ผู้เขียน หัวข้อ: เงินไทยสมัยพระเจ้าตากสิน ทำไมใช้ตรา"จักร"กับ"กรี" ???  (อ่าน 1995 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
เงินไทยสมัยพระเจ้าตากสิน ทำไมใช้ตรา"จักร"กับ"กรี" ???

-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1347540866&grpid=03&catid=&subcatid=-






มติชนสุดสัปดาห์  กันยายน 2555 เงินพดด้วงสมัยกรุงธนบุรี ล้อม เพ็งแก้ว

 

 

สมัยผมยังรับราชการครู ได้เสนอความคิดสนับสนุนอย่างแข็งขัน ให้โรงเรียนสามารถเปิดหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาขึ้นได้ เพราะหลักสูตรแบบนี้เป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

 

ฉะนั้นแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน จึงดีใจทุกครั้งที่ได้ทราบว่ามีการเปิดสอนหลักสูตรใหม่ๆ และได้สนับสนุนแนะนำแก่ศิษย์หาที่สนใจขอคำปรึกษาหารือมาโดยตลอด

 

ที่โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏ์วิทยาลัย อันเป็นโรงเรียนในอุปถัมภ์ของวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี มีการเปิดสอนวิชา “สมบัติแม่น้ำเพชร” แก่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ครูผู้สอนคือ คุณกิตติพงษ์ พึ่งแตง  ที่เปิดสอนวิชานี้ คุณกิตติพงษ์บอกว่า มีชาวบ้านอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มีอาชีพงมกุ้งแม่น้ำขาย และในการงมกุ้งนี่เอง ได้พบของมีค่าอื่นอีกมาก ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักว่าเป็นอะไร คุณกิตติพงษ์จึงนำของงมได้มาให้ดูและร่วมถกวิจารณ์ ว่าเป็นอะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร และเป็นของยุคใดสมัยใด

 

ซึ่งผมเองก็อัศจรรย์ใจ ว่าเหตุใด จึงมีของให้เก็บมาศึกษา มาถก มาวิจารณ์ได้มากมายขนาดนั้น และเป็นเหตุให้ผมต้องมีภาระศึกษา สอบค้น และอธิบาย ตามความสามารถที่พอจะหาได้

 

ที่เป็นของเก่าถึงยุคทวารวดี เช่น ตุ้มหู ลานหู (ผมเปรียบเทียบจากปฏิมากรรมปูนปั้นที่พบในการขุดแต่งที่คูบัว)
เหรียญอีแปะจีนและญวนเป็นจำนวนมาก ที่เก่าสุดเป็นอีแปะจีนสมัยถัง ที่เรียกว่าเหรียญไคหยวน เป็นต้น

 

ในบรรดาของที่คุณกิตติพงษ์นำมาถกวิจารณ์นั้น มีเงินพดด้วงหลายขนาดและหลายตรารวมอยู่ด้วย ดังวันหนึ่ง เพื่อนคุณกิตติพงษ์ถามผมว่า ที่เรียกว่าตราราชวัตร นั้นเป็นอย่างไร (เพราะตำราว่า เงินพดด้วงสุโขทัย มีตราราชวัตร)
เมื่อตอบทันใดไม่ได้ (เพราะพจนานุกรม มีเฉพาะคำ ราชวัตร, ราชวัติ ซึ่งมองไม่เห็นว่าจะเป็นตราอะไรที่พดด้วง จึงขอผัดผ่อนเพื่อสอบค้น จนพบคำอธิบายของ ดร. เลอเมย์ (Reginald Le May) ว่าหมายถึง Pyramid of Dots จึงบอกพวกเขาได้ในวันต่อมา ว่าหมายถึงวงกลมซ้อนลดจำนวนจนถึงวงยอด และควรเขียนว่า ราชวัฏ และชี้ให้พวกเขาดูว่าก้อนนี่แหละ ตราราชวัฏ

 

แล้ววันหนึ่ง คุณกิตติพงษ์ก็นำพดด้วงขนาด ๑ บาท มีตราตรีกับจักรมาสอบถาม ผมขอเวลาสอบค้นและศึกษา ทั้งนี้เพราะผมไม่ได้ใส่ใจเรื่องเงินพดด้วงมาก่อน

 

เมื่อสอบค้นตรวจสอบมาร่วมเดือน พบว่าปัญหาเรื่องพดด้วงตราตรีกับจักรมีมานานแล้ว นักวิชาการทั้งไทยและเทศต่างให้ความเห็นไว้ต่างๆ กัน และน่าจะเป็นพดด้วงที่มีนักวิชาการกล่าวถึงมากที่สุดก็ว่าได้

 

เห็นว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ จึงลองนำเสนอเรื่องผ่านศิลปวัฒนธรรม ที่ผมห่างเหินมานานเต็มที เป็นการตอบแทนเพื่อนฝูงแต่หนหลัง แม้บางคนได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับแล้วก็ตาม

 

นักวิชาการฝ่ายหนึ่งเห็นว่า พดด้วงตราตรีกับจักร เป็นเงินตราสมัยกรุงธนบุรี

 

อีกฝ่ายว่า เป็นของแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

 

 

คุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้รวบรวมและนำเสนอไว้ในหนังสือ “กระษาปณ์ไทย” ดังจะขอเก็บความมานำเสนอดังต่อไปนี้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “...ที่ว่าตราอย่างไหนเป็นรัชกาลไหนในกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่ว่ากันโดยเดา ไม่มีหลักฐาน มีเค้าแต่ว่า ตราเงินครั้งกรุงธนบุรี ใช้รูปตรีศูล เพราะตัวตราเหล็กสำหรับตี ยังอยู่ในพระคลังมหาสมบัติด้วยกันกับตราเหล็กที่ใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์”

 

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ปาฐกถาเรื่องเงินตราสยาม มีความตอนหนึ่งว่า “ตราตรีว่ากันว่าเป็นตราครั้งรัชกาลที่ ๑ ใช้คราวเดียวกันกับตราบัว และว่ามีถึงสองชนิด แต่เมื่อได้สอบตราที่โรงกษาปณ์แล้ว ไม่มีตราตรีทั้งสองอย่าง จึงทราบว่าตราตรีไม่ใช่ของรัชกาลที่ ๑ สันนิษฐานกันว่า เป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี”
(ที่ว่าตราตรีมีสองชนิด คือ ตรี ๓ แฉก และ ๒ แฉก หรือตราซ่อม)

 

นายเปเรร่า (A. Marques Pereira) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Moedas De Siam 1879 และนายฮาส (Joseph Hass) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Siamese Coinage 1880 ระบุว่าเงินพดด้วงในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเป็นตราตรีศูล

 

 

“ก.ศ.ร.กุหลาบได้กล่าวไว้ในหนังสือสยามประเภท ว่า ตราเงินที่ใช้ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เรียกว่าตราทวิวุธ (เรียกกันตามภาษาสามัญว่า ตราซ่อมสองแฉก) กับตราจักร ส่วนรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น มีอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ ตราพระแสงตรีกับจักร และตราบัวอุณาโลมกับจักร”

 

เฉพาะคุณเฉลิมเอง บอกว่า “สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ยังลำเอียงที่จะกล่าวว่าเงินพดด้วงตราตรีศูล เป็นเงินพดด้วงในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะได้พบของจริงเป็นจำนวนเกือบเท่าเทียมกันกับเงินพดด้วงตราบัวอุณาโลม พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกคงจะได้ใช้เงินพดด้วงตราตรีศูลก่อน และต่อมาเมื่อบรมราชาภิเศกครั้งหลังแล้ว จึงได้เปลี่ยนเป็นตรารูปบัวอุณาโลม คนชั้นหลังในรัชกาลที่ ๕ ก็ดูเหมือนจะเชื่อ ว่าเงินพดด้วงตราตรีศูลมิใช่เป็นของรัชกาลที่ ๑ เพราะมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกรมกระษาปณ์สิทธิการ ร.ศ. ๑๑๒ ที่บัญญัติถึงเงินตราสยาม ที่จะแลกกับเงินตราต่างประเทศ ที่ระบุเงินพดด้วงในรัชกาลที่ ๑ ตราอุณาโลมกับจักรแต่อย่างเดียว ถ้าหากเชื่อว่า เงินพดด้วงตราตรีศูล เป็นของรัชกาลที่ ๑ ก็คงจะระบุเงินพดด้วงตราตรีศูล ไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย”

 

ส่วนฝ่ายที่เห็นว่า พดด้วงตราตรีศูล เป็นของรัชกาลที่ ๑ คุณเฉลิมได้รวบรวมไว้ คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ มีความว่า

 

“เงินตราในรัชกาลที่ ๑ เป็นเงินพดด้วงอย่างเดิม แต่แรกใช้ตีตรารูปจักรดวงหนึ่ง รูปกรีดวงหนึ่ง เมื่อภายหลังบรมราชาภิเศกครั้งหลัง โปรดให้เปลี่ยนตรารูปกรี เป็นตรารูปบัวผัน แต่ตราจักรนั้นคงไว้”

 

นายเลอเมย์ (Reginald Le May) เขียนไว้ในหนังสือ The Coinage of Siam พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่า “ตราตรีศูลและตราบัวอุณาโลม เป็นของรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองตรา โดยให้เหตุผลว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น การรบพุ่งได้ดำเนินต่อเนื่องกันหลายปี พระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะทรงหมกมุ่นกับการปราบปราม และคงจะทรงใช้เงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยาไปพลางก่อน อีกประการหนึ่ง ตราจักรที่ใช้คู่กับตราตรีนั้น ได้ใช้กันตลอดมา เป็นเครื่องหมายแสดงราชวงศ์ แต่พระพุทธยอดฟ้า มิได้ทรงเป็นราชวงศ์เดียวกันกับพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกจากนั้น ตราจักรกับตราตรียังสอดคล้องกับพระนามเดิม เจ้าพระยาจักรีของรัชกาลที่ ๑ ด้วย”

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๕ นายเลอเมย์ได้ปรับปรุงหนังสือขึ้นใหม่ คุณเฉลิมบอกว่า

“ตลอดระยะเวลา ๗ ปีที่ผ่านมา นายเลอเมย์ยังคงมีความเห็นเช่นเดิม แต่ก็ได้ข้อเท็จจริงมาหลายประการ คือ

 

“ประการแรก เขาไม่สามารถที่จะหาเงินพดด้วงตราซ่อม ๒ แฉกที่แท้จริง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเงินที่ออกในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ จึงเชื่อว่าเงินพดด้วงตราซ่อมไม่มีตัวตนอยู่จริง

 

“ประการที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้มอบเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเงินพดด้วงที่มีอยู่ ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตราเงินที่ใช้อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีอยู่ครบถ้วน เว้นไว้แต่ตราตรี การเก็บรักษาที่เก็บกันอย่างแข็งแรง เหตุใดตราตรีจึงหายไป น่าจะมีความสำคัญในเรื่องนี้บ้าง

 

“ประการที่ ๓ เงินพดด้วงตราตรีที่ออกในระยะแรก มีรอยค้อนรอยเดียว ซึ่งคล้ายกับเงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีรอยค้อนรอยเดียวเป็นส่วนใหญ่ ผิดกับเงินพดด้วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรอยค้อนสองค้อนเป็นส่วนใหญ่

 

“เมื่อสรุปรวมหลักฐานต่างๆ แล้ว คงได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งในสองประการ คือ พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทรงออกเงินพดด้วง หรือตราตรีศูล เป็นเครื่องหมายของแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ก็ปล่อยให้ขบคิดปัญหานี้ต่อไป แต่อย่างไรก็ดี นายเลอเมย์ ก็ยังเชื่อว่า รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลต่อมาคงจะไม่ทรงใช้ตราซึ่งเป็นเครื่องหมายราชวงศ์เดียวกัน กับพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นแน่แท้”

ข้างต้นทั้งหมดนี้ คือข้อมูลที่คุณเฉลิมได้รวบรวมไว้

 

เฉพาะข้อสรุปของนายเลอเมย์ในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ ว่าเงินพดด้วงตราตรีกับจักรอาจเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ได้เสนอความเชื่อยืนยันความเห็นเดิมไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลต่อมา คงจะไม่ทรงใช้ตราซึ่งเป็นเครื่องหมายราชวงศ์เดียวกับพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นแน่แท้นั้น ไม่ทราบว่านายเลอเมย์สรุปเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะอย่าว่าแต่ตราพระราชวงศ์เลย แม้แต่สกุลแซ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ ๑-๕ ก็นำมาเป็นพระนามเมื่อติดต่อกับราชสำนักจีน (คือพระนาม แต้ฮั้ว แต้หก แต้ฮุด แต้เม้ง และ แต้เจี่ย)

 

อนึ่ง เมื่อคุณเฉลิมได้อ้างพระราชบัญญัติกรมกษาปณ์สิทธิการ ร.ศ. ๑๑๒ ที่กล่าวถึงพดด้วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่าเป็นตราบัวอุณาโลม โดยไม่กล่าวถึงตราตรี ซึ่งสะท้อนว่าพดดวงตราตรีไม่ใช่พดด้วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ผมขอเสริมหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง คือพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “จึงทรงพระราชดำริเกรงไปว่า เงินตราบัว เงินตราครุฑ เงินตราปราสาท ได้ทำใช้ออกไปก็มาก หายไปเสียหมด...จีนหง พระศรีชัยบาน จึงกราบทูลว่า เงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎร เก็บฝังดินไว้มาก ไม่เอาออกใช้ ถ้าอย่างนี้ที่เมืองจีน ตั้งหวยขึ้น จึงมีเงินมา จึงโปรดให้จีนหงตั้งหวยขึ้น” (อ้างใน สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก)

 

จะเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงกล่าวถึงเงินเพียงสามชนิด คือ ตราบัว ตราครุฑ และตราปราสาท หากตราตรี เป็นตราของรัชกาลที่ ๑ แล้วคงจะทรงกล่าวถึงไว้เป็นแน่ การที่ไม่ทรงกล่าวถึง ย่อมหมายความว่า พดด้วงตราตรี ไม่ใช่ของรัชกาลที่ ๑

 

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ เหตุใดพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงใช้ตราจักรกับตรีเป็นตราแผ่นดินในรัชกาลของพระองค์
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า จักร กับ ตรี เป็นอาวุธของพระนารายณ์ (นารายณ์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์) และครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น มีความเชื่อกันอยู่ว่า พระมหากษัตริย์ คือนารายณ์อวตาร ฉะนั้นการใช้อาวุธพระนารายณ์เป็นตราแผ่นดิน ย่อมชอบด้วยความเชื่อ และพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ตามพระราชประวัติว่า ทรงเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี (แม้จะยังสรุปไม่ได้ ว่าเป็นเจ้าพระยาจักรีคนใด เพราะในช่วงนั้น ตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีเปลี่ยนบ่อย อาจารย์นิธิได้สอบสวนตรวจค้น

 

 

แล้วสรุปว่า “จะเห็นได้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กชายสิน ได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ของเจ้าพระยาจักรีนั้น เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นในสมัยหลัง...ส่วนหนึ่งของเหตุผล ที่คนสมัยหลังเล่าพระราชประวัติให้เกี่ยวไปถึง การรับบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี ก็เพื่อทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นไทยทางวัฒนธรรมมากขึ้น” – ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี)

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิมิได้ใช้ข้อมูลเรื่องตราแผ่นดินครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่ประการใด ผมเองเห็นว่าการที่พระองค์ทรงใช้ตราตรีกับจักร เป็นตราแผ่นดิน น่าจะมีเหตุสมควรอยู่ คือ เพื่อยกย่องและเชิดชูบิดาบุญธรรมให้ปรากฏ และยังเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสมานสามัคคีกับขุนนางครั้งกรุงเก่าอีกด้วย

 

และยังเห็นได้อีกว่า การใช้ตราพระราชวงศ์ก็ดี ใช้พระนามสกุลแซ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ และต่อๆ มามิได้ทรงเดียดฉันท์พระเจ้ากรุงธนบุรีแต่ประการใด


ต่อประเด็นตราเงินพดด้วงสมัยกรุงธนบุรี กับการใช้พระนามอย่างจีนนี้ อยากฟังข้อคิดเห็นของอาจารย์นิธิจังเลย

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)