ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่จำเป็น … อย่ากู้  (อ่าน 1277 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ไม่จำเป็น … อย่ากู้
« เมื่อ: ตุลาคม 07, 2012, 09:01:53 am »
ไม่จำเป็น … อย่ากู้

ไม่จำเป็น … อย่ากู้ :
คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน :

โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com

-http://www.komchadluek.net/detail/20121007/141665/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E2%80%A6%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89.html#.UHDmoFHiHx8-


                เพิ่งวางสายจากพนักงานแบงก์ที่โทรศัพท์เข้ามาแจ้ง "สิทธิประโยชน์" ว่า แบงก์อนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลให้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ดำเนินการนำเอกสารสำเนาบัตรประชาชนไปแสดงที่แบงก์ ก็สามารถได้รับสินเชื่อไปใช้ได้ตามอัธยาศัยอย่าง "ทันที"

   กว่าจะพูดกันรู้เรื่องว่า อนุมัติ ได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคย ขอ ก็ทำเอาเหนื่อยเหมือนกัน

                 ไม่นับรวมเอกสารสินเชื่อบุคคลที่กรอกข้อมูลมาเรียบร้อย รอแค่ "ลายเซ็น" ที่ส่งกลับไป และเอสเอ็มเอสแจ้งให้ไปก่อหนี้และสร้างหนี้เพิ่มที่ขยันส่งมาเป็นระยะๆทุกอย่างกลายเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ ที่เรายื่นขออัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว เหลือแค่มีสติอย่าเผลอตอบรับอัตโนมัติไปกับระบบด้วยก็พอ เพราะถ้าเผลอเมื่อไหร่ ก็เท่ากับเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อนั้น

                  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่า ทำให้ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนก่อตัวสูงขึ้นจนแบงก์ชาติแสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด เพราะจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดของแบงก์ชาติ พบว่า สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนเริ่มสูงขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 40-50% ของรายได้รวม จากระดับปกติซึ่งอยู่ที่ 30%

                  "เกริก วณิกกุล" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่ยังไม่รู้ว่ามีสัดส่วนเท่าใด

                  ผู้บริหารแบงก์ชาติบอกด้วยว่า แม้จะเข้าใจว่า ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และจำเป็นต้องก่อหนี้ แต่แบงก์ชาติเองก็มีเหตุผลที่ไม่ต้องการให้อัตราการก่อหนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป เพราะนอกจากจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังมีเรื่องของการถูกขูดรีดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไปอีกด้วย

                 "ถ้าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเยอะ หรือกู้กันได้โดยไม่มีข้อจำกัด หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคด้วย ดังนั้น แบงก์ชาติก็มีหน้าที่เข้าไปดูแล แต่ต้องดูแลทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งก็ต้องไม่กระทบกับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน และอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องดูแลไม่ให้ประชาชนกลุ่มนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป"

                   อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารแบงก์ชาติ ยืนยันว่า การดูแลของแบงก์ชาตินั้น จะพยายามไม่ให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องลดลง แม้ว่า เรื่องนี้ทางสหรัฐอเมริกาเคยมีการศึกษาว่า สัดส่วนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 28% ก็ตาม

                  "เรามีเครื่องมือที่ช่วยดูแลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเรื่องบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล เพียงแต่คงมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ส่วนไหนที่ยังไม่เหมาะสม ก็คงปรับปรุงเพิ่มเติม … แต่หัวใจสำคัญมันอยู่ตรงที่เวลาคุณกู้เงิน อย่างน้อยก็ควรผ่อนให้ได้ 10% ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การกู้ในส่วนนี้ก็ควรผ่อนให้จบภายใน 1 เดือน"

                    จะว่าไปแล้ว ก็น่าเห็นใจ "คนเป็นหนี้" เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า ปัจจัยเร้ามันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์โทรมาอนุมัติให้เป็นหนี้ทั้งที่ไม่ได้ขอ หรือสารพัดแคมเปญที่ส่งมาที่บ้าน ทั้งดอกเบี้ย 0% นาน 15 เดือนและอีกนานับแคมเปญที่ล่อใจให้เข้าไปติดกับดักหนี้ ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจว่า เราควรจะเป็นหนี้ดีหรือไม่ หรือเราพร้อมหรือยังที่จะเป็นหนี้ เว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ให้คำแนะนำว่า ลอง "เช็ก" ตัวเองก่อนก่อหนี้ดูตามหัวข้อเหล่านี้ก่อนตัดสินใจ

                      ข้อแรก เรากำลังเป็นหนี้เพราะความจำเป็น (Need) หรือความต้องการ (Want)

                      ข้อสอง เราจะมีเงินเพียงพอผ่อนชำระหนี้ไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

                      ข้อสาม ยอดเงินผ่อนหนี้จะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ ข้อสี่ ดอกเบี้ยต่องวดและดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่ายคุ้มค่ากับการเป็นหนี้หรือไม่

                       ข้อห้า ถ้าไม่เป็นหนี้วันนี้ เดือนหน้าเราจะเดือดร้อนหรือไม่

                       ข้อหก มีทางเลือกที่ดีกว่านี้จากเจ้าหนี้รายอื่นหรือหนี้ประเภทอื่นหรือไม่

                       และข้อเจ็ด มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากการเป็นหนี้ใช่หรือไม่

                       ตอบคำถามทั้ง 7 ข้อ แล้วพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็คงจะพอได้คำตอบว่า เรากำลังก่อหนี้โดยไม่จำเป็นใช่หรือไม่

                       ที่สำคัญต้องมีสติและพึงระลึกอยู่เสมอว่า โทรศัพท์จากพนักงานแบงก์ที่โทรมาเสนอสินเชื่อหรือแม้แต่เอกสารที่แบงก์หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ส่งมานั้น ไม่ใช่เสนอเงินสดพร้อมใช้ให้ฟรีๆ แต่ทุกอย่างมาพร้อมกับดอกเบี้ย และเป็นดอกเบี้ยที่อัตราของสินเชื่อบุคคลที่จะสูงกว่าดอกเบี้ยปกติ ยิ่งเมื่อตกลงใจเป็นหนี้แล้ว เกิดมีปัญหาผ่อนชำระล่าช้าหรือผ่อนชำระไม่ได้ อัตราเร่งของดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว

                       ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า "ถ้าไม่จำเป็น ก็อย่ากู้" เพราะที่น่าตกใจก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นหนี้ แต่รู้สึกว่า การมีเงินก้อนในบัญชีสามารถเพิ่มอำนาจให้ตัวเองได้ ไม่ว่าจะเผื่อฉุกเฉิน หรือว่าเผื่อไว้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง

                       "เงินก้อนในบัญชี" ที่มาจากเงินกู้ มาพร้อมกับดอกเบี้ยที่เราต้องจ่าย ขณะที่ "เงินก้อนในบัญชี" ที่มาจากเงินออม จะมาพร้อมกับดอกเบี้ยที่เราได้รับ เงินกู้จะลดทอนจำนวนเงินก้อนนั้น เพราะส่วนหนึ่งถูกดึงออกไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนเงินออมจะเพิ่มจำนวนเงิน จากดอกเบี้ยเงินฝาก

                       ถ้าอยากเพิ่มอำนาจให้ตัวเองด้วยการมี "เงินก้อน" ก็ควรเลือกวิธีเก็บออม ไม่ใช่ใช้ทางลัดด้วยการกู้มาเก็บไว้ เพราะผลลัพธ์มันคนละเรื่องกัน

                      ปัญหาคือ ทำยังไงก็เริ่มต้น "ออม" ไม่ได้เสียที ก็ต้องย้อนกลับไปที่เดิมคือ ต้องทำให้รายรับมากกว่ารายจ่าย และวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การบันทึกรายรับรายจ่าย ขออนุญาตยกข้อแนะนำเรื่อง  "5 เหตุผลที่ควรบันทึกรายรับรายจ่าย" มาปิดท้าย

                        เหตุผลข้อที่ 1.ถ้าคุณต้องการเป็นเศรษฐี เพราะ "เงิน" เป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นเศรษฐี การบันทึกรายรับรายจ่ายก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณจัดการกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ได้อย่างจริงจัง

                        2.ถ้าคุณต้องการรู้จักตัวเองมากขึ้น การ "บันทึกรายรับรายจ่าย" คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่จะบอกเล่าถึงกิจกรรมที่คุณทำ พฤติกรรมที่คุณเป็น และการเปลี่ยนแหลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งคุณอาจจะอึ้งเมื่อได้รู้นิสัยของคุณเอง

                        3. ถ้าคุณต้องการตัวช่วยในการสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี การ "บันทึกรายรับรายจ่าย" เป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้ชัดเจนขึ้น และช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้คุณ

                        4. ถ้าคุณไม่รู้วิธีจัดการเงิน การ "บันทึกรายรับรายจ่าย" จะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับการใช้จ่าย และความสามารถในการหาเงิน ซึ่งจะช่วยให้คุณจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

                        และ 5. ถ้าคุณต้องการมีความสุขทุกวัน เพราะ "กิจกรรมต่างๆ" ในชีวิตเราล้วนเกี่ยวข้องกับเงินแทบทั้งนั้น "บันทึกรายรับรายจ่าย" จะช่วยให้คุณรู้ที่มาและที่ไปของเงิน จากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ซึ่งคุณสามารถจัดการกับเงินๆ ทองๆ ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความสุขจากอิสรภาพทางการเงินก็จะเกิดขึ้น

                        ไม่มีอะไรยากเย็น เพราะถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ !


http://www.komchadluek.net/detail/20121007/141665/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E2%80%A6%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89.html#.UHDmoFHiHx8

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)