อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค
ฐิตา:
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค
01.เรื่องพราหมณ์ผู้มีความเลื่อมใสมาก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้มีความเลื่อมใสมาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ฉินฺท โสตํ ปรกฺกม เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่ง ได้ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสดาและพระธรรมของพระองค์ พราหมณ์นี้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวน 16 รูปไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของเขาเป็นประจำทุกวัน เมื่อภิกษุทั้งหลายมาไปที่บ้าน เขาก็เรียกพระภิกษุเหล่านี้ว่า “พระอรหันต์” และจะให้ความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่ง เมื่อภิกษุทั้งหลายถูกเรียกว่าเป็นพระอรหันต์เช่นนั้น ทั้งภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนและที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ต่างเกิดความตะขิดตะขวงใจ และไม่ต้องการไปที่บ้านของพราหมณ์นี้ในวันรุ่งขึ้น
เมื่อพราหมณ์ไม่เห็นพระภิกษุไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้าน ก็เกิดความมาสบายใจ ได้ไปกราบทูลถามถึงสาเหตุที่พระภิกษุทั้งหลายไม่ไป พระศาสดาได้รับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าแล้วตรัสถามถึงสาเหตุที่ไม่ไป ภิกษุเหล่านี้ได้กราบทูลว่าที่พวกตนไม่ไปกันนั้นเพราะพราหมณ์ชอบเรียกพวกตนว่าพระอรหันต์ พระศาสดาตรัสถามว่า มีความรู้สึกยินดีหรือไม่เมื่อถูกเรียกว่าเป็นพระอรหันต์อย่างนั้น เมื่อพระภิกษุเหล่านี้กราบทูลว่าไม่มีความยินดี พระศาสดาจึงตรัสว่า พราหมณ์กล่าวเช่นนี้ก็เพราะความที่ตนมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์มาก เมื่อภิกษุได้ยินแล้วไม่เกิดความยินดีก็ไม่เป็นอาบัติแต่อย่างใด “เมื่อพราหมณ์เรียกพวกเธอว่าเป็นพระอรหันต์เพราะมีความเลื่อมใสเป็นอย่างมากในพระสงฆ์เช่นนี้แล้ว แม้พวกเธอตัดกระแสตัณหาแล้วบรรลุพระอรหันต์จึงจะสมควร”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ฉินฺท โสตํ ปรกฺกม
กาเม ปนูท พฺราหมณ
สงฺขารานํ ขยํ ญตฺวา
อกตญฺญูสิ พฺราหฺมณ ฯ
พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา
จงบรรเทากามทั้งหลายเสีย
ท่านรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
เป็นผู้รู้พระนิพพานอันอะไรๆ ทำไม่ได้นะ พราหมณ์.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ฐิตา:
02.เรื่องภิกษุมากรูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมากรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า บทา ทฺวเยสุ ธมฺเมสุ เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง มีพระภิกษุ 30 รูป มาเข้าเฝ้าพระศาสดา พระสารีบุตรเถระ ทราบว่าเวลานั้นเป็นช่วงภาวะสุกงอมสำหรับภิกษุเหล่านี้จะได้บรรลุพระอรหันต์ จึงได้ไปเฝ้าพระศาสดาและทูลถามปัญหาเพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ภิกษุเหล่านั้นโดยตรง ปัญหาข้อนี้ว่า ”พระเจ้าข้า ที่พระองค์ตรัสว่า ธรรม 2 ประการนั้น คืออะไร?” พระศาสดาตรัสว่า “ สารีบุตร สมถะและวิปัสสนา เรียกว่า ธรรม 2 ประการ”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยทา ทวฺยสุ ธมฺเมสุ
ปารคู โหติ พฺราหฺมโณ
อถสฺส สพฺเพ สํโยคา
อฏฺฐํ คจฺฉนฺติ ชานโต ฯ
ในกาลใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรม 2
ในกาลนั้น กิเลสเครื่องประกอบทั้งปวงของพราหมณ์
ผู้รู้อยู่ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น แม้ทั้งหมด บรรลุพระอรหัตตผล.
ฐิตา:
03.เรื่องมาร
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺส ปารํ อปารํ วา เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง มารได้มาเฝ้าพระศาสดา โดยได้ปลอมตัวเป็นมนุษย์ มาทูลถามพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า สถานที่อันพระองค์ตรัสว่า ฝั่งๆ อะไรหนอแล ชื่อว่าฝั่งนั่น” พระศาสดาทรงทราบว่าเป็นมาร จึงตรัสว่า “มารผู้มีบาป ประโยชน์อะไรของท่านด้วยฝั่ง ฝั่งนั้น อันผู้มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย พึงถึง”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยสฺส ปารํ อปารํ วา
ปาราปารํ น วิชฺชติ
วีตตฺทรํ วิสํยุตฺตํ
ตมหํ พฺรูหิ พฺราหฺมณํ ฯ
ฝั่งก็ดี ที่มิใช่ฝั่งก็ดี
ฝั่งและที่มิใช่ฝั่งก็ดี ไม่มีแก่ผู้ใด
เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีความกระวนกระวายไปปราศแล้ว
ผู้พรากจากกิเลส ได้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดปัตติผลเป็นต้น.
04.เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ฌายึ เป็นต้น
วันหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่ง คิดว่า “พระศาสดา ตรัสเรียกสาวกของพระองค์ว่า พราหมณ์ ส่วนเรา เป็นพราหมณ์โดยชาติและโคตร การที่พระองค์จะตรัสเรียกเราอย่างนั้นบ้าง ก็น่าจะสมควร” จึงไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามความข้อนี้ พระศาสดาตรัสว่า “ เรามิได้เรียกบุคคลว่า พราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงชาติและโคตร แต่เราเรียกบุคคลผู้บรรลุประโยชน์อันสูงสุดนั้นเท่านั้น ว่าเป็นพราหมณ์”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ฌายึ วิรชมาสีนํ
กตกิจฺจํ อนาสวํ
อุตฺตมตฺถํ อนุปฺปตฺตํ
ตมหฺ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯ
เราเรียกบุคคลผู้มีความเพ่ง
ผู้ปราศจากธุลี อยู่แต่ผู้เดียว
มีกิจอันกระทำแล้ว หาอาสวะมิได้
บรรลุประโยชน์อันสูงสุดแล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พราหมณ์นั้น บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนา มีประโยชน์ แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.
ฐิตา:
05. เรื่องพระอานนทเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในปราสาทของอุบาสิกาชื่อวิคารมารดา ทรงปรารภพราหมณ์ผู้มีความเลื่อมใสมาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ทิวา ตปติ อาทิจฺโจ เป็นต้น
ในวันมหาปวารณา เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ครบถ้วน ทรงถือถือสิ่งของทั้งหลายมีของหอมเป็นต้น ได้เสด็จไปยังวัดพระเวฬุวัน ในขณะเดียวกันนั้น พระกาฬุทายี ก็นั่งเข้าฌานอยู่ที่ท้ายพุทธบริษัท มีร่างกายเปล่งปลั่งดั่งทองคำ ในท่ามกลางของแสงจันทร์
พระอานนทเถระ แลดูรัศมีของดวงอาทิตย์ซึ่งกำลังอัสดงคต และของดวงจันทร์ซึ่งกำลังขึ้น แล้วมองดูพระสรีโรภาสของพระราชา สรีโรภาสของพระอุทายีเถระ และพระสรีโรภาสของพระศาสดา เห็นว่า พระศาสดามีความไพโรจน์เกินรัศมีทั้งปวง จึงถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า “ พระเจ้าข้า ในวันนี้ เมื่อข้าพระองค์ แลดูรัศมีเหล่านี้แล้ว พระรัศมีของพระองค์เท่านั้นที่ข้าพระองค์ชอบใจ เพราะว่า พระสรีระของพระองค์ ย่อมไพโรจน์ล่วงรัศมีทั้งปวง” พระศาสดาตรัสตอบว่า “ อานนท์ ธรรมดาพระอาทิตย์ ย่อมรุ่งเรืองในกลางวัน พระจันทร์ ย่อมรุ่งเรืองในกลางคืน พระราชา ย่อมรุ่งเรืองในเวลาประดับเท่านั้น พระขีณาสพ(ผู้สิ้นกิเลส) ละความระคนด้วยหมู่แล้ว ย่อมรุ่งเรืองในภายในสมาบัติเท่านั้น ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองด้วยเดช 5 อย่าง ทั้งในกลางคืนทั้งในกลางวัน”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ทิวา ตปติ อาทิจฺโจ
รตฺติมาภาติ จนฺทิมา
สนฺนทฺโธ ขตฺติโย ตปติ
ฌายี ตปติ พฺราหฺมโณ
อถ สพฺพมโหรตฺตึ
พุทฺโธ ตปติ เตชสา ฯ
พระอาทิตย์ ย่อมส่องแสงในกลางวัน
พระจันทร์ ย่อมรุ่งเรืองในกลางคืน
กษัตริย์ ทรงเครื่องรบแล้ว ย่อมรุ่งเรือง
พราหมณ์ผู้มีความเพ่ง ย่อมรุ่งเรือง
ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองด้วยเดช
ตลอดกลางวันและกลางคืน.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
06.เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า พาหิตปาโป เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง พราหมณ์นักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง มีความคิดว่า “เราเกิดดีแล้วทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา เกิดในตระกูลพราหมณ์ ถ้าพระสมณโคดมตรัสเรียกพระสาวกทั้งหลายของพระองค์ว่า พราหมณ์ การที่พระองค์ตรัสเรียกเราอย่างนั้นบ้าง ก็น่าจะสมควร” จึงไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า “ พราหมณ์ เราไม่เรียกว่า พราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงว่าสวมใส่ชฎา ไม่เรียกด้วยเหตุเพียงชาติและโคตร แต่เราเรียกผู้มีสัจจะอันแทงตลอดแล้วเท่านั้นว่า เป็นพราหมณ์”
จากนั้น พระศาสดาตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
พาหิตปาโป หิ พฺราหฺมโณ
สมจริยาย สมโณติ วุจฺจติ
ปพฺพาชยมตฺตโน มลํ
ตสฺมา ปพฺพชิโตติ วุจฺจติ ฯ
บุคคลมีบาปอันลอยแล้วแล
เราเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลที่เราเรียกว่า สมณะ
เพราะความประพฤติเรียบร้อย
บุคคลขับไล่มลทินของตนอยู่
เพราะเหตุนั้น เราเรียกว่า บรรพชิต.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง บรรพชิตนั้น บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนา มีประโยชน์ แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.
ฐิตา:
07.เรื่องพระสารีบุตรเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น พฺราหฺมณสฺส เป็นต้น
พระสารีบุตรเถระ ได้รับการยกย่องจากประชาชนโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นเป็นเลิศ แม้ว่าจะมีคนด่า คนทุบตี ท่านก็จะไม่โกรธ พราหมณ์คนหนึ่ง เป็นมิจฉาทิฏฐิ ต้องการจะพิสูจน์ว่าพระเถระมีความอดทนและไม่โกรธจริงหรือไม่ เขาจึงจะทดลองยั่วยุให้ท่านโกรธ จึงในวันหนึ่ง เมื่อเห็นพระเถระกำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น พราหมณ์นั้นได้เดินตามท่านไปแล้วเอามือไปทุบหลังท่านอย่างรุนแรง พระเถระไม่แสดงความสนใจแม้กระทั่งว่าหันกลับมามองว่าใครเป็นผู้ทำร้ายท่าน ท่านยังคงเดินต่อไปเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเห็นพระเถระไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบอะไรออกมาเช่นนั้น พราหมณ์นั้นก็เกิดความตื่นตระหนก ทั่วร่างกายเกิดความเร่าร้อน จึงได้ก้มลงกราบที่เท้าของท่าน แล้วกล่าวขอขมาโทษว่า “ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิด ขอรับ” เมื่อพระเถระกล่าวยกโทษให้แล้ว พราหมณ์นั้นก็ได้นิมนต์พระเถระไปรับบาตรที่บ้านของเขาในวันรุ่งขึ้น
ในตอนเย็นของวันนั้นเอง ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และพระศาสดาได้ทราบเรื่องนี้แล้วจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ชื่อว่าประหารพราหมณ์ ย่อมไม่มี แต่พราหมณ์ผู้สมณะจักเป็นผู้ถูกพราหมณ์คฤหัสถ์ประหารได้ ขึ้นชื่อว่าความโกรธนั่นย่อมถึงความถอนได้ ด้วยอนาคามิมรรค”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น พฺราหฺมณสฺส ปหเรยฺย
นาสฺส มุญฺเจถ พฺราหฺมโณ
ธิ พฺราหมณสฺส หนฺตารํ
ตโต ธิ ยสฺส มุญฺจติ ฯ
น พฺราหฺมณสฺเสตทกิญจิ เสยฺโย
ยทานิเสโธ มนโส ปิเยหิ
ยโต ยโต หึสมโน นิวตฺตติ
ตโต ตโต สมฺมติเมว ทุกฺขํ ฯ
พราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์
ไม่ควรจองเวรแก่เขา
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้ประหารพราหมณ์
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จองเวร
ยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารนั้น.
ความเกียจกันใจ จากอารมณ์อันเป็นที่รักทั้งหลายใด
ความเกียจกันนั่น ย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์
ใจอันสัมปยุตด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับได้จากวัตถุใดๆ
ความทุกข์ ย่อมสงบได้เพราะวัตถุนั้นๆ นั่นแล.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
08.เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตรมี
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยสฺส กาเยน เป็นต้น
พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระน้านางของพระศาสดา เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ และเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระน้านางพระองค์นี้ก็ได้เป็นพระมเหสีเอกของพระเจ้าสุทโธทนะ ในขณะนั้น เจ้าชายนันทะพระโอรสแท้ๆของพระนางมีพระชนมายุเพียง 5 วัน พระนางทรงมอบหมายให้พระพี่เลี้ยงนางนมเป็นผู้อภิบาลพระกุมารแท้ๆของพระนาง ส่วนพระนางเองได้ทรงเป็นผู้อภิบาลเจ้าชายสิทธัตถะ ด้วยเหตุนี้พระนางจึงมีอุปการคุณอย่างใหญ่หลวงต่อเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อพระเจ้าชายสิทธัทธัตถะซึ่งก็คือพระศาสดา เสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ภายหลังจากได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ไปเฝ้าพระองค์เพื่อทูลขอให้หญิงทั้งหลายได้รับพระอนุญาตให้บรรพชาเป็นภิกษุณีได้ แต่พระศาสดาได้ทรงปฏิเสธ ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จสู่สวรรคาลัยหลังจากที่ทรงได้บรรลุพระอรหัตตผล ในขณะที่พระศาสดาประทับอยู่ที่ป่ามหาวันใกล้กรุงไพศาลี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยสตรีอื่นอีก 500 นาง ได้พร้อมใจกันเดินเท้าเปล่าไปเฝ้าพระศาสดาที่ป่ามหาวันนั้น โดยสตรีทุกนางได้ปลงผมและสวมใส่ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดไปด้วย ในครั้งที่สองนี้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้กราบทูลพระศาสดาให้ทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมด้วยสตรีทั้ง 500 นางบรรพชาเป็นภิกษุณีเหมือนในครั้งแรก แต่ในครั้งนี้ พระอานนทเถระได้เข้าไปช่วยเจรจาช่วยพระนาง จนพระศาสดาทรงยินยอม โดยมีข้อแม้ว่า พระนางพร้อมด้วยสตรีทั้งหมดนั้นต้องรับครุธรรม 8 ประการ เมื่อพระนางและสตรีเหล่านั้นยอมรับเงื่อนไขนั้น ก็ได้รับการบรรพชาเป็นภิกษุณี โดยถือว่าพระนางปชาบดีโคตมีนี้เป็นภิกษุณีรูปแรก และสตรีอีก 500 นางก็ได้รับการบรรพชาเป็นนางภิกษุณีตามพระบัญชาของพระศาสดา
เมื่อกาลผ่านไป ภิกษุณีทั้งหลายมีความคิดว่า พระนางมหาปชาบดีโคตรมี เป็นภิกษุณีโดยไม่ถูกต้องเพราะไม่มีพระอุปัชฌายะและพระอาจารย์อื่นใด เป็นการบรรพชาโดยนำผ้ากาสาวพัสตร์มาสวมใส่เท่านั้นเอง ภิกษุณีทั้งหลายจึงยุติทำอุโบสถ และทำปวารณากับพระนาง และได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ยกปัญหาเรื่องพระนางปชาบดีโคตมีได้รับการบรรพชาโดยไม่ถูกต้องเพราะไม่มีพระอุปัชฌายะขึ้นทูลถามพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “ครุธรรม 8 ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เราเองเป็นอาจารย์ เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลายไม่ควรทำ”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยสฺส กาเยน วาจาย
มนสา นตฺถิ ทุกฺกฏํ
สํวุตํ ตีหิ ฐาเนหิ
ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯ
ความชั่วทางกาย วาจา และใจ
ของบุคคลใด ไม่มี
เราเรียกบุคคลนั้น ผู้สำรวมแล้วโดยฐานะ 3
ว่า เป็นพราหมณ์.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version