แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

@ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก

<< < (23/31) > >>

ฐิตา:



๗๗. หลักการให้การศึกษา

มีอุบาสกท่านหนึ่งเดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้ของวัดแห่งหนึ่ง เห็นพระอาจารย์
ท่านหนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการตัดแต่งกิ่งที่มีใบดกหนา สักประเดี๋ยวก็ถอนต้น
ขึ้นมาทั้งราก แล้วก็นำไปปลูกยังกระถางอื่น เดี๋ยวก็พรวนดินใส่ปุ๋ย ดูแล้ววุ่นวาย
ไม่น้อย

อุบาสกนั้นจึงถามขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ ทำไมถึงตัดใบดีๆทิ้ง แล้วที่เหี่ยวแห้งถึง
รดน้ำใส่ปุ๋ย แล้วบางต้นก็ดูดีๆอยู่ แต่ท่านก็ถอนขึ้นมาแล้วนำไปปลูกในอีกกระ
ถางหนึ่ง และที่ไม่มีพืชก็เห็นท่านใช้จอบพรวนดิน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำหรือ?”

พระอาจารย์ตอบว่า “การดูแลต้นไม้ใบหญ้า ก็เหมือนกับการให้ความรู้แก่ศิษย์
ศิษย์ต้องการความรู้อย่างไร ต้นไม้ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างนั้น”
“ต้นไม้ใบหญ้าจะนำมาเปรียบเทียบกับคนได้อย่างไร?” อุบาสกนั้นถาม

“การดูแลต้นไม้กับการให้ความรู้กับคนมีหลายที่ที่เหมือนกันคือ

ข้อหนึ่ง ต้นไม้ที่มองดูขึ้นอย่างหนาแน่นแต่ก็ขึ้นอย่างเบียดเสียด และมักมี
เถาวัลย์มาพันเกาะ จึงจำเป็นต้องตัดตกแต่งกิ่งให้น้อยลง เพื่อจะได้ไม่ต้อง
ถูกแย่งสารอาหาร เมื่อต้นนั้นออกดอกจะได้ดอกที่สวยงามและสมบูรณ์
ก็เหมือนกับการลิดรอนเอาความมุทะลุวู่วาม ความเคยชินที่ไม่ดีออกเสียบ้าง
ก็ทำให้เขาได้เดินมาสู่หนทางอันดีงาม

ข้อสองการย้ายต้นขึ้นไปปลูกในกระถางอื่น ก็เพื่อให้พืชได้แยกออกไปจากดิน
ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ให้ได้รับดินดี ก็เหมือนกับการให้คนคนหนึ่งออกไปจากสิ่ง
แวดล้อมที่ไม่ดี ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่มีอาจารย์ดีและกัลยาณมิตรที่ดี เพื่อจะ
ได้เพิ่มพูนความรู้ให้ยิ่งๆขึ้นไป

ข้อสาม การดูแลต้นไม้ที่ใกล้จะเหี่ยวเฉาที่มองดูเหมือนใกล้ตายให้มากเป็นพิเศษ
เพราะ โดยเนื้อแท้ของมันยังมีโอกาสรอดอีกมากมาย และอย่าไปนึกว่าศิษย์ที่ไม่
ดี จะไม่มียาขนานใดมาเยียวยาได้ เลยปล่อยละเลยไปไม่เหลียวแล ต้องรู้ว่า
โดยเนื้อแท้ธรรมชาติดั้งเดิมของคนเราเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เพียงแค่ขอมีจิตที่จะโอบ
อุ้มและดูแลให้ถูกวิธี ที่สุดก็จะกลับกลายเป็นคนดีได้

ข้อสี่ การที่ต้องคอยพรวนดิน เพราะในดินยังมีเมล็ดพันธุ์พืชที่คอยจะแตก
หน่อขึ้นมา ก็เหมือนกับศิษย์ที่ยากจนแต่มีใจคิดใฝ่ก้าวหน้า หากเรายื่นมือ
เข้าไปช่วยอีกแรง ก็จะทำให้เขามีโอกาสที่ก้าวเดินไปข้างหน้าได้”


ฐิตา:




๗๗. ๑ ความมีหน้ามีตาและชื่อเสียง

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา จึงคิดจะหาผู้สืบทอด
เป็นเจ้าอาวาสต่อไป วันหนึ่งพูดกับศิษย์สองคนซึ่งหมายตาไว้แล้วว่า
จะให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้สืบทอดต่อไป
ศิษย์คนหนึ่งชื่อว่าฮุ่ยหมิง อีกคนหนึ่งชื่อว่าเฉิงเหยียน

“พวกเจ้าสองคนหากใครมีความสามารถปีนจากหน้าผาของหลังวัด
ขึ้นไปข้างบนได้ คนนั้นจะได้เป็นเจ้าอาวาสต่อไป”

ศิษย์ทั้งสองจึงเดินไปที่หน้าผา หน้าผานั้นสูงชันและมีแง่งหิน
ขรุขระตลอดทั้งหน้าผา ฮุ่ยหมิงซึ่งมีร่างกายที่แข็งแรงกว่า มีความมั่นใจ
ในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม แต่ก็ปีนขึ้นไปได้ไม่นาน ก็ลื่นตกลงมา

เขาจึงเพิ่มความระมัดระวังในการปีนมากขึ้น แต่ที่สุดก็ลื่นไหลตกลงมาอีก
แต่ไม่ว่าจะตกลงมาจนบอบช้ำไปหมด แต่เขาก็ไม่ท้อแท้ แม้จะตกลงมาอีก
หลายครั้ง แต่ที่สุดเขาก็รวบรวมพลังที่มีอยู่ปีนขึ้นไป แต่เมื่อปีนได้ครึ่งทาง
ก็รู้สึกหมดแรง และบริเวณนั้นก็ไม่มีที่ที่จะให้หยุดพักได้ ที่สุดก็พลัดตกลงมาอีก
คราวนี้ตกลงมา ศีรษะกระแทกถูกก้อนหิน จนสลบแน่นิ่งไป



ฝ่ายเฉิงเหยียน ขณะที่เริ่มต้นก็เหมือนกับฮุ่ยหมิง พยายามใช้แรงอย่าง
มากมายในการปีน แต่ก็ต้องปีนแล้วลื่นไหลลงมาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งขณะที่
ปีนอยู่กลางหน้าผาแล้วมองลงไปข้างล่าง แล้วก็ตัดสินใจลงมาที่ด้านล่าง
ปัดเสื้อผ้าที่เลอะดินทรายออก แล้วเดินไปที่ลำธาร แล้วเดินทวนกระแสน้ำขึ้นไป
ผ่านป่าเขา แล้วไม่ต้องเปลืองแรงแต่อย่างใด ก็ไปถึงยอดเขาได้

เมื่อเขาเดินมาหาพระอาจารย์ ทุกคนก็นึกว่าจะต้องถูกพระอาจารย์ต่อว่าอย่างแรง
ว่ารักตัวกลัวตาย ใจไม่กล้าแล้วยังอ่อนแอ แล้วก็ถูกขับไล่ออกจากสำนักไป
แต่พระอาจารย์กลับพูดว่าให้ เฉิงเหยียนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสต่อไป

                       

ทุกคนต่างมองหน้ากันไปมา ไม่เข้าใจความหมายว่าเพราะอะไร
เฉิงเหยียนเลยอธิบายให้ศิษย์ร่วมสำนักฟังว่า หน้าผาที่อยู่หลังวัดไม่สามารถ
จะปีนขึ้นไปได้ แต่เมื่อมองจากกลางหน้าผา ก็จะเห็นทางเล็กๆที่จะเดินขึ้นไปได้
พระอาจารย์มักพูดบ่อยๆว่า “ผู้มีปัญญาจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพ
แวดล้อม ผู้รู้จะเดินเกมไปตามเหตุ” นี่เป็นการสอนให้พวกเรารู้จักยืดหยุ่นและ
เปลี่ยนแปลงได้ไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า

พระอาจารย์พยักหน้าด้วยความพอใจพูดว่า “หากเป็นผู้อยากได้หน้าอยากได้ชื่อ
ในจิตก็จะมีแต่ทางตันของหน้าผา ฟ้าไม่ได้วางกรงขังไว้
แต่จิตเราสร้างกรงขังไว้เอง ในกรงขังแห่งความอยากมีชื่อเสียง
แย่งชิงกันอย่างลำบากยากเย็น อย่างเบาก็แค่เกิดความทุกข์กังวล
อย่างหนักอาจจะต้องบาดเจ็บ และอย่างหนักอาจจะต้องร่วงหล่นลงจนร่างเละ”

หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ให้บาตรและจีวรแก่เฉิงเหยียน และพูดกับทุกคนว่า
“การปีนหน้าผา เป็นการทดสอบสภาพจิตของพวกเจ้า ไม่ให้หลง-วนเข้าไปอยู่ใน
ตาข่ายแห่งชื่อเสียงเกียรติยศ ในจิตที่ไม่กังวลสิ่งใด สามารถเดินไปตามครรลอง
ที่เป็นไปได้ คือคนที่ข้าปรารถนา"


ฐิตา:


                 

๗๘. อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง สร้างวัดใกล้ๆกับสำนักของท่านนักพรตท่านหนึ่ง
นักพรตท่านนั้นไม่ต้องการให้เขตละแวกนั้นมีวัด เลยเสกเวทย์มนต์คาถา
ใช้เหล่าภูติผีปีศาจมารังควานภิกษุที่อยู่ในวัดอยู่เนืองๆ เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้น
หวาดกลัวไม่กล้าที่จะอยู่ที่วัดนี้อีกต่อไป ไม่นานเหล่าพระและสามเณรล้วน
หวาดกลัวและย้ายหนีกันไปหมด เหลือแต่พระอาจารย์อยู่ที่วัดนี้เพียงผู้เดียว
ถึงสิบกว่าปี

ที่สุดเวทย์มนต์คาถาของนักพรตท่านนั้นถูกนำมาใช้จนหมดสิ้น พระอาจารย์
ก็ยังไม่ยอมย้ายไปไหน นักพรตรู้สึกหมดหนทางที่จะต่อกรด้วยแล้วจึงย้ายหนีไปเอง

หลังจากนั้นมีผู้ถามพระอาจารย์ว่า นักพรตมีวิชาคาถาอาคมแก่กล้า ท่านชนะเขา
ได้อย่างไร? พระอาจารย์ตอบว่า อาตมาไม่มีอะไรที่จะชนะพวกเขาได้ แต่ถ้าหาก
จะให้พูดจริงๆแล้ว มีเพียงคำเดียวว่า “ไม่มี” ซึ่งพวกเขาเปรียบเทียบไม่ได้”

“คำว่า “ไม่มี” จะไปชนะเขาได้อย่างไร?”



“พวกเขามีเวทย์มนต์คาถา ในขณะเดียวกันเวทมนต์เหล่านั้นมี จำกัด มีสิ้นสุด
มีประมาณ มีขอบเขต แต่ของอาตมา ไม่มีคาถา แต่ไม่มีจำกัด ไม่มีสิ้นสุด
ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต อาตมาไม่ต้องใช้ อะไร ย่อมจะต้องชนะ สิ่งที่ต้องใช้ อะไร”

ฐิตา:

         

๗๘. ๑ รู้จักตัวเอง

คนเรา มองเห็นโลก เห็นสรรพสิ่ง เห็นผู้อื่น แต่ไม่เห็นตนเอง
คนเรารู้จักแบ่งแยก รู้จักผู้อื่น รู้จักสิ่งต่างๆ แต่ไม่รู้จักตนเอง

คนเรามองเห็นความผิดพลาดของผู้อื่น เห็นปมด้อยของผู้อื่น
เห็นความโลภของผู้อื่น แต่ไม่เห็นความตระหนี่ของตนเอง
เห็นความคิดไม่ดีของผู้อื่น แต่ไม่เห็นความเขลาของตนเอง

คนเราสามารถรู้เรื่องราวของโลก ของประวัติศาสตร์ ของสังคม
รู้จักญาติพี่น้อง แต่ไม่รู้จักตนเอง

คนเราถ้ามองในกระจก จะเห็นหน้าตาของตนเอง เห็นความหล่อ
ความงามความอัปลักษณ์ แต่มองไม่เห็นในจิตของตนเอง

หากมีกระจกบานหนึ่ง สามารถเห็นจิตตนเองได้ ความโลภ โกรธ หลง
อิจฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว ความคับแค้น คงจะมีหน้าตาอัปลักษณ์จนสุดทน

ในทางธรรม มักจะมีคำพูดที่กล่าวว่า “รู้จักโฉมหน้าดั้งเดิมของตนเอง”
แล้วใครล่ะจะรู้จักโฉมหน้าที่แท้จริงของตนเองจริงๆ

มีคนไม่น้อยที่คอยแต่จะจ้องมองส่วนได้ส่วนเสีย ความสำเร็จความผิดหวัง
ของผู้อื่น คอยต่อว่าผู้อื่นด้อยคุณธรรมด้อยการศึกษา

แต่ลืมใส่ใจในความคิดของตนเอง ความรับผิดชอบ การดำรงชีวิต
หากไม่รู้จักตนเองและดิ้นรนสับสนไปตลอดชีวิต ไม่ประสบความสำเร็จ
อะไรสักอย่าง ก็คงจะเป็นที่น่าเสียดายจริงๆ
สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดในโลกคือ ไม่สามารถรู้จักตนเอง คนที่ไม่รู้จักตนเอง
ก็ยากที่จะเข้าใจความจริง ยากที่จะได้รับรู้สิ่งดีๆ เป็นเหตุให้เกิดอุปสรรค
ที่จะเกิดปัญญาในทางธรรม

การปฏิบัติธรรมก็เป็นการเปิดจิตของตนเอง
เปิดหน้ากากของตนเองออก แยกแยะและวิเคราะห์ตนเองอย่าง
ตรงไปตรงมา เพื่อให้รู้จักตนเอง

การรู้จักตนเองเป็นบทเรียนบทใหญ่ที่สุดในชีวิต ไม่อาจที่จะละเลย
และนิ่งดูดายได้

ที่มา จากอินเตอร์เน็ต

         

ขอชี้แจงกับผู้อ่านและผู้ที่นำนิทานเซนไปลงเว็บอื่นว่า
นิทานเซนจะมีหมายเลขเรียงลำดับทุกเรื่อง
ที่ไม่ได้ลงหมายเลขไว้ (* . ๑ ,  . ๒ , ฯลฯ )
เป็นเรื่องที่แปลมาจากผู้อ่านในเว็บของนิกายเซน
ไม่ใช่นิทานเซนค่ะ   (แสงดาว)


ฐิตา:



๗๙. ปล่อยวางลง ! แล้วเราจะฉุดช่วยเจ้า

ครั้งหนึ่งมีชายผู้หนึ่งมีธุระจำเป็นต้องออกไปทำกิจที่ต่างเมือง ระหว่างทาง
ต้องขึ้นเขาลงห้วยอยู่หลายครั้ง ได้รับความลำบากไม่น้อย วันหนึ่งขณะที่กำลัง
ผ่านหน้าผาที่สูงชันและคับแคบ ไม่ทันได้ระวังตัวก็ตกลงไปในเหว ขณะที่คิดว่า
ตัวเองต้องตายแน่นอนแล้ว บังเอิญมือไปคว้าเถาวัลย์แถวนั้นเอาไว้ได้ แม้ว่าจะยังไม่ตาย
 แต่ก็ต้องห้อยโตงเตงอยู่กลางเหวนั้น จะขึ้นก็ไม่ได้ หรือจะลงก็ไม่ได้อีก

ขณะที่ลังเลตัดสินใจไม่ถูกอยู่นั้น ก็ได้เห็นพระอมิตพุทธ ประทับยืนอยู่ที่เหวนั้น
ท่านมองมาที่ชายผู้นั้นอย่างเมตตาและปรานี ชายผู้นั้นจึงพูดขึ้นว่า

“ท่านอมิตพุทธผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและปรานี โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”
“ข้าจะช่วยท่านก็ได้ แต่ท่านจะต้องฟังคำที่ข้าพูด ถึงจะช่วยเจ้าขึ้นไปได้”
“มาถึงขั้นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อฟังคำที่ท่านพูดได้อย่างไร? ไม่ว่าท่านจะ
พูดว่ากระไร ข้าพเจ้าก็จะฟังท่านทุกคำ”ชายคนนั้นกล่าว
“ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปล่อยมือของเจ้าที่จับเถาวัลย์เสีย”

ชายคนนั้นได้ฟังแล้วคิดในใจว่า “ถ้าเพียงแค่ปล่อยมือ ก็ต้องตกลงไปในเหว
ลึกนั้นแน่ แล้วเมื่อตกลงไปแล้วกระดูกคงจะแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี แล้วจะรักษา
ชีวิตให้รอดได้อย่างไร?”

ดังนั้นชายคนนั้นจึงจับเถาวัลย์ไม่ยอมปล่อย พระอมิตพุทธเห็นชายผู้นั้น
ยังยึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมปล่อยวาง และยังหลงอยู่ในวังวนแห่งความไม่รู้
จึงได้แต่แยกจากไป

                 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version