ผู้เขียน หัวข้อ: ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระพุทธรัตนสถาน พระราชดำริ ร.๙  (อ่าน 6736 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธรัตนสถาน 

เมื่อเดือนก่อน ผมได้ติดตามรายการ จากจดหมายเหตุกรุงศรี ซึ่งนำเสนอในช่วงข่าวภาคค่ำทางช่องเจ็ดสี เป็นตอน ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ภายในพระบรมมหาราชวัง แต่พลาดชมตอนแรกๆ จึงเกิดสงสัยว่าอาคารหลังนี้ตั้งอยู่ส่วนไหนของพระบรมมหาราชวัง จึงลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู พบแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจจากเวบไซต์นิตยสารหญิงไทย *http://www.yingthai-mag.com/detail.asp?ytcolumnid=3328&ytissueid=723&ytcolcatid=2&ytauthorid=265 จึงอยากจะขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้อ่านต่อกันครับ นอกจากนี้ ผมยังต้องการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาศฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีอีกด้วย เพราะภาพจิตรกรรมชุดนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์ท่านครับ :Bauhinia P.



ดังพระราชดำริที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมศิลปากรเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระพุทธรัตนสถาน บริเวณพื้นที่ระหว่างช่องพระบัญชรจำนวน 8 ช่อง เป็นศิลปกรรมที่อนุรักษ์กรรมวิธีดั้งเดิม สอดประสานกับวิวัฒนาการตามยุคสมัย ทำให้สามารถกำหนดลักษณะศิลปกรรมตามแนวพระราชดำรินี้ได้ว่า คือศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 การสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริครั้งนี้ กล่าวได้ว่า เป็นการฟื้นฟูวิชาช่างที่ห่างเหินไประยะหนึ่งให้คงไว้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป

พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง มีอาคารประกอบ ได้แก่ ศาลาโถง 2 หลัง เสาประทีป 4 ต้น


พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 12.5 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ส่วนฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกขาว ที่ช่างเรียกว่า เพชรน้ำค้างหรือบุษย์น้ำขาว น้ำใสบริสุทธ์เอกอุ อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ เดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระพุทธรัตนสถานจึงเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายในตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แม้ในสมัยต่อมา พระมหากษัตริย์จะมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นแต่ก่อน เมื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญในรัชกาล นอกจากจะทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว มิได้เว้นที่จะมากระทำ ณ พระพุทธรัตนสถานตามธรรมเนียม ดังปรากฏพระราชกรณียกิจในหมายกำหนดการ

จนกระทั่งปี พ.ศ.2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดโจมตีกองทัพเรือ และสถานีรถไฟบางกอกน้อยเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์ ระเบิดได้ตกลงที่พระบรมมหาราชวังข้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน 1 ลูก ด้วยแรงสั่นสะเทือนและน้ำหนักของลูกระเบิดทำให้ชายคาและผนังด้านทิศเหนือชำรุด โครงสร้างและส่วนประกอบภายในชำรุดเสียหาย จนกระทั่ง พ.ศ.2492 สำนักพระราชวังจึงได้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากแรงระเบิดก่อน และบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมในปี พ.ศ.2496

ต่อมาในปี พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้กรมศิลปากรเขียนถาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานขึ้นใหม่ แทนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน ช่วงระหว่าง พ.ศ.2488-2499 ด้วยทรงเห็นว่าไม่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภชวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ.2535 ทรงทราบว่ากรมศิลปากรสามารถดำเนินการลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังและอนุรักษ์ของเดิมไว้ได้ กรมศิลปากรจึงรับพระราชกระแสมาดำเนินการ

สำหรับนิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระผนังชุดนี้ ใช้ขั้นตอนการทำงานร่วม 10 ปี นับเป็นศิลปะจิตรกรรมไทยประเพณีแห่งยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง สีสันที่ใช้นั้นสอดประสานกันทั้ง 8 ช่องพระบัญชร โดยใช้สีโบราณ เพราะพระองค์ท่านไม่โปรดสีทันสมัยอย่างสีอะครีลิค ขนาดของตัวบุคคลในภาพก็เป็นมุม ตานกมอง (Bird's Eye View) ให้เหมือนจริงตามบุคคลทั้งในอดีตและปัจจุบัน นับเป็นมิติใหม่ของงานศิลปกรรมไทยที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก โดยจัดแสดง ณ หอศิลป เจ้าฟ้า ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค - 13 มิ.ย เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ปัจจุบันแนวการเขียนแบบโบราณนับวันจะหมดไป เพราะศิลปินยุคใหม่ได้รับอิทธิพลศิลปะสากลจากตะวันตกมาอย่างกว้างขวาง ทั้งรูปแบบ แนวคิด และการใช้สี อีกทั้งโอกาสที่จะสร้างศิลปกรรมแบบโบราณไม่มีแล้ว จึงดูเสมือนว่าศิลปินสมัยใหม่ได้ละทิ้งรูปแบบดั้งเดิมของช่างโบราณไปโดยไม่ตั้งใจ ฉะนั้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 8 ช่อง ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการรักษาแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมประจำชาติไว้ ให้มีความเชื่อมต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ สามารถยึดถือได้ว่า นี่คืองานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 ได้อย่างภาคภูมิ

                      ...มีต่อค่ะ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 1 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 4

พุทธศักราช 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาก่อพระฤกษ์ สร้างพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นปฐม ในบริเวณพระพุทธรัตนสถานมีอาคารประกอบ ที่สำคัญคือ หอระฆัง ศาลาโถงทรงไทย 2 หลัง เบื้องหน้าเบื้องซ้าย

บรรดาช่างหลายประเภท อาทิ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างแกะสลัก ช่างมุก ทั้งในการสร้างฐานชุกชีที่แกะจำหลักด้วยงาช้าง และสร้างบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ภายในพระวิหาร ทุกคนขะมักเขม้นในภารกิจ เป็นบรรยากาศของการทำงานก่อสร้าง ที่สะท้อนให้เห็นสภาพพระบรมมหาราชวัง ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะช่างที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร การแต่งกาย และวัฒนธรรมการเข้าเฝ้าฯ



ช่องที่ 2 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 4

พุทธศักราช 2424 เมื่อก่อสร้างพระพุทธรัตนสถานเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธียกช่อฟ้าพระพุทธรัตนสถาน แล้วโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยจากหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยกระบวนพระอิสริยยศเข้ามาประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน
    ในการพระราชพิธีสมโภช มีมหรสพสมโภชตามแบบโบราณ ได้แก่ การละเล่นของไทย การแสดงอุปรากรจีน เป็นต้น

ภาพตอนบน เป็นภาพริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณไปยังพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน
    ริ้วนำหน้ากระบวนประกอบด้วย กลอง ปี่ชนะ ห้อมล้อมด้วยฝูงชน แสดงวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่างมาเฝ้ากราบไหว้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลตามทางที่กระบวนผ่าน

ภาพตอนกลาง การละเล่นสมโภชตามโบราณราชประเพณีในรัชกาลที่ 4 ได้แก่ งิ้ว ไต่ลวด ไม้สูง ญวนหก เป็นต้น

ภาพตอนล่าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกช่อฟ้าพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน มี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีด้วย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 3 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 5

พุทธศักราช 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลงพระวิหารพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ เพื่อทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานจึงเป็นพระอุโบสถประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในบรมราชจักรีวงศ์ต่อมาทรงผนวช

สมัยนี้ บ้านเมืองในต้นรัชกาล วิถีชีวิตของสังคมไทย โดยเฉพาะการแต่งกาย ยังมีลักษณะเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่พระมหากษัตริย์และราชวงศ์เริ่มมีอิทธิพลตะวันตกบ้าง ส่วนการคมนาคมเริ่มมีรถลาก ซึ่งเรียกว่า 'รถเจ๊ก' เป็นพาหนะ

ภาพตอนบน แสดงวิถีชีวิตของสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เด็กๆกำลังเล่นน้ำ อย่างสนุกสนาน บนตลิ่ง ในศาลาท่าน้ำ แสดงวัฒนธรรมการแต่งกาย เด็กหญิงไว้ผมจุก นุ่งโจง สวมเสื้อ ไม่มีรองเท้า ส่วนเด็กชายไว้ผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ ผมเปีย นุ่งโจงไม่สวมเสื้อและไม่มีรองเท้า ส่วนการสัญจรไปมา เริ่มมีรถลาก มีชาวจีนรับจ้างเป็นสารถี

ภาพตอนกลาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช เมื่อพุทธศักราช 2467 เสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ข้าราชบริพารที่พระระเบียงรอบพระพุทธรัตนสถานเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ภาพตอนล่าง พระราชพิธีผูกพัทธสีมาแปลงพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 4 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรสกับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ พระที่นั่งบรมพิมาน วันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2467 แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาสักการะพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ณ พุทธรัตนสถาน

พุทธศักราช 2460 ประเทศสยามประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับสัมพันธมิตร และส่งกองทัพไทยไปร่วมรบ ณ สมรภูมิในยุโรปก่อนเดินทาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีตัดไม้ข่มนาม ตามโบราณราชประเพณี แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญที่จะออกทำสงครามเพื่อความสวัสดิมงคลแก่กองทัพไทย

ทรงตระหนักว่า ประเทศจำเป็นต้องมีเรือรบที่ทันสมัย มีสมรรถนะสูงทัดเทียมกับเรือรบในประเทศที่เจริญแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ เชิญชวนชาวไทยร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเรือรบ "พระร่วง" ขึ้นไว้แก่แผ่นดินเพื่อป้องกันภัยในน่านน้ำทางทะเล

ในสมัยนี้ การแต่งกายมีอิทธิพลตะวันตกมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระวรราชเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ และเครื่องแต่งกายของไพร่ฟ้าประชาชน

ภาพตอนบน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนากองทัพเรือให้เข้มแข็ง ได้ซื้อเรือตอร์ปิโดด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินบริจาค เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ เรือที่ซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดิน คือ "เรือคำรณสินธุ์" และ "เรือทยานชล" ส่วนเรือที่เรี่ยไรจากประชาชนคือ "เรือพระร่วง" ขึ้นประจำการเมื่อพุทธศักราช 2463

ภาพตอนกลาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยนำประเทศไทยร่วมกับสัมพันธมิตร ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส รุสเซีย สหรัฐอเมริกา อิตาลีและญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2460 เมื่อมหาอำนาจเยอรมนีแพ้สงคราม กองทัพไทยได้เดินสวนสนามฉลองชัยชนะ ในกรุงปารีสด้วย

ภาพตอนล่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรสอย่างธรรมเนียมตะวันตก ทรงพระกรุณาให้ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี คล้องพระหัตถ์ในการเสด็จพระราชดำเนินมาสักการะพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ณ พระพุทธรัตนสถาน และธรรมเนียมที่ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินอย่างใกล้ชิด จะเห็นความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อพระมหากษัตริย์ตลอดมา นั่งคอยเฝ้าฯ อย่างมีระเบียบ มีทั้งผ้ากราบเพื่อทรงประทับ และมาลัยข้อกร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 5 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพเลื่อมใสพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยสืบต่อมา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนครครั้งใด จะเชิญเครื่องบูชามาสักการะสม่ำเสมอ พระราชหฤทัยห่วงใยเด็กเป็นพิเศษ มีพระราชปรารภให้ความสำคัญแก่เด็ก ปลูกฝังความรู้ให้มีการศึกษา โดยเฉพาะยึดมั่นพระพุทธศาสนา สั่งสมความดี เพราะเด็กคือเยาวชนที่จะเติบโตเป็นเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงนำพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา เป็นประจำทุกปี

พุทธศักราช 2475 กรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 150 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน "สมโภชพระนคร 150 ปี" ในการนี้ทรงสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ประกอบด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้าเชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรีให้สามารถสัญจรถึงกัน เป็นการขยายความเจริญของบ้านเมืองให้กว้างขวางขึ้น อันเป็นอนุสรณ์แห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพุทธศักราช 2325

ในพระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 ขณะยังทรงพระเยาว์ ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมในงานพระราชพิธีด้วย

ภาพตอนบน การสมโภชพระนคร 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2475

ภาพตอนกลาง เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาประจำปี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาสู่พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเวียนเทียนร่วมกับฝ่ายใน

ภาพตอนล่าง การเวียนเทียนในการพระราชกุศลวิสาขบูชาร่วมกับฝ่ายในนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงให้เยาวราชวงศ์มาร่วมงานพระราชทานเลี้ยงและแจกหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งประกวดเป็นประจำทุกปี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเด็กอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า วัยเด็กจำเป็นต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เป็นพื้นฐานจิตใจ เสมือนสร้างภูมิจิตใจให้แข็งแกร่ง เตรียมพร้อมกับภาระหน้าที่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่า หนังสือธรรมมะของเด็กเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 7


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 6 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 8

พุทธศักราช 2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดี และ สมเด็จพระอนุชาธิราช ได้เสด็จนิวัตพระนครสู่ประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเป็นพระราชพาหนะ

เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระพุทธรัตนสถานชำรุดเสียหายที่ผนังด้านเหนือจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรนำระเบิดมาทิ้งที่บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ระเบิดบางส่วนตกลงในพระบรมมหาราชวัง บริเวณด้านเหนือพระพุทธรัตนสถานยังมิได้บูรณะตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนคร สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงชี้ร่องรอยชำรุดทอดพระเนตรเพื่อเตรียมการบูรณะซ่อมแซมให้สมบูรณ์ดังเดิม

สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลก เป็นผลกระทบทางการเมืองทำให้ชาวไทยและชาวจีนกระทบกระทั่งกัน มีการลอบทำร้ายถึงชีวิต และเริ่มรุนแรงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง วันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สามารถคลี่คลายปัญหา สลายความบาดหมางสิ้นไป และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันตราบจนปัจจุบัน

ภาพตอนบน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดี รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จนิวัตพระนครเมื่อพุทธศักราช 2488 เสด็จฯมาถึงพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง

ภาพตอนกลาง มุขหลังชั้นบนพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นห้องพระบรรทม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันขณะนั้น สามารถทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานด้านทิศเหนือพังทลาย สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงชี้ส่วนที่ชำรุด เพื่อเตรียมซ่อมบูรณะให้สมบูรณ์

ภาพตอนล่าง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดี และสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวจีนบริเวณสำเพ็ง เพื่อคลี่คลายปัญหากระทบกระทั่งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ยุติราบรื่น สร้างความกลมเกลียวให้บังเกิดขึ้นระหว่างชาวไทยและชาวจีนอย่างมั่นคงตราบจนถึงปัจจุบัน

ย่านที่พำนักอาศัยของชาวจีนคงนิยมนับถือผู้นำ คือเจียงไคเช็ค จึงมีธงประจำชาติจีนประดับคู่กับธงไตรรงค์ได้ปรากฏว่า เป็นที่ปีติยินดีแก่ชาวจีนทั้งหลายอย่างยิ่ง ทุกเคหสถานร้านค้าต่างแต่งตั้งโต๊ะเครื่องสักการะบูชา และออกมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทใกล้ชิดเนืองแน่น ด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯเยี่ยมสำเพ็ง


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 7 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จดำรงสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493

ในรัชสมัยนี้ทรงฟื้นฟูราชประเพณีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ยกเลิกมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมในพุทธศักราช 2503

ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญตามโบราณราชประเพณี เมื่อมีช้างเผือกมาสู่พระบารมี

ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานานาประการ สิ่งสำคัญ คือการฟื้นฟูกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อนำผ้าพระกฐินถวาย ณ วัดอรุณราชวราราม อันแสดงแสนยานุภาพของกองทัพโบราณ เป็นราชประเพณีที่ทำให้ชาวโลกชื่นชมในวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทย

นอกจากนั้น เมื่อมีการจัดพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 ทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า การพระราชพิธีทั้งปวงเสริมสร้างความสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและประชาชนทั้งสิ้น เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การบันทึกไว้ในพระพุทธรัตนสถาน

ภาพตอนบน ในรัชกาลที่ 9 ได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีประจำรัชกาลขึ้นระวาง เรียกว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9" เป็นเรือขนาด 50 ฝีพาย ได้เข้ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อนำผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2535

ภาพตอนกลาง พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ "พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" เป็นช้างเผือกที่เสด็จมาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2502

วันที่ 6 เมษายน 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ พระมณฑปยอดนพปฎลเศวตฉัตร มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

ภาพตอนล่าง พุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อฟื้นการพระราชพิธีที่เสริมสร้างสวัสดิมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารของบ้านเมือง ด้วยชาวไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งได้เลิกร้างไปตั้งแต่ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกรไทยเช่นโบราณราชประเพณี

การพระราชพิธีจัด ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง เป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศ ได้สืบสานต่อมาตราบถึงปัจจุบัน เป็นงานที่นอกจากจะสร้างขวัญแก่เกษตรแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันความเป็นชาติที่รุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่ชาวต่างชาตินิยมมาชมกันกว้างขวาง


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ช่องที่ 8 เหตุการณ์ในรัชกาลที่ 9

เมื่อพุทธศักราช 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนโดยเสด็จออกสีหบัญชรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ การทรงพระผนวชได้เสด็จฯ ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานตามโบราณราชประเพณีครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธศักราช 2506 เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 3 รอบ ได้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการพระราชพิธี โดยจัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

พุทธศักราช 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยเหลือราษฎรด้วยโครงการ "ทฤษฎีใหม่" ให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ โดยรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ขุดสระกักเก็บน้ำฝน ให้ความรู้ในการใช้น้ำกับดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม

พุทธศักราช 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานน้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกรับการถวายพระพรชัยมงคลจากข้าราชการทุกหมู่เหล่า และประชาชน ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

พุทธศักราช 2540 และต่อมาอีกหลายปี ประเทศไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปัญหาของประชาชนทั่วประเทศด้วยการพระราชทานแนวคิดเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้ประชาชนยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อความอยู่รอดและมีศานติสุข

ภาพตอนบน โครงการพระราชดำริ เรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงและการเสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคลในมหามงคลทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบท โดยเฉพาะโครงการตามพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร รู้จักใช้น้ำและดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงกล่าวถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนามผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ ในการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เมื่อดำรงพระยศหม่อมเจ้าสิริวัณณวรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ภาพตอนกลาง วันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธาทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี

เมื่อทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานอีกครั้ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มัคนายกวัดบวรนิเวศวิหาร นำเสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน

ภาพตอนล่าง พุทธศักราช 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 3 รอบ มีพระราชพิธีสำคัญ คือ เสด็จเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณีด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 7 ธันวาคม เป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วย กระบวนพระราชอิสริยยศ ที่พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง ไปทรงสักการบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร นับจากนั้นมามิได้จัดอีกเลย

-http://www.vcharkarn.com/vcafe/56712

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 03, 2012, 01:58:11 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมหาราชวัง

การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมหาราชวัง (พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๗) พระพุทธรัตนสถาน หรือ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม คือพระอุโบสถพระพุทธนิเวศน์แห่งพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเรียกโดยย่อว่าพระพุทธบุษยรัตน์

ตั้งอยู่ในสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมมหาราชวัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาบริเวณสวนศิวาลัยเป็นเขตพุทธาวาส จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรัตนสถานเพื่อเป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ และใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายใน โดยมีความสำคัญรองลงมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรัตนสถานใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆมาโดยตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พระพุทธรัตนสถานเริ่มมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ แต่ทั้งนี้เนื่องจากผนังด้านทิศเหนือระหว่างช่องพระบัญชร ๔ ช่องเสียหายไปมาก ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔ สำนักพระราชวังจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนภาพให้เต็ม โดยให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นหลัก ซึ่งในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รับหน้าที่เป็นแม่กองในการดำเนินการเขียนภาพ ตลอดจนจัดหาช่างเขียนและกำหนดวางองค์ประกอบเรื่องทั้งหมด โดยจัดให้เขียนเป็นภาพพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๙ และสิ้นสุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช รวมเป็นภาพ ๘ ช่องเต็มพื้นที่ผนัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “ จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานนั้น เนื้อเรื่องมิได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งคติช่างไทยแต่โบราณจะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคาร แนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้งกับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ อันเป็นการเขียนภาพแบบไทยประเพณี สมควรรักษาแนวคิดของช่างโบราณ” หากมีการปรับเปลี่ยนงานจิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับภาพตอนบน ก็จะเป็นการถูกต้อง ถือเป็นการเชิดชูงานศิลปกรรมของภูมิปัญญาบรรพชน ดังนั้นในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒ นายนิคม มุสิกะคามะ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นจึงได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางการเขียนภาพโดยมีสาระสำคัญคือ “ขอให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างแต่โบราณ ยึดความถูกต้องตามข้อมูลที่เป็นจริง และไม่ควรสร้างสิ่งผิดให้ปรากฏ”


พระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารชั้นเดียว ยกพื้นสูง แบ่งเป็น ๓ ระดับ หลังคาทรงไทย มีมุขลดทั้งทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผนังประดับด้วยหินอ่อนสีเทา การบูรณะพระอุโบสถระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๗ ประกอบไปด้วย การซ่อมแซมโครงสร้างหลังคา และการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา การขัดล้างทำความสะอาดหินอ่อนที่ผนัง เสา ราวระเบียง พื้นบันได การซ่อมหินอ่อนในส่วนที่ชำรุดทั้งหมด และการปรับปรุงลานหินแกรนิตด้านหน้าพระอุโบสถ

การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากรได้รับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำเนินการอนุรักษ์และเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นผนังระหว่างช่องพระบัญชรทั้ง ๘ ผนัง ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา สำหรับแนวทางการเขียนภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยึดความสำคัญของพระพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ และในขั้นตอนของการร่างแบบนั้น  ทรงเน้นในเรื่องความถูกต้องในรายละเอียดของภาพ และได้ทรงแก้ไขภาพร่างอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและได้พัฒนามาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์นั้น เป็นภาพที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานและพระราชกรณียกิจในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานที่ได้เขียนขึ้นตามแนวพระราดำริ เป็นภาพขนาดกว้าง ๔ ฟุต  สูง ๘ ฟุต มีลักษณะเป็นรูปแบบการแสดงออกในมุมสูง เทคนิคการเขียนสีเป็นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ผสมผานไปกับการกำหนดน้ำหนักอ่อนแก่ แสงและเงา พร้อมทั้งการเขียนรูปทรงของบุคคลตามลักษณะที่เป็นธรรมชาติ และถูกต้องตามหลักกายวิภาค  ภาพสถาปัตยกรรมเขียนรายละเอียดตามลักษณะที่เป็นจริง แต่ใช้หลักทัศนียภาพแบบประเพณีของจิตรกรรมไทย ฉะนั้น จึงเป็นงานจิตรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นจิตรกรรมไทยแนวประเพณียุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๙ การเขียนภาพในขั้นตอนสุดท้ายนั้นใช้เวลาเพียง ๑ ปี คือ เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗



ที่มาภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๘ ช่อง และข้อมูล การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน เขตพระราชฐานชั้นกลาง
นำมาจาก..- http://www.artbangkok.com/?p=6907