั้งที่ข้อเท็จจริงจากจดหมายเหตุสามก๊กระบุชัดเจนว่า กวนอูถูกจับตัวได้โดยละม่อม ซึ่งในฐานะเชลยศึกย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะตั้งเงื่อนไขอันใด หากไม่ยอมเป็นลูกน้องของโจโฉก็ต้องถูกประหารชีวิตสถานเดียว

 

แม้กวนอูจะแสดงเจตจำนงว่าตนเองต้องการกลับไปหาเล่าปี่ แต่นั่นก็เป็นการพูดหลังจากที่เขามารับใช้โจโฉแล้ว จึงมิอาจเรียกสิ่งนั้นว่าเป็น “เงื่อนไข” ได้ อีกทั้งยังมิใช่การพูดกับโจโฉโดยตรง แต่เป็นการบอกเตียวเลี้ยว นายทหารที่เป็นเพื่อนกัน โดยมิทราบว่าโจโฉเป็นผู้ใช้ให้มาถาม

 

 

อย่างไรก็ตาม  การที่กวนอูต้องการกลับไปหาเล่าปี่ ทั้งๆ ที่อยู่กับโจโฉก็ได้ดิบได้ดี ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โต ทำให้แม้ใครจะคลางแคลงใจในการกระทำของเขาอยู่บ้าง ก็ยังต้องยอมรับว่ากวนอูเป็นคนกตัญญูรู้คุณ ลาภยศสรรเสริญอื่นใดมิอาจเปลี่ยนใจเขาได้เลย ซึ่งสุดท้ายเขาก็ดั้นด้นกลับไปหาเล่าปี่จนได้ โดยที่โจโฉเองก็ปล่อยให้ไป มิได้ขัดขวาง

 

โดยสรุปแล้ว เรื่องราวตอนนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความซื่อสัตย์และกตัญญูของ “กวนอูในวรรณกรรม” อันเหมาะสมที่จะหยิบยกเอาไปสอนเด็ก แต่ในอีกด้านหนึ่ง “กวนอูตัวจริง” กลับมีความเป็น “ปุถุชน” ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าน่ายกย่องไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะมากกว่า “กวนอูในเรื่องแต่ง” เสียด้วยซ้ำ

 

 

เพราะตัวจริงของกวนอูเป็นคนฉลาด รู้รักษาตัวรอด ยอมที่จะ “งอ” ไม่ยอม “หัก” ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ศักดิ์ศรี” ที่หากแม้นยึดมั่นถือมั่นจนไม่โอนอ่อนผ่อนตามแล้ว ชีวิตตนเองก็อาจรักษาไว้ไม่ได้ การณ์ใหญ่ก็คงพังพาบไป

ไม่เหลือความดีใดๆ ให้โลกได้เรียนรู้เลย

................................................

หมายเหตุ - ชื่อบุคคลส่วนใหญ่ในบทความนี้ ผู้เขียนขอใช้สำเนียงจีนฮกเกี้ยนซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันจากสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นหลัก เช่น กวนอู เตียวเลี้ยว ยกเว้นบางบุคคลที่คนไทยนิยมเรียกชื่อเป็นสำเนียงจีนกลางก็จะใช้ชื่อตามนั้น เช่น หลอกว้านจง และสำหรับชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สำเนียงจีนกลาง ผู้เขียนได้ระบุสำเนียงจีนกลางและอักษรจีนชนิดตัวย่อไว้ในวงเล็บข้างหลัง เช่น แคว้นชีจิ๋ว (สีว์โจว 徐州)

.




คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)