แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

@ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก

<< < (13/31) > >>

ฐิตา:



๖๑. ลดเปอร์เซ็นต์

ลูกชายของพ่อค้าคนหนึ่ง ติดตามและฝึกฝนการค้ากับบิดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
แม้ว่าจะเป็นคนที่เน้นแต่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นลูกกตัญญู
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จึงไปที่วัดขอให้พระอาจารย์ช่วยสวดส่งวิญญาณให้หลุดพ้น

ลูกกตัญญูเติบโตมาจากวงการค้า จึงเป็นห่วงค่าใช้จ่ายในการสวดศพมาก
จึงตั้งหน้าตั้งตาแต่จะคอยถามเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่

พระอาจารย์เห็นเขาแต่งตัวภูมิฐานมีเครื่องประดับมากมายยังตระหนี่คิดเล็ก
คิดน้อยขนาดนั้น จึงพูดอย่างเคร่งขรึมว่า จะต้องจ่ายค่าสวดและค่าทำพิธี
10 ตำลึง ลูกกตัญญูฟังแล้วรู้สึกว่าแพงเกินไป จึงขอลดราคา พูดขึ้นว่า

“พระอาจารย์ สิบตำลึงน่าจะแพงเกินไป ขอลดสัก 20 เปอร์เซ็นต์ จ่ายแค่
8 ตำลึงแล้วกัน”

พระอาจารย์เห็นเขาต่อรองราคาอย่างเอาจริงเอาจัง จึงรู้สึกว่าหนุ่มคนนี้น่าคิด
เหมือนกัน จึงตอบว่า “ เอาล่ะ ตามใจเจ้าแล้วกัน”

พระอาจารย์จึงไปสวดยังที่บ้านของลูกพ่อค้านั้น ระหว่างที่ฟังสวดลูกกตัญญู
ก็ตั้งหน้าตั้งตาฟังสวดและกระทำพิธีอย่างสำรวมนอบน้อม



ถึงตอนหนึ่งพระอาจารย์กล่าวว่า “พุทธะจากทั่วสิบทิศ โปรดนำบุญกุศล
จากการทำพิธีนี้แผ่ไปให้กับผู้ตายด้วย ให้เขาได้ไปสู่โลกแห่งทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกว่าตรงทิศตะวันออกน่าจะไม่ถูก จึงพูดขึ้นว่า
“พระอาจารย์กล่าวผิดหรือเปล่า? มีแต่คนตายแล้วให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก
คือดินแดนสุขาวดี ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทางทิศตะวันออก”

“ไปทางทิศตะวันตกดินแดนสุขาวดี ต้องเสียค่าใช้จ่าย 10 ตำลึง เจ้ายืนยัน
จะลด 20 เปอร์เซ็นต์ ข้าเลยส่งผู้ตายไปยังทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกละอายใจยิ่งนัก พูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้าเพิ่มอีก 2 ตำลึง ช่วยพา
พ่อของข้าพเจ้าไปยังดินแดนสุขาวดีด้วยเถอะ”

         

ฐิตา:


           

๖๑.๑ ฉันคือใคร

ชีวิตคนดั่งละคร ทุกคนเป็นคนเขียนบท เป็นผู้กำกับ และเป็นนักแสดงเอง
บทที่เขียนออกมามีทั้ง บทดีใจ เสียใจ โกรธ และเศร้าโศก
สิ่งที่แสดงออกมามีทั้งรัก โกรธ ผูกพัน โกรธแค้น ชิงชัง
แต่ละบท แต่ละฉาก แต่ละตอน ไม่ใช่พบกับความสำเร็จ ก็ผิดหวัง ไม่ใช่ดีใจก็เสียใจ
เกิดๆดับๆ ดับๆเกิดๆ ดั่งที่ว่า “ชีวิตคนดั่งมายาซ้อนมายา”

                         

เวียนว่ายตายเกิด เป็นไปตามแรงกรรม หมุนเปลี่ยนภพชาติเกิดมาในโลกนี้
เป็นเพราะกรรมสัมพันธ์ พ่อแม่ให้กำเนิดฉันมา จึงมีกายนี้
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา นึกถึงเรื่องชาติภพก่อน ใครคือฉัน มาจากไหน?
ทำไมถึงมา ชาตินี้ไม่แจ้ง แล้วจะให้รอถึงชาติไหน
จึงสงสัยว่า “ก่อนที่พ่อแม่ให้กำเนิดมาใครคือฉัน”



ดอกไม้บานแล้วย่อมต้องร่วง มีการเกิดก็ต้องมีการตาย ขณะนี้มีความสุข
มีลมหายใจตามปกติ แต่เมื่อหนึ่งช่วงลมหายใจ หายใจออกแล้วไม่เข้า
แล้วฉันคือใคร แล้วจะไปไหน แล้วทำไมต้องไป คิดถึงหนทางข้างหน้า
ลังเลสงสัยแล้วก็ไม่รู้

                   

ความหมายของเซนจำต้องรู้ ปฏิบัติจริงถึงจะแจ้ง
ชีวิตดั่งความฝันและมายา อย่าได้หลง-วนอยู่ในความหลง
หากถามว่า “ฉันคือใคร? เห็นจิตตัวเองแล้วก็จะรู้”

         

ฐิตา:

               

๖๑.๒ ก้อนหินในใจ

อาจารย์เซนเชื้อจีนรูปหนึ่งนามว่า โฮเคน
พำนักอยู่องค์เดียวเงียบๆ ณ วัดเล็กๆต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งมีภิกษุอาคันตุกะสี่รูปเดินทางมาขอพำนักอยู่ด้วย
ตกกลางคืนพระอาคันตุกะเหล่านั้นขออนุญาตก่อกองไฟผิงกันหนาวที่ลานวัด



โฮเคนได้ยินพระเหล่านั้นก่อไฟพลางโต้เถียงกันล้งเล้งๆ
ถึงเรื่องอายตนะภายใน อายตนะภายนอก
ด้วยความอดรนทนไม่ได้ จึงออกมาร่วมวงด้วย



โฮเคนหยิบก้อนหินมาก้อนหนึ่งแล้วถามว่า
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พวกคุณคิดว่า ก้อนหินก้อนนี้อยู่ในใจหรือนอกใจ”
พระรูปหนึ่งตอบว่า “ตามมติทางพุทธศาสนา ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของใจ
เพราะฉะนั้น ผมจึงพูดได้ว่า ก้อนหินก้อนนั้นอยู่ภายในใจ”

                     

โฮเคนบอกว่า “ถ้าคุณแบกก้อนหินชนิดนั้นไว้ในใจทุกเวลาแล้วไซร้
มันคงหนักเอาการซินะ”
สิ่งที่เห็น สิ่งที่ประสบทุกอย่าง หากเราเอามาแบกรับไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา
ใจเราก็คงหนักอยู่ตลอดไป และในชีวิตของเรายังต้องพบเจอกับเรื่องราวอีกมากมาย
หากเราไม่วางมันเอาไว้นอกใจบ้าง เราก็ต้องดำรงชีวิตต่อไปอย่างกดดันหนักอึ้ง

                   

ที่มา หนังสือแม็ค ม.ปลาย ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2549

ฐิตา:

   

๖๑.๓ แสวงหาปัญญา

มักจะได้ยินคนพูดอยู่เสมอว่า มีคนแสวงหาปัญญา
แต่แท้ที่จริงแล้วปัญญามาจากการเรียนรู้โดยสัญชาติญาณ
และมุมมองก่อให้เกิดขึ้นมา แสวงหายังไงก็หาไม่เจอ
และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหา
ลองมองย้อนกลับมาที่ใจของตัวเอง หากในจิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายใจ
ถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญาที่บริสุทธิ์สะอาดก็จะไม่มีทางก่อเกิดขึ้นมาได้

มีบางคนนำปัญญามานึกว่าเป็น ความฉลาด
นึกว่าการพูดคล่องหรือถนัดในการใช้คำ หรือคนที่มีประสบการณ์มารอบด้าน
คือคนที่มีปัญญา แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด”

คนส่วนใหญ่ถูก “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด” มาบดบังปัญญาที่สะอาด
บริสุทธิ์และดีงามจนมืดมิด โดยไม่รู้ว่า การรู้ซื่อๆถึงจะเป็นความล้ำค่าทางปัญญา

หากอยากได้ปัญญาที่บริสุทธิ์แท้ จำเป็นจะต้องเตรียมพื้นฐานทางจิตที่ดีงามไว้
คนที่ฉลาด เพียงแค่ได้ยินทำที่ผิดหูสักหน่อยก็เอาสีข้างเข้าถู



คนมีปัญญา จะรู้จักนำถูกผิดมาเป็นบทเรียน ไม่ว่าจะพบกับคำพูดที่เสียดสีเย้ยหยัน
อย่างไร หรือเจอกับสถานการณ์ที่ทุกข์ยากอย่างไร ก็จะรู้จักนำอุปสรรคมาเป็นตัว
ผลักดันให้มุ่งไปข้างหน้า และยังรู้สึกถึงความสำนึกในบุญคุณ นี่แหละคือปัญญา

ในขณะเดียวกัน ทั้งคำพูดและการกระทำยังรู้จักระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกระทบกระทั่งถูกผู้อื่น ซึ่งสุดท้ายอาจจะย้อนกลับมา
ทำให้ตัวเองรำคาญใจไปเปล่าๆ

ทำอย่างไรถึงจะขจัดความวุ่นวายกังวลฟุ้งซ่านในจิตได้?
จำต้องอาศัยการแสวงหายามาแก้ด้วยตัวเอง เปรียบดังกับชาวนาต้องเริ่ม
ทำตั้งแต่ ลงต้นกล้า ดูแลพืชผล จนกระทั่งเมื่อเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องอาศัย
การลงทุนลงแรงของตัวเอง การทำนาก็มีเทคนิคเฉพาะตน เช่นเมื่อช่วงเก็บเกี่ยว
จะต้องจับต้นข้าวให้มั่นด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งจับเคียว สองมือประสาน
อย่างเหมาะเจาะ ถึงจะเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว

การขจัดความวุ่นวายทางจิตก็เช่นกัน จำต้องให้ภายในภายนอกขับเคลื่อนไป
พร้อมกัน ภายในจิตตื่นรู้ด้วยตัวเอง ผสานกับการเรียนรู้จากโลกภายนอก

บทกลอนและคัมภีร์ของนักปราชญ์เมธีและปรมาจารย์
ที่สืบทอดต่อกันมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ล้ำค่าด้วยปัญญาอันดีงาม
พวกเราจะต้องนำจิตน้อมรับมาพิจารณา เพื่อขจัดสิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายใจ
ปัญญาที่ดีงามถึงจะก่อเกิดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

ที่มา สมาชิกเว็บบอร์ดชาวเซน ของไต้หวัน

           

ฐิตา:




ด้านล่างอ่านเจอมาจาก บล็อคของ คุณกะเรนขาว
พูดถึงเรื่องปัญญาพอดีโดยไม่ได้นัดหมาย
จึงขอนำมาลงพร้อมกันระหว่างของชาวเซนกับของเถรวาท
ปัญญา ในความหมายของศาสนาพุทธ  (แสงดาว)



๖๑.๔ ปัญญาปรมัตถ์

...ปัญญาในแก่นของศาสนาพุทธคือปัญญาในการละความไม่รู้ไม่เข้าใจ
และละความยึดถือในรูปนามทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้น
(ความหมายของรูปนามท่านหมายถึงทุกๆสิ่งที่จิตสามารถสัมผัสได้
ทั้งวัตถุ สสารต่างๆ ความรู้สึก ความจำ ความคิด ความเป็นตัวเรา)
ปัญญาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงเรียกว่าปรมัตถ์ปัญญา

มิใช่เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง
 แต่เป็นการเกิดขึ้นด้วยกำลังของสมาธิจิตที่สมบูรณ์พร้อมแล้ว
เบื่อหน่ายเต็มที่ในรูปนามทั้งหลายแล้ว เห็นแล้วว่า
อุปาทานในรูป-นามทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด



กำลังของสายสัมพันธ์ความยึดมั่น ในรูปนามหมดลงเพราะ
เบื่อหน่ายเต็มที่ หมดกำลังที่จะยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป
อุปมาเหมือนกับคนที่ทำงานมาเหนื่อยเต็มที่ พอถึงบ้านหมดแรง
อยากนอนอย่างเดียวแม้เสื้อผ้าก็ไม่ยอมถอด ทิ้งตัวลงนอนเลย
ไม่สนใจร่างกายใดๆทั้งสิ้นแล้ว
ขอนอนอย่างเดียว เพราะความเหนื่อยเพลียเต็มที่นั่นเอง

ดังนั้นปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้นักธรรมต้องพิจารณาในรูปนาม
ให้เห็นว่าเป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือไม่มีตัวตนที่แท้จริง
เมื่อพิจารณาบ่อยๆมากๆจนจิตเหนื่อยเบื่อในงานเต็มที่แล้ว
จิตจะปล่อยวางได้เองโดยที่ไม่ต้องอยากให้มันปล่อยวางแต่อย่างใด

... นักธรรมท่านใดที่เอาแต่ความสงบของสมาธิจิต เอาแต่อารมณ์สุข
ของสมาธิย่อมหาความเหนื่อย ความเบื่อและความปล่อยวางแบบปรมัตถ์ต่อ
รูปนามไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพนักงานมาทำงานแต่ไม่ยอมทำงานจริง
 มานั่งมองโน่นมองนี่สุขสบายไปวันๆ ใครๆถามก็บอกกล่าวว่าตนเองเบื่อแล้ว
เหนื่อยแล้วแต่ในความเป็นจริงความเหนื่อยความเบื่อในงาน(รูปนาม)
ยังไม่ได้เกิดกับจิตตนเองเลย
เพราะตนเองยังไม่ได้ทำงานจะเอาความเหนื่อยความเบื่อมาจากไหน



ท่านจึงสอนให้นักธรรม พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ของรูปและนามให้มาก เหนื่อย-พัก,เหนื่อย-พัก
(สมาธิ-พิจารณา,สมาธิ-พิจารณา)ทำอยู่แบบนี้เมื่อจิตปุถุชนเบื่อเต็มที่
หมดกำลังที่จะยึดในรูปนามแล้วมันจะทิ้งในรูปนามเอง เห็นเองว่า
รูปนามที่แท้จริงโดยปรมัตถ์มันเป็นอย่างไร อนัตตาของจริงมันเป็นอย่างไร.


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version