ผู้เขียน หัวข้อ: ในหลวงทรงตั้งมูลนิธิสู้ภัยน้ำ มูลนิธิอุทกพัฒน์  (อ่าน 2686 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ในหลวงทรงตั้งมูลนิธิสู้ภัยน้ำ

ใช้ชื่อมูลนิธิอุทกพัฒน์พระราชทานทุน 84 ล้าน ดูแลบริหาร-จัดการน้ำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 84 ล้าน บาท ตั้ง “มูลนิธิอุทกพัฒน์” พร้อม ให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายประจำมูลนิธิ ทำหน้าที่บริหารและจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ขณะที่ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยสถานการณ์น้ำปีนี้น้ำมากแต่ไม่เท่าปี 2554 แนะให้เร่งระบายน้ำในลุ่มน้ำยมให้ทันเดือน ส.ค. ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเดือน ก.ย. พร้อมติดระบบโทรมาตรเตือนภัยแม่น้ำสายสำคัญ 80 สถานี ระบบกล้องวงจรปิดที่ประตูน้ำสายสำคัญ 216 ตัว เชื่อมต่อข้อมูล 9 หน่วยงานรัฐด้านน้ำเตรียมรับมือน้ำท่วม มั่นใจทำเสร็จหมดในเดือน ส.ค.นี้

ความคืบหน้าในการเตรียมรับมือน้ำท่วมไทยในปีนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.หลังได้รับการเปิดเผยจากนายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) องค์การมหาชน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 84 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในการก่อตั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ตามที่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ขอพระราชทาน พร้อมทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิอุทกพัฒน์อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ ยังพระราชทานตราประจำมูลนิธิอุทกพัฒน์ ซึ่งทรงให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายประจำมูลนิธิด้วย โดยชื่อของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Utokapat Foundation Under The Royal Patronage of H.M.THE KING) นำมาจากคำ 2 คำ รวมกัน คือ “อุทก” แปลว่า “น้ำ” ขณะที่ “พัฒน์” มาจากคำว่าพัฒนา มีความหมายว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเรื่องน้ำ และถือเป็นมูลนิธิเกี่ยวกับน้ำมูลนิธิแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายรอยลกล่าวอีกว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์จะทำหน้าที่บริหารและจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่ทำงานด้านน้ำเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปในทิศทางถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เนื่องจากบทเรียนจากเหตุการณ์นํ้าท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศค่อนข้างมีปัญหา ตั้งแต่แม่น้ำสายใหญ่ๆ จนถึงน้ำชุมชน นอกจากนี้ มูลนิธิจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวิจัยด้านน้ำรวมทั้งให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพราะงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำของประเทศไทยมีน้อยมาก แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ งานวิจัยเรื่องน้ำที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำกรณีศึกษา หรือบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นงานวิจัย ซึ่งไม่มีเรื่องใหม่ๆเลย เช่น อยากจะรู้ว่าเขื่อน 1 เขื่อน มีการบริหารจัดการน้ำอย่างไรและถ้าเขื่อน 5 เขื่อนต้องปล่อยน้ำออกมาพร้อมๆ กันจะบริหารอย่างไร เป็นต้น งานวิจัยแบบนี้จะไป หาที่ไหน ทั้งนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธาน ส่วนสถานที่ตั้งกำลังเลือกอยู่ว่าจะอยู่ตรงไหนระหว่างสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กับมูลนิธิชัยพัฒนา แต่อย่างไร ก็ตาม ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ จะมีการเปิดตัวมูลนิธิอุทกพัฒน์อย่างเป็นทางการ

ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำด้วยว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ยืนยันว่าปริมาณฝนจะตกมาก แต่จะน้อยกว่าปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,500-1,600 มิลลิเมตร ขณะที่ปี 2554 มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,800 มิลลิเมตร แต่อย่างไรก็ตามให้รอดูปริมาณฝนที่ตกในภาคใต้ในสัปดาห์นี้ ต่อเนื่องถึงต้นเดือน พ.ค.ว่าจะมากหรือน้อย จากนั้นจึงสามารถบอกได้ชัดเจนว่าปริมาณฝนจะเป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ โดยปีนี้ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจะมีความรุนแรงต่อประเทศไทยเหมือนปี 2551 เคยเกิดพายุ 3 ลูก แต่ปีนี้อาจจะแรงกว่า ทั้งนี้ ลมมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกของไทยมีฝนตกหนักกว่าปกติ ตั้งแต่เข้าฤดูฝนเดือน ก.ค.-ส.ค.รวมทั้งภาคกลางฝนจะมากด้วย ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยม มีปริมาณมากถึง 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ต้องเร่งระบายให้ทันในเดือน ส.ค.ก่อนจะเข้าฤดูฝนเต็มที่ในเดือน ก.ย.

นายรอยลกล่าวอีกว่า ปริมาณฝนในเดือน ก.ย. จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมคือ การระบายน้ำต้องให้ทันกับปริมาณฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในส่วนของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ ได้มีการเตรียมความ พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เช่น การติดตั้งโทรมาตรหรือระบบเตือนภัยในลำน้ำสายสำคัญของกรุงเทพ– มหานครและจังหวัดในลุ่มน้ำสำคัญ อาทิ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำโขงอีสาน-ลุ่มน้ำภาคใต้

ชายฝั่งทะเลตะวันตก ลุ่มน้ำภาคใต้ชายฝั่งทะเล ลุ่มน้ำภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งสิ้น 80 สถานี การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ประตูน้ำสายสำคัญ จำนวน 216 ตัว เช่น ประตูน้ำ, สถานีสูบน้ำ กทม. และคันกั้นน้ำสำคัญ และโครงการติดตั้งระบบเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติในพื้นที่นำร่อง จำนวน 70 บาน พร้อมเรดาร์วัดระดับน้ำหน้าและหลังบานประตู เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถควบคุมการปิด-เปิดประตูน้ำได้จากระยะไกล การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนา ที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีข้อมูลน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำรวจระดับแม่น้ำและคลองสายสำคัญ พร้อมจัดทำแผนที่แสดงความลึกของแม่น้ำลำคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3,500 กิโลเมตร จากลำน้ำสายสำคัญ 5,600 กิโลเมตร เพื่อประเมินศักยภาพระดับท้องน้ำในลำน้ำหลักๆ ที่เป็นทางระบายน้ำลงสู่ทะเล เป็นต้น การดำเนินการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้ทันกับการรับมือฤดูฝนราวเดือน ก.ย.นี้

-http://www.thairath.co.th/content/newspaper/254969-

.
http://www.thairath.co.th/content/newspaper/254969

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)