ผู้เขียน หัวข้อ: ทรงปรารภการสอนพระราชา (ราโชวาทชาตกํ)  (อ่าน 1468 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ทุกนิบาตชาดก
๑. ทัฬหวรรค
๑. สองราชาประกวดความดี (ราโชวาทชาตกํ)

   [๑๕๑]    ทฬฺหํ ทฬฺหสฺส  ขิปติ ...    พลฺลิโก  มุทุนา  มุทํ...ฯ
   [๑๕๒]   อกฺโกเธน  ชิเน  โกธํ   อสาธํ  สาธุนา  ชิเน
            ชิเน  กทริยํ  ทาเนน   สจฺเจนาลิกวาทินํ
            เอตาทิโส  อยํ  ราชา   มคฺคา  อุยฺยาหิ  สารถีติ ฯ

ความนำ
      พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ทรงปรารภการสอนพระราชา ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ  ณ เบื้องต้น 

ปัจจุบันชาติ
          การสอนพระราชานั้นมีรายละเอียดในเตสกุณชาดก จัตตาลีสนิบาต เรื่องเกิดขึ้น ในวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าโกศลทรงทำการรื้อคดีความซึ่งผู้พิพากษาได้วินิจฉัยอย่างมีอคติ ทรงตัดสินใหม่ด้วยความยุติธรรม จากนั้น พระองค์ได้เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วเสด็จไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อกราบทูลเรื่องคดีความให้ทรงทราบ
      พระบรมศาสดาตรัสว่า “ขอถวายพระพร ชื่อว่าการตัดสินคดีความโดยทำนองคลองธรรมเป็นความดีและเป็นทางสวรรค์โดยแท้ ก็ข้อที่มหาบพิตรได้รับโอวาทจากสำนักของอาตมภาพแล้วทรงวินิจฉัยคดีโดยถูกต้องไม่น่าอัศจรรย์เลย แต่การที่พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนทรงสดับโอวาทของบัณฑิตผู้ไม่ได้เป็นสัพพัญญูแล้วตัดสินคดีความอย่างถูกต้อง เว้นจาก อคติ ๔ บำเพ็ญทศพิธราชธรรม บำเพ็ญทางสวรรค์นี้แหละน่าอัศจรรย์กว่า” อันพระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนาแล้ว ทรงนำเรื่องอดีตชาดกมาสาธกยกอธิบายให้ฟัง ดังต่อไปนี้

อดีตชาติเนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระราชโอรสพระนามว่าพรหมทัตกุมาร ต่อมา พระองค์ได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาผู้สวรรคตแล้ว ทรงทำหน้าที่ตัดสินคดีความด้วยความยุติธรรมยิ่ง ทำให้เหล่าอำมาตย์ผู้พิพากษาดำเนินรอยตามพระองค์อย่างเคร่งครัดจนทำให้เรื่องราวร้องทุกข์หมดไป ผู้พิพากษาทั้งหลายนั่งอยู่ในโรงศาลก็ไม่มีคดีความใด ๆ ให้ต้องวินิจฉัยคดีเลย จนโรงศาลต้องกลายเป็นที่รกร้าง
พระราชาทรงดำริว่า เราครองราชย์โดยธรรมจนทำให้ไม่มีเรื่องราวร้องทุกข์ให้ต้องตัดสินอีกเลย บัดนี้ เราควรสืบดูให้แน่ว่า มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเราที่เบียดเบียนชาวบ้านบ้างหรือไม่? ถ้ารู้โทษนั้นจักได้ละเว้นเสีย ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ก็ทรงสืบสวนโทษของพระองค์อยู่ตลอดเวลา
ในชั้นแรก พระองค์ไม่พบคำตำหนิในหมู่ข้าราชบริพารจึงทรงดำริว่า เข้าใจว่า คนเหล่านี้คงจะกลัวเราจึงไม่กล้ากล่าวตำหนิโทษเรา จึงให้ตรวจสอบต่อไปทั้งภายในและภายนอกพระนคร ก็พบแต่คำสรรเสริญอย่างเดียว เพื่อความรอบคอบพระองค์จึงเสด็จประพาสต้นโดยการปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้ตรวจสอบโทษของพระองค์ไปจนถึงชายแดน เมื่อไม่พบคำตำหนิใด ๆ จึงทรงบ่ายพระพักตร์กลับจากชายแดนมาตามทางหลวง


ขณะนั้น เป็นเวลาเดียวกับพระเจ้าโกศลพระนามว่าพัลลิกะทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรมออกตรวจสอบพระนครเช่นเดียวกับพระองค์ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถม้ามาประจันหน้ากันที่ทางเกวียนแห่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะหลีกกันได้
สารถีของพระราชาทั้งคู่ต่างก็สั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งหลีกไปด้วยอ้างถึงองค์เหนือหัวที่ประทับนั่งในรถม้า เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน สารถีของพระเจ้าพาราณสีจึงนึกถึงอุบายอย่างหนึ่งได้ จึงทำการสอบถามถึงวัย คุณวุฒิ และชาติตระกูลต่าง ๆ ปรากฏว่าพระราชาทั้งคู่ มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน จึงต้องหันมาถามในเรื่องคุณความดีมีศีล เป็นต้น
สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงประกาศโทษของพระราชของตนด้วยนึกว่าเป็นคุณงามความดีด้วยคาถาแรกว่า

 “พระเจ้าพัลลิกราชทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง
ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน  ทรงชนะคนดีด้วยความดี
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น
ดูก่อน นายสารถี ขอท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด” ดังนี้

   ลำดับนั้น สารถีของพระเจ้าพาราณสีจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงฟังพระคุณของพระราชาของเราแล้ว” ครั้นแล้วได้กล่าวคาถาที่สองว่า

   “พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี  ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์  พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น
ดูก่อน นายสารถี ขอท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิดฉะนั้น” ดังนี้

ความหมายของสองคาถาข้างต้น
      นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะอธิบายคุณลักษณะของเจ้านายของตนว่า “พระราชาของเราใช้ทุกวิธีทางในการจะเอาชนะคน เช่น ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ใช้ความชั่วเข้าชนะ แต่ถ้าเจอคนดีก็ใช้อุบายที่ดีในการเอาชนะใจคนเหล่านั้น เป็นต้น”
      ส่วนนายสารถีของพระเจ้าพาราณสีได้กล่าวอธิบายคุณลักษณะเจ้านายของตนว่า “พระราชาของเรา ใช้ความดีมีประการต่าง ๆ ในการชนะความชั่วมากมาย”
      เมื่อนายสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวพรรณนาคุณสมบัติของพระเจ้าพรหมทัตเสร็จ พระเจ้าพัลลิกะจึงทรงยอมรับในคุณความดีของพระเจ้าพรหมทัตว่ามีเหนือพระองค์ จึงมีรับสั่งให้นายสารถีของพระองค์ถอยรถถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี
       พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงได้ถวายโอวาทแด่พระเจ้าพัลลิกะ แล้วเสด็จกลับไปยังกรุงพาราณสี ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ได้เข้าสู่สวรรค์ ฝ่ายพระเจ้าพัลลิกะทรงรับโอวาทแล้ว ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ไปสู่สวรรค์เช่นเดียวกัน
        พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า “นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะในครั้งนั้นได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ พระเจ้าพัลลิกะได้มาเป็นอานนท์ สารถีของพระเจ้าพาราณสีได้มาเป็นสารีบุตร ส่วนพระราชาคือตถาคตเอง ฉะนี้แล”

สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้
       อวดเก่งเป็นสมบัติของคนโง่ อวดโก้เป็นคุณสมบัติของคนจน

วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้
      ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงความยุติธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามและความมั่นคงของรัฐ ผู้นำจึงต้องมีความเที่ยงธรรมเป็นคุณสมบัติแรกเพื่อป้องกันความวุ่นวายอันเกิดจากสิ้นศรัทธาในระบบรัฐและนำไปสู่การปฏิวัติ
      อีกประการหนึ่ง อุดมการณ์ของผู้นำก็จะกลายเป็นนโยบายของรัฐได้ ดังนั้น           จึงควรปรับอุดมการณ์ให้สอดคล้องกับหลักธรรม เหมือนที่พระราชา ๒ พระองค์วินิจฉัย                  หลักจริยศาสต์คือความดีและชั่วที่ต่างกัน จนนำไปสู่การประกวดแข่งความดีกัน
          พระราชาพระองค์หนึ่งมีความเห็นว่า เพื่อเป้าหมายไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ ในขณะที่พระราชาอีกพระองค์หนึ่งเห็นว่า คำว่า ดี ต้องมาจาก ๓ ดี คือ ๑. เจตนาที่ดี จากนั้น จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อมาคือ  ๒. วิธีการที่ถูกต้อง  ขั้นสุดท้ายคือ ๓. ผลที่ออกมาต้องดี ทำได้ดังนี้ จึงจะเรียกว่าทำดีถูกดี
     ในชาดกนี้มีการแข่งขันกันในเรื่องนโยบายของรัฐว่าของใครจะมีนโยบายที่ดีกว่ากัน พระเจ้าโกศลนึกว่าคุณสมบัติของพระองค์เป็นความดีสูงสุด เข้าตำราตามสุภาษิตที่ได้ยกไว้            แต่เมื่อได้พบคนดีที่มีความเป็นสัมมาทิฎฐิจึงทำให้พระองค์ต้องยอมรับด้วยความจริงใจ ฯ
      
๒๑/๕/๒๕๕๑