Forgiveness is the key to your own happiness.อภัยทาน พระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช)การผูกอาฆาตพยาบาท จองเวร ให้ผลข้ามภพข้ามชาติ
ถ้าเราเปรียบภพชาติเหมือนคืนวัน
การนอนหลับเหมือนการตาย การตื่นนอนเหมือนการเกิด
ภพชาติก็ใกล้ตัวเราเข้ามา
การผูกอาฆาตพยาบาทเหมือนการเข้านอนโดยไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย
หลับก็ไม่เป็นสุข ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น
ในแต่ละวัน จิตของเราเก็บเกี่ยวเฉี่ยวโฉบอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา นินทา
อาฆาต พยาบาท ขุ่นแค้น ขัดเคือง นานาชนิดเอาไว้
ถ้าไม่มีวิธีชำระก็จะเกิดสนิมใจขึ้นมา
กระทั่งไม่อาจนอนได้อย่างมีความสุขหากไม่ชำระร่างกายฉันใด
ใจที่ไม่ถูกชำระจะทำให้ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิดหลับไม่สนิท ฉันนั้น
การแสดงอภัยทานเป็นการชำระใจแม้จะดูพูดง่าย แต่ก็ทำได้ยากหากไม่ฝึกทำจนเป็นปกติ
เพื่อให้เข้าใจง่ายและอยากทำให้ได้
ขอให้เรามาพิจารณาเหตุผล
ถึงความต่อเนื่องของผลกรรมที่มีผลข้ามภพข้ามชาติว่าให้ผลเผ็ดร้อนเพียงใด และยังเป็นผลที่เราหนีไม่ได้อีกด้วย
เราต้องถามตนเองก่อนว่า
เราต้องการยุติการเผล็ดผลของกรรมกันคนๆ นั้นเพียงภพนี้
หรือต้องการจะพบเขา จะเจอเขาอีกในชาติต่อๆ ไป
เราต้องการจะยุติปัญหาเหล่านี้เพียงภพชาตินี้
หรือต้องการลากยาวไปถึงภพชาติข้างหน้า
เรามีสิทธิเสรีในตัวเราที่จะหยุดหรือสร้างเหตุต่อไปอีกบางคน รักมาก หลงมาก เพราะเขาดีมาก
ก็ปรารถนาให้พบกันทุกภพทุกชาติ
บางคนก็อธิษฐานไม่ขอร่วมเดินทาง แต่ก็ไม่ยกโทษ
ในที่สุดผลของการไม่ยกโทษ คือไม่ยอมให้อภัย
ก็เหมือนการผูกสิ่งที่เราไม่ชอบไว้ที่เอวตนเองตลอดเวลา
การให้อภัย จะทำให้เราสามารถยุติปัญหาต่างๆ ได้
เหมือนคนล้างแก้วน้ำสะอาด
ทำให้เหมาะสมที่จะรองรับน้ำบริสุทธิ์ที่เทลงไปใหม่
เหมือนการโยนของที่เราไม่ชอบทิ้งเสีย โดยไม่ต้องเสียดายการให้อภัยคือการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์
อภัยทานนั้นเวลาจะให้ไม่ต้องไปขอใครไม่เหมือนใครมาขอเงินเรา เราต้องควักกระเป๋าให้
แต่ให้อภัย เราไม่ต้องหาจากไหน และไม่รู้สึกว่าเป็นการสูญเสีย
ขอให้เราภูมิใจเถิด เมื่อมีใครมาขอโทษ เมื่อมีใครให้อภัยเรา
หรือเมื่อสำนึกได้ว่า เราได้ทำอะไรผิดพลาดไป ก็ขอโทษกันการขอโทษ หรือการให้อภัย มิใช่การเสียหน้า หรือเสียรู้
มิใช่การได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด
หากแต่เป็นการชำระใจให้สะอาด เหมือนภาชนะสกปรก ก็ชำระล้างให้สะอาด
ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ อาจจะดูเหมือนยาว
แต่มีใครบอกได้ว่าเราจะอยู่ได้ปลอดภัยถึงวันไหน
เราต้องการความทรงจำที่เลวร้าย หรือต้องการความทรงจำที่ดีในชีวิต
เราต้องการนั่งนอนอย่างมีความสุข มีชีวิตอยู่ด้วยความอิ่มเอิบ
หรือต้องการมีชีวิตอยู่ด้วยการถอนหายใจด้วยความทุกข์และกังวลใจ
สิ่งเหล่านี้กำหนดได้ที่ตัวเราเอง กำหนดวิธีคิดให้ถูกต้อง
ความคิดเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก
สุขหรือทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่วิธีคิด
คิดเป็นก็พ้นทุกข์
คิดไม่เป็น แม้แต่เรื่องมิใช่เรื่อง ก็อาจเกิดเรื่องได้
ขอให้เรามาคิดดูว่า ในชีวิตของเราคนหนึ่ง
อย่างเก่งก็อยู่ได้ ๗๕ ปี เกินนี้ไปถือเป็นกำไรชีวิต
ทำไมเราจะเสียเวลามาครุ่นคิดเรื่องไร้สาระ
ทำไมเราจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ทำให้เกิดทุกข์การยอมกันเสียบ้าง ก็เป็นความสุขได้ไม่ยาก
เราอาจคิดว่า การให้อภัยบ่อยๆ แก่คนบางคน
เขาอาจจะไม่ปรับตัว ยังก่อเหตุอยู่เสมอๆ
งานก็ไม่สำเร็จ ยังเหลวไหลอยู่เหมือนเดิม
นั่นอาจเป็นเหตุผลในการทำงาน
แต่สำหรับเหตุผลของใจนั่น
เมื่อให้อภัย ใจเราก็เบา
การยกโทษ อาจดูเหมือนเรายอม
เราไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง แล้วจะทำให้เขากำเริบ
ส่วนเราเสียเปรียบ
ความจริงไม่ใช่
เรากำลังบำเพ็ญบารมีขั้นสูง คือ “อภัยทาน”อันเป็น “ทานบารมี” ที่สูงส่ง
การยอมแพ้อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติขอให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
เวลาเราโกรธ เกลียด พยาบาทใคร
สีหน้าของเราจะเปลี่ยนไป เลือดในร่างกายจะผิดระบบ
เช่น เวลาโกรธจัด จิตที่ถูกครอบงำโดยอารมณ์ร้าย
ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคือ ความรุ่มร้อนไม่พอใจ ทำอะไรก็กังวลเป็นทุกข์
แต่พอยกโทษให้ ก็จะรู้สึกทันทีว่า ยิ้มได้ จิตเบาสบาย
ที่เปรียบกันว่าเหมือนยกภูเขาออกจากอก
รู้สึกจิตเป็นอิสระทันทีเพราะหมดห่วง หมดทุกข์ หมดสนิมที่จะกัดกร่อนจิตใจ
วิธีคิด มีความสำคัญมากสำหรับชีวิตของคน
เรามักได้ยินเสมอๆ ว่า แพ้หรือชนะอยู่ที่กำลังใจ
แท้จริงแล้ว คำว่า “กำลังใจ”ก็คือวิธีคิดนั่นเอง พลังที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือการที่ “ใจ” มีกำลัง
มนุษย์เราจึงต้องสร้างกำลังใจให้แก่กันและกัน
กำลังใจเป็นสิ่งที่ให้ไม่รู้จักหมด
ยิ่งเราให้คนอื่นได้มากเท่าไหร่ กำลังใจก็จะยิ่งเกิดขึ้นแก่เรามากเท่านั้น
เหมือนวิชาความรู้ ยิ่งให้ยิ่งพอกพูน ยิ่งหวงไว้เฉพาะตัวก็ยิ่งหดหายการให้อภัย อาจพูดง่าย แต่ทำยาก
แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะใจไม่อยากทำ
แต่ก็สามารถทำได้เมื่อเราฝืนใจทำ
และจะเป็นความสุขใจในภายหลังเมื่อครวญคำนึงถึงการตอบรับซึ่งกันและกัน
ถ้าเป็นความดี เป็นความรัก ความอบอุ่นก็ดีไป
แต่ถ้าเป็นความเกลียด ความโกรธ
สิ่งที่จะตามมา คือการรับรู้และเก็บอารมณ์ทั้งโกรธและเกลียดนั้น
ไว้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อรู้แล้วก็ควรสละอารมณ์นั้นด้วยตัวเราเองก่อนเพื่อป้องกันจิตเรามิให้เป็นทุกข์เพราะคนนั้นเป็นเหตุ
เราอาจคิดเสมือนหนึ่งไม่ได้มีเขาอยู่ในโลกนี้เลยก็ได้
การให้อภัยเขา คือคิดถึงเขาในฐานะเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ไม่สมควรจะไปยึดเป็นรักเป็นชังก็เมื่อแม้แต่รัก ท่านยังสอนให้เราละทิ้ง มิให้ยึดติดแล้วทำไมเราจะยังมองเห็นโกรธเป็นสิ่งที่จะต้องยึดมั่นอยู่ได้
ที่มา : จากหนังสือ “อภัยทาน”
copied from
:http://variety.teenee.com/saladharm/27243.html posted by
พิกกี้โกะ:http://languagemiracle.blogspot.com/2010_10_01_archive.html