ผู้เขียน หัวข้อ: บัญญัติ ปรมัตถ์ สมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ (สุรศักดิ์ เขมรํงสี)  (อ่าน 3603 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ วัดชนะสงคราม

บัญญัติ ปรมัตถ์ สมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํงสี)

"บัญญัติ"
บัญญัติคืออะไร บัญญัติก็คือสิ่งที่เราสมมุติขึ้น
แล้วสมมุติล่ะ คืออะไร สมมุติก็คือสิ่งที่เราตกลงยินยอมกัน

บัญญัติ แยกได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. นามบัญญัติ
๒. อัตถบัญญัติ


******************
นามบัญญัติ
******************

คือ การตั้งชื่อเรียกเป็นภาษาต่างๆ เช่น ชื่อของตัวเรา
โต๊ะ เก้าอี้ (แต่ละภาษาก็เรียกไปแต่ละชื่อ แต่หมายเอา
ถึงสิ่งเดียวกัน) ไม่มีความแน่นอนในการเรียก
ไม่มีหลักเกณฑ์แต่อย่างใด เพราะว่าเป็นเรื่องสมมุติ

การสมมุติอย่างนี้ เอาไว้สำหรับกล่าวขานพูดจากันให้รู้เรื่อง
สื่อความหมายกันเข้าใจ ถ้าหากว่าใครไปเรียกอย่างอื่น
ก็ถือว่าพูดไม่ตรงไม่ถูก พูดไม่ตรงความจริง
ท่านจึงว่า "สมมุตินี้ เป็นเรื่องการป้องกัน การก้าวล่วงมุสาวาท"

******************
อัตถบัญญัติ
******************

คำว่า อัตถบัญญัติ หมายถึง ความหมาย รูปร่างสัณฐาน
ความหมายก็อย่าง รูปร่างสัณฐานก็อย่าง อย่างเช่นว่า
สัณฐานคือ กลม แบน เหลี่ยม
สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขาทำไว้ ก็มีความหมายบ่งบอก
ให้เข้าใจ อย่างเช่น กฎจราจรที่มีเครื่องหมายป้ายบอกว่า
ห้ามเลี้ยวบ้าง หรือว่า ห้ามจอดบ้าง เป็นสัญลักษณ์


******************

บัญญัตินี้ ตรงกันข้ามกับปรมัตถ์

******************
ปรมัตถ์
******************

ปรมัตถ์ ตามความหมายก็คือ ธรรมชาติที่เป็นธรรมอันประเสริฐ
ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใดและเป็นธรรมที่เป็นประธาน
ของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง

ที่ว่าเป็นธรรมอันประเสริฐนั้น ประเสริฐอย่างไร
ประเสริฐก็คือไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงตรงเที่ยงแท้ ไม่มีความ
สลายตัว ก็ไม่ใช่ ยังคงเกิด ดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

แต่ว่าคนละแง่มุม คือ ปรมัตถ์นี้ เขามีลักษณะอย่างไร
ก็จะคงลักษณะของตนไว้อย่างนั้น ไม่มีการผิดแปลก
ผันแปรแต่อย่างใด

เช่น ตา ตาของเราหรือตาของใคร ชาติใด เรียก ตา หรือ eyes
หรืออะไรก็ตาม ก็ยังคงลักษณะตามธรรมชาติที่แท้จริงของ
เขาไว้เสมอ คือ เป็นธรรมชาติในการรับแสงรับรังสี เห็นภาพ

หรือธาตุไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น
ไฟ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ประเทศใด เวลาใด เมื่อใครไปสัมผัส
ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด เด็กหรือผู้ใหญ่

หรืออาจแมวหรือสุนัขไปถูกกับไฟเข้า
ก็จะต้องรู้สึกเหมือนกันหมดคือ ร้อน ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ
จะมีความรู้สึกเหมือนกันโดยไม่ต้องพูดอะไร

นี่เองคือตัว ปรมัตถธรรม ที่เป็นธรรมอันประเสริฐ
ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด



******************
ปรมัตถธรรม
******************


ปรมัตถธรรมจะมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. จิต หรือ จิตปรมัตถ์
๒. เจตสิก หรือ เจตสิกปรมัตถ์
๓. รูป หรือ รูปปรมัตถ์
๔. นิพพาน หรือ นิพพานปรมัตถ์

(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรมัตถธรรมใน  คคห 1 ด้านล่าง )

******************

จาก วิปัสสนาภูมิ
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํงสี)


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




--->>  สมมติสัจจะ
จริงโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ เช่น นาย ก. นาย ข.
ช้าง ม้า มด โต๊ะ หนังสือ พ่อ แม่ ลูก เพื่อน เป็นต้น
ซึ่งเมื่อกล่าว ตามสภาวะหรือโดยปรมัตถ์แล้ว ก็เป็นเพียงสังขาร
หรือนามรูป หรือขันธ์ ๕ เท่านั้น




--->>  ปรมัตถสัจจะ
จริงโดยปรมัตถ์ คือ ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ตรงข้ามกับสมมติสัจจะ
จริงโดยสมมติ เช่น สัตว์ บุคคล ฉัน เธอ ม้า รถ นาย แดง ดำ ขาว เหม็น หอม สวย ดี เลว ฯลฯ


--->>  บัญญัติ
การตั้งขึ้น ข้อที่ตั้งขึ้น การกำหนดเรียก การเรียกชื่อ การวางเป็นกฎไว้ ข้อบังคับ

--->>  ปรมัตถ์
(๑) ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน
(๒) ความหมายสูงสุด ความหมายที่แท้จริง เช่น ในคำว่า ปรมัตถธรรม

--->>  ปรมัตถธรรม
สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด
ตามหลักอภิธรรมว่ามี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

--->>  สมมติสัจจะ
เป็นสัจจะหรือความจริงแบบโลกๆ ความจริงแบบสมมุติ
ความจริงที่มนุษย์ คิดขึ้นเอา แล้วตั้งชื่อเรียกขึ้นมา
ให้ความหมายตามความสามารถที่มนุษย์ จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้
อาทิเช่น ตั้งชื่อสัตว์และสิ่งต่างๆ
เช่น ช้าง ม้า วัว นก ปลา ไก่ สีดำ สีขาว หอม เหม็น รวย จน เก่ง ดี ฯลฯ

--->>  ปรมัตถสัจจะ
เป็นสัจจะหรือความจริงที่เป็นความเป็นจริงจริงๆ ในธรรมชาติ
เป็นความจริง อันเป็นของแท้ในธรรมชาติ
ความจริงเหล่านี้เองที่พระสัพพัญญุตญาณของ พระพุทธเจ้า
สามารถเข้าไปค้นพบและเข้าใจได้ถ่องแท้และได้นำมาเปิดแสดง ให้ผู้คนได้มีโอกาสสัมผัสธรรม
(ธรรม = ธรรมะ = ธรรมดา = ธรรมชาติ) ของแท้ อันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
หรือสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งปวง จะมีก็แต่ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน เพียงสี่อย่างเท่านั้น



--->>>  สรุป
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าว่ากันตามความจริงแท้ๆ หรือมองแบบปรมัตถ์แล้ว
สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีเว้นไม่มีประมาณทั้งในวัฏฏสงสารอันเป็น โลกิยธรรม
(ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ ๕ [หรือก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ นั่นเอง]

ที่ยังมีอาสวะ [อาสวะ = กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิต
เมื่อ ประสบอารมณ์ต่างๆ] ทั้งหมด)
และในส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรม (คือ ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก สภาวะพ้นโลก ก็คือ นิพพาน) นั้น
ทั้งหมดประกอบไปด้วยความจริงอันแท้จริงเพียง ๔ อย่างเท่านั้น คือ

จิต (๑) เจตสิก (๑) รูป (๑) นิพพาน (๑)


โดยที่ จิต เจตสิกและรูป (หรือ= นามกับรูป หรือ กายกับใจ) นั้น เป็นธรรมฝ่ายโลกียะ
หรือ ธรรมฝ่ายทุกข์ ธรรมฝ่ายเวียนว่ายตายเกิด

ส่วนนิพพาน เป็นธรรมฝ่ายโลกุตตระ หรือ เป็นธรรมฝ่ายพ้นโลก ฝ่ายพ้นทุกข์
พ้นจากกิเลสทั้งปวง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ปรมัตถธรรม
มีอยู่ ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน

******************
--->>  จิต
จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ คือ มีการไปรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ


******************

--->>  เจตสิก
เจตสิก คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ ประกอบกับจิต
จิตและเจตสิกจะเกิดร่วมกัน อุปมาจิตเหมือนน้ำใสๆ

เจตสิกเหมือนกับสีต่างๆ เมื่อเราเอาสีเขียวไปใส่ในแก้วน้ำ
แล้วคนๆ น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว แต่ว่าน้ำกับสีก็เป็นคนละอันกัน

อยู่ดี หรือจะเปรียบจิตเหมือนน้ำ เจตสิกเหมือนเครื่องแกง
เมื่อรวมกันก็กลายเป็นน้ำแกง แต่ก็เป็นคนละอันกันอยู่ดี

จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรม เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน

จิตจะเป็นไปต่างๆ ขึ้นกับอำนาจของเจตสิก เจตสิกเป็นเครื่องปรุง
อยากจะให้เป็นแกงอะไรก็ต้องมีเครื่องปรุงของแกงชนิดนั้น

(เช่นโลภะเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับจิต ก็คือ เกิดความโลภ เป็นต้น


******************
--->>  รูป
ลักษณะของรูป รูปมีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป คือ เกิดขึ้นแล้วก็
แตกสลายไป รูปไม่สามารถจะรับรู้ได้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้

ไม่เหมือนจิตเจตสิก เพราะจิตเจตสิกนี่รู้อารมณ์ได้ ไปจับไปรู้อารมณ์ได้
รูป จึงมีหน้าที่เกิดมาแล้วก็สลายตัวไปเท่านั้นเอง

(กายของเราก็เป็นรูป ต้นไม้ก็เป็นรูป ดินก็เป็นรูป น้ำก็เป็นรูป
เป็นต้น - deedi)

******************
--->>  นิพพาน
นิพพาน นั้นมีลักษณะคือ สงบจากรูป นาม ขันธ์ห้า
สงบจากกิเลส คือนิพพานเป็นธรรมชาติที่พ้นจากการถูกปรุงแต่ง

จากเหตุปัจจัยทั้งสี่ (คือ กรรม จิต อุตุ และ อาหาร)
คือ ปัจจัยทั้งสี่ที่จะไปปรุงแต่งให้เกิดขึ้นหรือดับไปนั้นไม่มี

เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดดับ
ไม่เหมือน จิต เจตสิก รูป ซึ่งถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยสี่

นิพพานเป็น อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง
ด้วยปัจจัยทั้งสี่ จึงไม่มีความเกิดความดับ

นิพพานเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก
แต่ว่านิพพานก็มีอยู่โดยความเป็นธรรมารมณ์ คือเป็น
อารมณ์ที่มาปรากฏทางใจ

******************

ปรมัตถธรรม - สิ่งที่เป็นสาระที่แท้จริง
******************
ในร่างกายในชีวิตของเราก็มีจิต เจตสิก รูป ขาดนิพพานไป นอกจากเราจะปฏิบัติวิปัสสนา
ให้ถึงจุดหนึ่งก็จะถึงไปรับ สัมผัสพระนิพพานได้

ใน จิต เจตสิก รูป นี้ เมื่อย่อลงมาแล้วก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ นั่นเอง
ถ้าย่อให้กว้างนิดก็คือ ขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

--->>  สรุปว่า ปรมัตถธรรม (หรือ "สิ่งที่เป็นสาระ" - deedi) ก็คือ รูปกับนาม
 รูป ก็คือธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นมา
ไม่สามารถรับรู้ อารมณ์ได้ ส่วน นาม ก็คือ ธรรมชาติที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้

การเจริญวิปัสสนาจึงต้องกำหนดดูรูปและนามนี้เอง ต้องทิ้งต้องปล่อยจากบัญญัติ
(ที่กล่าวไว้ข้างต้นให้พอเห็นภาพ แล้ว)
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์


เพราะจิตมีความเคยชินอยู่กับ บัญญัติ ถ้าเราเลือกกำหนดไม่ถูกจิตก็จะไปอยู่กับบัญญัติ
ตาม ความเคยชิน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเกิดปัญญารู้ตาม ความเป็นจริง ของธรรมชาติได้



ความเป็นจริงของธรรมชาติ (รูปกับนาม) นี้ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
(พระไตรลักษณ์) นั่นเอง

ถ้ากำหนดสติปัฏฐานอยู่กับรูปนาม (กาย เวทนา จิตและธรรม) แล้ว พระไตรลักษณ์
ก็จะค่อยๆ ปรากฏให้เห็น ด้วยปัญญา รู้แจ้ง
ค่อยๆ นำพาไปสู่ความเบื่อ หน่าย คลาย หลุด และพ้นจากกิเลสในที่สุด

******************
จาก  วิปัสสนาภูมิ
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํงสี)



:http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-30/215970