ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิบัติการทางจิต โดย เขมรํสี ภิกขุ  (อ่าน 1860 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ปฏิบัติการทางจิต
โดย เขมรํสี ภิกขุ
ที่ระลึกงานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างอุโบสถ
วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2549 (แรม 5 ค่ำ เดือน 9)

การหาจิตให้เจอ
ผู้รู้จักควบคุมรักษาจิตใจ จะพ้นไปได้จากบ่วงมาร

นมตฺถุ รตฺตนตยสฺส ขอถวายความนอบน้อม.. แด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุก ความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย


โอกาสต่อไปนี้จะได้ปรารถธรรมะตามหลักธรรมคำสั่งสอน
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อส่งเสริม
สติปัญญา ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติ
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ
ถ้าระลึกไม่ตรงต่อสภาวะหรือธรรมชาติที่เป็นจริง
ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งรู้จริงตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นสติต้องระลึก

ให้ตรงต่อของจริง คือ ปรมัตถธรรม สติต้องระลึกสัมผัสให้
ถูกตรง ถูกต้อง ตรงต่อปรมัตถธรรม หรือที่เรียกปรมัตถ์ว่า
รูปธรรม นามธรรม อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป สติต้องระลึก
สัมผัสให้ตรง ถ้าไม่ระลึกตรงต่อรูปนาม ไม่ระลึกให้ตรงต่อ
ปรมัตถ์ก็จะไปสู่บัญญัติไปรู้ที่บัญญัติอารมณ์อันเป็นส่วนสมมติ
เป็นของปลอม สมมติไม่มีสภาวะ ไม่มีสภาพแห่งความเป็นจริงโดยแท้
จึงไม่มีการเกิดการดับการเปลี่ยนแปลงไม่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ต้องระลึกให้ตรงกับปรมัตถ์ ปรมัตถธรรมนั้นจะมีการเกิดดับ

รูปนามมีความเกิดดับ เมื่อมีเกิดดับก็เท่ากับไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลง
เกิดขึ้นแล้วก็แปรสภาพไป ดับไป การที่ดับไปเพราะเป็นทุกข์
ทุกขสภาวะ ทุกขลักษณะ คือสภาพที่ทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้
เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ มันจะเกิดจะดับ
เป็นตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติเท่านั้น


เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกตรงต่อปรมัตถ์ บ่อยๆเนืองๆ มีสติสัมปชัญญะ
ที่แยบคาย
ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนามของปรมัตถ์ เรียกว่าเห็นความจริง
เห็นสภาวะตามความเป็นจริง เห็นของจริงตามความเป็นจริง เห็นรูปนามเกิดดับ
เห็น ฉะนั้น เมื่อเราฝึกปฏิบัติมามากขึ้นมากขึ้น
ก็ต้องทิ้งสมมติออกไป เพิกบัญญัติออกไป ให้ระลึกอยู่กับปรมัตถธรรมล้วนๆ

ให้มากขึ้นต่อเนื่องขึ้น ฝึกปรับให้พอดี ให้ปล่อย ให้วาง ไม่ยึดไม่ติด
ไม่เอาอะไรทั้งหมดให้ทำความเข้าใจว่าปรมัตถ์นั้นต้องไม่ใช่รูปร่าง ท่าทาง
ทรวดทรง สันฐาน ไม่ใช่ความหมายไม่ใช่ชื่อ ภาษา ชื่อก็ดี ภาษาก็ดี
ที่จิตไปนึกคิคถึง จดจำมาใช้เรียกชื่อ พอนึกถึงชื่อต่างๆ ก็กลายเป็นภาษา
เป็นคำเป็นประโยคเป็นอารมณ์ของจิตเกิดขึ้น ขณะใดจิตนึกเป็นชื่อ
เป็นภาษา แสดงว่าจิตกำลังอยู่กับบัญญัติอารมณ์ ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตให้ออก
เพราะจะต้องมีทุกคน ในฐานะที่ยังอยู่ในระหว่างฝึกปฏิบัติ
ไม่มีใครที่สติจะอยู่กับปรมัตถ์ตลอดเวลา ต้องกลับไปสู่บัญญัติบ้าง

ขณะที่เดินไปทำธุระถ้าจิตไม่รู้จักบัญญัติก็เดินไม่ถูกทาง เลี้ยวไม่ถูกทาง
เข้าห้องน้ำห้องส้วมไม่ถูก การเปิดประตูปิดประตู จะต้องมีอารมณ์สมมติตลอด
คือมีอารมณ์เป็นความหมาย รู้จักความหมายว่า ต้องทำอย่างนี้จึงเกิดอย่างนี้
ทำอย่างนี้เป็นอย่างนั้น นั่นคือบัญญัติอารมณ์ แต่ขณะที่มานั่งอยู่นิ่งๆ ปฏิบัติ
ก็ไม่จำเป็นต้องเอาบัญญัติ เราไม่ได้เดินเหินทำอะไร แค่อยู่เฉยๆ
คัดบัญญัติออกไปให้มากที่สุด แต่แม้จะคัดออก ก็ยังคอยนึกถึงบัญญัติ

นั่งไปแล้ว ก็คอยนึกถึง ชื่อภาษาเรื่องราวต่างๆ เป็นความหมาย เป็นรูปร่าง
เป็นมโนภาพ เป็นชื่อเรียก เมื่อเราคิดไปถึงอะไรก็มีชื่อของสิ่งนั้น มีคำพูด
เรียกว่าพูดอยู่ในใจตลอดเวลา พากย์อยู่ในใจ เหมือนว่าดูหนังก็มีคนพากย์ให้ฟัง
ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ จิตก็เหมือนกัน รับอารมณ์อันใด ก็ปรุงไป
ในชื่อความหมายรูปร่างของสิ่งเหล่านั้น จิตจึงเหมือนพูดอยู่ตลอด ในขณะที่
จิตกำลังมีอารมณ์เป็นชื่อภาษา รูปร่างความหมาย สิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็คือจิต
ที่มีเจตสิกต่างๆ ปรุงแต่งอยู่
มีวิตก มีวิจารณ์ ตรึกนึก
เคล้าไปในอารมณ์มีสัญญาความจำในอารมณ์สิ่งเหล่านี้ เมื่อพูดขึ้นมาในจิต

ปรุงแต่งจิตให้แล่นไปสู่อารมณ์ที่เป็นสมมติ พอปรุงไปปรุงมา จิตก็จะมี
อารมณ์เป็นเรื่องราว เป็นภาษา เป็นชื่อ เป็นความหมาย ตามสิ่งที่จิตคิดไปนั้น
คิดไปถึงบ้านก็เห็นภาพ บ้าน คิดไปถึงคนเห็นคน นึกชื่อนึกความหมาย
ของคนของสถานที่ เรียกว่าจิตไปสู่อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ คนก็ดี บ้านก็ดี
เหตุการณ์ก็ดี เรื่องราวความหมาย เป็นบัญญัติ แต่ในขณะนั้นจิตที่เป็นปรมัตถ์
ก็เกิดขึ้นอยู่ ก็คือความตรึกความนึกความคิดปรุงแต่ง
ความคิดนึกนั่นเอง กำลังเป็นปรมัตถ์ที่เกิดอยู่ วิปัสสนานั้นสติต้องระลึกที่ปรมัตถ์
ฉะนั้นเมื่อจิตกำลังตรึกนึกคิดไปในเรื่องราวชื่อภาษา

ต้องเจริญสติระลึกเข้ามาที่จิต คือระลึกที่ความคิด ที่การตรึก การนึก
การวิพากษ์วิจารณ์ ความจำได้หมายรู้ที่เกิดขึ้นในจิต ต้องทำสติรู้เข้ามาที่จิต
อาการในจิต ความปรุงแต่งในจิต
ถ้าระลึกเข้ามาที่นี่
เรียกว่าระลึกเข้ามาสู่ปรมัตถ์ ก็จะหลุดจากเรื่อง จากความหมาย จากชื่อภาษา
เหมือนกับว่า เรื่องขาดลง คำพูดหายไป ภาษาของจิต ชื่อ ความหมายขาดหายไป
รูปร่างมโนภาพหายไป ความหมายหายไป คือเรื่องขาดลง


เหมือนการฉายภาพยนตร์เอาแสงผ่านฟิลม์ไปที่จอภาพยนตร์ ก็เห็นเป็น
ภาพอะไรต่างๆ ตัวภาพที่จอหนังเหมือนกับอารมณ์ที่เป็นสมมติบัญญัติ เป็นคน
เป็นสัตว์ เป็นเหตุการณ์ แต่ตัวปรมัตถ์คือ
ที่กำลังอยู่ที่ฟิลม์ อยู่ที่แสง ที่ฉายออกไป เมื่อดูของจริง ก็ย้อนมาดูที่นี่
ถ้าฟิลม์ขาดไม่ไปต่อ ภาพที่จอก็จะขาดหายไป

มีต่อค่ะ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ปฏิบัติการทางจิต โดย เขมรํสี ภิกขุ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 08, 2012, 04:15:30 pm »




อุปมาเหมือนผู้ปฏิบัติ เวลาคิดไปคิดไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้
พอสติทวนเข้ามารู้ที่จิต ดูจิต ดูความคิด ดูการตรึกนึก
เรื่องก็ขาดหายไปเหมือนภาพที่จอหนังขาดหายไป แล้วเดี๋ยวก็ฉายขึ้นอีกแล้ว
เรื่องราวก็เกิดขึ้นอีก เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อเราระลึกเข้ามาที่จิต ดูความคิด
ดูการตรึกนึกเรื่องก็ขาดไป เรียกว่าเมื่อสติรู้เข้ามาสู่ปรมัตถ์ก็จะทิ้งบัญญัติ
เหมือนกับความคิดขาดลงไป ความคิดที่ไปสู่เรื่องราวต่างๆ ขาดลง

จะเห็นว่าจิตมีความดับ มีการเกิด มีความหมดไป มีการเกิด มีการหายไป
เรียกว่าได้เริ่มสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมชาติของจิต เริ่มเห็นจิตที่
ไม่ได้คงที่ ไม่ได้ตั้งอยู่ มีแล้วหายไปมีแล้วหมดไป หัดระลึกรู้อย่างนี้บ่อยๆเนืองๆ
ถ้าบุคคลได้เจริญสติดูความคิดดูจิตดูใจ ดูความปรุงแต่งให้เป็น
คนนั้นสามารถทำจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อใดจิตคิดไปสู่อดีต อนาคต
สติรู้มาที่ความคิด รู้จิตรู้ใจ ก็กลับมาสู่ปัจจุบัน เรื่องอดีตเรื่องอนาคตก็ขาดไป
การที่สติอยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์

จิตก็มีความเบามีความสบายมีความผ่องใส เพราะกิเลสก็ถูกขัดเกลาออกไป
ถ้าสติอยู่กับปรมัตถ์อยู่กับปัจจุบัน จิตใจก็จะมีความปกติขึ้น
แต่ถ้าหากเผลอปล่อยให้จิตคิดไปนึกไป สู่เรื่องอดีต อนาคต จิตก็จะ
วิพากษ์วิจารณ์ ในอารมณ์นั้นๆ ให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ
เกิดโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด
จิตใจเร่าร้อนเป็นทุกข์ในจิตในใจขึ้นมา นั่นเพราะว่าขาดสติดูแลรักษาจิต

ถ้าเราปฏิบัติกรรมฐานเป็น กำหนดจิตเป็น จิตคิดไปนึกไป สติรู้
มาที่ความคิด รู้มาที่การตรึกนึก ตัดเรื่องออกไป ไม่เผลอลอยไปคิดเรื่องนั้น
ตัดไปขาดไป มันเผลอคิดไปอีกก็ระลึกรู้เข้าไปอีก ตัดอดีตอนาคตออกไป
เข้าสู่ปัจจุบัน รู้บ่อยๆเข้า เรื่องราวของจิตขาดหายไป จิตก็เริ่มเบาลง สงบลง
คลี่คลายจากความฟุ้งซ่านหงุดหงิด แล้วทำให้เกิดสติปัญญา
ให้เห็นว่าจิตนี้ก็ไม่คงที่ มีเกิดมีดับ ไม่มีตัวไม่มีตน สักแต่ว่า เป็นธรรมชาติ
เป็นธาตุรู้ สภาพรู้มีความนึกความคิดแล้วก็ดับลงเท่านั้นเอง

จิตจึงต้องทวนกระแสของมันมารู้ตัวมันเอง โดยเอาความคิดที่คิด
มาเป็นกรรมฐาน กลับมาระลึกที่ความคิด มันตรึก มันนึก มันสงสัย จดจำ
ก็เอาสติระลึกรู้เข้ามาที่ความปรุงความแต่งที่มันเกิดขึ้นในจิต
กลับเข้าสู่ปัจจุบันสู่ปรมัตถ์ จะทำให้ค่อยๆ เห็น
ธรรมชาติเหล่านี้ตามความเป็นจริง มีเกิดมีดับไม่ใช่ตัวตน


ในทางกายก็เหมือนกัน สติเมื่อเข้าไปรู้สึกที่กาย ก็ไม่ขยายไปสู่รูปร่าง
ไม่ขยายไปสู่ท่าทางความหมาย ทรวดทรงสัณฐานของกาย
ถ้าเผลอไป ก็จะขยาย ทำให้จิตมีการตรึกนึก มีการสร้างเป็นรูปทรงสัณฐาน
มโนภาพ เป็นเงาๆ บางส่วนเป็นแท่งเป็นก้อน เป็นสัณฐาน
ท่าทางของกายเรียกว่า จิตขยายไปสู่บัญญัติ ขณะนั้นก็หัดมีสติรู้จิตรู้ใจ
รู้น้อมเข้ามาที่จิตที่สภาพรู้ ผู้รู้ หรือความรู้สึกที่กาย ก็รู้แค่ความรู้สึก

ความไหว ความกระเพื่อม ความสั่นสะเทือน ความสบาย ความไม่สบาย
ไม่ต้องนึกขยาย ออกเป็นท่าทาง รูปร่าง สัณฐาน ถ้าเป็นท่าทาง
เดี๋ยวก็นึกตีความหมาย พอนั่ง พอยินดีก็คิดว่า นั่งอยู่ตรงนั้น นั่งพับเพียบ
นั่งปล่อยเท้า อย่างนี้เป็นการขยายไปสู่สมมุติ ก็ต้องพยายามปรับรู้
เข้ามาที่จิต รู้ที่กายก็รู้แค่ความรู้สึกเท่านั้น ถ้าเจริญสติอยู่ในปรมัตถ์ก็จะค่อยๆ
เห็นความเกิด ความดับ ความสลายตัว

กายเป็นรูปธรรมต่างๆ มีเย็นมีร้อนมีอ่อนมีแข็ง มีหย่อนตึง เป็นรูปธรรมต่างๆ
เมื่อมากระทบก็สลายตัว เย็นแล้วดับไป ร้อนแล้วก็ดับไป แข็งแล้วก็ดับไป ไหวแล้ว
เปลี่ยนแปลง กระเพื่อมแล้วเปลี่ยนแปลง สติเข้าไปเห็นรูป
ธรรมเหล่านี้ ก็ค่อยๆ เห็นรูปนี้มีเกิดว่าต้องดูตรงนี้ แม้จิตคิดไปนึกไป
จิตส่งออกนอก ก็ไม่มีการดึงกลับเข้ามา ถ้ายังมีการดึงกลับเข้ามา
สู่ลมหายใจ สู่กาย นี้เรียกว่ายังไม่เป็นปรกติ ยังมีการบังคับบัญชาอยู่
แต่ในระดับเบื้องต้นอาจทำเช่นนั้นได้ ตอนฝึกใหม่ๆ เมื่อเราตั้งสติดึงกลับมา
เผลอไปคิดไป ก็ตั้งสติดึงกลับมา แต่ในชั้นสูงๆ ขึ้นมาก็ไม่ต้องทำอย่างนั้น
เวลาคิดนึก สติระลึกความคิดมันก็กลับมาเองอยู่ในตัว

เพราะจิตรับได้ทีละอารมณ์ เมื่อจิตประกอบด้วยสติมารู้ที่จิต ก็จะทิ้งเรื่องต่างๆ
เพราะจิตอยู่ในกายนี้ ส่วนเรื่องราวอยู่นอกตัวไปไหนๆ พอสติรู้จิต
ก็ต้องทิ้งเรื่องเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องดึงมาดึงไป เพียงระลึกที่จิตก็ทิ้งเรื่อง

ทิ้งภายนอก แต่ถ้าเผลอมันไปอีก สติก็รู้จิตอีก ก็กลับเข้ามาเอง

ต้องระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะสติก็ดับไป ระลึกแล้วไม่ใช่ว่ามันจะจบ

ไม่ใช่จะบังคับอะไรอยู่ได้ สติก็ดับไป ดับไปแล้วหากสติไม่เกิดต่ออีก จิตก็
แล่นไปได้อีก ไปสู่เรื่องราวต่างๆ ฉะนั้นสติต้องเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ
ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติฝีกหัดมากขึ้น จึงเหมือนกับว่าหยุดอยู่ นิ่งอยู่ จิตไม่ได้
ทะเยอทะยานไม่ได้บังคับจิตใจให้ไปดูตรงนั้น เพ่งตรงนี้ เมื่อเราบังคับไปมันยัง
จัดแจงอยู่ ถ้าเราปฏิบัติสูงขึ้นมา ไม่มีการจัดแจง ไม่มีการจัดระเบียบ

ว่าจะต้องเอาตรงนั้นก่อน ไปตรงนี้ก่อน ต้องแล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น
เกิดขึ้นตรงไหนก็รู้ตรงนั้น เกิดเมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้น อะไรก็ได้ตรงไหนก็ได้

พร้อมที่จะรู้เสมอ หรือเหมือนคนที่พร้อมเดินทาง อยู่ตรงไหนก็พร้อม
เสมอที่จะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเป็นอยู่ เหมือนกับ
ว่าเราเดินไปไหน อยู่ตรงนี้ก็รู้สึกตัว อยู่มุมโน้นก็รู้สึกตัว ตรง
ไหนก็ได้ พร้อมทีจะรู้ ไม่มีการต้องไปตั้งต้นดึงไปตรงนี้ก่อน
ดึงไปตรงนั้นก่อน ต้องทำได้ทุกที่

อันนี้หมายถึงภายในจิต หมายถึงจิตไปตั้งอยู่กับอารมณ์อันใด
ก็ระลึกรู้อารมณ์อันนั้นแล้วปล่อยอารมณ์นั้น มารู้ที่กาย
บางครั้งถ้าจิตมารู้กายส่วนบน เช่น มารู้ที่ใบหน้า ก็รู้ที่ใบหน้า
แต่รู้ที่ความรู้สึก แล้วไม่ต้องไปบังคับรู้ที่อื่น หากมันเคลื่อนไปรู้ที่
หน้าท้อง ก็พร้อมที่จะไปรู้ที่หน้าท้อง ในขณะที่รู้
ความรู้สึกที่หน้าท้อง มันแว๊บมารู้ที่ตา ก็รู้ทันที่ตา

มันแว๊บไปรู้ความรู้สึกในสมอง ก็รู้ในสมอง มันไปตรงไหนก็รู้ตรงนั้น
พร้อมที่จะทำงานให้ถูกต้องในที่ตรงนั้น พร้อมที่จะรู้พร้อมที่จะปล่อย
ในตรงนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีการบังคับไม่มีการจัดแจง
การปฏิบัติก็จะเป็นปรกติขึ้น ไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบากใจ อะไรที่เราต้องไปฝึก
ไปฝืนไปขืนมันอยู่ จะเป็นเรื่องลำบากใจ แต่นี่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น
อยู่ตรงไหนเป็นอย่างไร ก็พร้อมที่จะทำได้ตรงนั้น

ให้เราเข้าใจว่า การปฏิบัติเมื่อเราทำยิ่งขึ้นไปแล้ว มันต้องไม่มีการบังคับ
เราจะรู้สึกว่ามันเบาสบาย ให้หัดรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ใกล้ๆ กับความรู้สึกนั่นแหละ ตรงหน้าไม่ได้หมายถึงใบหน้า
แต่หมายถึงที่มันมาปรากฏที่จิตที่เป็นปัจจุบันก็รู้กันตรงนั้น

การที่หาสภาวะไม่เจอเพราะมันมองข้าม เหมือนคนลืมตาแล้วมองเลยดวงตา
ตนเอง เลยจมูก ขนตาตัวเองไปหมด หาไม่เจอ แต่การปฏิบัติที่จะรู้สภาวะ
ก็ต้องกลับมารู้สิ่งที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตาใกล้ๆ อยู่ใกล้ๆ
กับความรู้สึก อยู่ใกล้ๆ กับจิต หรืออยู่ที่จิตนั้นแหละ ให้รู้สิ่งที่ใกล้ชิดกับจิตใจ
ถ้าไม่ได้รับรู้มาที่จิตใจมัวแต่ไปมองหาที่อื่นก็ไม่เห็นจิต จิตจึงรับรู้จิตได้


จิตมัวแต่ไปค้นหาก็ไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้จิต อุปมาเหมือน
คนที่ใส่แว่นตาอยู่ แล้วเดินหาแว่นตา เอ๊ะ แว่นตาไปอยู่ตรงไหน
หรือคนที่เอาปากกาเหน็บหูแล้ว เดินหาปากกาไม่เจอ
หรือคนที่เอาผ้าโพกศรีษะอยู่ แล้วหาผ้าไม่เจอ ไม่เจอเพราะไม่หาที่ตัว
มัวแต่ไปหาที่อื่น อุปมาคนที่เดินหาเหมือนกับจิต จิตหาจิตไม่เจอ
ก็เพราะอย่างนี้เอง เพราะจิตเที่ยวหาอย่างอื่น หาอารมณ์อื่น ที่อยู่นอกจิต
จึงหาจิตไม่เจอ จิตจะหาจิตเจอ ก็ต้องมาดูที่ตัวมันเอง
หันมากลับมาดูตัวเองจึงจะเห็นตัวเอง
หรือให้จิตมันรู้สึกตัวเอง มันจะได้รู้กับตัวมัน



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จิตคืออะไร โดย เขมรํสี ภิกขุ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 08, 2012, 08:11:42 pm »



จิตคืออะไร
โดย
เขมรํสี ภิกขุ

จิตคือสภาพรู้ รู้อารมณ์นั้นรู้อารมณ์นี้ หรือในขณะที่ปฏิบัติ
จิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ก็เหมือนผู้ดูอะไรอยู่
เป็นผู้ดูกายดูใจ ดูโน้นดูนี่ แต่สภาพดูไม่เคยมาระลึกถึงตัวมันเอง
ก็ทำให้หาจิตไม่เจอ จิตจึงมีระดับของมัน
จิตที่ถูกปรุงแต่งคิดนึกออกไป ยังกำหนดง่าย แต่บางคนก็ยังหาไม่เจอ
บางคนเวลาคิด กำหนดความคิดไม่เป็น
ในระดับจิตที่ถูกปรุงแต่ง ก็ต้องมีการนึกคิด
จิตประเภทแบบนี้ระดับนี้ก็ต้องรู้ สติต้องระลึก ดังที่กล่าวในตอนต้นว่า
เวลาคิดให้รู้ที่คิด ก็เป็นการรู้จิตเหมือนกัน แต่เป็นจิตที่เจตสิกปรุงแต่ง

จิตอีกระดับหนึ่ง จะรู้ได้ยากขึ้นอีก คือจิตของผู้ที่ปฏิบัติอยู่
เจริญสัมปชัญญะมีความสงบสำรวม ไม่แล่นไปสู่เรื่องราวต่างๆ
จิตตั้งมั่นรู้อยู่ในตัวเอง ไม่คิดอะไร มันอาจจะนิ่งๆ อาจจะสงบอยู่ไม่คิดอะไร
แต่แม้ว่าจิตไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่คิดอะไรมันก็ยังเป็นกระแสสภาพรู้
นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าไปรู้จัก จิตในระดับนี้เป็นจิตที่ทรงตัวอยู่ นิ่งอยู่ไม่คิดอะไร
มันเฉยๆ มันนิ่งๆ แต่มันก็เป็นสภาพที่เกิดดับ

สภาพรู้นั่นแหละมันดับไปด้วย รู้-ดับ รู้-ดับ รู้-ดับ อย่างรวดเร็ว ถ้า
สภาพรู้มันหันมาดูสภาพรู้ ก็เห็นสภาพรู้ดับ
สภาพรู้ที่ดับไม่ใช่ดับเป็นภาพ เป็นดวง แต่เป็นการ
หายไปของสภาพรู้ แล้วเกิดสภาพรู้ใหม่ ก็หายไปใหม่ แล้วรู้ใหม่
แต่มันถี่ มันไว เมื่อจิตไปดูจิต เห็นจิตดับไปอย่างรวดเร็ว
จิตที่เข้าไปดูก็ดับไปด้วยกัน จิตที่ถูกดูก็ดับ จิตที่เข้าไปดูก็ดับ

หากผู้ใดที่ปฏิบัติดูรู้เท่าทันจิตใจอย่างนี้ ต้องทวนกระแส
ต้องรู้สึกตัวของมัน หัดดูใกล้ๆ กระชั้นเข้ามา อย่าขยายออกข้างนอก
จิตจะรู้จิต ต้องกระชั้นกระชับเข้ามา ฉะนั้นการที่จิตจะรู้ที่จิตได้
ก็ต้องทำให้มันหยุดอยู่ ไม่แล่นไป ไม่เพ่งค้นหา
ถ้าเราทำแบบเพ่งค้นหาอารมณ์ จิตก็ยากที่จะรู้ตัวมันเอง แต่เมื่อทำจิตให้หยุดอยู่
เหมือนกับไม่ขวนขวายไม่ดูอะไร
ไม่ฝักใฝ่ไปหาอารมณ์อันใด จะอยู่เฉยๆ จะทำจิตให้อยู่กับที่นิ่งๆ เฉยๆ


หน้าที่ของการปฏิบัติคือ
‪#‎การเข้าไปเรียนรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง‬
‪#‎ไม่ได้มีหน้าที่ไปบังคับ‬
เขาเกิดอย่างไร แสดงอาการอย่างไร
ก็ดูเขาไปอย่างนั้น
‪#‎ดูเขาด้วยความวางเฉย‬ ‪#‎ไม่ยินดียินร้าย‬
จึงเป็นการทำหน้าที่ ที่ถูกต้อง

F/B Watmaheyong


นั่นล่ะจิตจะทวนเข้ามารู้ตัวมันเอง ทำจิตนิ่งๆเฉยๆ จิตก็รู้จิต
คือสภาพรู้ ดูสภาพรู้ ที่เรียกว่าเป็นตัวก็ไม่ใช่ตัวจริงๆ ไม่ใช่เป็นก้อนเป็นแท่ง
เป็นรูปทรง ตัวคือสภาวะหรือสภาพ เราใช้สมมติว่าตัวรู้
สภาพรู้คือจิต หรือตัวที่กำลังมองอยู่ กำลังดูอยู่
หัดให้ระลึกดูตัวรู้ไว้ จะเรียกว่าผู้รู้ก็ได้ ผู้รู้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงผู้รู้แจ้ง
ผู้รู้แจ้งแทงตลอดในทุกขสัจจะ เป็นผู้รู้แจ้งนิพพาน

ไม่ใช่หมายถึงระดับนั้น ผู้รู้ในที่นี้หมายถึงรู้อารมณ์อยู่ คือมีสภาวะที่
กำลังรับรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์หมดไป.. หมดไป.. กำลังเจริญสติ
สติก็เกิดกับจิต ก็กำลังดูอะไรต่ออะไรอยู่นี่คือผู้รู้ คือผู้รู้อารมณ์ ไม่ได้หมายถึง
รู้แจ้งแทงตลอด นั่นเป็นอีกระดับหนึ่ง บางครั้งใช้คำว่า ตัวดู

ตัวรู้ ตัวมอง ต้องการที่จะให้มีสติระลึกถึงสิ่งที่กล่าวเหล่านี้ ถ้าการปฏิบัติ
มารู้จักจิตในระดับอย่างนี้ก็จะเห็นความดับไปของจิต
ความดับไปหมดไปอย่างรวดเร็วของจิต การปฏิบัติก็ไม่ไร้จากสภาวะ ไม่ว่างเปล่า
ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ก็เป็นบัญญัติ เป็นสมมติ ในความว่างเปล่านั้น
มีตัวรู้หรือสภาวะรู้อยู่ มีตัวดูว่างอยู่ นั่นเป็นปรมัตถ์ที่เกิดที่ดับอยู่ ต้องน้อมสังเกต
เข้ามาที่สภาวะที่รู้ นิดหนึ่งหมดไป นิดหนึ่งหมดไป ต้องอาศัยการเข้าใจ
และประคับประคอง วางให้เหมาะสม การที่เราฝึกมามากๆ แล้ว กำลังของการเพ่ง
การค้นหาสภาวะของการติดตามสภาวะจะมีอยู่แล้ว แม้จะทำจิตอยู่นิ่งๆ

จิตก็คอยจะรู้อยู่แล้ว ไม่ดูมันก็ดูอยู่ พยายามจะไม่ดูมันก็ดู ยิ่งจะไม่ดูก็ยิ่งรู้
ยิ่งจะดูก็ยิ่งไม่เห็น ยิ่งจะทำก็ยิ่งไม่เป็น นี่เป็นเรื่องแปลกยิ่งจะดูก็ไม่เห็น
คนที่ทำพยายามจะดูจะค้นหายิ่งไม่เห็น หยุดดูก็จะรู้ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติ
เมื่อมีการฝึกหัดมากๆ ขึ้น ก็หยุดที่จะไปดู ไปฝักใฝ่ค้นหา พอมาทำแบบหยุด
มันกลับยิ่งรู้ ยิ่งรู้ได้ดีกว่าเข้าไปติดตามค้นหา คือจิตมันจะรู้ตัวมันเอง
แล้วเห็นอาการของมันเอง เห็นสิ่งที่มาสัมพันธ์ตัวของมันเอง

เห็นความจริงของตัวมันองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมยิ่งดูก็ยิ่งรู้ ยิ่งไม่ทำก็ยิ่งทำ
เรียกว่าทำเหมือนไม่ได้ทำ ยิ่งจะทำก็ยิ่งไม่เป็น พูดมาเช่นนี้ คงทำให้
ท่านทั้งหลายไม่เข้าใจ งง แต่คงพอจะเป็นประโยชน์กับบางท่าน สำหรับบางท่าน
ที่ปฏิบัติอยุ่ในระดับฝึกมามากขึ้น เรื่องนี้ก็คงเป็นประโยชน์ได้ในการดูจิตดูใจ
การปฏิบัติเช่นนี้ ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องมารู้ที่จิตใจ มาดูที่จิต

ถ้าปฏิบัติดูจิตไม่เป็น การปฏิบัติก็คงไม่ก้าวไปไหน ดูเป็นแต่ดูกายเรื่อยๆ
แต่ดูจิตไม่ได้ จะไม่ไปไหน อย่างดีก็อยู่แค่ความว่าง พอกายไม่รู้สึกแล้ว ก็แค่
ว่างเปล่าสงบใจสบาย นิ่ง ว่าง หรือดับความรู้สึกไปหมด ก็ได้แค่นั้น

ไม่เห็นสภาวะรูปนามที่แท้จริง เมื่อเรามีสมาธิ กายก็ไม่ค่อยรู้สึก เมื่อไม่รู้มันก็ว่าง
เมื่อว่างก็ดูไม่ออก ไม่มีอะไรให้ดู มีแต่ว่าง อย่างนี้ก็เป็นสมถะอยู่
แต่ถ้าดูจิตใจเป็น ในภาวะที่ว่าง มันก็มีตัวรู้ มีสภาพรู้ มีสภาวะของจิตของเจตสิกที่ปรุง
ถ้าดูจิตเป็น ก็จะเห็นสภาวะเกิดดับอยู่เรื่อยๆ มีสภาวะให้ดู ให้รู้ อยู่ตลอด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 19, 2014, 08:46:11 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จิตคืออะไร โดย เขมรํสี ภิกขุ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กันยายน 08, 2012, 08:15:11 pm »




มีสภาวะการเปลี่ยนแปลงเกิดดับตลอดเวลา วิปัสสนานั้นจะว่างเปล่า
ไม่มีอะไรให้ดูเลยไม่ได้ ต้องมีรูปนามให้ดูให้ตลอด
มีรูปนามป้อนให้เห็นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สติต้องอยู่กับรูปนาม
อยู่ตลอดไป ถ้าตกจากรูปนามตกจากปรมัตถ์ ก็ไปสู่บัญญัติ
ก็ไปอีกทางหนึ่ง บัญญัติไม่ใช่การเดินทางของวิปัสสนา
ทางเดินของวิปัสสนาต้องเป็นปรมัตถ์ ต้องเป็นรูปนาม

แต่คนที่ฝึกหม่ๆ ยังดูรูปนามไม่เป็นก็ต้องเอาบัญญัติมาใช้ก่อน เช่น
เราเพ่งดูลมหายใจเข้าออก ดูเข้าออก ยาวสั้น ดูพองดูยุบ
ดูท่าทางรูปร่างของกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เราเอามาใช้ก่อนเพื่อให้เรา
มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดสมาธิตัดบัญญัติภายนอกออกไป
เสร็จแล้วจึงเชื่อมเข้ามาสู่สภาวะปรมัตถ์ มาสู่ความไหว ความตึง ความแข็ง
ความอ่อน ความสบาย ไม่สบาย ทิ้งรูปร่างคือสมมติหรือความหมายออกไป
มาดูความรู้สึกที่กาย มาดูความรู้สึกที่จิตใจ มาดูผู้รู้ มาดูความรู้สึก
เรียกว่ามาสู่ปรมัตถ์ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเอาบัญญัติ คัดบัญญัติออกไปให้หมด



เวลาจิตจะไปสู่บัญญัติคือคิดไปสู่เรื่องราว ก็รู้ความคิด ตัดบัญญัติออกไป
ให้มารู้ที่กายแค่ความไหว เมื่อรู้ความไหวที่กายก็รู้จิต ทำให้
ไม่ขยายออกไปเป็นรูปร่างสัณฐาน ถ้าดูกายอย่างเดียว เพ่งไปที่กาย
ก็จะขยายเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นบัญญัติขึ้นมาอีก ดังนั้นต้องดูเบาๆ ถ้าเพ่งไป
จะหนักไปจุดใดจุดหนึ่ง จะขยายออกเป็นรูปร่างเป็นบัญญัติ

ดูจึงต้องระลึก ให้มันสัมผัสกับจิต ดูความรู้สึกที่กายพร้อมดูจิตใจ ดูจิตใจ
พร้อมดูกาย ให้มันอยู่ในกรอบที่สัมผัสกัน ควบกันไปทั้งหมด
ทั้งรูปต่างๆ นามต่างๆ มันจะดูแค่รูปเดียวนามเดียวไม่ได้ ถ้าไปจ้องแค่รูปเดียว
เดี๋ยวมันก็ไปบัญญัติ มันต้องรับอารมณ์ต่างๆ รับสภาวะปรมัตถ์ต่างๆ
วิปัสสนาจึงมิใช่ระลึกแค่อารมณ์เดียว ต้องระลึกที่รูปต่างๆ นามต่างๆ แล้วแต่
ละ รูปอันใดเกิดก็รู้ นามอันใดเกิดก็รู้ เกิดตรงไหนก็รู้ตรงนั้น

ดับตรงไหนก็รู้ไปตรงนั้น ดูอันใหม่ ดูอันใหม่ เรื่อยไป เรื่อยไป
หมดไป หมดไป หมดไป ให้ได้ปัจจุบันสั้นที่สุด ชั่วขณะนิดเดียวแว๊บเดียว
ไม่ต้องไปพยายามไปคิดนึกอะไร หากกลัวจะไม่รู้รูปนาม เวลารับรูปนามอันใด
ก็ไปคิดนึก นี่คือรูปนี่คือนาม
นี่ไม่เที่ยงนะ นี่เป็นทุกข์นะ อย่างนี้มันไปสมมติหมด

ที่จริงรู้เพียงแค่นิดหนึ่งก็พอแล้ว แล้วก็รู้อันใหม่ รู้อันใหม่ แต่บางที
เราเป็นห่วงกลัวจะไม่รู้ กลัวไม่รู้จักรูปนาม ก็ไปคิดเอาเองว่า
นี่นะคือรูป นี่นะคือนาม นี่คือรูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อย่างนี้เราคิดเอาเอง
ก็เป็นความหมายไปหมด เป็นชื่อหมด คำว่ารูปที่เกิดขึ้นในใจ
ก็เป็นภาษาเป็นชื่อ เป็นสมมุติ คำว่านามก็เป็นสมมติ รูปจริงๆ ไม่ใช่ชื่อ
นามจริงๆไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีชื่อ ถ้าเราไปเรียกชื่อก็เป็นสมมติ

ผู้ที่รู้จักรูปนามจริงๆ อาจจะพูดไม่ถูก ว่านี่เรียกรูป นี่เรียกว่านาม
นี่เรียกว่าเวทนา สัญญา แต่เขาได้รับประโยชน์ ที่เขารู้แจ้ง รู้สภาวะจริงๆ
ละกิเลสได้แต่พูดไม่ถูก เหมือนกินข้าวไป กินอาหารอะไรต่างๆ
ก็บอกไม่ถูกว่าชื่ออาหารอะไร แต่อิ่มสบายแล้ว หรือกินยาที่ถูกต้องไป
ไม่รู้ว่ายาชื่ออะไร แต่กินเป็นกินถูกต้องโรคหาย ประโยชน์จริงๆ มันอยู่ที่หาย
จากโรคภัยไข้เจ็บ หรือประโยชน์จากได้อิ่มหนำสำราญ ไม่ใช่ประโยชน์
ตรงที่ว่าเราเรียกชื่อมันได้ ดังนั้นเราปฎิบัติอย่าไปมัวเรียกชื่ออยู่ แต่ก็อดไม่ได้
ถ้ามันเป็นขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ได้จงใจ

ตามที่จิตมันคอยจะนึกถึงปริยัติ มันก็คอยจะพูดว่านี่เป็นกุศล
นี่เป็นเวทนา สัญญา แต่เราอย่าไปตั้งใจพูดเสียเอง หรือตั้งใจเรียกเสียเอง
แต่ถ้ามันเรียกเองก็รู้มันซะ รู้จิต รู้ความตรึกนึก รู้ความจำ มันก็จะ
สลัดสมมติออก ไม่เพลินไปคิดให้ยาว ถ้าจิตเผลอไปตรึกไปนึก
ก็จะไปสู่บัญญัติ ก็ระลึกรู้ที่ความปรุงแต่ง รู้ความตรึก ความนึก
มันก็ตัดบัญญัติออกไป ไม่ยาวไกล แต่ถ้าเราไม่เข้าใจไปทำเสียเอง
ไปตั้งใจ ที่จะเรียกเสียเอง อย่างนี้ก็เป็นบัญญัติหมด

วันนี้ก็พูดเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องทำให้ถูกตรง
ต่อสภาวะปรมัตถ์ โดยเฉพาะการกำหนดจิต ให้จิตรู้จักจิตได้
ต้องทำอย่างไร ก็หวังว่า จะเป็นประโยชน์พอสมควร
ขอความสุข ความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่าน เทอญ...

จบเรื่องจิตคืออะไร



ต่อที่.. นิวรณ์ ๕ ( ปฏิบัติการทางจิต หน้า ๕๓-๖๔ )
คลิ๊กค่ะ.. >> http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=33299&sid=e03a29ae4599f75d127840443b693ff3