ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตเพราะพระโรคอะไรกันแน่ ?  (อ่าน 1381 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
พระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตเพราะพระโรคอะไรกันแน่ ?
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350281867&grpid=03&catid=&subcatid=-

ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี
 
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ คุณไกรฤกษ์ นานา เรื่อง “หลักฐานใหม่รัชกาลที่ ๕ พระอาการประชวรก่อนสวรรคต ไม่ใช่ตามที่เข้าใจกัน”๑ ที่ลงตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๔  รู้สึกดีใจมากที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ จากคุณไกรฤกษ์อีกเช่นเคย และบังเอิญเหลือเกินที่ผมกำลังค้นคว้าศึกษากรณีสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) อยู่พอดี ผมจึงถือโอกาสขอบคุณและขออนุญาตนำบทความของคุณไกรฤกษ์มาเป็นเอกสารอ้างอิงอีกหนึ่งชิ้น เพื่อความสมบูรณ์ของบทความนี้ ส่วนเอกสารชิ้นอื่นๆ ประกอบด้วย

 

๑. หนังสือเรื่อง “พระปิยมหาราช : รัฐกิจและชีวิตส่วนพระองค์” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ
๒. พระราชนิพนธ์เรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖”โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. หนังสือเรื่อง “หมอฝรั่งในวังสยาม” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอมัลคอล์ม สมิธ และแปลโดย คุณพิมาน แจ่มจรัส
๔. หนังสือเรื่อง “ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕” ซึ่งเขียนโดย คุณหมอนวรัต ไกรฤกษ์
๕. หนังสือเรื่อง “วันสวรรคต ๖๖ กษัตริย์ไทย”ซึ่งเขียนโดย คุณพิมาน แจ่มจรัส

 

ส่วนสาเหตุที่ผมต้องการศึกษาค้นคว้าในสาเหตุแห่งการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง เพราะเอกสารอ้างอิงส่วนใหญ่จะเขียนไว้ว่าพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการเรื้อรังเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์เสด็จสวรรคต   แต่ผมสงสัยว่าทำไมช่วงเวลาที่ทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายจนสวรรคตกินเวลาเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ถ้าพระองค์เป็นพระโรคพระวักกะพิการเรื้อรังจริงแล้วก็น่าจะทรงเป็นมานานแล้ว แต่พระอาการประชวรก่อนหน้านี้มีบันทึกไว้ไม่ชัดเจนและคุณไกรฤกษ์ได้เสนอข้อมูลใหม่ว่าพระอาการประชวรอาจเป็นไข้มาลาเรีย มะเร็งในกระเพาะอาหาร ม้ามโต โรคไตอักเสบ ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์คนหนึ่งที่มีความรักในวิชาประวัติศาสตร์มากเป็นพิเศษ จึงขออาสามาทำหน้าที่สร้างความกระจ่างแจ้งให้แก่พระราชประวัติตอนนี้ของพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อเป็นหลักฐานไว้แก่วงการประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไป
เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับการประชวรของพระองค์หลายประเด็น ผมขอแบ่งเป็นประเด็นย่อยดังนี้

๑. สาเหตุการประชวรครั้งสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตคืออะไร
๒. พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอะไรกันแน่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑
๓. พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการเรื้อรังจริงหรือไม่
๔. ภาวะพระปิหกะ (ม้าม) โตของพระองค์มีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
๕. บทสรุป

 

 

๑. สาเหตุการประชวรครั้งสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตคืออะไร

ต่อไปนี้ผมขอนำท่านผู้อ่านกลับมาสู่การประชวรครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าหลวง โดยเรียงลำดับและวิเคราะห์แบบวันต่อวันโดยอาศัยพระนิพนธ์ของ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งทรงบรรยายในหัวข้อ “วันสวรรคตของรัชกาลที่ ๕” ซึ่ง คุณพิมาน แจ่มจรัส ได้นำมาเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “วันสวรรคต๖๖ กษัตริย์ไทย”๖ เป็นหลัก

 

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ “...ทรงรู้สึกไม่สบายที่พระนาภี คือท้อง วันนั้นทรงขับรถยนต์ไฟฟ้าคันโปรดของพระองค์เพื่อทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศ แต่คราวนี้ไม่ทรงเสด็จลงจากรถพระที่นั่งอย่างที่เคย ทรงตรัสว่า ‘ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ’ ...เสด็จพ่อ [กรมพระยาดำรงราชานุภาพ - ผู้เขียน] จึงเสด็จตามเข้าไปฟังอาการที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ความว่าพระนาภีเสียและเสวยยาถ่ายแล้ว  ไม่มีพระอาการมากมายอันใดก็เป็นอันเบาพระทัยและเสด็จกลับวัง...”   

 

 

ในวันนี้ พระนาภีเสียนั้นหมายถึงพระบังคนหนักผูก ทำให้ทรงรู้สึกไม่สบายพระนาภี แต่ไม่ถึงกับปวดพระนาภี อาจจะทรงไม่ถ่ายพระบังคนหนักมาหลายวันก่อนหน้านี้ ทำให้พระองค์เสวยพระโอสถถ่ายเพื่อให้มีพระบังคนหนักเป็นปกติ
 

 

วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เล่าต่อไปว่า “...รุ่งขึ้นบ่ายเสร็จเวลากระทรวงแล้วก็เสด็จไปยังพระที่นั่งอัมพรอีก แต่วันนี้มหาดเล็กมาทูลว่าวันนี้เสด็จออกไม่ได้โปรดให้เจ้านายรวมทั้งเสด็จพ่อ เข้าไปเฝ้าข้างใน เมื่อเข้าไปเฝ้าก็ประทับตรัสคุยสนุกสนานดีตามเคย เป็นแต่ทรงเล่าพระอาการว่า พระนาภีเสีย เสวยน้ำมันละหุ่งไม่เดิน เห็นจะเป็นด้วยยาเก่าไป จะต้องเสวยใหม่”
 

 

เหตุการณ์ในวันนี้บอกเราว่า พระองค์ยังไม่ทรงพระบังคนหนักหลังจากเสวยยาระบายคือน้ำมันละหุ่งแล้ว ซึ่งพระองค์ตรัสว่าจะต้องเสวยใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงพระอาการอื่นๆ อันได้แก่รู้สึกไม่สบายที่พระนาภี ผมสันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะทรงดีขึ้นหรืออาจจะหายไปแล้วก็ได้
 

 

วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังทรงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงได้ตามปกติอย่างวันก่อน แสดงว่าพระอาการประชวรของพระองค์น่าจะอย่างน้อยเท่ากับหรือดีขึ้นอีกเมื่อเทียบกับวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เพราะก็ยังโปรดให้เจ้านายและข้าราชบริพารเข้าเฝ้าได้
 

 

ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ บันทึกไว้ว่า ในคืนวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระอาการคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียน ๑ ครั้ง ต่อนั้นมาจะเสวยอะไรก็ทรงรู้สึกว่าเต็มอยู่เสมอไม่ใคร่จะพร่องเลย ทรงพระโอสถสูบ (บุหรี่) หรือเสวยพระศรี (หมาก) ถูกเวลาไม่เหมาะก็ทรงคลื่นเหียน
 

 

วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ “...พอเสด็จเข้าไปถึงพระที่นั่งก็ได้ทรงทราบว่า [พระพุทธเจ้าหลวง - ผู้เขียน] ไม่ทรงพระสบายเพราะยาถ่ายเดินมากไป จนทรงเพลียถึงต้องบรรทมในพระที่... พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระโรคประจำพระองค์ แต่เรื่องพระวักกะพิการ...”การที่พระองค์ทรงถ่ายพระบังคนหนักมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้ทรงสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ภูมิต้านทานของพระองค์ลดต่ำลงและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและถ้าสูญเสียน้ำมากอาจถึงกับเกิดภาวะช็อคได้ หากไม่ได้ทรงรับน้ำทดแทนไม่ว่าจะทางหลอดเลือดดำหรือเสวยที่เพียงพอ แต่ยังโชคดีที่พระพุทธเจ้าหลวงยังเสวยพระกระยาหารได้ โดยเสวยขนมจีนน้ำยาตอนกลางวันและตกเย็นทรงให้จัดเป็นกระทงสังฆทาน กระทงใหญ่และกระทงเล็ก เครื่องคาวมี ฉู่ฉี่ปลาสลิดสด แกงเผ็ด หมูหวานผัด น้ำพริก ผักและปลาดุกย่างทอดเครื่องและมีของหวานอีกเจ็ดสิ่ง พระกระยาหารอยู่ก้นกระทงมีใบตองปิดในสามชั้น เสวยพระกระยาหารได้๒ ซึ่งกระเพาะและลำไส้จะย่อยได้ค่อนข้างยากน่าจะทำให้พระนาภีเสียได้ในเวลาต่อมา
 

 

แต่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เขียนว่า “...เมื่อคืน วันที่ ๑๙ มีทรงแน่น, หมอถวายฉีดยาแก้แน่นและยาถ่าย บรรทมหลับได้บ้าง มาวันที่ ๒๐ ไปพระบังคนหนักหลายครั้ง มีพระอาเจียนเมื่อเสวยน้ำ หมอฝรั่งที่เข้าไปรักษาอยู่มีศาสตราจารย์แพทย์เบอร์เคอร์ (Professor Dr. Borger) แพทย์เยอรมันประจำพระองค์ หมอเออเจนไรเตอร์ (Eugene Reytter  ภายหลังเป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง) กับหมออาปัวซ์ (Dr. A. Poix  ภายหลังเป็นพระยาอัศวินอำนวยเวท) ฝ่ายหมอไทยมีพระยาแพทย์พงศา (นาค โรจนแพทย์) พระยาแพทย์บอกแก่ฉันว่าได้ถวายพระโอสถระบายอย่างไทย แทรกเกลือ, แล้วยังได้ทรงแถมเองอีกด้วย, พระบังคนหนักจึ่งได้ไปมาก ฝ่ายหมอฝรั่งได้ถวายพระโอสถแก้แน่นเฟ้อและพระโอสถทาภายนอก ตามที่ฟังๆ ข่าวได้ความว่า พระธาตุได้เริ่มเสียเพราะเสวยกุ้งแนมเวลาดึก...”
 

 

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระอาการประชวรตั้งแต่วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นี้ ได้จากบันทึกของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่ถวายการรับใช้อยู่อย่างใกล้ชิด โดยพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ - ผู้เขียน] ได้ตรัสถามพระอาการจากหมอไรเตอร์ ซึ่งได้ตอบว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อนไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่ง อย่าเสวยพระอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง
 

 

ผมสังเกตดูว่า แพทย์ในยุคก่อนๆ หลายคนนิยมให้มอร์ฟีน ซึ่งปกติมักให้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากๆ เช่น แผลหลังผ่าตัด การใช้ยามอร์ฟีนมักจะได้ผลดีในการระงับปวด แต่บางครั้งก็เป็นการแก้ปลายเหตุ โดยที่อาการปวดดีขึ้นก็อาจจะทำให้การรักษาต้นเหตุล่าช้าออกไป ซึ่งในการประชวรครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็มีถวายมอร์ฟีนด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ผมได้เคยเขียนไว้ในบทความเรื่องประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว๗
 

 

วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระยาบุรุษรัตนฯ ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์ในวันนี้ว่า “วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓  ย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่า พระศอแห้งแล้วเสวยพระสุธารส [น้ำ - ผู้เขียน] เย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผลหนึ่ง พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัยเรียกหมอทั้งสามคนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่าที่เสวยผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดี เพราะพระกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสวยพระกระยาหารหรือพระโอสถ จึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมดและเสียพละกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วหมอว่า อาหารไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้”

 

 

 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงปรึกษาพระเจ้าน้องยาเธอ ๓ พระองค์ คือ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ กรมหลวงดำรงฯ กรมหลวงนริศรานุวัตติวงศ์ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ ซึ่งเจ้านายทั้งสี่พระองค์ก็ได้ซักถามหมอฝรั่งทั้งสามคน โดยทั้งสามคนยืนยันว่า ยังไม่ควรจะวิตกกังวลแต่อย่างไร ยังไม่เป็นอะไรหรอก บรรทมอยู่นิ่งๆ ก็จะหาย เจ้านายทั้งสี่ก็มีความเห็นร่วมกันว่า ควรให้หมอฝรั่งถวายการรักษาต่อไปเพราะทำถูกต้องแล้ว เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ นำความขึ้นกราบทูลต่อพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์ทรงนิ่งเงียบไม่รับสั่งว่ากระไร ในช่วงเช้าพระองค์ทรงมีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคู ประมาณหนึ่งจานซุป หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี หลังจากนั้นพระองค์มีพระอาการซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ แต่พระองค์ก็ยังตรัสว่า ‘การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไรก็ให้รักษากันเถิด’ ในตอนเที่ยงมีพระบังคนเบาครั้งหนึ่ง  ประมาณหนึ่งช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน แต่พระยาบุรุษรัตน์ราชพัลลภสังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก
 

 

ฃในตอนบ่ายทรงมีไข้ปรอท ๑๐๐ เศษ  [องศาฟาเรนไฮต์ เท่ากับ ๓๘ องศาเซลเซียส - ผู้เขียน] แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง [ดังนั้น ตอนที่พระไข้ขึ้นสูงอาจถึง ๓๙ องศาเซลเซียสก็ได้ - ผู้เขียน]  มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่สองประมาณหนึ่งช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน โดยในเรื่องพระบังคนเบาน้อย เจ้านายทรงถามหมอซึ่งตอบว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไรนอกจากพระสุธารสสองสามช้อน ทำให้พระบังคนเบาน้อยไม่เป็นอะไร”

 

 

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบันทึกพระอาการตอนนี้ว่า “...เวลา ๘ ล.ท. [หลังเที่ยง - ผู้เขียน] เศษ หมอขึ้นไปตรวจพระอาการว่ามีพระองค์ร้อนปรอดขึ้น ๑๐๑ [องศาฟาเรนไฮต์ - ผู้เขียน] เศษ หมอปัวซ์ว่ามีทางที่ต้องระวังในเรื่องพระบังคนเบา เพราะมีพระโรคไตพิการชนิดเรื้อรัง (Chronic Nephritis) ซึ่งไม่เป็นโรคร้ายแรงก็จริงอยู่ แต่ก็มีโรคอื่นมักพลอยซ้ำ หมอได้ตกลงกันถวายพระโอสถรักษาทางพระวักกะ (ไต) หมอปัวซ์ว่าในวันนั้นยังไม่ต้องวิตก เพราะแรกเริ่มเดิมทีประชวรด้วยพระธาตุเสียและพระบังคนผูก เสวยพระโอสถระบายมาก พระบังคนหนักก็ออกมาเปนน้ำ ทั้งมีทรงพระอาเจียนด้วย นับว่าน้ำได้ออกมาแล้วทั้ง ๒ ทาง จึ่งไม่มีพระบังคนเบา อีกประการ ๑ หมอว่าพระโลหิตฉีดขึ้นพระเศียรมากจึ่งไม่พอที่จะบังคับพระวักกะให้ทำการตามน่าที่...”

 

 

 ในตอนเย็น พระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” พระองค์มีพระบังคนเบาครั้งที่ ๓ ประหนึ่งช้อนกาแฟอีกเช่นเคย  ซึ่งพอถึงตอนนี้หมอและเจ้านายแน่ใจว่าเป็นพระวักกะพิการ หมอได้ประชุมกันประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคนเบาและเร่งให้พระบังคนเบาโดยเร็วและใช้เครื่องสวนพระบังคนเบาในที่สุด แต่ไม่มีพระบังคนเบาเลย
 

 

 

ในตอนค่ำ หมอได้แจ้งว่าการหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้ว เห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาน้อยอีก ประมาณหนึ่งทุ่มเศษมีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือและเป็นครั้งสุดท้ายด้วย ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ แต่หมอฝรั่งและไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้นคงจะมีพระบังคนเบาอยู่ด้วย พระยาบุรุษรัตนฯ ได้บันทึกอีกว่า “...วันนี้เสวยซุปไก่เป็นพักๆ พักละสามช้อนบ้างสี่ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบ เพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่งหมอไทยไม่คัดค้าน       อะไร...”

 

 

 วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นี้เองที่พระอาการของพระพุทธเจ้าหลวงเริ่มรุนแรงขึ้น มีพระอาเจียน ๑ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายมีสีเขียว มีพระบังคนเบาน้อยทั้งหมด ๔ ครั้ง ครั้งละ ๑ ช้อนกาแฟ ๓ ครั้ง และ ๑ ช้อนเกลือ ๑ ครั้ง  มีพระบังคนหนัก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ มีพระไข้ ๑ ครั้ง
 

 

 

ผมมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้าหลวงน่าจะทรงขาดพระสุธารสอย่างรุนแรงอันมีสาเหตุจากการที่มีพระบังคนหนักหลายครั้งจนเพลียจากที่เสวยน้ำมันละหุ่ง เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แม้ว่ายังเสวยพระกระยาหารได้ในตอนกลางวันและเย็น แต่ผมคิดว่าพระองค์น่าจะเสวยได้ไม่มากทั้งพระกระยาหารและพระสุธารส ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกพระศอแห้งเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ หลังทรงตื่นบรรทมในตอนย่ำรุ่ง การที่พระองค์ขาดพระสุธารสอย่างรุนแรงจากที่มีพระบังคนหนักในเย็นวันที่  ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ร่วมกับการที่ในเวลา ๓ โมงเช้าของวันที่ ๒๐ ตุลาคม

 

 

หมอฝรั่งยังได้สั่งห้ามมิให้พระองค์เสวยพระกระยาหารเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมงอีก และเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ยังมีพระบังคนหนักอีก ๓ ครั้งเป็นน้ำสีดำๆ ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ ที่เขียนในบทความของท่านว่า “...วิธีถวายการรักษาของหมอฝรั่งทั้งสามคนนี้ก็เรียกว่าใช้ได้ เพราะหากทรงพระนาภีเสีย ยาน้ำมันละหุ่งทำให้พระบังคนหนักออกมากเกินไป ก็สมควรที่จะให้ระบบลำไส้นั้นได้พัก โดยไม่ต้องมีอาหารเข้าไปให้ย่อยเป็นเวลาสัก ๒๔ ชั่วโมง”๒ เพราะว่าพระองค์ทรงสูญเสียพระสุธารสและเกลือแร่อย่างมากทางพระบังคนหนักหลายครั้ง ดังนั้นพระองค์จึงควรได้รับการถวายพระสุธารสเพื่อทดแทนโดยอาจให้เสวยหรือให้เป็นสารน้ำทางหลอดเลือดดำ   

 

 

สำหรับหัตถการทางแพทย์ที่ให้ทางหลอดเลือดดำเริ่มจาการริเริ่มให้ยาและต่อมาก็ให้เลือดสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นมาในต่างประเทศ ถ้าเทียบในประเทศไทยก็คงจะประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ค.ศ. ๑๖๖๒ (พ.ศ. ๒๒๐๕) แต่ก็มีภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากการติดเชื้อจากความไม่สะอาดและการที่กรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันในกรณีที่ให้เลือดและอันตรายส่วนใหญ่ทำให้เสียชีวิต จึงทำให้หยุดยั้งหัตถการนี้ไปเกือบ ๒๐๐ ปี จนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงมีการให้เลือดคน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเสียชีวิตสูงอยู่ ในช่วงเวลาเดียวกันมีการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่พบว่าเชื้อโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ การฆ่าเชื้อจะทำให้ไม่เกิดโรคติดเชื้อ ซึ่งนั่นคือแนวทางการทำให้ปราศเชื้อจุลชีพ (Sterilization) ทำให้การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำมีความปลอดภัยสูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 

 

 

ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓  หรือ ค.ศ. ๑๙๑๐ ซึ่งเป็นปีที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรเป็นครั้งสุดท้ายดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้วนั้นหากพระองค์ทรงได้รับน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิตดำอาจทำให้พระชนมชีพของพระองค์ยืนยาวไปอีกก็เป็นได้และผมก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ ในเรื่องต่อมาที่ว่า “...ในที่สุดหมอฝรั่งและไทยก็พิจารณาได้ถูกต้องว่า ที่ทรงไม่มีพระบังคนเบาหรือปัสสาวะออกมาเท่าที่ควรนั้นมิได้เป็นเพราะร่างกายขาดน้ำหรือเนื้อแห้งแบบที่แพทย์สมัยนี้เรียกกันว่า Dehydration แต่เป็นเพราะพระวักกะหรือไตทั้งสองข้างนั้นไม่ทำงานเสียแล้ว” โดยหลักการแล้วควรจะต้องถวายพระสุธารสให้เพียงพอก่อนแล้วหากยังไม่มีพระบังคนเบาอีกจึงจะถือว่าพระวักกะไม่ทำงานจริง ผมคิดว่าการที่ไม่มีพระบังคนเบาเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหรือพระโรคพระวักกะพิการเฉียบพลัน (Acute renal failure)
 

.


คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)