.
-http://www.rajaprajanugroh.org/history.aspx-
เมื่อคืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด ในคืนวันที่ 27 ตุลาคม 2505 เวลาประมาณ 19.00 น. นายปกรณ์ อังศุสิงห์ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับโทรศัพท์จาก คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองมหาดเล็ก ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย และทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน
มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก ในปีพ.ศ. 2505 และภาพเจ้าหน้าที่ขณะกำลังเดินทางให้ความช่วยเหลือ
ขณะนั้น กรมประชาสงเคราะห์ ได้เตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว จึงเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2505 นายปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล โดยมีนายประวิทย์ หาญณรงค์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเลขานุการคณะ ได้เดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถองค์สภานายิกาได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์เพื่อทำการสงเคราะห์และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย คณะเดินทางไม่สามารถทราบได้ว่า จะไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อย่างไร เพราะพายุแรงจัดและน้ำท่วมทางหลวง ทางรถไฟ โทรเลข โทรศัพท์ขาด ได้รับความเสียหาย จึงตัดสินใจบินไปลงที่จังหวัดสงขลาก่อน เพื่อสอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ว่าจะเดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเร็ว ที่สุด ตามพระราชประสงค์ได้ทางใด
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแจ้งให้ทราบว่าไม่มีทางอื่นนอกจากทางเครื่องบินจึงตัดสินใจให้บินไปดูเพราะนักบินเองก็ไม่แน่ใจว่าเครื่องบินจะลงที่สนามบินนครศรีธรรมราชได้หรือไม่ เนื่องจากไม่เคยลงสนามบินนี้ แต่ทราบว่าสนามบินสั้นมาก
นายขวัญแก้ว วัชโรทัย หัวหน้าสถานีวิทยุ อ.ส.ขณะนั้น รับสนองพระบรมราโชบายเชิญชวนให้บริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยภาคใต้ ปี 2505
เมื่อบินย้อนกลับมายังจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งแรกผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการมาต้อนรับมากแต่ปรากฏว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจากกองทัพอากาศให้นำเครื่องลง ที่สนามบิน ทหารบก จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ เพราะสภาพอากาศในขณะนั้นยังไม่ค่อยดี และสภาพของสนามบินก็ยังสำรวจไม่ทั่ว จึงต้องบินกลับจังหวัดสงขลา แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเมตตาแก่ประชาชน เมื่อ เบนหัวเครื่องบินกลับประมาณ 3 นาที ก็ได้รับอนุญาตให้บินลงได้
ต่อจากนั้น นายปกรณ์ อังศุสิงห์ และคณะ ได้เดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด นครศรีธรรมราชและร่วมเดินทางกันไปยังแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ปรากฎสภาพของแหลมตะลุมพุกน่าสังเวชมาก ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย และยังมีศพลอยน้ำอยู่เกือบจะไม่มีที่พอฝังศพ หลุมหนึ่ง ๆ ฝังศพถึง 6-7 ศพ และฝังอยู่ที่ปลายแหลมนั้นชั่วคราวระยะหนึ่ง ต่อมาทางราชการและญาติมิตร ประชาชน จึงได้ขุดขึ้นมาทำพิธีทางศาสนา เข้าใจว่ามีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตได้อพยพไปอยู่ยังอำเภอปากพนัง และกลับภูมิลำเนาเดิม
สำหรับทางด้านกรุงเทพมหานครนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิตประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และ สิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้ หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ ห้าล้านบาท
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจก็คือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน โดยมีนายเจริญ มโนพัฒนะ รองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ รักษาการแทน อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานทานเงินและสิ่งของไปดำเนินการตามพระราชประสงค์ ตลอดเวลา
จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมาก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับ กรมประชาสงเคราะห์ได้แจกอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค จัดซ่อมแซมบ้าน ที่พัก และสร้างที่พัก ชั่วคราว
ให้ผู้ประสบภัยอยู่อาศัยตลอดจนเครื่องมือประกอบอาชีพ ได้แก่ อวน และช่วยเหลือสิ่งสาธารณประโยชน์ คือ มอบเงินให้เป็นทุนประเดิมแก่วัดวาอาราม มัสยิด ศาลเจ้าและสถานสงเคราะห์เด็กที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับบุตรหลานของผู้ประสบภัย ที่กำพร้าบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต โดยอยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์
นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3,4,5 ถึง 12" ตามลำดับ
http://www.rajaprajanugroh.org/history.aspx.