ผู้เขียน หัวข้อ: Love & Time และ ความรักในทางพุทธศาสนา  (อ่าน 1828 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Love & Time และ ความรักในทางพุทธศาสนา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2012, 10:57:29 am »
อาจารย์วศิน อินทสระ เขียนไว้ในหนังสือ ชีวิตกับความรัก ไว้ว่า

..... ....พุทธศาสนาได้แสดงหลักเอาไว้มากมาย เพื่อให้ชาวโลกได้สมหวังในการดำเนินความรักให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ให้นาวาชีวิตต้องอัปปางลงกลางครัน เช่น การบำเพ็ญกรณียกิจที่เป็นหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ทั้งสองฝ่าย สามีและภรรยา ข้อสังเกตที่เห็นได้ประการหนึ่งก็คือ ควรจะทำความเข้าใจคู่สมรสของตนให้ถ่องแท้ และควรจะพยายามเข้าใจเขามากกว่าที่จะพยายามตั้งความหวังให้เขาเข้าใจเรา ควรทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ ดีกว่าที่จะพยายามให้เขาทำหน้าที่ของเขาให้สมบูรณ์ โดยที่ตัวเรายังบกพร่องอยู่นานาประการ ตัวเราก็ยังบกพร่องอยู่มากมาย แต่ว่าต้องการที่จะให้อีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ หรือว่าถ้าเป็นเพื่อนกัน เราก็ควรจะตั้งความหวังว่า ทำอย่างไรเราจะเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคนหนึ่ง ไม่ได้คิดอยู่แต่ว่าทำอย่างไรเราจะได้เพื่อนที่ดีสักคนหนึ่ง   

แทนที่จะคิดว่าทำอย่างไรคนนั้น คนนี้ จะมาเป็นเพื่อนที่ดีของเรา เรากลับคิดเสียใหม่ว่า ทำอย่างไรเราจะเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคนหนึ่ง เมื่อคิดอย่างนี้เราควบคุมได้ แต่ถ้าคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ทำอย่างไรคนคนนี้จะเป็นมิตรที่ดีของเรา อันนี้เราควบคุมไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวเขา หรือถ้าเป็นสามีก็คิดว่า ทำอย่างไรเราจะเป็นสามีที่ดีของภรรยา ทำหน้าที่ของสามีที่สมบูรณ์ ไม่ให้เขาเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่ มีความรับผิดชอบ ภรรยาก็เหมือนกัน ให้คิดแต่ว่าทำอย่างไรเราจะเป็นภรรยาที่ดีของเขา อย่างนี้ต่างคนต่างคิด ก็จะเกื้อกูลกัน คิดปรับปรุงตัวเอง ปัญหามันจะค่อย ๆ น้อยลง   

อาการแปรแห่งรัก

คือความรักแบบเสน่หา ก็อาจจะแปรเป็นมิตรภาพได้ ในกรณีที่ความรักนั้นถูกขัดขวาง ไม่ได้ดำเนินไปตามทางที่มุ่งหมายไว้แต่แรก ความรักแบบเสน่หาจะกลับเป็นมิตรภาพได้ แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็เฉพาะคนที่มีใจสูงเท่านั้น คนที่มีใจสูงไม่พอไม่อาจทำได้ ส่วนมากเมื่อไม่สมหวังในความรักเสน่หา ก็จะแตกหักไปเลย คือไม่เกี่ยวข้องกันอีก อาจจะด้วยความละอายต่อกัน หรือว่าอาจเป็นความช้ำใจ จึงไม่อยากจะพบเห็นกันอีก มีกรณีหนึ่งคือ มิตรภาพที่แปรเป็นความรักก็มี นี่ตรงกันข้ามนะครับ มิตรภาพที่แปรเป็นความรักอันนี้พบได้บ่อย และพบได้เสมอ ชายหญิงที่คบกันอย่างเพื่อน หรือนับถือกันอย่างเพื่อนหรือพี่น้อง ในระยะเริ่มต้น แต่พอนานเข้า ความเห็นอกเห็นใจ ความนิยมชมชอบ หรือความเสน่หาเพราะความใกล้ชิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็จะทำให้ทั้งสองรักกันอย่างคู่รัก และก็ลงท้ายด้วยการแต่งงาน ความรักที่มีจุดมุ่งหมาย แสวงหาความรักจากผัสสะ จะลงเอยด้วยการแต่งงาน   

เมื่อแต่งงานนานไป ความรักอันตื่นเต้นทางประสาทสัมผัสก็จะลดลง เจือจางลง ถ้ามีคุณธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็จะกลับไปเข้มข้นทางมิตรภาพ จะเห็นอกเห็นใจกัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ข้อนี้ทางศาสนาพระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองว่า คู่ครองนั้นเป็นเพื่อนอย่างยิ่ง จะเป็นภรรยาหรือสามีก็ตามเถิด “ภริยา ปรมา สขา.....แปลว่า ภริยานั้นเป็นเพื่อนอย่างยิ่ง” และอันนี้ก็น่าจะหมายถึง ภริยาหรือสามีที่ดีเท่านั้น   

ภรรยาหรือสามีที่ไม่ดีก็จะเป็นศัตรูที่ร้ายกาจเหมือนกัน ดูไปแล้วก็คล้าย ๆ กับมีงูพิษอยู่ในบ้าน น่าระแวง น่าเกรงภัย มีตัวอย่างให้ดูมากมายอยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มีงูพิษอยู่ในบ้าน แทนที่จะเป็นเพื่อนอย่างยิ่งหรือเป็นกัลยาณมิตรที่ยอดเยี่ยม กลับกลายเป็นข้าศึกหรือศัตรูที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องทนทุกข์ทรมาน อกไหม้ไส้ขมไปตลอดชาติ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรักก็เป็นเรื่องเสี่ยงมากในลักษณะนี้ แต่ถ้ามันจะต้องทนอยู่อย่างทุกข์ทรมาน จะต้องอยู่กับงูพิษ ก็เลิกไปจะอยู่ทำไม เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นทุกข์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะทนทุกข์ทรมานกับเรื่องอย่างนี้ มันมีเรื่องอะไรที่ดี ๆ ที่ควรจะทำกว่านี้อีกมากมาย   

อาการแปรแห่งความรักที่มาจากความรักแบบเสน่หา ความรักแบบหญิงชายมาเป็นมิตรภาพหรือไมตรี อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ไมตรีเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คนที่เคยรักกันแบบหนุ่มสาว ถ้าเผื่อว่าการดำเนินความรักเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป หรือเหตุใดเหตุหนึ่ง มันก็ควรจะแปรให้มันเป็นมิตรภาพ เพราะว่าความรักในแบบมิตรภาพนั้นเป็นความรักที่ดี ก็พยายามทำให้ได้ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ถึงอย่างไรก็รักสุข เกลียดความทุกข์ด้วยกัน แต่ว่านิสัย ใจคอ อุปนิสัยต่าง ๆ มันเป็นไปไม่ได้ เข้ากันไม่ได้ อะไรกันไม่ได้ บางคนต่างคนต่างก็ดีทั้งสองคน เขาก็ดีอย่างเขา เราก็ดีอย่างเรา แต่พอรวมกันแล้วไม่ดี มันก็แยกกัน พอแยกกันต่างคนต่างก็ดี รวมกันแล้วมันผิดพลาดไม่ตรงกัน จะไปดีกับคนอื่น เหมาะกับคนอื่น แต่ว่าไม่เหมาะกับเรา รวมความว่าจับคู่ผิด เพราะฉะนั้นก็เลิกไป ให้เหลือไมตรีจิตเอาไว้ ไม่ถึงกับต้องเป็นศัตรูกัน... ... ...
 

         


           

พระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) ได้เขียนบทความในหนังสืออภัยทาน รักบริสุทธิ์ ว่า

"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้คนเข้าใจว่า ... ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ... มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงปฏิเสธความรัก มองโลกในแง่ร้าย แต่เพราะพระองค์ทรงมองเห็นว่า โลกเป็นอนิจจัง มีการพลัดพราก หล่นหาย ไปจากกันได้ เมื่อเรารักสิ่งใด หากสิ่งนั้นหลุดมือเราไป เราก็เป็นทุกข์ เพียงสร้อยคอถูกโขมยไป เราก็เสียใจไปหลายเดือน นับประสาอะไรกับการค้องสูญเสียสิ่งอื่นที่มากกว่า

พระองค์จึงทรงสอนให้มีสติในรัก แม้จะเป็นรักที่บริสุทธิ์ เช่น รักของพ่อ แม่ ลูก ก็ตาม ทุกอย่างล้วนแฝงไว้ด้วยการพลัดพรากทั้งสิ้น ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ จึงเป็นอมตวาจาที่ไม่มีทางคัดค้านได้

ขอให้เราทั้งหลายมาทำความเข้าใจในคำว่า "รัก" จะเป็นรักที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของพ่อแม่ลูกก็ตาม หรือเป็นรักที่ร้อนแรง หรือร้อนรนก็ตาม เราต้องตามให้ทัน อารมณ์รักมักเป็นอารมณ์สุดโต่ง เป็นอารมณ์ที่อยู่เหนือความเป็นจริง ขอให้พิจารณาให้ดีว่า ทุกครั้งที่เรารักใคร หรือรักอะไร อารมณ์เราจะเบิกบาน ชื่นบาน ตัวเบา วาบหวิวผิดปรกติ เป็นอารมณ์ดีใจที่ได้มา เหมือนได้ครอบครองอะไรไว้ เหมือนมีทิพยสมบัติอยู่กับเรา แต่ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าได้อะไรมา ครอบครองอะไรไว้ ต่อเมื่อสิ่งนั้นหลุดลอยไปจึงฟื้นสติขึ้นมาได้ เสียใจ โศกเศร้า พิไรรำพัน อาลัยอาวรณ์ อารมณ์รักสุดโต่งอย่างนี้ท่านจึงบอกว่า รักมากทุกข์มาก ทุกข์เพราะตามอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน... ... ..."

 



๒.jpg [ 27.48 KiB | เปิดดู 967 ครั้ง ]
 

             

อ่านแล้วนึกถึง “ความรัก” ในอีกแง่มุมหนึ่งขอนำมาฝากครับ คัดย่อ เรียบเรียง จากบางส่วนของ
ความรักในทางพุทธศาสนา พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จากธรรมกถาในวันมาฆบูชา ปี ๒๕๔๔ เรื่อง ความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย

ความรัก...ในความหมายที่แท้คืออยากเห็นเขาเป็นสุข เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก ก็คืออยากเห็นลูกเป็นสุข แต่ยังมีความรักอีกแบบหนึ่ง คือความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเองเป็นสุข อย่างนี้ไม่ใช่รักเขาจริงหรอก เป็นความรักเทียม คือราคะนั่นเอง   

ความรักมี ๒ ประเภท คือ

๑. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข ความรักแบบนี้ ต้องได้ ต้องเอา ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ หรือต้องมีการแย่งชิงกัน ความรักประเภทนี้คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น “ความรักระหว่างเพศ” หรือความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชม ติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชน ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตัวเอง ที่แท้แล้วคือการคิดจะเอาจากผู้อื่น จึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน 

นอกจากนั้นเนื่องจากมุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้า เป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกันเข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือความหึงหวง ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีการยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยว หรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่ ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัวและต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัวผู้เดียวนี้ แสดงออกทั้งทางกายและทางใจ ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวอย่างที่เรียกว่า หวงผัสสะ ส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้องการความเอาใจใส่ ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉันอย่าปันใจให้คนอื่น 

ความรักแบบนี้มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหน เห็นแก่ตัว หรือความหึงหวง จึงอาจทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งบางทีก็ถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่ หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภ แล้วพยายามแสวงหาอะไรต่าง ๆ มุ่งแต่จะกอบโกยเอามาเพื่อตัวเอง และเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก 

ที่ว่ามานี้คือโทษประการต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบของมันก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตนเอง คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ ยังไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ จะมีความรักประเภทนี้ก่อน แต่เมื่อความเป็นมนุษย์พัฒนาขึ้น ก็จะมีความรักที่แท้จริงในข้อต่อไปมากขึ้นคือ 

๒. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุข พออยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข พอทำให้เขาเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุข พอทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย จึงเป็นความรักที่พร้อมจะให้และสุขด้วยกัน ความรักที่อยากให้เขามีความสุข หรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใครก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข 

ลองถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข การที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้ เป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้ ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขแล้ว มันก็มีความยั่งยืนมั่นคง เมื่อเขาได้ความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมา ความรักของเราก็กลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ 

ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ราคะ” หรือ “เสน่หา” ส่วนความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง “ไมตรี” ทีนี้ ถ้าหากว่าคนที่เรารักนั้น เขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ ลำบาก เดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น “กรุณา” คือความสงสารคิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมี เมตตา – กรุณา เป็นคู่กัน 

นี่คือลักษณะของความรักสองแบบ รักแบบอยากให้เขามีความสุข กับ รักแบบจะหาความสุขจากเขา หรือเอาเขามาทำให้เรามีความสุข เรียกเป็นคำศัพท์ว่า รักแบบเมตตา กับ รักแบบราคะ/เสน่หา ความรักที่พึงประสงค์ คือความรักประเภทที่ ๒ ซึ่งเป็นความรักแท้ ได้แก่ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข เวลานี้เรามีวันแห่งความรัก แต่ไม่รู้ว่าเป็นรักประเภทไหน รักจะได้เอาเพื่อตนเอง หรือ รักอยากให้เขาเป็นสุข ก็ไปพิจารณาให้ดี .........   

พระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่า ในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้น มีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือการพัฒนาชีวิต อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่ง ที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง เราก็เอาหลักการสองอย่างนี้มาใช้ โดยวางวิธีการว่าทำอย่างไรจะให้เกิดผลดี กรณีที่มีความรักแบบที่ว่าตามธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีครอบครัว ก็กำหนดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เกิดโทษแก่ผู้อื่น แก่สังคม แต่ให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและแก่สังคมนั้น อย่างน้อยก็แก่ทั้งสองคนนั้นแหละ ให้เขาอยู่ด้วยกันด้วยดีมีสุข อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง 

สำหรับขั้นนี้ก็มีคำแนะนำให้ว่าควรจะพัฒนาจิตใจอย่างไร พร้อมทั้งหลักการในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้มีผลดีทั้งต่อระหว่างสองคน และในแง่ของแต่ละคน โดยคำนึงถึงจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะความสุขของแต่ละฝ่าย ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างด้วย รวมทั้งถ้าเขามีบุตรก็ให้เป็นประโยชน์แก่บุตรหลานของเขาต่อไปด้วย 

ที่เหนือกว่านั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาขึ้นไปให้สามารถมีความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ให้มีความรู้สึกที่ประณีตดีงาม ชนิดที่เป็นคุณธรรมเข้ามาเสริมคุณค่าของความรักแบบแรกนี้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นความรักแบบที่สอง และเมื่อความรักแบบที่สองนี้เจริญงอกงามมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความรักแบบที่หนึ่งประณีตงดงาม จนกระทั่งแม้เมื่อไม่สามารถอาศัยความรักแบบที่หนึ่งต่อไปได้ ก็ยังมีความรักประเภทที่สองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดไป 

เป็นอันว่า สำหรับความรักประเภทที่หนึ่งนี้ ท่านก็ยอมรับแต่จะต้องให้อยู่ในกรอบ หรือในขอบเขตที่ดีงาม แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ จึงต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป ในทางพุทธศาสนา ท่านพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งในแง่ข้อดีหรือคุณ และข้อเสียหรือโทษ คือข้อบกพร่อง แล้วก็บอกทางออกหรือทางแก้ไขให้ด้วย อันนี้เป็นหลักในการพิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้เราปฏิบัติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยสติและปัญญาอย่างรอบคอบ ที่จะแก้ไขปัญหาได้และเข้าถึงประโยชน์สุขที่แท้จริง   

 
  ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=27&t=26980