ผู้เขียน หัวข้อ: จับตาภาระหนี้ปีมะเส็ง ผลพวงรถคันแรก สินเชื่อระอุ  (อ่าน 1141 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
จับตาภาระหนี้ปีมะเส็ง ผลพวงรถคันแรก สินเชื่อระอุ
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356924867&grpid=&catid=02&subcatid=0200-

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ



ในที่สุดเศรษฐกิจไทยก็สามารถฝ่าฟันปีงูใหญ่ไปได้อย่างราบรื่น

หลังจากระหว่างปี ต้องคอยระแวงกับพิษเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่จ้องเล่นงานเป็นระยะ ส่งผลให้ภาคการส่งออกของประเทศของไทย กลายเป็นงูหลับ ไม่สามารถเฉิดฉายได้อย่างในอดีต

แต่ยังดีที่เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการอุปโภคบริโภคในประเทศ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ ให้สามารถเติบโตได้ในระดับ 5% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 5.7 -5.8%

ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลทั้งเรื่องการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน รวมทั้งนโยบายบ้านหลังแรก และที่ร้อนแรงที่สุดในปีนี้ หนีไม่พ้นนโยบายรถคันแรก ที่ทางกรมสรรพสามิตคาดว่าจะมีผู้ขอใช้สิทธิตามโครงการในสิ้นปีนี้จำนวน 1.2 ล้านคัน จากยอดขายรถโดยรวมทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านคัน

และผลจากการอุปโภคบริโภคในประเทศที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้สินเชื่อรายย่อยของบรรดาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

โดยผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เห็นได้ชัดว่า สินเชื่อทั้งระบบขยายตัวได้ 14.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่มีสัดส่วนราว 30% ของสินเชื่อรวม ที่ขยายตัว 18.4% จากไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า มาจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตได้ดี ที่ขยายตัว 30.1% รองลงมาคือสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโต 28.5% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิตเติบโตประมาณ 10%

สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ที่รายงานปริมาณการเปิดบัญชีใหม่ของบุคคลธรรมดาในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมีจำนวนบัญชีใหม่ 2,341,077 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 176,960 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 8.18%

เมื่อแยกตามประเภทพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีปริมาณบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด จาก 413,763 บัญชี ในปีที่ผ่านมาเป็น 587,627 บัญชีในปีนี้หรือเพิ่มขึ้น 42.02%

รองลงมาคือบัญชีสินเชื่อบ้านที่เพิ่มจาก 84,423 บัญชีเป็น 108,907 บัญชี เพิ่มขึ้น 29% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลมีปริมาณบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น จาก 722,483 บัญชีเป็น 826,751บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 14.43%

ส่วนบัญชีบัตรเครดิตเป็นประเภทที่มีปริมาณบัญชีใหม่ลดลงจากไตรมาส 3 ปีก่อน โดยมีบัญชีใหม่ในปีนี้ 554,605 บัญชีลดลงจากปีก่อน 18.95%

การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่โตวันโตคืน ส่งผลให้ความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นร้อนส่งท้ายปีและยังต้องจับตาในปี 2556 โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่นโยบายรถคันแรกกระตุ้นให้เติบโตได้ดีผิดปกติ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กที่เข้าเกณฑ์สามารถขอคืนภาษีได้เต็มวงเงิน 1 แสนบาท รวมทั้งกลุ่มรถยนต์อีโคคาร์ที่เป็นดาวเด่นในปีนี้

หากย้อนไปช่วงต้นปี ที่เริ่มนโยบายรถคันแรกใหม่ บรรดาสถาบันการเงินยังไว้เชิงที่จะปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มรถยนต์คันแรก เพราะรู้อยู่เต็มอกว่ามีความเสี่ยงสูง ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อรถยนต์ก็หวังที่จะได้เงินภาษีคืนจึงอาศัยเงินเก็บที่มีวางดาวน์ซื้อรถ โดยเฉพาะในกลุ่มอีโคคาร์

ระยะแรกสถาบันการเงินต่างคุมความเสี่ยง โดยใช้การกำหนดวงเงินดาวน์รถกลุ่มที่จะเข้านโยบายรถคันแรก ที่สูงกว่ารถยนต์ประเภทอื่นคือ 25% ขึ้นไป จากปกติที่จะดาวน์อยู่ที่ 10-20%

แต่เมื่อมีผู้เล่นบางราย ปักธงเต็มที่ว่าต้องการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่มีการปรับวงเงินดาวน์เพิ่ม ทำให้ผู้นำตลาดต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ จึงต้องยอมกัดฟันลงสนามแข่งทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงก็ยอม

แหล่งข่าวจากวงการสินเชื่อรถยนต์รายหนึ่ง กล่าวถึงกรณีนี้ว่าการที่บรรดาสถาบันการเงินยอมลงมาเล่นในตลาดกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ก็เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด จึงต้องยอมเสี่ยง รวมทั้งผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในเครือของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

หากอนาคตเกิดหนี้เสียในกลุ่มนี้จริง ก็ยังเป็นส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับสัดส่วนใหญ่ของสินเชื่อรวม ซึ่งหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอาจจะเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับเวลานี้ที่สามารถกอบโกยสินเชื่อได้ก็นับว่าคุ้ม ซึ่งปัญหาเรื่องลูกค้าที่จะผ่อนต่อไปไม่ไหวจะเริ่มเห็นเมื่อผ่านพ้นปีแรกไปแล้ว

นั่นก็หมายถึงจะเริ่มเห็นชัดขึ้นในปี 2556 แล้วว่าลูกค้าสินเชื่อตามโครงการรถคันแรกจะอยู่หรือไม่

"จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครจะกล้าฟันธงได้ว่าหนี้เสียจากกลุ่มรถคันแรกจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นปัจจัยใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย จึงไม่สามารถประเมินได้ แต่โอกาสที่จะมีหนี้เสียเกิดขึ้นนั้นมีแน่นอน และต้องจับตาดูในปี 2556 นี้"

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นอีกประเภทที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตได้ดีในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย หรือสถานประกอบการหลังน้ำท่วม รวมทั้งการเข้ามาจัดโปรโมชั่นของสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินไม่ใช่ธนาคาร ส่งผลให้มีการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้ดีในปี 2555 ซึ่งการที่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน โอกาสเกิดหนี้เสียจึงมีมากตามมา

โดยเครดิตบูโรได้เปิดเผยสถานะในการชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 พบว่า มีปริมาณหนี้เสียที่มีการค้างชำระเกิน 90 วันเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลรวมมี 12 ล้านบัญชี และเป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1 ล้านบัญชี นับเป็นการเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า และเป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคตของประชาชนได้

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ในเรื่องหนี้ครัวเรือนไว้ว่า หากดูอัตราการเร่งตัวของหนี้เสียในระบบธนาคารพบว่า ยังไม่มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นที่น่ากังวลมากนัก ทั้งกลุ่มของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่กำลังถูกจับตามองเรื่องลูกค้าทิ้งรถเนื่องจากไม่มีกำลังผ่อนได้ แต่สินเชื่อรถยนต์ อาจต้องอาศัยเวลาที่จะเห็นปัญหาอีกระยะหนึ่ง

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภาพรวมขณะนี้เพิ่มขึ้นมา 0.5-1.0% จากหนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบที่อยู่ในระดับ 3% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ครัวเรือนของประชากรโดยรวมพบว่ายังอยู่ในระดับไม่สูงนักคือ 14- 15%

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่มองเห็นในขณะนี้คือตัวเลขที่อยู่ในระบบ ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากกระบวนการในการตามหนี้ของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมาก จึงสามารถบรรเทาผลกระทบไปได้

"สิ่งที่น่ากังวลคือ หนี้ครัวเรือนที่มาจากการใช้สินเชื่อนอกระบบ ที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีหนี้นอกระบบที่ปล่อยสินเชื่อโดยคนพื้นที่หลายราย โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่แน่ชัด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังยินยอมที่ใช้เงินกู้นอกระบบ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ และเป็นเหมือนค่านิยมที่ฝังในสังคมไทยไปแล้ว"

ความท้าทายเรื่องหนี้ในปีงูเล็กต่อภาคสถาบันการเงิน ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เพราะการก่อหนี้ที่เกินตัวของประชาชน นอกจากจะสร้างภาระหนี้มากกว่าสร้างทรัพย์สินแล้ว ยังกระทบต่อการออมในอนาคตของประชาชนด้วย ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาการเงินเชิงสังคมในระยะยาวที่ไม่มีทางออก และจะย้อนมาส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจอีกครั้ง

หน้า 14 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)