พระพุทธรูปปางทรงเครื่อง (ปางโปรดพญาชมพูบดี)
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOREEwTVRFMU5RPT0=§ionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB3TkE9PQ==-
คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์หรือจักรพรรดิ
ลักษณะของการทรงเครื่องจักรพรรดินี้เกิดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นับเนื่องหรือหมายเอาว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องจึงหมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้ปรารถนาจะบรรลุพระนิพพาน
ในคติมหายานพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ มีฐานะเป็นพระไวโรจนพุทธ หรือพระชินพุทธ หรือพระพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกายหรือกายทิพย์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สามารถเอาชนะกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง และหมายถึงจุดเริ่มต้นมีธรรมกายหรือกฎสากลสมบูรณ์
พระพุทธรูปองค์นี้ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุฯ มีคำอธิบายว่ามาจากคติของฝ่ายมหายานจากมหาชมพูบดีสูตรปรับแต่งเข้ากับนิทานพื้นบ้านทางภาคเหนือ เป็นปางโปรดพญาชมพูบดีซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจมากในชมพูทวีป ผู้มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดแต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าเนรมิตกายของพระองค์ให้พญาชมพูบดีเห็นว่ายังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า และตรัสเทศนาในมหาชมพูบดีสูตรแก่พญาชมพูบดี
ในความหมายการแสดงพระธรรมในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือคำสอน 3 ประการคือ
การเห็นสิ่งที่เป็นสาระและมิใช่สาระ
โทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสารหรือคุณแห่งพระนิพพาน
ความลุ่มหลงในเบญจขันธ์หรืออุปาทานขันธ์ คือความยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ว่าเป็นตัวตนเป็นตัวกูของกู ยึดมั่นในความเชื่อถือตามความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว การยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนแต่ฝ่ายเดียว และการยึดมั่นถือมั่นในความผูกพันติดใจ ข้องใจ ในความนึกความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่เป็นสาระทั้งสิ้น
นอกจากพระพุทธรูปปางนี้จะแสดงธรรมดังกล่าวข้างต้น รูปลักษณะหรือพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปปางนี้เป็นท่านั่งที่เหมือนกับปางมารวิชัย อันมีความหมายถึงการบอกกล่าวแก่ พุทธบริษัท ถึงการพ้นไปจากสังสารวัฏของพระพุทธเจ้า
แสดงด้วยการชี้พระหัตถ์ลงสู่พื้น เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้อยู่เหนือโลกหรือเหนือสังสารวัฏแล้ว
.