อปัณณกปฏิปทา (๓) พรหมวิหารธรรมข้อเมตตาสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรม
ธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต เพื่อแก้ปัญหาอันเกิดขึ้นจากวาทะคือถ้อยคำต่างๆ ที่กล่าวขัดแย้งกัน และก็ย่อมมีความหมายคลุมได้ถึงถ้อยคำที่ฟังตามกันมา ที่นำสืบกันมา ที่เป็นข่าวลือต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น (เริ่ม ๑๓๕/๒) ซึ่งทำให้ผู้รับฟังเกิดความสงสัย ฟั้นเฝือ หรือเกิดความเชื่อถือปฏิบัติ หรือว่าพลอยคล้อยตามไป ตามถ้อยคำนั้นๆ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้เค้ามูล ไม่รู้ความจริง จึงเป็นเรื่องที่ผิดได้ถูกได้ แต่มักจะผิดมาก ถูกน้อย หรือไม่ถูกเลย
เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติอย่างไร
จึงจะเป็นการปฏิบัติไม่ผิด จึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติใน
ธรรมสมาธิ และใน
จิตสมาธิธรรมสมาธิโดยธรรมสมาธินั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปย่อ ก็คือสมาธิตั้งใจไว้ให้มั่นในธรรม อันหมายถึงความถูกต้อง และอย่างไรตนจึงจะรู้เป็นความถูกต้องที่เรียกว่าธรรม อันธรรมคือความถูกต้องนี้
ไม่เป็นวิสัยที่บุคคลสามัญจะรู้ก็มี
เป็นวิสัยที่บุคคลสามัญจะรู้ได้ก็มี
ที่
ไม่เป็นวิสัยนั้นก็คือว่า เรื่องที่แม้บังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เอง ที่ตนเองไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง ตนเองก็ไม่อาจจะรู้ได้ นอกจาก จากคำ ฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่น แต่ผู้อื่นที่บอกเล่านั้นเล่า เขาก็อาจจะได้รู้ได้เห็น หรือเขาไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น แต่ว่าฟังตามๆ กันมา นำสืบๆ กันมา หรือเป็นข่าวลือ ก็เป็นอันว่าทั้งคนที่พูดทั้งคนที่ฟังก็ต่างไม่รู้ด้วยกัน มักจะเป็นเช่นนี้โดยมาก ก็เป็นอันว่า แม้เรื่องราวที่เป็นปัจจุบันนี้เอง ก็มีเป็นอันมากที่ตนเองไม่รู้ เพราะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน คือไม่ได้เห็นไม่ได้รู้ด้วยตัวเองโดยตรง ต้องฟังตามกันมาเป็นต้น ดังกล่าวมานั้น
และก็ไม่มีญาณคือความหยั่งรู้ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง นี้เรื่องในปัจจุบันนี้เอง ยิ่งเป็นเรื่องในอดีตที่ล่วงมาแล้วนาน หรือในอนาคตข้างหน้า ซึ่งตนเองไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นในปัจจุบันนี้ และก็ไม่มีญาณที่จะรู้อดีตรู้อนาคต ก็เป็นอันว่าไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความถูกต้องในเรื่องดังกล่าวนี้ ทุกคนจึงไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้
แต่ว่าธรรมะคือความถูกต้องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รู้ได้เห็นได้ด้วยตัวเองนั้น ก็คือตนเองนี่เอง คือจิตใจของตนเอง กรรมคือความประพฤติที่ประกอบกระทำของตนเอง ที่ประกอบกระทำอยู่
นี้สามารถรู้ได้เห็นได้ ใจของตนจะคิดอย่างไร ตนเองก็รู้ การงานที่ตัวเองกระทำทางกาย คือทำทางกาย ทางวาจาคือพูด ตนเองก็รู้ ใจที่คิดอ่านอย่างไรตัวเองก็รู้ เป็นไปอย่างไรตัวเองก็รู้ นี้เป็นสิ่งที่รู้ได้เพราะฉะนั้น ความประพฤติอันเกี่ยวแก่จิตใจ และการประกอบกระทำของตัวเอง ทางกายทางวาจาใจนี้สามารถที่จะรู้ได้
ว่าอย่างไรเป็นธรรมะคือความถูกต้อง อย่างไรเป็นอธรรมคือความไม่ถูกต้อง โดยที่
อาการเหล่านี้อยู่ที่ตัวเอง ไม่ต้องไปดูที่อื่น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเข้ามาในธรรมะที่ปฏิบัติได้ ที่รู้เห็นได้ด้วยตัวเอง
คือให้มีความตั้งใจให้มั่นไว้ในธรรม อันได้แก่ธรรมะที่เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้มีใจตั้งมั่นอยู่ในอันที่จะทำดีพูดดีคิดดี
และอย่างไรเป็นการทำดีพูดดีคิดดี พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนเอาไว้อย่างชัดเจน ดังจะพึงกล่าวซ้ำอีกว่า ไม่ฆ่าเขา ไม่ลักของๆ เขา ไม่ประพฤติผิดในกาม นี่เป็นความประพฤติดีทาง
กาย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล นี่เป็นความประพฤติดีทาง
วาจา ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของเขาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้ายเขา และไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม นี้เป็นความคิดดีทาง
ใจเพราะฉะนั้น จึ่งให้มีสมาธิคือความตั้งใจมั่นอยู่ ในอันที่จะประพฤติดีทางกายทางวาจาทางใจ ละความประพฤติชั่วทางกายทางวาจาทางใจอันตรงกันข้าม ดั่งนี้แหละคือตัว
ธรรมสมาธิ เพราะคนเราจะมีความละชั่วประพฤติดี ทางกายทางวาจาทางใจดังกล่าวนี้ได้
ก็จะต้องมีสมาธิคือความตั้งใจมั่น ตั้งใจมั่นว่าเราจะละชั่ว เราจะทำดี เมื่อมีสมาธิคือความตั้งใจมั่นดั่งนี้ จึงจะเกิดการละชั่ว การทำดีได้ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังกล่าว
จิตตสมาธิและเมื่อได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ ก็จะทำให้จิตใจนี้เองเกิดปราโมทย์คือความบันเทิง เกิดปีติคือความอิ่มใจ เกิด
ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบใจ เกิดสุข และจิตก็จะเป็นสมาธิ เป็น
จิตตสมาธิ คือ
จิตเตกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวเป็น
จิตตสมาธิดั่งนี้แหละเป็นการปฏิบัติต่อวาทะทั้งหลายที่กล่าวขัดแย้งกัน หรือว่าต่อถ้อยคำที่พูดฟังตามๆ กันมา นำสืบกันมา หรือข่าวลือต่างๆ เป็นการที่ปฏิบัติตนอันเรียกว่า
อปัณณกปฏิปทา ปฏิบัติไม่ผิด และการปฏิบัติไม่ผิดดังกล่าวมานี้ตรัสไว้ด้วยว่าเป็น
กฎคาหะ กฎะก็คือกฎ กฎเกณฑ์ คาหะก็คือการถือเอา คือถือเอากฎเกณฑ์แห่งสัจจะคือความจริง แห่งธรรมดา เป็นกฎธรรมดาที่เป็นดั่งนี้ และเมื่อมาปฏิบัติยึดกฎธรรมดาไว้ กฎแห่งความจริงไว้ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติไม่ผิด แปลว่าไม่ปล่อยตัวไปตามวาทะต่างๆ ไม่ปล่อยตัวไปตามถ้อยคำที่พูดสืบๆ กันมาต่างๆ ข่าวลือต่างๆ
แต่ว่ายึดกฎธรรมดา กฎที่ไม่ผิดอันนี้ไว้เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจะมีวาทะของสมณพราหมณ์มากล่าวขัดแย้งกันอย่างไรโดยรอบ หรือจะมีเสียงที่พูดจาฟังสืบๆ กันมาอย่างไร จะมีข่าวลืออย่างไร ก็ไม่ทำให้ตนเองต้องปฏิบัติผิด ก็คือตนเองปฏิบัติยึดกฎธรรมดากฎที่ไม่ผิดนี้อยู่ เรียกว่า กฎคาหะ กฎะคือกฎ คาหะคือยึด ยึด
กฎธรรมดากฎที่ไม่ผิดอันนี้ไว้ สำหรับตัวเองจะ
พึงปฏิบัติวาทะของอาจารย์ต่างๆ จะว่าอย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่พูดกันมาต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม ข่าวลือจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ทำให้ตัวเองล่องลอยไปตามได้ และตนเองนั้นยึดกฎธรรมดากฎที่ไม่ผิดนี้อยู่ คือ
ธรรมสมาธิตั้งใจมุ่งมั่นอยู่ในอันที่จะละชั่วทำดีของตัวเอง และก็จะได้
จิตตสมาธิความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวคือแน่วแน่ ไม่วอกแวกไปตามวาทะต่างๆ ตามถ้อยคำที่พูดฟังกันมาต่างๆ ข่าวลือต่างๆ
การปฏิบัติในกฎที่ไม่ผิดเพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ยึดกฎแห่งความจริง กฎที่ไม่ผิด กฎที่เป็นกฎธรรมดาที่ไม่ผิด ไว้ดั่งนี้แล้ว ก็จะมีความสวัสดีแก่ตัวเอง และความสวัสดีแก่ผู้อื่น ในเมื่อได้แนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติยึดกฎที่ไม่ผิดดั่งนี้ไว้ด้วย และในพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนให้ยึดกฎที่ไม่ผิดไว้ดั่งนี้ ก็ได้ตรัสสอนถึงธรรมะ ที่จะเป็นเครื่องรักษาจิตใจให้เป็นสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่ในทางที่จะละชั่วทำดีไว้ด้วย สำหรับปฏิบัติ ก็คือ
พรหมวิหารธรรม ที่แปลว่าธรรมะของพรหม หรือที่พรหมประพฤติปฏิบัติ ซึ่งพรหมนี้ รู้จักกันว่าเป็นชื่อของพระพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นสูง
พรหมวิหารธรรมข้อเมตตาแต่ว่าในธรรมะที่ตรัสสอนนี้หมายถึงพรหมในจิตใจของทุกๆ คน คือทุกคน
อาจจะสร้างพระพรหมขึ้นในจิตใจของตนเองได้ และก็เป็นจิตใจชั้นสูง เป็นจิตใจที่ประเสริฐ
ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา จะได้แสดงจำเพาะข้อแรกก็คือเมตตา เมตตานั้นได้แก่ความมีจิตมุ่งดีปรารถนาดี อันเป็นความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ
เมตตาคือภาวะของจิตที่เป็นดั่งนี้ จึงมี
ลักษณะที่ตรงกันข้ามกับภาวะของจิตที่ประกอบด้วย
โทสะพยาบาท และที่ประกอบด้วยสิเนหา คือความรักอันอาศัยกาม กล่าวสั้น
เมตตาเป็นความรักสนิทที่บริสุทธิ์ ส่วน
สิเนหานั้นเป็นความรักที่เป็น
กาม
เมตตาเป็นความรัก
เพื่อความสุขของผู้อื่น คือผู้ที่ตนมีเมตตา มีรัก
สิเนหาเป็นความรักเพื่อตน คือความรักที่จะได้สิ่งที่ตนรักมาเป็นของตน เพื่อให้ตนมีสุขเมตตา สิเนหาเพราะฉะนั้นเมตตากับสิเนหาจึงไม่ตรงกัน แต่ว่ามี
ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
เมตตานั้นก็ปรากฏเป็นความเห็นดีเห็นงาม เป็นความงาม สิเนหานั้นก็เป็นความเห็นดีเห็นงาม เป็นความงาม แต่ว่าเมตตานั้นเป็นความเห็นดีเห็นงามเป็นความงามที่ผู้อื่น เพื่อผู้อื่น ส่วนสิเนหานั้นเพื่อตน งามเพื่อตน เมตตางามเพื่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึง
แสดงว่าสิเนหานั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ต่อเมตตา เพราะมี
ลักษณะที่เป็นความงามด้วยกัน เป็นความรักด้วยกัน แต่มีลักษณะ
ต่างกันดังกล่าว
ส่วน
โทสะพยาบาทนั้นมีลักษณะที่
ตรงกันข้ามกับเมตตา ท่านแสดงว่าเป็น
ศัตรูที่ห่างไกลของเมตตา เพราะมีลักษณะตรงกันข้าม เมื่อโทสะพยาบาทเข้ามาสู่จิต ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นโทสะพยาบาท ไม่ใช่เมตตา
แต่เมื่อสิเนหาเข้ามาสู่จิตอาจจะรู้ช้า หรือยังไม่รู้ในทีแรก ยังสำคัญว่าเป็นเมตตา แต่เมื่อมาพิจารณาดูลักษณะของเมตตากับสิเนหาแล้วจึงจะรู้ได้ ว่านี่เป็นเมตตา นั่นเป็นสิเนหา หรือนี่เป็นสิเนหา นั่นเป็นเมตตา
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทุกคนรู้จักลักษณะของโทสะพยาบาท ให้รู้จักลักษณะของเมตตา ให้รู้จักลักษณะของสิเนหา ให้รู้จักที่ใจของตัวเองนี่เอง ไม่ใช่รู้จักที่อื่น และเมื่อ
กำหนดให้รู้จักลักษณะที่ต่างกันดั่งนี้แล้ว อะไร
บังเกิดขึ้นแก่จิตใจก็ย่อมจะรู้ได้ ว่านี่เป็นโทสะพยาบาท นี่เป็นสิเนหา นี่เป็นเมตตา
ธรรมะที่เป็นพรหมวิหารนั้นต้องเป็นความรักสนิทใจที่เป็นเมตตาเป็นความเห็นดีเห็นงามที่เป็นเมตตา และข้อที่ว่าเห็นดีเห็นงามที่เป็นเมตตานั้นยกตัวอย่างได้ง่าย เช่นว่า คนเกลียดจิ้งจก แต่เมื่อหัดแผ่เมตตาไปในจิ้งจก ให้จิ้งจกมีความสุข ก็จะหายเกลียดจิ้งจก เคยเห็นจิ้งจกว่าน่าเกลียด ก็จะกลายเป็นงาม ไม่เห็นว่าน่าเกลียด แต่เห็นว่างาม เห็นว่าควรที่จะทนุถนอมรักษา ไม่เบียดเบียนจิ้งจก เพราะฉะนั้น เมตตาจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่างาม แม้ในสิ่งที่เคยเห็นว่าไม่งาม
จะทำให้เกิดเป็นความรักใคร่ปรารถนาดี แม้ในสิ่งที่เกลียดชัง ดั่งนี้
การหัดแผ่เมตตาและในการหัดแผ่เมตตานั้น ก็คือหัดแผ่ใจนี้ออกไปในบุคคล และแม้ในสัตว์เดรัจฉาน แม้ในสัตว์ที่ตกอบาย แม้ในเทพในพรหม และมีลักษณะที่จะพึงปฏิบัติได้ ที่ตรัสสอนไว้ ว่าให้แผ่ไป
โดยเจาะจง และแผ่ไปโดยไม่เจาะจง แผ่ไปโดยเจาะจงนั้น เช่นในบุคคลที่เป็นที่รักเคารพ ในผู้นั้นผู้นี้ หรือแม้ในบุคคลที่เป็นกลางๆ หรือแม้ในบุคคลนั้นบุคคลนี้ที่เป็นศัตรูกัน และท่านได้ยกเอาบทตั้งสำหรับ
กำหนดแผ่โดยเจาะจงไว้ว่า
สพฺพา อิตฺถิโย สตรีทั้งปวง สพฺเพปุริสา บุรุษทั้งปวง สพฺเพ อริยา อริยบุคคลทั้งปวง สพฺเพ อนริยา ผู้ที่เป็นบุถุชนมิใช่อริยะทั้งปวง สพฺเพ เทวา เทพทั้งปวง สพฺเพ มนุสฺสา มนุษย์ทั้งปวง สพฺเพ วินิปาติกา สัตว์ที่ตกต่ำ หรือที่ตกอบายทั้งปวงส่วนโดย
ไม่เจาะจงนั้นท่านแสดงบทสำหรับแผ่ไว้ว่า
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งปวง
สพฺเพ ปาณา สัตว์มีปราณมีลมหายใจมีชีวิตทั้งปวง
สพฺเพ ภูตา สัตว์ที่เป็นแล้วทั้งปวง คือถือภพถือชาติทั้งปวง
สพฺเพ ปุคคลา บุคคลทั้งปวง
สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา สัตว์ที่นับเนื่องอยู่ด้วยอัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง และบทสำหรับที่จะพิจารณากำหนดจิตแผ่เมตตาไปนั้นก็คือ
อเวรา โหนฺตุ จงอย่ามีภัยมีเวรต่อกัน
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ จงอย่าเบียดเบียนกันและกัน
อนีฆา โหนฺตุ จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีสุขรักษาตนให้สวัสดีเทอญ ดั่งนี้
ภาวะของจิตที่เป็น มหัตตา มหาตมะ(เริ่ม ๑๓๖/๑) การแผ่จิตออกไปดั่งนี้ ท่านสอนให้แผ่ไปในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง ในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ตลอดโลกทั้งสิ้น โดยความเป็น
มหัตตา ในที่ทั้งปวง คำว่าโดยความเป็นมหัตตานั้นแปลได้ว่า
โดยความเป็นทั้งหมดคือแผ่ไปทั่วก็ได้ โดยความเป็นอัตตาใหญ่ก็ได้ อัตตาใหญ่นั้นก็หมายความว่าให้ทุกๆ สัตว์บุคคล ที่แผ่เมตตาให้นี้ กับตัวผู้แผ่เมตตาเอง เหมือนอย่างรวมกันเข้าเป็นอัตตาเดียวกัน เมื่อแผ่ไปตลอดโลกก็ให้เหมือนอย่างว่า ทั้งโลกรวมทั้งตัวผู้แผ่เมตตาด้วย เป็นอัตตาเดียวกันทั้งหมดและเมื่อเป็นดั่งนี้ทุกคนที่มีอัตตาย่อยๆ แต่ละคนนั้น ต่างก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์อยู่ด้วยกัน แต่ว่าความรักสุขเกลียดทุกข์นี้ ถ้าไม่แผ่เมตตาแล้วก็เป็นความรู้สึกที่คับแคบ
เฉพาะตัวเอง เฉพาะผู้ที่ตัวรัก แม้ในฐานะเป็นความรักที่เป็นสิเนหาก็ตาม เช่นเฉพาะสามีภริยาบุตรธิดา เช่นมิตรสหาย บิดามารดา ญาติพี่น้อง ซึ่งได้มีความรักที่เป็นตัวสิเนหาประกอบอยู่เป็นพื้น ก็มุ่งให้เป็นสุข มักจะคับแคบดั่งนี้
แต่เมื่อหัดแผ่เมตตาออกไปแล้ว จะทำให้ความรักที่เป็นความปรารถนาให้เป็นสุขไม่ให้เป็นทุกข์นี้ขยายกว้างออกไป จนถึงมีความรู้สึกเหมือนอย่างว่าทุกๆ สัตว์บุคคลที่ตนแผ่เมตตาไปนั้น
ก็ให้มีความสุขปราศจากทุกข์เช่นเดียวกันกับตน ปรารถนาให้ตนมีสุขไม่มีทุกข์อย่างไร ทุกๆ สัตว์บุคคลที่แผ่เมตตาไปนั้นก็ให้มีสุขไม่มีทุกข์เหมือนอย่างนั้น เหมือนอย่างเป็นคนเดียวกันทั้งหมด ทั้งโลก ก็เรียกว่าเป็น
มหัตตา อัตตาใหญ่ที่มาเรียกทางสันสกฤตว่า มหาตตมะ หรือ มหาตมะ ตัวใหญ่อัตตาใหญ่ แต่มุ่งถึง
ลักษณะของจิตดังที่กล่าวมานี้
ไม่ได้มุ่งว่ายึดตัว ยึดถือตัวตนอันเป็นอุปาทาน มุ่งถึงภาวะของจิตที่เป็นเมตตา คือเป็น
เมตตาใหญ่นั้นเอง เรียกว่าเป็น
เมตตาครอบโลกพลังต้านทานอารมณ์กระทบการแผ่เมตตาดังกล่าวมานี้ เมื่อหัดแผ่ไปโดยลำดับแล้ว ย่อมจะทำให้
ภาวะของจิตนี้มีเมตตาดังกล่าวนี้
ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ประกอบอยู่ในจิตใจ เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ จะมีพลังที่ต้านทานอารมณ์ที่มากระทบกระทั่งต่างๆ
อันจะนำให้เกิดความกระทบกระทั่ง ความขึ้งเคียด ความเคียดแค้น เกิดโทสะพยาบาทได้ และจะป้องกันสิเนหาอันเป็นความรักที่อาศัยกามได้ จะทำให้เมตตานี้
ดำรงอยู่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ และจะมีพลังที่เข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ
อบรมเมตตาอาศัยโพชฌงค์ ๗ทั้งก็ต้องอาศัยการที่มาปฏิบัติอบรมเมตตาข้อนี้
อิงโพชฌงค์ทั้ง๗ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ที่ตรัสสอนไว้ว่า
ให้อบรมสติสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตด้วยเมตตา อบรมธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา อบรมวิริยะสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา อบรมปีติสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา อบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา อบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา อาศัยทางปฏิบัติใน
โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ อบรมเมตตา
เพราะว่าในเบื้องต้นนั้นจะต้องมีสติความระลึกได้คือจะต้องระลึกกำหนดถึง
อารมณ์ของเมตตา คือสัตว์บุคคลนั้นๆ ที่จะแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา และก็ต้อง
ระลึกให้เป็นตัวเมตตาออกไปสู่สัตว์บุคคลนั้นๆ เหล่านี้เป็นสติทั้งนั้น จะต้องมีสตินำและมาถึง
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็ต้องคอยมีตัวปัญญา ที่เลือกเฟ้นธรรมในจิตใจของตัวเอง ให้รู้จักว่า
ภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของตัวเองนี้ นี่เป็น
ปฏิฆะความหงุดหงิดกระทบกระทั่ง
เป็นโทสะพยาบาท นี่เป็นเมตตา นี่เป็นสิเนหา ต้องให้รู้ ว่าภาวะที่ผุดขึ้นในจิต ปรากฏขึ้นในจิตนั้นอะไรเป็นอะไร และก็ต้องมี
วิริยะคือเพียร คือเพียรละปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ละโทสะพยาบาท เพียรละสิเนหา
เพียรอบรมรักษาไว้ซึ่งเมตตาให้คงตั้งอยู่ในจิต ต้องมี
วิริยะคือเพียรละและเพียรอบรมดั่งนี้อยู่
สืบจากธัมวิจยสัมโพชฌงค์ต่อเนื่องกัน เพราะว่าเมื่อวิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรม
รู้ว่านี่เป็นปฏิฆะความกระทบกระทั่ง
เป็นโทสะพยาบาท ก็ต้องเพียรละ รู้ว่าเป็นสิเนหาก็ต้อง
เพียรละ รู้เป็น
เมตตาก็
รักษาไว้
อบรมให้มีมากขึ้น
เป็นฝ่ายอบรมและเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้
ปีติคือความอิ่มใจ เพราะการปฏิบัติละฝ่ายอกุศล อบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้นในจิตดั่งนี้
เมตตาเป็นตัวกุศล โทสะพยาบาทสิเนหาเป็นตัวอกุศล กุศลนี้เองก็ชำระจิตใจนี้เองให้บริสุทธิ์ จิตใจที่บริสุทธิ์นั้นย่อมเป็นจิตใจที่มีความสว่างไม่เศร้าหมอง เมื่อมีความสว่างไม่เศร้าหมอง จิตใจนี้เองก็ดูดดื่มเมตตาเข้าไปได้มากขึ้น สะดวกขึ้น และเมื่อดื่มเมตตาเข้าไปแล้ว ก็ปรากฏเป็นความอิ่มเอิบแจ่มใส เหมือนอย่างบุคคลที่ดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ มีความระหายดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ ก็ย่อมมีความอิ่มเอิบ
เพราะว่าลักษณะของอกุศล คือโทสะพยาบาทหรือสิเนหานั้น ทำจิตใจให้หิวระหาย ฉะนั้นเมื่อดื่มเมตตาเข้าไปดับความหิวระหาย ดับเหตุให้เกิดความหิวระหาย คือโทสะพยาบาทสิเนหา จึงเกิดความอิ่มเอิบ ที่ร่างกายก็อิ่มเอิบ จิตใจก็อิ่มเอิบ เพราะดื่มเมตตาเข้าไป ก็เป็นปีติ และเมื่อได้ปีติแล้วก็ย่อมได้
ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบใจ สุขกายสุขใจ ก็ได้สมาธิเป็นตัว จิตตสมาธิสำหรับในการปฏิบัติเบื้องต้นขึ้นมานั้นคือ
สติ ธัมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ เป็นธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะ
ได้อุเบกขา คือความที่จิตสงบแน่วอยู่ เพ่งอยู่ในภายใน อะไรบังเกิดขึ้นก็รู้ และจิตนี้ก็ไม่ออกไปวุ่นวาย สงบนิ่งอยู่ รู้อยู่ในภายใน รู้สงบอยู่ในภายใน ละความยินดี ละความยินร้าย สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
เรียกว่าเป็นอุเบกขาที่รู้อยู่กำหนดอยู่ในสมาธินั้นเอง เป็น
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะฉะนั้น แนวปฏิบัติอบรมเมตตานี้ ก็ต้องอาศัยแนวปฏิบัติใน
โพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังแสดงมา นี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เอง ให้อาศัยปฏิบัติโพชฌงค์นี้ในการที่อบรมเมตตา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
-http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-203.htm