ผู้เขียน หัวข้อ: นิเวศวิทยาการเมือง และ มโนทัศน์แห่งความยั่งยืนยาวนาน  (อ่าน 5546 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
นิเวศวิทยาการเมืองและมโนทัศน์แห่งความยั่งยืนยาวนาน

ดร.ปรีชา เปลี่ยนพงศ์สานต์

คณะเศรษฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งอภิปรายถึงมโนทัศน์ของความยั่งยืนยาวนาน (Sustainability) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในท่ามกลางของวิกฤตการณ์แห่งการพัฒนา นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อไปสู่ความยั่งยืนยาวนานภายใต้กรอบของ “เศรษฐศาสตร์สีเขียว” (green economics)
ในการอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับโลกของเรา แนวคิด “ความยั่งยืนยาวนาน” (sustainability) กำลังกลายเป็นเรื่องที่มีความหมายและความสำคัญมากขึ้น (ในขณะเดี่ยวกันก็กลายเป็นคำพูดแบบแฟชั่นด้วย) หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นแล้วว่า วิธีการจัดการเศรษฐกิจสังคมและทรัพยากรธรรมชาติของเรา ค่อนข้างมีลักษณะ “ไม่ยั่งยืนยาวนาน” ซึ่งคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบกันอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันมิให้วิกฤตในโลกชีวิตของเรามีความรุนแรงขึ้น

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

แนวคิด “ความยั่งยืนยาวนาน” มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในยุคนี้ได้รับความสำคัญสูง เนื่องจากว่าระบบนิเวศของเรากำลังอยู่ในชั้นที่ถูกทำลายอย่างน่าวิตก ในวงการวิชาการปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร นิเวศวิทยา ทฤษฎีสังคม และทฤษฎีการพัฒนาประเทศ ได้มีการมองปัญหา “การล่มสลายทางนิเวศ” หรือ ความผันแปรทางนิเวศ” กันอย่างกว้างขวาง ข้อสรุปที่สำคัญ ๆ ระดับโลกคือ

o   ในการผลิตทางเศรษฐกิจ เราต้องสนใจ “ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม” ให้มากซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่อย ๆ
o   ทรัพยากรหลายประเภทเริ่มขาดแคลน  และหายากมากขึ้น
o   ความหลากหลายทางชีวภาพได้ลดน้อยลงไป
o   การเร่งรัดความเจริญทางวัตถุอย่างไม่หยุดยั้ง ย่อมมีขีดจำกัดทางนิเวศ
o   การพัฒนา แฝงไว้ด้วยความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ในรูปแบบต่าง ๆ

แนวโน้มทั้งหมดนี้ส่อให้เห็นถึงการสร้างความเจริญ และความก้าวหน้าทางวัตถุที่ไม่มีพื้นฐานของหลักการ “ความยั่งยืนยาวนาน”
ในสังคมไทยของเราเอง เราได้มีสิ่งที่เรียกกันว่า “การพัฒนา” มาเป็นเวลา 30 ปีเต็ม กลุ่มผู้นำการเมืองการปกครองและกลุ่มธุรกิจต่างมีความภูมิใจว่า เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตสูงการพัฒนาประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นการมองภาพเพียงส่วนเดียว ถ้าเรามองให้กว้างและลึกซึ้งกว่านั้น เราจะเห็น “ความเป็นอนิจจังทางนิเวศ” อย่างชัดเจน กล่าวคือ

1.   ท่ามกลางการเร่งรัดการพัฒนา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม) ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากมายได้ถูกใช้อย่างหนัก จนเกิดความเสื่อมโทรมโดยทั่วไป
2.   มลภาวะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเมือง ในชนบท ในทะเล ในแม่น้ำ ลำคลอง
3.   ความหลากหลายทางชีวภาพได้ลดลงไปอย่างรวดเร็ว อันเป็นการกระเทือนโลกชีวิตของสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ
4.   การพัฒนาได้ผลิตและสร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ ออกมาหลายรูปแบบซึ่งล้วนแต่ส่งผลลบต่อชีวิตมนุษย์ (เช่น ความฟุ่มเฟือย การบริโภคเกินความจำเป็น ความตึงเครียดทางจิตรวมทั้งปัญหาสังคมนานาประการ)
5.   การพัฒนา มีส่วนสร้างความไม่เท่าเทียมกันในหลายด้านด้วยกัน รวมทั้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของมวลชนได้
ความเป็นอนิจจังทางนิเวศ (ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ถาวร) ทั้งทางด้านธรรมชาติและสังคมนอกจากคุกคามชีวิตผู้คนในปัจจุบันแล้ว ยังจะมีศักยภาพทำลายชีวิตในอนาคตอีกด้วย

เราจะหยุดยั้งปรากฏการณ์และแนวโน้มดังกล่าวได้ก็คงต้องมีการทบทวนแนวคิด อุดมการณ์และ ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาของเราอย่างรอบด้าน เป็นที่แน่นอนว่าวิชาการของเรารวมทั้งแนวนโยบายการพัฒนาของเรากำลังล้มเหลวอย่างมาก ในการแก้ไขเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรรวมทั้งเรื่องต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และขีดจำกัดทางนิเวศ เรากำลังมองข้ามสัจธรรมและข้อเท็จจริงทางนิเวศไป เรากำลังหลงอยู่ในวังวันของความเจริญทางวัตถุที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการทำลายล้างธรรมชาติ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แนวคิดเกี่ยวกับ “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน” น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น ปัญหามีอยู่ว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน” มีความหมายว่าอย่างไร และแนวคิดนี้จะสามารถทำให้เราหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของการพัฒนา และสิ่งแวดล้อมได้แค่ไหน
โลกธรรมชาติคือชีวิต

แนวคิด “ความยั่งยืนยาวนาน” มีประวัติศาสตร์ที่ยาวไกลหลายพันปี อาจเรียกได้ว่า ความใฝ่ฝันของมนุษยชาติ ผูกพันอยู่กับแนวคิดนี้มาตลอด จุดเริ่มต้นสำคัญเห็นจะเป็นเรื่องในเทพนิยายกรีกซึ่งกล่าวถึง “เทพีแห่งพิภพ” (ชื่อ เก-อา หรือ GAIA) เทพีองค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่เพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา เธอทำหน้าที่เลี้ยงดูและเอาใจใส่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนพื้นพิภพนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมีต้นกำเนิดมาจากเธอ และเดินทางกลับไปหาเธอเมื่อชีวิตสิ้นสุด
ในสมัยกรีกโบราณ “ความยั่งยืนยาวนาน” กับ “ความสุขสมบูรณ์ของรัฐ” เป็นสิ่งที่คู่กับระดับความเจริญของชุมชนจะถูกวัดกันด้วยหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ชะตากรรมของผู้ว่าการนครต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพของธรรมชาติในนครนั้น ๆ ถ้ามีความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ผู้ว่าจะถูกลงโทษอย่างหนัก ถ้าบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอย่างเต็มที่ ผู้ว่าจะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน

ในปัจจุบันนิยายของเทพีแห่งพิภพได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทฤษฎีนิเวศวิทยาสมัยใหม่ ที่รู้จักกันในชื่อ The GAIA Hypothesis ของ JAMES LOVELOCK (1979) ทฤษฎีนี้มองเทพนิยายกรีกว่า เทพี เก-อา เป็นผู้สร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตบนพื้นพิภพนี้สามารถมีวิวัฒนาการได้ แนวคิดหลักคือ พิภพของเราคือสิ่งมีชีวิตถูกสร้างขึ้นมาโดยอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีชีวิต และดำรงอยู่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้ อินทรีย์ที่มีชีวิตทั้งหมดนี้จะมีความเชื่อโยงกัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบโดยจะทำหน้าที่หล่อหลอมเงื่อนไขสำหรับการ ดำเนินชีวิตของสรรพสิ่งทั้งหลายบนพื้นพิภพ ถ้าอินทรีย์ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลาย ชีวิตทั้งหมดจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

LOVELOCK ต้องการบอกเราว่า มองจากแนวคิดของเก-อา โลกพิภพมีกฎแห่งธรรมชาติของตนเองซึ่งใครจะมาละเมิดไม่ได้ การที่มนุษย์พยายามที่จะครอบครองและขูดรีดธรรมชาติโดยทึกทักว่าตนเองเป็นเจ้าของธรรมชาตินั้น มนุษย์จะต้องพบกับความหายนะ แต่ถ้ามนุษย์เคารพธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะให้ความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์

แนวคิดแบบ เก-อา ต้องย้ำว่า มนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบทางชีวิตที่สำคัญส่วนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติมองจากแง่นี้แล้ว ความยั่งยืนยาวนานก็คือ การยึดมั่นใน “กฎของธรรมชาติ” หรือ ยึดถือในสิ่งที่เราเรียกว่า “กระบวนการพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม” โดยมนุษย์จะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาถึงผลกระทบจากธรรมชาติอันเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์

ถ้าจะกล่าวให้ไกลไปกว่านี้ก็คือ นอกจากจะต้องเข้าใจและเคารพ “กฎของนิเวศวิทยา” ในโลกธรรมชาติแล้ว ความยั่งยืนยาวนานก็คือการยึดมั่นใน “ในกฎธรรมชาติ” หรือยึดถือในสิ่งที่เราเรียกว่า “กระบวนการพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม” โดยมนุษย์จะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาถึงผลกระทบจากธรรมชาติอันเกิดขึ้นจากการกระทบของมนุษย์

ถ้าจะกล่าวให้ไกลไปกว่านี้ก็คือ นอกจากจะต้องเข้าใจและเคารพ “กฎของนิเวศวิทยา” ในโลกธรรมชาติแล้ว มนุษย์เรายังต้องพัฒนาอุดมการณ์และจิตสำนึกใหม่บนรากฐานของความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติด้วย

ความหมายของความยั่งยืนยาวนาน

ในยุคสมัยใหม่แนวความคิดเรื่อง “ความยั่งยืนยาวนาน” ได้ปรากฏขึ้นในทศวรรษที่ 1980 อันเป็นช่วงที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวงการของนิเวศวิทยาและเศรษฐศาสตร์แนวนิเวศ แนวคิดนี้เป็นการโต้กระแสหลักของ “แบบจำลองการพัฒนา” ที่เน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจการใช้กลไกตลาด การเชื่อมั่นในพลังเทคโนโลยีและความไม่สิ้นสุดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนกันได้ตลอดเวลา แนวคิดนี้เสนอหลักการและวิธีการที่พยายามผสมผสานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นภารกิจที่มีความสำคัญระดับสูง ในขณะเดียวกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาก็สามารถดำเนินต่อไปได้ในลักษณะที่มีความสอดคล้องกับขีดจำกัดของ ฐานทรัพยกรธรรมชาติและความสามารถของระบบนิเวศในการสนับสนุนหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในวงการของนิเวศวิทยาและเศรษฐศาสตร์แนวนิเวศยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ว่าเราจะบรรลุวัตถุประสงค์ของ “ความยั่งยืนยาวนาน” ได้อย่างไร จากการอภิปรายที่มีเนื้อหากว้างขวางมากมาย พอที่จะสรุปได้ว่า การเดินไปสู่ “ความยั่งยืนยาวนาน” มี 2 วิธีทางหลักดำรงอยู่ข้างเคียงกัน ซึ่งเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันทางด้านปรัชญากล่าวคือ

1.   วิถีทางแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนยาวนาน
2.   วิถีทางแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่แนวนิเวศที่ยั่งยืนยาวนาน

เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนยาวนาน เราอาจสรุปได้ว่า วิถีทางนี้ยังคงมีความเชื่อมั่นในเรื่องการขยายตัวของรายได้ประชาชาติอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการย้ำว่า ในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ เราจำเป็นจะต้องบรรจุยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่นโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปจนถึงนโยบายเกี่ยวกับ recycling การลดมลภาวะและการใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีของเสีย

เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปได้อย่างยั่งยืนยาวนาน ได้มีการเสนอให้ใช้ “กฎอนุรักษ์” (conservation rules) ที่สำคัญ ๆ 3 ข้อ คือ

1.   ให้มีการรักษาความสามารถของระบบนิเวศ ในการฟื้นฟูทรัพยากรและหลีกเลี่ยงมลภาวะที่รุนแรงซึ่งอาจทำลายธรรมชาติและระบบหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์
2.   ให้มีการวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนวิถีทางใช้ทรัพยากรจากประเภทที่กำลังจะหมดไปเช่น น้ำมันไปเป็นประเภทที่ฟื้นฟูตัวเองได้ตลอดเวลา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
3.   ให้มีการใช้นโยบายวางแผนระยะเวลา เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรประเภทที่กำลังจะหมดไปและไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้
วิถีทาง “การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนยาวนาน” มีหลักนโยบายสำคัญว่า การขยายตัวของรายได้ประชาชาติในอัตราที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ต้องมีการทำให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติทรุดโทรม กฎอนุรักษ์ 3 ข้อ ช่วยให้มีการรักษาทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมไว้อย่างยั่งยืนยาวนาน สรุปแล้ววิธีนี้มีความเชื่อมั่นในเรื่องการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืนยาวนาน

วิถีทางนี้ให้ความสำคัญสูงแก่ “การใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืนยาวนาน” เช่นเดียวกับวิถีทางแรกแต่มีข้อแตกต่างคือ ให้มีการถือว่าการอนุรักษ์เป็นพื้นฐานหลักในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้วิเคราะห์และประเมินการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้แล้ว วิถีทางนี้ยังได้เสนอว่า จะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและสังคมทั้งระบบพื้นฐานของนิเวศควบคู่กันไปด้วย การสร้างระบบการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวยังไม่อาจก่อให้เกิดความยั่งยืนยาวนานอย่างแท้จริงขึ้นมาได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความยั่งยืนยาวนาน จำเป็นจะต้องมีการปรับ เปลี่ยนปรัชญาและโลกทรรศน์ใหม่หมด ซึ่งจะนำไปสู่การเสนอ “จริยธรรมแบบใหม่” ที่มีความหมายต่อการอยู่รอดของธรรมชาติ อาจเรียกได้ว่าเราต้องมี “จริยธรรมทางชีวภาพ” (Bioethics) ซึ่งจะวางบรรทัดฐานสำหรับการพัฒนาสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับธรรมชาติและการคุ้มครองธรรมชาติ รวมไปถึงปัญหาความยุติธรรม ความเสมอภาค และสิทธิของชนรุ่นหลังในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ความยั่งยืนยาวนานในความหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่แนวนิเวศ ปรากฏเห็นชัดใน “ขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองสมัยใหม่” ซึ่งให้ความสำคัญสูงแก่การพัฒนาความคิดทาง “เศรษฐศาสตร์สีเขียว” นักคิดคนสำคัญของขบวนการนี้ (JONATHAN PORRITT) กล่าวว่า

“เศรษฐศาสตร์สีเขียวเป็นเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนยาวนานและความยุติธรรมทางสังคม นั่นคือ การเสาะแสวงหาวิธีการสร้างความอุดมสมบูรณ์ เพื่อที่จะสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทั้งหมดได้โดยไม่ ไปทำลายโลกธรรมชาติที่เปราะบางของเรา ในความพยายามเช่นนี้เราจะต้องเลือกหนทางใดหนทางหนึ่งระหว่างสิ่งที่เรามีวันนี้ (สังคมบริโภค) กับสิ่งที่เราต้องการในอนาคตอันใกล้ (สังคมอนุรักษ์) เป็นไปไม่ได้แล้วที่เราจะผลิตความมั่งคั่งออกมาบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแบบไม่ยั่งยืนยาวนาน ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องนำเอารูปแบบการบริโภคที่เหมาะสมเข้ามาแทนที่แบบเก่า เพื่อที่จะใช้ทรัพยากรของโลกและทรัพยากรมนุษย์อย่างมีเหตุผล”

ในความหมายนี้ ขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองสมัยใหม่เรียกร้องให้ประชาชาติต่าง ๆ เรียนรู้วิธีการจัดการเรื่อง การผลิตและการบริโภคภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบที่มีความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม (steady-state economy) ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจแบบนี้ คือ

o   ลดการผลิตที่สร้างขยะและของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก
o   ใช้หลักการ “การพึ่งตนเอง” มากขึ้น
o   เน้นการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (หลีกเลี่ยงการรวมศูนย์)
o   ใช้ทรัพยากรที่สามารถฟื้นฟูตัวเองให้มาก
o   อนุรักษ์ทรัพยากรที่หายาก
o   จัดสรรแบ่งทรัพยากรเศรษฐกิจการเงินอย่างยุติธรรม
o   สร้างระบบการทำงานที่สนองความใฝ่ฝันของมนุษย์
o   ใช้ระบบเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ

ระบบเศรษฐกิจแบบนิเวศดังกล่าวนี้ จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีระบบสังคมที่สอดคล้องกันมารองรับ “สังคมที่ยั่งยืนยาวนาน” จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่ง ในสังคมนี้ผู้คนจะอยู่รวมกันใน “ชุมชนสีเขียว” วิถีชีวิตมีลักษณะเรียบง่ายดังปรัชญาเต๋าบ่งไว้ว่า การดำรงชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพที่สร้างสรรค์ของตนได้

การวิเคราะห์ทั้งหมดให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ระบบอุตสาหกรรมนิยมและลัทธิที่กระตุ้นการสะสมวัตถุเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ “ความยั่งยืนยาวนาน” อย่างยิ่ง การครอบงำของระบบดังกล่าวอยู่ได้ทนทานก็เพราะมีความลุ่มหลงและการยึดมั่นดำรงอยู่ ในสภาพเช่นนี้การตื่นขึ้นทางจิตจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากพันธนาการของระบบเก่าได้

นิเวศวิทยาแนวลึกและการปฏิวัติทางปรัชญา

การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่แนวนิเวศที่ยั่งยืนยาวนานต้องมีจุดเริ่มต้นที่ปรัชญา จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาการมองโลกเสียก่อน ในสังคมของโลกอุตสาหกรรมตะวันตก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาได้มีการเคลื่อนไหวสังคมที่สำคัญแนวหนึ่ง ซึ่งที่เป็นรู้จักกันภายใต้ชื่อ “นิเวศวิทยาแนวลึก” (deep ecology) อาจเรียกได้ว่า เป็นการบุกเบิกไปสู่นิมิตใหม่ของการมองโลกและสิ่งแวดล้อม

“นิเวศวิทยาแนวลึก” มีเนื้อหาแตกต่างกับนิเวศวิทยาทั่วไป ๆ ในแง่ที่ว่าเป็นการเคลื่อนไหวระยะยาวที่มีเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งระบบอย่างถอนรากถอนโคนมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับบางเรื่องบางส่วน (เช่น มลภาวะ การทำลายป่าไม้ ฯลฯ)

นิเวศวิทยาแนวลึกมีหลักปรัชญาที่สำคัญอยู่ 5 ข้อ คือ

1.   ธรรมชาติมีค่าในตัวเอง (intrinsic value) ธรรมชาติไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่เพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่วัตถุประสงค์อื่น ๆ หรือเพื่อเป็นผลประโยชน์ของใคร ธรรมชาติในความหมายนี้มีความสำคัญสำหรับมนุษยธรรมอย่างยิ่ง
2.   กฎของนิเวศวิทยาหรือกฎของธรรมชาติกำหนดศีลธรรม และจริยธรรมของมนุษย์ ความคิดความรู้สึกและการกระทำทั้งปวงของมนุษย์จะมุ่งไปยังเรื่องของธรรมชาติเป็นหลักใหญ่
3.   ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศ พืชพรรณสัตว์ป่ามีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรบกวน ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกทำลายจากฝีมือของมนุษย์ สิทธิแบบนี้เราเรียกว่า Biorights หรือ สิทธิทางชีวภาพ
4.   มนุษย์ไม่ยึดถือมั่นในเทคโนโลยีขนาดใหญ่สมัยใหม่ ในขณะเดียว กันก็ปฏิเสธระบบอำนาจนิยมและการรวมศูนย์ทุกรูปแบบด้วย
5.   ลัทธิที่ส่งเสริมการนิยมวัตถุ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ความเจริญทางเศรษฐกิจ ต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมวลชนผู้ยากไร้
จากหลักการทั้ง 5 ข้อ เราพอจะมองเห็นว่าการเคลื่อนไหวทาง “นิเวศวิทยาแนวลึก” ต้องการจะย้ำว่า ธรรมชาติและระบบนิเวศควรจะเป็นศูนย์กลางของความคิดคำนึงทั้งปวง เราควรคิดถึงธรรมชาติก่อนเรื่องความต้องการของมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธรรมชาติ มนุษย์ควรทึ่จะแสวงหาแนวทางการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติเช่นกันด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาของนิเวศวิทยาแนวลึกและจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมของแนวนี้เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการสร้างความยั่งยืนยาวนานให้แก่สังคม ของมนุษย์

“นิเวศวิทยาแนวลึก” ต้องการให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิธีการมองโลกและประสบการณ์ที่มีต่อโลก : มนุษย์มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ นั่นคือ รู้สึกอยู่ในธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ เนื้อหาปรัชญาทั้งหมดคือการขยายหลักมนุษยธรรมไปยังเรื่องธรรมชาติ ความห่วงใยในธรรมชาติ (สัตว์ พรรณพืช ระบบนิเวศ และโลกธรรมชาติทั้งหมด) มีความสำคัญพอ ๆ กับความห่วงใยในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เราจะเห็นได้ว่า “นิเวศวิทยาแนวลึก” มีเนื้อหาที่แตกหักกับระบบที่เป็นอยู่รวมทั้งวิธีการคิดและวิถึงทางดำรงชีวิตอย่างสิ้นเชิง หลักการใหม่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติ มนุษย์กับสังคมอาจสรุปได้ไว้ในประโยคที่ว่า “เรียบง่ายในวิธีการ อุดมสมบูรณ์ในจุดมุ่งหมาย” มองในแง่ของการพัฒนาแล้ว นิเวศวิทยาแนวลึกมีคุณค่าในการเสนอวิถีทางใหม่ ซึ่งเน้นการอนุรักษ์มากกว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์สูงสุด (ดูตารางเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างการพัฒนาแบบกระแสหลักกับการพัฒนาตามวิธีทางของ “นิเวศวิทยาแนวลึก”

การพัฒนา 2 แนวทาง

การพัฒนาแบบกระแสหลัก    

•   การครอบครองธรรมชาติ
•   สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติคือทรัพยากร
•   เป้าหมายทางวัตถุและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
•   ทรัพยากรธรรมชาติมีเหลือเฟือและสามารถแทนกันได้อย่างไม่สิ้นสุด
•   เทคโนโลยีสมัยใหม่
•   บริโภคนิยม
•   องค์กรขนาดใหญ่โตและรวมศูนย์
•   โครงสร้างแบบอำนาจนิยมและเผด็จการ

นิเวศวิทยาแนวลึก

   •  ความสอดคล้องกับธรรมชาติ
•  ธรรมชาติมีค่าในตัวเอง
•  เป้าหมายที่ไม่ใช่วัตถุและความยั่งยืนยาวนานทางนิเวศ
•  ทรัพยากรมีขีดจำกัด
•   เทคโนโลยีที่เหมาะสม
•   ความต้องการพื้นฐานของมวลชน
•   องค์กรขนาดเล็กและกระจายอำนาจ
•   โครงสร้างแบบการมีส่วนร่วมและหลักการประชาธิปไตย

ปรัชญาเพื่อชีวิตและธรรมชาติ

ในขณะที่โลกตะวันตกกำลังมีการเคลื่อนไหวทาง “นิเวศวิทยาแนวลึก” เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางนิเวศนั้น ในสังคมไทยเองเราก็มีปรัชญาแนวเดียวกันที่พอจะเป็นพื้นฐานรองรับแนวคิด “ความยั่งยืนยาวนาน” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธปรัชญา ซึ่งเป็นปรัชญาเพื่อชีวิตและธรรมชาติมีแนวคิดหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติโลกทรรศน์ อันจะนำไปสู่พัฒนาการของสิ่งที่เราเรียกว่า “จริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมแบบพุทธ” ได้

ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าว่า พระพุทธเจ้ามีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติมาตลอด และยังทรงกำชับเหล่าสาวกด้วยว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไปยังใต้ร่มไม้ และกระทำกิจอันพวกเธอจักไม่ต้องเสียใจในภายหลังเถิด” ถ้าเราจะแปลเป็นภาษาสมัยใหม่ก็คงได้ความว่า พระพุทธเจ้าต้องการย้ำว่า
“ระบบนิเวศวิทยาที่ถูกต้องคือระบบที่ไม่เบียดเบียนมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม”

แต่ดูเหมือนว่า พุทธบริษัททั้งหลายไม่เคยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย เพราะกระบวนการการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นการกระทำที่จะต้องก่อให้เกิดความเสียใจในภายหลังทั้งสิ้น

ในพุทธปรัชญามีการย้ำเสมอว่า การจัดระเบียบเศรษฐกิจสังคมน่าจะดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ธรรมชาติคือความสมดุลเรียบง่าย อุดมสมบูรณ์ งดงาม เบิกบาน ยืนยาวนาน พึ่งตนเอง เป็นไปได้ในตนเอง ตามแนวคิดนี้เราย่อมที่จะต้องให้ความหมายใหม่แก่เรื่อง “การพัฒนา” ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีความเข้าใจและมีความสำนึกว่าเป้าหมายของการพัฒนาไม่ใช่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นศานติสุขของสังคมและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ วิถีทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้ที่ดินจึงต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนาแบบทุนนิยมจะมองว่า “การลงทุนทางเศรษฐกิจ” เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ดินมีไว้สำหรับสร้างเขื่อน สร้างถนน สร้างสนามบิน สร้างสนามกอล์ฟ สร้างโรงงาน สร้างคอนโด ศูนย์การค้า สร้างหมู่บ้านจัดสรร และมีไว้สำหรับเกษตรกรรมครบวงจรแผนใหม่

เราต้องมองว่า ทั้งหมดนี้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือเปล่า ? ในสถานการณ์ของความเสื่อมโทรมของชนบทไทย ที่ดินควรจะมีไว้ปลูกป่ามากกว่า เพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ให้มากขึ้นไม่ใช่เพิ่มเนื้อที่เพื่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ชีวิตทั้งชีวิตของพระพุทธเจ้าผูกพันอยู่กับป่า สอนคนให้รักป่า แต่ชาวพุทธปัจจุบันมีแต่จะทำลายป่า ถ้าเรานำเอา “ความคิดแบบพุทธ” กลับคืนมา เราจะได้ข้อสรุปว่า การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ “จริยธรรมทางธรรมชาติ” นั่นคือ ความรักธรรมชาติ ความห่วงใย ความอ่อนน้อม และเกื้อกูลต่อโลกสีเขียว

ปรมาจารย์ทางด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ “ฟูกูโอกะ” มาเยือนถิ่นอีสานได้เขียนบทกวีไว้ว่า

“ฝนห่าใหญ่ผ่านไป
เขียวหมื่นอย่างฟื้นตัว
ฟ้าตะวันออกมีรุ้งโผล่ขึ้นมา
เด็กขี่ควายเป่าขลุ่ย
สำรวจสิ่งแวดล้อม
ลมพัดอ่อน ๆ ค่อย ๆ ข้ามบึง”

อีกบทหนึ่ง

“ทุ่งเขียวไร้กว้างสิ้นแคบ
เมฆขาวใต้ฟ้าเขียวไม่รู้เวลา
คนโง่เง่าเหมือนลูกน้ำเต้า
เพลิดเพลินกับเวลาที่เป็นอนันตกาล”

บทกวีของฟูกูโอกะได้สะท้อนความคิดแนวพุทธออกมาอย่างชัดเจน ในที่นี้ความยั่งยืนยาวนานก็คือความสอดคล้องกับธรรมชาตินั่นเอง

สิ่งที่พุทธปรัชญาย้ำมากที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน จะแก้ไขปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมได้ ก็ต้องแก้ไขกันที่ “นิเวศวิทยาทางจิต” เสียก่อน ถ้าภายในจิตยังมีมลภาวะแห่งความต้องการดำรงอยู่ มลภาวะของโลกธรรมชาติก็ยังไม่อาจหมดไปได้ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในภาคปฏิบัติต้องมีเงื่อนไขมาจากประสบการณ์ส่วนลึกที่มีต่อโลกและธรรมชาติ ซึ่งเราจะเห็นได้จากความรู้สึกของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

“ในธรรมชาตินั้นมีความงดงาม หรือศิลปะที่บริสุทธิ์อย่างเวลาฝนตกลงมาหลวงพ่อก็เคยนั่งดูเขานะเขาเอาฟ้าและลมเป็นเสียงเพลงแล้วก็พากันฟ้อนรำ เคยเห็นไหม ต้นไม้เต้นระบำ เวลาฝนตก ลมพัด ใบของเขาจะปลิวไปปลิวมาซึ่งดูแล้วสวยงามมาก และเวลาได้รับน้ำฝนใหม่ ๆ นี้ พวกเขาจะพากันผลิตดอกออกผล ดูแล้วน่าชื่นใจจริง”

นี่คือความรู้สึกแบบพุทธที่มีต่อธรรมชาติซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับปรัชญาของ “นิเวศวิทยาแนวลึก” อย่างมาก ปัญหามีอยู่ว่า ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติจะกลับคืนมาสู่เราอีกครั้งได้หรือเปล่า

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ภาคปฏิบัติของความยั่งยืนยาวนาน : ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบใหม่

การสร้างสังคมแนวนิเวศไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความห่วงใยในธรรมชาติเท่านั้น หากแต่มีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของมนุษย์และชมชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมด้วย มองในแง่นี้เป้าหมายที่สำคัญของความยั่งยืนยาวนานก็คือ การสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในวิถีทางที่ไม่ละเมิดขีดจำกัดของระบบนิเวศ หลักการข้อนี้ (ผสมผสานกับ “ปรัชญาเพื่อชีวิตและธรรมชาติ” ตามความคิดแบบพุทธ หรือแบบนิเวศวิทยาแนวลึก) จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการเป็นพื้นฐานเพื่อแสวงหายุทธศาสตร์ใหม่ของ “การพัฒนา” ในภาคปฏิบัติ

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การพัฒนาของเรามีเนื้อหาค่อนข้างคับแคบมาก คือมุ่งไปในทิศทางของการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือการเพิ่มรายได้ประชาชาติเท่านั้น การพัฒนาเป็นเรื่องของการใช้แรงงานมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุดขีด จนกระทั่งทั้งมนุษย์และธรรมชาติต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพทรุดโทรม เพื่อมิให้วิกฤตการณ์ของโลกชีวิตต้องขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องยุติวิถีทางการพัฒนาแบบเก่าที่มีลักษณะทำลายล้างอย่างสิ้นเชิง และหันไปใช้วิถีทางที่ตั้งอยู่บนหลักการของความยั่งยืนยาวนาน

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของ “การพัฒนาที่ยั่งยืนยาวนาน” (sustainable development) ซึ่งมีเนื้อหากว้างกว่าเรื่องของเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยจะครอบคลุมไปถึงมิติของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตของมวลชนผู้ยากไร้ ในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ใหม่นี้จะเน้นว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาใด ๆ ก็ตามในช่วงเวลาแห่งปัจจุบันจะต้องไม่ทำลายลู่ทางการยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต หลักการปฏิบัติข้อนี้จะมีผลสะเทือนไปถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด นั่นคือ กฎที่บ่งว่าเราจะใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในช่วงปัจจุบันในขอบเขตที่ไม่ทำลายลู่ทาง การใช้ในช่วงอนาคตเมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบเศรษฐกิจของเราจะต้องได้รับการจัดการไปในทิศทางที่เราได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในระดับที่เหมาะสม พอดีพอควรเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการอนุรักษ์และ ปรับปรุงฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชนรุ่นหลังเราสามารถดำรงชีวิต อยู่ต่อไปได้ในอนาคต

สรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ให้ความสำคัญสูงแก่เรื่องความยุติธรรมและความเสมอภาคระหว่างกลุ่มชนต่างยุคสมัย (ปัจจุบันและอนาคต) ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับเรื่องความเท่าเทียมกันของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ในแง่นี้แล้วเราจึงให้ความหมายว่า

“การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน คือ การพัฒนาที่สนองความต้องการและความใฝ่ฝันของผู้คนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำลายโอกาส ความสามารถ และอนาคตของชนรุ่นหลังของเรา

หลักการพื้นฐานของยุทธศาสตร์

สิ่งที่เราต้องเน้นมากที่สุดคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานจะมีแนวทางหลัก 2 ข้อด้วยกัน คือ :

1.   จะต้องมีการสนองความต้องการของมวลชนผู้ยากไร้ ซึ่งถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้งมาตลอดในกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมา
2.   จะต้องมีการวางขีดจำกัดบางอย่าง เพื่อปกป้องพิทักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติในระบบสิ่งแวดล้อมของเรา
สรุปได้ง่าย ๆ คือ การพัฒนา (การผลิต และการบริโภค การดำรงชีวิต) จะต้องมีบรรทัดฐานและวิถีทางภายใต้ขอบเขตของความเป็นไปได้ทางนิเวศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะแยกออกจากกันไม่ได้เลย เศรษฐศาสตร์และนิเวศวิทยาจะต้องรวมเข้ากันเป็น “ศาสตร์แห่งการพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน”

ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั้งยืนยาวนาน อย่างน้อยที่สุดจะต้องครอบคลุม “หลักการพื้นฐาน” ดังต่อไปนี้

1.   ต้องถือว่า การสร้างวัตถุเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการยกระดับชีวิตเป็นอยู่ของมวลชนผู้ยากไร้ ความยากจนที่ดำรงอยู่มีส่วนสำคัญ ในการก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ถูกต้อง
2.   การสนองความต้องการพื้นฐานของมวลชน เป็นภารกิจที่สำคัญ และสามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
3.   ต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต และการบริโภคเพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ
4.   วิถีทางพัฒนาแบบใหม่จะต้องใช้พลังงานแบบน้อยลง และอย่างประหยัด ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น โดยใช้พลังงานในขอบเขตจำกัด
5.   จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การขยายตัวประชากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
หลักการอาจจะมีมากกว่านี้ แต่ 5 ข้อนี้เราถือได้ว่า เป็นหลักการพื้นฐานที่จะเป็นต้องมี และจะต้องได้รับการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน”

เงื่อนไขของการปรับระบบทั้งหมด

การที่เราจะทำให้ “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน” กลายเป็นความจริงได้นั้น เราจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขหลายประการขึ้นมาเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องเปลี่ยนวิธีการคิด การมองโลกและการมองสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติซึ่งจะเป็นการลบล้างวิถีการผลิตและบริโภคแบบเก่า ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเบื้องต้นนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเสียก่อน แล้ววิถีการพัฒนาแบบธรรมชาติจึงจะก่อกำเนิดขึ้นมาได้

นอกจากนั้น ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนทางด้านสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง :

1.   ระบบการเมืองของเรา จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ECO-POLITICS หรือ “การเมืองแนวนิเวศ” ซึ่งเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวสังคม เพื่อเร่งเร้าให้ประชาชนหลายวง การเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางนิเวศของเรา
2.   ระบบเศรษฐกิจต้องมีความสามารถในการผลิตส่วนเกิน ต้องมีประสิทธิภาพมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีความรับผิดชอบในการรักษาฐานทางนิเวศวิทยา
3.   ระบบสังคมจะต้องมีวิธีการแก้ไขความขัดแย้ง อันเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจสังคม (เช่นการแบ่งรายได้) และความขัดแย้งทางนิเวศอันเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติหรือมลภาวะ
เราสามารถสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมาได้หรือเปล่า ?

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่เรียกว่า “ความยั่งยืนทางนิเวศ” (ecological sustainability)
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญแก่สิ่งต่อไปนี้ คือ

o   ต้องมีการประเมินผลทางสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ และในโครงการพัฒนาตามพื้นที่ต่าง ๆ จะต้องมีการจัดการทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
o   หลักการประเมินผลทางนิเวศ ต้องนำมาใช้ในการวางนโยบายและแผนงานหลักด้วย
o   การพัฒนาเทคโนโลยี ต้องมีลักษณะเหมาะสมสอดคล้องกับท้องถิ่น และประหยัดพลังงาน
o   ระบบการอนุรักษ์พลังงานและ Recycling ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
o   จะต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นสมบัติส่วนรวมอย่างจริงจัง เช่น ป่าไม้ ท้องทะเลแม่น้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า “ความยั่งยืนยาวนานทางนิเวศ” ซึ่งก็คือ การประสานกันระหว่างการตัดสินใจทางเศรษฐกิจกับการประเมินผลทางนิเวศนั่นเอง

ความยั่งยืนยาวนานและการพัฒนาแนวนิเวศ

นอกจากเงื่อนไขทางสถาบันหลัก เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย รวมทั้งเงื่อนไขทางด้าน “ความยั่งยืนยาวนานทางนิเวศ” แล้วการพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานยังต้องคำนึงหลักปฏิบัติพื้นฐานบางอย่างอีกด้วย กล่าวคือ

1.   การมองภาพกว้างของสังคม จะต้องเป็นลักษณะระยะยาว (ไม่ใช่ 5 ปีเท่านั้น) การคาดการเกี่ยวกับพัฒนาการ 10 ปี 50 ปี 100 ปีข้างหน้า จะช่วยให้เรามองเห็นทางเลือกของสังคมได้อย่างชัดเจน
2.   การวางแผนวางนโยบาย จะต้องแสดงภาพทั้งหมดของปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกัน (ไม่ใช่มองบางส่วน บางเรื่องเท่านั้น)
3.   วัตถุประสงค์หลักจะต้องเน้นเรื่องการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมให้มีทนทานและแข็งแกร่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ ได้ รวมทั้งต้องแสดงทางเลือกหลายทางไปสู่วัตถุประสงค์ที่วางไว้
4.   เราต้องเข้าใจว่า การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานโดยเนื้อแท้แล้วก็คือการพัฒนาแนวนิเวศ (หรือ Eco-Development) นั่นเอง ซึ่งหมายความว่า เราควรจะใช้ทรัพยากรทังหมดไม่ว่าจะเป็นแรงงานมนุษย์หรือธรรมชาติที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความสุขสมบูรณ์ในระดับที่เหมาะสมโดยให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด
แนวคิดทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมประจำวัน หากแต่เป็นการแสวงหาวิถีแห่งการพัฒนาที่มีมิติกว้างยาวไกล ดังคติพจน์ทางนิเวศที่รู้จักกันดีกล่าวไว้ว่า

“คิดให้กว้างไกล ทำในสิ่งที่ใกล้ตัว !” และ
“คิดให้ยาวนาน ลงมือทำเดี๋ยวนี้ !”

กล่าวโดยสรุปแล้ว การสร้างแนวทางการพัฒนาใหม่ระดับชาติเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากในการวิเคราะห์ที่มองทางด้านมหภาค การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานจะเป็นจริงขึ้นมาได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบกันอย่างกว้างขวาง มีเงื่อนไขทางสถาบันมากมายทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย ซึ่งเป็นการยากมากในภาคปฏิบัติในประเทศไทย แต่แนวคิด “ความยั่งยืนยาวนาน” มีคุณค่าในแง่ที่เป็นการเตือนเราให้คำนึงถึงว่าการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากกันได้เลย

สิ่งที่เป็นไปได้คือ ในระดับจุลภาคเราอาจมีโครงการทดลองบางแห่งบางเรื่องบางพื้นที่ที่เน้นหลักการ “ความยั่งยืนยาวนาน” ได้ เช่น “เกษตรกรรมธรรมชาติ” เมื่อฟูกูโอกะมาเยือนเมืองไทย เขายังมองเห็นศักยภาพการพัฒนาแบบยั่งยืน ระดับจุลภาคในเขตต่าง ๆ ของชนบทไทย

ฟูกูโอกะ มีความเห็นว่า เมืองไทยยังมีไม้ใหญ่สีเขียวอยู่ในนามาก เราสามารถทำเกษตรกรรมธรรมชาติสำเร็จภายใน 4 – 5 ปี สร้างแถบสีเขียวขึ้นในนา โดยการปลุกต้นไม้หลายสิบชนิดขึ้นไป

คุณคำเดื่อง ภาษี ชาวนาที่มีแนวคิดแบบฟูกูโอกะบอกว่า วิธีทำเกษตรกรรมธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ยาก แต่เรื่องยากอยู่ที่ “ใจ” อยู่ที่จิตสำนึกมากกว่า นี่คือปัญหาใหญ่ของการพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน ซึ่งหมายความว่า ท่ามกลางการครอบงำความคิดแบบเก่าที่เน้นการเพิ่มผลผลิตการเพิ่มยอดขายและรายได้ ผู้คนยังหลงอยู่กับเกษตรกรรมแผนใหม่ที่อาศัยปัจจัยเทคโนโลยี เราจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่านักวิชาการเกษตร และผู้วางนโยบายส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า “ข้อคิดทางนิเวศวิทยา ไม่ควรมีความสำคัญอยู่เหนือหลักการของการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ”

ปัญหาเรื่องจิตสำนึกก็เป็นปัญหาของการพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานในระดับมหภาคเช่นเดียวกัน นักนิเวศวิทยา “ชุนเดอลาล บาฮูกูนา” แห่งขบวนการ “โอบกอด” ต้นไม้ในป่าหิมาลัยกล่าวว่า มีแนวคิดจากตะวันตก 3 เรื่องกำลังครอบงำประเทศโลกที่สามอย่างหนาแน่น กล่าวคือ

1.   มนุษย์มองธรรมชาติเป็นสินค้า มีไว้สำหรับซื้อขายหรือทำประโยชน์ทางธุรกิจและการสร้างกำไร
2.   มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติ และพิชิตธรรมชาติ เพื่อสร้างความเจริญทางวัตถุให้แก่ตนเอง
3.   มนุษย์เน้นเรื่องความมั่งคั่งและการเพิ่มวัตถุโภคทรัพย์โดยไม่ต้องคำนึงการสูญเสียทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

แนวคิดทั้ง 3 ล้วนแต่มีส่วนสนับสนุนการทำลายล้างธรรมชาติ ถ้าจิตสำนึกของเรายังถูกครอบงำจากแนวคิดดังกล่าวอยู่ การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยมองจากแง่นี้แล้วเราอาจสรุปได้ว่า การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานต้องมี “จริยธรรมทางสิ่งแวดล้อม” เป็นพื้นฐานทางความคิดนั่นย่อมหมายถึงการปฏิบัติโลกทรรศน์ของเราโดยสิ้นเชิงและแบบถอนรากถอนโคน (ดังที่เราได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วในตอนต้น)


จิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์

ในยุทธศาสตร์ “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน” เราได้ให้ความสำคัญสูงสุดแก่หลักการ “การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และได้มีการย้ำว่า หลักการทั้ง 2 ข้อ “การอนุรักษ์” และ “การพัฒนา” เป็นสิ่งที่มีความสอดคล้องเข้ากันได้ เพราะทั้ง 2 หลักการก็มีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมาย “คุณภาพชีวิตสูงสุดของประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ในภาคปฏิบัติการอนุรักษ์และการพัฒนาอาจมีความขัดแย้งกันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะในสังคมของเรามีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มที่มีเหตุผลและความใฝ่ฝันไม่เหมือนกัน คนบางกลุ่มต้องการให้มีโครงสร้างเขื่อนให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคืน ความมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งต่อต้านการสร้างเขื่อนอย่างเด็ดขาด เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองธรรมชาติ นี่ก็คือเหตุผลเหมือนกันซึ่งเป็นเรื่องของ “ความมีเหตุผลทางนิเวศ” (Eco-Rationality)

ข้อขัดแย้งดังกล่าวปรากฏให้เราเห็นอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานในภาคปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นได้ เราจำเป็นที่จะต้องให้จิตสำนึกใหม่ทรรศนคติแบบใหม่และโลกทรรศน์แบบใหม่กระจายไปสู่กลุ่มชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เราจะต้องถือว่า เป้าหมายสูงสุดของการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อยู่ที่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจหรือธุรกิจ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การผลิตเชิงปริมาณที่สามารถวัดออกมาได้ (เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อเพิ่มเนื้อชลประทาน เพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มกำไรรายได้ ฯลฯ) ความห่วงใยในเรื่องการสูญเสียทางนิเวศและทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ามาก นั่นคือ ผู้คนส่วนใหญ่ต้องมีความใฝ่ฝันร่วมกันในการที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนยาวนานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเรียกร้องให้มีการจัดการทางด้านคุณภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความหมายให้แก่ชีวิตมนุษย์ด้วย
มองจากแง่นี้แล้ว การอนุรักษ์จะกลายเป็นหลักการสำคัญในการสร้างวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมการพัฒนาจะคำนึงถึงหลักการทางนิเวศเหนือสิ่งอื่นใด ค่าของสิ่งแวดล้อมย่อมสูงกว่าค่าของเศรษฐกิจและธุรกิจ สรุปแล้ว ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานต้องการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ บนพื้นฐานของการสร้างจิตสำนึกใหม่ที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ

สังคมแห่งความยั่งยืนยาวนานและนิเวศวิทยาการเมือง

ในปัจจุบันนี้ได้มีการให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังคงดำเนินการเพื่อรักษาระบบเก่าให้ดำรงอยู่ต่อไป การพัฒนายังคงมุ่งไปในทิศทางของการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีการเอ่ยถึงเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างหลักการ “การอนุรักษ์” กับ “การพัฒนา” เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ การตัดสินปัญหาจะจบลงด้วยข้อสรุปที่ว่าความต้องการทางธุรกิจและเศรษฐกิจการผลิตสำคัญกว่าการอนุรักษ์ รายได้ประชาชาติต้องขยายตัวต่อไป การแสวงหากำไรสูงสุดต้องดำเนินต่อไป

แนวคิดและยุทธศาสตร์ “การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนาน” ในความหมายของเราไม่ใช่เป็นการทำระบบเก่าให้มีมิติทางสิ่งแวดล้อม (ตามแบบแฟชั่น) หากแต่เป็นการเสนอแบบจำลองของสังคมใหม่อย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ไม่มีการยึดติดกับระบบที่ดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็น “หนทางสีแดง” (สังคมนิยมแบบสตาลิน อำนาจรัฐนิยมแบบโซเวียต หรือ “หนทางสีน้ำเงิน” (ทุนนิยมเสรี) การพัฒนาแบบยั่งยืนยาวนานต้องการระบบใหม่ซึ่งเป็น “หนทางสีเขียว” (หรือวิถีแห่งนิเวศ)
วิถีการพัฒนาแบบใหม่นี้ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับปรัชญาความคิดทางเศรษฐกิจสังคมทุกแนวที่สนับสนุนให้กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและโลกธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านั้นสามารถกอบโกยความมั่นคั่งจากธรรมชาติเอามาครอบครองเป็นสมบัติของตนแบบผูกขาด และทอดทิ้งให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรม

ทุกวันนี้ จิตสำนึกใหม่แห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติกำลังขยายตัวแพร่กระจายมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ยังคงเดินบนหนทางของการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมต่อไป ความตื่นตัวทางนิเวศยังไม่หยุดยั้งพลังอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนระบบที่ดำรงอยู่ ย่อมไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากกลุ่มพลังอำนาจเหล่านี้ ทั้งนี้เป็นเพราะแนวคิดนี้ต้องการล้มล้างปรัชญาการขยายตัวทางธุรกิจที่ใช้ทรัพยากร ธรรมชาติแบบฟุ่มเฟือยอย่างมากนั่นเอง นอกจากนั้นวิถีทางพัฒนาแบบใหม่นี้ยังเร่งเร้าให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติบนพื้นฐานของความยุติธรรม และความเสมอภาค ซึ่งความคิดทั้งหมดนี้เป็นการท้าทายและกระเทือน “โครงสร้างอำนาจ” ที่ดำรงอยู่โดยตรง แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างระบบใหม่ที่ใช้หลักการ “ความยั่งยืนยาวนาน” จึงต้องพบกับการต่อต้านในภาคปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เหลืออยู่ก็เห็นจะเป็น “ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม” อย่างยั่งยืนยาวนานต่อไป

อ้างอิง : ปรีชา เปลี่ยนพงศ์สานต์. 2547. นิเวศวิทยาการเมืองและมโนทัศน์แห่งความยั่งยืนยาวนาน. [Online]. Available. URL : http://www.seub.ksc.net/datacenter/datacenter10/vision.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...