ผู้เขียน หัวข้อ: Dialogue Oasis การฟังด้วยหัวใจ 2: อานุภาพแห่งการฟัง  (อ่าน 2459 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
จากสัปดาห์ที่แล้ว ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า หลักในการบริหารองค์กรใดๆให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือเรื่องของ “คน” และในเมื่อคนต่างมาจากหลายที่ต้องมาทำงานร่วมกัน ก็ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาในเรื่อง “การสื่อสาร”


คราวนี้ก็มาเจาะดูว่า เราต้องการทักษะอะไร เพื่อทำให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในคอร์สอบรมต่างๆ มีแต่การฝึกทักษะการพูดบนเวที ในที่ชุมชน ทักษะการนำเสนอ แต่ที่ผ่านมา สังคมของเรามองข้ามการฝึกฝน “ทักษะการฟัง” ซึ่งจริงๆแล้วถือว่าเป็น”หัวใจของการสื่อสาร” ไปอย่างน่าเสียดาย
 
เมื่อผมได้รับเชิญให้มาเป็นวิทยากรพิเศษ ในคลาสวิชา “ทักษะเพื่อการพัฒนาตนเอง” ในกับนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการจัดการในครั้งนี้ ผมจึงเลือกหัวข้อ “สุนทรียสนทนา หรือไดอะล็อค” เพื่อจะทำให้เหล่านักศึกษาได้กลับมาเห็นความสำคัญของ “การฟังและการสนทนา” ในแง่มุมที่ต่างออกไป
 
ผมจึงเริ่มด้วยกิจกรรมง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า “การฟัง” มีความสำคัญอย่างไรในชีวิตประจำวัน
 
กิจกรรมแรก ให้แต่ละคนจับเป็นคู่ เลือกว่าใครจะเป็น A ใครจะเป็น B ในรอบแรก ให้ A เล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนุก เรื่องที่ตนเองสนใจมากๆให้อีกฝ่ายฟัง เป็นเวลา 1 นาที ส่วน B ให้นั่งทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ให้สนใจฟัง และ A ก็ต้องพยายามเล่าโดยใส่อารมณ์สุดๆ ให้น่าตื่นเต้น พยายามให้ B สนใจให้ได้ พอครบเวลาแล้ว จากนั้นก็สลับกัน
จบกิจกรรม ผมให้แต่ละคนแชร์ว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเราพูดแล้วอีกฝ่ายไม่ฟัง ต่อไปนี้เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ร่วมกิจกรรม
 
“รู้สึกเบื่อมาก ไม่อยากพูดเลย แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องสนุก แต่เมื่อเค้าดูไม่สนใจ ก็ไม่อยากเล่าต่อ”
“รู้สึกแย่มาก ผิดหวัง เหมือนอีกคนไม่ให้เกียรติ ไม่สนใจกันเลย ทำให้พาลหงุดหงิดโมโหขึ้นมาเลย”
“ผมก็พูดให้จบๆไป จะฟังไม่ฟังก็ช่าง ถือว่าเราได้พูดแล้ว ทุกวันนี้คนที่บ้านก็เป็นแบบนี้ ก็เลยชินแล้ว”
ผมได้แต่ฟัง พยักหน้าว่าเข้าใจ แต่ยังไม่สรุปอะไร ให้ลองกิจกรรมต่อไปทันที
….
 
กิจกรรมที่สอง คราวนี้ให้ A เล่าเรื่องธรรมดาๆเช่น เมื่อเช้าก่อนมาถึงที่นี่ ทำอะไรมาบ้าง เล่าแบบพื้นๆไม่ต้องใส่อารมณ์ แต่คราวนี้ให้ B ตั้งใจฟัง ตาจ้องมองไม่กระพริบ ฟังให้เหมือนโลกทั้งโลกมีแต่ A เท่านั้นที่น่าสนใจ จับให้ได้ทั้งคำพูด อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และความต้องการ หลังจาก 1 นาที ให้ B เล่าสะท้อนกลับให้ A ฟังว่าได้พูดอะไรมาบ้าง
 
เมื่อจบกิจกรรม ผมถามว่าความรู้สึกในครั้งนี้ต่างกับครั้งก่อนอย่างไร ตอนนี้หลายคนรีบยกมือขึ้น อยากแชร์กันทันที
“รู้สึกมีความสุขมาก ทั้งๆที่เรื่องที่เล่าก็ธรรมดา แต่ได้รับความสนใจอย่างคาดไม่ถึง และไม่น่าเชื่อว่า เค้าจะจำเรื่องที่เราเล่าได้หมดเลย ประทับใจจริงๆ”
“รู้สึกว่าเค้ายอมรับเรา ให้เกียรติเรา แล้วก็เลยรู้สึกชึ่นชมเค้า รู้สึกได้ถึงมิตรภาพที่ดีต่อกัน อยากแบ่งปันสิ่งดีๆให้เค้าอีก”
“พอเค้าดูสนใจ มองตาผมด้วย ผมก็เลยเล่าได้อย่างสนุก หัวเราะกันด้วย ครั้งนี้มันเลยได้สีสันกว่า ทั้งๆที่เรื่องก็ไม่ได้มีอะไร”
 
ผมยิ้มกับเรื่องราวของแต่ละคน แล้วสรุปว่า ผมได้ยินคำบางคำที่มีคุณค่า เช่น ความสุข ประทับใจ มิตรภาพ  การยอมรับ การชื่นชม ซึ่งมันเกิดขึ้นจากแค่ “เราตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง”เท่านั้น
 
ที่สำคัญ ในกิจกรรมนี้ เราเพียงอยู่ในฐานะผู้ฟัง แทบไม่ได้พูดอะไรเลยสักคำ แต่กลับสร้างความรู้สึกดีๆต่อกันได้อย่างมหาศาล

นี่แหละคือ “อานุภาพแห่งการฟัง” ที่หลายคนมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน...
….
 
หลายๆครั้ง ที่บางคนเดินเข้ามาหาเรา อาจเพราะมีสิ่งสำคัญอยากจะบอกกล่าว เราก็มักจะบอกว่า“พูดไปเถอะ กำลังฟังอยู่” แต่สิ่งที่เราทำ ก็คือการง่วนอยู่กับธุระส่วนตัว อ่านหนังสืออื่นไปด้วย รับโทรศัพท์อีกสาย เปิดเวบไซท์ ดูทีวีไปพลางๆ แล้วแบบนี้ เราคาดหวังว่าเขาจะเล่าสิ่งสำคัญให้เราฟังอย่างนั้นหรือ
 
เราได้ทำร้ายคนรอบตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ทิ้งให้พวกเค้ารู้สึกว่า ไม่ได้รับการใส่ใจ  ไม่เห็นคุณค่า ไม่ได้รับการยอมรับ และไม่สำคัญ

ผมทิ้งท้ายฝากเป็นการบ้าน หลังจากวันนี้ ขอให้ทุกคนทดลองบางอย่าง กลับไปสร้าง “เวลาคุณภาพ” เพื่อเป็นเวลาที่เราจะมีการรับฟังอย่างลึกซึ้งกับใครก็ได้รอบๆตัว สักครั้งต่อวัน เพียงวันละ 5-10 นาที…
 
โดยให้เราฟังอย่างใส่ใจ และไม่ด่วนตัดสิน พยายามจับตัวเองให้ได้ เมื่อเรามีความคิดโต้แย้ง การตีความ ตัดสินว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แม้จะรู้สึกลำบากและอึดอัด แต่ก็ให้พยายามฟังไปจนอีกฝ่ายพูดจบ โดยไม่แทรกสอดหรือขัดจังหวะใดๆ...

ง่ายๆเพียงแค่นี้ แล้วเราจะต้องอัศจรรย์ใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอีกฝ่าย เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากดีกันอยู่แล้ว เราก็จะเข้าใจเขาในแง่มุมใหม่ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน...

หากเป็นไปได้ อยากให้มีสมุดเล่มเล็กๆ บันทึกความรู้สึกและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองในแต่ละวันไว้ พร้อมกลับมาแชร์กันในคลาสครั้งต่อไป...
 
กิจกรรมจะได้ผลมากน้อยหรือไม่อย่างไร มาตามดูกันต่อไปในอาทิตย์หน้า กับกระบวนการสุนทรียสนทนาหรือไดอะล็อค และหากท่านผู้อ่านอยากได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆกัน ระหว่างนี้ ก็ฝากทำการบ้านด้วยนะครับ
.....
จากคอลัมน์ “การเดินทางแห่งความสุข” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นกายใจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 เม.ย.55

 



 :19: https://www.facebook.com/dialog.oasis
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...