คลายวิถีทุกข์ด้วยธรรมะ > ธรรมะเสวนา
ปรัชญา: อิสรภาพของอิสรชนในคัมภีร์จวงจื๊อ
ฐิตา:
บทสรุป
มนุษย์เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ในวิถีทางของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เท่านั้น เราจะถามไถ่ถึงอิสรภาพได้อย่างไรในเมื่อเราเองก็อยู่ภายใต้กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอันไม่จบสิ้นของธรรมชาติ การหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนของฤดูกาล การแก่เฒ่าร่วงโรยของร่างกายไปตามอายุขัย หรือการตายลงเมื่อถึงเวลาอันควร ภายใต้ความเป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างไรที่เราจะคิดไปถามไถ่ถึงสภาวะแห่งอิสรภาพ ซึ่งนั่นเป็นเพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นไปอย่างอิสระเสรีที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า อิสรภาพในปรัชญาของจวงจื๊อคือการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความเป็นกฎเกณฑ์ หรือโลกทัศน์อันจำกัดไปสู่สภาวะตามธรรมชาติโดยที่ไม่เข้าไปก้าวก่ายจัดระเบียบหรือสร้างกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้นมาเพื่อพันธนาการมนุษย์
การสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ ขึ้นมาซ้อนทับวิถีทางแห่งธรรมชาตินี้ จะทำได้อย่างมากก็เพียงแค่ได้เข้าใกล้กับความเป็นจริงของธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นการดีกว่าหรือ หากเราจะปล่อยสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ หรือตามวิถีทางของเต๋า ตัวอย่างเช่น การปล่อยต้นไม้ให้ได้เติบใหญ่และแผ่กิ่งก้านของตนเองได้อย่างตามใจชอบ การปลดปล่อยให้เต่าที่ไม่หวังจะให้ใครมาบูชากระดองของตนได้เดินเล่นกระดิกหางอยู่ในโคลนตม หรือการปลดปล่อยให้มนุษย์ได้เป็นมนุษย์ที่แท้และได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติที่แท้จริงสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสมือนกับความหมายของอิสรภาพที่แท้จริงหรือเป็นอิสรภาพของอิสรชนที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์จวงจื๊อ
“มนุษย์ที่แท้นั้นอัศจรรย์นัก แม้ทุ่งใหญ่ที่มีเพลิงโหมก็มิอาจทำให้รู้สึกร้อนได้ มหานทีที่แม้น้ำจับแข็งจนทั่วธารก็มิอาจส่งให้รู้สึกหนาวเย็นได้ แรงอสุนีบาตที่ผ่าแยกขุนเขา มหาวาโยที่สั่นสะเทือนท้องสมุทร ล้วนมิอาจสร้างความหวั่นไหวให้ได้ บุคคลเยี่ยงนี้แลที่ดั้นเมฆโดยสารตะวันแลดวงเดือนท่องเที่ยวไปยังโพ้นทะเลทั้งสี่ กระทั่งจะตายหรือเป็นก็มิอาจทำให้ต้องหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงตัวตนของตน จะกล่าวไปไยถึงแค่เรื่องคุณเรื่องโทษ”16
1. สุวรรณา สถาอานันท์, กระแสธารปรัชญาจีน:ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543 ,หน้า 98.
2. ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์,คัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ, แปลและเรียบเรียง,กรุงเทพฯ ,สำนักพิมพ์เคล็ดไทย,2540,หน้า 1.
3. อ้างแล้ว,หน้า 19.
4. อ้างแล้ว,หน้า 135-137.
5. James D. Sellmann ,Tranformational Humor in the Zhuangzi, in Roger T. Ames (ed).Wandering at Ease in the Zhunagzi,New York Pres,1998,pp.169.
6. อ้างแล้ว,หน้า 121-122.
7. หมายถึงการปลดปล่อยมนุษย์จากความกลัวตาย.
8. อ้างแล้ว,หน้า 164.
9. อ้างแล้ว,หน้า 158.
10. Antonio S. Cua ,Forgetting Morality:Reflections on a theme in Chuang Tzu,in Journal of Chinese Philosophy,vol.4 (1997),pp.305-328.
11. ผู้เขียนมีความเห็นว่าการกระทำของผู้ที่มีจิตใจปลอดโปร่ง (clarity of mind) นี้หมายรวมไปถึงจิตใจที่ปราศจากสิ่งที่เป็นความหม่นหมองต่างๆด้วยเช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเป็นจิตเดิมแท้ในความหมายของนิกายเซน ซึ่งจากการกล่าวในเรื่องนี้ของจวงจื๊อมีลักษณะที่อาจตีความให้เข้าใจเช่นนั้นได้.
12. อ้างแล้ว,หน้า 26.
13. อ้างแล้ว,หน้า 140-145.
14. อ้างแล้ว,หน้า 62.
15. อ้างแล้ว,หน้า 124.
16. อ้างแล้ว,หน้า 50-51.
***เรียบเรียงจากรายงานวิชาปรัชญาจีน
โดย: dreamingbutterfly
-http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=easywandering&month=02-2009&date=06&group=1&gblog=83
ฐิตา:
มนุษย์ที่แท้ 1
มนุษย์ที่แท้แต่โบราณไม่พิศมัยชีวิต
ไม่เกลียดชังความตาย
เขาถือกำเนิดอย่างปราศจากความยินดี และกลับคืนไป
อย่างไม่เศร้าอาลัย
เขามาในพริบตา และจากไปในพริบตา
เขาไม่ลืมแหล่งที่มาของตน
ไม่พยายามค้นหาตำแหน่งแห่งที่อันเป็นจุดจบ
พึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับและหลงลืมมันไป
ด้วยเหตุนี้ จิตใจของเขาจึงลืมหมดสิ้นทุกอย่าง
ใบหน้าสงบ หน้าผากกว้าง
เยือกเย็นราวฤดูใบไม้ร่วง อบอุ่นราวฤดูใบไม้ผลิ
ความเบิกบานและความขุ่นเคืองใจของเขาซึมซ่านอยู่ในฤดูทั้งสี่
เขาดำเนินการอยู่ในความถูกต้องชอบธรรม
และไม่มีใครอาจหยั่งวัดขอบเขตของเขา
***********************
มนุษย์ที่แท้ 2
มนุษย์ที่แท้แต่โบราณนอนหลับโดยไม่ฝัน
ตื่นขึ้นโดยไม่วิตกกังวล กินอาหารโดยไม่ใส่ใจในรสชาติ
ลมหายใจของเขามาจากเบื้องลึกภายใน
เขาหายใจจากส้นเท้า
ขณะที่ผู้คนทั่วไปหายใจจากลำคอ
คนทั่วไปเมื่อพ่ายแพ้ก็เค้นคำพูดออกมาดั่งสำรอก
ลุ่มหลงในความปรารถนาและความใคร่อยาก
คนเหล่านี้ล้วนตื้นเขินในหนทางปฏิบัติแห่งฟ้า
******************
มนุษย์ที่แท้ 3
มนุษย์ที่แท้แต่โบราณไม่ต่อต้านความขัดสน
ไม่ยินดีในความมั่งคั่ง ไม่วางแผนการ
มนุษย์เยี่ยงนี้อาจทำผิด ทว่าไม่เศร้าเสียใจ
อาจประสบความสำเร็จ ทว่าไม่ลำพอง
มนุษย์ที่แท้ป่ายปีนสู่ที่สูงชันโดยไม่หวาดหวั่น
โจนสู่นทีโดยไม่เปียกปอน
เข้าสู่กองเพลิงโดยไม่มอดไหม้
ความรู้ของเขา อาจนำไปสู่มรรคาแห่งเต๋า ด้วยอาการดังนี้
******************
มนุษย์ที่แท้ 4
มนุษย์ที่แท้แต่โบราณ สูงตระหง่านและไม่อาจโค่นล้ม
ดูเหมือนขัดสน แต่ไม่ต้องการสิ่งใด
สง่างามในความถูกต้อง แต่ไม่ดื้อรั้น
ยิ่งใหญ่ในความว่างเปล่าและไม่โอ้อวด
ยามนุ่มนวลเบิกบานก็แลดูมีความสุข
แม้ไม่เต็มใจก็ยังช่วยเหลือในกิจการงาน
ยามหงุดหงิดรำคาญแสดงออกทางสีหน้า
ยามผ่อนคลายก็พักผ่อนในคุณธรรมตน
อดทนข่มกลั้นจนคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของโลก
ผงาดเงื้อมจนไม่มีสิ่งใดอาจเหนี่ยวรั้ง
ยามปลีกเร้นก็คล้ายดั่งจะตัดขาด
ยามครุ่นคิดก็คล้ายลืมสิ่งที่จะเอ่ยออกมา
******************
ฐิตา:
การสัญจรของผู้เก็บเกี่ยวสัจจะ
ชื่อเสียงเป็นอาวุธของสังคม อย่าได้ใฝ่หามันบ่อยครั้ง
มนุสสธรรมและครรลองธรรม
เป็นกระท่อมฟางของกษัตริย์ในอดีต
ท่านสามารถเข้าไปพัก
เพียงชั่วคืน หากมิอาจดำรงอยู่เนิ่นนาน
มนุษย์ที่แท้ใช้มนุสสธรรมเป็นเส้นทางชั่วคราว
ใช้ครรลองธรรมเป็นโรงเตี๊ยมที่พักพิง
หากสัญจรไปมาอย่างอิสระ กินอยู่อย่างง่ายๆ ในท้องทุ่ง
เดินชมอุทยานที่มิใช่ของผู้ใด
เขาไปพำนักอยู่ในอกรรมอย่างอิสระสุข
เรียบง่ายสามัญ ไม่สั่งสมเก็บงำ จึงไม่ต้องมอบสิ่งใดออกมา
ผู้คนโบราณเรียกสิ่งนี้ว่า
"การสัญจรของผู้เก็บเกี่ยวสัจจะ"
*****************************
สิ่งสมมติ
ผู้ถือความมั่งคั่งเป็นสิ่งดี
มิอาจทนทานต่อการสูญเสียเงินทอง
ผู้ถือเกียรติภูมิเป็นของสูงส่ง
มิอาจทนต่อการเสียชื่อเสียง
ผู้หลงใหลในอำนาจ
มิอาจทนต่อการมอบอำนาจให้ผู้อื่น
ทุกผู้ล้วนเกาะกุมยึดถืออย่างเหนียวแน่น
หากสูญเสียไปก็มิอาจหยุดคร่ำครวญแม้เพียงชั่วยาม
หากสูญเสียไป พวกเขาล้วนหม่นหมองโศกตรม
**********************
เมื่อหยุดแสวงหาความสุข
ก็จะพบความสุข :จวงจื่อ
ความสุขไม่เคยจากเราไปไหนเลย
เพียงแต่มนุษย์ต่างหากที่วิ่งวุ่นแสวงหาความสุข
เมื่อแสวงหาจึงไม่พบ
ต่อเมื่อหยุดแสวงหา
มนุษย์จะพบว่า "ความสุข" นั้นอยู่คู่กับมนุษย์อยู่แล้ว
ลองเขียนคำว่า "แสวงหาความสุข"
แล้วลบคำว่า "แสวงหา" ออก
คุณจะพบ "ความสุข" รออยู่
ปราชญ์ชาวอินเดียสอนเรื่องจิตเดิมแท้
ปราชญ์ชาวจีนสอนเรื่องเต๋า
สารัตถะสำคัญล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
**************
ฐิตา:
เมื่อมนุษย์เลิกติดฉลากให้กับสิ่งต่างๆ ว่าดีหรือเลว
น่าพึงใจหรือไม่น่าพึงใจ
เมื่อนั้น ความทุกข์ทั้งมวลที่มนุษย์สร้างขึ้น
ก็จะมลายหายไปสิ้น
ในสายตาของจวงจื่อ มนุษย์จึงเป็นผู้กำหนดสุข-ทุกข์
และพันธนาการของตนเอง
และความกลัวทั้งหมดล้วนเกิดจากระบบคุณค่า
ที่ตัวเองสร้างขึ้น
********************
เต๋าที่แท้อยู่ที่ไหน
การอ่านจวงจื่อมิใช่เรื่องง่าย
หากทว่า ก็มิใช่เรื่องยาก
จวงจื่อปฏิเสธคุณค่าแบบเก่าทั้งมวล
รวมถึงระเบียบการใช้ถ้อยคำแบบเก่า
จวงจื่อจงใจใช้คำที่ตรงกันข้าม
เลือกใช้ถ้อยคำต่ำต้อยสามัญ
เพื่อให้คนหลุดออกจากกรอบความคิดเรื่องความดีงาม
ดังเช่นบนสนทนาอมตะของจวงจื่อกับอาจารย์ตงกัว
ตงกัว: "สิ่งที่เรียกว่าเต๋าดำรงอยู่ที่ใด"
จวงจื่อ: "มันดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่ง"
ตงกัว: "ช่วยตอบให้กระจ่างหน่อย"
จวงจื่อ: "มันอยู่ในมด"
ตงกัว: "ต่ำอย่างนั้นเชียวหรือ"
จวงจื่อ: "มันอยู่ในต้นไมยราพ"
ตงกัว: "นั่นยิ่งต่ำเข้าไปใหญ่"
จวงจื่อ: "มันอยู่ในกระเบื้องและเศษหม้อไห"
ตงกัว: "มันจะต่ำต้อยเพียงนั้นได้อย่างไร"
จวงจื่อ: "มันอยู่ในฉี่และอึ"
ต่ำต้อย ยอกย้อน แปดเปื้อน หากทว่ายั่วยุ และคมคาย
นี่คือ จวงจื่อ ที่คนจีนอ่านกันมากว่า 2,000 ปี
******************
ความสุขหรรษา ความโกรธเกรี้ยว ความโศกศัลย์
ความเบิกบาน ความวิตกกังวล ความเสียใจ
ความแปรปรวน ความเคร่งครัด ความอ่อนน้อม
ความดื้อดึง ความเปิดเผย ความหยาบคาย
ล้วนเป็นดนตรีจากรูร่องอันว่างเปล่า
เป็นดอกเห็ดที่งอกเงยขึ้นจากที่อับชื้น
หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปวันแล้ววันเล่า
ไม่มีใครล่วงรู้ว่ามันผุดขึ้นจากที่ใด
หากปราศจากมันก็ปราศจากเรา
หากปราศจากเราก็ไม่มีสิ่งใดให้ครอบงำ
นี่ดูเหมือนต้นตอของเรื่องราว
*******************************
จาก "จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์" โดย openbooks
>>> F/B สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ามด ได้แชร์ รูปภาพ ของ openbooks
ฐิตา:
:Mark Seawell
ยอดคนสนทนา
ขงจื่อดำเนินชีวิตจนล่วงวัย 51 แต่ยังมิอาจบรรลุเต๋า
ในที่สุดจึงบ่ายหน้ามุ่งใต้เพื่อพบเหลาจื่อ
"ข้าได้ยินว่าท่านเป็นผู้ทรงธรรมจากแดนเหนือ ท่านได้บรรลุถึงเต๋าหรือไม่" เหลาจื่อถาม
"หามิได้" ขงจื่อตอบ
"ท่านแสวงหามันจากสิ่งใด"
"ข้าพยายามเรียนรู้มันจากกฎเกณฑ์และแบบแผน ห้าปีล่วงผ่านยังหาพบไม่"
"ท่านได้แสวงหา ณ ที่ใดอื่นอีกบ้าง"
"ข้าได้แสวงหาในอินและหยาง 12 ปีล่วงผ่านหาพบไม่"
"นี่ก็มีเหตุผล" เหลาจื่อกล่าว
"หากเต๋าสามารถแสดงออกมาได้ คงไม่มีใครไม่นำมาแสดงต่อผู้ปกครอง
หากเต๋าสามารถน้อมเสนอได้ คงไม่มีใครไม่น้อมเสนอต่อบิดามารดา
หากเต๋าสามารถบอกกล่าวได้ คงไม่มีใครไม่บอกกล่าวมันแก่ญาติพี่น้อง
หากเต๋าสามารถส่งมอบได้ คงไม่มีใครไม่ส่งมอบแก่ทายาท
แต่ทั้งหมดล้วนไม่อาจกระทำได้"
ด้วยเหตุนี้ หากภายในปราศจากสิ่งรองรับ เต๋าก็ไม่อาจสถิตย์อยู่ ณ ที่นั้น
หากภายนอกไม่มีหลักหมายชี้นำ เต๋าก็มิอาจดำเนินไป
หากภายนอกมิอาจรองรับสิ่งที่ผุดจากภายใน
ปราชญ์ย่อมไม่น้อมนำออกมา
หากสิ่งที่นำมาจากภายนอก มิได้รับการต้อนรับจากภายใน
ปราชญ์ย่อมไม่วางใจมอบให้
จาก "จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์" โดย openbooks
>>> F/B สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ามด ได้แชร์ รูปภาพ ของ openbooks
:Chinese Ink JIA YOUFU (b.1942)
มนุษย์ที่แท้ของจวงจื่อ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 กรกฎาคม 2556 08:39 น
“มนุษย์ที่แท้ย่อมไม่กระทำการที่เป็นภัยต่อผู้อื่น ไม่อวดแสดงความมีมนุสสธรรมและเอื้อเฟื้อ เขาไม่กระทำการใดๆเพื่อผลประโยชน์ แต่ก็ไม่ประณามผู้ที่กระทำเช่นนั้น เขาไม่ดิ้นรนไขว่คว้าทรัพย์สมบัติ แต่ก็ไม่แสดงอาการโอ่อวดปฏิเสธ เขาไม่เรียกร้องความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่ก็ไม่อวดโอ้ถึงความสามารถพึ่งพิงตัวเอง และไม่เหยียดหยามคนโลภและต่ำช้า
"การกระทำของเขาแตกต่างจากผู้คนทั่วไป แต่ก็ไม่แสดงความพิเศษหรือแตกต่าง เขาพึงพอใจที่จะรั้งท้ายอยู่เบื้องหลังผู้คน แต่ก็ไม่ประณามพวกที่ชิงรุดไปข้างหน้าเพื่อประจบสอพลอ ตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆไม่อาจสร้างความลำพอง โทษทัณฑ์และการประณามใดๆก็ไม่อาจทำให้ละอาย เขารู้ว่าไม่อาจกำหนดเส้นแบ่งระหว่างความถูกและความผิด ไร้ขอบเขตที่แน่นอนระหว่างความยิ่งใหญ่และความเล็กน้อย ข้าได้ยินคำกล่าวว่า ‘มนุษย์แห่งเต๋าไม่เสาะหาชื่อเสียง คุณธรรมสูงสุดไม่แสวงหาผลสำเร็จใดๆ มนุษย์ที่แท้นั้นไร้ตัวตน’ การบรรลุถึงระดับสูงสุด คือการดำเนินไปตามเส้นทางที่โชคชะตากำหนด”
แปลเรียบเรียงตัดตอนจากหนังสือจวงจื่อ(庄子)บทที่ 17
:http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9560000083488
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version