ผู้เขียน หัวข้อ: ปุจฉาของผู้ประพฤติธรรม :หลวงพ่อชา สุภัทโท  (อ่าน 1346 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ผู้ประพฤติธรรม
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

ปุจฉา :ถ้าเรายังมีชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ และต้องผูกพันอยู่กับงาน
ซึ่งทำให้เราต้องบังเกิดความรู้สึกพัวพันอยุ่กับงาน

การหวังประโยชน์แบบนี้นะคะ
แต่ว่าใจของเรารู้อยู่ว่า อันเหตุเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว
แต่โดยหน้าที่แล้วจำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อไป
อย่างนี้เราควรจะทำอย่างไรดีคะ

วิสัชชนา : เราจะต้องรู้จักภาษา
คำพูดอันนี้ คำที่ว่ายึดนี้ ยึดเพื่อไม่ยึด
ถ้าคนไม่ยึดแล้วก็พูดไม่รู้เรื่องกัน ไม่รู้จักทำการงานอะไรทั้งนั้น
เหมือนกับมีสมมติ มันก็มีวิมุตติ
ถ้าไม่มีเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะทำกัน
จึงให้รู้จัก สมมติ และ วิมุตติ

คำที่ว่า ยึดมั่น หรือ ถือมั่นนี่น่ะ เราถอนตัวออก
อันนี้เป็นภาษาพูดกัน เป็นคำที่พูดกัน
แต่ตัวอุปาทานคือสิ่งทั้งหลายเช่น

เรามีแก้วอยู่ในหนึ่ง เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราจำเป็นต้องใช้แก้วใบนี้
อยู่ตลอดชีวิต ให้เรามาเรียนรู้เรื่องแก้วใบนี้นั้นชัดเจนจนจบ
เรื่องของแก้วจบยังไง ก็คือเห็นว่าแก้วใบนี้มันแตกแล้ว
ถึงแก้วที่ไม่แตกเดี๋ยวนี้ เราก็ใช้แก้วใบนี้ไปใส่น้ำร้อนน้ำเย็น


เมื่อแก้วใบนี้มันแตกเมื่อไร ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้.. ทำไม?
เพราะว่าเราเห็นความแตกของแก้วใบนี้ เป็นของแตกทีหลัง
เราเห็นแตกก่อนแตกเสียแล้ว
แก้วใบนี้มันก็แตกไป ปัญหาอะไรมันก็ไม่มีเกิดขึ้นเลย
ทั้งๆ เราใช้แก้วใบนี้อยู่อย่างนี้ เข้าใจอย่างนั้นมั้ย

นี่มันเป็นอย่างนี้ มันหลบกันใกล้ๆเลย

ทุกอย่างที่เราใช้ของอยู่ ก็ให้มีความรู้อย่างนี้ไว้
มันก็เป็นประโยชน์ เรามีไว้มันก็สบาย
ที่มันจะหายไปมันก็ไม่เป็นทุกข์
คือไม่ลืมตัวของเรา เพราะรู้เท่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้


นี่เรียกว่าความรู้ทันเกิดขึ้นในที่นี้
มันคุมสิ่งเหล่านี้อยู่ในกำมือของมัน

เราก็ทำไปอย่างนั้นแหละ
ถ้าว่าความดีใจหรือเสียใจมากระทบอยู่ เป็นธรรมดา อย่างนี้
เราก็รู้อารมณ์ว่าความดีมันไปถึงแค่ไหน
มันก็ไปถึงเรื่องอนิจจังทั้งนั้นแหละ เรื่องไม่แน่นอน
ถ้าเราเห็นเรื่องไม่แน่นอนอันนี้ เรื่องสุขเรื่องทุกข์นี้


มันก็เป็นเพียงเศษเป็นกากอันหนึ่งเท่านั้นในความรู้สึกนึกคิดของเรา
เป็นธรรมดาของมันเสียแล้ว
เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมาหรือสุขเกิดขึ้นมา มันก็อย่างนั้นเอง
ความว่า อย่างนั้นเอง มันกันตัวอย่างนี้

ไม่ใช่คนไม่รู้นะ ไม่ใช่คนเผลอนะ
เพราะว่าเรามีสติรอบคอบอยู่เสมอ ในการงานทุกประเภท ทุกอย่าง
บางแห่งเคยเข้าใจว่าฉันเป็นฆราวาสอยู่
ฉันได้ทำงานอยู่ประกอบกิจการงาน เป็นพ่อบ้านแม่บ้านอยู่อย่างนี้
ฉันไม่มีโอกาสไปปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้เป็นคำที่เข้าใจผิดของบุคคลที่ยังไม่รู้ชัดความเป็นจริงนั้น

ถ้าหากว่าเราปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่
มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่ มีความรู้ตัวอยู่อย่างนี้
การงานมันจะยิ่งเลิศ ยิ่งประเสริฐ
มีความเจริญงอกงามในการงานนั้นดีขึ้น

เพราะว่าการปฏิบัตินี้
อาตมาเคยเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับลมหายใจ
ทีนี้เราทำงานทุกแขนงอยู่
เราเคยบ่นไหมว่าเราไม่ได้หายใจ
มันจะยุ่งยากสักเท่าไรก็ต้องพยายามหายใจอยู่เสมอ
เพราะมันเป็นของจำเป็นอยู่อย่างนี้


การประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน
เมื่อเรามีโอกาสหายใจอยู่เมื่อเวลาเราทำงาน
เราก็มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัตินั้นอยู่ทั้งนั้น ในชีวิตฆราวาสของเรา
ก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติก็คือความรู้สึกในใจของเรา
ไม่ต้องไปแยกที่ไหน ทำอยู่เดี๋ยวนี้ก็รู้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

ถ้าเราไปคิดว่าเราทำงานอยู่ เราไม่ไปปฏิบัติก็เรียกว่าเราขาดไป
ก็เพราะว่าการปฏิบัตินั้นอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่การงาน ไม่ใช่อยู่ที่อื่น

เราลองทำความรู้สึกเข้าแล้วเป็นต้น
มันก็มีไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตหมด
เป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ แต่ว่าทำปัญญาให้รู้เรื่องของมัน รู้เหตุทุกข์จะเกิด


ดูเหมือนว่าในครั้งพุทธกาลนั้น
ฆราวาสที่ประพฤติธรรม ก็มิใช่น้อย เยอะเหมือนกันนะ
อย่างนางวิสาขา ประวัติของท่านน่ะ
เป็นโสดาบันบุคคล มีครอบครัวอยู่นะ นี่เป็นต้น

มันคนละตอนกันอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัย
แต่ว่ากิจการงานของเรานั้นก็เป็นสัมมาอาชีวะ
นางวิสาขานั้นอยู่ในบ้านก็ไม่เหมือนเพื่อน
ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเพื่อน
มันเป็นสัมมาอาชีวะเป็นความเห็นที่ถูกต้องอยู่
การงานมันก็ถูกต้องทั้งนั้น

ถ้าจะเอาแต่พระจะได้หรือ พระมีอยู่กี่องค์ในเมืองไทยนี้
ถ้าโยมไม่เห็นบุญไม่เห็นกุศลไม่เห็นเหตุปัจจัยแล้ว มันก็ไปไม่ได้
ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติของพระและฆราวาสนั้นมันจึงรวมกันได้
แต่ว่ามันยากสักนิดหนึ่งสำหรับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจ

เป็นฆราวาสมันก็คือไม่เป็นทางที่จะปฏิบัติโดยตรง
แต่ว่าพระออกบวชมาแล้วน่ะ มุ่งโดยตรงไม่มีอะไรมาขัดข้องหลายอย่าง
แต่ถ้าปัญญาไม่มีแล้วก็เท่ากันแหละ
ถึงไปอยู่ในที่สงบมันก็ทำตัวเราให้สงบไม่ได้

ถึงอยู่ในที่คนหมู่มาก หากว่ามันไม่สงบ
ผู้มีปัญญาก็ทำความสงบได้ มันเป็นอย่างนี้



โย จ วสฺสตํ ชีเว กุสีโต หีนวิริโย
เอกหํ ชีวิตํ เสยฺโย วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ


ผู้ใดเกียจคร้าน มีความเพียรเลว
พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
แต่ผู้ปรารภความเพียรมั่นคง
มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว...ประเสริฐกว่าผู้นั้น




(ที่มา : วิสัชชนาธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หน้า ๓๓-๓๗)
-http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=43128